ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : ความเกี่ยวโยงระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง และ ทรรศนะทางสังคม

13
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • ทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ในระบบปฐมสหการ ระบบทาส ระบบศักดินา และระบบธนานุภาพ มีความแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปสมาชิกในสังคมจำพวกหนึ่งมีอำนาจใช้สมาชิกในสังคมอีกจำพวกหนึ่งให้ทำงานเพื่อตน โดยพวกขี่ครองมีทรรศนะที่จะรักษาการขี่ครองของพวกตนให้เหนือผู้ถูกขี่ครองไว้ และหาทางที่จะใช้วิธีขี่ครองให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
  • ทรรศนะทางสังคมมีผลสะท้อนไปยังสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่สร้างขึ้นจากเครื่องมือการผลิตและโดยผู้สามารถทำเครื่องมือการผลิต อันประกอบกันเข้าเป็นพลังการผลิตของสังคม ซึ่งเมื่อพลังการผลิตเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ความสัมพันธ์(ทาง)การผลิตเปลี่ยนแปลงไป
  • การที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในราวกลางคริสต์คริสตศตวรรษที่ 15 ทำให้มีสร้างเครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ และต่อมาในปลายคริสต์คริสตศตวรรษ ที่ 18 มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและใช้เครื่องจักรกลใหม่แทนที่โรงงานหัตถกรรมของระบบศักดินา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในระบบทุนหรือระบบธนานุภาพ อันเป็นความสัมพันธ์ของเจ้าสมบัติกับผู้ไร้สมบัติ และจะดำเนินไปสู่ความเป็นอนิจจัง โดยเปลี่ยนจากระบบธนานุภาพเข้าสู่ระบบสังคมกิจ (สังคมนิยม)

 

บทที่ 8 ทรรศนะทางสังคม

ส่วนทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ก็เกิดขึ้นจากรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยนั่นเอง คือในระบบปฐมสหการและสังคมกิจ (สังคมนิยม) มนุษย์ก็มีทรรศนะในทางช่วยเหลือร่วมมือกันฉันพี่น้องโดยมิได้มีความคิดกดขี่หรือเบียดเบียนระหว่างกัน ในระบบทาส ระบบศักดินา ระบบธนานุภาพซึ่งสมาชิกในสังคมมีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างกัน โดยสมาชิกในสังคมจำพวกหนึ่งมีอำนาจใช้สมาชิกในสังคมอีกจำพวกหนึ่งให้ทำงานเพื่อตน สมาชิกในสังคมก็มีทรรศนะแตกต่างกันตามจำพวกหรือวรรณะ กล่าวคือพวกขี่ครองก็มีทรรศนะที่จะรักษาการขี่ครองของจำพวกตนไว้และหาทางที่จะใช้วิธีขี่ครองให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนวรรณะที่ถูกขี่ครองก็มีทรรศนะที่ต้องการให้หลุดพ้นจากการถูกขี่ครอง ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เช่น สัตว์ที่ถูกกักขังไว้ในกรงก็ต้องหาทางออกจากกรง

ส่วนข้อยกเว้นในระหว่างหัวต่อหัวเลี้ยวระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นนั้น ก็เป็นไปได้ในการที่บุคคลในวรรณะเก่าบางคนมีทรรศนะก้าวหน้า และคนในวรรณะใหม่บางคนมีทรรศนะถอยหลัง

ทรรศนะทางสังคมจึงมีชนิดที่ใช้เพื่อรักษาจารีตและฟื้นระบบเก่าทั้งระบบหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง กับชนิดใหม่ที่ใช้เพื่อพัฒนาระบบใหม่ ทรรศนะทั้งสองชนิดนี้ปะทะกันอยู่ในการนำวิถีแห่งความเคลื่อนไหวของสังคม ข้าพเจ้าได้ทำความเข้าใจไว้แล้วว่า ความเคลื่อนไหวของมนุษยสังคมนั้นดำเนินไปโดยมนุษย์มีจิตสำนึก จึงมีทรรศนะทางสังคมที่เป็นหลักนำในการเคลื่อนไหว ส่วนสิ่งตามธรรมชาติอย่างอื่นที่ไม่มีจิตใจนั้นดำเนินเคลื่อนไหวไปโดยปราศจากจิตสำนึก

