ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐประหาร “กองแล”
หลังจากปลดปล่อยทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง เมื่อต้นปี ค.ศ. 1960 สิงกะโปได้รับแต่งตั้งเป็นนายพลสิงกะโป ทำหน้าที่ผู้บัญชาการของฝ่ายปเทดลาว ประจำเขตเชียงขวาง
ชัยภูมิทุ่งไหหินเป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “คังหมาเล่น” อันนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการของกองกำลังปเทดลาวและทหารฝ่ายเป็นกลาง ที่สนับสนุนรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมานั้น ทำให้ฝ่ายขวาเวียงจันทน์ไม่สามารถเข้าโจมตียึดคืนได้ แม้กระทั่งหน่วยพลร่มของ นายพลพูมี หน่อสะหวัน ที่เคยกระโดดลงมาก็ถูกยิงตายเรียบ
ก่อนที่พูมีจะนำกำลังเข้ายึดเวียงจันทน์สำเร็จทางแนวลาวรักชาติ และกองกำลังฝ่ายเป็นกลางได้ยึดสนามบินวัดไตและป้องกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าสุวันนะพูมาขึ้นเครื่องบินออกจากเวียงจันทน์ไปยังกรุงพนมเปญ
รัฐมนตรีในคณะของท่านบางคนก็หลบจากเวียงจันทน์ไปลี้ภัยในประเทศพม่าบ้าง แล้วหาทางเล็ดลอดเข้าไปร่วมรัฐบาลของเจ้าสุวันนะพูมาที่ทุ่งไหหิน เพราะยังเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากเจ้ามหาชีวิต แม้ว่าเจ้ามหาชีวิตเห็นว่าฝ่ายพูมี ดูประหนึ่งจะได้เปรียบจึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่เวียงจันทน์ซ้อนขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนในขณะที่รัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมายังมิได้ถูกยกเลิกไป
เจ้าสุวันนะพูมา ได้เดินทางกลับจากพนมเปญมาที่เมืองโพนสะหวันทุ่งไหหิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1961 เพื่อปฏิบัติภารกิจในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้อง ทำให้ลาวเกิดมีสองรัฐบาลขึ้นมา
อันที่จริงผู้อยู่เบื้องหลัง เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ นายกรัฐมนตรีของพวกฝ่ายขวาที่เวียงจันทน์นั้นก็คือ นายพลพูมี หน่อสะหวัน ซึ่งมีบทบาทกำหนดรูปแบบการต่อสู้กับฝ่ายแนวลาวรักชาติ และนายพลพูมีได้รับการสนับสนุนอุ้มชูโดยตรงจากทั้งจักรวรรดินิยมอเมริกา และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ตระกูล “ณ จำปาศักดิ์” เป็นนามสกุลพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 จากเชื้อสายเดิมแห่งราชสกุล “ล้านช้าง” อีกสายหนึ่ง เจ้ามหาชีวิตลาวที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าศักดินาปกครองหัวเมืองทางภาคใต้ของลาว คือ แคว้นจำปาศักดิ์ มีเมืองปากเซเป็นศูนย์กลางและยังประกอบด้วยแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ ฯลฯ รวมอยู่ด้วย
ตัวเจ้าบุนอุ้มภายหลังได้รับสถาปนาเป็นอุปราช แต่ก็เป็นคนที่ไม่รักประเทศ ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายขวาตลอด จนกระทั่งฝ่ายขวาแตกพ่ายจึงลี้ภัยการเมืองไปอยู่ฝรั่งเศสจนสิ้นอายุขัย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดคำว่า “สามเจ้าลาว” ขึ้น โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าประกอบด้วย เจ้าสุพานุวง - “ฝ่ายซ้าย” เจ้าสุวันนะพูมา - “ฝ่ายเป็นกลาง” และ เจ้าบุนอุ้ม - “ฝ่ายขวา” แต่ “สามเจ้าลาว” ตามความเป็นจริงน่าจะได้แก่ “สามโอรสแห่งมหาอุปราชบุนคง” ผู้มีบทบาททางประวัติศาสตร์ในการกอบกู้อิสรภาพของชาติ นั่นก็คือ เจ้าเพ็ดชะลาด, เจ้าสุวันนะพูมา และ เจ้าสุพานุวง
