Focus
- การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เกิดจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่สงสัย โครงสร้างจุดเริ่มต้นของการเป็นประชาธิปไตย การแย่งชิงอำนาจและการพยายามวิพากษ์ให้ถึงต้นตอเพื่อให้สิ่งที่เป็นปัญหาเพื่อแก้ไขและหาทางออก
- เรื่องของดุลยภาพขอเน้นตรงจุดยืนทางความคิดและทางความเชื่อของแต่ละบุคคล เราต้องหาจุดตรงกลางให้ได้ คือดุลยภาพของจุดยืนทางความคิด เราจะมีส่วนแบ่งกันอย่างไรในพื้นที่ตรงกลางที่จะให้ทุกจุดยืนทุกความคิดได้ออกมายืนวิพากษ์ร่วมกันอย่างเสมอหน้า ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมดเคารพในจุดต่าง เคารพในจุดยืนทางความคิด และหาทางตกลงกันให้ได้ ด้วยฐานที่ประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุดนั้น เราจะสามารถ compromise หรือทำอย่างไรให้ทุกจุดยืนนี้อยู่ร่วมกันให้ได้นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น รัฐสวัสดิการหรือการปฏิรูปกองทัพ
- นโยบายอะไรก็ตามที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก แต่เรามีสิทธิ์ในการหวังที่จะฝัน และอยากจะกำหนดชีวิตของตัวเองด้วย ดังเช่นมาตรา 112 กลายเป็นจุดที่ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องให้จุดยืนว่าเขามีจุดยืนต่อมาตรานี้อย่างไร
- สถานการณ์ ณ ตอนนี้ กับ 2475 ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เราจะทำทุกวิถีทาง ในการอุดรอยรั่วไม่ให้ใครมาช่วงชิงแย่งชิงอำนาจของประชาชนกลับไปอีก เราจะพยายามนำเสนอทุกอย่างที่เป็นทางกฎหมายพยายามทำงานทางความคิดเพื่อให้ทุกคนมั่นใจในอำนาจของตัวเองและทักท้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่เสมอ และการทวงคืนอำนาจในครั้งนี้ เราจะได้อำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชนจริงๆ
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : เยาวชนคนรุ่นใหม่เขาคิดอย่างไร มีคนแซวว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ยุคนี้ผิดหวังจากคนรุ่น 14 ตุลาฯ แต่ไปเอาความโกรธแค้น ผิดหวัง หรือไม่สมหวังของคน 6 ตุลาฯ มาเป็นพลัง เพื่อไปรื้อฟื้น 2475 ผมคิดว่าการต่อสู้ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา ยังไม่มีใครคิดไปถึง 2475 จนกระทั่ง 91 ปี 2475 ทำให้เราเห็นว่าคนหนุ่มสาวรุ่นนี้วิ่งไปถึง Balance of Power หรือ ดุลยภาพแห่งอำนาจ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2475 ขอต้อนรับคุณ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล : ใช่ค่ะ ค่อนข้างถูก คิดว่าในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ 2563 เป็นต้นมา ตอนแรกออกมาด้วยความอึดอัดจากการถูกกดขี่ ถูกกดทับ แต่พอเกิดการรวมตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราสงสัย ต่อโครงสร้างมากขึ้น ก็ลามมาถึงจุดที่ว่า เมื่อเราเรียนรู้แล้วว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นประชาธิปไตยคืออะไร จุดเริ่มต้นของการแย่งชิงขั้วอำนาจเกิดจากอะไร เราจึงเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น และเราพยายามวิพากษ์ให้ถึงต้นตอให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สิ่งที่เป็นปัญหาได้ถูกพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขและหาทางออกให้ได้
คำว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” ส่วนตัวอาจจะมีมุมต่างกับคำนี้ มายด์คิดว่าในสังคมประชาธิปไตยสิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้น คือ แต่หากจะพูดถึงเรื่องดุลยภาพ มายด์อาจจะดูเรื่องของดุลยภาพจุดยืนทางความคิดมากกว่า ด้วยระบอบถูกบัญญัติอำนาจจะต้องอยู่ข้างประชาชนเสมอ ไว้ว่าประชาชนมีอำนาจสูงที่สุด แต่แน่นอนในสังคมประชาธิปไตยเราอยู่กันด้วยการเคารพซึ่งความหลากหลาย ทางจุดยืน ทางความคิด ทางความเชื่อของแต่ละบุคคล นั่นหมายความว่าสิ่งที่เราต้องหาจุดตรงกลางให้ได้คือดุลยภาพของจุดยืนทางความคิด ว่าเราจะมีส่วนแบ่งกันอย่างไรในพื้นที่ตรงกลาง ที่จะให้ทุกจุดยืนทุกความคิดได้ออกมายืนวิพากษ์ร่วมกันอย่างเสมอหน้า ไม่ได้มีใครถูกตัดสินว่าด้อยกว่าใคร ไม่มีใครถูกตีกรอบว่าแบบนี้ถูก หรือแบบนี้ผิด
