การเมืองไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 เริ่มร้อนระอุไม่แพ้อากาศ เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566[1] เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ แล้ว ทาง กกต. ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ได้มีการแบ่งเขตใหม่ โดยคำนวณจากจำนวนราษฎร แล้วนับรวมจำนวนผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นด้วย จนเกิดการทักท้วงขึ้นใน 6 จังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไป[2] กระทั่ง กกต. ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ควรยึดจำนวนราษฎรของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยหรือไม่[3] และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้แบ่งเขตการเลือกตั้งโดยไม่รวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย[4]
โค้งสุดท้ายก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566[5] บทความชิ้นนี้จะพานั่งไทม์แมชชีนกลับไปสู่การประชุมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของสยามและข้อเขียนทางประวัติศาสตร์ของนายปรีดีเรื่องหลักการเลือกตั้งและหลักประชาธิปไตยซึ่งสะท้อนถึงอุดมการณ์ของระบอบใหม่และหลักการเลือกตั้งครั้งแรกที่อาจนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพและคำนึงถึงราษฎรในอนาคต
หลักการเลือกตั้งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
หลักการเลือกตั้งของสยามปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามหลังการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรโดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น[6]
มาตรา 10 ถึงมาตรา 17 รวม 8 มาตรา ของส่วนที่ 2 ผู้แทนราษฎรในปฐมรัฐธรรมนูญได้บัญญัติข้อกำหนดของสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งไว้ ดังนี้
มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดั่งนี้
สมัยที่ ๑
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒
ภายในเวลา ๖ เดือนหรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุกๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑
ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ
สมัยที่ ๓
เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป”
มาตรา ๑๑ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ
๑. สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้
๒. มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๓. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๔. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก
๕. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
๖. ฉะเพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย”
มาตรา ๑๒ การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทำดั่งนี้
๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล
๒. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
๓. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนิรวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง
มาตรา ๑๓ ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้วแม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง
ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างแต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้
มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ
๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
๒. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๓. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง
๔. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑
มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใดๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่ ๒ มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้
มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวร จะต้องออกจากตำแหน่ง ให้นับว่าขาดจากตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาได้ได้วินิจฉัยให้ออกในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา
มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนศาลจึ่งจะรับฟ้องได้”