รัฐบาลสุวันนะพูมาที่ทุ่งไหหินได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต, จีน, เวียดนามเหนือ รวมทั้งประเทศแห่งค่ายสังคมนิยม และประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สร้างโอกาสให้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเหล่านั้น
ในขณะที่ฝ่ายพูมีก็รับการสนับสนุนจากอเมริกาและเผด็จการทหารไทย พูมีพยายามเรียกร้องให้อเมริกาใช้องค์การซีโต้ (SEATO) อันเกิดจากสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งกำลังทหารเข้าลาว โดยอ้างว่าลาวถูกรุกรานโดยเวียดนามเหนือ แต่ชาติสมาชิกอื่นในองค์การไม่เล่นด้วย โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งมีประสบการณ์และบทเรียนที่ขมขื่นมาแล้ว
การรุกคืบหน้าของทหารพูมีเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะทหารลาวชั้นผู้นัอยมิได้มีจิตใจที่จะรบราฆ่าฟันกันเอง ฝ่ายปเทดลาวก็ไม่ต้องการปะทะซึ่งหน้าเช่นเดียวกัน คงใช้วิธีปิดล้อมทหารฝ่ายขวาเอาไว้
มีเรื่องเล่าขานถึงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ประสิทธิภาพของทหารเวียดนามเหนือเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาและสร้างความหวาดผวาแก่ทหารลาวฝ่ายขวา ทหารปเทดลาวจึงใช้กโลบายก่อนการปะทะกับฝ่ายขวา ด้วยการตะโกนคำสั่งเป็นภาษาเวียดนามว่า “ซงฟง” แปลว่า “ลุยเข้าไป” ทั้งๆ ที่ไม่มีทหารเวียดนามเหนือเลย แต่ก็เกินพอแล้วที่ทำให้ทหารลาวฝ่ายขวาวิ่งหนีป่าราบไปทีเดียว
วิธีการ หรือ กโลบายที่ฝ่ายขวาเวียงจันทน์ใช้ต่อสู้กับฝ่ายแนวลาวรักชาติ คือ เมื่อเห็นว่าตนเสียเปรียบก็เรียกร้องให้เปิดการเจรจาขึ้น ครั้นเมื่อฝ่ายตนทำท่าได้เปรียบก็เตะถ่วงการเจรจาให้ยืดเยื้อออกไปอีก เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา
เมื่อฝ่ายแนวลาวรักชาติและฝ่ายเป็นกลางสามารถยึดเชียงขวางได้ซึ่งการเจรจาที่เกิดขึ้นท่ามกลางกองกำลังติดอาวุธของแต่ละฝ่ายที่ยังมีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ายังไม่มีฝ่ายใดกำชัยชนะเด็ดขาดได้ แต่กองกำลังปเทดลาวก็อยู่ในฐานะที่เหนือกว่า กองพันที่ 2 ของปเทดลาวก็ได้เคลื่อนกลับมาเสริมกำลังในแขวงเชียงขวางอีกครั้ง หลังหลุดรอดจากการล้อมปราบของฝ่ายขวาเมื่อสองปีที่แล้ว พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยยิ่งขึ้น จากการช่วยเหลือของประเทศโซเวียตและจีนที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสุวันนะพูมาที่เชียงขวาง
ในด้านจิตใจแห่งการสู้รบในสงครามด้วยการอบรมปลูกฝังจิตสำนึกนักรบแห่งกองกำลังปเทดลาวย่อมเหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่พวกฝ่ายขวารัฐบาลบุนอุ้ม-พูมี นั้น ถึงแม้ได้รับทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์จากอเมริกาและเงินทองในรูปแบบต่างๆ แต่เมื่อขาดจิตใจในการสู้รบก็ย่อมต้องตกเป็นเบี้ยล่าง
นอกเหนือจากแขวงเชียงขวาง แนวลาวรักชาติได้ขยายกำลังปลดปล่อยพื้นที่ให้ถึง 2 ใน 3 ของประเทศ พวกปะติกานภายใต้การสนับสนุนอุ้มชูของจักรวรรดินิยมอเมริกา เห็นท่าว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการขยายตัวเติบใหญ่ของแนวลาวรักชาติ จึงเสนอให้มีการประชุมที่เจนีวาในกลางปี ค.ศ. 1961 เพื่อหาทางตกลงหยุดยิง และเพื่อนำไปสู่ความปรองดองแห่งชาติ โดยข้อเสนอเปิดประชุมดังกล่าวก็ยังมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่
