ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงมูลเหตุ จุดเริ่มต้นของการอภิวัฒน์ 2475

24
มิถุนายน
2566
 

 

Focus

  • ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ผู้คนต้องการหลุดพ้นจากการกดขี่เบียดเบียน ดังที่เกิดขึ้นในอังกฤษและฝรั่งเศสที่เจ้าศักดินา เช่น Baron ที่มีที่ดินเล็กๆ ก็พยายามจำกัดอำนาจของกษัตริย์ และแนวทางเช่นนี้ก็ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ส่วนในสยามเองนั้น ราษฎรก็ต่อสู้กับ (การเบียดเบียน) ด้วยวิธีดื้อแพ่ง เช่น ไม่ทำอะไร ส่งสวยไม่เต็ม ถูกเกณฑ์ไปทำงานก็ไปบ้างไม่ไปบ้าง แต่ก็ยังไม่มีความคิดจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินดังที่ฝรั่งกระทำ
  • ในสมัยรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 7 ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ ในค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428 ตรงกับ ร.ศ. 103) พระบรมวงศ์สี่องค์ ร่วมกับข้าราชการสถานทูตสยามชุดแรกที่ประจำกรุงลอนดอนและชุดแรกที่ประจำกรุงปารีส ได้ร่วมกันกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ท่านทรงสถาปนาระบบที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ (constitutional monarchy/ limited monarchy) แต่ทรงให้ทำปฏิรูประบบราชการก่อน สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งกันขึ้นภายในพระราชวงศ์ และเกิดขบวนการ ร.ศ. 130 เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย โดยสมัยนั้นก็มีปัญหาข้าวยากหมากแพงราษฎรเดือดร้อนกันมาก กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ก์ประสงค์จะให้มีการปกครองให้มีระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย แต่ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ นายสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) รวมถึงท่าน (พระยา) ศรีวิสารวาจาก็พลอยไปเห็นด้วยกับสตีเวนส์ว่ายังไม่ถึงเวลา และสยามขณะนั้น ก็ยังประสบปัญหาความอัตคัดฝืดเคือง ตามที่รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้รับทราบทั่วกัน
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในพ.ศ. 2475 แล้ว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้ทรงโกรธเคืองคณะราษฎร (ด้วยทรงคิดจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว) และคณะราษฎรก็ได้ออกกฎหมายบางเรื่องให้พระองค์ แต่บางอย่างหลักการก็เป็นไปไม่ได้ ท่านอวยพรให้รัฐบาลมีความสำเร็จในการงาน และโดยส่วนตัวของนายปรีดี พนมยงค์ และภรรยา ก็ถวายพระพรพระปกเกล้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่การเล่นงานคณะราษฎรในภายหลัง ก็เกิดขึ้นว่าพระปกเกล้าต้องสละราชสมบัติเป็นเพราะคณะราษฎรซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามความจริง

 

คือเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเป็นพวกผมคือคณะราษฎรเป็นบุคคลแรกที่คิดที่จะเปลี่ยนการปกครอง ผมขอสรุปว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นมีอยู่ ขอให้คิดเถอะครับว่ามนุษย์หรือว่าคนเราถ้าถูกกดขี่เบียดเบียน ก็ต้องการที่จะหลุดพ้นใช่หรือไม่ นอกจากว่าไม่รู้สึกตัวหรือว่าถ้าเคยชิน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องการที่จะหลุดพ้น อย่างเช่นว่าควายหรือวัวที่จับมาเลี้ยง ตอนจับมาใหม่ๆ มันก็ต้องการหลุดพ้น แต่ทีนี้พออยู่จนเชื่องไปๆ ก็ไม่ต้องต้อนเข้าคอกเอง เปิดคอกไว้มันก็เข้ามาเอง นี่ก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมนุษย์ถ้าหากว่าถูกกดขี่เบียดเบียนและรู้สึกว่าถูกกดขี่เบียดเบียน ก็ต้องต่อสู้ นี่เป็นกฎตั้งแต่ครั้งอยู่ระบบทาสถูกนายทาสกดขี่ หรือว่าระบบศักดินา หรือว่าถ้าคนศักดินาถูกกดขี่ก็อยากที่จะได้เสรีภาพเป็นธรรมดา นี่คนเป็นเช่นนี้ 