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของคณะราษฎรสมัยแรกออกแบบสภาผู้แทนราษฎรโดยแบ่งเป็น 3 สมัย สมัยแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว จำนวน 70 นาย เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร สมัยที่สองคือ รูปแบบการเลือกตั้งทั่วไปที่ต่อมาจัดเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และสมัยที่สาม คือเงื่อนไขทางการศึกษาของราษฎรที่รัฐบาลกำหนดให้เมื่อราษฎรสยามจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ “สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ 1 เป็นอันไม่มีอีกต่อไป”
และมาตรา 12 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ 1 กับรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 และประเภท ที่ 2 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมคือ
1. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล
2. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
3. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ในมาตรา 11 ถึงมาตรา 17 ยังปรากฏในการประชุมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นการประชุมแบบทางการครั้งแรกที่มีการอธิบายหลักการเลือกตั้งและศิลปะแห่งการเลือกตั้งของนายปรีดี และข้อถกเถียงของรัฐบาลคณะราษฎร ข้อสังเกตสำคัญคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับนี้ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงที่มา เนื้อหา และการประชุมร่างฯ กันในประวัติศาสตร์กระแสหลัก[7]
ศิลปะแห่งการเลือกตั้งของปรีดี พนมยงค์ ในการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475
หลังจากที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475 และผ่านการประชุมอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วก็นำเสนอในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44/2475 เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรกโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ฉบับนี้มีอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันจัดทำร่างฯ ขึ้นเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และมีข้อความหลายข้อที่ตัดมาจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จึงขอให้นายปรีดีอธิบายร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 เนื่องจากเป็นผู้จัดทำฯ ขึ้น[8]
นายปรีดีจึงชี้แจงแนวคิด ที่มา และหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับนี้อย่างละเอียดพร้อมกับถกเถียง อธิบาย และยอมรับการปรับแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 47 มาตรา โดยเริ่มต้นกล่าวถึงลักษณะของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ว่าแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่
ภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 คือประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง
ภาค 2 ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือประเภทที่จะตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีปลดหรือตั้งเพิ่มเติมซึ่งเป็นคนละวิธีกับประเภทที่ 1[9]
หลักการเลือกตั้งสำคัญที่นายปรีดีชี้แจงไว้ในการประชุมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามที่มีศิลปะการเลือกตั้ง และหลักการเลือกตั้งที่สะท้อนความร่วมสมัยและหลักความเสมอภาคในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรมี 4 ประการ
ประการแรก หลักการเลือกตั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยให้พลเมืองที่อยู่ในสยาม 15 ปี และมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิเลือกตั้งได้ ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้มีอายุ 23 ปี บริบูรณ์ นายปรีดีเสนอไว้ในมาตรา 4 ว่า
“สำหรับมาตรา ๔ นี้เราได้บัญญัติถึงเรื่องที่ว่าผู้ใดบ้างจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง คือ
(๑) มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย ในข้อนี้เราได้มีกฎหมายว่าด้วยสัญชาติอยู่แล้วว่าบุคคลชะนิดไหนบ้างที่ถือว่าเป็นสัญชาติไทย แต่เราได้มีข้อยกเว้นไว้ ๒ ประการ คือว่าบุคคลคนหนึ่งในเวลาเดียวกันอาจจะมีสองสัญชาติก็ได้ คือบิดาเป็นคนต่างชาติ มารดาเป็นไทยเกิดในสยาม กฎหมายไทยเราถือว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่กฎหมายต่างประเทศถือว่าถ้าบิดาเป็นคนต่างชาติแล้วเขาก็ถือว่าเป็นคนในสัญชาติของบิดากลายเป็นคนมีสองสัญชาติแต่เรื่องนี้นานาประเทศก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าจะให้ถือสัญชาติอะไรแน่ เช่นนี้เราจึ่งทำข้อยกเว้นไว้…”