ทางฝ่ายแนวลาวรักชาติตระหนักดีและแสดงออกถึงนโยบายแห่งสันติภาพ ความเป็นกลาง และความปรองดองแห่งชาติ อันเป็นนโยบายหลักของพรรคฯ จึงเข้าร่วมในการประชุม ในขณะที่มีการเตรียมตัวด้านการทหาร ปรับปรุงกำลังรบ ไม่ให้หลงกลฝ่ายปะติกานที่ฉวยโอกาสนี้ ปรับปรุงกำลังทหารขึ้นมาใหม่ มีการจ่ายเงินสกุลดอลลาร์เพื่อเกณฑ์คนลาวเป็นทหารเพิ่มขึ้น และด้วยการช่วยเหลือของเผด็จการทหารไทย ทำให้ลาวฝ่ายขวาได้เข้ามาฝึกรบในประเทศไทยตามค่ายทหารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลพบุรี
การประชุมที่เจนีวาเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961 โดยมีสหภาพโซเวียต และอังกฤษ ร่วมเป็นประธานที่ประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย อเมริกา, ฝรั่งเศส, แคนาดา, อินเดีย, โปแลนด์, จีน, พม่า, กัมพูชา, ไทย, เวียดนามเหนือ, เวียดนามใต้ และลาว
ฝ่ายของเจ้าสุวันนะพูมา มี ท่านกินิม พลเสนา เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายพูมี-บุนอุ้ม มี ผุย ชนะนิกอน เป็นหัวหน้าคณะ ฝ่ายแนวลาวรักชาติ มี พญาพูมี วงวิจิด เป็นหัวหน้าคณะ
ขณะที่ผู้แทนชาติต่างๆ เดินทางไปถึงกรุงเจนีวาแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏแม้กระทั่งเงาของผู้แทนอเมริกาทั้งที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้เปิดการประชุมที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้แทนอเมริกาสนับสนุนฝ่ายขวาให้ยกกำลังไปแขวงหลวงน้ำทาทางเหนือ เพื่อโอบล้อมพงสาลี เขตปลดปล่อยทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอ้างว่ายังมิได้หยุดยิง ดังนั้น การประชุมจึงยังเริ่มไม่ได้ ซึ่งก็เป็นยุทธวิธีของฝ่ายขวาเมื่อคิดว่าจะเป็นต่อก็ต้องทำให้การประชุมยืดเยื้อเข้าไว้
ฝ่ายแนวลาวรักชาติทราบแผนการชั่วร้ายนี้เป็นอย่างดี ทั้งยังเปิดทางให้ฝ่ายขวายกกำลังเข้ามาโดยมิได้สกัดกั้นโจมตี เพียงแต่ต้อนเข้าสู่ยุทธภูมิที่เป็นมุมอับ และปิดล้อมไว้มิให้เคลื่อนที่ออกมาได้ ในที่สุดเมื่อขาดเสบียงอาหาร กำลังที่นายพลพูมี หน่อสะหวัน ยกมาช่วยก็ถูกตีแตกพ่ายไป
เมื่อหมดหนทางทหารของพูมีเหล่านั้นก็แหวกวงล้อมหนีลงใต้ จากเมืองหลวงน้ำทาลงไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามแม่โขงไปฝั่งไทยอย่างไม่เป็นขบวน ข่าวคราวเรื่องนี้ไม่ได้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไป อเมริกาเพียงแต่อ้างข้อหาเดิมๆ ว่าเวียดนามเหนือบุกโจมตีลาว
การประชุมที่เจนีวาในระยะ 5 เดือนแรกของสามฝ่ายไม่คืบหน้าแต่ประการใด มีแต่ตอบโต้กันไปมา หัวโจกใหญ่คือ อเมริกา กล่าวหาแนวลาวรักชาติ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าเวียดนามเหนือต้องการยึดครองลาวจึงส่งทหารเข้ามาปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังปเทดลาว แต่ก็ถูกแนวลาวรักชาติโต้กลับอย่างเผ็ดร้อน โดยมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดในการแทรกแซงของอเมริกาและพวกเผด็จการทหารไทย
ภายหลังแผนการรุกของฝ่ายขวาที่ส่งกำลังเข้าแขวงหลวงน้ำทาประสบความพ่ายแพ้ ฝ่ายขวาได้เสนอให้เปิดเจรจาอีก มีการเปลี่ยนสถานที่การประชุมไปที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์บ้าง, ทุ่งไหหินบ้าง, บ้านนามอนบ้าง, บ้านหินเหิบบ้าง