ทีนี้จะทำอย่างไรสำหรับมนุษย์เราก็ยังไม่มีใครค้นพบว่าจะทำอย่างไรดี ก็เผอิญว่าอังกฤษ ก็ไม่ใช่คนอื่นที่ค้นพบก็เป็นเจ้าศักดินาเหมือนกันชั้น baron 

baron นี้เป็นเจ้าที่เล็กๆ ตำบลเล็กๆ เยอะแยะคือระบบ baron ในประเทศประเทศหนึ่งหรืออย่างอังกฤษก็ตั้งหลายร้อยคน ฝรั่งเศสก็หลายร้อยคน พวกนั้นก็รวมกันเริ่มต้นใช้วิธีที่ขอให้พระเจ้าจอห์น แต่ว่าที่อังกฤษเขาเรียกว่า lackland แปลว่าไร้แผ่นดินก็ต้องยอมเพราะว่าจำกัดอำนาจพระองค์เอง และทีนี้ก็เป็นมาเช่นนี้ข่าวนี้ก็แพร่ไปในยุโรป พวกที่ถูกกดขี่ก็เห็นดีด้วยและประเทศของตนก็ต้องเอาบ้าง เรื่องมันก็แพร่มาอย่างนั้น

ทีนี้โดยเฉพาะของสยามเรานั้น ราษฎรก็ต่อสู้ต่อสู้ด้วยวิธีดื้อแพ่ง ไม่ทำอะไร เขาจะเรียกให้ส่งส่วยอย่างนั้นอย่างนี้ก็บิดพลิ้วบ้างอะไรบ้าง ส่งสวยส่งไม่เต็มบ้าง เป็นการแสดงอาการต่อสู้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ดื้อแพ่ง หรือเขาเกณฑ์ไปทำงานก็ไปบ้างไม่ไปบ้างอะไรอย่างนี้ แต่ที่ว่าจะคิดว่าจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินก็ยังคิดไปไม่ถึงก็อย่างเหมือนฝรั่งนี้ถ้าหากว่าพวก baron ของอังกฤษไม่ได้มาคิดยังคิดค้นกันอีกนานว่าจะทำอย่างไรดี

ที่นี้ก็มาส่วนของไทยเราเมื่อ ค.ศ. 1885 คือตรงกับ พ.ศ. 2428 ตรงกับ ร.ศ. 103 ได้มีพระบรมวงศ์สี่องค์ สายเลือดพระบรมวงศ์คุณรู้ไหมว่ามีกี่องค์ มีหลายร้อยองค์แต่มีอยู่สี่องค์ที่ท่านก้าวหน้า เราก็ต้องยอมให้ท่านเหมือนกัน และท่านได้ร่วมกับใคร ไม่ใช่ร่วมกับข้าราชการทั่วไป คือร่วมกับข้าราชการสถานทูตสยามชุดแรกที่ประจำกรุงลอนดอนและชุดแรกที่ประจำกรุงปารีส นี่เขาก็ร่วมกันทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ท่านทรงสถาปนาระบบที่ท่านเรียกทับศัพท์อังกฤษ constitutional monarchy หรือบางตอนท่านก็เรียกว่า limited monarchy ก็นับว่าก้าวหน้า ทางราชการได้ปิดไม่เปิดเผยเลย แต่ว่าท่านเหล่านั้นเมื่อกลับมาแล้วก็ได้เล่าให้ลูกหลานฟังบ้าง ถึงความดำริที่ได้คิดนั้น 