พึงต้องทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า แม้ทรรศนะทางสังคมเกิดขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทรรศนะทางสังคมก็มีผลสะท้อนไปยังสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัย คือเป็นหลักนำที่มีอิทธิพลยิ่งขึ้นในการเคลื่อนไหวของสังคมที่ต้องดำเนินก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามกฎธรรมชาติ

 

บทที่ 9 ความเกี่ยวโยงระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง และ ทรรศนะสังคม

9.1

เรารู้แล้วว่าการได้มาซึ่งชีวปัจจัยนั้นจำต้องมี การผลิต

การผลิตชีวปัจจัยนั้นจำต้องมีเครื่องมือในการผลิตกับต้องมีบุคคลที่สามารถใช้เครื่องมือการผลิต และสามารถทำเครื่องมือการผลิตนั้น ทั้งสองสิ่งนี้ประกอบกันเป็น พลังการผลิตของสังคม (Productive forces)

พลังการผลิตของสังคมมิได้นิ่งคงอยู่กับที่ ดั่งนั้น เมื่อพลังการผลิตเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ ความสัมพันธ์การผลิต เปลี่ยนแปลงไป

9.2

ในสมัยดึกดำบรรพ์เมื่อครั้งมนุษยชาติยังรู้จักแต่เพียงเครื่องมือหินนั้น การผลิตชีวปัจจัยก็คือการเก็บผลไม้และการจับสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาเป็นอาหาร อันมีอยู่ตามธรรมชาติในที่ดินซึ่งไม่มีผู้ใดหวงกันไว้เป็นส่วนของเอกชนโดยเฉพาะความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างมนุษย์จึงเป็นไปตามความเหมาะสมแก่สภาพเช่นนั้น คือการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันเป็นระบบปฐมสหการ

แม้ต่อมามนุษย์สามารถเอาโลหะมาทำเป็นเครื่องมือ ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่ามนุษย์เข้าสู่ระบบทาสนั้น อันที่จริงยังอยู่ในระหว่างระบบ ปฐมสหการที่กำลังพัฒนา ซึ่งเราอาจเห็นได้จากรูปธรรมของหลายสังคมในเอเชีย

ระบบปฐมสหการเริ่มเสื่อมก็ภายหลังที่มนุษยชาติรู้จักปรับปรุงเครื่องมือโลหะดีขึ้น จึงรู้จักเอาเครื่องมือนั้นมาทำการเพาะปลูกในที่ดิน และจับสัตว์มา บังคอกเลี้ยงไว้ อีกทั้งปลูกที่พักอาศัยในที่ดินเป็นประจำแทนการพเนจร จึงเกิดความจำเป็นที่ต้องหวงกันที่ดินไว้เป็นส่วนของเอกชน กิเลสของเอกชนจึงเกิดขึ้น การสะสมผลิตผลที่ทำได้และการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างเอกชนก็เกิดมีขึ้น อันเป็นหัวต่อระหว่างระบบปฐมสหการไปสู่ระบบทาส ซึ่งเป็นระบบที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต

9.3

การที่ระบบปฐมสหการต้องสลายไปโดยมีระบบทาสขึ้นแทนที่นั้น เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในเครื่องมือการผลิตอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เครื่องมืออะไร?

