ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : รัฐประหาร “กองแล”

19
กุมภาพันธ์
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : เส้นทางหลบหนี

 

เช้าตรู่ของวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ขณะชาวนครหลวงเวียงจันทน์ตื่นนอนตอนเช้าก็พบว่าเกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐแล้ว นำโดย ร้อยเอกกองแล โรรัง ผู้บังคับกองพันราบอากาศ พร้อมด้วย ร้อยโทเดือน สุนนะลาด รอง ผ.บ. พัน และร้อยตรีเทียบ ลิดทิเดด มีสารวัตรทหารส่วนหนึ่งเข้าร่วมทำการ และสมทบด้วยทหารอีกส่วนจากค่าย “จินายโม้” รวมกำลังพลประมาณ 800 คน

 

ร้อยเอกกองแล โรรัง
ร้อยเอกกองแล โรรัง

 

คณะรัฐประหารได้โค่นล้มรัฐบาลปะติกานที่มี เจ้าสมสนิท เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิตที่หลวงพระบาง

รัฐบาลใหม่อันมี เจ้าสุวันนะพูมา เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เพราะฝ่ายปะติกานทางใต้อันมี เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์, นายพลพูมี หน่อสะหวัน เป็นผู้นำ เตรียมการยึดอำนาจจากรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมา โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองสะหวันนะเขต เผด็จการทหารของไทยได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือแก่นายพลพูมี และมีการยิงปืนใหญ่เข้ามาในเวียงจันทน์

ในขณะที่วันที่ 10 สิงหาคม คณะผู้แหกคุกโพนเค็งทราบข่าวรัฐประหารระหว่างเดินทางถึงเขตเมืองกาสี มุ่งหน้าเข้าทางแยกสาลาพูคูนเพื่อตัดผ่านแขวงเชียงขวางเข้าเขตปลดปล่อยแขวงหัวพัน ในที่ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอน และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของลาวเห็นว่า การรัฐประหารแต่ละครั้งเป็นผลแห่งความขัดแย้งระหว่างพวกฝ่ายขวาด้วยกันเอง แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งที่คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่งให้ฝ่ายรัฐบาลเวียงจันทน์ยุติการสู้รบกับขบวนการปเทดลาว

บรรดาสหายต่างอยากทราบว่า “ร้อยเอกกองแล” นี้เป็นใคร มาจากไหน และการจัดตั้งกองพันราบอากาศมีความเป็นมาอย่างไร สหายสิงกะโป เคยรู้จักร้อยเอกกองแลมาก่อน เพราะสมัยเป็นนักเรียน กองแลเป็นลูกศิษย์ภรรยาท่าน กองแลจึงมีความเคารพนับถือในตัวสหายสิงกะโป และในขณะที่ฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วมรัฐบาลผสมก่อนถูกจับคุมนั้น ! สหายสิงกะโปได้พาทั้งร้อยเอกกองแล, ร้อยโทเดือน ไปพบ ท่านสุพานุวง ที่เรือนรับรอง ซึ่งได้ชี้แจงให้ทั้งสองคนเข้าใจนโยบายฝ่ายแนวลาวรักชาติรวมทั้งจุดมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความเป็นกลาง และความปรองดองแห่งชาติ 

จากข้อชี้แจงในนโยบายก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งทำให้ทั้งสองเกิดความคิดในการกอบกู้ชาติบ้านเมือง เพราะทั้งสองคนนี้ยังได้เรียนให้ท่านสุพานุวงทราบว่า รู้สึกเบื่อหน่ายต่อรัฐบาลฝ่ายขวา ที่ดีแต่ออกคำสั่งให้ไปเข่นฆ่าคนลาวด้วยกันเอง

สำหรับกองพันราบอากาศที่ 2 จัดตั้งขึ้นสมัยฝรั่งเศสกลับเข้ามาปกครองและสู้รบกับรัฐบาลฝ่ายต่อต้าน โดยตัดเลือกคนหนุ่มร่างกายแข็งแรงหน่วยก้านดีเข้ามาเป็นทหาร ได้รับเงินเดือนสูงกว่าหน่วยทหารอื่น มีการฝึกกระโดดร่มและให้เงินเพิ่มเป็นค่าปีกอีก ต่อมาเมื่ออเมริกาเข้ามาแทนที่ ก็ให้ความสนใจในกองพันพลร่มนี้เป็นพิเศษ มีการสนับสนุนงบประมาณให้ไปฝึกการรบจู่โจมในประเทศไทย ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปราบคอมมิวนิสต์

คณะรัฐประหารต้องการติดต่อกับท่านสุพานุวง ผู้เป็นแกนนำแนวลาวรักชาติ ทั้งเคยรู้จักและมีความประทับใจในตัวท่านมาแล้ว ร้อยโทเดือน รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร และ สหายสาลี วงคำซาว จึงเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มุ่งหน้าสู่เมืองกาสี การค้นหาคณะของท่านสุพานุวงใช้เวลาพอสมควร ในที่สุดเฮลิคอปเตอร์ก็ร่อนลงยังจุดนัดพบ และเปิดการเจรจาทันที โดยร้อยโทเดือนในฐานะตัวแทนคณะรัฐประหารขอเชิญให้ทางคณะเดินทางกลับเวียงจันทน์ จากคำชี้แนะของศูนย์กลางพรรคฯ ทางคณะตกลงให้ สหายหนูฮัก พูมสะหวัน เป็นหัวหน้าพร้อมด้วย สหายพูมี วงวิจิต, สหายสิงกะโป, สหายพูน สีปะเสิด, สหายสีชนะ สีสาน, สหายคำผาย บุบผา, สหายเพ้า พิมมะจัน, สหายบัวสี และพนักงานจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมหาสึกใหม่ทั้ง 4 คน เดินทางไปเวียงจันทน์ทันที

ส่วน ท่านสุพานุวง, สหายสีทน กุมมะดำ, สหายมา ไขคำพิทูน พร้อมด้วยพนักงานติดตามอีกจำนวนหนึ่งเดินทางสู่เขตปลดปล่อย การเดินทางในครั้งนี้มีความสะดวกมากขึ้นแต่ไม่ถึงกับสบายทีเดียว เพราะเส้นทางคดเคี้ยวและทุรกันดาร

การที่ท่านสุพานุวงกลับไปสู่เขตปลดปล่อยนั้น ก็เพราะทางศูนย์กลางพรรคฯ ยังไม่แน่ใจในสถานการณ์เต็มร้อยเปอร์เซ็นด์ อนึ่ง ตัวท่านสุพานุวงเป็นกำลังสำคัญที่สุดของฝ่ายอภิวัฒน์ จำต้องปกปิดรักษาท่านไว้อย่างดีที่สุดเพื่อรับใช้ประเทศชาติที่กำลังก้าวสู่หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เจ้าสุวันนะพูมา ถูกรัฐบาลฝ่ายขวาส่งไปเป็นทูตที่ฝรั่งเศส เพราะเห็นว่ามีความคิดเอนเอียงไปสนับสนุนแนวลาวรักชาติ ครั้นเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้ว จึงได้เชิญท่านกลับประเทศในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1960 ( พ.ศ. 2503) เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น เมื่อเจ้าสมสนิทลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเจ้าสุวันนะพูมาไม่มีบุคคลจากฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี

ในขณะที่ นายพลพูมี หน่อสะหวัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศในสมัยรัฐบาลเจ้าสมสนิท ผู้ได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดินิยมอเมริกา และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จัดเตรียมกำลังทหารตั้งกองบัญชาการที่สะหวันนะเขต และส่งกำลังไปปราบคณะรัฐประหารที่เวียงจันทน์ แต่ในการสู้รบครั้งแรกกับกำลังของฝ่ายกองแลที่ปากซัน ทางใต้ของเวียงจันทน์ ทหารฝ่ายขวาของพูมีไม่อาจเอาชนะฝ่ายกองแลได้ ทำให้สฤษดิ์ โมโหโกรธาเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับกล่าวบริภาษพูมีว่า “ไอ้นายพลหัวค…” ทั้งๆ ที่สฤษดิ์สั่งทหารไทยเข้าแทรกแซงช่วยเหลือเต็มที่