ทีนี้ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2470 เวลานั้นผมก็กลับจากฝรั่งเศสแล้ว เป็นผู้สอนอยู่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม พระปกเกล้าท่านได้พูดเปิดขึ้นก่อน แต่ไม่ใช่เปิดหนังสือกราบบังคมทูล ท่านเปิดเรื่องที่รัชกาลที่ 5 ทรงดำริคิดที่จะปรับปรุงราชการแผ่นดิน อันนี้มีข้อความมากอยู่ ก็รวมความว่าเมื่อฟังดูให้ดีแล้ว ท่านบอกว่าให้ทำ government reform ก่อน ท่านว่าอย่างนั้น ปรับปรุงรัฐบาลนี่สำคัญ ถ้าไม่ government reform แล้ว ทำอะไรไม่ได้ อีกสองปีต่อมาท่าน ... ก็ได้บอกว่าถ้าทำอย่างเมืองนอกนั้น จะหาใครเป็น member of parliament ได้สักคนนั้นก็หายาก ไม่มี เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่าให้พระบรมเดชานุภาพพระเจ้าแผ่นดินเป็นไปอย่างนี้ก่อน

วาระต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2510 นี้เอง ในงานศพของหม่อมสนิทซึ่งเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าเสรฐศิริ ซึ่งเป็นโอรสของ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งท่านเป็นองค์หนึ่งที่ได้เซ็นหนังสือนั้น เขาก็ได้ไปขอกรมศิลปากรให้ช่วยจัดหาหนังสือที่จะพิมพ์แจกในงานศพ กรมศิลปากรก็จึงได้เอาเรื่องที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสถานทูตทั้งสองดังกล่าวมาแล้วนั้น กราบบังคมทูลขอให้รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนการปกครองดังกล่าว ผู้ที่เซ็นชื่อนเรศวรฤทธิ์ ทีหลังท่านก็เป็นกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ท่านเป็นทูตประจำกรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน เวลานั้นควรต้องทราบวอชิงตันยังไม่ได้ตั้งทูตประจำ ปี ค.ศ. 1885 ใช้ทูตที่ลอนดอนนั้นเองเป็นทูตประจำวอชิงตันด้วย นี่ต้องทราบประวัติไว้

โสณบัณฑิตนี่ก็เป็นกรมขุนกรมขุนพิทยลาภ เวลานั้นท่านเป็นที่ปรึกษาสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและวอชิงตัน และสวัสดิโสภณคือกรมพระสวัสดิ์ ท่านเป็นนักเรียนกฎหมาย ท่านเรียนกฎหมายที่อังกฤษ แล้วทีหลังเป็นเสนาบดียุติธรรม เป็นอธิบดีศาลฎีกา และประมุขฝ่ายตุลาการ และก็มีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ท่านเป็นเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ทีหลังท่านละตำแหน่งเอกอัครราชทูตนั้น แล้วท่านไปอุปสมบทที่ลังกาจำพรรษาอยู่หลายพรรษา แล้วท่านลาสิกขาเมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต 1 วัน แล้วท่านก็อุปสมบท เมื่อมีพระยาดำรงราชพลขันธ์ นี่เขาก็สกุลคชเสนี ข้างหลังเป็นพระยาอภัยพิพิธแล้วก็มีหลวงวิเศษสาลี นาค นี่ก็คือปู่ภรรยาผมในเวลานั้นท่าน … อยู่ที่ลอนดอน เมื่อท่านทำหนังสือกราบบังคมทูลแล้ว ท่านก็ได้ส่งหนังสือที่ท่านกราบบังคมทูลไปให้ท่านผู้หนึ่ง ซึ่งเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไวยวรนาถ แต่ภายหลังนี้ท่านก็ได้เป็นจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี คือเวลานั้นท่านผู้นี้ยังมีอำนาจทางทหาร และท่านจมื่นไวยวรนาถก็เห็นด้วยก็เห็นด้วยกับหนังสือกราบบังคมทูลนั้น ก็ส่งทางกรุงเทพนี้

คือเมื่อรัชกาลที่ 5 ท่านยังมิได้พระราชทานระบบรัฐธรรมนูญ ทีนี้เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 6 แล้วก็ได้มีเหตุการณ์สำคัญขึ้นมา 2 ประการ คือประการหนึ่งเหตุการณ์ในทางการเมืองซึ่งก็มีการเกิดขัดแย้งกันขึ้นภายในพระราชวงศ์ของท่านเองบ้าง และอีกการขัดแย้งที่สำคัญ ขัดแย้งกับทางฝ่ายก้าวหน้าที่เห็นว่าสมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย ขบวนการนั้นก็คือเรียกกันว่า ร.ศ. 130 

