Focus
- วิถีแห่งอาการเคลื่อนไหวของสังคมย่อมก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่อาจถอยหลังกลับไปสู่ระบบล้าหลัง ในระยะหัวต่อหัวเลี้ยวที่มีสิ่งบังตา และสิ่งทั้งหลายย่อมพัฒนาจากปริมาณเข้าสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
- การเคลื่อนไหวของสังคมมีสองวิถีที่แตกต่างกันคือ (1) วิถีวิวัฒน์ คือ การเปลี่ยนแปลงโดยความสำนึกตามธรรมชาติที่สภาวะเก่ามีการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณทีละเล็กทีละน้อย ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงจากระบบศักดินาสู่ธนานุภาพในอังกฤษ หรือ (2) วิถีอภิวัฒน์ คือ การเปลี่ยนแปลงในทางคุณภาพของสังคมที่กระทำอย่างฉับพลันหรือการกระทำชุดเดียว เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
- “ไดอาเล็คติคส์” (Dialectics) หรือ “ประติการ” เป็นคำที่ใช้สำหรับการพูด การคิด การสนทนาหรือการสากัจฉา (ธรรมสากัจฉา) และในทางที่ขยายการสนทนาไปยังปรากฏการณ์จริงของธรรมชาติก็ได้ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มาจากข้อขัดแย้งในแก่นสารที่ปะทะกันอยู่ภายในตัวของสิ่งต่างๆ รวมทั้งภายในสังคมหนึ่งๆ และก่อให้เกิดพลังงานแห่งการเคลื่อนไหวของสังคม
บทที่ 10 วิถีแห่งอาการเคลื่อนไหวของสังคม
10.1
ต่อไปนี้ก็เป็นการสมควรที่จะต้องกล่าวถึงวิถีแห่งอาการเคลื่อนไหวของสังคม ว่าการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าเข้าสู่ระบบใหม่นั้นเป็นไปตามจังหวะอย่างไร
ก่อนอื่น ผู้อ่านย่อมสังเกตได้จากท่านที่ได้ประสบเองและจากที่ข้าพเจ้าได้นำเอาปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นแก่สังคมทั้งหลายในโลกนี้มากล่าวไว้นั้นว่า ระบบสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วหลายทอดนั้นย่อมเข้าสู่ระบบสังคมใหม่ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเสมอ มิใช่ถอยหลังกลับไปสู่ระบบล้าหลัง เว้นไว้แต่ในระยะหัวต่อหัวเลี้ยวที่มีสิ่งบังตาอยู่ตามที่ได้กล่าวในตอนต้น ทั้งนี้ก็เพราะตามกฎธรรมชาตินั้น สิ่งทั้งหลายย่อมพัฒนาจากปริมาณเข้าสู่คุณภาพที่ดียิ่งขึ้นเสมอ
10.2
จังหวะของการเคลื่อนไหวมีอยู่สองชนิด คือ
(1) วิถีวิวัฒน์ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคมได้ดำเนินกิจกรรมประจำวันไปโดยความสำนึกตามธรรมชาติเอง และทำให้สภาวะเก่าเปลี่ยนแปลงทางปริมาณจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็ได้จำนวนการเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบเก่าทั้งระบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบทาสในสังคมไทยที่เป็นไปตามวิถีวิวัฒน์ ทีละเล็กละน้อย ในที่สุดก็เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทาสทั้งระบบ
