ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เรื่องราวของ "จำกัด พลางกูร"

7
ตุลาคม
2565

ก่อนที่จะกล่าวต่อไปถึงการปฏิบัติงานของบรรดาเสรีไทยจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนก่อน ข้าพเจ้าจะขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ในเมืองไทย ตอนกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ในคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 อันเป็นผลให้เกิดการต่อต้านภายในประเทศอย่างเงียบๆ ในระยะเริ่มแรก และได้แผ่ไพศาลออกไปอย่างมีประสิทธิภาพในระยะหลัง ซึ่งนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญตอนหนึ่งของชาติไทยสมัยปรัตยุบัน[1]

คืนนั้นราว 23.00 น. เอกอักรราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ขอเข้าพบ นายดิเรก ชัยนาม รมต. ต่างประเทศแห่งประเทศไทยในสมัยนั้นโดยกะทันหันเพื่อขอเจรจาเกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศไทย นายดิเรก ชัยนาม พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ผู้สั่งราชการแทนนายกฯ และ พล.อ.มังกร พรหมโยธี รมต.กลาโหม ได้ไปพบกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่วังสวนกุหลาบ เพราะในขณะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไปราชการต่างจังหวัดทางด้านตะวันออก

การเจรจาได้เป็นไปอย่างเคร่งเครียดและก็ไม่อาจตกลงกันได้ เพราะเรื่องที่เจรจากัน หรือที่ถูกคือ “คำขาด” ที่ญี่ปุ่นยื่นต่อรัฐบาลไทยนั้น เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของประเทศชาติทีเดียว กล่าวคือ ญี่ปุ่นขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านให้แก่กองทหารญี่ปุ่น เพื่อไปโจมตีสหรัฐฯ มลายูและประเทศพม่า โดยขอทราบคำตอบจากรัฐบาลไทยภายในเวลา 2 ชั่วโมง รัฐมนตรีทั้งสามไม่สามารถจะให้คำตอบได้ จนกว่าจะได้ปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

แต่ครั้นแล้วในราว 02.00 น. คืนนั้นเอง กองทัพญี่ปุ่นก็ได้เริ่มยกพลขึ้นบกตามจุดต่างๆ ริมฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการด้วย ขณะเดียวกันกำลังทางบกก็เคลื่อนเข้าสู่ดินแดนไทยทางจังหวัดพิบูลสงครามและพระตะบอง กองทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการ, พลเรือนและประชาชนชาวไทยได้ทำการต่อต้านการรุกรานของศัตรูอย่างฉกาจฉกรรจ์ แต่ในที่สุดตอนรุ่งเช้าวันที่ 8 รัฐบาลไทยก็ได้สั่งให้หน่วยทหารและตำรวจที่กำลังทำการต่อสู้อย่างทรหดนั้นหยุดยิง เพื่อรอคำสั่งจากรัฐบาลซึ่งกำลังเจรจาอยู่ อีกราวหนึ่งชั่วโมงต่อมา รัฐบาลก็ออกแถลงการณ์ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนไทยไปได้

การณ์ปรากฏว่า เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเดินทางไปตรวจราชการทางด้านพระตะบอง ได้รับโทรเลขด่วนจาก พล.ต.อ. อดุลย์ อดุลเดชจรัส แล้วก็ได้รีบเดินทางกลับพระนคร และได้ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยด่วนในเช้าวันนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณา “คำขอ” หรือที่จริงคือ “คำขาด” ของญี่ปุ่นทันที ที่ประชุมมีความคิดเห็นแตกแยกกันเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีหลายคนเห็นว่าควรยินยอมตามคำขอของญี่ปุ่น เพราะถ้าขัดขืนจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนอย่างใหญ่หลวง กลุ่มที่ 2 มี นายปรีดี พนมยงค์ กับรัฐมนตรีอีกบางคน เห็นควรให้ต่อสู้กับผู้รุกราน ตามรัฐบาลได้ประกาศเจตจำนงไปแล้วว่าจะรักษาความเป็นกลางจนถึงที่สุด กลุ่มที่ 3 ไม่มีความคิดเห็นอย่างไร