ร.ศ. 130 นี้ ก็ประกอบด้วยทั้งทางพวกทหารส่วนหนึ่ง และมีพลเรือนส่วนหนึ่ง พลเรือนนั้นก็เป็นส่วนน้อยแต่โดยมากก็เป็นพวกนักเรียนกฎหมาย ผลสุดท้ายการกระทำนั้นไม่สำเร็จ เพราะว่าบุคคลหนึ่งในคณะได้นำความไปขาย คือไปรายงานทูลกระหม่อมจักรพงษ์ กรมหลวงพิษณุโลก ซึ่งทีแรกพระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าแพทย์ประจำพระองค์ท่านคือขุนโยธี (เหล็ง ศรีจันทร์) ก็เอากับเขาด้วย ขุนทวยหาญ 

ท่านตะลึงหมดคาดคิดไปไม่ถึง และนอกจากนี้ยังมีนายทหารมหาดเล็กก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน ทีนี้ทางการก็เมื่อได้เรื่องราวแล้วก็รีบทำการจับกุม สาวไปก็จับคนได้มากมาย แล้วตั้งศาลพิเศษชำระ ทางศาลพิเศษนี้ก็บางคนก็รับสารภาพ บางคนก็ไม่ได้รับสารภาพ แต่ว่าการพิจารณานั้นก็มีจำนวนหนึ่งโดนลงโทษประหารชีวิต อีกส่วนหนึ่งก็ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ลงโทษจำคุก 20 ปี แต่ว่าเมื่อได้นำความพิพากษากราบบังคมทูล รัชกาลที่ 6 ท่านก็มีพระเมตตาอยู่ ก็แปลว่าผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็ให้ลดลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตให้ลดลงเหลือจำคุก 20 ปี แล้วก็พวกที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีนั้น ท่านให้รอการลงอาญา เพราะฉะนั้นพวกคณะ ร.ศ. 130 นี้ในเวลานั้นมีจำนวนมากอยู่เหมือนกัน แต่มีคนเล็ดลอดไปได้คนหนึ่ง แกชื่อเอก คือว่าคนนี้แกเป็นล่ามสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งทางการไม่ได้เอาโทษอะไร เวลานั้นพวกฝรั่งนี้ก็ยังมีอำนาจอยู่ผู้นั้นก็ได้พ้นไป 

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้มีเหตุการณ์หนึ่งสำคัญ และก็ทางพวกคณะราษฎรเรานี้ก็ได้บทเรียนจาก ร.ศ. 130 คือการที่จะเที่ยวชักชวนคนนำไปเหมือนปลุกระดมมวลชน พูดกันเหมือนอย่างเสรี แล้วเป็นเหตุหนึ่งที่เขาสมมติตัวเองว่าก้าวหน้าก็ด่าคณะราษฎรว่าไม่ไปปลุกระดมมวลชน มาแอบทำรัฐประหารนี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาเรียกว่าปฏิวัติ เขาเอาศัพท์อะไรแปลกๆ ไม่รู้ทฤษฎีไหน เล่มไหน ก็ลองดูสิไปปลุกระดมมวลชน เรื่องมันแตก สู้ไม่ได้ นี่คือ 2430 ก็โดนขับไล่ไปอย่างมิตร

ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 6 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำมาก ในรายงานก็ไม่อ่านแล้วเพราะเห็นเวลาจะไม่พอ ในรายงานของธนาคารชาติ และนี่เป็นความจริงเศรษฐกิจตกต่ำแล้วตัวเลขงบประมาณขาดฝืดเคืองมากมายทีเดียว พอมาขึ้นรัชกาลที่ 7 เสวยราชย์ นอกจากที่ท่านไปปรารภ แล้วที่อ่านให้ฟัง แต่ว่าตัวบทจริงให้ไปดูจาก….ข้อความยังมีอีกมากมายที่ว่าท่านคิด พวกคุณได้ศึกษาเกจิอาจารย์บางคนบอกว่ามีรัฐธรรมนูญก่อนปี 2475 อ่านเป็นรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจา ใน … ก็มีสำหรับบางคน