สิ่งที่จะทำให้สังคมประชาธิปไตยอยู่รอดต่อไปได้ คือการที่เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมดก็ได้ เราเพียงแค่เคารพในจุดต่าง เคารพในจุดยืนทางความคิด และหาทางตกลงกันให้ได้ว่า ด้วยฐานที่ประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุดนั้น เราจะสามารถ compromise หรือทำอย่างไรให้ทุกจุดยืนนี้อยู่ร่วมกันให้ได้
การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา อย่างที่บอกไปว่า ตอนนี้เรารื้อถึงโครงสร้างแล้ว เราตั้งคำถามที่โครงสร้างแล้ว และมองนึกย้อนกลับไปที่ 2475 เมื่อครั้งที่เราได้รับความเป็นประชาธิปไตยมา เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง แน่นอนว่าเกิดการแย่งชิงของอำนาจระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วใหม่ที่ประชาชนเพิ่งได้รับความเป็นประชาธิปไตย เพิ่งได้รับอำนาจเข้ามา แย่งชิงกันตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น จนผ่านมาถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ แต่เพียงแค่ว่าช่วงระหว่างทางมีจุดที่ประชาชนถูกจำกัดกรอบและถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจไปโดยปริยาย
ช่วงหนึ่งรู้สึกว่าต้องฝากความหวังหรือฝากอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วคอยภาวนาให้พวกเขาเหล่านั้นทำให้บ้านเมืองดีขึ้นให้ได้ เป็นแนวความคิดที่เป็นร่องรอยจากกลุ่มอำนาจเดิมด้วยที่พยายามฝังความรู้สึกแบบนี้ไว้ให้คนเข้าใจว่าประชาชนไม่พร้อม หรือไม่มีอำนาจมากพอ หรือไม่คู่ควรกับอำนาจในการบริหารประเทศ เลยเกิดระบบที่ว่า เช่น “เชื่อใจในตัวผมเถอะ” ซึ่งไม่ใช่เชื่อใจในนโยบาย หรือ “เชื่อใจในกลุ่มของพวกเราเถอะ เดี๋ยวเราจะพาไปให้ได้”
แต่ยุคนี้ชัดเจนมากขึ้น การวิพากษ์พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ก็วิพากษ์กันอย่างตรงไปตรงมาก คำว่า FC คำว่าแฟนคลับ คำว่ากองเชียร์ ซึ่งเชียร์ได้ส่วนหนึ่งได้อยู่แล้ว แต่ว่าในยุคนี้เราจะเชียร์ใคร เราจะสนับสนุนใคร เกิดการวิเคราะห์จากนโยบาย จากความเป็นไปได้ จากการให้ความชัดเจนว่า ความหวัง ความฝันที่เรามี จะไปสู่เส้นชัยได้อย่างไร มันไม่ได้เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจเพียงอย่างเดียว หรือกลุ่มก้อนทางการเมืองเพียงอย่างเดียว
เราจะเห็นได้ชัดจากการอธิบายถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นนโยบายที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วพยายามคิดพูดออกมา เช่น รัฐสวัสดิการ หรือการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งตอนแรกคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าคนจะได้อะไร แต่พอบอกว่าเป็นเรื่องของการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ให้เกิดระบบสมัครใจ ให้ไม่มีการบังคับใครไปทำหน้าที่อะไร พอเกิดการนำเสนอแบบนี้ก็เข้าใจกันง่ายมากขึ้น แล้วคนก็ซื้อ
นั่นหมายความว่า ประชาชนที่ฟังนโยบายเหล่านี้เขารู้สึกว่าเพิ่งจะได้มีโอกาสที่จะได้ใช้อำนาจกำหนดชีวิตในอนาคตของตัวเองได้บ้าง การบังคับการเกณฑ์ทหารถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ผู้ชายทุกคนควรจะต้องผ่าน ซึ่งกลายเป็นประเพณีไป ทั้งๆ ที่โลกเรามาไกลขนาดนี้แล้ว
นโยบายอะไรก็ตามที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก มันสะท้อนต่อด้วยว่า เพราะว่าประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่าเขาไม่ต้องจำเป็นต้องฝากความหวังไว้ที่กลุ่มบุคคลใดที่ดูเหมือนกับว่าจะมีความสามารถมากกว่าเราให้ทำให้ก็ได้ แต่เรามีสิทธิ์ในการหวังที่จะฝัน และอยากจะกำหนดชีวิตของตัวเองด้วยก็ได้
