Focus
- “ข้างหลังภาพ” วรรณกรรมคลาสสิคของ ‘ศรีบูรพา’ หลังจากที่ได้รับการนำไปจัดทำเป็นละครเวทีเรื่อง “ข้างหลังภาพ The Musical” เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้รับการดัดแปลงอีกครั้งหนึ่ง เป็นละครเพลงเรื่อง “Waterfall A New Musical” โดยทีมไทยร่วมกับชาวต่างชาติมืออาชีพก้องโลกของทีมละคร Boardway อาทิ ผู้เขียนบทและประพันธ์เพลง Richard Maltby, Jr. นักแสดง คือ Josh Dela Cruz, Danielle Hope, Jon Briones และนักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยม “David Shire” กํากับการแสดงโดยถกลเกียรติ วีรวรรณ
- “Waterfall A New Musical” เป็นละครเพลงที่ถูกดัดแปลงเรื่องราวของความรักต้องห้าม และการแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ของสังคมอื่นที่ต่างจากต้นฉบับเดิม “ข้างหลังภาพ” โดยเป็นช่วงเวลาการแสวงหาสังคมใหม่ ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน อันเป็นช่วงที่มีการต่อต้านชาวอเมริกันในญี่ปุ่นและสยาม
- การสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงของไทยสู่นานาชาติครึ้งนี้ นับเป็นความรุดหน้าอีกครั้ง ในการเสนอบทสนทนาที่โต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน แต่ลุ่มลึกในความคิด และการร้องเพลงและการแสดงออกทางวัฒนธรรมไทยอย่างประณีตและกลมเกลือนกับความเป็นสากลของการแสดง ทั้งยังสามารถตอบสนองความใฝ่ฝันของผู้สร้างชาวไทยที่จะร่วมงานกับผู้มีฝีมือระดับโลกชาวต่างชาติ ในขณะเดียวกันก็ได้รับความชื่นชมมิใช่น้อยจากอาจารย์ผู้สอนและที่ปรึกษาด้านการแสดงละครของมหาวิทยาลัยมหิดล
“WATERFALL a new musical” ละครเพลงฟอร์มใหญ่ตามสไตล์ รัชดาลัยเธียเตอร์ ที่มาพร้อมงานสร้างระดับส่งออก เสมือนเป็นหัวหอกใหญ่ที่ตั้งใจจะยกระดับวงการละครเวทีไทยให้เคลื่อนไปตามแนวทางกระแสหลักในตลาดอุตสาหกรรมละครโลก ละครเวทีไทยในอดีตแม้มีโอกาสเดินสายหลายประเทศ แต่ลักษณะพิเศษและขอบเขตของความเป็น ‘ละครผอม’[1] ก็มีแนวทางที่ต่างกันคนละทิศ เพราะไม่ได้มุ่งพิชิต Broadway เวทีละครเพลงระดับโลกแนว American Style ที่สากลให้การยอมรับในคุณภาพที่เหนือระดับทุกๆ ด้าน ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นหนึ่งในผู้มีความใฝ่ฝันบากบั่นจะไปให้ถึง จึงปั้นงานสร้างให้ประณีตอัดฉีดทุกทางเพื่อสร้างงานที่เขารัก จาก “ข้างหลังภาพ” วรรณกรรมคลาสสิกของ ‘ศรีบูรพา’ (ผู้ได้รับ “รางวัลปรีดี พนมยงค์” เมื่อปี 2543 ในวาระครบชาตกาล 100 ปี ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะที่เป็นบุคคลดีเด่นด้านประชาธิปไตยในรอบ 100 ปี หลังจากนั้น 3 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2546 ยูเนสโกประกาศคัดเลือก “บุคคลดีเด่นของโลก” ประจำปี 2547-2548 คนไทยที่ได้รับการคัดเลือกคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา) ปรมาจารย์นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไทยได้ประพันธ์ “ข้างหลังภาพ” ไว้ในรูปแบบนวนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2480 จนถึงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 รวมเต็มเรื่อง 12 บท อันเป็นที่มาของ “ข้างหลังภาพ The Musical” ก่อนถูกพัฒนามาเป็น “WATERFALL a new musical” โดยทีมไทยร่วมกับทีม Boardway ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการเจียระไนเพื่อไปให้ถึงฝัน หนึ่งในกระบวนงานฟูมฟัก คือการส่งมอบความรักที่มีต่อละครเวทีให้กับคนไทยได้มีส่วนร่วม ‘ส่งเสียง’ ซึ่งไม่ใช่เพียง ‘รับชม’ และแล้วก็สมความมุ่งมั่นตั้งใจหลังจากที่เคยทุ่มเทจนหมดหน้าตักมาแล้ว เพราะ “WATERFALL” ได้รับคำชมจากทุกกลุ่มของการวิจารณ์ แม้มีด้านบกพร่องที่เป็นจุดสำคัญของเรื่อง แต่ผู้คนล้วนร่วมใจกันให้อภัย เพื่อส่งให้จุดดีที่มีอยู่ได้โดดเด่นมากขึ้น ยืนยันเอาใจช่วยคนไทยด้วยกันให้มีกำลังใจสร้างสรรค์ เหมือนเชียร์คนที่มุ่งมั่นพิชิตยอดเขาหิมาลัยให้ไปต่อ
“ข้างหลังภาพ The Musical” คือผลงานของ รัชดาลัยเธียเตอร์ ในปี 2551 ที่ถูกคัดเลือกจากโจทย์ที่ละครต้องมีความเป็น mass ซึ่งสามารถเอื้อต่อการเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมจากผู้คนในวงกว้าง งานสร้างของ “WATERFALL a new musical” จึงถูกพัฒนาบทร่วมกันเพื่อความเป็นสากล ระหว่างผู้กำกับ ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับที่ปรึกษาคนสำคัญ Richard Maltby, Jr.[2] ผู้ประพันธ์บทละครเวที ผู้กำกับละครเวที เจ้าของรางวัล Tony Awards (รางวัลที่มอบให้กับศิลปะการแสดงละครเวที ละครบรอดเวย์ของชาวอเมริกัน จัดขึ้นโดย American Theatre Wing และ The Broadway League) จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบทและคัดเลือกนักแสดง นําแสดงโดยนักแสดงจาก Broadway : Josh Dela Cruz, Danielle Hope , Jon Briones และนักแต่งเพลงฝีมือดี “David Shire” เจ้าของรางวัลเพลงยอดเยี่ยมจาก Academy Awards กํากับการแสดงโดย Takonkiet Viravan (ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้ก่อตั้งโรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์)