หลังจากการโต้เถียงกันอย่างเคร่งเครียด ที่ประชุมก็ตกลงตามเสียงข้างมาก คือ ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นกับไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเคารพบูรณภาพของดินแดนซึ่งกันและกัน หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือสัญญาไม่รุกรานกันไว้แล้ว แต่สัญญานั้นก็คือเศษกระดาษเราดีๆ นี่เอง เพราะฝ่ายญี่ปุ่นได้ฉีกสัญญานั้นด้วยตนเอง!

ต่อจากนั้น สถานการณ์ของเมืองไทยก็เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับจนถึงขั้นประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เช่นที่ทราบกันอยู่

ส่วน นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อตนเองได้พ่ายแพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมครม.ในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว ต่อมาก็ได้ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง รมต. ในคณะรัฐบาล ไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ที่ได้ลาออกจากรมต. อีกคนหนึ่งก็คือ นายวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ซึ่งญี่ปุ่นไม่ใคร่พอใจนักที่จะให้อยู่ในคณะรัฐบาล นายวนิช ปานะนนท์ ผู้สนิทชิดชอบเป็นพิเศษกับญี่ปุ่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่จะต้องเอาใจ “มหามิตร” ผู้ซึ่งหลั่งไหลเข้ามายึดครองประเทศไทยโดยปริยาย

การที่นายปรีดีออกมาอยู่นอกวงการรัฐบาล และย้ายเคหสถานเข้าไปอยู่ใน “ทำเนียบท่าช้าง” ซึ่งใครๆ คิดว่าคงจะทำความพอใจให้ญี่ปุ่นนั้น ความจริงต่อมากลับปรากฏว่าเป็นที่พอใจแก่นายปรีดี พนมยงค์ เอง และนายปรีดี พนมยงค์ ได้ฉวยโอกาสนั้นแปรสภาพ “ทำเนียบท่าช้าง” ในชั้นต้นก็เพียงสถานที่สำหรับพบปะระหว่างบุคคลต่างๆ ซึ่งมีศรัทธาร่วมกันที่จะดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แล้ววางแผนการจัดตั้งองค์การใต้ดินขึ้น ในที่สุดทำเนียบท่าช้างก็กลายเป็นกองบัญชาการใหญ่ของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ

แผนการ “กู้ชาติ” ของ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกกำหนดขึ้นหลายแผน อาทิเช่น, ลอบหนีออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศขึ้นใหม่ หรือมิฉะนั้นก็รวบรวมสมัครพรรคพวกอพยพขึ้นไปอยู่ที่นครสวรรค์และจังหวัดทางภาคเหนือ เพื่อตั้งเป็นที่มั่นและศูนย์กลางการต่อต้าน โดยจัดตั้งรัฐบาลภายในประเทศขึ้นใหม่ ทำศึกประวิงเวลาจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากภายในและภายนอก ฯลฯ แต่ในสุดท้ายแผนการเหล่านี้ก็ต้องเลิกล้มไปเพราะไม่อาจกระทำได้ คงเหลือแต่แผนการเดียวที่นายปรีดี พนมยงค์เห็นว่าเหมาะสมกว่าวิธีอื่น นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์จะบัญชาการตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นอย่างเงียบๆ ในกรุงเทพฯ นี้เอง โดยจะส่งผู้แทนเล็ดลอดออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอความช่วยเหลือและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นนอกประเทศ

นายจำกัด พลางกูร เป็นผู้ถูกเลือกจาก นายปรีดี พนมยงค์ ให้ไปดำเนินงานนี้ จุดหมายที่จะเดินทางไปในชั้นต้นก็คือนครจุงกิง ประเทศจีน แล้วจะเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต่อไป

