ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่น

9
สิงหาคม
2564

 

- 1 -

ระหว่างเดินทางจากตึกคณะรัฐมนตรีกลับบ้านเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเช่นเดียวกับ 'นายทวี บุณยเกตุ' และรัฐมนตรีที่ไม่เข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นว่า “กลับบ้านด้วยความรันทดใจเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เกิดมาในชีวิตไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย”

ข้าพเจ้าสังเกต 2 ข้างทางที่รถยนต์ของข้าพเจ้าผ่านไปนั้น เห็นหน้าราษฎรไทยที่เริ่มรู้ว่า ญี่ปุ่นบุกประเทศชาติเข้ามาหลายทางแล้ว แสดงออกถึงความรันทดใจดุจเดียวกับข้าพเจ้าและเพื่อนรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ราษฎรไทยผู้รักชาติอีกจำนวนมหาศาลที่ต่อไปจะรู้ว่าชาติตกอยู่ภายใต้แสนยานิยมญี่ปุ่นแล้ว ก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้าและราษฎรที่ข้าพเจ้าแลเห็นตามระยะทางนั้น แต่เราจะปล่อยอารมณ์รันทดใจคอยให้สวรรค์มาโปรดนั้นไม่ได้ เราจำต้องเปลี่ยนอารมณ์นั้นให้เป็นอารมณ์เข้มแข็งคิดต่อสู้ผู้รุกรานที่ละเมิดอธิปไตยของชาติ เพื่อให้ชาติได้คืนความเป็นเอกราชและบูรณภาพอย่างสมบูรณ์ที่บรรพบุรุษและคณะราษฎรได้เจริญรอยตามรับใช้มวลราษฎรมาจนเป็นผล 

แต่ในระหว่างเวลาซึ่งเปรียบเหมือน “หน้าสิ่วหน้าขวาน” เช่นนี้ เราที่อยู่ภายในประเทศไทยตกอยู่ในความสอดส่องของญี่ปุ่นและพวกในรัฐบาลที่เข้าข้างญี่ปุ่น ฉะนั้นต้องทำการด้วยความระมัดระวัง ไม่อาจทำโดยวิธีเชิญคนเดินขบวนคัดค้านไปตามถนน ซึ่งจะถูกปราบปรามประดุจที่ฝ่ายศัตรูถือว่า “ตัดต้นไฟแต่หัวลม”

แม้ว่ามวลราษฎรผู้รักชาติเป็นพลังมหาศาลในการต่อต้านผู้ละเมิดอธิปไตยของชาติ แต่เราก็จะต้องริเริ่มให้มีขบวนการที่ทำหน้าที่เป็นกองหน้า (Vanguard) ของมวลราษฎร โดยตั้งต้นจากน้อยไปสู่มาก

 

- 2 -

เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วได้ปรารภกับภรรยาถึงความดำริของข้าพเจ้าที่จะเจริญรอยตามพระยาตากสิน ที่เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย ก็ได้นำทหารอาสาไทยจีนแหวกวงล้อมของพม่าออกไปจัดตั้งราษฎรไทยในหัวเมือง เป็นกองกำลังเพื่อกู้อิสรภาพของชาติไทย ข้าพเจ้าได้ดำริที่จะชวนผู้รักชาติออกจากกรุงเทพฯ ไปตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทยขึ้นในภาคพายัพ ซึ่งขณะนั้น แนวหลังยังสามารถยันกับพม่าที่อังกฤษยังครองอยู่ ส่วนภาคอีสานกับตะวันออกนั้น อยู่ติดกับอินโดจีนที่ฝ่ายญี่ปุ่นยึดครอง ทางภาคใต้ก็ติดกับมลายูที่ฝ่ายญี่ปุ่นกำลังยาตราทัพไปทางนั้น เพื่อให้รัฐบาลเสรีของไทยมีสภาพถูกต้องตามกฎหมาย ข้าพเจ้าดำริชักชวนรัฐมนตรีที่ไม่ใช่พวกญี่ปุ่นและผู้แทนราษฎรร่วมกันไปจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสรีขึ้น