การเปลี่ยนแปลงระบบศักดินามาเป็นระบบธนานุภาพของหลายสังคมก็ดำเนินไปตามวิถีวิวัฒน์ เช่นในอังกฤษ ซึ่งในที่สุดส่วนใหญ่ของระบบศักดินาก็เปลี่ยนเป็นระบบธนานุภาพ และพัฒนาเป็นบรมธนานุภาพ (imperialism) โดยไม่มีการอภิวัฒน์ที่รุนแรง
อันที่จริง ถ้ากายาพยพหรือร่างกายของสังคมคือสถาบันและระบบการเมือง ได้ดำเนินให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมโดยไม่ล่าช้าจนเกินไปนักแล้ว สังคมก็เปลี่ยนไปตามวิถีวิวัฒน์ที่มิใช่การอภิวัฒน์อย่างรุนแรง
(2) วิถีอภิวัฒน์ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคมได้ประสานกันเข้า เปลี่ยนระบบเก่าที่ล้าหลังกว่าความพัฒนาในสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม อันเป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพโดยการกระทำฉับพลันหรือการกระทำชุดเดียว ซึ่งต่างกับการเปลี่ยนโดยวิถีวิวัฒน์ที่ทำมาทีละน้อยๆ
ตามกฎธรรมชาตินั้น กายาพยพต้องสมานกับสสาร ดั่งนั้น ถ้ากายาพยพของสังคมเปลี่ยนล่าช้ากว่าความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมจนเนิ่นนานเกินสมควรแล้ว ธรรมชาติก็บังคับให้กายาพยพจำต้องสมานกับสสารจนได้ คือเมื่อไม่เป็นไปตามวิถีวิวัฒน์ก็ต้องเป็นไปตามวิถีอภิวัฒน์ เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ต้องเป็นไปเช่นนั้น เพราะกายาพยพของสังคมเปลี่ยนแปลงล่าช้าเกินสมควรกว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวปัจจัยของสังคม การเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสในปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งต้องเป็นไปโดยวิถีอภิวัฒน์ก็เพราะกายาพยพของศักดินาไม่ยอมเปลี่ยนโดยวิถีวิวัฒน์ให้สมานกับสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่ก้าวหน้าไปมาก
บทที่ 11 ประติการ = ไดอาเล็คติคส์
11.1
การเคลื่อนไหวของเครื่องมือการผลิตและบุคคลผู้ทำการผลิตอันประกอบเป็นพลังการผลิตก็ดี ความสัมพันธ์การผลิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นก็ดี กายาพยพคือสถาบันและระบบสังคมตลอดจนทรรศนะทางสังคมที่มีกำเนิดมาจากสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามก็ดีย่อมต้องมี “พลังงาน” (ENERGY) ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ทางสังคมนั้นเคลื่อนไหวไป
ในทางธรรมชาติวิทยานั้น สิ่งต่างๆ ย่อมมีด้านบวกกับด้านลบที่ปะทะกันอยู่ก่อให้เกิด พลังงาน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่าอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่มีตัวตนแต่สามารถทำงานได้ เช่น สามารถทำให้น้ำเดือด ทำให้พืชและสัตว์มีชีวิตอยู่ได้ ทำให้เครื่องจักรกลเดินได้ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในสสารทั่วไป