ก่อนจะเป็น “WATERFALL a new musical” ถูกพัฒนาบทโดยให้ theme อยู่บนฐานโครงสร้างเดิมของ “ข้างหลังภาพ The Musical” ที่สร้างจากต้นฉบับวรรณกรรมอมตะ “ข้างหลังภาพ” ที่ยังคงเก็บเค้ารักสามเส้าเข้าข่ายต้องห้ามบนสามสถานะที่แตกต่าง แต่เปลี่ยนรายละเอียดเป็น แคทเธอรีน (Danielle Hope) ศิลปินสาวชาวอเมริกันที่กําลังค้นหาแรงบันดาลใจเดินทางไกลเข้ามายังสยาม ประเทศที่เธอมีความชอบชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมและเพื่อแต่งงานกับ ท่านเจ้าคุณอธิการบดี (Jon Jon Briones) นักการทูตผู้โดดเด่นที่มีความปรารถนาจะจุดประกายความรักอีกครั้ง ทำให้เธอได้พบกับ นพพร (Josh Dela Cruz) เด็กหนุ่มชาวไทยที่ลุ่มหลงความเป็นอเมริกัน ความสัมพันธ์ชิดใกล้ก่อให้เกิดเป็นรักต้องห้ามท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่นก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีฉากหลังเป็นยุคเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เมื่อปี 1930 ตรงกับ พ.ศ 2473 ซึ่งสยามอยู่ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย และกำลังอยู่ระหว่างการเคลื่อนไหวใหม่แบบคลื่นใต้น้ำจากกลุ่มคนหัวก้าวหน้าในยุคนั้น (ต่างจาก “ข้างหลังภาพ The Musical” ที่ยึดช่วงเวลาเดิมในบทประพันธ์คือปี พ.ศ 2476 หลังไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475) อเมริกามีอิทธิพลต่อนานาประเทศในฐานะเจ้าอาณานิคม ท่ามกลางกระแสความแค้นและชาตินิยม เกิดการต่อต้านชาวอเมริกันทั้งในญี่ปุ่นและสยาม บทเดินเรื่องตัดสลับระหว่างสยามกับสามคนในแดนอาทิตย์อุทัย ทั้งสองลำดับเกิดก่อนที่บรรยากาศความศิวิไลซ์ของสองประเทศจะลุกเป็นไฟเผาไหม้แผ่นดินในสงครามโลกครั้งที่ 2
Fall in love with “ WATERFALL ”
ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับการแสดง บอกเล่าเบื้องหลังการทำงานผ่านสื่อ
“เราได้แรงบันดาลใจจาก “ข้างหลังภาพ” แต่ไม่ใช่ “ข้างหลังภาพ” ที่คุณเคยรู้จัก เป็นการร่วมมือกันระหว่างคนไทยกับบอร์ดเวย์ คราวนี้โปรดักชันเต็ม Theme อย่างที่เราอยากให้มันเป็น จากที่เราทำ Musical มาหลายๆ เรื่อง original ที่เป็นภาษาไทย โอเคมันประสบความสำเร็จมากในประเทศไทย ทำให้เรามีคำถามอยู่ในหัวที่ถามตัวเองอยู่ตลอดว่า เรื่องที่เราทำอยู่ถ้ามันมีชีวิตไกลออกไปนอกเหนือจากประเทศไทยจะเป็นไปได้ไหม พอเราได้เจอกับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมของละครบรอดเวย์ เราก็มีคำถาม คุณคิดว่า original Musical ของเราที่เป็นภาษาไทยสามารถดัดแปลงเป็นภาษาอังกฤษบ้างได้ไหม เขาตอบว่า ได้ น่าสนใจนะ เพราะว่าเขาต้องหาเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้มัน at touch international audience ได้ด้วย
หลังจากนั้นผมได้เจอกับ Richard Maltby, Jr. เขาเป็นคนเขียนเพลง เขียนบทละครเวที เป็นผู้กำกับละครบรอดเวย์หลายเรื่อง ซึ่งเขาเป็นคนเขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษให้กับเรื่อง “Miss Saigon”[3] ด้วยเขามีคนเขียนเพลงคู่ใจคือ David Shire เคยได้รางวัลออสการ์ รางวัลแกรมมี่มาแล้ว เป็นคู่ที่เรียก “Maltby & Shire” เขาได้ดูวิดีโอที่เราถ่ายทำเอาไว้ 2-3 เรื่อง แล้วเขาคิดว่า “ข้างหลังภาพ” มีความเป็น Love Story ที่ค่อนข้างจะ Universal มีความเป็นสากลที่ relate ได้ทั่วโลก ก็ตกลงกันเอา ข้างหลังภาพ มาทำเป็นภาษาอังกฤษ แต่หลังจากนั้นมันไม่ใช่แค่การแปล เพราะการที่จะทำอะไรให้มันลงตัว สิ่งที่เราควรทำคือต้องไม่ยึดติด เราได้ศึกษาทดลองมากมายก็เลยตกลงกันว่าจะ Base on “ข้างหลังภาพ The Musical” แล้วทำให้เป็น New Musical ขึ้นมา จนได้ออกมาเป็น “WATERFALL a New Musical” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก musical ของไทยคือ “ข้างหลังภาพ The Musical” หลังจากนั้นก็คิดถึงการปรับเปลี่ยน”
ถกลเกียรติ ผู้กำกับสำทับเหตุผลยืนยันให้ไม่ลืมว่า “ถ้าพูดจริงๆ แล้ว ‘ข้างหลังภาพ’ เป็นเรื่องสำหรับคนไทย ทุกแคแรคเตอร์เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นจะเป็นเรื่องของไทยให้คนไทยดู เราคิดตลอดทำยังไงจะเป็นเรื่องที่มีความเป็นไทยในขณะเดียวกันก็สามารถจะมีผู้ชมที่กว้างกว่านี้ได้ เราก็เลยคิดว่าเปลี่ยนตัวละครเอก ไม่มีคุณกีรติในนั้น ให้นางเอกชื่อ แคทเธอรีน เป็นคนอเมริกัน แต่ว่ามารักกับเด็กไทยที่ชื่อ นพพร เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นความรักต้องห้ามของเด็กไทยคนหนึ่งที่มีความชื่นชมอเมริกันมากๆ แล้วก็พร้อมจะทิ้งทุกอย่างที่เป็นสยามกับผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งที่กำลังเฟลจากอเมริกากลับมาเมืองไทยที่เคยอยู่ ชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมของไทย ตั้งคำถามกับนพพรว่า ‘จะทิ้งจริงหรือ ทำไมถึงอยากจะทิ้ง’ จึงเป็น crash ที่ทำให้สองคนเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จริงๆ แล้วเป็นละครคนละเรื่อง แต่ได้ inspiration มาจาก “ข้างหลังภาพ” ….”