ต่อมามีการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ โดยมี เจ้าสุวันนะพูมา ฝ่ายเป็นกลาง, เจ้าสุพานุวง แห่งแนวลาวรักชาติ และกลุ่มฝ่ายขวาที่ให้ เจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ออกหน้า แต่การเจรจาก็ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือน

กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เจ้าสุวันนะพูมาเดินทางไปพบท่านสุพานุวงที่เขตปลดปล่อยแขวงหัวพัน ได้มีความเข้าใจและตกลงกันด้วยดี แต่พวกฝ่ายขวาก็ขัดขวางมิให้มีการดำเนินตามข้อตกลง ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) นายพลพูมีและบรรดาทหารฝ่ายขวาได้รวมกำลังบุกเข้าตีเวียงจันทน์ทำให้เจ้าสุวันนะพูมาต้องหลบภัยไปกรุงพนมเปญ

สหายสิงกะโป ในฐานะที่ กองแล ให้ความนับถือ และได้รับการมอบหมายจากศูนย์กลางพรรคฯ ที่หัวพัน ให้ร่วมปฏิบัติการทางทหารกับกองแลในการรักษาป้องกันเวียงจันทน์ ได้ร่วมบัญชาการรบอย่างกล้าหาญ ท่านเห็นว่าหากการสู้รบขยายเข้ามาในตัวเมืองก็มีความกังวลว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายถึงแก่ชีวิต ทางศูนย์กลางพรรคฯ ที่หัวพันก็เห็นด้วย จึงถอนกำลังออกจากตัวเมืองมุ่งไปทางเหนือผ่านเส้นทางไปสาลาพูคูนและเข้ายึดทุ่งไหหินแห่งแขวงเชียงขวาง

การถอนกำลังเริ่มขึ้นเวลากลางคืนของวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ. 2503) ขบวนบ่ายหน้ามุ่งสู่วังเวียงเป็นจุดแรก ระหว่างทางต้องตัดต้นไม้ทำลายสะพานกีดขวางมิให้ข้าศึกติดตามมาได้สะดวก นอกจากทหารแล้ว ในขบวนยังมีพลเรือน ข้าราชการ นักศึกษา ครอบครัวชาวบ้านที่อพยพมาพร้อมกัน เกิดความยากลำบากและ โกลาหลพอสมควร เคราะห์ดีที่เครื่องบินโซเวียตส่งอาหารและเครื่องใช้จำเป็นมาช่วยบรรเทาทุกข์

จากวังเวียงผ่านเมืองกาสี ทหารกองหน้าของฝ่ายปเทดลาว และ ร้อยเอกกองแล เข้ายึดทางแยกสาลาพูคูนได้โดยง่าย แล้วเตรียมกำลังเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 7 เพื่อยึดทุ่งไหหินแห่งเชียงขวางต่อไป เพราะทราบข่าวจากศูนย์กลางฯ ว่า นายพลพูมีเตรียมกำลังพลร่มเข้ายึดทุ่งไหหินตอนปีใหม่เพื่อสกัดกั้น

กว่าจะเคลื่อนพลเข้าตีทุ่งไหหิน ท่านสิงกะโป ต้องทำความเข้าใจในแนวคิดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ทั้งนี้แต่เดิม ร้อยเอกกองแล ต้องการนำกำลังไปตั้งรัฐบาลที่หลวงพระบาง เพราะยังเชื่อว่าเจ้ามหาชีวิต จะทรงเห็นดีและสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยเจ้ามหาชีวิตต้องการเพียงรักษาราชบัลลังก์เอาไว้ ฝ่ายใดมีกำลังสนับสนุนมีหนทางได้ชัยชนะก็เข้ากับฝ่ายนั้น

ท่านสิงกะโป ได้ชี้ให้กองแลเห็นว่า แม้รัฐบาลสุวันนะพูมาที่เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ หลังรัฐประหาร แต่เจ้ามหาชีวิตกลับตั้งรัฐบาลของเจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ขึ้นมาอีก เพื่อเอาใจเอนเอียงไปทางพูมี ในที่สุดก็เข้าใจและตกลงกันได้ กำลังพลจึงมุ่งหน้าเข้ายืดทุ่งไหหิน ด้วยการเข้าตีทหารม้งของ นายพลวังเปา ที่เป็นพวกฝ่ายขวา แตกพ่ายไป