บางท่านอาจเอาเรื่องระบบทาสของโรมันในสมัยหลังที่คนตกเป็นทาสได้เพราะหนี้สิน เช่นเดียวกับที่ปรากฏในกฎหมายเก่าของไทย ดั่งนั้น จึงอาจเข้าใจว่าผู้สะสมปัจจัยการผลิตในสังคมเดียวกันเป็นทาสก่อนที่จับเอาคนมาจากสังคมอื่น ว่าที่จริงการสะสมปัจจัยการผลิตของเอกชนในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นไม่ใหญ่โตมหาศาลถึงกับจะทำให้คนในสังคมส่วนมากต้องอดตายถ้าไม่ยอมเป็นทาสเพื่อแลกกับชีวปัจจัย ซึ่งต่างกับการสะสมปัจจัยการผลิตในสมัยต่อๆ มา เพราะในสมัยก่อนโน้นผลิตผลตามธรรมชาติในป่ายังมีอยู่สมบูรณ์พอที่จะหาได้

ตามรูปธรรมที่ค้นได้จากหลายสังคมในเอเชียนี้ ก็คือการเอาคนลงเป็นทาสนั้นเริ่มกระทำกันภายหลังที่มีการรบพุ่งระหว่างสังคมที่เป็นกลุ่มน้อยๆ ต่างๆ คือแทนที่สังคมฝ่ายชนะจะฆ่าคนของสังคมฝ่ายแพ้ก็เปลี่ยนเป็นจับเอาคนของสังคมฝ่ายแพ้มาใช้งานอย่างจับสัตว์พาหนะมาทำงาน ทั้งนี้ก็เพราะมนุษยชาติได้พิพัฒนาเครื่องมือเพาะปลูก เช่น ไถได้ดีขึ้น และต้องการแรงงานสัตว์พาหนะยิ่งขึ้น การจับเอาคนของสังคมที่แพ้มาทำงานของสังคมที่ชนะจึงเป็นการทำให้พลังการผลิตของสังคมเปลี่ยนไปเป็นระบบทาส เช่นการที่ชาวยุโรปจับเอาชาวนีโกรไปเป็นทาสเพื่อบุกเบิกที่ดินในทวีปอเมริกา และชนบางเผ่าในตอนตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอินเดียที่เคยมีการล่ามนุษย์อยู่อีกเมื่อ 50 ปีก่อน

เมื่อผู้สะสมปัจจัยการผลิตรวมทั้งสะสมทาสที่ได้จากสังคมอื่นมากแล้ว จึงมีอำนาจในสังคมมากขึ้น และรวบปัจจัยของสังคมไว้ได้เป็นส่วนมาก อันเป็นเหตุทำให้คนส่วนมากของสังคมตกเป็นคนยากจน ซึ่งต้องขายลูก ขายเมียและขายตัวเองเพื่อแลกกับชีวปัจจัย มนุษย์ที่ยากจนจึงกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งซึ่งหมด มนุษยภาพ คือต้องตกเป็นทาส การเป็นทาสเนื่องจากหนี้สินและการขายลูกเมียและตัวของผู้ขายเองจึงมีขึ้นในภายหลัง

ความสัมพันธ์การผลิตจึงเปลี่ยนจาก ระบบปฐมสหการ มาเป็น ระบบทาส

9.4

ในสมัยระบบทาสเครื่องมือการผลิตได้พัฒนายิ่งขึ้น เช่น เครื่องมือการเพาะปลูกก็มีมากมายหลายชนิด อาทิไถที่มีผาลเหล็กก็ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น มีคราดและเครื่องเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้น มีเครื่องจับสัตว์บกและสัตว์น้ำดีขึ้น มีเครื่องทอผ้าและเครื่องจักสานและภาชนะดินเผา ฯลฯ การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ตลอดจนการทำสวนก็ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นและขยายมากขึ้น การผลิตชีวปัจจัยจึงต้องการความประณีตจากบุคคลผู้ทำการผลิตยิ่งกว่าทาสในสมัยแรก ที่ถูกบังคับให้ทำงานอย่างทารุณเยี่ยงสัตว์พาหนะ ซึ่งไม่มีกำลังตั้งใจทำงานเพราะทาสเป็นมนุษย์มีจิตสำนึก เจ้าทาสจึงต้องลดความทารุณต่อทาสลงกว่าเดิม และผ่อนผันให้ทาสมีมนุษยภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งให้รางวัลหรือส่วนของผลิตผลที่ทำได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นการล่อใจ ระบบทาสอย่างทารุณก็เริ่มเสื่อมลงโดยมี ความสัมพันธ์ชนิดใหม่ ซึ่งเป็นปฐมเหตุแห่ง ระบบศักดินา