“WATERFALL a new musical” จึงถูกพัฒนาบทสอดรับกับยุคใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพผู้หญิงซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกยุคนั้น แม้เป็นรักต้องห้ามแต่ตรงข้ามกับสิทธิของความเป็นมนุษย์ที่ธรรมชาติให้มา ซึ่งมีความปรารถนาเป็นศาสดาเหนือศาสนาใดๆ จะตั้งเงื่อนไขได้ แคทเธอรีนกับนพพรจึงสารภาพรักกันและร่วมยืนยันความในใจ โดยมีน้ำตกมิตาเกะเป็นพยาน ค้านกับ “ข้างหลังภาพ The musical” ที่มีความเป็นสยามในจารีตดีงามตามประเพณี หม่อมราชวงศ์กีรติ มีนางต้นห้องทำหน้าที่เสมือนญาติผู้ใหญ่ให้โอวาท ทันทีที่เริ่มสังเกตเห็นความมีชีวาจากแววตาที่ผิดปกติ รัดเกล้า อามระดิษ ได้รับบทที่เสมือนแม่นมดูแลลูก โดยเฉพาะในฉากเตือนสติขณะหวีผมให้นายหญิงก่อนนอน ตรงข้ามกับ WATERFALL ที่ นวล (Elaine Marcos) มาในมาดนิ่งเฉียบขาดแต่ตลกหน้าตาย design การแสดงที่เปี่ยมพลังของเธอทำให้คิดถึง โอปอล์ (ปาณิสรา อารยะสกุล[4] นักแสดงและพิธีกรฝีมือดี มีวิธีคิดที่เฉียบคมทั้งในงานและการใช้ชีวิต)
เพลงที่นวลร้องใน “ข้างหลังภาพ The Musical” มีสารที่จารบริบทชีวิตคุณหญิงกีรติ และกรอบจารีตประเพณีที่ครอบชนชั้น อันเป็นความตั้งใจของ ศรีบูรพา ผู้ประพันธ์ “ข้างหลังภาพ” ที่ต้องการปั้นตัวละครให้เป็นตัวแทนผู้หญิงของยุคสมัยในสยาม ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งต้องยึดโยงอยู่กับค่านิยมเก่าที่เป็นเบ้าหลอมมาแต่เกิด ทำให้มีทัศนคติที่ยากจะมีอิสระเสรีอย่างที่ต้องการได้ ในความหมายของเกียรติยศและศักดิ์ศรีที่ต้องปกป้อง ‘ความดี’ แม้ต้องแลกมาด้วยความสุขทั้งมวลที่ควรมีในการใช้ชีวิตตลอดชั่วอายุขัย และในใจมีคำถาม “ฉันแค่อยากเข้าใจ สุขที่แท้จริงนั้นคืออะไร” นวลตอบให้ด้วยบทเพลงที่บรรเลงชัดเจนถึง ‘กรอบ’ และ ‘กรง’ ที่ทรงศักดิ์เป็นหลักชัยที่ควรต้องอุทิศให้ เพราะเข้าใจว่าคือ สุขจริง ลูกผู้หญิงต้องอยู่ในโอวาทบุพการี แม้ได้รับเสรีในการตัดสินใจเลือกคู่ แต่ความเป็นคนรู้ขนบก็พร้อมสยบประเพณี ตรงข้ามกับแคทเธอรีนที่มาจากอเมริกาสังคมซึ่งให้สิทธิ์เสรีแก่สตรีอย่างเท่าเทียม จึงมีผลต่อการตัดสินใจไปตามความปรารถนา…
นวล “เมื่อคุณหญิงพบคนที่ดี เมื่อชีวิตเลือกเดินทางนี้ จงเชื่อนวลเถิดทำถูกแล้ว จะสุขหัวใจ เป็นโชคดีที่น่าอิจฉา นี่คือความสุขแท้ ความสุขที่แท้นั้นไซร้ คือได้มองเห็นผู้คน นับถือชื่นชม
ความสุขแท้ทำให้คนดูดี สุขเมื่อได้ดำรงเกียรติยศศักดิ์ศรี คอยปกป้องชาติตระกูล ดังภาพที่ไร้ร่องรอยราคี ช่วงชีวิตที่คุณหญิงมีมา ภาพชีวิตวันมีค่าอย่างนี้ ถ้าเปรอะรอยเถ้าธุลี ก็จะไม่งามดังเดิม เหมือนเป็นภาระอย่างหนักหนาถ้าต้องเผชิญ แต่ทุกก้าวที่คุณก้าวเดิน ยามสังคมชื่นชมสรรเสริญจะสุขหัวใจ”
สายที่ชื่นชมวรรณกรรมต้นแบบ แม้มีจินตภาพของนพพรกับคุณหญิงกีรติมาเพ่นพ่านระหว่างชมการแสดง เช่นเดียวกับสายภาพยนตร์ที่มีดาราคนโปรดจากในจอมาจ่อเปรียบเทียบ สุดท้ายทุกภาพของทุกฝ่ายหลอมมลายกลายเป็นหนึ่งเดียวไปกับเรื่องราวใหม่ที่ถูกทำให้ลืมภาพจำเดิมด้วยงานสร้างที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านการแสดง การร้อง เต้น และเด่นด้านเทคนิคฉาก แสง เสียง ครบองค์ประกอบของความเป็น ‘ละครอ้วน’ ที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มตั้งแต่นาทีแรกจนจบเรื่อง (เต็มพร้อมในทุกองค์ประกอบ) สมกับที่ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ได้ตอกย้ำหลักการทำงานอยู่ตลอดมาว่า ‘หัวใจของการตลาดคือ Entertainment' การแสดงเกือบสามชั่วโมง แต่ผู้ชมรู้สึกเหมือน 30 นาทีเพราะความมีเสน่ห์ที่ทำให้เพลิดเพลินเกินจะกังวลกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นดนตรี เพลง นักแสดงหลัก และโดยเฉพาะเหล่า ‘หมู่มวล’ ที่ล้วนมากความสามารถ มาวาดลวดลายในตำแหน่งผู้เล่าเคล้าลีลาท่าเต้น เน้นยกขบวนปรากฏกายร่ายรำนำเปลี่ยนฉากทุกช่วง ทำให้ WATERFALL กลายเป็นความใหม่ด้านเทคนิคของละครเพลงไทยที่แหวกขนบดั้งเดิมหลายประการ ด้วยงานออกแบบท่าเต้นโดย Morgan Marcell ที่นำนาฏศิลป์ไทยไปประดิษฐ์คิดท่าใหม่ให้เป็น Thai Contemporary Dance ที่แสนวิจิตรทันใจคนยุคใหม่ในเครื่องทรงเดิมที่พลิ้วเพลิด หลายคนเกิดความคิดว่าน่าจะเป็น New Classical Thai Dance ที่ดูดีในลีลาไทยประยุกต์ (ชุดไทยสไบทองเต็มยศ) นำโดยนักร้องนักแสดงมากฝีมือ เธอคือนักเต้นที่เป็นเลิศ รัดเกล้า อามระดิษ Dancer ระดับหัวแถวของไทย ไม่ว่าจะรับบทไหนเธอก็ทำได้ดีมีคุณภาพ