ข้อยกเว้นต่างๆ นั้น ค่อนข้างเป็นไปในทางบวกที่จะมอบสิทธิให้แก่พลเมืองสยามแต่ก็มีข้อจำกัดคือ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ซึ่งข้อนี้เห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีการทักท้วงในที่ประชุมสภาฯ ส่วนเรื่องที่มีการโต้เถียงกันมากคือเรื่องอายุและสิทธิสตรีจนได้ข้อสรุปเรื่องอายุและความเสมอเท่าเทียมทางเพศไว้ว่า พลเมืองที่อยู่ในสยาม 15 ปี และมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิเลือกตั้งได้ ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้มีอายุ 23 ปี บริบูรณ์ และไม่มีข้อห้ามว่าผู้หญิงจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้[10] นายปรีดียังชี้แจงด้วยว่าการกำหนดอายุ 20 ปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ในที่นี้ถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ไม่ใช่กำหนดโดยอายุที่บรรลุนิติภาวะ
ประการที่สอง หลักการเลือกตั้งสองครั้งในกรณีที่เลือกตั้งครั้งแรกแล้วไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงที่ลงคะแนนโดยถูกต้องตามมาตรา 31 มาจากระบบการเลือกตั้งของฝรั่งเศสและบางประเทศ ดังนี้
“...ขอชี้แจงว่า วิธีเลือกผู้แทนนี้เราใช้วิธีเลือก ๒ หน เป็นวิธีที่ใช้ในฝรั่งเศสและในคอนติเนนต์บางประเทศ ต่างกับวิธีเลือกหนเดียวที่ใช้สำหรับเลือกผู้แทนตำบล วิธีเลือก ๒ หนนี้ เห็นว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับที่จะนำมาใช้แก่วิธีเลือกผู้แทนราษฎร เพราะวิธีเลือกผู้แทนราษฎรเราใช้วิธีเลือก ๒ ชั้น หรือ ๒ ดีกรี คือราษฎรเลือกผู้แทนตำบลชั้นหนึ่ง ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น จำนวนผู้แทนตำบลที่จะออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรจึ่งมีจำนวนน้อย ถ้าจะเลือกหนเดียวแล้วผลจะได้เช่นนี้
สมมติว่าในจังหวัดหนึ่งมีผู้แทนตำบล ๑๐๐ คน มีผู้สมัคร ๕๐ คน เสียงย่อมกระจายบางทีผู้ที่ได้คะแนนเพียง ๑ เสียงอาจได้คะแนนสูงที่สุดและเป็นผู้แทนราษฎรโดยคะแนนเสียง ๑ เสียงเช่นนี้ไม่งดงามเลย ตามวิธีเลือก ๒ หนนั้น ถ้าเลือกครั้งแรกมีผู้ได้คะแนนเกินกว่าครึ่งก็ได้เป็นผู้แทนทันทีไม่ต้องเลือกครั้งที่ ๒ อีก ถ้าไม่ได้เกินกว่าครึ่งก็ต้องมีการเลือกครั้งที่ ๒ อีกตามที่ปรากฏอยู่ในตัวบทนั้น…”
และกล่าวถึงศิลปะแห่งการเลือกตั้ง โดยยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสไว้ว่า
“อนึ่งขอชี้แจงว่าศิลปะแห่งการเลือกตั้ง (Election) มีอยู่มากด้วยกัน เช่นในประเทศฝรั่งเศสที่มีหลายปาร์ตี (พรรคการเมือง — ผู้เขียน) การเลือกครั้งแรกต่างปาร์ตีต่างก็ชิงชัยสำหรับปาร์ตีตน สมมติว่าในครั้งแรกใครได้เสียงเกินกว่าครึ่ง ปาร์ตีนั้นก็ชนะ ถ้าไม่มีใครได้เกินกว่าครึ่งและถึงกับต้องมีการเลือกครั้งที่ ๒ แล้ว ในครั้งนี้เขาเปิดโอกาสให้ปาร์ตีที่มีจุดหมายคล้ายๆ กันปราณีประนอม คือ ปาร์ตี ๑ ถอนผู้สมัครเพื่ออีกปาร์ตีหนึ่ง เช่นพวกราดิกาลโซเชียลิสต์ถอนผู้สมัครของตนเสีย โดยขอให้ผู้ออกเสียงฝ่ายตนช่วยออกเสียงให้แก่พวกโซเชียลลิสต์แทนที่จะโหวตให้พวกเรปุบลิกแกงอันเป็นพวกขวา เมื่อถอนแล้วเสียงโซเชียลลิสต์ก็มีชนะพวกขวาได้ เป็นการป้องกันมิให้ปรปักษ์โดยตรีของพวกราดิกาลโซเชียลลิสต์ชนะ
คือเมื่อพวกราดิกาลโซเชียลลิสต์เห็นว่าเห็นว่าตนจะแพ้แล้วก็ยอมยกเสียงให้พวกโซเชียลลิสต์ที่มีจุดหมายคล้ายๆ กันชนะเสียดีกว่าให้ปรปักษ์โดยตรงชนะ ศิลปะดั่งนี้จะนำมาใช้ในประเทศสยามก็ได้... ในบางประเทศบัญญัติเลยไปถึงให้มีการเลือกตั้งครั้งที่ ๑ ถ้าครั้งที่ ๒ ได้จำนวนเสียงที่กำหนดไว้ไม่พอ วิธีนี้เห็นจะยุ่งยาก ฉะนั้นจึ่งตัดเสียเอาเพียงเลือก ๒ ครั้งคือ ครั้งที่ ๒ คะแนนเสียงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถือเอาคะแนนมากที่สุดเป็นเกณฑ์”
เมื่อนายปรีดีอธิบายในสภาฯ สิ้นสุดลงที่ประชุมไม่มีใครคัดค้านและอภิปรายจึงลงมติรับรองว่าร่างมาตรา 31 นี้ใช้ได้
“มาตรา ๓๑ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งแห่งจำนวนเสียงที่ได้ออกโดยถูกต้อง ให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งนั้นเป็นผู้แทนราษฎร