9.5

ระบบศักดินาที่เริ่มเกิดขึ้นตามที่กล่าวในข้อ 9.4 นั้นก็ได้ดำเนินคู่กันไปกับระบบทาส ปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่แล้วในสังคมไทย และแม้ในสังคมกรี๊กทั่วไป (ไม่ใช่เอาสังคมกรี๊กเล็กๆ สังคมหนึ่งขึ้นมาเป็นหลัก) อีกทั้งในสังคมโรมันก็จะพบปรากฏการณ์ทำนองนั้น

เครื่องมือการผลิตได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นหลายอย่างยิ่งกว่าในระบบทาสเดิม โรงหัตถกรรมต่างๆ ในการผลิตชีวปัจจัยต่างก็เกิดมีขึ้น ที่ดินรกร้าง ก็ได้ถูกบุกเบิกทำการเพาะปลูกหรือมี “ที่นา” มากขึ้น ทำนองเดียวกันกับที่ชาวอเมริกันล่าคนนีโกรไปเป็นทาสเพื่อบังคับให้ทำการบุกเบิกที่ดินในสหรัฐอเมริกา เจ้าของทาสก็ได้เป็นเจ้าของที่นาซึ่งทาสได้ทำการบุกเบิกไว้ด้วย

โดยเฉพาะการหักร้างถางพงและบุกเบิกให้เป็นที่นาซึ่งขยายออกไปมาก ยิ่งขึ้นนั้นทำให้เจ้าทาสผู้เป็นเจ้าของนาไม่สามารถควบคุมการทำงานของทาสในที่นาซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากบ้านเจ้าทาสยิ่งขึ้นนั้นได้อย่างใกล้ชิด แม้ว่าทาสจะได้รับสิ่งล่อใจบ้างเป็นการตอบแทนตามที่กล่าวมาแล้วข้างบนนั้นก็ตามแต่การทำงานของทาสที่ห่างไกลจากเจ้าทาสก็ยิ่งทำให้เจ้าทาสไม่ได้ผลอย่างที่ตนควบคุมได้อย่างใกล้ชิด ดังนั้นเจ้าทาสจึงเปลี่ยนวิธีใช้แรงงานใหม่ คือให้ทาสบางคนได้รับอิสระ ไม่ต้องรับใช้อยู่ประจำกับเจ้าทาส แต่ให้ไปอยู่ประจำอยู่ในที่นา โดยต้องทำการเพาะปลูกและเก็บผลที่ได้ส่งมอบให้แก่เจ้าของนาหรือ ที่เรียกกันว่า “ส่งส่วย”

ความสัมพันธ์การผลิตชีวปัจจัยระหว่างเจ้าทาสกับทาสจึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านากับข้าที่ดิน หรือ “ลูกนา” คือ ระบบศักดินา

9.6

ภายหลังที่ยุคใหม่ของยุโรปได้เริ่มขึ้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 แล้ว การศึกษาวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ขึ้นหลายอย่างหลายประการ ความรู้ในการเดินเรือรอบโลกได้ทำให้ชาวยุโรปหลายจำพวกยึดครองดินแดนในทวีปต่างๆ เป็นอาณานิคม ครั้นแล้วก็ได้มีผู้คิดเครื่องจักรกลที่ใช้กำลังไอน้ำได้ในปลายคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรกลใหม่ดังกล่าวแล้วก็ได้เกิดขึ้นมาแทนที่โรงงานหัตถกรรมของระบบศักดินาซึ่งเสื่อมสลายไปเพราะไม่อาจทนต่อสู้กับโรงงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า