จวบจนหนึ่งปีให้หลัง คือ ในวันที่ 23 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962 จึงสามารถบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นอีกครั้ง นับว่าเป็นครั้งที่สอง โดยเจ้าสุวันนะพูมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการแบ่งกระทรวงตามข้อตกลง อันได้แก่ ฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวันนะพูมาได้ 8 กระทรวง ฝ่ายแนวลาวรักชาติ 4 กระทรวง ฝ่ายพูมี-บุนอุ้ม 4 กระทรวง
เจ้าสุวันนะพูมา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ท่านสุพานุวง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ พูมี หน่อสะหวัน เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายใน
คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการแผ่นดินที่เวียงจันทน์ พื้นที่ภายใต้อิทธิพลของพูมี หน่อสะหวัน ในการนี้ทั้งฝ่ายเป็นกลางและแนวลาวรักชาติจำเป็นต้องมีกองทหารคุ้มกัน เพื่อมิให้ตกเป็นเป้านิ่งให้กับพวกฝ่ายขวาเหมือนดังรัฐบาลผสมครั้งที่ผ่านมาที่ถูกเล่ห์เพทุบายฝ่ายขวาหาเหตุเข้าจับกุมคุมขังมาแล้ว
กองทหารอารักขาของฝ่ายเป็นกลางและแนวลาวรักชาติ มีกำลังฝ่ายละหนึ่งกองร้อยเข้าไปตั้งอยู่ในกำแพงนครเวียงจันทน์ สำหรับกองกำลังปเทดลาวที่มีหน้าที่คุ้มกันรัฐมนตรีแนวลาวรักชาติ อันมีท่านสุพานุวงและบรรดาสหายนำ ต่างได้รับการเลือกเฟ้นอย่างดีที่สุด มีอาวุธประจำกายทหารราบที่ทันสมัยและทรงประสิทธิภาพ ผลิตจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นกองทหารที่มีระเบียบวินัยสูง ได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่ป้องกัน จะยิงโต้ตอบต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นแกนนำระดับสูงเท่านั้น
ฝ่ายแนวลาวรักชาติประเมินสภาพการณ์แล้วว่าฝ่ายขวาคงไม่กล้าปฏิบัติการใดๆ เข้าโจมตี หรือทำลายกองกำลังอารักขาของปเทดลาวได้เพราะเข็ดเขี้ยวมาแล้วจากการปะทะกันในที่ต่างๆ และความจริงก็เป็นเช่นนั้น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของฝ่ายขวาในเวียงจันทน์ กองกำลังปเทดลาวก็ยังตั้งมั่นอยู่จนกระทั่งเวียงจันทน์ได้รับการปลดปล่อย
การเข้าร่วมในรัฐบาลผสมครั้งที่สองต่างจากครั้งแรกที่เป็นการร่วมกันสองฝ่ายคือ ฝ่ายเวียงจันทน์และฝ่ายแนวลาวรักชาติ ในครั้งนี้ร่วมกันสามฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายแนวลาวรักชาติ ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายขวาเวียงจันทน์
พูมี หน่อสะหวัน ผู้ทรงอำนาจที่สุดของฝ่ายขวาเวียงจันทน์ ได้วางกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อขัดขวางการทำงานของ เจ้าสุวันนะพูมา และ ท่านสุพานุวง แม้กระทั่งบุคคลภายนอกที่มิได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
หากใครมีเรื่องเข้าพบท่านสุพานุวง ยังต้องผ่านด่านและได้รับความเห็นชอบอนุมัติให้เข้าพบได้ โดยต้องผ่านเจ้าหน้าที่แนวลาวรักชาติ, เจ้าหน้าที่ฝ่ายเป็นกลาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขวาเวียงจันทน์ที่พูมีวางคนของตนไว้เพื่อทำรายงานว่ามีผู้ใดเข้าพบแกนนำแนวลาวรักชาติ แม้กระทั่ง ท่านพูมี วงวิจิด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว โฆษณาการ วัฒนธรรม และท่องเที่ยว ในรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่อาจเข้าทำงานในกระทรวงที่ตนเป็นรัฐมนตรีได้อย่างสะดวก เพราะพูมีวางสายสนกลในไว้เต็มกระทรวงไปหมด
เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ผู้ถูกพูมี หน่อสะหวัน ชักใยยกให้เป็นตัวแทนในการเจรจาสามฝ่าย ที่ทางตะวันตกบางส่วนเรียกว่า “การประชุมสามเจ้าลาว” นั้น เมื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา เจ้าบุนอุ้มมิได้มีชื่อในคณะรัฐบาลผสมชุดนี้และถอนตัวออกไป