ในทางสังคมนั้น พลังงานทางสังคมก็มีอยู่ในสสารทางสังคมทั่วไป ซึ่งเกิดจากวิถีตามที่ปรัชญาเมธีแห่งสสารธรรมเรียกตามศัพท์ทางปรัชญาว่า “ไดอาเล็คติคส์” (DIALECTICS) และข้าพเจ้าขอยืมเอาคำสันสกฤตมาใช้เป็นศัพท์ไทยว่า “ประติการ” ตามความหมายที่ศัพท์ “ไดอาเล็คติคส์” ได้วิวรรตผันแปรมาเป็นข้อขัดแย้งที่ปะทะกันอยู่ภายในตัวของสิ่งต่างๆ รวมทั้งภายในสังคมหนึ่งๆ
11.2
เราต้องทำความเข้าใจว่า “ไดอาเล็คติคส์” ไม่ใช่ของใหม่ที่นักปราชญ์ยุโรปคิดขึ้นก่อนชาวเอเชีย เป็นธรรมดาที่นักปราชญ์ทางยุโรปส่วนมากในปัจจุบันนี้ได้ค้นคว้าหาต้นเหตุทางปรัชญาเพียงสมัยกรี๊กโบราณ
ในบางตำรากล่าวไว้ว่า
“ไดอาเล็คติคส์” มาจากภาษากรีก DIALEGO คือการสนทนา การสากัจฉาในสมัยโบราณไดอาเล็คติคส์เป็นศิลปแห่งการบรรลุถึงสัจจะโดยการเผยข้อขัดแย้งในเหตุผลของฝ่ายตรงกันข้ามและโดยการล่วงพ้นข้อขัดแย้งเหล่านี้ ในสมัยโบราณมีปรัชญาเมธีที่เชื่อว่าการเผยข้อขัดแย้งในความคิดและการปะทะกับความเห็นตรงข้ามเป็นวิถีดีที่สุดในการบรรลุถึงสัจจะ ต่อมาวิถีไดอาเล็คติคส์แห่งความคิดนี้ขยายไปยังปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติ พัฒนาไปเป็น วิถีไดอาเล็คติคส์แห่งการที่จะเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งถือว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติเป็นสภาวะที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และการพัฒนาของธรรมชาติเป็นผลแห่งการพัฒนาของข้อขัดแย้งในธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลแห่งการต่างโต้กันของพลังงานตรงข้ามในธรรมชาติ”
ผู้อ่านตำรานั้นพึงสังเกตว่า ตำราบอกไว้ชัดพอสมควรแล้วว่า เดิมคำนี้ใช้ในเรื่องที่มีการพูด ต่อมาใช้ในการคิด ต่อมาขยายมาเป็นข้อขัดแย้งที่มีอยู่ในธรรมชาติซึ่งก้าวหน้าไปไกลมากจากเรื่องที่มีการพูด
ในตำรานั้นมิได้กล่าวว่านักปรัชญากรี๊กผู้ใดที่ใช้วิถีเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าได้ค้นพบว่าสำนักปรัชญากรี๊กโบราณที่ใช้วิถี ไดอาเลโก ก็คือสำนักของ “ซีโนแห่งอีเลีย” ซึ่งเกิดภายหลังพุทธกาลประมาณ 60 ปี สำนักนั้นเรียกศิลปชนิดนั้นว่า DIALEKTIKE (ไดอาเล็กติเก) ซึ่งผสมระหว่างคำ DIALEGO กับคำ TEKNE (เต็กเน) ที่แปลว่า “ศิลป” หรือ “วิทยา” เมื่อรวมคำที่ผสมกัน เป็น “ไดอาเล็กติเก” แล้วก็แปลว่า ศิลปหรือวิทยาแห่งสากัจฉา
เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ ข้าพเจ้าได้เคยแสดงปาฐกถาครั้งหนึ่งในประเทศไทย แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างปรัชญากรี๊กกับพระอภิธรรมของพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่ไปถึงดินแดนกรี๊กโบราณ บัดนี้ข้าพเจ้าคิดว่าวิธี “ไดอาเล็กติเก” ของกรี๊กโบราณก็คือวิธี “ธรรมสากัจฉา” ซึ่งปุจฉาวิสัชนาธรรมของพระพุทธองค์นั้นเอง