คราวนี้ที่เขาได้มีงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตยกันนี่ เขาว่าจะแสดงนิทรรศการ ผมจึงขอเพราะผมอยากจะดูรัฐธรรมนูญก่อนปี 2475 มันอย่างไร ขอให้เจ้าหน้าที่ตัวสำคัญของเขา รองประธานไปบอกผมขอมาดู ผลสุดท้ายก็ไม่ได้ บอกมีกระดาษแผ่นเดียว อ้าว แล้วกัน แต่ทีแรกบอกว่าจะเอามาแสดง แต่ความจริงเรื่องจะเป็นอย่างไรได้ ถ้าหากว่าเราได้รู้บันทึกลับนั้นแท้จริง ก็เจ้าคุณศรีวิสารวาจาท่านก็ค้านนี่ ท่านก็บอกอย่างนั้นล่ะ ให้ไปพูดกับสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ท่านศรีวิสารวาจาก็พลอยไปเห็นด้วยกับสตีเวนส์ว่ายังไม่ถึงเวลา ท่านยังย้ำตั้ง 2 หน แล้วย้ำต่อหน้า วันนั้นผมก็ไม่รู้ศรีวิสารฯ ไปคัดค้านเอาไว้ เราได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้วก็ฟอร์ม cabinet วันที่ 27 ธรรมนูญชั่วคราว 28 29 นัดประชุมแล้วฟอร์ม cabinet ราวนั้น แล้ว 30 เราก็ไม่รู้ว่าเจ้าคุณศรีวิสารวาจาไปค้านไว้ก่อน ไม่รู้จริงๆ วันนั้นที่พระปกเกล้าท่านรับทราบความจริงท่าน … อย่างสุภาพ เจ้าคุณมหิธร ยังจำได้เราตกตะลึงท่านก็บอกว่า “แกอย่างไร ศรีวิสาร ฉันให้แกไปพูดกับสตีเวนส์ว่าฉันเห็นสมควรที่จะมี constitution แล้วแกก็บอก ยังไม่ถึงเวลาๆ” ท่านใช้ 2 หน นี่เป็นความจริงที่ท่านพูดย้ำ 2 หน ผมก็ว่าอย่างนี้กันหรอกหรือ

ทีนี้ขอว่าไหนที่คนเขาบอกว่ามีรัฐธรรมนูญศรีวิสารฯ ไม่มี ไปถามเขาบอกว่ามีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนั้นก็แสดงที่จุฬาลงกรณ์ก็ทำไมไม่เอามาแสดงว่าศรีวิสารฯ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผมบอกว่าเป็นไปไม่ได้ว่าเจ้าคุณศรีวิสารฯ แกไม่ทำขึ้นเองหรอกรัฐธรรมนูญอันนั้น ใครจะทำขึ้นผมเองก็ไม่ทราบ แต่เขามี นี่ก็อีกอันหนึ่ง

มาถึงรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจก็ตกต่ำอีก ก็อยากให้รีบถ้านั้นต้องขอเวลา อันนี้ต้องเอาหลักฐานแท้จริงกันแล้ว ผมจะเอาหลักฐานซึ่งไม่ใช้เวลาอะไรมากนักหรอก ก็ควรที่จะรู้ ถ้าเราไม่รู้อันนี้แล้วเราจะไปอย่างอื่น ไปคิดอย่างอื่นก็ไม่ได้ คือในรัชกาลที่ 7 นั้น ความอัตคัดฝืดเคืองได้เกิดขึ้น แล้วก็ต้องชมเชยว่าราษฎรไทยไม่ใช่เป็นคนโง่ ในประกาศเรื่องความอัตคัดฝืดเคืองนี้เป็นประกาศที่โรงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 19 วันที่ 5 มิถุนายน ก่อนเปลี่ยนการปกครอง 19 วัน แต่ว่า ได้กล่าวถอยหลังโดยมากไม่รู้กันใช่ไหมล่ะ เพราะเหตุว่าพวกที่เขาเป็นปรปักษ์บอกว่า แหม ไม่ไหวคณะราษฎรเนี่ย ราษฎรยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ บ้าง อะไรบ้าง ดูเสียหน่อยวันนี้ราษฎรไทยหาใช่โง่เง่ามาก เมื่ออัตคัดฝืดเคืองนั้นเขาใช้วิธีทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาหลายฉบับ สะสมมา ในปีหลังๆ มาจนถึงบัดนี้เขาถวายฎีกาเอาไว้จะมาอ่านก็ได้ อ่านเร็วๆ ก่อน จะได้รู้ว่าเขาสู้อย่างไร แล้วเหตุการณ์เป็นอย่างไรก่อนเปลี่ยนการปกครอง ไม่ใช่อยู่ราบรื่นแล้วราษฎรไม่มีความรู้สึกพูดเหลวไหล นี่ประกาศในหลวงรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนการปกครอง

 

“ประกาศเนื่องจากความอัตคัดฝืดเคือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้รับทราบทั่วกัน ด้วยทรงรับฎีการาษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาจากที่ต่างๆ หลายฉบับ กราบบังคมทูลร้องทุกข์ถึงความอัตคัดฝืดเคือง ซึ่งเกิดปี … ในปีนี้ เป็นเหตุให้ขัดสนจนทรัพย์ทำงานหาได้ไม่พอไปเลี้ยงชีพ และเสียภาษีอากรได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน หากแต่ทรงขอให้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่น ขอให้งดเก็บภาษีอากรเป็นต้น กล่าวตามความคิดเห็นของเหล่าผู้ถวายฎีกาเป็นเอกนัย ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามฎีกาเพราะสงสาร ด้วยทรงทราบตระหนักอยู่แล้วว่าความยากลำบากของประชาชนมีอยู่แพร่หลายจึงมีพระราชประสงค์ใครจะทราบตามความจริงทั่วกันว่า บุคคลที่ได้รับความลำบากในเวลานี้ไม่เฉพาะแต่ราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคหบดีและพ่อค้า ตลอดจนข้าราชการและเจ้านายก็ได้รับความลำบากด้วยกันทั้งนั้น เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัดฝืดเคืองครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตอันจะพึงป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ…”

 

นี่เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ใช่ว่าคณะราษฎรมาพูดเอาเอง มีหลายเหตุด้วยกันเท่าที่กล่าวมาแล้วเราถึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน แล้วนี่จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมก็ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ เป็นมากันอย่างนี้ก็ขอให้รับทราบไว้เมื่อพูดถึงมูลเหตุที่แล้วๆ มา

พระปกเกล้าท่านได้เคยรับสั่งให้อภัยแก่คณะราษฎรหลายครั้งหลายหนแล้ว ในคราวที่ท่านสละราชสมบัตินี้ ในหลวงเองท่านหาได้โกรธเคืองคณะราษฎรไม่ แต่พวกที่อ้างคำว่ารักพระปกเกล้ายิ่งกว่าพระองค์ก็ทำการสร้างเรื่องใส่ความคณะราษฎรตลอดมา นี่ผมขอความเป็นธรรม นี่จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านได้โทรเลขสละราชสมบัติแล้ว เรื่องสละราชสมบัตินั้นมีการพูดถึงกันยืดยาว เมื่อท่านได้สละแล้วก็มีโทรเลขของเจ้าคุณพระพหลฯ กราบทูลฯ

 

“สำเนาโทรเลขของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีส่งจากกรุงเทพฯ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 อัครราชทูตสยาม ลอนดอน โปรดนำข้อความต่อไปนี้กราบบังคมทูลฯ สมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก รัฐบาลได้รับพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มีนาคม แล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบด้วยความโทมนัส สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่ สภาผู้แทนราษฎรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช รัฐบาลขอถวายพระพรแก่สมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก และสมเด็จพระนางรำไพพรรณี ขอท่านทรงสำราญอยู่ต่อไป ลงนามนายพันเอก พระยาพระหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี”

