ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : จุดหักเห (ตอนที่ 4)

8
กรกฎาคม
2566
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

หลังสงคราม บ้านเมืองรอการบูรณะทุกๆ ด้าน ภาระหน้าที่ของพ่อปลายมีมากขึ้น ระบอบประชาธิปไตยเหมือนทารกน้อยกำลังตั้งไข่ ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

 

 

“ปังๆๆๆๆ” เสียงปืนกลรัวกระทบผนังตึกบ้านท่าช้าง ห้องพระถูกกระสุนยิงเป็นรู ขนาดนกกระจอกทำรังได้พอดี แสงไฟจากรถถังสาดส่องมายังห้องนอน ปลายผวาตื่นด้วยความตกใจ พลันนึกว่าฟ้าสางแล้ว

“ที่นี่มีแต่เด็กกับผู้หญิง” แม่ปลายตะโกนสวนกระสุนปืนที่ยิงมาจากรถถัง พลางหันมาบอกให้ปลายกับพี่ๆ หมอบลง ปลายทำท่าจะขี้แย แต่พอได้ยินคำสั่งก็รีบหมอบลงนอนราบกับพื้นทันที โดยมีครูสายชลที่มาค้างบ้านท่าช่างปลอบอยู่ข้างๆ

กลุ่มรัฐประหารพฤศจิกายนใช้รถถังบุกบ้านท่าช้างหมายจะจับพ่อของปลาย เดชะบุญพ่อปลายหลบลงเรือจ้างที่ศาลาน้ำไปได้อย่างหวุดหวิด

นายทหารที่นำรถถังมาบอกกับแม่ของปลายว่า พวกเขาต้องการล้มรัฐบาล แม่ปลายสวนตอบทันควันว่า

“ถ้าต้องการล้มรัฐบาล ก็ไปล้มที่สภาสิ ไม่ใช่ที่นี่”

คณะทหารค้นบ้านท่าช้างทุกซอกทุกมุม คิดว่าพ่อของปลายหลบซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่ง

“เดี๋ยวก่อน” ครูสายชลถลาเข้าขวางการปฏิบัติการของ ร.ท.เชิงชายกับพวก บริเวณนั้นเป็นโรงรถ อยู่ในมุมอับ

“เดี๋ยวพวกคุณจะเอาอะไรไปซุกซ่อน ฉันจะเรียกคนในบ้านมาเป็นพยานในการตรวจค้น” เสียงดังและเฉียบขาดของครูสายชลทำให้ ร.ท.เชิงชายกับพวกชะงักงัน

ในที่สุด ร.ท.เชิงชายกับพวกต้องถอยกำลังพลออกจากบ้านท่าช้าง คว้าน้ำเหลวที่จะจับกุมพ่อปลาย

ครอบครัวปลายขาดเสาหลัก แม่ปลายจึงกลายเป็นทั้งพ่อและแม่

หลังรัฐประหารใหม่ๆ พรรคพวกพ่อของปลายที่เป็นทหารเรือชวนให้แม่ปลายพาลูกๆ ไปพักผ่อนที่สัตหีบ ปลายไร้ทุกข์ ไร้กังวล สนุกสนานท่ามกลางสายลมแสงแดด ปลายกินจุ นอนเก่ง “ใครไม่กิน ปลายกินเอง” เมื่อปลายเอ่ยเอื้อนเช่นนี้แล้ว มีหรือพี่ๆ ของปลายจะไม่ยกขนมอร่อยให้น้องน้อย

หาดทรายสีขาวละเอียดทอดตัวไกลสุดลูกหูลูกตา คือลู่ฝึกซ้อมวิ่งของปลาย ปลายสะดุดกิ่งไม้ที่น้ำทะเลพัดมาเกยบนชายหาด ปลายหกล้ม สองแขนสองขาเต็มไปด้วยเม็ดทรายละเอียด ปลายยกศีรษะขึ้นเหลียวซ้ายแลขวา พวกผู้ใหญ่ที่เดินตามหลังมาทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก็ขืนทำเป็นสนใจ ปลายจะต้องร้องไห้ไม่ยอมลุกขึ้นมาเอง ปลายนอนพังพาบเอาหน้าแนบบนหาดทรายชั่วอึดใจ จึงค่อยๆ ชันตัวลุกขึ้นมาปัดเม็ดทรายตามใบหน้าและลำตัว แล้วถลาวิ่งต่อไป