เครื่องมือการผลิตชนิดใหม่ดั่งกล่าวแล้วจำต้องใช้คนงานที่มีความรู้ความสามารถยิ่งกว่าข้าที่ดินหรือลูกนา เพราะคนงานจะต้องเข้าใจในเครื่องจักรกลสมัยใหม่และสามารถใช้เครื่องจักรกลนั้นได้ ดังนั้น เจ้าปัจจัยการผลิตสมัยใหม่หรือนัยหนึ่ง เจ้าสมบัติ นั้นก็จำเป็นต้องใช้คนงานที่มีความเป็นอิสระยิ่งกว่าข้าที่ดินหรือลูกนาซึ่งประจำทำงานในที่ดินโดยส่งส่วยแก่เจ้าที่ดินหรือเจ้านาในการนี้จึงจำต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ชนิดศักดินาเดิมมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง นายจ้าง กับ ลูกจ้าง คือความสัมพันธ์แห่งระบบทุนหรือระบบธนานุภาพ ซึ่งบางสังคมก็มีพลังมหาศาลเป็น บรมธนานุภาพ ทำการยืดครองดินแดนมากหลายในทวีปต่างๆ เป็นอาณานิคม รวมทั้งบังคับสังคมไทยให้จำต้องยอมรับวิธีสัมพันธ์ชนิดใหม่ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย

9.7

ภายหลังที่ได้มีเครื่องจักรกลที่ใช้กำลังไอน้ำแล้ว เครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ก็ได้พัฒนายิ่งขึ้นอีกมากมาย เครื่องยนต์กลไก เครื่องไฟฟ้านานาชนิดที่มนุษย์สมัยใหม่ได้คิดขึ้นและปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งปัจจุบันนี้สามารถใช้พลังปรมาณูมาเป็นเครื่องมือการผลิต การพัฒนาในเครื่องมือต่างๆ นี้ ได้ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมหาศาลมากมายในการผลิตชีวปัจจัย และในการขนส่งกับแลกเปลี่ยนชีวปัจจัย เจ้าสมบัติหรือนายทุนสมัยใหม่ก็รวบรวมปัจจัยการผลิตไว้ในมือของตนมากยิ่งขึ้น ส่วนสมาชิกส่วนมากของสังคมที่ไร้ปัจจัยการผลิตหรือไร้สมบัติก็ต้องตกเป็นลูกจ้างของเจ้าสมบัติเพื่อทำงานแลกกับชีวปัจจัย การขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับ ลูกจ้างหรือระหว่างเจ้าสมบัติกับผู้ไร้สมบัติก็เกิดขึ้นตามกฎธรรมดา

ในสังคมใดที่มีการประนีประนอมโดยฝ่าย เจ้าสมบัติ กับ ผู้ไร้สมบัติ ยอมให้ผู้ไร้สมบัติได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมบ้าง และยอมกระทำการอันเป็นสวัสดิการของผู้ไร้สมบัติ ระบบธนานุภาพของสังคมนั้นก็ยังประทังอยู่ต่อไปได้ แต่ในสังคมใดที่ข้อขัดแย้งทวีความรุนแรงถึงขีดที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ระบบธนานุภาพของสังคมนั้นก็ดำเนินไปสู่ความเป็นอนิจจังเร็วขึ้น ซึ่งผู้อ่านก็คงรู้อยู่แล้วว่าแม้สังคมที่เป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติหลายสังคมก็ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้น โดยเปลี่ยนจาก ระบบธนานุภาพ เข้าสู่ ระบบสังคมกิจ (สังคมนิยม)

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. ทรรศนะทางสังคม, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9). 2543, น. 33-41.

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :

บทก่อนหน้า

บทถัดไป