 

ทีนี้ท่านก็โทรเลขตอบผ่านสถานทูต

 

“สำหรับโทรเลขของอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน ส่งจากลอนดอนวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2477 กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขลงวันที่ 7 เดือนนี้ ข้าพเจ้าได้นำความกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว มีรับสั่งให้ข้าพเจ้าแจ้งข้อความดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้าและพระชายาขอบใจรัฐบาลที่ได้แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่าง ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่าข้าพเจ้ามิได้มีความรู้สึกโกรธและเคืองแค้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ ประชาธิปก ลงนามพระยาสุพรรณสมบัติ”

 

… ท่านก็ไม่ได้โกรธเคือง ก็ถูกแล้วล่ะเวลานั้นภายหลังกรณีกบฏท่านก็ได้พูดหลายอย่าง เราก็ได้กราบทูลฯ ไป สิ่งที่จะทำให้ท่านได้ก็ได้ทำ ออกกฎหมายอะไรให้ แต่บางอย่างหลักการก็เป็นไปไม่ได้ แล้วท่านก็ได้ตอบมา แล้วท่านอวยพรให้รัฐบาลได้มีความสำเร็จในการงาน success เป็นภาษาอังกฤษ นี่ก็ขอให้รับทราบว่าพระองค์เองไม่ได้มีโกรธเคืองอะไร

พิสูจน์ว่าระหว่างสงครามท่านก็ได้มีจดหมายถึงรัฐมนตรีเวลานั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจะขอกลับมา ก็ยังไม่ทันที่จะได้ตอบกลับไป ท่านจะมาอยู่ที่เมืองตรัง ท่านก็สวรรคตเสีย เป็นเช่นนี้ แต่พวกนอก … หรือพวกที่ใกล้ชิด นี่ปั้นเรื่องเสกสรรสนุกไป ก็ขอให้ความเป็นธรรมแก่คณะราษฎรด้วย เพราะว่าเป็นอย่างนี้ท่านก็จบ game ด้วยดีอย่าง sporting spirit แล้วพอเข้ามาท่านก็ได้ชมเชยมีอยู่นิจตลอดไปเลย แล้วเราก็ไม่มีอะไร ถึงสำหรับผมนี่ ทั้งปีใหม่ และเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็ตั้งสมุดเซ็นชื่อไว้ที่วังสุโขทัย เพราะว่าท่านก็เคยรู้จักเป็นส่วนพระองค์นั้นตั้งแต่ครั้งท่านเป็นนักเรียนอยู่ที่นี่ ภรรยาไปเซ็นชื่อถวายพระพรอยู่เสมอ แล้วทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ผมไปอังกฤษ ไป … ไปเฝ้าท่าน เป็นเช่นนี้ แต่พวกที่อยู่ห่างไกลไป เอาเรื่องนี้เข้ามาเมื่อไม่นานก่อนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ก็เล่นงานคณะราษฎรเข้าเต็มเปา นั่นเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักเรียนเตรียมฯ ด้วย บอกว่าที่พระปกเกล้าต้องสละราชสมบัติเป็นเพราะคณะราษฎร อย่างนั้นอย่างนี้เล่นป่นปี้ไปหมด แต่ว่าพวกนั้น … ไม่ใช่พวกธรรมศาสตร์ ถ้าลูกธรรมศาสตร์แท้แล้วไม่ทำอย่างนี้ที่จะต้องพูดไปตามความจริงอย่างที่ผมสอนธรรมศาสตร์ทุกๆ รุ่น

  • รับชมคลิปวิดีโอ ปรีดี พนมยงค์ ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย 24 มิถุนายน 2525 ฉบับเต็ม

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, ใน ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส.

หมายเหตุ :

  • (…) หมายถึง ข้อความที่ไม่สามารถถอดความได้