หน้าที่ของ จำกัด พลางกูร ก็คือเป็นผู้แทนมีอำนาจเต็มขององค์การต่อต้านภายในประเทศ เขาจะต้องเดินทางด้วยการเสี่ยงภัย ผ่านอินโดจีนฝรั่งเศสเข้าไปในดินแดนจีนตอนใต้ ในทันทีที่เข้าเขตจีนแล้ว เขาจะต้องส่งโทรเลขถึง จอมพล เจียง ไคเช็ค, ดร. ทีวี. ซุง และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช บอกไปว่าเขามาด้วยเรื่องสำคัญและด่วนมาก ขอให้รีบส่งจำกัดไปจุงกิง

เมื่อถึงจุงกิงแล้ว จำกัดจะต้องไปที่สถานทูตอเมริกัน เพื่อขอร้องให้สถานทูตแห่งนั้นส่งโทรเลขต่อไปนี้ โดยใช้รหัสของเขา คือ

1. ถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่วอชิงตัน โดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศของเขา ขอเชิญอัครราชทูตไทย นายวิลลิสเป็คอัครราชทูตสหรัฐคนสุดท้ายประจำกรุงเทพฯ และนายดอลแบร์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไทย ไปประชุมกับจำกัด พลางกูร ที่กรุงลอนดอน

2. ถึงกระทรวงการต่างประเทตอังกฤษ ขอให้จัดการให้เซอร์ โจไซอาห์คร็อสบี อัครราชทูตอังกฤษคนสุดท้ายประจำกรุงเทพฯ และนายดอลล์ที่ปรึกษากระทรวงการคลังของไทย ขอให้ไปประชุมเจรจาที่กรุงลอนดอนตามวันเวลาและสถานที่ ซึ่งจะได้กำหนดต่อไป

เรื่องที่จำกัด พลางกูร ได้รับมอบให้ไปเจรจานั้นมีดังนี้ :-

1. ให้ตกลงว่า การประกาศสงครามซึ่งรัฐบาลจอมพลได้กระทำต่อประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อเที่ยงวัน วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2485 นั้นเป็นโมฆะเพราะผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเวลาประกาศนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์ ยังอยู่อยุธยา หาได้ลงนามหรือเห็นชอบด้วยไม่ นายปรีดีเพิ่งกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 15.00 น. หลังเวลาประกาศสงครามไปแล้ว 3 ชั่วโมง

2. เมื่อสถานะสงครามมิได้เกิดขึ้น สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ใช้บังคับอยู่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เป็นอันว่าคงใช้อยู่ต่อไป

3. ขอให้รัฐบาลอังกฤษ ให้ความเอื้อเฟื้อและเกียรติยศแก่รัฐบาลของเราตามสมควร เช่นเดียวกับรัฐบาลนอร์เวย์และฮอลแลนด์ เป็นต้น

4. ขอให้รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐอเมริกาปล่อยเงินของรัฐบาลไทยซึ่งกักไว้ เพื่อเราจะได้ใช้เงินก้อนนี้ดำเนินสงครามกับญี่ปุ่นต่อไป

จำกัด พลางกูร ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุประจำวันตอนหนึ่งของเขาไว้ดังนี้

          “...ตอนเย็น (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486) ข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารและปรึกษาเรื่องทั่วๆ ไปกับอาจารย์ปรีดี เป็นครั้งสุดท้าย ท่านได้มอบเงิน รวมทั้งธนบัตรจุงกิง 13,000 เหรียญ และทองให้ข้าพเจ้าสำหรับไปขายกลางทางเมื่อขัดสน จนกระทั่งราว 21.30 น. จึงได้กราบลาท่านมา ท่านกล่าวว่า ‘เพื่อชาติ, เพื่อ Humanity นะคุณ เคราะห์ดีอีก 45 วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีก 1 ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป’ ข้าพเจ้าตื้นตันน้ำตาคลอตา เมื่อท่านเดินตามลงมาส่งถึงบันไดตึก…”

นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486 นายจำกัด พลางกูร พร้อมด้วยคุณฉลบฉลัยย์ ภรรยาผู้ขอติดตามไปส่งถึงชายแดน กับนายไพศาล ตระกูลลี้ (ล่าม) ก็ออกเดินทางจากพระนครไปยังภาคอีสาน ด้วยความช่วยเหลือของนายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในท้องถิ่นนั้นจัดคนนำทางให้ จำกัด พลางกูร ก็เดินทางออกนอกเขตแดนไทย ข้ามแม่น้ำโขงไปสู่เมืองท่าแขกฝั่งอินโดจีน โดยปล่อยให้มิตรและภรรยาซึ่งตามไปส่งถึงเขตแดนมองตามไปด้วยความอาลัย และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณฉลบฉลัยนย์ได้เห็นหน้าสามีของเธอ....

จำกัดเดินทางต่อไปยังเมืองฮานอย และได้วางแผนการปกปิดเจตนาอันแท้จริงของเขาได้อย่างสนิทสนม ศาสตราจารย์ยอร์ซเซเดส์ อดีตข้าราชการวิสามัญประจำหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเคยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีกับ มร.บริอ็องวาล เลขานุการสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการเดินทาง จนในที่สุดจำกัดก็สามารถเล็ดลอดเข้าสู่เขตแดนประเทศจีนทางด้านเมืองมองกาย - ตงเฮ็ง เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2486 เวลา 13.00 น.

ต่อจากนั้น จำกัดก็ได้ปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ คือ ส่งโทรเลขถึงบุคคลต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น แต่จำกัดต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับอันเข้มงวดกวดขันของทางการทหารในยามสงคราม เขาจึงถูกหน่วงเหนี่ยวให้อยู่ที่เมืองลิวเจาและกุยหลินเป็นเวลาหลายวัน จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน จึงสามารถติดต่อกับโลกภายนอกเมืองจีนได้

ในวันที่ 20 เมษายน เขาได้รับโทรเลขตอบจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่าได้รับโทรเลขลงวันที่ 7 และได้นำเรื่องของเขาขึ้นพิจารณาแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ 21 เขาก็ขึ้นเครื่องบินเดินทางต่อไปยังนครจุงกิง โดยต้องขอยืมเงินจาก พ.อ.ไรด์ ผู้แทนฝ่ายทหารของอังกฤษที่เมืองกุยหลินเพราะตนเองสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว

เมื่อถึงจุงกิงแล้ว จำกัด พลางกูร ก็ได้พบกับความผิดหวังซ้ำเติมเข้าอีก กล่าวคือแผนการที่คิดไว้เดิมว่าจะขอพึ่งไมตรีจิตมิตรภาพดั้งเดิมของจีนซึ่งมีต่อไทย อาศัยเมืองจุงกิงเป็นจุดผ่านออกไปปฏิบัติงานที่กรุงลอนดอนและวอชิงตันเสียก่อน แล้วจึงจะกลับมาจุงกิงนั้นต้องล้มเหลวลงอีก

แม้ว่าจีนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะเป็นสัมพันธมิตรร่วมศึกกันก็จริงอยู่ แต่ผลประโยชน์ของแต่ละประทศนั้นแตกต่างและขัดแย้งกันอยู่บ้าง การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ยิ่งกว่านั้นฐานะของประเทศไทยในขณะนั้นก็สับสนอยู่มาก จึงเป็นการยากที่จำกัดจะได้รับความสะดวกและไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องมีการสอบสวนกันหลายทาง อุปสรรคเหล่านี้จำกัดมิได้คาดการณ์ล่วงหน้ามาก่อน แต่ถึงกระนั้นเขาก็มิได้ย่อท้อ ได้พยายามทุกทางที่จะให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไปจงได้

ความหวาดระแวงของจีนในระยะแรก ทำให้จำกัดตกอยู่ในฐานะที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของจีน คล้ายกับเป็น “เชลย” ตลอดเวลา จำกัดก็มิได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาทำบันทึกงานขององค์การไว้โดยละเอียด สำหรับเสนอรัฐบาลอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และจีนต่อไป

จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2486 จำกัดก็ยังรอคอยผลการติดต่อนั้นอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ แต่เขาก็ต้องคอย - คอยอยู่ต่อไป

วันที่ 8 พฤษภาคม เขาได้รับข่าวจาก ดร.วู รัฐมนตรีช่วยว่าการฝ่ายการเมืองของกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า ได้รับบันทึกลับจากลอนดอน เซอร์ โจไซอาห์ ครอสบีแจ้งมาว่า ไม่รู้จักจำกัด ข่าวนี้นำความผิดหวังมาสู่จำกัดเป็นอันมาก แต่ขณะเดียวกัน ดร.วู ก็ให้ข่าวดีว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กำลังส่งผู้แทนมาพบกับเขาที่จุงกิง อย่างไรก็ดี ท่าทีของจีนที่จะรับรองข้อเสนอของเขาก็ทำให้เขามีหวังมากขึ้นบ้าง

ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม จำกัดก็ได้รับข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งทำให้จำกัดถึงกับตะลึงงันไปทีเดียว ข่าวนั้นคือรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของเขาที่ส่งไป

ดังนั้นแผนการที่จะขอให้อังกฤษมารับตัวนายปรีดี พนมยงค์ และคณะไปจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศก็เป็นอันเลิกล้มไป!

ความผิดหวังและล้มเหลวต่างๆ ได้ติดตามกันมาเรื่อยๆ ตลอดเดือนพฤษภาคม แม้แต่ความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ยังไม่มีวี่แวว ในต้นเดือนมิถุนายน จำกัดอยู่ในฐานะลำบากที่สุดในชีวิตของเขา เขาไม่มีหวัง ไม่มีเพื่อน ไม่มีเงิน ทั้งตัวเองก็ล้มเจ็บลงด้วยมาเลเรีย เพราะการตรากตรำในการเดินทางและไม่มีมุ้งจะกางนอน ประกอบกับอาหารเลวและที่อยู่ก็สกปรก สุขภาพและกำลังใจของจำกัดเสื่อมโทรมลงอย่างน่าวิตก แต่ครั้นแล้วเขาก็ได้รับข่าวดีมาเป็นเครื่องปลอบใจให้มีหวังขึ้นบ้าง นั่นคือได้ทราบว่า พ.ท.ม.ล.ขาบ กุญชร หัวหน้าเสรีไทยฝ่ายทหารจากสหรัฐอเมริกา และ พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัตน เสรีไทยจากอังกฤษกำลังเดินทางมาจุงกิง ความหวังในความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของเขา เริ่มมีเค้าขึ้นมาบ้าง

หลังจากความหวังต่างๆ ต้องล้มเหลวไปเช่นที่กล่าวแล้ว ในสุดท้ายจำกัดก็ตั้งความมุ่งหมายใหม่ คือจะไปพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่วอชิงตัน แต่การจะเดินทางไปนั้น จำจะต้องได้รับความเห็นชอบจากจอมพล เจียง ไคเช็คเสียก่อน

วันที่ 28 มิถุนายน จำกัดก็ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคำนับจอมพล เจียง ไคเช็คเป็นครั้งแรก หลังจากมารอคอยอยู่ในจุงกิงถึง 2 เดือน ผลการพบปะกันครั้งนั้น จอมพล เจียง ไคเช็คได้ให้คำรับรองว่าจะช่วยเหลือประเทศไทยเป็นอย่างดี และยินดีจะช่วยเหลือให้จำกัดเดินทางไปพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่วอชิงตัน โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แสดงความจำนงมาว่าต้องการให้จำกัดไปพบ