แต่ในการเลือกตั้งครั้งแรกไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนดั่งกล่าวไว้ในวรรค ๑ หรือผู้ได้คะแนนเสียงดั่งกล่าวไว้นั้นยังมีไม่ครบจำนวนผู้แทนราษฎรซึ่งจังหวัดนั้นจะพึงมีได้ ก็ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกครั้งหนึ่ง ภายในเวลาสามวันนั้บตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนสูงตามลำดับลงมาเป็นผู้แทนราษฎรจนครบตามจำนวน[11]
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐ มาใช้ยังบังคับโดยอนุโลม”
จากการชี้แจงมาตรา 31 ของนายปรีดีทำให้ทราบเป็นครั้งแรกว่า หลักการเลือกตั้งนี้มีที่มาจากประเทศฝรั่งเศสและบางประเทศเพราะแทบจะไม่มีการเผยแพร่ความคิดเรื่องหลักการเลือกตั้งของนายปรีดีในวงกว้าง
ประการที่สาม หลักการเลือกตั้งเรื่องวันเลือกตั้งผู้แทนและการให้สิทธิและความสะดวกเพื่อไปเลือกตั้งแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐและแก่ลูกจ้างของนายจ้าง
หลักการเลือกตั้งนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 35 โดยนายปรีดีชี้แจงว่า
“บรรดาหัวหน้ากระทรวงทะบวงการ นายจ้าง ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนบริษัท และห้างร้านใดๆ ฯลฯ ต้องให้ความสะดวกแก่คนในบังคับบัญชาหรือลูกจ้างของตนในวันเลือกตั้งผู้แทนตามสมควรเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ผู้แทนตำบล หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้มีเวลาไปในการเลือกตั้งนั้นได้”
และแก้ไขตัวบทของมาตรา 35 จนได้ข้อสรุปดังนี้
“มาตรา ๓๕ บรรดานายจ้าง ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนบริษัท และห้างร้านใดๆ ฯลฯ ต้องให้ความสะดวกแก่คนในบังคับบัญชาหรือลูกจ้างของตนในวันเลือกตั้งผู้แทนตามสมควร หัวหน้ากระทรวงทะบวงการต้องให้ความสะดวกแก่คนในบังคับบัญชาของตนในวันเลือกตั้งผู้แทน แต่อย่าให้เสียราชการเพื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ผู้แทนตำบล หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้มีเวลาไปในการเลือกตั้งนั้นได้
ความประสงค์นี้มีเช่นกับว่า ไม่ให้นายห้างหรือเจ้าของโรงงานหน่วงเหนี่ยวลูกจ้างของตน เพราะสังเกตในเมืองนอกว่านายจ้างกับลูกจ้างเป็นคนละปาร์ตี”
ข้อถกถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องพลทหารจะให้โหวตอย่างไร นายปรีดีเสนอว่า ขอให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมชี้แจง และจากเหตุผลเรื่องความสะดวกในการเลือกตั้งของราษฎรสยามข้างต้นจึงมีข้อเสนอให้จัดการเลือกตั้งในวันหยุดจนท้ายที่สุดนายปรีดีกล่าวว่า “จะพยายามให้เป็นวันอาทิตย์ แต่บางทีอาจไม่ได้แล้วแต่เหตุการณ์”[12] จากหลักการเลือกตั้งนี้ จึงจัดการเลือกตั้งในวันหยุดหรือวันอาทิตย์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดในการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 26 ได้กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้น
ประการที่สี่ หลักการเลือกตั้งเรื่องจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกโดยกรมการอำเภอในมาตรา 10 นายปรีดีกล่าวถึงไว้ว่า
“มาตรา ๑๐ ความเดิมอ่านได้ดังนี้ เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาว่ามีให้การเลือกตั้งผู้แทนตำบลแล้ว ให้กรมการอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในตำบลนั้นๆ ขึ้นไว้ ในการทำบัญชีรายชื่อนี้ ให้ถือตามทะเบียนสำมะโนครัว
มาตรานี้เป็นวิธีการมีความชัดแล้วไม่ต้องอธิบายให้พิศดาร”
ที่ประชุมสภาฯ ไม่มีผู้ใดอภิปรายหรือคัดค้านมาตรา 10 นี้จึงให้ลงมติเห็นชอบว่าใช้ได้[13]
และนายปรีดียังการวางหลักเกณฑ์การเลือกตั้งครั้งแรกไว้อย่างมีศิลปะโดยได้ปรากฏความคิดในมาตรา 15 เรื่องกำหนดเวลาของการเลือกตั้งที่คำนึงถึงนิสัยใจคอและวัฒนธรรมของราษฎรสยามช่วงเวลานั้นโดยเฉพาะในชนบทที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว วัด และงานรื่นเริง
นายปรีดีกล่าวถึงความคิดในการร่างตัวบทมาตรา 15 ไว้ว่า
“มาตรา ๑๕ ความเดิมอ่านได้ความว่า “การออกเสียงให้เริ่มแต่เวลา ๙.๐๐ นาฬิกาถึง ๑๕ นาฬิกา”...ที่กำหนดเวลานี้ได้พิจารณาถึงเหตุการณ์ทั่วไป และเวลานี้เหมาะ เพราะชาวบ้านจะได้รับประทานอาหารเช้าเสียก่อน และทั้งได้คิดไว้ว่าจะให้กรมการอำเภอจัดทำดังนี้
