ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : เตรียมการ (ตอนที่ 7)

11
มีนาคม
2566

ต้นปี ค.ศ. 1934 ภายหลังเหวียนอ๋ายก๊วกพ้นจากคุกที่เกาะฮ่องกง ในที่สุดท่านก็เดินทางไปถึงกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต อีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างถูกคุมขังอยู่ร่วมสองปี ทำให้ท่านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ข่าวคราวการเคลื่อนไหวต่างๆ ในเวียดนามก็ไม่มีโอกาสได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง แม้แต่การลุกขึ้นสู้ของประชาชนผู้รักความเป็นธรรมที่เอียนบ๋าย การจับอาวุธขึ้นต่อสู้ของประชาชนที่จังหวัดเหงะอาน และจังหวัดห่าติ๋ง ทางภาคกลางตอนบนของประเทศ จนสามารถจัดตั้งเป็นเขตปลดปล่อยที่เรียกว่า เขตโซเวียตเหงะติ๋ง และสามารถยืนหยัดต้านแรงกำลังทำลายล้างของฝรั่งเศสได้ถึง 1 ปีกว่า

การลุกขึ้นสู้ของเขตเหงะติ๋งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการรวมกันเป็นเอกภาพของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในต้นปี ค.ศ. 1930 ได้ไม่นาน สหายแกนนำของพรรคฯ หลายคนก็มีถิ่นกำเนิดอยู่สองจังหวัดนี้ ซึ่งเป็นดินแดนทุรกันดารที่สุด ซ้ำยังถูกรีดนาทาเร้นจากเจ้าที่ดินศักดินา ถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม

 

โฮจิมินห์ถ่ายภาพร่วมกับผู้แทนโคมินเติร์นครั้งที่ 7 ที่มอสโก ค.ศ. 1935
โฮจิมินห์ถ่ายภาพร่วมกับผู้แทนโคมินเติร์นครั้งที่ 7 ที่มอสโก ค.ศ. 1935

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้แกนนำพรรคฯ พร้อมใจกับประชาชนในท้องถิ่นลุกขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธอันล้าสมัยของชาวบ้านเท่าที่พอหาได้ อาทิ มีด พร้า ขวาน ปืนคาบศิลาล่าสัตว์ สามารถต้านกำลังฝรั่งเศสให้ถอยกลับไปหลายครั้งหลายหน และในเขตปลดปล่อยมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านด้วยความเป็นธรรม แต่ในที่สุดก็ไม่อาจต้านกำลังของฝ่ายศัตรูที่มีความเหนือกว่าในทุกด้าน จึงทำให้ขบวนการถูกปราบปรามอย่างทารุณและโหดร้าย ถูกประหารชีวิต แม้กระทั่งผู้ต้องสงสัยในเขตอื่นก็ถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

เหวียนอ๋ายก๊วกได้กล่าวถึงเขตโซเวียตเหงะติ๋งว่า เป็นการแสดงออกถึง “เจตนารมณ์และความสามารถของการอภิวัฒน์ของผู้ใช้แรงงานเวียดนาม ถึงแม้ว่าขบวนการจะล้มเหลว แต่ก็เป็นแนวทางนำไปสู่ชัยชนะของการอภิวัฒน์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945”

ที่กรุงมอสโก เหวียนอ๋ายก๊วกในชื่อ สหายลินนอฟ หรือ สหายลิน ที่เหล่าสหายเวียดนามด้วยกันในมอสโกเรียกขานท่านด้วยความสนิทสนม นอกจากเข้าทำการศึกษาต่อที่สถาบันเลนินแล้ว ยังทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับสหายเวียดนามที่กำลังศึกษาในมอสโก ให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ของชนชาติเวียดนามและแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทั้งได้ศึกษาถึงประวัติของ นายพลตรั่นฮึงเด่า ผู้เคยทำสงครามปกป้องประเทศด้วยชัยชนะต่อข้าศึกมองโกลผู้รุกราน สิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านเน้นและพร่ำสอนก็คือความสามัคคีของสหายด้วยกันเอง เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จในอุดมการณ์ต่อไปได้

เวลานั้น ทางโซเวียตจัดให้มีการประชุมสมัชชาโคมินเติร์นครั้งที่ 7 ขึ้นที่กรุงมอสโก มีผู้แทนจากเวียดนามส่วนหนึ่งเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะ วีรสตรีชาวเวียดนามวัยเพียง 20 ปีเศษ ชื่อ เหวียนธิมิงห์คาย เธอได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงบทบาทสตรีเวียดนามผู้ถูกกดขี่อย่างหนักที่สุดในระบบศักดินา-อาณานิคม และบัดนี้ได้เริ่มตื่นตัวเข้าต่อสู้ร่วมกับชายชาวเวียดนามอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ สุนทรพจน์ของเหวียนธิมิงห์คายได้รับการตอบรับด้วยเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง และหนึ่งในนั้นก็มี มาดามกรุ๊ปสกาย่า ภรรยาของเลนิน ได้สวมกอดเธอด้วยความชื่นชมในความกล้าหาญของสตรีชาวเวียดนาม ที่แม้กำลังกายอ่อนแอไม่อาจเทียบกับชายชาตรีได้เลย แต่กำลังใจหาได้อ่อนแอแม้แต่น้อย ด้วยความรักชาติและความเป็นธรรม เธอยอมแลกได้ด้วยชีวิต

