ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ก่อกำเนิด ‘ขบวนการเสรีไทย’ : องค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

7
สิงหาคม
2566

Focus

  • ระหว่างสงเครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่า ประเทศไทยจะต้องประกาศและพยายามรักษาความเป็นกลาง  และหากไม่เป็นผลสำเร็จก็จะต้องเข้าอยู่กับฝ่ายที่เป็นผู้ชนะสงคราม
  • คณะรัฐมนตรีในการประชุมในตอนเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จำเป็นต้องมีมติยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่าตามที่ญี่ปุ่นต้องการ เพราะไม่มีความพร้อมทางกำลังทหารที่จะต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น  โดยในคณะรัฐมนตรีนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย แต่จำเป็นต้องยอมรับข้อจำกัดของประเทศไทย และขอให้จำกัดความผูกพันกับญี่ปุ่นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการทหารเท่านั้น
  • ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 การจัดตั้ง "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ได้เกิดขึ้น โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ร่วมดำเนินการกับมิตรสหายเพื่อร่วมมือกับทางฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ สหรัฐ จีน ฯลฯ) และเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม  และการผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับสถานการณ์ภายหลังสงคราม

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายหลังที่ได้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ของชาติ คือการยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ เป็นผลสำเร็จในสมัยรัฐบาลของ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และเข้าร่วมรัฐบาลของ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) หรือต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481

ช่วง พ.ศ.2482-2484 นายปรีดี พนมยงค์ มิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศแต่ประการใด เพราะถือว่าได้พ้นหน้าที่ไปแล้ว ดังนั้นญี่ปุ่นจึงพยายามติดต่อกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย โดยเพิ่งจะมอบให้ นายดิเรก ชัยนาม ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนก่อนญี่ปุ่นบุกไทยเพียง 4 เดือน แต่ความจริงแล้ว ญี่ปุ่นก็ได้พยายามผูกมิตรกับคนไทยทุกระดับ หากช่องทางและโอกาสมีอยู่ค่อนข้างจำกัด

สำหรับนายปรีดี พนมยงค์ ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็ได้รู้จักกับญี่ปุ่นบางคน เช่น พ.อ. เซจิ โมริยะ ทูตทหารญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2477-2479 พ.อ. โมริยะ เคยไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสและสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ จึงสร้างความสนิทสนมกับบุคคลสำคัญที่เป็นนักเรียนฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ทูตทหารญี่ปุ่นรู้จักจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนฝรั่งเศสดีกว่านายปรีดี พนมยงค์ เพราะมีหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกัน พ.อ. โมริยะ พยายามโน้มน้าวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เป็นพวกญี่ปุ่น แต่ก็ทำไม่สำเร็จ แม้กระทั่งการเชิญไปเยือนประเทศญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าจะมิได้มีการปรึกษาหารืออย่างเป็นกิจจะลักษณะระหว่างบุคคลสำคัญๆ ของประเทศในเรื่องผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย จากการขยายอิทธิพลทางทหารของญี่ปุ่นลงมาสู่ภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ และในการกำหนดยุทธศาสตร์ของชาติสำหรับรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยเสียหายน้อยที่สุด หากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เคยปรารภถึงปัญหาว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจที่จะมีผลกระทบถึงไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องประกาศและพยายามรักษาความเป็นกลาง และหากไม่เป็นผลสำเร็จก็จะต้องเข้าอยู่กับฝ่ายที่เป็นผู้ชนะสงคราม

ในวันที่ 6 ธันวาคม 2484 พ.อ. โมริยะ อดีตทูตทหารญี่ปุ่นซึ่งพ้นหน้าที่จากประเทศไทยไปหลายปีแล้ว ได้ปรากฏตัวในกรุงเทพฯ และขอพบนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้เคยรู้จักกัน พ.อ. โมริยะปรารภทำนองว่า สถานการณ์สงครามเป็นที่น่าวิตกมาก และสอบถามนายปรีดีฯ ถึงท่าทีของรัฐบาลไทย นายปรีดีฯ ชี้แจงว่าไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการตอบปัญหาดังกล่าวและได้รีบโทรศัพท์แจ้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ติดต่อกันไม่ได้ เพราะขณะนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจราชการด้านตะวันออกเสียแล้ว ดังนั้นนายปรีดีฯ จึงได้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการมาพบของอดีตทูตทหารญี่ปุ่นให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ผู้ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และ นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีต่างประเทศได้ทราบ การที่ พ.อ.โมริยะ จู่ๆ เข้ามาพบนั้นเป็นสัญญาณบอกเหตุว่าญี่ปุ่นคงจะเปิดฉากสงครามในไม่ช้า แม้ว่าขณะนั้นญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ในกรุงวอชิงตันก็ตาม

สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ดูเหมือนจะรับทราบเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ก็คงจะไม่ทราบว่าญี่ปุ่นจะลงมือกระทำการในวันใด และก็คงไม่ตระหนักว่ากองทัพญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย โดยเข้าใจว่ากองทัพญี่ปุ่นที่ชุมนุมกำลังอยู่ในอินโดจีนจะเดินทัพเข้าประเทศไทยทางด้านกัมพูชา

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อพิจารณาข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ขอเดินผ่านประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แสวงหาทางเลือกที่ดีกว่า แต่เมื่อได้รับการยืนยันจากฝ่ายทหารว่าไทยไม่มีกำลังพอที่จะต่อรองหรือต่อต้าน นายปรีดีฯ ก็จำเป็นต้องคล้อยตาม โดยเพียงขอให้จำกัดความผูกพันกับญี่ปุ่นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการทหารเท่านั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามดูเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของนายปรีดีฯ และของรัฐมนตรีบางคนดี จึงได้ขอร้องมิให้กระทำการใดๆ อันจะทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ โดยขอให้อดทนเอาไว้เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ต่อไปในภายหน้า สำหรับในขณะนั้นจำเป็นจะต้องรักษาบ้านเมืองและราษฎรให้ปลอดภัยไว้ก่อน

ในคืนวันเดียวกันนั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ปรึกษาหารือกับมิตรสหายที่มีความคิดและความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกัน และในโอกาสนั้นก็ได้ตกลงใจจัดตั้ง "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมคนไทยผู้รักชาติ ทั้งที่อยู่ในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ให้ร่วมกันรับใช้ชาติ โดยการกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติที่ได้ถูกญี่ปุ่นละเมิด ทั้งนี้โดยมอบภาระให้นายปรีดีฯเป็นหัวหน้า และกำหนดแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมต่อไป 

 

คณะรัฐมนตรี ธันวาคม 2484
คณะรัฐมนตรี ธันวาคม 2484

 

ภารกิจในเบื้องแรกของ "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ก็คือ ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยร่วมกับทางฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ สหรัฐ จีน ฯลฯ)

และกระทำการต่างๆ เพื่อให้ทางฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่า ประชาชนชาวไทยมิได้เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมาเมื่อมีการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 องค์การใต้ดินดังกล่าวก็มีภารกิจสำคัญเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ

ปฏิบัติเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับสถานการณ์ภายหลังสงคราม

 

ที่มา : ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ขบวนการเสรีไทยก่อกำเนิดองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2555), น. 27-30