ไม่ใช่เพียงสำนวนภาษาที่แปลงไทยไปเป็นอังกฤษ แล้วถูกแปลจากอังกฤษเป็น subtitle ไทยจะงดงามตามแบบต้นฉบับเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ WATERFALL ยังคงรักษาไว้คือหัวใจของเรื่อง (Theme) เกี่ยวเนื่องกับรักต้องห้ามที่ไม่ทรยศต่อบทประพันธ์ เหมือนวรรณกรรมโลกบางเรื่องที่ถูกยกไปทั้งหมดแต่บทถูกทำร้ายด้วยการดูดายหัวใจของเรื่องที่ไม่ใช่แค่ Anticlimax แต่เข้าข่าย Anti-Theme นั่นเท่ากับเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อทั้งผู้ประพันธ์และผลงานที่นำมาสานต่อ ไม่ใช่แค่ผิดมารยาทแต่ขาดจรรยาบรรณซึ่งสำคัญต่อวิชาชีพ ความรักของทั้งสองเริ่มต้นจากปล่อยจิตวิญญาณร่วมผสานเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อมหลอมใจให้อ่อนไหวเข้าหากัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่รอดพ้นจากสายตาที่เฉียบคมของท่านเจ้าคุณ แต่ด้วยวัฒนธรรมตะวันตกที่ยกผู้หญิงให้เท่าเทียมชายในสมรสคือกฎของสังคม และความเข้าใจชีวิตวิธีคิดของท่านจึงเหนือขั้นปุถุชน ไม่มีคนไหนต้องการทำร้ายใคร แต่เป็นเรื่องของหัวใจและความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน ในวันที่ต้องเดินทางกลับไทยก่อนกำหนด ท่านได้อนุญาตเชิงบังคับให้ทั้งสองมีโอกาสได้อยู่ร่วมกันในวันสุดท้ายที่น้ำตก Mitake ที่สุดแสนโรแมนติกเพื่อฝากความประทับใจก่อนจาก (แต่มากด้วยอารมณ์ดุดันที่อัดอั้นอยู่ภายใน เพราะวัฒนธรรมใหม่ในยุคนั้นแบบตะวันตก ต้องให้เกียรติผู้หญิงอย่างเท่าเทียม ถ้าใส่ความเป็นผู้ใหญ่ใน acting ที่มีเมตตาปราศรัยนุ่มนวลแบบไทยๆ จะชวนให้น่าเห็นใจท่านเจ้าคุณได้มากกว่านี้)
ศรีบูรพา เปิดประเด็นให้เป็นปริศนามาตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ทำไมหญิงสูงศักดิ์ผู้เพียบพร้อมจึงยอมแต่งงานกับผู้สูงวัยกว่า แม้ว่าสามารถเลือกได้ (ตามความหมายในสายตาคนนอก) ความสัมพันธ์ของสองคนก็ไม่พ้นสายตาละเอียดอ่อนของนพพร เขาวอนถามถึงความรักต่างวัยที่สองหัวใจมีคำตอบท่วมท้น จนที่สุดคุณหญิงกีรติต้องยอมเปิดเผยความจริงที่ผู้ประพันธ์สรรไว้ระหว่างบรรทัด เรื่องการจัดระเบียบชีวิต จิตใจ และที่เหนืออื่นใดคือจริยธรรม ผ่านบทเพลงไพเราะใน “ข้างหลังภาพ The Musical” องก์แรกเฉลยไว้ชัดเจน เป็นการนำทางให้นพพรกล้าที่จะสารภาพรักกีรติ
กีรติ : เธอคิดว่าการแต่งงานที่ไม่ได้มาจากความรักเป็นเรื่องแย่มากเหรอนพพร
นพพร : ถ้าไม่ได้รักกันแล้วแต่งงานกันทำไมล่ะครับ
กีรติ : การแต่งงานไม่จำเป็นต้องมาจากความรักอย่างเดียวหรอกนพพร
นพพร : คุณหญิงกำลังจะบอกว่าภาพที่ทุกคนเห็น คุณหญิงไม่ได้รักท่านเจ้าคุณเลยเหรอครับ
กีรติ : ทำไมคำตอบของฉันจึงสำคัญสำหรับเธอมากเหรอนพพร
นพพร : เพราะคุณหญิงสำคัญสำหรับผม โปรดตอบผมเถอะครับ แล้วผมจะได้รู้ว่า ผมสำคัญกับคุณหญิงหรือไม่
กีรติ : คนที่เกิดมาในฐานะอย่างฉัน เคยมีคนนับหน้าถือตาและถูกยกย่อง เคยใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็เปลี่ยนไป…
การแสวงหาความพรั่งพร้อมและความมั่นคงในชีวิตจึงเป็นเรื่องจำเป็น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป…
(‘การเปลี่ยนแปลง’ ในบทประพันธ์เดิมหมายถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2575 เพราะบริบททางการเมืองเล่าเรื่องหลังปี 2476 ผู้เขียนต้องการบอกสาระสำคัญ ทุกชนชั้นอยู่ใต้กฎความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นสัจธรรม คือความไม่แน่นอนของทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะสิ่งสมมุติเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ที่จอมปลอม เพราะศรีบูรพาเป็นสามัญชนที่ต่อสู้เรื่องระบอบศักดินา แต่ก็เขียนด้วยความรู้สึกละเอียดอ่อนเห็นใจ เข้าใจผู้หญิง ซึ่งเสมือนตัวแทนทุกคนที่ต้องประคองชีวิต)
กีรติ : วันผ่านคืน ฤดูผ่านเลย ยังไม่เคยพบใคร รักที่รอเหมือนเป็นนิยายชวนฝันของเด็กสาว จนรอบกายของฉันเปลี่ยนผัน ไม่อาจเป็นเช่นเก่า ต้องหยุดเพ้อฝันเพื่อดำรงศักดิ์ศรี คือสิ่งสำคัญ … ชีวิตเมื่อสั่นคลอนอ่อนล้า ท่านเจ้าคุณได้เข้ามาในวันนั้น คนรอบกายของฉันยืนยันก่อนทุกอย่างจะสายไป ทางสุดท้ายต้องเลือกคือแต่งงาน …. จะไม่รอรักที่ต้องการ หยุดทรมานทุกวัน ฉันต้องจำยอมวิวาห์ เหตุนี้ท่านเจ้าคุณและตัวฉันคู่กันก็เพียงความเหมาะสม จะมีความรักบ้างหรือเปล่าปล่อยมันเลยไป เลิกร้อนรนไร้เหตุผลจะรอ ยอมทำใจรับโชคชะตา เราเป็นเพียงคนโชคร้าย ไร้คนรักเคียงข้าง ทุกอย่างสายเกินไป …
