ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับคุณเตียง ศิริขันธ์

5
ธันวาคม
2564

ดิฉันรู้จักคุณเตียงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476 เมื่อดิฉันไปเข้าเรียนอักษรศาสตร์ที่ ม.จุฬาลงกรณ์ ตอนนั้นคุณเตียงเรียนจบไปหลายปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่แผนกอักษรศาสตร์ยังไม่มีปริญญา ปีที่ดิฉันไปเข้านั้นดูเหมือนจะเป็นปีแรกที่เขาตั้งปริญญาขึ้น เพื่อนๆ คุณเตียงกลับมาเรียนต่อหลายคน คุณเตียงไม่ได้มาเรียน (เข้าใจว่าเริ่มยุ่งกับการเมือง) แต่ก็ได้แวะวนมาเยี่ยมเพื่อนๆ ที่จุฬาฯ เสมอ และเมื่อมีงานเลี้ยงของคณะอักษรศาสตร์ก็มาร่วมด้วยไม่เคยขาด คุณเตียงเป็นคนใจกว้าง รักหมู่คณะเป็นยอด เพื่อนๆ จึงรักเธอมากทุกคน เพื่อนเหล่านี้เป็น น.ร.หญิงหลายคนที่มาจาก ร.ร. ราชินี ร.ร. เดียวกับดิฉัน ซึ่งดิฉันเคยรู้จักมาก่อนแล้วดิฉันก็เลยพลอยได้ไปร่วมสังสรรค์กับพวกเขาบ้าง

ดิฉันได้ยินชื่อคุณเตียงบ่อย ตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรก และคุณเตียงได้เป็นผู้แทนของ จ.สกลนคร แล้วก็เป็นมาตลอดชีวิตได้ยินพร้อมกับชื่อของคณะผู้แทนภาคอีสานอีกหลายคน ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าสามารถ ฉลาด ปราชญ์เปรื่อง แต่กลุ่มที่คุณเตียงสนิทจริงๆ คือ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณถวิล อุดล และคุณจำลอง ดาวเรือง ในที่นี้ดิฉันจะไม่กล่าวถึงการงานของพวกเขา เพราะไม่ค่อยรู้มากอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งคือได้มีคนเขียนไว้แล้ว จะกล่าวถึงแต่เรื่องชีวิตส่วนตัว ตอนที่ดิฉันได้รู้จักสนิทสนมกับเขาเท่านั้น

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไปเยี่ยมคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ที่บ้าน
ก่อนท่านผู้หญิงพูนศุข ละสังขารเพียง 5 วัน - 6 พ.ค. 2550

 

ตอนที่ จำกัด พลางกูร สามีดิฉัน (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงานกันกลับจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2481 และได้มาพบกับคุณเตียงนั้น เป็นเวลาที่คุณเตียงกำลังมีชื่อเสียงโดดเด่น จำกัดชอบเรื่องการเมืองมากอยู่แล้ว เขาไปฟังการประชุมสภาเสมอก็เลยได้รู้จักกัน แต่ความจริงนั้นจำกัดเคยรู้จักคุณเตียงนิดหน่อยแล้ว ตั้งแต่เขายังเป็น น.ร. มัธยม ร.ร.บวรนิเวศน์ ซึ่งคุณพ่อของเขา (พระยาผดุงวิทยาเสริม) เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ และคุณเตียงไปเรียนแผนกฝึกหัดครูที่ ร.ร. นี้ จำกัดเขียนไปเล่าให้ดิฉัน (ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ประเทศอังกฤษ) ฟังเสมอ เรื่องที่เขาได้รู้จักสนิทสนมกับคุณเตียงมากขึ้นทุกที

ครั้งหนึ่งจำกัดเล่าไปว่า คุณเตียงจะแต่งงานกับ คุณนิวาศน์ และเชิญเขาไปรดน้ำ ดิฉันรีบห้ามมาว่า ประเพณีไทยนั้นเขาห้ามรดน้ำผู้ที่อายุสูงกว่าตน และคุณเตียงก็อายุแก่กว่าจำกัดถึง 5 ปี แต่จำกัดกลับตอบไปว่าเขาได้ไปรดน้ำคุณเตียงแล้ว เขาได้ถามคุณเตียงตามที่ดิฉันห้ามไป แต่คุณเตียงไม่ถือประเพณีโบราณ เขาอยากให้จำกัดไปรดน้ำเขาจริงๆ จำกัดปลื้มใจและภูมิใจมากในเรื่องนี้ เพราะในชีวิตของเขานั่นเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่เขามีโอกาสได้รดน้ำ

เมื่อดิฉันกลับมาเมืองไทยหลังจากนั้นประมาณ 9 เดือน (ส.ค. 2482) สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ (2 ก.ย. 2482) ไม่กี่วันก็ได้พบกับคุณเตียง รู้สึกว่าเราคุยกันถูกคอก็เลยสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นจำกัดไม่ได้รับให้บรรจุทำราชการแล้ว เพราะไม่ยอมทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ให้ไปพูดวิทยุกลับคำที่เขาได้เขียนบทความ (ภาษาอังกฤษ) ลงในหนังสือสามัคคีสาร ซึ่งเป็นหนังสือรายคาบของ น.ร.ไทยในอังกฤษ วิจารณ์ศาลพิเศษ ความจริงจำกัดเขียนในทางชมเชยที่รัฐบาลคิดจะเลิกศาลพิเศษ เพราะว่าศาลพิเศษไม่ดีอย่างนั้น เลวอย่างนี้ สารพัดอย่างเป็นอันว่าตอนนั้นจำกัดกำลังตกงาน

