ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการ : การเปลี่ยนแปลงที่สมควรมาถึงได้แล้ว (ตอนที่ 1)

11
เมษายน
2566

ผมมักเผชิญกับคำถามที่ว่า ถ้าเราต้องการสร้างรัฐสวัสดิการหรือสังคมที่ยุติธรรม ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ผ่านการต่อสู้ ผ่านการอดทน ผ่านการรอคอย คนส่วนมากเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มนุษย์สมควรได้รับ แต่บ่อยครั้งที่มันจะจบลงที่ว่า มันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนในอนาคต เป็นสิ่งที่ดีแต่อาจจะต้องรอคอย อาจใช้เวลาชั่วอายุคน เป็นสิ่งที่ดีแต่คนในปัจจุบันอาจจะไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้มัน? 

แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลาอนาคต แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงจากวันธรรมดาให้กลายเป็นวันพิเศษ การเปลี่ยนแปลงจากคนที่ไร้อำนาจให้กลายเป็นคนที่มีอำนาจมากเพียงพอที่จะตั้งคำถามต่อความไม่ปกติต่างๆ ในสังคม 

ดังนั้นในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่จะเกิดขึ้น ในช่วงเวลาการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 สิ่งสำคัญที่ต้องตอกย้ำคือการยืนยันให้เห็นว่า พวกเราได้ผ่านการต่อสู้มามากเพียงพอแล้ว พวกเราผ่านการอดทนรอคอย ทั้งสันติ ทั้งเผชิญหน้ามาอย่างยาวนาน แลกกับการที่จะมีชีวิตที่ดีได้เสียที โดยในส่วนแรกผมจะทำการบรรยายให้เห็นพัฒนาการของการต่อสู้ที่มีมาตลอดเกือบศตวรรษในสังคมไทย

 

การเปลี่ยนแปลงในช่วงปี พ.ศ. 2475

ย้อนกลับไปเมื่อเก้าสิบกว่าปีก่อน การอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ได้นำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่สังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเลือกตั้ง ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงการขยายของสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสวัสดิการ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงด้านสุขอนามัยต่างๆ ข้อเสนอสำคัญที่ปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้มีการนำเสนอในปี 2476 ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่แสดงความก้าวหน้าอย่างมาก โดยได้พยายามปรับใช้นโยบายรัฐสวัสดิการ การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปภาษี การลดอำนาจชนชั้นนำ และการเพิ่มอำนาจของคนธรรมดาที่มีปริมาณมหาศาลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงานหรือว่าเกษตรกร มีการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน การประท้วงและการผลักดันนโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการผ่านพรรคการเมือง เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนกระทั่งหลังปี 2490 กลุ่มอนุรักษนิยมพยายามที่จะยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีความก้าวหน้า แม้การต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งการรัฐประหารในปี 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ก้าวหน้าหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายประกันสังคม รวมถึงกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ทำให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการถูกยับยั้งไปหลายทศวรรษเช่นเดียวกัน

 

การเปลี่ยนแปลงในช่วง 2516 - 2519

เมื่อพิจารณาในช่วงระหว่างปี 2516 - 2519 อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งทั่วไป มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง นับเป็นยุคสมัยที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการ รวมถึงการคุ้มครองแรงงานและการรวมตัวการนัดหยุดงานประท้วงซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนการขับไล่รัฐบาลทหาร (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) ในปี 2516 ก็มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการหลายด้านซึ่งเกิดจากการกดดันเรียกร้องของประชาชน ขบวนการภาคประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ได้เคลื่อนไหวประท้วงอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นได้ถึงการตั้งมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2514 ซึ่งเป็นการสะท้อนความท้าทายฐานความคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงที่ทางของเหล่าอภิสิทธิ์ชน ที่สามารถผ่านการสอบคัดเลือก หรือมีเงินในการจ่ายค่าเทอมเท่านั้น จิตสำนึกสังคมนิยมประชาธิปไตยเติบโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนหนุ่มสาวที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงขบวนการแรงงานและขบวนการชาวนาที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ ถึงแม้ว่าคลื่นของการเปลี่ยนแปลงนี้จะถูกชะลออีกครั้งในปี 2519 จากโศกนาฏกรรม 6 ตุลาฯ แต่ความเข้าใจในเรื่องราวหลายอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมความเสมอภาคก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

