ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐประหารครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย

1
เมษายน
2565

การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและรัฐบาล นอกเหนือวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและเจตจำนงของประชาชน นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยมา นับตั้งแต่รัฐสมัยใหม่กำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่ในสังคมไทย ดูเหมือนว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นให้เราเห็นจนชินตา จนวาระรัฐประหารกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากชีวิตทางการเมืองของประชาชนไทย 

โดยหลักการแล้ว “การรัฐประหาร” หมายถึง การโค่นล้มรัฐบาลที่มีอยู่อย่างกะทันหัน โดยกลุ่มคนเล็กๆ จำนวนหนึ่ง เพื่อมุ่งเปลี่ยนอำนาจรัฐจากส่วนบนซึ่งแตกต่างกับการปฏิวัติที่ถือว่าเป็นการกระทำของผู้คนในวงกว้าง และมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างรัฐขนานใหญ่ ในแง่นี้ การยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 ที่แม้จะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ” จึงไม่ได้ถือว่าเป็นการปฏิวัติตามความหมายเดิมอย่างเคร่งครัด

ส่วนการรัฐประหารในยุคสมัยใหม่ที่มักถูกนำเสนอเป็นตัวอย่าง เช่น การรัฐประหารของนโปเลียน ปี 1799 หรือการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและยกเลิกสาธารณรัฐที่ 2 ปี 1851 โดยหลุยส์ นโปเลียน ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการยึดอำนาจรัฐบางส่วนแต่หากมิได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง[1] ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการรัฐประหารที่พบเห็นได้ทั่วไปจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย เฉพาะในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรายังพบเห็นได้ทั่วไปจากยูเครน ซูดานใต้ บูร์กินาฟาโซ ถึง กรุงเทพ  

 

หลากรูปแบบรัฐประหารในสังคมไทย 

แน่นอนว่า ในประเทศที่มีการรัฐประหารสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างไทย รูปแบบการรัฐประหารอาจจะมิได้เป็นไปตามคำนิยามข้างต้นเสมอไป เพราะนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยพบเจอการรัฐประหารนับเฉพาะที่ทำสำเร็จถึง 13 ครั้ง แต่รูปแบบที่ผู้คนมักจดจำกัน คือ ภาพของการเคลื่อนกำลังทหารเข้าประจำการตามสถานที่บริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ ก่อนจะมีประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารตามมา ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการยึดอำนาจที่ได้รับอิทธิพลจากการรัฐประหาร 2490 อันเป็นการโค่นล้มรัฐบาลสายเสรีไทย โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนรัฐประหาร 13 ครั้ง อาจจะต้องนับว่ามีการรัฐประหารนอกรูปแบบดังกล่าว 4 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่หนึ่ง รัฐประหารโดยการประกาศปิดการประชุมสภาในวันที่ 1 เมษายน 2476

ครั้งที่สอง รัฐประหารทางจดหมาย ล้มรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ 6 เมษายน 2491

ครั้งที่สาม รัฐประหารทางวิทยุกระจายเสียง 29 พฤศจิกายน 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ

ครั้งที่สี่ รัฐประหารตัวเองของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

ความแตกต่างนี้มีตั้งแต่วิธีการเข้ากุมอำนาจ กระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่บางครั้งมิได้มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากแต่เป็นการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป เมื่อเราลองแยกประเภทอย่างกว้างๆ เช่นนี้ จะเห็นว่านอกจากรูปแบบและเนื้อหาของการรัฐประหารยังมีความแตกต่างในรายละเอียดขององค์ประกอบอีกด้วย

การกลับไปพิจารณาจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทางการเมือง อาจจะช่วยให้เห็นแง่มุมของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่กว้างไกลกว่าแค่แบบแผนที่เราคุ้นชินกันในช่วงหลัง 

 

รัฐประหารโดยการประกาศพระราชกฤษฎีกา

 

 

รายงานชิ้นนี้ กลับไปพิจารณา การรัฐประหารครั้งแรกที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย คือ การรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน 2476 ซึ่งเป็นการรัฐประหารโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น และอาจจะเรียกว่าเป็นการรัฐประหารผ่านการประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อระบอบใหม่ครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

คำถามคือ รัฐประหาร 1 เมษายน 2476 มีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้การยึดอำนาจนั้นสำเร็จ เราอาจจะเห็นสิ่งนี้ได้จากการค้นคว้าที่ละเอียดลออของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์[2] ซึ่งช่วยให้เห็นความเป็นมาของความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและใหม่ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนกระทั่งจบลงที่การรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 และทั้งสองฝ่ายยังต้องต่อสู้อีกยาวนานถัดจากนั้น