ดิฉันแต่งงานกับจำกัดในเดือนสิงหาคม 2482 นั่นเอง โดยที่ยังไม่ได้รับราชการเพราะว่าทางกระทรวงศึกษาฯ ต้องการให้ดิฉันเป็นครูใหญ่ ร.ร. อนุบาลละอออุทิศ แต่ ร.ร. ยังสร้างไม่เสร็จ สร้างได้เพียง 80% เท่านั้น จึงขอให้รอไปก่อน คุณเตียงเห็นว่าจำกัดไปสอนพิเศษ ร.ร.สีตะบุต ร.ร.ศิริศาสตร์ กับสอนพิเศษเด็ก 2-3 คนที่บ้าน และเขียนบทความไปลง น.ส.พ. นั้น รวมแล้วรายได้ต้องไม่พอกับรายจ่ายแน่ จึงจัดให้จำกัดไปสอนพิเศษ และตัวดิฉันไปสอนประจำที่ ร.ร.สตรีภาณุทัต ซึ่งคุณเตียงได้ร่วมกับ คุณครูเยื้อน ภาณุทัต ตั้งขึ้นที่วังบูรพาภิรมย์ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ขอร้องเลย ข้อนี้ดิฉันถือว่าเราเป็นหนี้บุญคุณคุณเตียงอย่างมาก และไม่เคยลืมเลย

ดิฉันได้รับจดหมายจากกระทรวงศึกษาฯ จาก ม.จ.รัชดาฯ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาในตอนนั้น ถามว่าทำไมเงียบหายไป ไม่ไปติดต่อทางกระทรวงบ้างเลย ยังคิดจะรับราชการหรือไม่ (เพราะทุน King's ที่ดิฉันได้รับนั้น เป็นทุนพิเศษ ไม่ต้องกลับมาทำงานใช้หนี้เลย) ดิฉันฉุกคิดขึ้นทันทีว่าถึงทำไปก็คงไม่มีวันได้ดิบได้ดีเพราะจำกัดถูกหมายหัวอยู่เช่นนั้น จึงตอบไปว่าไม่ขอรับราชการแล้ว และจากวินาทีนั้นจำกัดและดิฉันก็คิดตั้งร.ร. อนุบาลของเราเอง

ทั้งๆ ที่ไม่มีทุนรอนอะไรเลย ได้จัดการขายเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัว และข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างที่ขายได้ จนในบ้านแทบจะไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากสิ่งที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียน โดยเริ่มต้นเตรียมไว้สำหรับนักเรียนเพียง 30 คน โต๊ะเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ห้องรับแขก ห้องพยาบาล เครื่องเล่นในสนาม เครื่องใช้ในการกิน - ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ จาน - ชาม ถ้วยแก้ว ส่วนเครื่องใช้ในการนอน (กลางวัน) - ที่นอนบางๆ ผ้าปูที่นอน หมอน - ปลอกหมอน สารพัดอย่าง และเครื่องอุปกรณ์การสอนแบบ Montessori นั้นต้องทำขึ้นเองทุกอย่าง เพราะไม่มีขายในเมืองไทย ดิฉันทำทุกสิ่งด้วยตัวเองคนเดียวแท้ๆ ไม่มีคนช่วยเลย เพราะจะต้องประหยัดเงินอย่างที่สุด

วันหนึ่งคุณเตียงโผล่เข้ามา แล้วควักเงินออกมาให้หน้าตาเฉย บอกว่าช่วยค่าใช้จ่ายเรื่องตั้งโรงเรียน ถึงแม้เงินจำนวนนั้นจะไม่มากนัก แต่ค่าน้ำใจนี่สิมันมีมากมายหลายเท่า หัวใจดิฉันสะท้อนด้วยความขอบคุณอย่างอธิบายไม่ถูก มันเข้าไปฝังลึกในจิตใจอย่างแน่นหนา และไม่ใช่ครั้งเดียว ครั้งที่ 2 ดิฉันต้องถามเขาว่า

“คุณเอาเงินมาแบ่งให้เราใช้อย่างนี้ แล้วตัวคุณเองมีพอใช้หรือ?”

เธอหัวเราะ แล้วบอกว่า “ไม่ต้องห่วง ผมเพื่อนมาก เอาที่ไหนก็ได้”

ระยะนั้นไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนอื่นๆ มาเยี่ยมเยียนเราเลย มีแต่คุณเตียงคนเดียวนี่แหละพอ ร.ร. เปิดเป็นทางการคุณเตียงก็ให้ คุณวินัย (วรนีย์) น้องคุณนิวาศน์ ภริยาของเธอมาเป็นผู้ช่วยดิฉัน เป็นครูคนแรกของ ร.ร.ดรุโณทยาน (นอกจากตัวดิฉันเอง)

ต่อมาไม่นานเราขยายรับนักเรียนอีก 30 คน แล้วก็อีก 30 คน รวมเป็น 90 คน แล้วไม่คิดขยายอีก จำไม่ได้ว่า พ.ศ. ไหนที่ลูกชายคนเดียวของคุณเตียงอายุมากพอ (3 ขวบ) ก็มาเข้า ร.ร. ดิฉัน เราจึงยิ่งสนิทกันมากขึ้น ไปมาหาสู่กันไม่ขาด ตามปกติตอนเช้า จำกัดไปโรงพิมพ์อักษรนิต เรื่องการเขียนเรื่องลงใน น.ส.พ. จะได้พบกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ คุณมาลัย ชูพินิจ ถ้าทางรัฐบาลมีเรื่องอะไรแปลก หรือ พวก ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ส.ส. กลุ่มคุณเตียงจะไปพบกันโดยไม่ต้องนัดหมายที่บ้านคุณถวิล อุดล ซึ่งเป็น ร.ร.สอนพิมพ์ดีดที่ถนนหลานหลวง และแน่ละจำกัดก็จะไปกับเขาด้วย และถ้าเป็นวันอาทิตย์หรือวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ ร.ร. ปิด เขาก็จะพาดิฉันไปด้วยเสมอ จำกัดไม่ได้เป็นผู้แทน แต่เขาชอบออกความคิดเห็นต่างๆ ให้คุณเตียงไปพูดในสภาบ่อยๆ จำกัดรู้สึกสนุกในการคุยกับ ส.ส. กลุ่มนี้ ในเรื่องการเมืองมาก โดยเฉพาะกับคุณเตียงนี่แหละ

ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย ธันวาคม 2484 ร.ร. ยังเปิดได้อยู่ ตอนนั้นจำกัดได้ตั้ง ร.ร. สอนพิเศษ ชั้น ม. 7-8 ในตอนเย็น ชื่อ ร.ร.ศรีพลัตถ์ ที่อีกตึกหนึ่งซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับ ร.ร.ดรุโณทยาน ของเรานั่นเอง จำกัดเริ่มคิดการต่อสู้กับญี่ปุ่นมาตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว เขาต้องร่วมคิดกับคุณเตียงแน่ๆ เขาพูดเกลี้ยกล่อม น.ร.ชายโตๆ ที่มาเรียนพิเศษตอนเย็นให้เตรียมตัวพร้อมไว้เสมอ และคุณเตียงก็ได้ให้หลานชายหนุ่มๆ มาอยู่กับเราหลายคน แต่ที่จำชื่อได้ก็คือ เสรี นวลมณี ประหยัด บำเพ็ญศิทธิ์ รำไพ ศิริขันธ์ เป็นต้น แล้วยังไปชวนลูกของพรรคพวกที่คุ้นเคย เช่น ลูกชายของคุณพระราชญาติรักษา และคนอื่นๆ อีก

ทั้งนี้เพื่อจะให้เรียกตัวได้ในทันที ตอนนั้นเขาพบกับคุณเตียงแทบทุกวัน แต่แน่ละเขาขาดทุนรอนและกำลัง เมื่อท่านปรีดีแจ้งเรื่องการตั้งขบวนการใต้ดินเป็นเรื่องราว ซึ่งจำกัดและคุณเตียงได้เข้าร่วมในทันทีนั้น เขาถือว่าพวกเด็กหนุ่มทั้งหลายที่เขาได้รวบรวมไว้ก็เป็นพวกใต้ดินด้วยโดยอัตโนมัติ

คุณเตียงไม่เคยอยู่นิ่ง ขับรถไปโน่นมานี่ตลอดเวลา ส่วนมากก็ไปหาพรรคพวกคุยกัน เถียงกันเรื่องการบ้านการเมืองนี่แหละ วันหนึ่งรถยนต์ของเธอเสีย จะซ่อมก็ดูจะไม่คุ้ม เพราะรถคันนั้นเก่ามากแล้ว เมื่อจำกัดกลับจากอังกฤษไม่นานนัก ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ D.K.W. ไว้คันหนึ่งใหม่เอี่ยม ใช้มา 3 ปีกว่าแล้ว ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก จำได้ว่าไม่เคยเสียเลย จำกัดปรึกษากับดิฉันว่าเราไม่มีธุระไปไหนมากนัก นอกจากไปบ้านท่านปรีดีและโรงพิมพ์อักษรนิติ การไปเที่ยวไม่มีอีกแล้ว ฉะนั้นถ้าเราเอารถของเราให้คุณเตียงใช้จะเป็นประโยชน์มากกว่า เราให้คุณเตียงไปด้วยความเต็มใจ และคุณเตียงก็รับไปด้วยความยินดี ซึ่งทำให้เรา ปลาบปลื้มที่ได้ตอบแทนบุญคุณคุณเตียงได้บ้าง

เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและอเมริกาแล้ว ได้บังคับให้มีการพรางไฟในค่ำคืนทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะกลัวว่าเครื่องบินสัมพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิดสถานที่สำคัญๆ รถทุกชนิดก็ต้องพรางไฟด้วย คืนหนึ่งคุณเตียงขับรถ D.K.W. จะไปธุระที่ดอนเมือง เมื่อไปถึงแถวสะพานใหม่ตรงที่มีสะพานเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ กันสองสะพานนั้น เธอขับข้ามสะพานหนึ่งไปแล้วกำลังจะขึ้นอีกสะพานหนึ่ง พอดีเห็นรถแล่นไกล เห็นแต่ไฟ 2 ดวงของรถที่พรางไฟนั้น เธอคิดว่าเป็นรถจักรยานยนต์แล่นคู่กันมา เธอจึงตั้งใจจะแล่นแทรกเข้าไประหว่างกลางแต่ที่ไหนได้นั่นไม่ใช่รถจักรยานยนต์แต่เป็นรถยนต์คันใหญ่ รถจึงชนกันอย่างเต็มที่เลย รถ D.K.W. เสียหายแบบซ่อมไม่ได้ แต่คุณเตียงปลอดภัย ดิฉันจำไม่ได้ว่าเรื่องต่อมาเป็นอย่างไร จำกัดไม่เสียดายรถ เท่าที่คุณเตียงปลอดภัยก็ดีใจ ขอบคุณสวรรค์มากแล้ว

เมื่อจำกัดอาสาท่านปรีดี จะเป็นตัวแทนขบวนการใต้ดินของไทยผ่านไปทางประเทศจีนเพื่อไปติดต่อกับทางรัฐบาลอังกฤษและอเมริกานั้นตอนแรกยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน จึงยังไม่ได้บอกคุณเตียง เพราะคุณเตียงไปเยี่ยมราษฎรที่สกลนคร ครั้นกำหนดวันเดินทางแน่นอนแล้ว จึงโทรเลขบอกคุณเตียงว่า “เสรี นวลมณี จะไปหา อย่าไปไหน” และให้เสรีถือ จ.ม. ไปบอกว่า ขอให้มารับที่สถานีรถไฟในวันนั้น เวลานั้น และให้เตรียมจัดหารถที่จะไปชายแดนไว้ให้พร้อมด้วย พอคุณเตียงรู้แค่นั้นก็เดาออกทันทีว่าจำกัดจะไปเมืองจีน ใจร้อนอยากพบเร็วๆ จึงมารับรถไฟขบวนนั้นที่สถานีขอนแก่น