 

การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลัง 2540

นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองและการปฏิรูปทางสังคมครั้งใหญ่ การกระจายอำนาจ การเพิ่มอำนาจของประชาชนในระบบการเมือง เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ในปี 2544 ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้ผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอันนับเป็นนโยบายที่มีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงการทำให้คนเกือบยี่สิบล้านคนในประเทศที่ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากรัฐ ประกันสังคม หรือการซื้อประกันเอกชนด้วยตัวเอง สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานได้ ก่อนที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

จนปัจจุบันงบประมาณด้านประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีมูลค่าอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายจ่ายในส่วนนี้สามารถคุ้มครองชีวิตของคนได้มากกว่า 50 ล้านคน และกลายเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับคนไทยทุกคน การเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าก็มักจะมีการทำรัฐประหารหลายครั้งที่กีดขวางไม่ให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดความก้าวหน้า

การรัฐประหารในปี 2549 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตย คุณภาพชีวิต และระบบสวัสดิการ ไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดจากการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้รื้อฟื้นบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก การประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นภาพสะท้อนการรวมตัวของมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ก่อนที่จะถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดในปีเดียวกัน กระทั่งรัฐประหารครั้งที่สองในรอบเพียง 8 ปี ในปี 2557 นำไปสู่การสืบทอดอำนาจต่อเนื่องยาวนานเกือบสิบปีของคณะทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังปี 2562

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ย้อนไปตั้งแต่ปี 2554 ถือเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลอำนาจนิยมอยู่ในตำแหน่งยาวนานมากกว่าห้าปี และยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10  การเปลี่ยนรัชสมัยมีผลสำคัญต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ความเป็นอนุรักษนิยม เสรีนิยม และสังคมนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

การเลือกตั้งในปี 2562 มีพรรคการเมืองหน้าใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล) ชูประเด็นด้านรัฐสวัสดิการและผลักดันประเด็นที่ทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น โดยได้รับการขานรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งแรก (new voter) เป็นอย่างดี

ในช่วงปี 2563-2564 นับเป็นยุคสมัยของการท้าทายโครงสร้างอำนาจและการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้ท้าทายโครงสร้างอำนาจของระบอบอนุรักษนิยมที่มีอยู่ในสังคม ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีผลในเชิงรูปธรรม แต่การรับรู้และการทำความเข้าใจของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ สิทธิและอำนาจที่ประชาชนพึงมี ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่จำเป็นต้องย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสามช่วงที่ได้บรรยายไปแล้ว คือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหมุนกลับ ไม่สามารถที่จะผลักให้สังคมไทยกลับไปสู่ความเข้าใจแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงตลอด 90 ปีที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ทางการเมือง แม้ประเทศนี้ยังคงมีหลักการเรื่องความแตกต่างโดยชาติกำเนิด แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มจางหายไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และความคิดว่าด้วยความเสมอภาคของผู้คนนับเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วไป และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในทางสาธารณะ
  2. การเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ทางเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็นับเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังมากขึ้น และไม่คิดว่าผู้ที่ผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป
  3. การเปลี่ยนแปลงด้านจารีตประเพณีและสังคม คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามต่อระบบจารีต ความเหลื่อมล้ำสูงต่ำโดยกำเนิด วัฒนธรรมที่กดทับต่อเสรีภาพ หรือค่านิยมที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะมาจาก ครอบครัว ศาสนา ชุมชน หรือแม้กระทั่งอำนาจรัฐเอง

ทั้งหมดที่ได้พิจารณามาชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยผ่านยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง และยุคสมัยของการอดทนรอคอยมานับศตวรรษเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีคำกล่าวที่ว่าเราจำเป็นต้องคอยถึงสองชั่วอายุคน ณ ปัจจุบันก็นับเป็นจุดเปลี่ยนที่เราสมควรจะเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ในบทความฉบับต่อไป ผมจะกล่าวถึงนโยบายการหาเสียงด้านรัฐสวัสดิการ ของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเป็นนโยบายที่สะท้อนความก้าวหน้าของสังคมหรือไม่อย่างไร และในฐานะประชาชนเราควรจะกดดัน ผ่านเงื่อนไขใดบ้าง