ในครั้งนี้พรรคการเมืองอาจจะนำเสนอนโยบายที่ยังไม่ถูกใจ ภาคประชาชนเป็นคนเสนอเองก็ได้ เป็นคนพูดเองก็ได้ เราเคยคิดไหมว่าคำถามเรื่องมาตรา 112 จะถูกพูดถึงในทีวี ถูกพูดถึงบนเวทีดีเบตขนาดใหญ่ กลายเป็นจุดที่ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องให้จุดยืนว่าเขามีจุดยืนต่อมาตรานี้อย่างไร มันเกิดจากการที่เพราะประชาชนพูดเรื่อยๆ ว่า มาตรา 112 เป็นปัญหา เกิดจากการที่ส่งเสียง เราเชื่อมั่นในอำนาจของตนเอง และเราส่งเสียง เราเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเอง แล้วก็บอกเรื่อยๆ ว่า เราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ เราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ว่ามาตรา 112 เป็นปัญหา การจับกุมนักโทษทางการเมืองเป็นปัญหา การดำเนินคดีกับผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพมีปัญหา
ถ้ามองย้อนกลับไป 2475 มายด์คิดว่าสถานการณ์ ณ ตอนนี้ กับ 2475 ค่อนข้างใกล้เคียงกันเลย ในมุมที่ว่าการแย่งชิงขั้วอำนาจและการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมามันชัดเจนในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน หลังจาก 2475 คณะราษฎรพยายามวางรากฐานทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิมีโอกาสและได้ใช้อำนาจนั้นได้จริงๆ แต่มันก็ถูกตัดทอนมาเรื่อยๆ พอมา ณ วันนี้ เรามาพูดกันอีกครั้งหนึ่งว่า เราในฐานะประชาชนจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้มีโอกาสในการเข้าไปบริหารจัดการประเทศ เข้าไปกำหนดว่าประเทศเรา หลังจากนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร เกิดการย้ำเตือนกันว่า แท้จริงเรามีสิทธิตั้งแต่วันแรกหลังจาก 24 มิถุนายน 2475 เรามีสิทธิตั้งแต่วันนั้น แต่เหมือนเราถูกทำให้ลืมอะไรไปสักอย่างต่างหาก และ ณ วันนี้เราตื่นตัวแล้ว เราจำได้แล้วว่าเราคือใคร บทบาทขอเราคือใครในประเทศนี้ บทบาทของเรากับนักการเมืองควรเป็นอย่างไร บทบาทของเรากับกองทัพควรเป็นอย่างไร เรารู้และเข้าใจว่าทุกองค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับเงินภาษีจากประชาชน ประชาชนอย่างพวกเรามีสิทธิและมีอำนาจมากพอในการวิพากษ์พวกเขา ถ้าหากพวกเขาทำไม่ถูกต้อง หรือทำให้สิ้นเปลืองภาษีที่เราจ่ายไป
มายด์คิดว่า ถ้าหากเราฝันถึงสังคมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ประชาชนมีอำนาจได้จริงๆ ณ วันนี้ อาจจะเป็นอีกลูปหนึ่งก็ได้ที่จะวนย้อนกลับมาคล้ายๆ กับตอน 2475 แต่เราได้รับบทเรียนตลอด 80 - 90 ปี ที่ผ่านมา ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราจะทำทุกวิถีทางในการอุดรอยรั่วไม่ให้ใครมาช่วงชิงแย่งชิงอำนาจของประชาชนกลับไปอีก เราจะพยายามนำเสนอทุกอย่างที่เป็นทางกฎหมาย แล้วจะพยายามทำงานทางความคิดเพื่อให้ทุกคนมั่นใจในอำนาจของตัวเองกันอยู่เสมอ และทักท้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อให้การจัดสรรอำนาจ การแย่งชิงอำนาจ การทวงคืนอำนาจในครั้งนี้ เราจะได้อำนาจกลับคืนมาเป็นของประชาชนจริงๆ
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ผมคิดว่าคำว่าดุลยภาพแห่งอำนาจอาจจะไม่ใช่ 2 ขั้ว ฟังอาจารย์ไชยันต์ เริ่มต้นจาก Military สมยอมอำนาจไปร่วมกับ Monarchy แสดงว่าตอนนี้มี 3 ขา เราไม่ได้คิดว่ามีแค่ฝั่งซ้าย กับฝั่งขวา ตอนนี้เป็น 3 ก้อนแล้ว เพราะฟังจากอาจารย์พวงทอง ผมคิดว่าตัวแปรที่สำคัญที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น คือการปฏิรูปกองทัพ กองทัพอาจจะเป็นซ้ายก็ได้ กองทัพอาจจะเป็นขวาก็ได้ เพราะตัวแปรที่สำคัญที่จะเข้าไปทำให้อำนาจเกิด Balance อาจต้องมุ่งไป น้องมายด์บอกว่า เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้าง Monarchy ไม่มีทางเป็น Liberal แน่ๆ ต้องเป็น Traditional แน่ๆ Mass ที่เป็นประชาชนที่เป็น liberal แต่ก็อาจจะมีประชาชนหลายฝ่าย
รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง
ที่มา : ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล. การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์