ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

“กวดวิชา” กฎหมาย ณ บ้านป้อมเพ็ชร์

25
ธันวาคม
2564

ปลายทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 ภายหลังที่ นายปรีดี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางนิติศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส เขาหวนกลับมารับราชการในกระทรวงยุติธรรม มีบรรดาศักดิ์ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ณ โรงเรียนกฎหมาย รับผิดชอบสอนวิชากฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เป็นต้น ทั้งยังเริ่มริสอนวิชากฎหมายปกครอง และวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญใช้ปกครองรัฐ อันถือเป็นวิชาแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยยุคนั้น (ถ้าคุณผู้อ่านสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านต่อที่ เมื่อปรีดีเริ่มริสอน “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ในเมืองไทย)

อาจารย์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไม่เพียงแต่เน้นสอนนักเรียน ณ โรงเรียนกฎหมายอย่างเดียว หากเปิดโอกาสให้กลุ่มนักเรียนผู้กระตือรือร้นสนใจเรียนรู้และสงสัยข้อปัญหาสารพัน สามารถติดตามมา “กวดวิชา” ต่อยอดเพิ่มเติมที่บ้านของตนโดยไม่คิดค่าสอน ซึ่งขณะนั้น นายปรีดีพำนักอยู่ในบ้านของครอบครัวฝ่ายภรรยาหรือ บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เจ้าของบ้านคือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)

 

บ้านป้อมเพ็ชร์ ถนนสีลม พ.ศ. 2474
บ้านป้อมเพ็ชร์ ถนนสีลม พ.ศ. 2474

 

บ้านป้อมเพ็ชร์ ถนนสีลม
บ้านป้อมเพ็ชร์ ถนนสีลม

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดีเคยให้สัมภาษณ์ ซึ่งนิตยสาร ปาจารยสาร ได้นำมาลงพิมพ์ผ่านคอลัมน์ ‘คำบอกเล่าของสามัญชน’ ในเล่มปีที่ 14 ฉบับที่ 6 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. 2530 มีเนื้อความบอกเล่าถึงการที่นักเรียนโรงเรียนกฎหมายช่วงต้นทศวรรษ 2470 แวะเวียนมากวดวิชากับอาจารย์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เริ่มจากผู้สัมภาษณ์เอ่ยคำถามทำนอง “ทราบว่าท่านปรีดีเคยเชิญลูกศิษย์ลูกหามากวดวิชาที่บ้านเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง?”

คำตอบของท่านผู้หญิงพูนศุขคือ “จะเรียกว่าเชิญมาก็ไม่ได้  คือเราเปิดให้เขามาเรียน เท่ากับกวดวิชาให้  ใครอยากจะมาหรือไม่มาก็ได้”

พอถูกตั้งคำถามต่อว่า “สมัยนั้นมีการกวดวิชาเช่นนี้มาก่อนหรือเปล่า...?” ภริยานายปรีดีจึงกล่าว “ไม่ทราบ อาจจะมี แต่ผู้สอนไม่มีชื่อเสียงเท่าท่าน”

ด้านวัตถุประสงค์ที่นายปรีดีเปิดกวดวิชาขึ้น ณ บ้านถนนสีลมนั้น ปากคำของท่านผู้หญิงพูนศุขเผยว่า “ท่านอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่เราไม่รู้ คือเริ่มหาพรรคพวก อันนี้เป็นของแน่นอน นี่ก็เพื่อจะได้รู้นิสัยใจคอ ทัศนะนักเรียนบ้าง ว่าเขามีหัวคิดยังไง”

แน่นอนทีเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ กับกลุ่มนักเรียนกฎหมาย ผู้ตามมาเรียนเสริมที่บ้านย่อมทบทวีความแน่นแฟ้น จึงไม่แปลกถ้านักเรียนกฎหมายกลุ่มนี้หลายคนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกและเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

“แล้วคนที่มาร่วมในการกวดวิชาที่ได้เป็นผู้ก่อการมีใครบ้าง...?”  ผู้สัมภาษณ์ซัก

ภริยานายปรีดีตอบ  “มี แต่ไม่ใช่เป็นพวกดี ๑ เป็นพวกดี ๒”

ประเด็นที่คงมีคนอยากทราบและกลายเป็นอีกคำถามคือ ตอนหลวงประดิษฐ์ฯ สอนกวดวิชาให้นักเรียนกฎหมาย ณ บ้านป้อมเพ็ชร์ อาจารย์สนทนากับลูกศิษย์เรื่องอะไรบ้าง