คืนนั้นเราไปค้างที่บ้านคุณเตียงที่สกลนคร รุ่งขึ้นเตรียมตัวไปนครพนมตอนนั้นคุณเตียงให้คุณนิวาศน์ (ภริยา) ถอดเครื่องประดับทั้งหมดมีสายสร้อย ล็อกเกต แหวน รวมทั้งแหวนของตัวเองด้วย มอบให้จำกัดเผื่อว่าจะไปตกทุกข์ได้ยาก เพราะการเดินทางนั้นมืดมนเต็มที ญี่ปุ่นอยู่เต็มไปหมด ดิฉันเชื่อว่าถ้าคุณเตียงรู้ตัวก่อนนั้น คงจะรวบรวมเงินทองมอบให้จำกัดอีกเป็นแน่และของเหล่านี้ (จำกัดเขียนไว้ในสมุดบันทึก) ว่าได้ช่วยเขาอย่างมากจริงๆ เพราะเขาได้ใช้เงินโทรเลขถึง เสนีย์ ปราโมช ราชทูตไทยประจำอเมริกาหลายครั้ง แต่ละครั้งต้องพูดยืดยาว และค่าโทรเลขแพงมาก เสียเงินทองไปเกือบหมดตัว ทางโน้นก็ไม่ตอบมาสักที จำกัดต้องโทรเลขเพราะเป็นเรื่องด่วน เวลาที่ท่านปรีดีกำหนดไว้ใกล้จะถึงเต็มที่แล้ว

คุณเตียงรู้เรื่องนี้ด้วย เข้าใจว่าจะรู้จากรายงานของจำกัดถึงท่านปรีดี เพราะบันทึกส่วนตัวนั้นดิฉันยังไม่ได้เปิดเผย เธอเศร้าโศกมากที่ต้องเสียจำกัดไป แต่ก็ปลื้มใจมากที่จำกัดได้ใช้ของที่เธอให้ไปเป็นประโยชน์ในยามทุกข์ยาก ทั้งคุณเตียงและคุณนิวาศน์หมั่นมาเยี่ยมดิฉันก่อนที่ดิฉันจะย้ายไปอยู่บ้านท่านปรีดี

ตอนที่จำกัดเดินทางไปประเทศจีนแล้วนั้น พวกเด็กหนุ่มลูกหลานคุณเตียงก็ยังคงอยู่ที่บ้านดิฉัน และเมื่อดิฉันไปอยู่กับครอบครัวท่านปรีดีแล้ว ร.ร. ปิดหมด บ้านว่าง คุณเตียงได้มาอยู่ด้วย และภายหลังได้ใช้สถานที่นี้ให้พวกโดดร่มจากอังกฤษ-อเมริกา มาตั้งวิทยุสื่อสารกับสัมพันธมิตร ครั้งหนึ่งท่านปรีดีได้ให้ดิฉันไปที่นั่นแต่เช้ามืด นำข้อความแก้คำผิดในการส่งวิทยุไปต่างประเทศ

คุณเตียงบอกดิฉันว่า ขณะนั้นเพื่อนดิฉันจากต่างประเทศอยู่ห่างจากดิฉันเพียง 2-3 เมตร คืออยู่คนละห้องกันโดยมีฝากั้นเท่านั้น นั่นเป็นความลับสุดยอด แต่สำหรับพวกเราเองรู้กันได้ ดิฉันนั้นใจหนึ่งอยากเห็น อยากรู้ว่าเป็นใคร จะต้องเป็นน.ร.อังกฤษแน่ๆ แต่ต้องบังคับใจไว้ บอกว่าไม่อยากพบ เพราะลำพังการเก็บความลับเรื่องจำกัดจากญาติพี่น้องและเพื่อน น.ร.อังกฤษนั้นก็หนักอกพออยู่แล้ว ถ้าความลับเรื่องผู้โดดร่มมาส่งวิทยุเกิดเปิดเผยขึ้นจะโดยวิธีใดก็ตาม ดิฉันก็จะพลอยอยู่ในพวกผู้ต้องสงสัยด้วยเพราะได้พบได้เห็น คุณเตียงยังแปลกใจที่ดิฉันไม่อยากรู้อยากเห็นเช่นนั้น

ระหว่างที่ดิฉันอยู่ที่บ้านท่านปรีดี วันหนึ่งท่านปรีดีได้นัดให้คุณเตียงไปพบ คุณเตียงไปเยี่ยมราษฎรที่สกลนคร รีบเดินทางมาให้ทันวันนัด มาถึงโคราชจับเครื่องบินเล็กต่อมากรุงเทพฯ แต่มาใกล้กรุงเทพฯ แล้ว เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุตกลงไปบนต้นไม้ใหญ่ ตัวคุณเตียงเองตกลงมาโดยครูดกับต้นไม้ และถูกกิ่งไม้เกี่ยวเสื้อผ้าและแขนขาเป็นรอยเต็มไปหมดแต่เธอสติดี มองดูนาฬิกาข้อมือเห็นว่าใกล้เวลานัดเต็มที่แล้ว จะไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ไหนก็ไม่ทัน จึงรีบจับแท็กซี่ตรงไปบ้านท่านปรีดีเลย พวกเราที่เห็น ได้รู้เรื่องพากันตื่นเต้นไปตามๆ กัน ยังนึกว่าคุณเตียงโชคดีที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต คุณพระคุณเจ้าท่านช่วยให้มีชีวิตอยู่เพื่อทำงานใต้ดินต่อไป เรื่องนี้เกิดก่อนที่คุณเตียงมาตั้งสถานีวิทยุที่บ้านดิฉัน