ตำบลใดมีการเลือกตั้งในวันนั้น จัดให้มีการเลี้ยงพระเพลที่วัดอันเป็นสาธารณสถานจะมีสลากภัทร์ อะไรด้วยก็ตามกับทั้งให้มีการรื่นเริง เช่น มีเพลง มีลิเก ช่วงชัย ฯลฯ เผื่อว่าพวกผู้ใหญ่จะได้มาทำบุญ หนุ่มๆ สาวๆ มารื่นเริงที่วัดแล้วขึ้นไปบนศาลาเพื่อออกเสียง
เมื่อทำเช่นนี้การออกเสียงในเมืองไทยจะไม่เหงา ราษฎรจะครึกครื้น รู้สึกตื่นเต้นและเพาะให้เกิดความนิยมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญได้อย่างดีทีเดียว”
เมื่อสิ้นสุดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมฯ ได้ลงมติรับรองเห็นชอบว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นี้ใช้ได้ จึงประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2475[14] เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ของสยามฉบับแรก
แม้ต่อมาพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ฉบับนี้จะไม่ได้นำมาใช้วางข้อกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามเนื่องจากเกมการเมืองและมีการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ใหม่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2476[15] แต่การประชุมฯ ข้างต้นแสดงให้เห็นความคิดประชาธิปไตยและศิลปะแห่งการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้แทนคณะราษฎรสายพลเรือนไว้อย่างชัดเจน
วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองได้กลับสู่รัฐบาลพลเรือนโดยระยะแรกคือรัฐบาลพระราชทานของ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ พ.ศ. 2516-2518 ในบริบทการเมืองเวลานั้นทีแรกคาดกันว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในไม่ช้า ดังนั้นทั้งนักศึกษาและประชาชนจึงตื่นตัวทางการเมืองสูงเพราะอยู่ในระบอบอำนาจนิยมมากว่า 10 ปี แต่สุดท้ายรัฐบาลของ ฯพณฯ สัญญา ได้บริหารประเทศนานเกือบสามปีถึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518
ช่วงระยะนี้นายปรีดีที่ติดตามข่าวสารการเมืองไทยจากบ้านอองโตนี กรุงปารีส ได้เห็นบริบทการเมืองแบบประชาธิปไตยเริ่มแง้มบานประตูออก จึงเลือกข้อเสนอเรื่องวิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตยถึง ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ส่งให้แก่องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516[16] โดยให้ชื่อบทความว่า “พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (Recall) วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปยาก, เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และ สภาเดียว” ต่อมาได้กลายเป็นบทความเรื่องสถาบันการเมืองและการเลือกตั้งชิ้นสำคัญในช่วงบั้นปลายชีวิตของนายปรีดีโดยได้อารัมภบทถึงที่มาและมีความคาดหวังต่อผู้อ่านบทความชิ้นนี้ว่า
“ด้วยคุณพีรพล ตริยะเกษม ในนามขององค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้โทรศัพท์ข้ามทวีปจากกรุงเทพฯ มาถึงผมที่ชานกรุงปารีส ขอคำขวัญและบทความเพื่อองค์การฯ นำลงในหนังสือที่จะจัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกวันที่ 10 ธันวาคม ผมยินดีสนองศรัทธาโดยขอให้ถือตามคำขวัญอันหนึ่งอันเดียวกับที่ผมมอบให้แก่ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และมวลชนที่รักชาติทั้งหลายว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม”...
หวังใจว่าทุกท่านที่ปรารถนาส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตยคงจะรับไว้ประกอบพิจารณา”
ข้อเสนอชิ้นนี้มีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตยด้วยกัน 5 ประการ ดังนี้
1. พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว?
นายปรีดีเสนอให้เห็นว่าระบบพรรคการเมืองมิอาจป้องกันผู้แทนขายตัวได้แต่สิ่งสำคัญที่ป้องกันไม่ให้ผู้แทนขายตัวคือ คุณธรรมของผู้แทนแต่ละคนว่ามีความซื่อสัตย์ต่อประชาธิปไตย และต่อมวลราษฎรหรือไม่และชี้ว่าผู้แทนขายตัวคือ ผู้แทนผี
“จากการเลือกตั้งระบบพรรคที่แล้วมาว่า ระบบพรรคนั้นได้แก้ปัญหาที่กล่าวกันว่า “ผู้แทนขายตัว” ได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ที่คุณธรรมของผู้แทนแต่ละคนว่ามีความซื่อสัตย์ต่อประชาธิปไตย และต่อมวลราษฎรหรือไม่ ผู้แทนในพรรคหนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนที่ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์ต่อมวลราษฎร ส่วนผู้ที่สมัครโดยไม่สังกัดพรรค ซึ่งไม่มีทางจะได้ประโยชน์จากพรรคก็ไม่มีทางขายตัวนอกจากผู้แทนที่เห็นแก่ตัวและจำพวกที่เรียกว่า “ผู้แทนผี”...”