ชื่อของเรื่องที่แปลว่า ‘น้ำตก’ ถ้ามองในมุมของสัญศาสตร์ คือสัญชาตญาณด้านลบของมนุษย์ ไม่ต่างกับสัญลักษณ์ของความปรารถนา ตัณหา ราคะ แนวโน้มของการกระทำผิดคิดใฝ่ต่ำที่มนุษย์มีแนวโน้มจะกระทำได้เร็วกว่าความดีทั้งปวง หากถูกลวงหรือล่อด้วยสิ่งแวดล้อมและโอกาสตามที่ทุกศาสนาเรียกว่า ‘สัจธรรม’ สายน้ำย่อมไหลลงที่ต่ำ ไม่สามารถต้านแรงดึงดูดของโลก จึงเป็นความลุ่มลึกอีกระดับของการจับแนวคิด (concept) ก่อนเจาะหัวใจ (theme) ใส่สาระของเรื่องราว เปลี่ยนจากความคาวให้เป็นความรันทดที่งดงามได้ ความหมายด้านลบจึงถูกกลบด้วยความอลังการของ มิตาเกะ ที่ถูกจำลองขึ้นกลางเวทีด้วยเทคนิคพิเศษ ปล่อยให้สายน้ำไหลอย่างมีขอบเขตของการควบคุม ต่างจากกิเลสของมนุษย์ ที่ยากจะหยุดหากปล่อยให้หลุดสติ ไหลไปตามสัญชาตญาณ … เพลง ดนตรี และการเต้นรำบนสายธารเย็นใสของสองหนุ่มสาว คือสิ่งที่ตรึงตราเตือนใจให้ผู้ชมจดจำฉาก ไม่ต่างจากตัวละคร แม้สายน้ำไม่เคยไหลกลับ แต่ความลับในใจไม่ว่าจะเก็บไว้นานแค่ไหน จะยังไงก็พร้อมยืนยันตัวเองเสมอเมื่อถึงเวลา … แคทเธอรีนกับลมหายใจสุดท้ายเธอได้ตายในอ้อมกอดของคนที่เธอรักพร้อมคำสารภาพรักต่อกัน แม้ไม่มีประโยคเฉือนใจในมโนกรรมสำนึกเหมือนหม่อมราชวงศ์กีรติ จากวรรณกรรม “ข้างหลังภาพ” ก็ซาบซึ้งได้ (“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”)
แต่ตัวละครหลักหนุ่มน้อยนพพรซึ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เสมือนตัวแทนอุดมการณ์ความคิดของ ศรีบูรพา มาพร้อมจุดพร่องเพียงรายละเอียดเรื่องการเมือง ที่ชวนชำเลืองแล้วแล่นเลยไป เพราะความเกรงใจอารมณ์ละครเพลง ต้องบรรเลงให้ถูกทางจัดวางให้ถูกที่ เพื่อไม่ให้มีช่วงจังหวะสะดุดความรื่นมย์ ระหว่างอุดมการณ์ ความทะเยอทะยาน และความรัก ของหนุ่มน้อยที่ติดสอยท่านเจ้าคุณผู้ซึ่งช่วยหนุนในหน้าที่การงานและวิกฤติการณ์กระทบใจ ให้เขาได้ก้าวไปสู่อีกด้านที่ต้องการค้นหา คือปริศนาของเรื่อง เพราะการเมืองที่ถูกเขียนโดยใช้บทบันทึกซึ่งจารึกประวัติศาสตร์จากมุมของรัฐ ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดสนามรบด้วยลัทธิชาตินิยมที่ชื่นชมตะวันตก มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ที่มีไฟจะพัฒนาบ้านเมือง นพพรถูกวางบทใหม่ให้เป็นตัวแทนของ New Generation ที่มีความฝันและฝักใฝ่ในความเป็นอเมริกัน ตรงข้ามกับนพพรหนุ่มน้อยผู้นอบน้อมหัวก้าวหน้าฝ่ายประชาธิปไตยของ ศรีบูรพา
บทไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุผลของคนชังชาติ ทำให้คล้ายขาดสำนึกกตัญญูต่อแผ่นดิน ดิ้นรนจะทิ้งรากเหง้าเผ่าพันธุ์เพื่อใคร อะไรเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งที่เขาไม่ยอมสยบ แต่ต้องแยกไปหาโลกใหม่ บทไม่ชัดเจนว่านพพรเป็นคนหนุ่มที่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน อยู่ฝั่งเสรีนิยมหัวก้าวหน้าศรัทธาประชาธิปไตยที่ต่อมาก่อนก่อตั้งเป็นพรรคคณะราษฏร หรือว่าฝ่ายทหารแนวร่วมรัฐอนุรักษ์ ทำให้การเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านการปะทะสังสรรค์ทางความคิดระหว่างแคทเธอรีนกับนพพรจึงอ่อนไปไม่ชัดเจน ทั้งที่โครงร่างเรื่องใหม่เอื้อให้ขยี้ เพราะมีบริบททางการเมืองต่างกับต้นฉบับ เกี่ยวกับเงื่อนไขของเวลาที่ถูกเปลี่ยนจากหลัง 2476 มาเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานยิ่งน่าสนานสนุกเพราะหนุ่มสาวยุคนั้นเริ่มตื่นตัวกับ ‘ประชาธิปไตย’ ที่เป็นของใหม่ทั้งในมิติของเศรษฐกิจการเมือง และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นปัจเจก โดยเฉพาะแคทเธอรีนที่เปลี่ยนประเทศข้ามทวีปมา วิธีคิดที่สวนทางของสองคนตัวแทนเจ็น จึงเป็นประเด็นสากลชวนค้นหามากกว่าผ่านเลย
แต่สุดท้ายนพพรให้เหตุผลของการกลับสู่สยามก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อจะกอบกู้ศิลปวัฒนธรรมที่ย่อยยับให้กลับคืน ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากการกระทำของผู้นำในยุคนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) กูรูคนสำคัญในสาขาวิชาการละคอนของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นและอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลป์ต่อประเด็นนี้ไว้น่าสนใจว่า
“จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร เป็นนายทหารที่มีความ “ชาตินิยม” ในแบบที่ “ร่วมสมัย” กับผู้นำประเทศมหาอำนาจในยุคนั้น ที่สนใจการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น “สมัยใหม่” (ที่อิงกับมุมมองความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก ที่กำลังเฟื่องฟูอย่างยิ่ง) มีผู้เข้าใจเจตจำนงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพยายาม “ปฏิรูป” วัฒนธรรมไทย (ให้มีความทันสมัยกับบริบทในช่วงนั้น) ผิดพลาดไปมาก (ว่ารังเกียจและต่อต้านวัฒนธรรมไทยอันเป็นรากเหง้าของตัวเอง) ความตั้งใจของจอมพล ป. นั้น จริงๆ แล้วคือปรารถนาจะ “จัดระบบระเบียบ” ให้กับศิลปะการแสดงทุกแขนง เพื่อให้ดู “ทันสมัยกับอารยประเทศ” (และออกกฎระเบียบ ห้ามแสดงในสิ่งที่ขัดต่อความเป็นสมัยใหม่ที่สะท้อนความมีอารยธรรม) สิ่งนี้คือการทำ “Positioning” ในเชิงวัฒนธรรม ที่มีผลทั้ง “ด้านบวก” และ “ด้านลบ”