 


นายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับลอร์ด หลุยส์ มานท์แบทเตน
ที่ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2513

 

หลัง จอมพลผิน ปฎิวัติ พ.ศ. 2490 คุณเตียงกับพรรคพวกอีก 3 คน คือ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณถวิล อุดล และคุณจำลอง ดาวเรือง ถูกรัฐบาลเผด็จการไล่หาตัว ดิฉันได้มีโอกาสช่วยเขาหลายครั้ง โดยความร่วมมือของ คุณประยูร วิญญรัตน์ เพราะตอนนั้นดิฉันยังไม่มีรถยนต์ของตัวเอง ครั้งหนึ่งเขามาหาดิฉันที่ ร.ร.ดรุโณทยาน ขอให้พาไปที่ท่าเรือแห่งใดแห่งหนึ่ง คุณประยูรพาไปตั้งหลายท่า (ดิฉันไปด้วย นั่งข้างหน้าส่วน 4 คนนั้นนั่งเบียดกันข้างหลัง เป็นการซ่อนไปในตัว) ทุกท่าผู้คนแน่นไปหมด ไม่สำเร็จ เขาให้ส่งที่ไหนจำไม่ได้

ครั้งต่อมาพวกเขาก็มาแบบเดียวกันอีก แต่คราวนี้คิดว่าเสี่ยงไปที่บ้านท่านปรีดีเลยเพราะอยู่ติดกับท่าช้างวังหน้า คงหาเรือได้ไม่ยาก ตอนนี้คุณประยูรไม่อยู่ แต่เผอิญมีสุภาพบุรุษคนหนึ่งซึ่งดิฉันไม่อยากเอ่ยชื่อของเธอ เพราะไม่รู้ว่าเธอจะชอบหรือไม่ ไม่ได้ติดต่อกันหลายสิบปีแล้ว ไม่รูแม้แต่ว่าเธอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ท่านผู้นี้อาสาขับรถของท่านพาไปแต่ต้องรอให้พลบค่ำก่อน เพื่อความปลอดภัย ดิฉันนั่งข้างหน้าคู่กับเจ้าของรถ ส่วนคุณเตียงและพวกนั่งข้างหลังตามเคย จำได้ว่าคนหนึ่งใส่หมวกด้วย พอไปถึงประตูใหญ่บ้านท่านปรีดี ซึ่งมีทหารควบคุมดูแลอยู่ ดิฉันก็ชะโงกหน้ายื่นออกไปบอกพวกทหารว่า “ฉันเอง” พวกทหารจำหน้าดิฉันได้จึงไม่นึกมองข้างในรถ ปล่อยให้เราเข้าไปโดยดี ขณะนั้นใจดิฉันเต้นตุ้มๆ ตั้มๆ กลัวจะไม่รอด กลัวเขาจะจับได้ แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเราไว้ รถแล่นเข้าไปถึงตึกแรกซึ่งเป็นที่ทำงาน ส่วนท่านผู้หญิงและลูกๆ อยู่ตึกถัดไป ที่นั่นมีพรรคพวกของ 4 คนนั่งคอยอยู่แล้ว ดิฉันหมดหน้าที่แล้วก็ปล่อยให้ผู้มีพระคุณคนนั้นกลับไป ส่วนพวก 4 คนจะทำอะไรต่อไปดิฉันไม่ทราบ

ต่อมาอีกครั้ง พวกเดียวกันนี้มาหาดิฉัน คราวนี้คุณถวิลมาด้วยหรือเปล่าจำไม่ได้แน่นัก คุณประยูรมาที่บ้านดิฉันพอดี เขาขอให้คุณประยูรพาเขาไปที่ตึก JUSMAAG เดิม หัวถนนสาทร เขาจะนัดใครไว้ที่นั่นหรือเปล่าดิฉันไม่ทราบ ดิฉันไปด้วยอีกตามเคย เขาให้เราทิ้งพวกเขาไว้ที่นั่นและให้เราช่วยไปหาเรือที่ท่าถนนตก ดิฉันไปกับคุณประยูร ไปวางมัดจำเรือไว้ลำหนึ่ง บอกเขาว่าเราจะกลับไปภายใน 1 ช.ม. พอกลับมาถึงที่ JUSMAAG ปรากฏว่าพวกนี้หายตัวไปหมดแล้ว มารู้ที่หลังว่าตำรวจรู้เร็ว ตามมาค้น แต่พวกเราเร็วกว่า หนีออกไปได้อย่างหวุดหวิด เป็นอันว่าเราไม่ได้กลับไปที่ท่าถนนตก ทิ้งเงินมัดจำเลย

หลังจากนี้ดิฉันไม่ได้พบพวกเขาอีกเลย จนกระทั่งคุณทองอิน คุณถวิล และคุณจำลอง ถูกจับไปขังที่ ร.ร.ตำรวจบางเขน พร้อมกับ คุณทองเปลว ชลภูมิ แต่คุณเตียงไม่ได้ถูกจับไปด้วย ต่อมาไม่นานทั้ง 4 คนนี้ ตำรวจยิงตายหมดอย่างทารุณ ส่วนคุณเตียงหายตัวไป ทางรัฐได้ให้ 4 กองทัพ (ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ) เที่ยวค้นหาตัวเขาทั่วเขตภูพาน และตั้งค่าหัวไว้สูงด้วยก็ยังไม่สามารถหาตัวคุณเตียงได้ เพราะชาวสกลนครรักผู้แทนของเขามาก อำนาจเงินซื้อพวกเขาไม่ได้