ส่วนพรรคการเมืองนั้น นายปรีดีอธิบายผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ว่ามีชนิดที่เรียกกันว่า “พรรคผี” ที่อำพรางว่าเป็นฝ่ายค้าน แต่ตนเองหรือพรรคของตนหรือบางคนในพรรคของตนแอบไปรับประโยชน์จากฝ่ายรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นเด่นชัดในช่วงของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492
“ชนรุ่นใหม่ที่สนใจก็ขอให้ศึกษาจากผู้แทนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์นี้และความหมายของ “ผู้แทนผี” และ “พรรคผี” ไว้ด้วย ซึ่งเป็นการนิมิต (Invention) ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่เขียนไว้เพื่ออภิสิทธิ์ชนและเพื่อที่ฝ่ายเสรีมนังคศิลาจะเอาชนะให้ได้ ประกอบเป็นรัฐบาลขึ้น ก็ต้องใช้วิธีการหาคะแนนเสียงเพิ่มจาก “ผู้แทนผี” และ “พรรคผี” ที่ไม่อาจควบคุมสมาชิกในพรรคของตนได้ทั่วถึง จึงมีผู้แอบไปรับเงินจากฝ่ายเสรีมนังคศิลาโดยยอมทำสิ่งที่พรรคไม่สามารถจับได้”
และนายปรีดีได้ยกตัวอย่างพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่นำมาสู่ข้อสรุปว่าจากปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทยเองและในเมืองนอก จึงเห็นได้ว่าการป้องกันผู้แทนขายตัวนั้นมิใช่ทำได้โดยพรรคโดยเสนอหนทางแก้ไขผู้แทนขายตัวที่สำคัญคือให้อำนาจแก่ราษฎรมาตรวจสอบและควบคุมผู้แทนของตน
“แต่อยู่ที่ต้องแก้ตัวผู้แทนนั้นๆ เองว่าจะมีวิธีการอย่างไรให้เขามีหิริโอตตัปปะยึดมั่นในประโยชน์ของมวลราษฎรยิ่งกว่าส่วนตัว มีวิธีการที่ให้เขาจำต้องประพฤติในสิ่งควรประพฤติละเว้นในสิ่งควรละเว้น และต้องใช้วิธี ให้อำนาจแก่ราษฎรที่เลือกตั้งผู้นั้นขึ้นมาสามารถควบคุมผู้แทนของตนได้โดยตรง มิใช่หวังให้พรรคควบคุม”
2. วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (recall)
นายปรีดีเสนอวิธีป้องกันผู้แทนขายตัวไว้ว่ามีวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือ วิธีที่รัฐธรรมนูญของบางประเทศและบางรัฐ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Recall” ซึ่งแปลว่า “การเรียกตัวกลับคืน” หรือ “การถอดผู้แทน” โดยชี้ว่าการถอดถอนผู้แทนสามารถกระทำได้โดยอำนาจของราษฎร
“เมื่อราษฎรในเขตเลือกตั้งผู้แทนคนใด เห็นว่าผู้แทนของตนมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนก็มีสิทธิเมื่อรวมกันได้ประมาณร้อยละ 25 หรือกว่านั้นขึ้นไป ทำหนังสือยื่นต่อรัฐสภา หรือ องค์การใดที่เหมาะสมเรียกตัวผู้แทนนั้นกลับคืนให้หมดสมาชิกภาพไป”
และมองว่าวิธีการถอดถอนผู้แทนของราษฎรนี้มีผลต่อการกำหนดคุณธรรมของผู้แทนอย่างสำคัญ
“เมื่อผู้แทนแต่ละคนรู้ตัวว่าตนอาจจะถูกราษฎรเรียกตัวกลับคืนหรือถูกถอนการเป็นสมาชิกโดยราษฎรในเขตของตน ผู้แทนแต่ละคนก็จะต้องระมัดระวังตัวโดยไม่ทำผิดต่ออุดมคติและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ราษฎรในขณะเลือกตั้ง รวมทั้งไม่ยอมขายตัว”
3. วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปสู่ยาก
นายปรีดีเสนอรูปแบบการเลือกตั้งจากประเทศอังกฤษที่เป็นแม่แบบของประเทศประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ ณ เวลานั้นมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทยไว้ว่า
“ผมได้กล่าวไว้แล้วว่าประเทศอังกฤษที่ถือกันว่าเป็นแม่แบบแห่งระบอบประชาธิปไตยทางรัฐสภา ซึ่งคนอังกฤษได้คุ้นกับการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมาหลายร้อยปีแล้วนั้น เขาก็ยังใช้วิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 เขตต่อผู้แทนคนหนึ่ง ประเทศอังกฤษมีพลเมืองประมาณ 54 ล้านคน ได้แบ่งออกเป็น 630 เขตเลือกตั้ง ถ้าคิดถัวเฉลี่ยก็ประมาณ 1 เขตต่อพลเมือง 90,000 คน
แม้ว่าในอังกฤษจะนิยมวิธีมีพรรคการเมือง แต่เขาไม่บังคับผู้สมัครให้สังกัดพรรค เพราะเป็นเสรีภาพของผู้สมัครที่จะสังกัดพรรคหรือไม่สังกัด”
นายปรีดีมองว่าการแบ่งเขตตามแม่แบบระบอบประชาธิปไตยทางรัฐสภาดังกล่าวซึ่งเคยนำมาใช้ในประเทศไทยก่อนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้นจะทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และยังเสนอให้เห็นกลวิธีการโกงเลือกตั้งครั้งสำคัญในทศวรรษ 2500 เช่น การใช้ “ไพ่ไฟ” เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทันเกมการเมืองของการเลือกตั้งจากยุคอดีต หรือที่ในยุคสมัยปัจจุบันเรียกว่า “บัตรเขย่ง”