สำหรับ ทุ่งไหหินแห่งเชียงขวาง นั้น เป็นที่ราบสูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของลาวอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากเซโน (SENO) ทางแขวงสะหวันนะเขต ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดสามารถยึดไดทุ่งไหหิน ก็ได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เกือบค่อนประเทศ นับตั้งแต่ภาคเหนือเรื่อยลงมาถึงภาคกลาง ประกอบกับเป็นพื้นที่ราบสูง สนามบินใช้การได้ตลอดปี สามารถติดต่อประเทศเวียดนามและจีน กลุ่มสังคมนิยมที่ให้การสนับสนุนการต่อสู้ของขบวนการปเทดลาว

ท่านสิงกะโป ผู้ได้รับการสถาปนายศเป็นนายพลแห่งกองกำลังปเทดลาว ทำหน้าที่บัญชาการรบในสมรภูมิทุ่งไหหิน โดยมี ร้อยเอกกองแล ร่วมบัญชาการ ซึ่งต่อมารัฐบาลสุวันนะพูมาได้เลื่อนชั้นยศเป็นนายพลประจำกองทัพแห่งชาติลาว

 

(คนกลางแถวหน้า) ท่านสิงกะโป ผู้บัญชาการสูงสุดประจำเขตเชียงขวาง (แถวหน้าขวามือ) ท่านสะหมาน วิยะเกด
(คนกลางแถวหน้า) ท่านสิงกะโป ผู้บัญชาการสูงสุดประจำเขตเชียงขวาง
(แถวหน้าขวามือ) ท่านสะหมาน วิยะเกด

 

ร้อยเอกกองแล หรือ นายพลกองแล ในสมัยทำรัฐประหารมีอายุประมาณ 30 ปี นับว่ายังหนุ่มแน่น เคยมีภรรยาและหย่าขาดกันแล้ว มารบตั้งมั่นที่เชียงขวางก็เกิด “รบระหว่างรัก” โดยได้ภรรยาเป็นเด็กสาวเชื้อสายกวางตุ้ง ในครอบครัวที่ฝรั่งเศสให้อพยพโยกย้ายมาจากเวียดนาม เมื่อครั้งศึกเดียนเบียนฟู ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน ต่อมาไม่ทราบว่านายพลกองแลยังอยู่กินกับภรรยาคนนี้หรือจะไปมีกิ๊กอะไรอีก

กองแลมีความสามารถและกล้าหาญในการรบ จิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นข้อดีของบุคคลผู้นี้ แต่ทว่าเขาเป็นคนที่เชื่อถือโชคลางการทรงเจ้า อันเป็นไสยศาสตร์ที่ปราศจากเหตุผล เขาขาดประสบการณ์ ไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมเพทุบายของศัตรู ถูกยุยงก็เอนเอียงไปทางโน้นทีทางนี้ที ถึงแม้ว่าจะสนับสนุนรับใช้เจ้าสุวันนะพูมาอย่างแข็งขันในตอนแรก

ต่อมาเมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามเป่าหูตลอดเวลาว่า เวียดนามเข้ามาร่วมรบกับขบวนการปเทดลาวก็เพื่อหวังจะปกครองลาวนั่นเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ในสมัยต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน ทั้งเวียดมินท์และแนวลาวรักชาติได้ร่วมมือกันต่อสู้จนขับไส่ฝรั่งเศสออกไปได้ เมื่อมาถึงยุคที่อเมริกาและปะติกานลาวครองอำนาจทางทหาร เวียดนามก็ยังต้องร่วมมือกับกองกำลังปเทดลาวต่อสู้กับพวกปะติกาน