มีเรื่องน่าขันที่น่าเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับคุณเตียง คือว่าระยะที่เขากำลังค้นหาตัวเธออย่างโกลาหลนั้น เธออยู่ที่ซอยราชครู ถนนพหลโยธินใกล้ๆ กับบ้าน ชาติชาย ชุณหะวัณ  นั่นเอง เพียงแต่เข้าซอยไปแล้วเลี้ยวซ้ายจะเป็นบ้านของพวกชุณหะวัณ ถ้าเลี้ยวขวาไปนิดเดียวเป็นบ้านของเพื่อนคุณเตียง ซึ่งเลี้ยงไก่ ขายไข่ไก่ด้วย ดิฉันเป็นลูกค้าประจำของไข่ไก่เจ้านี้ จึงเข้าออกบ้านนี้ได้โดยไม่มีใครสงสัย แต่คุณเตียงเกรงใจเพื่อน ไม่อยากให้เขาลำบากใจ อยู่ไม่นานเท่าไรก็เปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ตอนนั้นเป็นตอนสภาปิด

แต่พอสภาเปิด เธอเข้ามารายงานตัว มาประชุมสภาตามปกติ เขาจับเธอไม่ได้เพราะมีกฎหมายห้ามจับผู้แทนราษฎรในระยะสภาเปิด แต่อย่างไรก็ตาม พวกเผด็จการใช้วิธีหลอกล่อเธอไปจนได้ และฆ่าเธอและพรรคพวกด้วยวิธีโหดร้ายทารุณยิ่งกว่าสัตว์ป่า

ลูกชายของเธอซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 9 ขวบเล่าว่า คืนวันหนึ่งได้ไปที่งานวังสราญรมย์กับคุณพ่อ นัยว่าคุณเตียงจะไปตรวจงานอะไรสักอย่างหนึ่ง เธอบอกลูกว่าเสร็จแล้วจะพาไปเยี่ยมคุณแม่ (คุณนิวาศน์) ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล แต่มีคนมาบอกอะไรกับคุณพ่อก็ไม่ทราบ คล้ายกับจะเป็นเรื่องสำคัญจะให้คุณเตียงไปกับเขา คุณเตียงไม่เฉลียวใจเลย สั่งลูกน้องให้พาลูกไปเยี่ยมคุณนิวาศน์แทน ส่วนตัวเธอและพรรคพวกสนิทรวม 4 คน ขับรถของตนเองตามเขาไป แล้วก็ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมดังได้กล่าวมาแล้ว

คุณนิวาศน์เล่าว่า น้าสาวของเธอเป็นภริยาของจอมพลผิน ฉะนั้นเธอจึงไปมาหาสู่ที่บ้านนั้นบ่อยๆ และได้พบกับนายเผ่า ศรียานนท์ ที่นั่นซึ่งก็คงจะไปบ่อยเหมือนกัน นายเผ่าเกิดมาชอบพอคุณนิวาศน์ แต่เธอไม่เล่นด้วย เพราะตอนนั้นเธอกำลังรักกับคุณเตียงอยู่แล้ว ตั้งแต่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ คุณเตียงก็มาอยู่บ้านคุณแม่คุณนิวาศน์ตลอด จะเป็นญาติโยมกันทางไหนเราก็ไม่ได้ถาม คิดเอาเองว่าคงเป็นเรื่องธรรมดาที่ญาติผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ มักจะรับลูกหลาน หรือลูกของผู้ที่ชอบพอกันจากหัวเมืองมาอยู่ด้วย คุณเตียงไม่มีบ้านของตนเองในกรุงเทพฯ ได้อยู่บ้านคุณแม่คุณนิวาศน์ตราบจนถึงวันที่ถูกจับไปฆ่า

ตอนนั้น นายเผ่า ศรียานนท์ เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ เนื่องจากเคยรู้จักกันดี คุณนิวาศน์ผู้ยังไม่เชื่อว่าคุณเตียงจะเสียชีวิตแล้ว ได้ปรารภว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากเขา หรือถามเรื่องราวคุณเตียงจากเขาจะดีหรือไม่ มาคิดดูอีกทีเขาคงจะไม่ช่วยเหลือเพราะเคยมีเรื่องส่วนตัวเกี่ยวข้องกันอยู่ เขาอาจจะนึกสมน้ำหน้าเธอ หรืออาจจะมีอะไรยิ่งไปกว่านั้นก็ได้ ตกลงเป็นอันว่าไม่ได้ไปหานายเผ่า

เป็นอันว่าไม่มีใครรู้ว่าคุณเตียงหายไปไหน พวกเราคอยกันวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า เธอก็ยังไม่กลับมา ตัวคุณนิวาศน์เองเชื่อมั่นว่าเธอคงจะเล็ดลอดไปหาท่านปรีดีที่เมืองจีน แต่พวกเราสงสัยกันว่า เธอคงจะต้องตายแล้วแน่ๆ

ตอนนั้นดิฉันกำลังยุ่งอยู่กับการรับลูกๆ ของ ร.ม.ต. ที่ถูกฆ่า ลูกของคนที่ถูกออกจากราชการโดยไม่ยุติธรรมเพียงเพราะว่าเป็นพรรคพวกท่านปรีดี รัฐบาลเผด็จการมุ่งมั่นจะล้างพวกของท่านปรีดีให้หมดไปจากโลกนี้ ดิฉันรับเด็กๆ พวกนั้นมาอยู่ประจำที่ ร.ร. เลย ทั้งๆ ที่ทาง ร.ร. ไม่ค่อยมีรายได้มากนัก เนื่องจาก ร.ร. เพิ่งเปิดใหม่ หลังจากที่ปิดไประหว่างสงคราม ดิฉันต้องอดออมเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อเลี้ยงเด็กเหล่านี้ งดการไปงานทุกชนิด ไม่ได้พบเพื่อนเลยไม่ว่าจะเป็นพวกรร.ราชินี พวก ม.จุฬาฯ หรือพวก น.ร.อังกฤษ ไม่ดูหนังดูละคร ไม่ซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวใหม่สักชิ้นเดียว การกินอยู่ก็กระเบียดกระเสียรมาก ไม่ซื้อของกินเล่น กินแต่อาหารที่จำเป็นเพื่อยังชีวิตอยู่เท่านั้น ดิฉันอยู่ในสภาพที่ยากจนเช่นนั้นถึง 14-15 ปี เมื่อจำนวน น.ร. ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเด็กรุ่นแรกๆ ของเราจบหลักสูตรแล้วจึงได้ลืมตาดูโลกกับเขาได้