 

สหายเหวียนธิมิงห์คาย กับ กรุ๊ปสกาย่า ภรรยาเลนิน ในการประชุมมอสโก ค.ศ. 1935
สหายเหวียนธิมิงห์คาย กับ กรุ๊ปสกาย่า ภรรยาเลนิน ในการประชุมมอสโก ค.ศ. 1935 

 

สหายเหวียนธิมิงห์คาย ค.ศ. 1940
สหายเหวียนธิมิงห์คาย ค.ศ. 1940

 

เหวียนธิมิงห์คาย จดทะเบียนสมรสกับ เลห่งฟอง ผู้รับผิดชอบระดับแกนนำของพรรคฯ และเดินทางกลับไซ่ง่อนเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหว จนที่สุดถูกทางการฝรั่งเศสในอินโดจีนจับกุมและถูกประหารชีวิต ถือได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในวีรสตรีแห่งการอภิวัฒน์ของเวียดนาม

อันที่จริง เมื่อกล่าวถึงองค์กรโคมินเติร์นหรือองค์กรคอมมิวนิสต์ ระหว่างประเทศที่เลนินจัดตั้งขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์ใหญ่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 นั้น สมาชิกบริหารผู้เป็นแกนนำแห่งองค์การนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวคอมมิวนิสต์ชาติต่างๆ ในยุโรป และผู้กำกับนโยบายอีกชั้นหนึ่งก็คือ ชาวคอมมิวนิสต์รัสเซีย ดังนั้น พื้นฐานแห่งความเข้าใจในปัญหาย่อมมาจากสภาวการณ์ของประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งอาจมองเห็นแต่ด้านของชนชั้นผู้ไร้สมบัติเสียเป็นส่วนใหญ่ หาได้เข้าใจปัญหาที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรในชนบทของประเทศเหล่านั้น เช่น ชาวนาเวียดนาม เป็นต้น จึงเป็นภาระหน้าที่อันหนักหน่วงของเหวียนอ๋ายก๊วกต้องอธิบายให้แกนนำโคมินเติร์นมีความเข้าใจ ถือว่าท่านทำได้ผลระดับหนึ่ง แต่ไม่อาจทำให้สหายแกนนำโคมินเติร์นเห็นพ้องได้ทั้งหมด ท่านจึงต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวด

บางครั้งต้องหวานอมขมกลืน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอยู่ในขั้นเริ่มต้น กำลังแสวงหาแนวทางการกอบกู้เอกราช ไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดแย้งทางความคิดกับพรรคพี่พรรคน้องอันมีสหภาพโซเวียตเป็นหัวเรือใหญ่ รวมทั้งวิธีการกวาดล้างกลุ่มทรอตสกี้เป็นไปอย่างรุนแรงเฉียบขาด ผู้บริสุทธิ์หลายคนต้องตกเป็นเหยื่อ การรักษาและธำรงไว้ซึ่งสถานะพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และตัวท่านเองก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเหตุการณ์ยุโรปในปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมานั้น พรรคฟาสซิสต์อิตาลีของมุสโสลินีได้เข้าบริหารประเทศ ตามติดด้วยพรรคนาซีของเยอรมนี ภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์ อันถือว่าเป็นมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ทีแรกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตอาจมองข้ามภยันตรายนี้ไปบ้าง ทั้งที่เข้าใจดีว่ามหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษสมยอมยุยงให้นาซีเป็นหัวหอกเข้าทำลายล้มล้างระบอบการปกครองของสหภาพโซเวียต

การทำสัญญาไม่รุกรานระหว่างเยอรมนี-โซเวียต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ริบเบนทรอป-โมโลตอฟ ได้ทำให้เกิดความสับสนในหมู่สหายชาวคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ดังเช่น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสบางนายถึงกับเปลี่ยนทัศนคติ อุดมการณ์ โดดเข้าไปเป็นพวกของนาซีก็มี

ผลการเลือกตั้งในสเปน ฝ่ายสาธารณรัฐได้รับชัยชนะ แต่ นายพลฟรังโก ผู้นำฝ่ายขวานำกำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนด้านอาวุธ ยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่จากนาซีเยอรมัน เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ฝ่ายรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายในยุโรปและอเมริกา จนสามารถจัดกำลังอาสาสมัครเข้าไปช่วยทำศึก มีชื่อว่ากองพลน้อยระหว่างประเทศ ส่วนกองพันที่มีชาวอังกฤษ-อเมริกันเข้าร่วมก็ได้ตั้งชื่อว่า กองพันลินคอล์น สหายโซเวียตก็ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเทียบได้กับพวกนาซี จนกระทั่งฝ่ายนายพลฟรังโกเป็นผู้ได้รับชัยชนะทำให้เมฆหมอกแห่งสงครามในยุโรปคืบคลานใกล้การเปิดฉากสงครามรุกรานของพวกนาซีเข้าไปทุกที