“ในบางกรณีที่เรียกกันว่า “ไพ่ไฟ” คือ เจ้าหน้าที่บางคนใช้บัตรที่ไม่มีคนมาลงคะแนนนั้นปิดเครื่องหมายในบัตรเสียเองแล้วใส่ลงไปในหีบลงคะแนนเพื่อช่วยพวกของตน หรือกรณีอื้อฉาวเรื่อง “หีบไฟ” ในสมัยเสรีมนังคศิลาซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าคะแนนที่พวกตนได้รับแม้จะทิ้งไพ่ไฟแล้วก็สู้ฝ่ายอื่นไม่ได้ จึงทำลายบัตรในหีบออกเสียงนั้นทิ้งทั้งหมด แล้วทำ “ไพ่ไฟ” ขึ้นใหม่ นับคะแนนใหม่ ทำให้ผู้สมัครฝ่ายตนชนะโดยวิธีหีบไฟนั้น…”
4. เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน
ข้อเสนอนี้นายปรีดีทดลองนำเสนอขึ้นใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของทั้งไทยและตะวันตกว่า
“ผมคิดขึ้นเองว่าน่าจะทดลองทำเป็นประวัติการณ์ของโลกบ้างว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงคนใดมาลงคะแนนก็จะได้รับค่าป่วยการจากรัฐบาลครั้งละ 10 บาท ผมคะเนว่าในจำนวนพลเมืองไทยร่วม 40 ล้านคนนั้น มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 20 ล้านคน รัฐก็ใช้เป็นค่าป่วยการของราษฎร 20 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าเสียดาย เพราะเท่ากับคืนเงินที่เก็บภาษีอากรมาจากราษฎรคืนให้คนละ 10 บาทในวันเลือกตั้ง…”
ข้อเสนอนี้ของนายปรีดีมาจากฐานคิดเรื่องป้องกันการซื้อเสียงของราษฎรกล่าวคือ วิธีที่รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ผู้มีสิทธิออกเสียงมาลงคะแนนนั้นยังจะช่วยป้องกัน มิให้ผู้สมัครเริ่มโกงตั้งแต่ต้นโดยวิธีจ่ายค่าพาหนะเป็นสินน้ำใจให้ผู้มาลงคะแนน
5. ชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่
ข้อเสนอนี้สืบเนื่องมาจากนายปรีดีมีความวิตกถึงเยาวชนรุ่นใหม่ว่า
“ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ที่ยืนยันจะเอาการเลือกตั้งที่บังคับให้ผู้สมัครสังกัดพรรคให้จงได้ และกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องอนุโลมวิธีอเมริกันหรือเยอรมันแล้ว ท่านทั้งหลายที่เป็นพลังใหม่กำลังเจริญงอกงามนั้น ท่านจะมีทางได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่”
นายปรีดียังได้ยกตัวอย่างของพรรคการเมืองประชาธิปไตยในประเทศเยอรมนีที่มีอุดมการณ์ภายในพรรคการเมืองแฝงเร้นนิยมเผด็จการนาซีและจำกัดบทบาทของเยาวชนเยอรมันรุ่นใหม่ที่มีอุดมคติแบบประชาธิปไตยไว้ เพื่อส่งสารถึงรัฐบาลไทยและพรรคการเมืองว่าไม่ควรตั้งพรรคการเมืองที่แอบแฝงนิยมเผด็จการแล้วจำกัดบทบาทของเยาวชน
“พรรคเยอรมันดังกล่าวนั้น ได้ขุมพลังที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากพรรคที่มีอยู่ก่อนในอดีต ขุมพลังนี้อาจเป็นพวกนายทุน พวกกรรมกร รวมทั้งพวกนิยมเผด็จการนาซีของฮิตเลอร์ที่แทรกเข้ามาในพรรคฝ่ายขวา โดยเปลี่ยนเพียงยูนิฟอร์มเก่ามาใช้ป้ายยี่ห้อใหม่ที่แสดงภายนอกว่า “ประชาธิปไตย”
เยาวชนเยอรมันที่มีอุดมคติมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยแท้จริงของมวลราษฎรนั้น ไม่มีทางที่จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนในรัฐสภา คือ จำต้องสนับสนุนพรรคที่มีอุดมคติก้าวหน้าบ้าง เช่น พรรคโซเชียลดีโมแครทที่มีอุดมคติแห่งขบวนการสังคมนิยมสากล ไม่ใช่มีแต่ชื่อว่าสังคมนิยม ก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้พรรคที่แม้ชื่อท้ายว่าประชาธิปไตยแต่เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน”[17]
ข้อเสนอ 5 ประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งและคนรุ่นใหม่ของนายปรีดีข้างต้นจากบทความ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ 3 ชิ้นหลัก ได้แก่ ข้อเสนอเรื่องพรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (Recall) วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปยากฯ ประกอบกับหลักการเลือกตั้งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475 แสดงถึงแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ยึดโยงในอุดมคติประชาธิปไตยตามแนวทางปฐมรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ โดยหลักหนึ่งที่ยังคงมั่นคือให้ความสำคัญกับราษฎรและพยายามเปิดช่องทางให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2475
ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา และคลังสารสนเทศบัญญัติ
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 มิถุนายน 2475, เล่ม 49, หน้า 166-179.