ในเย็นวันที่ 28 นั้นเอง จำกัดก็ได้รับโทรเลขตอบจากท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันว่า “ยินดีที่จะได้พบด้วย กำลังพยายามกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ความสะดวกในการเดินทาง” จำกัดจึงได้ลอกโทรเลขฉบับนั้นส่งไปให้จอมพล เจียง แต่จะเนื่องด้วยเหตุใดหรือด้วยความเข้าใจผิดของฝ่ายไหนไม่ทราบชัด ความพยายามที่จะไปวอชิงตันของจำกัดก็ล้มเหลวลงอีก จำกัดได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ถึงนายปรีดี พนมยงค์ ดังนี้

          “...ทางจอมพล เจียงได้สั่งให้ ดร.ซุงไปถามเสนีย์ดูว่า อยากพบผมหรือไม่ และว่าขาบเป็นผู้แทนของเสนีย์แท้จริงหรือไม่ เพราะเสนีย์เคยทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนเข้าใจไปอย่างนั้น เสนีย์ตอบมาทางจีนว่า ขาบไม่ได้เป็นผู้แทนของเขา และเรื่องผมจะไปพบเขาที่อเมริกานั้น ขอให้รัฐบาลจีนวินิจฉัยเอาเองว่าควรอนุญาตให้ผมไปหรือไม่ ถ้าทางจีนเห็นสมควรก็ให้ไป ถ้าไม่เห็นสมควรก็ไม่จำเป็นต้องไป เขาว่าถ้าผมมีเรื่องอะไรพูดกับเขา เขาจะส่งผู้แทนของเขามาจุงกิงก็ได้…”

ครั้นแล้วก็ปรากฏว่า จีนเห็นไม่สมควรที่จำกัดจำเป็นจะต้องไปสหรัฐอเมริกา

แม้กระนั้นจำกัดก็ยังไม่หมดความพยายาม เขาส่งโทรเลขเร่งรัด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไปอีกหลายฉบับ แม้ว่าจะไม่ได้รับตอบ

การโยนกลองกันไปโยนกลองกันมา ระหว่างอุปทูตอเมริกัน กระทรวงการต่างประเทศของจีน และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดังกล่าวนี้ ผลสุดท้ายจำกัดก็ต้องคอยต่อไป อยู่ในนครจุงกิงนั้นเอง

แต่จะเนื่องด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตาม ความหวังของจำกัดได้ทอแสงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในทันทีทันใด เมื่อนายพลโทโจ (ผู้ซึ่งต่อมาภายหลังสงครามได้มาเป็นทูตทหารบกจีน ประจำกรุงเทพฯ) นายพลคนสำคัญของจอมพล เจียง ได้มาติดต่อกับจำกัดเป็นทางการว่าจอมพล เจียง ได้อนุญาตให้จำกัดเดินทางต่อไปยังวอชิงตันได้แล้ว ยังคอยเครื่องบินอยู่เท่านั้น จำกัดได้ทราบข่าวนี้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2486

นับตั้งแต่นั้นมา ฐานะของจำกัดก็กระเตื้องขึ้น เขาพ้นจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน และได้รับอิสรภาพให้ไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมี “องครักษ์” ควบคุม ทุกฝ่ายทั้งอังกฤษอเมริกาและจีนให้ความสนใจในตัวเขาอย่างจริงจัง

ในระหว่างนี้เอง จำกัดก็ได้มีโอกาสพบกับ พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เสรีไทยจากประเทศอังกฤษ และ พ.ต.ครุ๊ต (เคยเป็นผู้จัดการบริษัทรถรางในกรุงเทพฯ พอเกิดสงครามไปสมัครเป็นนายทหารอังกฤษประจำหน่วย 136) ต่อหน้าอัครราชทูตอังกฤษประจำจุงกิง ซึ่งรับรองว่าจะยื่นบันทึกของเขาไปให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษพิจารณาอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่า นายสงวน ตุลารักษ์ และคณะจะมาถึงจุงกิงในไม่ช้านัก ทางราชการของจีนเตรียมการรับรองอย่างสมเกียรติ

พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ กับ พ.ต.ครุ๊ต บินกลับอินเดียพร้อมด้วยแผนการของขบวนการเสรีไทย และข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยไปเสนอแม่ทัพใหญ่ของอังกฤษ เมื่อแม่ทัพใหญ่เห็นชอบด้วยแล้ว ทั้งสองคนก็บินต่อไปยังกรุงลอนดอนในเดือนกันยายน เพื่อติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษต่อไป

นายสงวน ตุลารักษ์ และคณะ ซึ่งมี นายแดง คุณะดิลก กับครอบครัวของสงวน ตุลารักษ์ และ นายวิบูลวงศ์ วิมลประภา มาถึงจุงกิงในราวต้นเดือนกันยายน เป็นคณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ส่งออกมาติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรอีกรุ่นหนึ่ง ในเมื่อข่าวคราวของจำกัดเงียบหายไป การมาของบุคคลคณะนี้ทำให้เกิดความเชื่อถือของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และจีน ต่อขบวนการเสรีไทยภายในประเทศดีขึ้นเป็นอันมาก ทั้งทำให้จำกัดได้ทราบภาวะอันแท้จริงของเหตุการณ์ภายในประเทศไทยที่ผันแปรไป ตั้งแต่เขาได้ออกจากเมืองไทยมาแล้วอีกด้วย

คณะของนายสงวน ตุลารักษ์ ได้รับการรับรองอย่างดีจากจอมพล เจียง ไคเช็ค เขาได้พบกับ พ.ท.ม.ล.ขาบ และ น.อ.มิลตัน ไมลส์ แห่งหน่วย O.S.S. ในที่สุดรัฐบาลจีนและสหรัฐก็ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกัน ที่จะให้ความสนับสนุนแผนการของขบวนการเสรีไทยคือ

  1. จะส่งเครื่องบินไปรับนายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวออกมา
  2. อเมริกาจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาวุธยุทธภัณฑ์
  3. จีนรับรองจะให้ความสะดวกในการจัดตั้งกองทหารและองค์การเสรีไทยขึ้นที่ชายแดนจีน-ไทย มีกำลัง 1 กองพล
  4. จะส่งคนไปเจรจากับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ณ กรุงวอชิงตัน

สำหรับประการสุดท้ายนี้ ชั้นต้นตกลงจะส่งนายสงวน ตุลารักษ์ กับนายแดง คุณะดิลก ไปอเมริกา ส่วนนายจำกัด พลางกูร กลับเข้าไปรายงานนายปรีดี พนมยงค์ ในเมืองไทย แต่ฝ่ายจีนไม่เห็นด้วย จึงเปลี่ยนเป็นสงวนกับจำกัดจะไปอเมริกา นอกจากนั้นให้คอยอยู่ในเมืองจีน จนกว่าจะได้รับคำสั่งต่อไป การเดินทางได้กำหนดไว้แล้ว แต่ก็ต้องเลื่อนต่อไป...ต่อไป…

เพราะปรากฏว่าอาการป่วยของจำกัด พลางกูร ซึ่งเข้าใจในชั้นแรกว่าเป็นโรคลำไส้ เกิดกำเริบขึ้นถึงขนาดต้องนอนอยู่ในห้อง ไปไหนไม่ได้ ยิ่งนานวันเข้าอาการก็ไม่ดีขึ้น กว่านายแพทย์จะทราบว่า จำกัด พลางกูร เป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ก็หมดทางเยียวยาเสียแล้ว

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2486 จำกัด พลางกูร — ผู้เสียสละก็จากเราไป พร้อมกับวาจาที่แผ่วเบาหลุดมาจากริมฝีปากเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“เพื่อชาติ — เพื่อ Humanity”.......

 

ที่มา : พล.อ.เนตร เขมะโยธิน, “จำกัด พลางกูร” , ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2528, (นครปฐม: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2528), 160-168.


[1] ปรัตยุบัน เป็นภาษาสันสกฤต อ่านว่า ปฺรัด-ตะ-ยุ-บัน มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ปัจจุบัน”