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นประมาณ 2 ปี พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสอันได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส พรรคสังคมนิยมกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมกันเข้ารับการเลือกตั้งจนประสบผลสำเร็จ เรียกว่าเป็นรัฐบาลแห่งแนวร่วมประชาชน ทำให้แนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการปกครองอินโดจีนมีการผ่อนคลาย และให้ความเป็นธรรมแก่ชาวพื้นเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ถูกทางฝรั่งเศสเหวี่ยงแหจับกุมจากการลุกขึ้นสู้ที่เอียนบ๋าย เหงะติ๋ง เป็นต้น สหายเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่มในวัยสามสิบปีเศษ เปี่ยมด้วยกำลังวังชาและความเข้มแข็ง จึงสามารถทำการเคลื่อนไหวตามสภาพการณ์ที่เหมาะสมและเอื้ออำนวย

เหวียนอ๋ายก๊วกซึ่งขังอยู่ในมอสโก ให้ข้อคิดเห็นที่ต้องถือว่าเป็นผลดีต่อการกอบกู้เอกราช โดยวางแนวยุทธวิธีไว้ 3 ประการ คือ

1. การต่อสู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่ได้แก่การรวบรวมผู้คนในวงกว้าง ถ้าสามารถจัดการให้มีการยื่นข้อเรียกร้องสิทธิทางกฎหมาย การร้องเรียนเกี่ยวกับความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ในส่วนทางการ เท่ากับเป็นการสร้างแนวร่วมในขั้นต้น

2. การต่อสู้กึ่งถูกกฎหมาย จะเป็นในรูปแบบการเดินขบวนประท้วง ซึ่งบางครั้งกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ เพื่อสร้างและพัฒนาจิตสำนึกของประชาชน

3. การต่อสู้ทางลับ ได้แก่ การจัดตั้งองค์กรพื้นฐานพรรค ขยายสมาชิกพรรค เตรียมกำลังเพื่อสร้างฐานที่มั่นในเขตแดนภาคเหนือ

แนวทางของเหวียนอ๋ายก๊วกในนามของพรรคฯ ได้รับการปฏิบัติจนเกิดผลดีเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นก้าวใหม่อีกก้าวหนึ่งแห่งสงครามปลดปล่อย

เหตุการณ์สำคัญที่ต่อเนื่องจากการเตรียมการของท่านก็คือ เรื่องราวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการนำของประธานเหมาเจ๋อตง ในความสามารถแหวกแนวล้อมปราบของก๊กมินตั๋ง ออกเดินทางไกลกว่าหมื่นห้าพันลี้ (เกือบ 10,000 กม.) เพื่อเข้าสร้างฐานที่มั่นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่เมืองเยนอาน ก๊กมินตั๋งพยายามทำลายกำลังคอมมิวนิสต์จีนแต่ไม่สำเร็จ ขณะกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีรุกรานจีนเข้ามาทุกที จนกระทั่ง นายพลจางเซียะเหลียง ขุนศึกทางภาคเหนือผู้รักชาติ สามารถจับกุมตัวเจียงไคเช็คได้ที่เมืองซีอาน ทำให้การเจรจาระหว่างคอมมิวนิสต์จีนกับก๊กมินตั๋ง บรรลุความร่วมมือกันเข้าต่อสู้กับญี่ปุ่นได้สำเร็จ

 

ดร.ซุนยัดเซ็น
ดร.ซุนยัดเซ็น

 

เหมาเจ๋อตง
เหมาเจ๋อตง

 

เหวียนอ๋ายก๊วกจึงสามารถเดินทางจากโซเวียตผ่านจีนเข้าไปสู่ชายแดนด้านเหนือของเวียดนามได้ ส่วนใหญ่อาศัยกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน ผ่านมณฑลกวางสี เมืองหนานหนิง เข้าสู่ฐานที่มั่นที่สหายเวียดนามมีการจัดตั้งขยายงานอยู่แล้ว โดยร่วมกับชนชาติหมู่น้อยในเขตนั้น คือ ชนเผ่านุง หรือที่ทางเราเรียกว่า ไทนุง

 

เจียงไคเช็ค
เจียงไคเช็ค

 

ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1941 หลังจากเคลื่อนไหวในหลายประเทศท่านก็ได้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนที่จากไปเมื่อ 30 ปี ก่อนการต่อสู้กอบกู้เอกราชและอิสรภาพอย่างจริงจังจะได้เปิดโฉมใหม่ขึ้น การปรากฏตัวของท่านในฐานที่มั่นสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานยิ่งนัก

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, เตรียมการ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 73 - 79.

บทความที่เกี่ยวข้อง :