ภรรยาข้าพเจ้าเห็นด้วยในความดำรินั้น ข้าพเจ้าจึงให้เขาโทรศัพท์เชิญมิตรบางคนมาที่บ้าน ส่วนบางคนเมื่อได้ข่าวญี่ปุ่นรุกรานก็มาหาข้าพเจ้าเองเพื่อถามว่า เราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ชาติได้คืนความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เท่าที่จำได้ว่ามีผู้มาที่บ้านข้าพเจ้าในบ่ายและค่ำวันนั้น คือ นายจำกัด พลางกูร, นายทวี ตะเวทิกุล, นายสงวน ตุลารักษ์, นายชาญ บุนนาค,หลวงบรรณกรโกวิท, นายเตียง ศิริขันธ์, ม.ล.กรี เดชาดิวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์ฯ), นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร

วันต่อๆ มาก็มีผู้มาหามากขึ้น อาทิ นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายสงวน จูทะเตมีย์ (หลวงนฤเบศร์ฯ), ร.ต.อ. เชื้อ สุวรรณศร, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, นายทวี บุณยเกตุ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายพึ่ง ศรีจันทร์, นายทอง กันทาธรรม, นายสนิท ผิวนวล, นายเยื้อน พานิชวิทย์, พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ฯลฯ (ยังมีผู้อื่นที่มาพบข้าพเจ้าในระยะแรกซึ่งข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้ขณะเขียนหนังสือเล่มนี้ จึงขอท่านเหล่านั้นโปรดให้อภัยด้วย) ทุกคนได้ปวารณาเสียสละเพื่อรับใช้ชาติและเข้าใจกันโดยจิตสำนึกอยู่แล้วถึงการรักษาความลับอย่างเข้มงวด ซึ่งแต่ละคนพึงรู้เฉพาะงานที่รับมอบหมาย ดั่งที่ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้เขียนไว้ในจดหมายถึง นายสุพจน์ ด่านตระกูล เมื่อไม่นานมานี้ว่า

 

“..... โดยเฉพาะเรื่องตอนที่ท่าน (ข้าพเจ้า-นายปรีดี) ทำเสรีไทย ผมเชื่อแน่ว่าไม่มีผู้ใดในประเทศไทยที่จะรู้โดยละเอียดถี่ถ้วนนอกจากตัวท่านปรีดีเองเพราะในระหว่างที่ปฏิบัติงานเสรีไทยนั้น ถือเป็นหลักสำคัญยิ่งยวดว่า ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่จะรู้ว่า อีกคนหนึ่งมีหน้าที่ได้รับมอบหมายอย่างใด จะมีก็แต่ท่านปรีดีเท่านั้นที่รู้หมด”

 

ทั้งนี้เป็นความจริงสำหรับงานหลักการใหญ่ที่รวมศูนย์อยู่ที่ข้าพเจ้า แต่งานสายย่อยหน่วยย่อยนั้น ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอตรวจถึงรายละเอียด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อันเป็นวันประกาศสันติภาพเลิกสถานะสงครามกับพันธมิตรนั้น จำนวนสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่เป็นกองหน้าของปวงชนมีประมาณ 80,000 คน

 

- 3 -

วิธีเดินทางไปภาคพายัพนั้น ข้าพเจ้าปรึกษา ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์) ซึ่งพร้อมร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลเสรีของไทย ม.ล.กรีเป็นคนหนึ่งที่รู้ภูมิประเทศภาคพายัพดี และเป็นอธิบดีกรมทางในขณะนั้นด้วย แต่ทางที่จากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือขณะนั้น มีเพียงถึงลพบุรีเท่านั้น จึงสมควรพากันไปโดยทางรถไฟ ข้าพเจ้าจึงให้ภรรยาไปพบผู้อำนวยการเดินรถไฟ ขอจองที่นั่งสำหรับขบวนที่จะไปเชียงใหม่ในเที่ยวแรกที่จะมาถึง ฝ่ายการเดินรถไฟแจ้งว่า เวลานั้นการจองที่นั่งรถไฟไม่ได้ผล เพราะผู้คนแตกตื่นถึงกับปีนป่ายหน้าต่างรถไฟโดยไม่คำนึงว่ามีผู้จองที่นั่งไว้

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงปรึกษา ม.ล.กรี ซึ่งเห็นว่าควรที่เราจะไปทางแม่น้ำถึงปากน้ำโพก่อน ขณะปรึกษากันอยู่นั้น พ.อ.กาจ กาจสงคราม ขอพบข้าพเจ้า เสนอชวนข้าพเจ้าให้เดินทางไปพม่าทางกาญจนบุรี โดย พ.อ.กาจบอกว่า เขาสามารถตกลงกับทหารบางกองพันยอมให้ทหาร 1 กองร้อยเดินทางคุ้มกันไปด้วย ขณะนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง เพราะเขามีลูกอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นถึง 3 คน (ข้าพเจ้าคาดคิดไม่ถึงว่าภายหลังสงคราม พ.อ.กาจฯ ได้เรียกร้องเงินจำนวน 150,000 บาท อ้างว่าได้ใช้จ่ายไปในการไปจุงกิง ที่เขาไปเองโดยข้าพเจ้ามิได้สั่งการให้ไป ดั่งปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้าพเจ้านำมาลงพิมพ์ไว้ในบันทึกเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเสรีไทย นักประวัติศาสตร์ในอนาคตที่จะเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ขอให้ค้นคว้าว่า ต่อมาผู้นี้ได้ดำเนินการอย่างใดต่อไปอีกบ้าง)

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า เรามีความประสงค์จัดตั้งรัฐบาลเสรีของไทยในภาคพายัพ ขอให้เขาเอาเรือยนต์รีบออกเดินทางไปปากน้ำโพ หาทางติดต่อกับกองทหารที่นั่น ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่ามีผู้รักชาติ เพื่อขอให้ร่วมมือช่วยยืดชุมทางปากน้ำโพไว้ สกัดกั้นมิให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนไปสู่ภาคพายัพ อีก 2 วันต่อมา พ.อ.กาจกลับมารายงานว่าทหารญี่ปุ่นได้คุมชุมทางรถไฟและทางน้ำที่ปากน้ำโพไว้แล้ว

ข้าพเจ้าจึงระงับแผนการตั้งรัฐบาลเสรีของไทยในภาคพายัพไว้ชั่วคราว โดยขอให้มิตรที่ปวารณารับใช้ชาติจัดตั้งหน่วยลับเป็นการริเริ่มขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นผู้รุกรานไว้

 

- 4 -

อีก 2 - 3 วันต่อมาข้าพเจ้าได้รับฟังวิทยุสัมพันธมิตรทราบข่าวด้วยความยินดีว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษได้จัดตั้งเป็น “เสรีไทย” ขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ามีความหวังว่า ขบวนการต่อต้านภายในประเทศจะได้มีโอกาสร่วมมือกับขบวนการของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีอุดมคติตรงกันในการอุทิศตนเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงคืนบริบูรณ์

ต่อมา ข้าพเจ้าได้ส่งตัวแทนบุกป่าฝ่าดงเดินทางบกไปนครจุงกิง เมืองหลวงประเทศจีน ระหว่างสงครามเพื่อเจรจากับผู้แทนสัมพันธมิตรที่นั้น และบางคณะสามารถเดินทางต่อไปได้ถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่วนเสรีไทยจากอังกฤษและอเมริกาได้กระโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง บุกป่าฝ่าดงเข้ามาถึงประเทศไทยบ้าง ผู้รักชาติไทยภายในประเทศและจากต่างประเทศก็ได้สมานกันเป็นขบวนเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ขบวนการเสรีไทย” ส่วนในภาษาอังกฤษนั้นฝ่ายอังกฤษเรียกว่า “Free Siamese Movement” ฝ่ายอเมริกันอนุโลมตามชื่อใหม่ของประเทศว่า “Free Thai Movement”

ข้าพเจ้าได้ต้อนรับผู้รักชาติภายในและภายนอกประเทศทุกคน ไม่ว่ามีเหล่ากำเนิดศาสนาใดหรือจะมีฐานันดรอย่างไร หรือจะเคยมีความบาดหมางในทางการเมืองมาก่อนอย่างใด แต่เมื่อมีอุดมคติตรงกันที่จะพลีชีวิตเพื่อชาติในการต่อสู้แสนยานิยมญี่ปุ่นเพื่อให้ชาติไทยได้มีเอกราชและอธิปไตยพร้อมด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างสมบูรณ์แล้ว เราก็ร่วมมือกันได้

'นายป๋วย อึ๊งภากรณ์' ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย” ซึ่งได้พิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ ข้าพเจ้าจะได้นำบทความนั้นมาลงพิมพ์ไว้ด้วยในบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้[1]

วีรกรรมของเพื่อนเสรีไทยทุกคนที่สิ้นชีพไปแล้วก็ดี กำลังป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ในขณะนี้ก็ดี ยังมีสุขภาพดีอยู่ในขณะนี้ก็ดีนั้น มีเรื่องมากมายที่บางคนได้เขียนบันทึกไว้ แต่บางคนก็มิได้เขียน ข้าพเจ้าขอร้องให้ทุกคนบันทึกไว้เพื่อว่า ถ้ามีโอกาสจะได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเสรีไทยโดยเฉพาะ สำหรับข้าพเจ้าซึ่งเป็นศูนย์รวมนั้นข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เพียงแนวทางทั่วไป เพื่อให้พอเหมาะแก่หนังสือเล่มนี้ที่ให้ชื่อว่า “โมฆสงคราม” ขอให้เพื่อนเสรีไทยนิรนามที่ไม่มีชื่ออ้างไว้ในหนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า ข้าพเจ้าถือว่าท่านได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้น พร้อมทั้งผู้ที่ข้าพเจ้าอ้างชื่อไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

 

- 5 -

ข้าพเจ้าถือว่า "ขบวนการเสรีไทย" เป็นแต่เพียงกองหน้า (Vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ในการชุมนุมเสรีไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 มีความตอนหนึ่งว่าดั่งนี้

“ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ที่จะไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำงานได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น

คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติจะเป็นโดยทางกายทางวาจา หรือทางใจนั้นก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นในทางพฤตินัยไม่ใช่คนไทยเพราะการกระทำของเขาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นคนไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงโดยนิตินัย คือ เป็นคนไทยเพราะถูกกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น”

ดังนี้จะเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยมิได้ผูกขาดการกู้ชาติไว้เฉพาะสมาชิกในขบวนการเท่านั้น แม้ผู้ต่อต้านโดยลำพังตนเอง ผู้เอาใจช่วย ผู้นิ่งไม่คัดด้านการต่อต้าน ก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการกู้ชาติ ทั้งนี้ก็บังเอิญตรงกับที่เมื่อ 2-3 ปี มานี้เอง ประธานาธิบดีนิกสันได้คิดศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อเรียกผู้ที่ตนถือว่าสนับสนุนตนอย่างเงียบๆ โดยไม่ออกเสียงคัดค้านว่า เป็น “เสียงข้างมากอย่างเงียบ” “Silent Majority”

แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับเกียรติยกองจากเพื่อนเสรีไทยว่า ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า แต่ผู้บัญชาการสูงสุดในการกู้ชาติไทยคือ “ปวงชนชาวไทย” ข้าพเจ้าถือเอาเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการสูงสุดนี้ เป็นคำสั่งสูงสุดให้ข้าพเจ้าและขบวนการเสรีไทยปฏิบัติการเพื่อให้ชาติได้เอกราชและอธิปไตยพร้อมด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์เหมือนสภาพก่อนสถานะสงคราม

 

- 6 -

โดยความเสียสละส่วนตัวเพื่อประเทศชาติ และการมีวินัยด้วยจิตสำนึกเสรีไทยจึงได้ร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ โดยเสี่ยงภยันตรายที่มารอบด้าน ทั้งทางด้านญี่ปุ่นที่สอดส่องอย่างเข้มงวด และทางด้านรัฐบาลไทยระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เสี่ยงภัยในการบุกป่าฝาคงของเสรีไทยภายในประเทศไปต่างประเทศเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตรและเสรีไทยนอกประเทศ เสี่ยงภัยของเสรีไทยจากนอกประเทศเข้ามาติดต่อกับเสรีไทยภายในประเทศ การเจรจาลับกับสัมพันธมิตรเพื่อรับรองขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลเสรีของชาติไทยที่จะตั้งขึ้นว่าเป็นตัวแทนแท้จริงของชาติไทยที่จะลบล้างการกระทำของจอมพล ป.ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร อันจะช่วยให้สัมพันธมิตรถือว่าชาติไทยไม่เป็นศัตรู และยอมรับรองความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของชาติไทยเหมือนที่เป็นอยู่เมื่อก่อนมีสถานะสงครามกับสัมพันธมิตร 

 

ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ อันเป็นวันประกาศสันติภาพนั้นจำนวนเสรีไทยมีประมาณ 80,000 คน แบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ได้ดั่งต่อไปนี้

  • (1) กองบัญชาการ
  • (2) หน่วยค่ายอเมริกัน
  • (3) หน่วยค่ายอังกฤษ
  • (4) หน่วยช่วยเหลือเสรีจีน
  • (5) หน่วยชลบุรี
  • (6) หน่วยเพชรบุรี - กาญจนบุรี - สุพรรณบุรี
  • (7) หน่วยสกลนคร
  • (8) หน่วยอีสาน
  • (9) หน่วยโคราช
  • (10) หน่วยสุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก
  • (11) หน่วยแพร่และพายัพ
  • (12) หน่วยปราจีน-ฉะเชิงเทรา
  • (13) หน่วยอยุธยา-อ่างทอง
  • (14) หน่วยอุบล
  • (15) หน่วยกระทุ่มแบน
  • (16) หน่วยนครปฐม
  • (17) หน่วยศุลกากร
  • (18) หน่วยมหาดไทย
  • (19) หน่วยตำรวจ (หน่วยชุมพร ขึ้นอยู่กับหน่วยตำรวจ)
  • (20) หน่วยทหาร
  • (21) หน่วยต่างประเทศ
  • ฯลฯ

 

- 7 -

ค่าใช้จ่ายนั้นในระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เสรีไทยแต่ละคนภายในประเทศ ได้ออกเงินส่วนตัวของตนเองเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นธรรมดาที่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นหัวหน้า ต้องรับผิดชอบโดยขอให้ภรรยาข้าพเจ้าช่วยจ่ายเงินให้ นอกจากนั้นได้รับความช่วยเหลือจาก 'นายหลุย พนมยงค์' บ้าง

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แจ้งมาว่า พร้อมที่จะออกเงินช่วยค่าใช้จ่าย แต่เราปฏิเสธเด็ดขาด ไม่ขอรับเงินจากสัมพันธมิตรเลย เราขอเสียสละเองคนละเล็กคนละน้อย ถ้าไม่พอก็จะขอเบิกเงินที่รัฐบาลไทย ฝากไว้ในประเทศสัมพันธมิตรที่กักไว้ แต่เราก็ขอมาเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ดั่งปรากฏในรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วยท่านที่เคยดำรงตำแหน่งสูงทางตุลาการคือ 'พระยาเทพวิทูรฯ' อดีตอธิบดีศาลฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, 'พระยานลราชสุวัจน์' อดีตกรรมการศาลฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, 'พระยาวิกรมรัตนสุภาษ' อดีตอธิบดีศาลฎีกา , 'พระยานิติศาสตร์ไพศาล' อดีตอธิบดีศาลอาญา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, 'นายพิชาญ บุลยง' (เรอเน กียอง) ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ดังที่ข้าพเจ้าได้นำรายงานของคณะกรรมาธิการนี้มาพิมพ์ไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ด้วย ปรากฏยอดสรุปว่า ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้เบิกเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ต่างประเทศเป็นเงินสหรัฐอเมริกาจำนวน 63,124 เหรียญกับ 18 เซ็นต์ และเบิกเงินบาทในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์จากงบช่วยประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมกับเงินอีก 500,000 เหรียญที่ทางสถานทูตไทยในวอชิงตันจ่ายไปด้วยแล้วคิดเป็นเงินที่ขบวนการเสรีไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศจ่ายจากเงินของชาติไทย 8,867,983 บาทกับ 87 สตางค์

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “การจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่น” ใน, “โมฆสงคราม”. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 167-177


[1] ยังไม่พบตอนที่นายปรีดี พนมยงค์ นำบทความเรื่องดังกล่าวของนายป๋วยมาลง แสดงให้เห็นว่านายปรีดีเขียนเรื่องนี้ไม่จบ หรือไม่ก็เขียนจบแล้วแต่หาต้นฉบับไม่พบ - กองบรรณาธิการ