 

 

พ่อของปลายลี้ภัยการเมืองที่สิงคโปร์ ช่วงปิดเทอม แม่ปลายพาลูกๆ ไปเยี่ยมพ่อ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ปลายนั่งเรือเดินสมุทร ปลายวิ่งซุกซนตั้งแต่ชั้นดาดฟ้าจนถึงชั้นกราบเรือ ตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือ นกนางนวลโฉบบินมาทักทายเป็นครั้งคราว ปลายชอบดูฟองน้ำที่กระโจนทะยานเหนือผิวน้ำ เหมือนกับจะไล่กวดให้ทันเรือลำใหญ่ ฝีจักรเรือเร่งเดินเครื่องอย่างเต็มที่ คงเหลือฟองน้ำเป็นทางยาวสีขาวในท้องทะเลอันเวิ้งว้าง

“คุณพ่อคะ ปลายเรียนชั้น ป. 1 แล้ว” ปลายเอาสมุดพกมาอวดพ่อ ถึงปลายจะไม่ได้คะแนนเป็นที่ 1 แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นที่สุดท้าย

“ตั้งใจเรียนนะลูก คนเราต้องมีวิชาความรู้” พ่อพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนพลางลูบหัวปลาย

ที่สิงคโปร์ ปลายได้เจออามุสตาฟาผู้เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของพ่อ อามุสตาฟาเป็นชาวไทยมุสลิม ดวงตากลมโตใต้คิ้วหนาดกดำ ท่าทางน่าเกรงขาม แต่ไม่มีเด็กคนไหนกลัวอามุสตาฟา ปลายชอบนั่งตักอามุสตาฟา ฟังเล่านิทาน คืนวันเพ็ญเดือนหงาย แสงจันทร์สาดส่องพื้นหญ้า ดูขาวโพลน เหล่าเด็กซนรุมล้อมอามุสตาฟาเช่นเคย

ลมทะเลพัดโชยมา ก้อนเมฆเคลื่อนตัวบดบังใบหน้าขาวสะอาดของดวงจันทร์ “นางนาคพระโขนงค่อยๆ ยื่นแขน ยาว... ยาว... ค่อยๆ... หยิบสากครกที่ตกร่องไม้กระดานขึ้นมา...” อามุสตาฟาลากเสียงน่าสะพรึงกลัว พลางยื่นแขนออกไปข้างหน้า เด็กๆ หัวเราะชอบอกชอบใจ เรื่องผีที่ขนลุกขนพองกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน

ตั้งแต่นั้นมา คราใดที่แม่ใช้ปลายไปหยิบของบนตึก ปลายจะไม่อิดออด เพราะกลัวความมืดและกลัว “ผี” อีกต่อไป เงาของปลายตัวน้อยกึ่งเดินกึ่งวิ่ง หายลับตาไปในความมืด…

หลังจากเหตุการณ์รถถังบุกบ้านท่าช้างในคืนวันนั้น ครอบครัวปลายได้ย้ายออกมาอยู่บ้านเพชรฎา ซึ่งเป็นบ้านคุณยาย ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านสีลม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของปลาย แล้วก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านสาทรในตอนหลัง

ปลายย้ายเข้าย้ายออกระหว่างโรงเรียนดรุณวิทยากับโรงเรียนคอนแวนต์ เมื่อปลายขึ้นชั้น ป. 2 แม่ปลายตัดใจให้ปลายเป็นเด็กนักเรียนประจำ ตอนนั้นปลายอายุ 7 ขวบ ปลายพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพเด็กนักเรียนประจำ ขอบบ่อน้ำก่อด้วยซีเมนต์สูงราวคาง ปลายเขย่งเท้ายกตัวให้สูงขึ้น ตักน้ำมาอาบทีละขัน อาบน้ำเสร็จ ปลายยังดูมอมแมม ดังเช่นนักเรียนประจำโดยทั่วไปที่มักจะมีเหาขึ้นหัว แม่จึงต้องรับปลายกลับมาอยู่บ้าน ใช้ผ้าชุบ ดี.ดี.ที. โพกศีรษะอยู่หลายเพลา กว่าแม่จะให้ปลายเข้าไปกอดใกล้ๆ 

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “จุดหักเห,” ใน วันวานในโลกกว้าง (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543), น. 13-15.

บทความที่เกี่ยวข้อง :