เนื่องจากก่อนจะมาถึงการรัฐประหารในเดือนเมษายน 2476 นั้น ความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้มลายหายไป แต่ยังดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นำคณะราษฎรในฐานะตัวแทนของระบอบใหม่ และคณะเจ้าในรัฐบาลในฐานะตัวแทนของระบอบเก่าหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทว่าจุดลั่นไกที่ทำให้ความขัดแย้งครั้งนี้ถึงจุดแตกหัก คือ การโจมตีการเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยปรีดี พนมยงค์  มันสมองของคณะราษฎร และเริ่มซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อเป็นความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์กับคณะราษฎรฝ่ายทหารสายคุมกำลัง และการนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจมาเผยแพร่

ด้านหนึ่งจึงเป็นความขัดแย้งที่พระยามโนนิติธาดากับคณะราษฎรที่อ้างว่ามีรัฐมนตรี (ปรีดี พนมยงค์) ต้องการจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีมาแต่โบราณกาลให้เป็นแบบ “คอมมิวนิสต์” ดังความตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ปิดสภาผู้แทนราษฎรของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ว่า

“...ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น ๒ พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และ เป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ”

และความขัดแย้งตรึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อวิกฤตนี้ ถูกทำให้เป็นความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์กับสถาบันกษัตริย์ ดังที่มีการพิมพ์เผยแพร่พระราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ออกไปอย่างกว้างขวาง

“โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ  สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง ๒ นี้ เหมือนกันหมด”

ที่สุด พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ได้อ้างถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร อันเกิดจากการวางแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ[3] เป็นเรื่องหลักในการประกาศปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

ย้อนคิดสิ่งที่เรียกว่ารัฐประหารใหม่

เงื่อนไขความขัดแย้งที่กล่าวมา ในทางหนึ่งจึงเป็นการบรรจบกันระหว่าง คณะราษฎรปีกหนึ่ง กับ ฝ่ายพระยามโนปกรณ์ เพื่อกำจัดคณะราษฎรสายปรีดี

แต่ผลที่ตามมากลับขยายพื้นที่ความเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าแค่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี  กล่าวคือการประกาศปิดประชุมครั้งนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ซึ่งแต่เดิม ส.ส. ให้มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร และกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดเดิม

ผลของการประกาศปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีขนาดเล็กลงอีกด้วย เพราะกฎหมายเลือกตั้งเดิม กำหนดให้ประชากร 1 แสนคน สามารถมี ส.ส. ประเภทเลือกตั้งได้ 1 คน ส.ส. ประเภทแต่งตั้งอีก 120 คน โดยรวมจึงมี ส.ส. ทั้งสองประเภท 240 คน

แต่การรัฐประหารได้แก้ไขให้เพิ่มจำนวนประชากรเป็น 2 แสนคน ต่อการมี ส.ส. ได้ 1 คน และเปลี่ยนวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีพื้นที่กว้างขึ้น ส่งผลให้ ส.ส. ประเภทเลือกตั้ง มีจำนวนเหลือเพียง 54 คน และ ส.ส. ประเภทแต่งตั้งอีก 54 คน รวมมีจำนวนเพียง 108 คน ด้วยจำนวนผู้แทนราษฎรที่น้อยลงเช่นนี้ จึงทำให้การควบคุมสภาฯ เป็นไปได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 25 ปีขึ้นไป และอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอายุ 30 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้โอกาสในการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ผลอย่างสำคัญอีกประการของการรัฐประหาร 2476 คือ การเพิ่มพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ ผ่านการให้พระราชอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทนี้ซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกแทนที่ด้วยการที่นายกรัฐมนตรีถวายรายชื่อให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งแทน และวิธีการนี้กลายเป็นแบบแผนที่ต่อสู้กันอีกนับทศวรรษ

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[4] จึงถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกของสังคมไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้กำลังทางทหารเข้ายึดอำนาจรัฐโดยตรง แล้วเปลี่ยนแปลงกลโครงสร้างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงถือเป็นการรัฐประหารในรูปแบบหนึ่ง

รัฐประหารในไทยที่สำเร็จกว่า 13 ครั้ง ยังไม่รวมการก่อการที่ล้มเหลวอีก 6 ครั้ง ซึ่งเราเรียกว่า “กบฏ” ทำให้การรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังตัวในกระบวนการทางการเมืองไทย ทว่า การกลับไปพิจารณาการรัฐประหารครั้งแรกจากมุมมองปัจจุบัน อาจจะช่วยกลับมาทบทวนนิยามการรัฐประหารกันอีกครั้ง

หากว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากประชาชนถูกโค่นลงด้วยอำนาจอื่นนอกเหนือรัฐธรรมนูญ และเจตจำนงของประชาชน เราจะระบุชื่อให้แก่วิธีการเช่นนั้นว่าอย่างไร

 

[1] https://www.britannica.com/topic/coup-detat

[2] 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) บทที่ 4 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับการต่อต้านคณะราษฎร,หน้า 201-288.

[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2538), หน้า 125-128

[4] พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, 1 เมษายน 2476 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 1.