นโยบายของจอมพล ป. ไม่ได้ส่งผลเพียงเรื่องอาชีพและการพัฒนาดนตรีไทย แต่ส่งผลต่อศิลปะการแสดงอื่นๆ อีกมากมาย ที่มักจะถูกมองโดยเข้าใจ (ผิดอย่างมาก) ว่า รัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อ “ทำลาย” วัฒนธรรมดั้งเดิม (ความเข้าใจผิดนี้ ส่งผลจนถึงขั้นทำให้ราษฎรกลัว ไม่กล้าแสดง หรือยกเลิกอาชีพการแสดงไปเลยก็มี) นั้น แม้จะมีปรากฏขึ้นจริงอยู่ตามหลักฐานจากงานวิจัย แต่หากศึกษาให้ถ่องแท้ ก็จะรู้ว่า จอมพล ป. เอง ก็ประจักษ์ในความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ และก็พยายามหันกลับมาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเหล่านี้ และสนับสนุนส่งเสริม ให้มีการแสดงศิลปะการแสดงของไทยอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้นมากในภายหลัง (อีกทั้งสนับสนุนสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่จำนวนมาก ที่สะท้อนความ “รักชาติ” “รักวัฒนธรรมไทย” ในแบบคน “สมัยใหม่” เช่น รำวง เพลงและดนตรีไทยแบบสมัยใหม่ ไปจนกระทั้่งการแข่งขันการแสดงพื้นบ้านแบบ “สมัยนิยม” เป็นต้น) มีวิทยานิพนธ์ และงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ”
รศ. ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ ยืนยันบริบทสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามด้วย ข้อควรรู้ก่อนไปดู WATERFALL A New Musical ตามตัวอย่างที่ยกมาอ้างอิง
ข้อมูลจากการบอกเล่า ของนักดนตรีไทยร่วมสมัย[5]
นักดนตรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเข้าใจ “พระราชกริสดีกากำหนดวัธนธัมทางศิลปกัมเกี่ยวกับการบันเลงดนตรี การขับร้องและการพากย์ พุทธศักราช 2486” แตกต่างกันเป็น 2 กลุ่ม แต่หากพิจารณาศึกษานโยบายรัฐบาลควบคู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ในขณะนั้น จะพบว่าแท้ที่จริงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามสนับสนุนส่งเสริมดนตรีไทย แต่การดำเนินงานโดยไม่เข้าใจแบบแผนดนตรีไทย และพยายามปรับปรุงดนตรีไทยตามมาตรฐานดนตรีตะวันตก ย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในด้านลบ
กลุ่มแรกเข้าใจว่าพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้เป็นคำสั่งที่รัฐบาลห้ามเล่นดนตรีไทย จึงเลิกประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีไทย บางคนขายเครื่องดนตรีไทยเพราะเกรงจะมีความผิดในข้อหามีเครื่องดนตรีไทยในความครอบครอง บางคนไม่กล้าแม้แต่จะจับฉวยบรรเลงเครื่องดนตรีด้วยเกรงอาญาบ้านเมือง
ส่วนกลุ่มที่เข้าใจว่าพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นเพียงการกีดกันการประกอบอาชีพนักดนตรีไทย ก็ยังคงประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีไทย แต่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรัฐบาล เพราะวิธีการของรัฐบาลในการควบคุมการเล่นดนตรีไทยโดยกำหนดให้ศิลปินนักดนตรี ต้องผ่านการรับรองจากกรมศิลปากรสร้างความยุ่งยากในการประกอบอาชีพ ความเข้าใจเช่นนี้ได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมา ฯลฯ
อีกหนึ่งในจุดเด่นที่เป็นความสำคัญของละครได้รับการยืนยันคุณภาพด้านดนตรีและเพลงด้วยเสียงชื่นชมจากผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์นพีสี เรเยส Napisi Reyes : Dramaturg อาจารย์ผู้สอนกำกับการแสดง เขียนบท ประวัติศาสตร์ละครเพลง สัมมนาละครเพลง และเป็นที่ปรึกษาด้านการละคร ของมหาวิทยาลัยมหิดล
“Waterfall a new musical”[6]
นานมากๆ แล้วที่ไม่ได้มีโอกาสได้ยินเสียงร้องไพเราะทรงพลังแบบนี้ นานเท่าๆ กับเวลาหลายปีที่ไม่ได้ไปชมละครบรอดเวย์เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิดเป็นการรับชมละครเพลงสามชั่วโมงที่อิ่มเอมเปรมปรีดิ์มากๆ นักแสดงนำจากเวสท์เอนด์และบรอดเวย์ทั้งสามท่าน. Josh Dela Cruz, Danielle Hope และ Jon Jon Briones แสดงฝีมือได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีลีลา เทคนิคการร้องเพลงที่รื่นหู ไม่ติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเอกของเรื่อง Danielle Hope ที่มีเทคนิคในการร้องโดดเด่น เสียงไม่ตกไม่แผ่วแม้ในยามร้องไปเต้นไป เคลื่อนที่ไป ชื่นชมนพพร Josh Dela Cruz ในการร้องเพลงไทยด้วยสำเนียงเลียนแบบการเอื้อนแบบไทย
ดนตรีและเนื้อร้อง ไพเราะมีความหมายมากๆ สมแล้วที่เขียนโดยมือชั้นครูอย่าง Richard Maltby Jr.แล้วมี Karen Hartman เข้ามาช่วย และมือรางวัลออสการ์อย่าง David Shire ได้ยินสำเนียงเพนทาโทนิคในเพลงไทย เนื้อไทย แต่เป็นในเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงจนได้สำเนียงที่แปลกหูไม่เสร่อ เพลงเด่นๆ ทั้งหลายเพราะติดหูติดใจจนอยากหาแผ่นมาฟังในบัดดล ลักษณะการวางเพลงบางฉากทำให้นึกถึงเรื่อง Miss Saigon (แต่เรื่องนี้เป็นมิสไซ่ง่อนฉบับโปรไทยกว่ามาก)
