“เราอยู่เมืองไทยไม่ได้แล้ว เขาจับพ่อไม่ได้ก็เลยจับแม่แทน” แม่ปลายปรารภ
แม่ตกลงพาปลายไปฝรั่งเศส พี่สาวปลายเรียนวิชาดนตรีอยู่ที่นั่น
เครื่องบินสี่เครื่องยนต์วิ่งมาสุดรันเวย์ กัปตันกลับลำเครื่องอย่างช้าๆ ใบพัดทั้งสี่หมุนรอบเร็วขึ้น เป็นประกายดังรุ้งกินน้ำ ในที่สุดเจ้านกเหล็กก็ถลาวิ่งบนลู่ยาวด้วยความเร็วสูง จากนั้นเชิดหน้าเหินสู่ท้องฟ้า สองมือของปลายประนมเหนืออก
“แล้วปลายจะกลับมาหาคุณยายค่ะ” ก่อนขึ้นเครื่องบินปลายกล่าวลา
ปลายนั่งริ่มหน้าต่าง มองลอดผ่านหน้าต่างสี่เหลี่ยมเล็ก ลำน้ำเจ้าพระยาทอดตัวลดเลี้ยวไปมาเหมือนงูขาวแวววาวละเลื่อม เครื่องบินไต่เพดานบิน สูงขึ้นสูงขึ้น มองไม่เห็นเรือกสวนไร่นาเขียวขจีที่อยู่เบื้องล่าง ปุยเมฆเบาโปร่งลอยเข้ามาชิดหน้าต่าง ปลายรู้สึกราวสัมผัสได้ด้วยมือเปล่า
จิตใจของปลายลอยละล่องท่องไปในนภากาศ สองหูแว่วเสียงเพลง Polonaise ปลายชอบฟังพี่สาวเล่นเปียโนเพลงนี้ ทำนองในลักษณะเพลงพื้นเมืองโปแลนด์จังหวะเร้าใจและมุ่งมั่น เมื่อหลายปีก่อน ปลายเคยดูภาพยนตร์ชีวประวัติโชแปง[1] ดุริยกวีเอกชาวโปแลนด์ ที่โรงหนังแถวราชวงศ์ ปลายดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ปลายเองก็ไม่รู้เช่นกันว่า ทำไมตัวเองสะอึกสะอื้น ตื้นตันใจนักหนา ภาพโชแปงบรรจงหยิบก้อนดินของมาตุภูมิมาจุมพิต แล้วนำดินก้อนนั้นติดตัวไปตลอดเวลาที่อยู่ต่างแดน ตรึงตามิรู้ลืม โชแปงรักชาติ ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน พ่อของปลายก็รักชาติ เป็นเสรีไทย จนป่านนี้ปลายยังไม่รู้เลยว่า พ่อระหกระเหินอยู่ ณ หนใด ปลายแอบหวังในใจว่าจะได้พบพ่อในไม่ช้า
ปลายหลับไปตื่นหนึ่ง เครื่องบินกำลังร่อนลงที่สนามบินการาจี ผู้โดยสาร ต้องพักแรมที่นี่ 1 คืน จากนั้นบินต่อไปยังอัมสเตอร์ดัม เมืองที่มีดอกทิวลิปหลากสีลานตา ทอเป็นพรมผืนใหญ่เขียวสลับแดง เหลืองสลับขาว ชมพูสลับม่วง ปูลาดท้องทุ่งสุดสายตา ปลายหวนนึกถึงดอกบัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อน บัวสาย ที่ปลายเห็นจนชินตา สีสันและความงามสวยสดไม่เป็นรองใคร
กว่าจะมาถึงสนามบินเลอ บูร์เชต์ (Le Bourget) ปลายสะบักสะบอมเต็มที่มา 1 วันกับ 1 คืน
คืนแรกในกรุงปารีส ปลายนอนหลับฝันดี ปลายฝันว่า ติดปีกบิน สูงเทียมเมฆ โฉบบินไปมา จากอ่าวไทยสู่ชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติก และจากชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติกสู่อ่าวไทย
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “สู่โลกกว้าง,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 224-227.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
[1] โชแปง (Frédéric François Chopin) (พ.ศ. 2353-2392)