วิธี ไดอาเล็กติเก หรือ ไดอาเล็คติคส์ ของกรี๊กโบราณไม่ใช่วิธีที่เรียกว่า “วิภาษ” พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “วิภาษ ก. พูดแตกต่าง พูดแย้ง (ส. วิ + ภาษ)” เพราะวิธีวิภาษของปรัชญากรี๊กยังมีอีกสำนักหนึ่งซึ่งเกจิอาจารย์จำพวก “โซฟิสต์” ได้แนะไว้เรียกว่า “อีรีสติคส์” (ERISTICS) คือการโต้วาทีชนิดเอาชนะแพ้กันทางคารม
อย่างไรก็ตาม ตำราที่ข้าพเจ้าอ้างถึงข้างบนนี้ก็บอกไว้ชัดแจ้งแล้วว่าวิธีไดอาเล็คติคส์ ของกรี๊กโบราณได้วิวรรตผันแปรจากการเป็นวิธีสากัจฉามาเป็นวิธีใช้ความคิด ผู้อ่านควรรู้ว่าในสมัยกรี๊กต่อมานั้นได้ใช้คำ “ไดอาเล็กติเก” ซึ่งแผลงมาจาก ไดอาเลโก เพื่อหมายถึงวิชาที่เรียกในยุคปัจจุบันว่า LOGIC หรือตรรกวิทยา ในยุโรปยุคกลางที่ยังไม่มีผู้ตั้งศัพท์ LOGIC ขึ้นนั้น การสอนตรรถวิทยาก็เรียกว่าวิชา “ไดอาเล็คติคส์” ต่อมาในต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ปรัชญาเมธีเยอรมันชื่อ เฮเกล ได้นำเอาศัพท์นี้ไปใช้เพื่อหมายถึง การปะทะโต้แย้งในวิถีของการใช้ความคิดที่จะบรรลุถึงสัจจะ อันเป็นวิธีตรรกวิทยา และถือว่าสสารกับจิตก็มีวิถีเคลื่อนไหวโดยมีการปะทะของสิ่งตรงข้ามระหว่างกัน ครั้นแล้วปรัชญาเมธีฝ่ายสสารธรรมก็นำเอาคำนี้มาใช้ตามความหมายดั่งตำราที่อ้างข้างบนนั้นกล่าวไว้ และมีนักปราชญ์บางท่านได้สรุปว่า
“ตามความหมายที่ถูกต้อง ไดอาเล็คติคส์ คือการศึกษาพิจารณาถึงข้อขัดแย้งภายในแก่นอันเป็นสาระโดยเฉพาะของสิ่งทั้งหลาย”
ดั่งนั้น ข้าพเจ้าจึงถ่ายทอดคำอังกฤษไดอาเล็คติคส์มาเป็นภาษาไทยว่า “ประติการ”
11.3
ผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่าในทางสังคมนั้นมีสภาวะที่ตรงกันข้ามอยู่ทั่วไปที่ปะทะกัน เช่น สภาวะใหม่ กับ สภาวะเก่า พลังใหม่ กับ พลังเก่า ความคิดใหม่ กับ ความคิดเก่า ดั่งนั้น “ประติการ” จึงมีอยู่ทั่วไปในสังคม อันก่อให้เกิดพลังงานที่ทำให้สังคมเคลื่อนไหวไป ทำนองเดียวกันกับสิ่งตามธรรมชาติทั้งหลายที่มีด้านบวก กับ ด้านลบ ปะทะกัน อันก่อให้เกิด พลังงาน
ข้าพเจ้าเห็นว่าสังคมทุกประเภทย่อมมีประติการ และไม่เห็นด้วยกับบางท่านที่กล่าวว่าเมื่อสังคมบรรลุถึงขั้นนั้นๆ แล้วก็ไม่มีประติการ การปฏิเสธหลักประติการดั่งว่านั้นเป็นการปฏิเสธกฎแห่งความเคลื่อนไหวของสังคม โดยยอมรับว่าเมื่อสังคมพัฒนาถึงขั้นนั้นๆ แล้วก็หยุดนิ่งไม่พัฒนาต่อไป
แม้ในสังคมปฐมสหการที่ไม่มีวรรณะนั้น ด้านบวกกับด้านลบของสังคม คือประติการก็มี มิฉะนั้นสังคมประเภทนี้จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบทาสได้อย่างไร?