ชอบการออกแบบท่าเต้นฝีมือนักแสดงแฮมิลตันเก่าอย่าง Morgan Marcell ชอบการประสมประสานความเป็นไทยที่พลิ้วไหวเป็นสากล ชอบการเชื่อมต่อทรานสิชั่นด้วยนางรำนายรำที่พลิ้วมาก ไปคนละเรื่องกับท่ารำแข็งๆ แปลกๆ แต่ติดตา ที่ Jerome Robbins เคยทำไว้ใน The King and I
Waterfall ใช้ “ข้างหลังภาพ” เป็นแค่ “แรงบันดาลใจ” จริงๆ เรื่องนี้ไปไกลมาก ตีความ ใส่ความลุ่มลึก สร้างมิติให้ตัวละคร เคยขัดใจว่าละครเพลงเรื่องนี้เหตุใดจึงต้องใช้ชื่อว่า Waterfall และต้องโปรโมทฉากน้ำตกขนาดนั้น จนได้มาดูเวอร์ชั่นนี้ ชอบบทพูดที่เกี่ยวกับปรัชญาศาสนาพุทธที่ไม่แน่ใจว่ามีปรากฏในข้างหลังภาพหรือเปล่า ที่มีการตีความเรื่องน้ำตกในเชิงความไม่จีรัง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันทำให้เห็นเหตุผลของการที่เรื่องนี้จำเป็นต้องมีน้ำตก และจำเป็นต้องใช้ชื่อเรื่องว่า Waterfall เลยทีเดียว
บทสร้างมิติให้ตัวละคร สนุกน่าติดตามได้ไม่เบื่อ ขยันหยอดมุกฮาๆ แต่ก็กระตุ้นต่อมน้ำตาคนดูได้เสมอ นักแสดงอีกคนที่ออกมาทีไรก็ได้เสียงฮา ประทับใจทุกครั้งคือนักแสดงที่รับบทเป็น นวล (Elaine Marcos) จังหวะ comedy ของเธอเป๊ะมากๆ น้ำเสียงก็แปลกมีเอกลักษณ์
ชอบแนวทางการทำให้เรื่องส่วนตัวกับเรื่องการเมืองเชื่อมต่อกัน บทช่วงต้นที่จบองก์ที่ 1 ที่น้ำตก เต็มไปด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ ในขณะที่องก์ 2 รู้สึกว่าอาจยังต้องคลุกเคล้าให้เข้าที่อีกนิด บางตอนยังรู้สึกว่าบทมีความเป็น “ไทย” มากจนคนดูต่างชาติอาจต้องมีความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์และแนวคิด “ไทยๆ” สมัยนั้นสักหน่อยหรือไม่ จึงจะเก็ทได้ถึงสิ่งที่ตัวละครเชื่อและสื่อสาร บางทีก็อยากให้ก้าวข้ามความเป็นไทยไปสู่สิ่งที่กว้างกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ เหมือนกับการสร้างสรรค์ละครเพลงเรื่องนี้ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย จนผลักให้ละครก้าวจาก “ระดับชาติ” ไปสู่ความเป็น “ระดับสากล” ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยรวมๆ เรียกได้ว่า บทดี
อีกความปิติชื่นชมที่เกิดขึ้นตลอดการชมละครเพลงเรื่องนี้ก็คือ การได้เห็นคนรู้จักที่มี passion กับละครเพลงมากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเด็กๆ และศิษย์เก่าสาขาละครเพลง และคนอื่นๆ อีกมาก ที่ได้มีโอกาสขึ้นไปโลดแล่นบนเวทีที่เป็นอุดมคติของการทำงานละครเพลง ได้เรียนรู้การทำงานแบบระดับโลก ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด ขอขอบคุณคุณบอย Takonkiet Viravan ที่ให้โอกาสเด็กๆ ที่มี passion กับละครเพลงได้สานฝัน ขอบคุณที่บุกเบิก มุ่งมั่นสร้างงานละครเพลงในแนวทางของตัวเองอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย อยากที่สุดที่จะเห็นการไปต่อของโปรดักชั่น Waterfall จนถึงฝั่งฝันได้ในเร็ววันนี้”
“ขอให้เป็น production คนไทย production แรกที่ได้ไปถึงบรอดเวย์” นพีสี เรเยส (Napisi Reyes)
Music Theatre Department College of Music, Mahidol University
นอกจากผู้กำกับ ถกลเกียรติ วีรวรรณ จะสนับสนุนให้มีการจัดสรรบัตรนักศึกษาราคาพิเศษสุดในการเข้าชมการแสดง WATERFALL A New Musical แล้ว การมาร่วมงานกับทีมไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ในครั้งนี้ของ Richard Eldridge Maltby Jr. (ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดงละครเพลง Tony Award จากเรื่อง Ain't Misbehaving, Fossee และนักเขียนบทและเนื้อร้องละครเพลงเรื่องดังๆ เช่น Miss Saigon, และล่าสุด เขียนบทและเนื้อร้องให้กับละครเพลง WATERFALL A New Musical) ยังส่งผลถึงการเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาขับร้องปฏิบัติและละครเพลง ของ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับศิลปินในตำนานละครเพลงและรับฟังบรรยายเรื่องการเขียนเนื้อร้อง แรงบันดาลใจเบื้องหลังการทำงาน ฯลฯ ให้แก่นักเรียนมัธยมดนตรี และนักศึกษาสาขาละครเพลงที่เรียนวิชา History of Musical Theatre 3 เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจ Richard ให้ความหวังว่าอาจจะมีโครงการพิเศษเพื่องานศึกษาร่วมกันตามมาอีกในอนาคต
ถกลเกียรติ วีรวรรณ ฝากความฝันของเขาไว้ให้เราร่วมด้วยช่วยพัฒนาวงการละครเวทีไทยให้เจริญก้าวหน้าสู่ระดับสากลบนความบันเทิงกระแสหลักของโลก
“การที่ละครเวทีเรื่องหนึ่งจะไปถึงบรอดเวย์ได้หรือไม่นั้น เต็มไปด้วยขั้นตอนมากมายแล้วไม่ใช่ทุกเรื่องสามารถไปถึงบรอดเวย์ได้ แต่ละเรื่องจะต้องลองอ่านบท แล้วทดลองเปิดการแสดงในเมืองต่างๆ เป็นการทดสอบผู้ชม ในปี 2015 (2558) WATERFALLl ได้ไปแสดงที่ Pasadena Play House ในเมือง Pasadena (May), 5 th Avenue Theatre ในเมือง Seattle (October) มีบางคนได้บินไปดูนะที่ Pasadena ที่ Seattle แต่กับหลายๆ คนเชื่อว่ายังไม่มีโอกาสได้ดูกัน พอมาปีนี้ผมคิดว่าเราพร้อมแล้วสำหรับ another production WATERFALL อยากให้คนไทยได้ดูก่อน ผมว่ามันเป็น happening อะไรบางอย่างสำหรับประเทศไทย เป็นก้าวที่สำคัญของละครเวทีไทย เพราะนี่คือการผสมผสานความเป็นไทย และ International”