ดิฉันเห็นว่าคุณนิวาศน์ยังอยู่ดี และมีลูกเพียงคนเดียวคงจะไม่ลำบากนัก จึงไม่ค่อยได้ติดต่อกับเธอ จำไม่ได้แน่ แต่เข้าใจว่า วิทูร (ตึง) ลูกของเธอนั้นพอจบ ป.4 แล้วก็ต้องออกไปตามกฎของ ร.ร. ที่ว่า น.ร.ชายจะอยู่ได้จนจบ ป.4 เท่านั้น

คุณเตียงเป็นเพื่อนสนิทสนมกับ จิม ทอมป์สัน เจ้าพ่อไหมไทย ทอมป์สันเคยไปสกลนคร และคิดจะซื้อที่ดินเป็นร้อยไร่ ซึ่งตอนนั้นราคาถูกมาก คงจะคิดตั้งโรงงานทอไหมเป็นล่ำสัน และคงจะคิดทำไร่หม่อนเสียเองเลย แต่เขาเป็นคนต่างชาติไม่มีสิทธิ์ซื้อที่ดินในเมืองไทย ได้ปรึกษาคุณเตียงว่าอยากจะขอลงชื่อคุณเตียงเป็นเจ้าของที่ดินนั้น คุณเตียงปฏิเสธเด็ดขาด เพราะคุณเตียงไม่ใช่เป็นแค่ประชาชนไทยธรรมดา แต่ยังเป็นผู้แทนราษฎรอีกด้วย ทอมป์สันเข้าใจดี และไม่รบเร้าคุณเตียงอีกเลย ทั้งสองยังคงเป็นเพื่อนดีกันมาตลอด ดิฉันเคยไปไหนๆ กับกลุ่มเขาหลายครั้ง จำได้ดีตอน คุณกุมุท จันเรือง เอาละครที่เธอแต่งมาแสดงที่โรงละครแห่งชาติ โดยมีการพากย์เป็นภาษาอังกฤษ คุณเตียงมารับดิฉันไปด้วย

เมื่อแนใจว่าคุณเตียงตายแล้ว จิม ทอมป์สัน รับอุปการะวิทูร โดยตั้งใจจะส่งไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่คุณนิวาศน์ร้องไห้ร้องห่มเป็นวรรคเป็นเวร เพราะว่าสามีก็ตายไปแล้ว ลูกชายคนเดียวยังจะจากไปอีก และสมัยนั้นการไปอังกฤษหรืออเมริกาต้องไปทางเรือเป็นเวลาเดือนสองเดือน เนื่องจากยังไม่มีสายการบินอย่างปัจจุบันนี้ ลูกจะไปเป็นอย่างไร เธอจะมีโอกาสได้พบกับลูกอีกหรือไม่ เธอจะต้องมีชีวิตอยู่คนเดียว จะไหวหรือ จิม ทอมป์สัน เห็นอาการคุณนิวาศน์เช่นนั้น กลัวว่าเธอจะเสียสติไป หรืออาจจะเศร้าโศกจนถึงชีวิตก็ได้ จึงเลิกล้มการส่งวิทูรไปต่างประเทศ ได้ให้เป็น น.ร.ประจำที่ ร.ร.คริสเตียน ตามที่คิดว่าเหมาะสม

หลายปีต่อมา จิม ทอมป์สัน ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ระหว่างที่เขาไปพักผ่อนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในมาเลเซีย พรรคพวกญาติมิตรได้ค้นหากันทุกหนทุกแห่ง ก็ยังไม่พบความจริงว่าเขาหายไปไหน อย่างไรจนกระทั่งทุกวันนี้ การตายของ จิม ทอมป์สัน ทำให้วิทูรหมดที่พึ่งพาไปอย่างแน่นอน มาได้ยินข่าวคุณนิวาศน์อีกทีก็ตอนที่เธอถึงแก่กรรมแล้ว ตอนเผาศพคุณนิวาศน์นั้น ดิฉันยังได้พบกับวิทูร ซึ่งมีครอบครัวแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลยเป็นเวลาหลายปี จนมีคนมาบอกว่าเขาอยู่ที่บ้านซอยหม่อมแผ้ว ดิฉันจึงพาน้องๆ ไปเยี่ยมก็เห็นเขาอยู่เรียบร้อยดี แต่หลังจากนั้นอีกนาน พอไปเยี่ยมอีก เขาก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว เพื่อนบ้านบอกว่าเขาถูกธนาคารยึดบ้าน และไม่มีใครรู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน

ดิฉันเอะใจว่าเขาคงจะตกระกำลำบาก จึงพยายามเที่ยวติดตามเขาทุกวิถีทาง โดย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก เมื่อพบพวกเสรีไทยทุกคนที่เป็นพรรคพวกของคุณเตียง ก็ได้ขอร้องให้เขาช่วยสืบหาด้วย ทำเช่นนั้นอยู่หลายปีจนกระทั่งเมื่อมีการเปิดที่ตั้งศูนย์กลางของเสรีไทยเป็นเรื่องเป็นราวที่บึงกุ่มในวันสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ตึ๋งได้ทราบเรื่องนี้ทาง T.V. จึงโทรศัพท์มาหาท่านผู้หญิงพูนศุข บอกว่าเขาอยากมาร่วมงานด้วย แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ท่านผู้หญิงให้เขา โทร. ถึงดิฉันทันที