ประติการในสังคมปฐมสหการเป็นข้อขัดแย้งในความคิดที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาเครื่องมือการผลิตและความสามารถในการใช้และการทำเครื่องมือของบุคคลผู้ผลิต ตลอดจนข้อขัดแย้งในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิต เพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น ในการผลิตและกายาพยพของสังคมที่จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วย
แต่ความขัดแย้งในสังคมปฐมสหการก็ดี สังคมกิจก็ดี เป็นประติการในระหว่างความถูกต้องและความผิดพลาดระหว่างมนุษย์ในสังคมซึ่งมีการประนีประนอมกันได้ โดยถือเอาผลที่เป็นยอดแห่งความคิดที่ปะทะกันนั้น ประติการในสังคมเช่นนั้นจึงไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างปรปักษ์
ส่วนประติการในสังคมที่มีวรรณะนั้น การขัดแย้งระหว่างวรรณะซึ่งไม่อาจประนีประนอมกันได้ เป็นการต่อสู้ระหว่างปรปักษ์ซึ่งทำให้สังคมเคลื่อนไหวไปอย่างรุนแรงกว่าประติการในสังคมที่ปราศจากวรรณะ
ดั่งนั้น เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่มีมนุษยชาติเป็นต้นมา ซึ่งบางท่านประมาณว่าไม่น้อยกว่าหกแสนปีมาแล้ว มนุษยชาติอยู่ในระบบปฐมสหการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 590,000 ปีเศษ มนุษยชาติบางส่วนเพิ่งเริ่มเข้าสู่ระบบทาสเมื่อประมาณ 10,000 ปีมานี้เอง แม้กระนั้นก็ยังมีสังคมปฐมสหการเหลืออยู่อีกในบางท้องถิ่นของโลกเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ก็เพราะพลังงานอันเกิดจากประติการในสังคมปฐมสหการนั้นไม่มีความรุนแรงจึงทำให้สังคมชนิดนั้นเคลื่อนไหวไปช้าๆ ส่วนประติการในสังคมที่มีวรรณะต่างๆ เป็นปรปักษ์ต่อกันนั้นก่อให้เกิดพลังงานมาก จึงทำให้สังคมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของระบบปฐมสหการ ยิ่งเป็นระบบธนานุภาพของบางสังคมที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติซึ่งเข้าสู่ระบบสังคมกิจแล้วนั้น ผู้อ่านก็จะเห็นได้ว่าเพียงชั่วเวลาประมาณ 100 ปีที่ระบบธนานุภาพอุบัติขึ้นในสังคมนั้นแล้ว สังคมนั้นก็เคลื่อนไหวเสื่อมสลายไปเร็วมากกว่าสังคมอื่น
ข้าพเจ้าเห็นว่า ผู้มีศรัทธาในระบบสังคมขั้นใดไม่น่าวิตกกังวล อาลัย เสียดายถึงกับจะต้องปฏิเสธกฏประติการ คือเมื่อสังคมบรรลุถึงขั้นสูงนั้นๆ แล้วแม้จะไม่มีประติการชนิดปรปักษ์ระหว่างวรรณะ แต่ก็มีประติการที่จะทำให้สังคมขั้นนั้นๆ พัฒนาสูงยิ่งขึ้นตามลำดับ
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. วิถีแห่งอาการเคลื่อนไหวของสังคม, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9). 2543, น. 41-48.
บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :
บทก่อนหน้า
- บทที่ 1 กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย
- บทที่ 2 หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
- บทที่ 3-4 ที่มาของมนุษยชาติกับมนุษยสังคมและสัญลักษณ์พิเศษของมนุษย์แต่ละสังคม
- บทที่ 5 สมุฏฐานของมนุษย์และมนุษยสังคม
- บทที่ 6 วรรณะ ฐานันดร ชนชั้น
- บทที่ 7 รากฐานของสถาบันการเมือง
- บทที่ 8-9 ความเกี่ยวโยงระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง และทรรศนะทางสังคม
- ความเป็นอนิจจังของสังคม
- ปรีดี พนมยงค์
- วิถีแห่งอาการเคลื่อนไหวของสังคม
- ประติการ = ไดอาเล็คติคส์
- วิถีวิวัฒน์
- ระบบธนานุภาพ
- ระบบศักดินา
- วิถีอภิวัฒน์
- 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
- วิทยาศาสตร์
- ไดอาเล็คติคล์
- ประติการ
- วิถีไดอาเล็คติดส์
- ซีโนแห่งอีเลีย
- ธรรมสากัจฉา
- โซฟิสต์
- อีรีสติคส์
- ตรรกวิทยา
- เฮเกล
- วรรณะ
- สังคมปฐมสหการ