ต่อให้เราต่างไม่ทราบความเป็นไปในอนาคต ว่าแนวโน้มของความนิยมขณะนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และอย่างไร หรือไม่ ถึงแม้ที่ผ่านมา จะไปได้เพียง around Broadway แต่ไม่ได้แปลว่า ถกลเกียรติ วีรวรรณ จะไม่สามารถนำพา “WATERFALL a new musical” เติบโตต่อไปในระดับที่ฝันไว้ได้ เพียงปรับจุดพร่องให้ถูกต้องและจริงจัง ร่วมกันบันทึกประวัติศาสตร์ไทยในเวทีโลกอย่างรื่นรมย์ผ่านงานที่รัก เพราะถึงอย่างไรเขาก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้สำเร็จแล้วในเมืองไทยตามที่ปรารถนามานาน ผ่านการต่อสู้ถางทางอย่างทรหด เฝ้าอดทนรอคอยอย่างไม่เคยย่อท้อถอดใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องตะกายข้ามเขาสูงชันบากบั่นข้ามทวีปแบบพลีชีพเพื่อชาติ ขอเอาใจช่วยให้นำธงไทยไปปักเส้นชัยได้สำเร็จ เพราะถ้าเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ.
หมายเหตุ
รับชม “ข้างหลังภาพ The Musical” เต็มเรื่องได้ที่ช่อง ONED สมัครฟรี ชมฟรี
- Cr.photo : Muangthai Rachadalai Theatre
- Cr.photo : Music Theatre Mahidol University
- Cr.photo : photo : Kullakan Waseenon
บรรณานุกรม
- Masterworks broadway. “ริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์,” สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566.
- Napisi Reyes. (14 ก.ย. 2566). “Waterfall, a new musical,” สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566.
- THE STANDARD POP TEAM. (16 ธันวาคม 2524). “16 ธันวาคม 2524 – วันเกิด โอปอล์ ปาณิสรา หญิงแกร่งที่สวยด้วยทัศนคติ และเชื่อมั่นว่าทุกชีวิตล้วนแตกต่างและเท่าเทียม,” สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566.
- RCAC84.“ละครผอม,” สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2566.
- ไทยรัฐออนไลน์. (15 ก.ย. 2555). “ตำนานรักงดงามระดับโลก “มิสไซง่อน” พร้อมสะกดสายตาผู้ชมชาวไทยแล้ว!!,”สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2566.
- ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. Silpa-mag. (4 ก.พ. 2566). “รัฐบาลจอมพล ป. ส่งเสริม หรือย่ำยีดนตรีไทย,” สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2566.
[1] RCAC84,“ละครผอม,” [online] สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2566.
[2] Masterworks broadway, “ริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์,” [online] สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566.
[3] ไทยรัฐออนไลน์, (15 ก.ย. 2555), “ตำนานรักงดงามระดับโลก “มิสไซง่อน” พร้อมสะกดสายตาผู้ชมชาวไทยแล้ว!!,” [online] สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2566.
[4] THE STANDARD POP TEAM, (16 ธันวาคม 2524), “16 ธันวาคม 2524 – วันเกิด โอปอล์ ปาณิสรา หญิงแกร่งที่สวยด้วยทัศนคติ และเชื่อมั่นว่าทุกชีวิตล้วนแตกต่างและเท่าเทียม,” [online] สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566
[5] ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์, ใน, Silpa-mag, (4 ก.พ. 2566), “รัฐบาลจอมพล ป. ส่งเสริม หรือย่ำยีดนตรีไทย,” [online] สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2566.
[6] Napisi Reyes, (14 ก.ย. 2566), “Waterfall, a new musical,” [online] สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566.
- ละครเวที
- กวินพร เจริญศรี
- WATERFALL a new musical
- ละครเพลง
- ละครผอม
- Broadway
- ถกลเกียรติ วีรวรรณ
- ข้างหลังภาพ
- ศรีบูรพา
- ปรีดี พนมยงค์
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- Richard Maltby Jr.
- ข้างหลังภาพ The Musical
- Josh Dela Cruz
- Danielle Hope
- Jon Briones
- David Shire
- Takonkiet Viravan
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ปี 1930
- พ.ศ 2473
- สมบูรณาญาสิทธิราชย์
- ประชาธิปไตย
- แคทเธอรีน
- นพพร
- สิทธิเสรีภาพผู้หญิง
- Miss Saigon
- Elaine Marcos
- ละครอ้วน
- Morgan Marcell
- New Classical Thai Dance
- รัดเกล้า อามระดิษ
- Anticlimax
- Anti-Theme
- 24 มิถุนายน 2575
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- คณะราษฏร
- รัฐอนุรักษ์
- ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์
- นพีสี เรเยส
- Napisi Reyes
- ความเป็นไทย
- รัชดาลัยเธียเตอร์