ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

วันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายใต้ระบอบใหม่

28
มิถุนายน
2566

Focus

  • การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 14.00 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาองคมนตรีในการประชุมเป็นการชั่วคราว
  • ในการประชุมมีการรับทราบถึงรายนามผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร การให้ผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนต่อสภา (กล่าวนำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ที่จะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง อันเกี่ยวข้องกับความเป็นเอกราชของประเทศ ความปลอดภัยในประเทศ ความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ การให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ และการศึกษาแก่ราษฎร
  • สภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น ยังได้รับทราบกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเปิดประชุมที่ทรงให้รักษาอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน และอำนวยพรให้ผู้แทนราษฎรทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของพระองค์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่หัวหน้าคณะราษฎร (พระยาพหลพลพยุหเสนา) มอบงานการปกครองแผ่นดินที่คณะราษฎรได้ยึดไว้ (จากพระมหากษัตริย์) ให้แก่สภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งประธาน (มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) และรองประธานสภา (นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต) และแต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) และการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คือการเลือกประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) และประธานคณะกรรมการราษฎรเลือก/แต่งตั้งกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) จำนวน 14 นาย
  • นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับชั่วคราว ประกอบด้วยกรรมการผู้มีความรู้ความชำนาญ จำนวน 7 คนประกอบด้วย (1) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (2) พระยาเทพวิทุร (3) พระยามานวราชเสวี (4) พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (5) พระยาปรีดานฤเบศร์ (6) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ (7) นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์

 

วันที่ 28 มิถุนายน เวลา 14.00 นาฬิกา สภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มประชุมเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้ห้องโถงชั้นบนเป็นที่ประชุม จัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว

 

ข้อบังคับการประชุมสภาชั่วคราว

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ใช้ข้อบังคับการประชุมของสภาองคมนตรีไปพลางก่อน

ก่อนดำเนินการประชุม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อ่านรายนามผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรเสนอต่อที่ประชุม

 

ตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้แทนราษฎร

พระยาวิชิตชลธี แจ้งว่าป่วย ไม่สามารถรับตำแหน่งได้ จึงมีสมาชิกเสนอให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน บังเอิญพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาด้วย ได้มาในที่ประชุม เพื่อกล่าวมอบงานการปกครองประเทศที่ยึดอำนาจไว้ให้แก่สภา ดังนั้นจึงถือโอกาสชี้แจงว่า ตนเองไม่มีความประสงค์จะรับตำแหน่ง ส่วนที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น แต่สมาชิกในที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ร้องขอให้พระยาพหลพลพยุหเสนารับตำแหน่งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ในที่สุด พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้ยอมรับ[1]

 

ผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนต่อสภา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โดยที่สมาชิกทั้งหลายนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎร ดังนั้นได้ขอให้สมาชิกในที่ประชุมทุกคนยืนขึ้นกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม

คำปฏิญาณซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กล่าวนำนั้น มีความว่า

“ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) ขอให้คำปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของราษฎรไว้ให้มั่นคง

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องธำรงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนั้นไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

กระแสรับสั่งให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้เชิญกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุม มีความว่า

 

“วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”

 

หัวหน้าคณะราษฎรมอบงานการปกครอง ให้แก่สภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 28 มิถุนายน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้กล่าวมอบงานการปกครองแผ่นดินที่คณะราษฎรได้ยึดไว้ให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร[2]

 

ตั้งประธานและรองประธานสภา

ในวันประชุมสภาที่ 28 มิถุนายน ที่ประชุมได้เลือก มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

 

ตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อที่ประชุมอนุมัติแล้ว หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนแรกตั้งแต่บัดนั้น จึงถือว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ด้วย

 

เลือกตั้งคณะรัฐมนตรี

เมื่อที่ประชุมได้เลือกประธาน รองประธาน และเลขาธิการแล้ว ก็ได้เลือกประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) และกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) ต่อไป

โดยที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน มาตรา 33 บัญญัติว่า “ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่งขึ้นเป็นประธานกรรมการและให้ผู้เป็นประธานนั้น เลือกสมาชิกในสภาอีก 14 นาย เพื่อเป็นกรรมการการเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสภา”

ในการนี้ ได้มีสมาชิกเสนอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร แต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าจะต้องขอปรึกษากับพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสียก่อนสักครู่ เมื่อได้ปรึกษาหารือกันแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงยอมรับเป็นประธานกรรมการราษฎร และได้เสนอรายชื่อกรรมการราษฎรอีก 14 นาย ต่อที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติตามเสนอ[3]

รายชื่อคณะกรรมการราษฎร มีดังนี้

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 1

(28 มิถุนายน 2475 - 10 ธันวาคม 2475)

มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก เมื่อ 28 มิถุนายน 2475 ประธานคณะกรรมการราษฎรได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรต่อสภา และสภาได้อนุมัติ เมื่อ 28 มิถุนายน 2475 มีรายชื่อดังนี้

รายชื่อคณะกรรมการราษฎร

  1. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
  2. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา
  3. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
  4. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
  5. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์
  6. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล
  7. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ
  8. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
  9. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
  10. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
  11. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์
  12. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
  13. นายร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี
  14. นายแนบ พหลโยธิน

เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้เปลี่ยนคำว่า
       คณะกรรมการราษฎร      เป็นคณะรัฐมนตรี
       ประธานคณะกรรมการราษฎร       เป็นนายกรัฐมนตรี
       กรรมการราษฎร             เป็นรัฐมนตรี

(คณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา โดยถือว่าหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ได้ให้สมาชิกสภาปฏิญาณตนต่อสภาก่อนเข้ารับหน้าที่นั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลคณะนี้)

 

ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 28 มิถุนายนนั้นเอง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้เสนอต่อที่ประชุมว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะได้สร้างขึ้นด้วยเวลากะทันหันอาจมีข้อบกพร่องได้ จึงควรจะได้ตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

ที่ประชุมเห็นชอบด้วย และได้ตกลงตั้งผู้มีนามต่อไปนี้เป็นกรรมการ มีจำนวน 7 คนประกอบด้วย[4]

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  2. พระยาเทพวิทุร
  3. พระยามานวราชเสวี
  4. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
  5. พระยาปรีดานฤเบศร์
  6. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
  7. นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์

 

หมายเหตุ :

  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ

 

ที่มา : ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๑๕๑๗) พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: กลุ่ม “รัฐกิจเสรี”, 2517), น. 20-24.

 

[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2475 ครั้งที่ 1, หน้า 5.

[2] เพิ่งอ้าง, น.7

[3] เพิ่งอ้าง, น.11

[4] เพิ่งอ้าง, น.13