ส่วน พูมี หน่อสะหวัน ได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มล้างรัฐบาลผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามแกนนำแนวลาวรักชาติ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่กล้าทำอะไร ทั้งนี้เพราะฝ่ายแนวลาวรักชาติก็มีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาอารักขาผู้นำไม่เหมือนอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนี้พูมี หน่อสะหวัน ได้สั่ง สีโห ลานพุดทะกุน ทหารคนสนิทผู้บังคับการสารวัตรทหารกำแพงนครเวียงจันทน์ ให้จัดตั้ง “สำนักร่วมมือเพื่อความมั่งคงของชาติ” และสีโหได้รับยศเป็นนายพล
สีโหเป็นฆาตกรสังหารผู้บริสุทธิ์มากมาย ตลอดเวลาที่มีอำนาจได้นั่งรถจิ๊ปตรวจการณ์ทั่วเมือง พบเห็นผู้ต้องสงสัยก็จับมาสอบสวน จากนั้นก็นำตัวลงไปยิงที่ชายหาดแม่น้ำโขงแล้วผลักทิ้งแม่น้ำ เรียกกันว่าวิธี “งมหอย”
ชื่อของสีโหเป็นที่หวาดกลัวของชาวเวียงจันทน์อยู่ระยะหนึ่ง ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง กุปะสิด อะไพ กับ พูมี หน่อสะหวัน สีโหเข้าร่วมกับพูมี ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากกุปะสิด แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็น “รัฐประหารคุด” เมื่อเข้ามอบตัวในฐานะผู้แพ้ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามฆ่าตายในที่สุด
ในการทำงานของรัฐบาลผสมก็ยังมีสิ่งที่ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดิม อาทิเช่น การรวมกำลังทุกฝ่ายเข้าเป็นกองทัพแห่งชาติ การถ่ายโอนที่มั่นและเขตปลดปล่อยให้เข้ามารวมอยู่ในการปกครองของรัฐบาลผสม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องหลักการที่ยังไม่มีทางออก ในขณะที่กำลังทหารฝ่ายขวาพยายามเข้ายึดที่มั่นของแนวลาวรักชาติแต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ตลอด จนทำให้ทหารฝ่ายขวาเวียงจันทน์ขยาดกลัว ไม่มีจิตใจสู้รบ ทำหน้าที่ไปแกนๆ ตามที่นายจะสั่ง ทหารขบวนการปเทดลาวก็พยายามไม่เข่นฆ่าทหารชั้นผู้น้อยฝ่ายขวาเช่นกัน ชาวบ้านก็รู้ดีถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “ลาวกับลาวไม่รบกันดอก”
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังผลให้จักรวรรดินิยมอเมริกามีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง และคิดค้นหาวิธีทำลายแนวลาวรักชาติ มิฉะนั้นลาวจะเป็นคอมมิวนิสต์
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. สามเจ้าลาว, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 148-158
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ความเป็นมาของอาณาจักรหลวงพระบางแห่งราชวงศ์ล้านช้าง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ยกแรกของการประกาศเอกราช
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ศึกป้องกันเมืองท่าแขก
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : ฐานที่มั่น, เขตปลดปล่อย
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐบาลแห่งความปรองดองแห่งชาติครั้งที่หนึ่ง “รัฐบาลผสมแห่งชาติ”
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : กองพันที่ 1 และกองพันที่ 2 แห่งกองกำลังปเทดลาว
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : คุกโพนเค็ง
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี