ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“เล่นการเมือง” : ว่าด้วยการเมืองในสนามการเมือง

16
มิถุนายน
2566

Focus

  • คำว่า “เล่นการเมือง” ในสังคมไทย ถูกมองในแง่ลบ ไม่ว่าจะแสดงออกโดยบุคคลประเภทใด ไม่เว้นนักหนังสือพิมพ์ ก็มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นนักการเมืองและเป็นพวก ‘เล่นการเมือง’ ที่สื่อถึงความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง และทำให้มีผลต่อความเฉยเมยและไม่ขวนขวายของประชาชนที่จะศึกษาเรื่องการเมือง ผิดกับในประเทศประชาธิปไตยที่นักเขียนและบัณฑิตไม่มีปัญหาในการแสดงออกในเรื่องการเมือง
  • การให้การศึกษาแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่ในประเทศประชาธิปไตยได้มีการให้การศึกษาแก่ประชาชนด้านการเมือง ตั้งแต่เด็กในโรงเรียนมัธยม และในมหาวิทยาลัย รวมถึงสหบาล (สหภาพแรงงาน) ในอังกฤษ และออสเตรเลีย นอกจากมีการสอนเรื่องการเมืองแก่ประชาชนแล้ว คนงานก็ยังมีโอกาสเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ลัทธิเศรษฐกิจ เหตุการณ์ต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี
  • การศึกษาเรื่องการเมืองควรให้ความสำคัญกับหลักการและอุดมทัศน์ อันเป็นจุดของการรวมพรรค แต่ในประเทศไทย เรามักเน้นที่บุคคล อันเป็นจุดของการรวมพวก สิ่งนี้เป็นจุดอันตราย และเป็นจุดอ่อนแอที่สุดของวงการเมืองไทย หากไม่ถูกลบให้หายไป ประเทศไทยไม่มีวันจะเป็นประชาธิปไตยได้ และเสถียรภาพทางการเมืองก็จักไม่มี

 

ในเมืองไทย คำว่า “เล่นการเมือง” เป็นคำที่ชอบใช้กันอยู่เสมอ และเป็นคำที่ชวนให้เข้าใจผิดในฐานะของบุคคลต่างๆ เช่นว่า เมื่อพลเมืองผู้ใดสนใจในเหตุการณ์บ้านเมือง และอภิปรายปัญหาการบ้านเมือง พลเมืองผู้นั้นก็มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ ‘เล่นการเมือง’ เมื่อนักศึกษาหรือผู้รู้ ตลอดจนนักเขียนอธิบายปัญหาการเมือง, อธิบายวิชาการเมือง ท่านเหล่านั้นก็จะถูกกล่าวถึงว่า เป็นผู้ ‘เล่นการเมือง’ และเมื่อผู้ใดสมัครเป็นผู้แทนราษฎร หรือสมัครเป็นนักการเมือง ผู้นั้นก็ถูกกล่าวถึงว่า ‘เล่นการเมือง’ เหมือนกัน ด้วยเหตุเช่นนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เปรี้ยงปร้างในทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าบุคคลประเภทใด ก็มักจะถูกเข้าใจไปว่าเป็นนักการเมืองและเป็นพวก ‘เล่นการเมือง’ กันไปหมด ความเดือดร้อนวุ่นวายจึงแผ่คลุมไปในบุคคลทุกประเภท ไม่เลือกว่าเป็นนักการเมืองหรือไม่เป็น เพราะเหตุที่ใช้ถ้อยคำพูดกันไป โดยไม่เข้าใจความหมายและไม่จำกัดความหมาย.

ผลที่ประเทศได้รับก็คือ เพื่อที่จะหลีกจากรำคาญหรือจากภัยอันจะถูกหาว่า ‘เล่นการเมือง’ พลเมืองผู้ใฝ่ใจในกิจการบ้านเมือง ก็เลิกใฝ่ใจ นักศึกษา และนักเขียนผู้ประสงค์จะอภิปรายปัญหาการเมืองหรืออธิบายเหตุการณ์เมือง ก็ไม่ปฏิบัติกิจดังว่า เมื่อผลเป็นดังนี้ ประชาราษฎร์จะมีโอกาสได้รับการฝึกฝนในทางการปกครองอย่างไร และประเทศจะปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร.

หลายปีมาแล้ว มีเหตุการณ์ร้าวฉานทางการเมือง นักหนังสือพิมพ์บางคนได้พลอยรับเคราะห์ ถูกนำตัวไปสอบสวน และถูกจับเข้าไปนอนตารางอยู่หลายวัน นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งได้มาเล่าให้ฟังว่า นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้โอวาทแก่เขาว่า เมื่อรักจะทำหนังสือพิมพ์ก็ควรที่จะตั้งหน้าทำหนังสือพิมพ์ไปถ่ายเดียว เหตุไฉนมาริเล่นการเมืองให้เปลืองตัว ได้ลำบากโดยใช่เหตุ นักหนังสือพิมพ์ผู้นั้น ไม่สู้จะเข้าใจโอวาทของท่านนายตำรวจผู้นั้นนัก จึงถามว่า ที่ว่าให้ตั้งหน้าตั้งตาทำหนังสือพิมพ์ไปถ่ายเดียว และมิให้มาริเล่นการเมืองนั้นคืออย่างไร. ท่านนายตำรวจใหญ่ผู้นั้นให้อรรถาธิบายว่า เมื่อจะทำหนังสือพิมพ์ก็ควรจะลงแต่เรื่องจีน ทำความบันเทิงให้แก่ผู้อ่าน และจะแถมข่าวจำพวกตีหัวหมาปาหัวเจ๊กบ้างก็พอแล้ว การออกความเห็นเกี่ยวข้องกับเรื่องการบ้านเมืองนั้น เป็นสิ่งไม่บังควรกระทำ เพราะเป็นการแสดงว่านำตัวเข้าไปยุ่มย่ามกับการเมืองซึ่งไม่ใช่กิจของหนังสือพิมพ์. ทัศนะเช่นนี้ ซึ่งปรากฏออกมาจากวงการของฝ่ายปกครองเมื่อหลายปีแล้ว แสดงให้เห็นว่าได้ตีความเข้าใจผิดกันมาอย่างไรในความหมายของคำว่าเล่นการเมือง.

ในต่างประเทศ พวกนักเขียนและบัณฑิต ได้แสดงความคิดเห็นและชี้แจงเหตุการณ์เมืองอยู่เป็นนิจ โดยไม่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ ‘เล่นการเมือง’ หรือเป็นนักการเมืองเลย. ขณะเขียนบทความเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีหนังสือพิมพ์รายวันแมนเชสเตอกาเดียนอยู่ใกล้มือ ได้ลองพลิกดู นอกจากประกาศแจ้งความ พบแต่บทความเห็นและรายงานเหตุการณ์เมืองทั้งในและต่างประเทศเต็มไปทั้งฉบับ ถึงแม้เช่นนั้นคณะนักเขียนหรือคณะบรรณาธิการของแมนเชสเตอกาเดียนก็อยู่คนละตำแหน่งแห่งที่กับนักการเมือง หรือการ ‘เล่นการเมือง’ ในต่างประเทศ พลเมืองที่ไปฟังการอภิปรายเรื่องการเมือง หรือเข้าร่วมอภิปรายเรื่องการเมือง ก็ได้รับสรรเสริญว่าเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจการของประเทศ และก็ไม่ได้ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ ‘เล่นการเมือง’ หรือ เป็นนักการเมืองไป ดังที่มักจะเข้าใจกันในประเทศของเรา และเป็นเหตุให้ผู้คนตระหนกตกใจจนไม่อยากแยแสเหลียวแลต่อการบ้านการเมืองของตน ซึ่งเป็นที่น่าสลดใจ.

เราควรทำความเข้าใจกันไว้ว่า ถ้าเราไม่ประสงค์จะเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็เป็นการถูกต้องแล้วที่เราจะปล่อยให้ความเข้าใจผิดและภาวการณ์ต่างๆ เป็นไปดังที่ได้เคยเป็นอยู่, ปล่อยให้ราษฎรเฉยเมยเฉื่อยชา และปล่อยให้ความหวาดหวั่นครอบงำจิตใจของราษฎรจนไม่อยากแยแสต่อเหตุการณ์บ้านเมือง, ไม่ส่งเสริมความขวนขวายของประชาชนในการศึกษา และไม่ส่งเสริมความขวนขวายของนักศึกษาหรือผู้รู้ ในอันจะบรรยายความรู้เรื่องการเมือง, ปล่อยให้ราษฎรคิดเรื่องการเมืองโดยอาศัยความรู้สึกและอารมณ์ มิใช่โดยหลักความรู้และเหตุผล.

แต่ว่า ในประเทศประชาธิปไตย ข้อปฏิบัติต่างๆ แตกต่างและอยู่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา. เบื้องต้น เด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมจะได้รับการสั่งสอนในวิชาความรู้ตามที่ราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงจะพึงรู้ เหตุว่าเมื่อออกจากโรงเรียน บรรลุวัยที่จะใช้สิทธิออกเสียงของตน ก็จะได้ใช้สิทธินั้นโดยมีหลักความรู้พอสมควร. ถ้าราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงไม่มีความรู้ในกิจการเมืองเสียเลยแล้ว การออกเสียงของเขาก็จะหนีลักษณะบ้าๆ บอๆ ไปไม่ได้ และราษฎรที่ขาดความรู้เช่นนั้น ก็จะมีสภาพไม่ต่างไปกว่าฝูงแกะ เหมาะที่นักการเมืองจะต้มยำนำไปทางไหนตามชอบใจ. เมื่อนักเรียนได้รับการศึกษาสูงถึงขั้นมหาวิทยาลัยก็จะได้รับโอกาสศึกษาในเรื่องกิจการเมืองกว้างขวางออกไป เช่นได้รับโอกาสฟังกถาในเรื่องการเมือง อภิปรายและโต้วาทีในปัญหาการเมืองอยู่เนืองๆ.

สำหรับราษฎรที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างจุใจในโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย ก็มีโอกาสจะได้รับการศึกษาต่อไป โดยทางองค์การต่างๆ เช่นว่าราษฎรที่เป็นพวกคนงาน ก็มีโอกาสจะได้รับการศึกษาทางการเมืองและวิชาการอื่นๆ ที่จัดโดยสหบาลคนงาน. วิชานี้สำนักศึกษาของสหบาลที่อังกฤษและออสเตรเลียจัดสอนแก่พวกคนงาน มีอาทิ วิชาเศรษฐศาสตร์, สังคมวิทยา, ลัทธิเศรษฐกิจ, เหตุการณ์ต่างประเทศ, ประวัติศาสตร์และวรรณคดี. ดังนั้น ก็จะไม่เป็นการประหลาดใจเลยในเมื่อเราได้ฟังกถาของพวกคนงาน ในที่ประชุมสาธารณะ ซึ่งผู้พูดแสดงหลักฐานความรู้อย่างน่าทึ่ง และแสดงข้ออภิปรายประกอบด้วยเหตุผลน่าฟัง และผู้พูดคนนั้นก็เป็นแค่คนงานจากเหมืองแร่ หรือจากทะเลเท่านั้น.

นอกจากสหบาลคนงานที่ให้การศึกษาก้าวหน้าแก่พวกคนงานแล้ว ประชาชนยังมีโอกาสได้รับการศึกษาจากการฟังบรรยายความรู้ต่างๆ ขององค์การศาสนา และนานาสมาคม ซึ่งมีอยู่เป็นนิจ... วิทยุกระจายเสียงก็รายงานข่าวการเมืองทั่วโลก และมีผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์เหตุการณ์เมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศประจำวัน. ในวันอาทิตย์ซึ่งพวกพระมาเทศน์ทางวิทยุแทบตลอดวันนั้น นอกจากผู้ฟังจะได้รับการอบรมในทางใจแล้ว เทศนาเหล่านั้น มักจะกล่าวความพาดพิงถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันด้วย. อนึ่ง ในประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ยังมีหนังสือพิมพ์ที่รายงานเหตุการณ์เมืองอย่างเที่ยงตรง และหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นโดยไร้ประโยชน์. ข้อวิจารณ์การเมืองของหนังสือพิมพ์ก็แสดงออกโดยยุติธรรมประกอบด้วยหลักฐาน, เหตุผล และวิธีเขียนน่าฟัง และยังมีบทความรู้การเมืองในปัญหาต่างๆ ลงพิมพ์อยู่เนืองนิจ. ราษฎรทั่วไป อ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ และราษฎรที่อ่านหนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพเช่นนั้นด้วยความใส่ใจแล้ว ก็จะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโลกและเข้าใจสถานการณ์ของประเทศและของโลกได้.

การกล่าวถึงการศึกษาของราษฎรในประเทศประชาธิปไตยโดยย่อนี้เป็นการเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยต้องเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาของราษฎรอย่างไร และราษฎรเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์เมืองในประเทศและทั่วโลกอย่างไร. การศึกษาและความเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์เมืองในฐานะของพลเมืองคนหนึ่งนั้น เป็นคนละอย่างต่างไกลกับการ ‘เล่นการเมือง’ หรือเป็นนักการเมือง. การเป็นนักการเมือง ต้องการวิชาและศิลปะพิเศษ และนักการเมืองต้องการศิลปะการเมืองยิ่งกว่าวิชาการเมือง ซึ่งทำให้นักการเมืองมีลักษณะต่างกันไกลกับนักศึกษา หรือนักเขียนเรื่องการเมือง.

แต่ในเมืองไทย เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการเมืองแล้ว ดูผู้คนถูกดึงมาปนเปกันไปหมด และใช้หมายคลุมทั่วไปหมด. ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงขึ้นมาจนถึงผู้เฒ่าก็อาจถูกกล่าวถึงว่าเล่นการเมือง หรือเป็นนักการเมืองได้ทั้งนั้น. ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูแล้วก็พอจะค้นสาเหตุได้ ทั้งนี้เป็นด้วย ชาวเรา ‘เล่นการเมือง’ และคิดเรื่องการเมืองคนละแบบ คนละทัศนะ กับที่เขาเล่นและคิดกันในประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ในต่างประเทศ เขาตั้งหลักการและอุดมทัศน์ไว้เป็นจุดของการรวมพรรค แต่ในประเทศไทย เราใช้บุคคลเป็นจุดของการรวมพวก เวลาเราวิพากษ์เรื่องการเมือง เราก็วิพากษ์บุคคล เราไม่วิพากษ์หลักการและอุดมทัศน์ เพราะความจริงก็ไม่ใคร่จะมีหลักการและอุดมทัศน์ที่จะให้วิพากษ์กันได้. เวลาเราสรรเสริญ เราก็ไม่สรรเสริญหลักการอุดมทัศน์หรือนโยบายของฝ่ายใด แต่เราสรรเสริญบุคคล เวลาติเตียน เราก็ติเตียนบุคคลอีกน่ะแหละ. ในวงการเมืองไทยเราพูดกันแต่เรื่องบุคคล เราเกาะเกี่ยวกันในทางการเมืองโดยถือสัมพันธ์ส่วนตัวแต่ข้อเดียว เหตุฉะนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องการเมือง เราจึงถูกเข้าใจกันว่าเป็นนักการเมืองกันไปหมด ตั้งแต่เด็กอ่อนนอนเบาะ และตั้งแต่แม่ครัวขึ้นไปจนถึงพ่อตาแม่ยาย.

นี้เป็นจุดอันตราย และจุดอ่อนแอที่สุดของวงการเมืองไทย ซึ่งผู้เขียนจะได้อภิปรายต่อไป. ถ้าจุดบัดซบจุดนี้ไม่ถูกลบให้หายไป ประเทศไทยไม่มีวันจะเป็นประชาธิปไตยได้ และเสถียรภาพทางการเมืองก็มีไม่ได้

หมายเหตุ : 

  • อักขรวิธีสะกดปัจจุบัน
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์. “เล่นการเมือง,” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์. ม.ป.ท.: คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”, 2548. หน้า 207 - 212.