เมื่อได้โทร. ถึงกันและได้เรื่องราวพอสมควรแล้ว ดิฉันก็ขอให้เขามาพบดิฉัน และพาเขาไปร่วมงานเสรีไทยด้วย ตอนนั้นเขากำลังทำงานที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของเพื่อนของเขา อยู่ที่สวนผึ้ง จ.ราชบุรี แต่พอดีกำลังมีเรื่องอึดอัดไม่สบายใจเป็นอย่างมาก อยากจะลาออกมาขับรถแท็กซี่ ดิฉันเห็นว่าไม่เหมาะ เพราะขาของเขาเสียมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เพราะการเล่นฟุตบอลหรืออะไรทำนองนี้ เพียงเดินเปล่าๆ ก็ยังกะเผลกๆ จึงชวนให้มาอยู่ด้วย

เมื่อรู้ว่าลูกคนสุดท้องของเขาซึ่งเป็นผู้หญิงและอยู่กับยายที่ จ.บุรีรัมย์ นั้น เรียนชั้นมัธยมแล้ว โดยตั้งใจว่าจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่ง ก็จึงชวนให้มาอยู่กับพ่อ เพราะคิดว่าการมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จะมีหนทางดีกว่า แต่ยายของเด็กไม่ยอมให้มา และแม่ของเด็กก็ไปอยู่ต่างประเทศ เราได้พยายามติดต่อก็ไม่สำเร็จ จึงต้องยอมแพ้ แต่ตัววิทูรเองมาอยู่กับดิฉันตั้งแต่ปี 2547 จนกระทั่งบัดนี้ (2553) เขาป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ได้จัดการให้ไปรับการรักษาที่ ร.พ.พระนั่งกล้า เขายังมีโรคอื่นอีกหลายอย่าง ร่างกายจึงไม่สู้แข็งแรงนัก ดิฉันก็เลยไม่ให้เขาช่วยทำอะไร ให้อยู่แบบคนครึ่งๆ ป่วยมาตลอด

แต่มาตอนหลังนี้เขาเปลี่ยนแปลงไป ไม่ยอมไปหาหมอ และทำอะไรแปลกๆ ตัวดิฉันเองก็เกิดป่วยมาก ไม่ได้ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ดิฉันต้องเข้าไปอยู่ ร.พ. ตั้งเกือบ 2 เดือน หมอบอกว่าหัวใจไม่ปกติ อาจจะเสียชีวิตอย่างปุบปับเมื่อไรก็ได้ ดิฉันเป็นห่วงวิทูรว่าถ้าไม่มีดิฉันแล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน จึงพาเขาไปฝากให้อยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชราบางเขน (ตอนนี้เขาอายุ 70 ปีแล้ว) สถานที่นี้โอโถงสะอาดสะอ้าน น่าอยู่มาก และให้จัดระเบียบให้อยู่อย่างสบาย บังเอิญกรรมการคนหนึ่งของมูลนิธินี้จบจาก ม.ธรรมศาสตร์ และเคยรู้จักชื่อเสียงของคุณเตียงมาแล้วเป็นอย่างมากจึงยินดีต้อนรับเขา และทำให้ดิฉันอุ่นใจไปด้วย อยู่มาได้สัก 2-3 เดือน อาการป่วยของเขากำเริบขึ้น ไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่จิตใจไม่ปกติ ทางมูลนิธินี้ขอให้ดิฉันพาตัวไปหาจิตแพทย์ เมื่อไรหายป่วยแล้วเขาก็ยินดีจะรับกลับมาอยู่ตามเดิม

คุณเตียงคะ - ดิฉันนึกถึงคุณตลอดเวลา คิดว่าคุณได้เสี่ยงชีวิตทำงานให้ชาติมามากมาย แต่กลับมาถูกฆ่าอย่างทารุณ คิดว่าคุณคงจะเป็นห่วงลูกคนเดียวของคุณมาก จึงพยายามหาทางช่วยตึ๋งทุกวิธี คิดด้วยว่าวิญญาณของจำกัด (สามีดิฉัน) คงจะดีใจมากเป็นแน่ที่ดิฉันได้ทำหน้าที่แทนเขาเช่นนี้ และคงจะเอาใจช่วยตึ๋งและดิฉันอยู่แล้ว และเชื่อแน่ว่าวิญญาณของคุณคงจะช่วยส่งกระแสกำลังใจมาให้เราทั้งสองด้วย ขณะนี้ตัวดิฉันเองอายุ 94 ปีแล้ว ต้องเข้าๆ ออกๆ ร.พ. มาตลอดเวลา เพื่อนๆ รอบข้างก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร ยังดีที่บรรดาลูกๆ ของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นห่วงเรามาก และได้ติดต่อถามเรื่องราวของเราอยู่เสมอ เป็นการให้กำลังใจแก่ดิฉันอย่างดีที่สุด

ขอให้เทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยดลบันดาลให้จำกัดและดิฉันได้พบกับคุณและคุณนิวาศน์ในสัมปรายภพด้วยเทอญ

ด้วยรักและคิดถึงมากจริงๆ
ฉลบชลัยย์ พลางกูร
ม.ค. 2553

 

ที่มา: ฉลบชลัยย์ พลางกูร. เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับคุณเตียง ศิริขันธ์, ใน, เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน. (แม่คำผาง : กรุงเทพฯ) หน้า 11-26