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 554-572.
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2566, เล่ม 140, ตอนที่ 22 ก, หน้า 1-2.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
หนังสือพิมพ์ :
- ประชาชาติ 16 พฤศจิกายน 2476
- ศรีกรุง 9 กรกฎาคม 2475
หนังสือภาษาไทย :
- กองการโฆษณา, แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2476).
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544).
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543).
- ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552).
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).
นิตยสารและวารสาร :
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85.
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กองบรรณาธิการบีบีซีไทย. (21 กุมภาพันธ์ 2566). เลือกตั้ง 2566: นายกฯ ประกาศยุบสภาต้น มี.ค. คาดจัดการเลือกตั้งตามปฏิทิน กกต. 7 พ.ค..
- กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2563). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม.
- ชีวานนท์ กันย์ภิวัฒน์. (28 ธันวาคม 2565). การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในไทย (ตอนที่ 1).
- ธนกร วงษ์ปัญญา. (21 มีนาคม 2566). เลือกตั้ง 2566: เซฟเก็บไว้เลย ปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่.
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2564). การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม.
- ปรีดี พนมยงค์. (20 พฤศจิกายน 2564). วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย: พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว.
- ปรีดี พนมยงค์. (21 พฤศจิกายน 2564). วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (recall) และ วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปสู่ยาก.
- ปรีดี พนมยงค์. (21 พฤศจิกายน 2564). วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่.
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (8 มีนาคม 2561). การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วม ทางการเมือง.
- ไอลอว์. (18 กุมภาพันธ์ 2566). เลือกตั้ง 66: ระวังเหตุเลื่อนเลือกตั้ง! เมื่อต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่.
- ไอลอว์. (4 มีนาคม 2566). เลือกตั้ง 66: เปิดกฎหมายหาทางออก กรณี กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ทันยุบสภา.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย: พรรคใดบ้างที่สามารถป้องกันผู้แทนขายตัว
- วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : วิธีให้ราษฎรถอดถอนผู้แทน (recall) และ วิธีเลือกตั้งจากง่ายไปสู่ยาก
- วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย : เสนอให้รัฐจ่ายค่าป่วยการให้ราษฎรที่มาลงคะแนน และชนรุ่นใหม่จะมีทางได้เป็นผู้แทนในทางปฏิบัติหรือไม่
[1] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2566, เล่ม 140, ตอนที่ 22 ก, หน้า 1-2.
[2] ุรายนาม 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดปัตตานี
[3] ไอลอว์. (18 กุมภาพันธ์ 2566). เลือกตั้ง 66: ระวังเหตุเลื่อนเลือกตั้ง! เมื่อต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่. และกองบรรณาธิการบีบีซีไทย. (21 กุมภาพันธ์ 2566). เลือกตั้ง 2566 : นายกฯ ประกาศยุบสภาต้น มี.ค. คาดจัดการเลือกตั้งตามปฏิทิน กกต. 7 พ.ค..
[4] ไอลอว์. (4 มีนาคม 2566). เลือกตั้ง 66: เปิดกฎหมายหาทางออก กรณี กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ทันยุบสภา.
[5] ธนกร วงษ์ปัญญา. (21 มีนาคม 2566). เลือกตั้ง 2566: เซฟเก็บไว้เลย ปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่.
[6] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 มีนาคม 2563). ‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม. https://www.the101.world/first-constitution/
[7] ชีวานนท์ กันย์ภิวัฒน์. (28 ธันวาคม 2565). การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในไทย (ตอนที่ 1).
[8] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 595.
[9] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 595.
[10] เรื่องเดียวกัน, น. 599-600.
[11] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 640-642.
[12] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. น. 645-646.
[13] เรื่องเดียวกัน, น. 622.
[14] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, น.554-572.
[15] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.
[16] ต่อมานายปรีดีได้ขอให้นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตพฤฒสมาชิกเป็นผู้ช่วยจัดพิมพ์บทความชิ้นนี้ประกอบกับคำนำที่เขียนในวันนี้รวมกันเป็นหนังสือเล่มหนึ่งให้ชื่อว่า ข้อเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี เรื่อง “วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย”
[17] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552), น. 89-99.