ในเวลาต่อมา กองแล ยังเที่ยวให้ร้ายป้ายสีแนวลาวรักชาติ อันเป็นเหตุให้ไม่อาจร่วมเป็นพันธมิตรกันอีกต่อไปได้ ทั้งไม่สามารถเข้ากับฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวันนะพูมา ทางร้อยโทเดือนแยกตัวออกมาอยู่กับเจ้าสุวันนะพูมา และยึดถือนโยบายเป็นกลางอย่างแท้จริง

ต่อจากนั้น กองแล ก็หันไปซบอยู่กับ พูมี หน่อสะหวัน จึงถูกส่งไปตั้งกองบัญชาการที่วังเวียง โดยอเมริกาให้เงินให้อาวุธเพื่อต้านยัน ทำหน้าที่กันชนมิให้กองกำลังปเทดลาวรุกคืบลงมาจากทางเหนือ หลังจากนั้นก็ถูกกดดันให้ออกนอกประเทศไปอยู่อินโดนีเซียพักหนึ่ง แล้วไปอยู่ฝรั่งเศส ซึ่งทางการฝรั่งเศสจ่ายเบี้ยบำนาญให้เทียบเท่าอัตรานายพลจัตวา เมื่อจีนมีปัญหากับเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่สถาปนาขึ้นในปลายปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ยืนอยู่เคียงข้างเวียดนาม

ในการณ์นี้ นายพลกองแล จับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ทางชายแดนภาคเหนือของลาว โดยสมัครพรรคพวกและตัวนายพลกองแลไม่ได้ทำอะไร นอกจากร่วมวงร่ำสุรากับชาวบ้านในเขตนั้น

ปัจจุบันกองแลอาศัยอยู่ประเทศอเมริกา เขาได้รับการดูแลจากอเมริกาบ้าง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ลาวลี้ภัย ประกอบกิจคนทรงเจ้าอ้างเอา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์นักรบลาวที่ทำศึกกับพม่าและหายสาบสูญไปเข้าประทับทรง อาชีพนี้ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือนอกจากผู้งมงายส่วนน้อย

ดังนั้น ชีวิตของกองแลจึงเป็นบทเรียนที่น่าเศร้า เริ่มจากความกล้าหาญ มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง ครั้นมาถึงจุดจบพลิกเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

ส่วน ร้อยโทเดือน สุนนะลาด อดีตรอง ผ.บ.พันราบอากาศที่ร่วมมือกับกองแลก่อรัฐประหาร เขามีจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในแนวทางที่ยืนหยัดสนับสนุนฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวันนะพูมาอย่างแท้จริง ในช่วงเวลาแห่งการสู้รบก็ได้ศึกษา เข้าใจถึงเส้นทางอภิวัฒน์และแน่วแน่ในชัยชนะเด็ดขาดขั้นสุดท้าย จึงนำผู้ร่วมเป็นร่วมตายที่มีความคิดในแนวเดียวกันเข้าร่วมกับกองกำลังปเทดลาว อยู่ภายใต้แนวลาวรักชาติและก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในที่สุด

ภายหลังปลดปล่อย ร้อยโทเดือนได้รับชั้นยศทหารขั้นพันเอก ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายในซึ่งเป็นกระทรวงที่ปกครองตำรวจทั้งหมดนับว่ามีความสำคัญที่สุดกระทรวงหนึ่ง ภายหลังได้อำนาจรัฐ แต่ระยะต่อมาสุขภาพไม่สู้ดีและถึงแก่กรรมในที่สุด ทิ้งไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติประวัติที่งามเด่น

 

พันเอกเดือน สุนนะลาด และ นายพลกองแล โรรัง
พันเอกเดือน สุนนะลาด และ นายพลกองแล โรรัง

 

สรุปได้ว่า ทั้งชีวิตของ นายพลกองแล โรรัง และ พันเอกเดือน สุนนะลาด ควรค่าศึกษาในหน้าประวัติศาสตร์แห่งการสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. รัฐประหาร “กองแล”, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553), น. 139-147

หมายเหตุบรรณาธิการ : 

  • ปัจจุบัน นายพลกองแลได้เสียชีวิตแล้ว ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 มกราคา 2557 ขณะอายุได้ 80 ปี

บทความที่เกี่ยวข้อง :