ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทำไมนักศึกษารุ่น ‘14 ตุลา’ จึงถูกปิดกั้นให้ไม่มีความทรงจำในเรื่องของคณะราษฎร

14
ตุลาคม
2564

ขบวนการนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 2500-2516 ย่อมบ่งบอกถึงจิตใจแห่งการต่อสู้ได้ไม่มากก็น้อย แต่ภายใต้ภาพของการเคลื่อนไหวดูเหมือนราวจะเป็นเอกภาพนั้น กลับเต็มไปด้วยอุดมการณ์ที่มีความหลากหลาย

เนื่องจากภายใต้การเคลื่อนไหวนั้น มีตั้งแต่อุดมการณ์สังคมนิยม ซ้ายใหม่ เสรีนิยม อนุรักษนิยม กษัตริย์นิยม โดยมีจุดร่วมตรงกันคือขับไล่ระบอบเผด็จการทหาร นอกจากนั้น รายละเอียดภายใต้ความหลากหลายนั้น ยังส่งผลต่อความทรงจำถึงคณะราษฎร ซึ่งให้ข้อคิดบางประการถึงเราในยุคสมัยปัจจุบัน 

รายงานชิ้นนี้จะพิจารณาปัจจัยสองประการ ประการแรก คือ เนื้อหาหรือกรอบความเข้าใจต่อคณะราษฎรของคนหนุ่มสาวในเวลานั้น และ ประการที่สอง คือ เงื่อนไขที่ทำให้ขบวนการ 14 ตุลา 16 มีความเข้าใจต่อคณะราษฎรอย่างหลุดไปจากบริบททางประวัติศาสตร์

ข้อเสนอของรายงานชิ้นนี้คือ ความทรงจำดังกล่าวเป็นผลมาจากการจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในระบอบเผด็จการทหารซึ่งผูกขาดช่องทางการสื่อสารและปกครองประเทศด้วยการปิดกั้นเสรีภาพมาอย่างยาวนาน โดยจะอาศัยตำราเรื่อง “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ”[1] เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นพื้นฐานสำหรับการอธิบาย

 

 

 

 


ตัวอย่างงานเขียนที่ได้รับการรื้อฟื้นโดยนักศึกษาปัญญาชน ก่อน 14 ตุลาคม 2516

 

การปิดกั้นความคิดของฝ่ายก้าวหน้า

เมื่อ ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ทำการยึดอำนาจรัฐบาล ‘พลโท ถนอม กิตติขจร’ รัฐบาลที่จอมพลสฤษดิ์ตั้งมากับมือในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบเลิกรัฐสภา และพรรคการเมืองทั้งหมด ก่อนจะดำเนินการปกครองภายใต้กฎอัยการศึก และประกาศคณะปฏิวัติ

นอกจากนั้น การชุมนุมทางการเมืองถูกนับเป็นสิ่งต้องห้าม พร้อมๆ ไปกับการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักการเมือง ทนายความจำนวนมาก ที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง บางกรณียังมีการสังหารอย่างเหี้ยมโหด เช่น กรณีของ ‘ครอง จันดาวงศ์’ และ ‘ทองพันธ์ สุทธิมาศ’ ซึ่งทั้งสองเป็นนักการเมืองจากภาคอีสาน นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้ปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ ที่มีแนวทางวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างเหตุผลเรื่องภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์

‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เสนอว่า งานเขียนจำนวนมากที่ถูกปิดกั้นเหล่านั้น เริ่มต้นขึ้นมาในทศวรรษ 2490 ซึ่งได้รับอิทธิพลความคิดแบบสังคมนิยม ผลงานที่ผลิตในยุคนี้ได้กลายมาเป็น “คลังสมบัติทางวัฒนธรรม” อันมีค่าต่อนักศึกษาปัญญาชนรุ่นหลัง ทั้งประเภทข้อเขียนด้านโลกทัศน์-ชีวทัศน์ ทางทฤษฎีปรัชญา งานประยุกต์วิเคราะห์สังคมไทย อธิบายปัญหาทางการเมือง งานนิยายและบทกวี งานวรรณกรรมและศิลปวิจารณ์ เช่น ชีวทัศน์ (ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร) ไทยกึ่งเมืองขึ้น (อรัญญ์ พรหมชมภู-อุดม สีสุวรรณ) โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (สมสมัย ศรีศูทรพรรณ-จิตร ภูมิศักดิ์) แลไปข้างหน้า และ จนกว่าเราจะพบกันอีก (ศรีบูรพา-กุหลาบ สายประดิษฐ์) ปีศาจ (เสนีย์ เสาวพงษ์) ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน (ทีปกร-จิตร ภูมิศักดิ์) เป็นต้น

กว่าที่งานเขียนเหล่านี้จะกลับมามีชีวิตชีวาในฐานะอาวุธทางความคิดของขบวนการ 14 ตุลาฯ ต้องใช้เวลากว่า 1 ทศวรรษ นับตั้งแต่รัฐประหาร 2501 งานเขียนเหล่านี้ถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาใหม่โดยปัญญาชนและนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่ง ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เห็นว่ากระบวนการรื้อฟื้นชีวิตและผลงานของปัญญาชนที่ถูกกวาดล้างจับกุมในสมัยคณะปฏิวัติ และแยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ[2]

จนกระทั่งรัฐบาล ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ เริ่มปล่อยนักคิด นักเขียนหัวก้าวหน้าออกมา บางส่วนได้เคลื่อนไหวทางความคิดต่อ และบางส่วนหันหน้าสู่การจับอาวุธในเขตป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ข้อสันนิษฐานถึงปัจจัยการปล่อยนักโทษทางการเมืองเหล่านั้นคือ

หนึ่ง การถ่ายโอนอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์สู่จอมพลถนอมเป็นไปด้วยความราบรื่น และ

สอง ในขณะนั้นเริ่มมีเสียงเรียกร้องไต่ถามถึงรัฐธรรมนูญที่ร่างมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี

การปล่อยตัวดังกล่าวอาจจะมาพร้อมกับกระบวนการที่รัฐบาลกำลังจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 และการเลือกตั้งปี 2512) ถัดจากนี้ การก่อตัวของขบวนการ 14 ตุลาฯ จึงเริ่มปรากฏความคิดสังคมนิยมในฐานะทางเลือกทางความคิด ที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญ

 

วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ พื้นที่ชุมนุมทางความคิดที่สำคัญของนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลาคม 2516
วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ พื้นที่ชุมนุมทางความคิดที่สำคัญของนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลาคม 2516

 

อุดมการณ์กษัตริย์นิยมในขบวนการ 14 ตุลาฯ

ด้านหนึ่ง โอกาสทางการเมืองที่เปิดกว้างบางส่วนเช่นนี้ ส่งผลโดยตรงต่อการรื้อฟื้นความคิดของฝ่ายก้าวหน้าในทศวรรษ 2490 กลับมาอีกครั้ง แต่นั่นก็นำมาสู่การเปิดกว้างให้ความคิดอื่นเข้ามาร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วย นั่นคือความคิด “กษัตริย์นิยม” ในความหมายใหม่ เพราะนับตั้งแต่ ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ทำการยึดอำนาจ สถานะของพระมหากษัตริย์ก็ได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างสูงเด่น

แต่ทว่าการยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ของขบวนการนักศึกษากลับเป็นการยกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับความใกล้ชิดระหว่างนักศึกษาและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ที่มีโครงเรื่องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม อันมีส่วนสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างสถาบันกษัตริย์และเผด็จการทหารอีกด้วย 

เนื้อหาหลักของแนวคิดนี้ ถูกนำเสนอผ่านงานสารคดีทางการเมือง และงานวิชาการจำนวนหนึ่งในต้นทศวรรษที่ 2500-2510 ซึ่งมิได้ถูกกดปราบอย่างหนักหน่วงเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดฝ่ายก้าวหน้าในทศวรรษ 2490

ฉะนั้น ความคิดในปีกนี้จึงมีที่ทางและระยะเวลาพอสมควรในการสื่อสารทางความคิดต่อสาธารณะ โดยเนื้อหาหลัก คือ การกลับไปเชิดชูบทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ทั้งในแง่ที่จะทรงเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนก่อนที่คณะราษฎรจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเรียกว่า “กษัตริย์นักประชาธิปไตย”

สำหรับสาเหตุของความเข้าใจในลักษณะนี้ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ เสนอว่า เกิดจากการตัดตอนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากว่า หลังการรัฐประหาร 2490 และการรัฐประหารของ ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ในปี 2500 ได้มีการทำลายความทรงจำของคณะราษฎรลงไปอย่างมาก

งานเขียนจำนวนมากที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางความคิดจึงได้รับผลจากการตัดตอนความทรงจำนี้ด้วย โดยพบว่ามีหนังสือนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยที่กำลังจัดทำอยู่ถูกยึดไปตรวจ บางเล่มถูกเซนเซอร์ข้อความออกไปจำนวนมาก รวมถึงการรับรู้ต่อบทบาทของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ผู้นำคณะราษฎร แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่มีบทบาทสูงในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างนักศึกษากลุ่มสภาหน้าโดม ก็ขาดการรับรู้ต่อบทบาท ‘ปรีดี พนมยงค์’