ท่านผู้หญิงพูนศุขแจกแจงดังนี้

“ไม่ได้เข้าไปฟัง จะสอนจะคุยอะไรกันนี่  เราไม่ทราบ แต่บางทีก็มีเสียงฮาเหมือนกันนะ  บางทีอาจารย์พูดอะไรก็มีสนุกสนาน แล้วก็มีลูกศิษย์บางคนช่างซักช่างถาม บางคนที่มาเรียนเป็นขนาดชั้นนายพันก็มี คนที่มาเรียนอาจจะแทรกซึมเข้ามาก็ได้ นักเรียนก็มีมาก ตอนเลิกเรียนเดินออกกันเป็นกลุ่ม  รถรางยังไม่เลิก เขาก็ขึ้นรถรางกัน  สมัยนั้น มีรถเมล์ขาวแต่เลิกหัวค่ำ และเป็นเรื่องแปลกของสมัยนั้นที่มีนักเรียนผู้หญิงมากวดวิชาตอนกลางคืนด้วย ถ้าบ้านเราอยู่ตามตึกแถว พวกเขาคงไม่มากัน  นี่เราอยู่ในบ้านของพระยาใหญ่โตโอ่อ่า คนเลยกล้ามาเรียนตอนกลางคืน”

ถ้อยความข้างต้นสะท้อน ขณะหลวงประดิษฐ์ฯ หรือ นายปรีดีสอนหนังสือแก่ลูกศิษย์ ก็มิใช้จะเคร่งเครียดจนเกินไป แต่ยังหมั่นสนทนาเรื่องสนุกๆ อย่างเป็นกันเองเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ กระทั่งพวกนักเรียนที่อุตสาหะตามมากวดวิชาเพิ่มเติมถึงถนนสีลมจนเลิกตอนค่ำๆ ต้องนั่งรถเมล์ขาวนั่งรถรางกลับบ้าน ก็มีทั้งนายทหารยศนายพันและมีทั้งผู้หญิง ซึ่งในสังคมยุคสมัยนั้นการที่นักเรียนหญิงจะมาที่บ้านอาจารย์ผู้ชายเวลากลางคืนย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ หากนายปรีดีมิได้พำนักอยู่บ้านพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา บางทีผู้ปกครองอาจไม่กล้าและยินยอมให้บุตรสาวของตนมาเรียน

หนึ่งในผู้หญิงที่มากวดวิชาตอนกลางคืนกับนายปรีดี นั่นคือ แร่ม พรหมโมบล (ต่อมาคือ คุณหญิงแร่ม บุณยประสพ) นับเป็นหญิงไทยคนแรกที่สมัครเข้าเรียนกฎหมาย ภายหลังเธอสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนเป็นที่กล่าวขวัญและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราวช่วงต้นทศวรรษ 2470 และท้ายที่สุดสองปีถัดมา เธอกลายเป็น “เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย”

ระหว่างเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย นางสาวแร่มได้รับความกรุณาจากครูบาอาจารย์ทุกท่าน ทั้ง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี), พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นต้น โดยอนุญาตให้ไปสอบถามความรู้และกวดวิชาเพิ่มเติมที่บ้านหลังเวลาเลิกงาน ดังเสียงเล่าของคุณหญิงแร่มว่า

“พวกเราเป็นคนขี้สงสัยไม่เข้าใจกันเสียทุกวิชา เมื่อไปเป็นหมู่คณะ ได้ฟังเพื่อนคนอื่นถามอาจารย์และโต้ตอบกับอาจารย์ จึงทำให้ความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งรู้วิธีการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ด้วยสมัยนั้นการเรียนกฎหมายไม่มีแต่หนุ่มสาวเท่านั้น อายุมากๆ หรือสอบตกหลายๆ ครั้ง ก็มีครูบาอาจารย์แต่ละท่านในครั้งนั้น มีความเมตตาเอ็นดูเราเหมือนลูกหลาน บางครั้งเราก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกับท่าน เพราะพยายามไปหาท่านเวลาอาหารค่ำพอดี จะไม่ถึงอาหารค่ำได้อย่างไร เล่นไปหากันวันละหลายๆ อาจารย์ ก็ต้องพ้องเข้าสักแห่งในเวลาอาหารของท่าน โดยเฉพาะบ้านอาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะพ้องกับเวลาอาหารค่ำบ่อยครั้งกว่าที่อื่น เพราะดิฉันถือวิสาสะว่า ได้เรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟในสมัยเดียวกับท่านผู้หญิงพูนศุข และเคยไปมาหาสู่กันที่บ้านท่านตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะสมรส”

การยินดีเปิด บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลมเป็นแหล่ง “กวดวิชา” สำหรับนักเรียนโรงเรียนกฎหมายคืออีกบทบาทสำคัญของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพราะไม่เพียงมุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้วิชากฎหมายต่างๆ แก่นักเรียนชาวสยาม แต่ยังเสมือนหนทางเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยและพยายามหาแนวร่วมเพื่อเคลื่อนไหวจนนำไปสู่การอภิวัฒน์

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2544
  2. ประดิษฐ์มนูธรรม,หลวง. คำสอนกฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ณ โรงเรียนกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๗๕. นางสาวแร่ม พรหโมบล เนติบัณฑิต แจกในงานปลงศพ พร้อม พรหโมบล ณ เชิงบรมบรรพตวัดสระเกษ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2475. พระนคร : โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2475
  3. ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526
  4. แร่ม พรหโมบล บุณยประสพ, คุณหญิง. “เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี. พิมพ์ในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนา 27 มิถุนายน 2527. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527
  5. “สัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.” ปาจารยสาร. ปีที่ 14 ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2530). หน้า 66-77