แม้ว่าจะมีงานวิชาการหลายชิ้นในปัจจุบันที่ศึกษาและวิเคราะห์จนทำให้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากความอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และความแตกแยกกันอย่างหนักในหมู่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จนทำให้ระบอบนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์[3]

แต่อย่างที่เรียนไปว่า การที่ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนาน และมีดำเนินการปิดกั้นเสรีภาพในการคิดและการเขียน การครอบงำเหล่านั้นทำให้งานเขียนฝ่ายก้าวหน้าส่งผลต่อการรับรู้ของขบวนการนักศึกษาที่กำลังก่อตัวในทศวรรษ 2510 ด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เราอาจจะเห็นได้ในวารสารที่ถือเป็นไข่แดงทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชน ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่าง วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมี ‘สุลักษณ์ ศิวรักษ์’ เป็นบรรณาธิการ (ในเวลานั้น) เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาที่สุด ประเด็นที่สุลักษณ์โจมตีคณะราษฎรมีตั้งแต่การแย่งชิงอำนาจกันเองมากกว่าสนใจแก้ปัญหาราษฎร และการไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์

ทัศนะเชิงลบเช่นนี้ สอดคล้องกับบริบทของการปิดกั้นการรับรู้ต่อ 2475 ที่ปิดฉากมาตั้งแต่ รัฐประหาร 2490 และเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2500 แนวทางการวิพากษ์วิจารณ์ของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยังถูกนำไปผลิตซ้ำในนิตยสารและหนังสือของนักศึกษาปัญญาชนในสมัยนั้นจำนวนมาก ซึ่งประจักษ์ พบว่า แม้แต่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อตั้งก็แทบไม่มีการให้ความสำคัญกับบทบาทของปรีดีเลย อนุสรณ์ของมหาวิทยาลัยในสมัยนี้เขียนประวัติของมหาวิทยาลัยโดยละเลยการเอ่ยถึงหรือตีพิมพ์รูปนายปรีดี[4]

นอกจากงานเขียนของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์แล้ว ยังมีงานเขียนในเชิงสารคดีการเมืองและงานวิชาการจำนวนหนึ่ง อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทางการเมือง (vicious circle) ที่ทำให้การเมืองไทยหมุนวนอยู่กับการรัฐประหาร การเลือกตั้ง การคอร์รัปชัน และวิกฤตทางการเมืองไม่รู้จบ

‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ พบว่า แนวทางการอธิบายเช่นนี้ยังไปปรากฏในสิ่งพิมพ์ของขบวนการนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2510 นั่นจึงเป็นที่มาของภาพมายาคติที่มองคณะราษฎรในเชิงลบในกลุ่มขบวนการนักศึกษา ความเข้าใจผิดบางกรณีไปไกลถึงขั้นว่า “คณะราษฎรเป็นบรรพบุรุษของเผด็จการทหาร”

การรับรู้เช่นนี้ไม่ได้ไหลเวียนในสิ่งพิมพ์งานของฝ่ายกษัตริย์นิยมหรืออนุรักษนิยมเท่านั้น บางครั้งยังรวมไปถึงสิ่งพิมพ์ฝ่ายซ้ายอย่าง นิตยสารลอมฟาง ซึ่งปรากฏแนวทางการอธิบายเช่นนี้เช่นกัน โดยมีโครงเรื่องอยู่ที่ว่า รัชกาลที่ 7 ได้ทรงวางรากฐานประชาธิปไตยและพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั้งยังคืนพระราชอำนาจแก่ประชาชนด้วยการสละราชสมบัติ

การกลับไปทำความเข้าใจบทบาทของคณะราษฎรอย่างจริงจังนั้น ต้องรอจนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยมาถึง นั่นคือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลักฐานหนึ่งคือ การเชื่อมต่อเหตุการณ์ในประเทศไทยกับผู้นำคณะราษฎร ที่ยังคงได้รับการเฝ้ามองอย่างห่วงใย เช่น ‘ปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งในเวลานั้นลี้ภัยทางการเมืองอยู่ฝรั่งเศส

ข้อเขียนเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร” อันเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์จากปาฐกถาของ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในงานชุมนุมสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อหน้าร้อนปี 2517 พิมพ์โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ประจักษ์พยานหนึ่งของความพยายามค้นคว้าแรกๆ เพื่อกลับไปทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีกครั้ง

 

[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556.

[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 334-336

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 416

[4] เพิ่งอ้าง, หน้า 424-425