ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

1 ปี หลังการอภิวัฒน์ : เกมการเมืองเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยาม

28
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามใน พ.ศ. 2476 มีขึ้นระหว่างวันที่ 15-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และเป็นไปตามหลักการข้อที่ 4 ของคณะราษฎร ในเรื่องจะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน อันเป็นการมอบสิทธิเสมอภาคทางการเมืองให้แก่พลเมือง
  • การเลือกตั้งอาศัยรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายที่ผ่านการพิจารณา 4 ฉบับ อาทิ ฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยยกร่างเสนอและผ่านการเห็นชอบของสภาผุ้แทนราษฎร และได้รับการแก้ไขหลังจากการปิดสภาผู้แทนราษฎร โดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 แต่ก็ถูกแก้ใหม่หลังกบฏวรเดชแพ้ ราวกับเกมการเมือง
  • การเลือกตั้งครั้งแรกนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือ ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนจังหวัด และเข้าไปทำหน้าที่ร่วมกับผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร จากสมัยที่หนึ่งที่มีอยู่ก่อนหน้า

 


ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม พ.ศ. 2476

 

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามเป็นหนึ่งในปฐมบทของประชาธิปไตยที่กำเนิดมาจากการวางหลักการเบื้องแรกภายหลังระบอบใหม่ หากยังมีสิ่งที่น่าสนใจและถูกละเลยในการนำเสนอของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกคือ การเมืองเรื่องการเลือกตั้งของสยามที่ขับเคี่ยวและขัดแย้งกันระหว่างนายปรีดี พนมยงค์และพระยามโนปกรณ์นิติธาดาผ่านการร่างกฎหมายการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งที่นายปรีดี เสนอผ่านอนุกรรมการร่างกฎหมายและสภาผู้แทนราษฎร
  2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2475
  3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476
  4. พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 สิงหาคม 2476

สรุปอย่างเข้าใจง่ายได้ว่าฉบับที่ 2 คือฉบับที่นายปรีดีเสนอ ฉบับที่ 3 คือฉบับที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแก้ไข และฉบับที่ 4 คือฉบับที่รัฐสภาภายใต้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แก้ไขฉบับที่ 3 ให้กลับไปมีตัวบทสำคัญตามฉบับที่ 2 ของนายปรีดี

ทั้งนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าพิจารณาคือการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองจากการปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งข้อหลังนี้มีผลให้วันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในทางปฏิบัติไม่ตรงกันโดยในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปะทะทางการเมืองจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นระหว่างวันที่ 15-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นส่วนเสี้ยวสำคัญความไม่ลงรอยกันในช่วงต้นระบอบใหม่หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากการตรากฎหมายเลือกตั้ง ข้อถกถามในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชิ้นสำคัญ และข้อมูลใหม่ของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยามจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 16-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

 

ปฐมบทประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา : เบื้องแรกอุดมคติและข้อกำหนดของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยาม

 

 

ในประกาศคณะราษฎร ลงวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 มีหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรวางหลักการไว้ทั้งในทางอุดมคติประชาธิปไตยและเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของรัฐโดยหลักข้อที่ 4 จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน…ซึ่งการจัดให้มีการเลือกตั้งถือเป็นปฐมบทสำคัญที่คณะราษฎรเริ่มต้นมอบสิทธิเสมอภาคทางการเมืองให้แก่พลเมือง

 

 

ต่อมาได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ในส่วนที่ 2 ของมาตรา 10-17 รวมทั้งสิ้น 8 มาตรา โดย “มาตรา ๑๐  สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดั่งนี้

สมัยที่ ๑

นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา

สมัยที่ ๒

ภายในเวลา ๖ เดือนหรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ

ประเภทที่ ๑  ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุกๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑

ประเภทที่ ๒  ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป  ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ

สมัยที่ ๓

เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

และในมาตรา 11-17 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและระเบียบการเลือกตั้งไว้ในเบื้องต้นว่า

มาตรา ๑๑  คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ คือ
 ๑. สอบไล่วิชชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาจะได้ตั้งขึ้นไว้
 ๒. มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์
 ๓. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
 ๔. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการรับเลือก
 ๕. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
 ๖. ฉะเพาะผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนประเภทที่ ๑ ในสมัยที่ ๒ จะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกในสมัยที่ ๑ เสียก่อนว่าเป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนำมาซึ่งความไม่เรียบร้อย”

มาตรา ๑๒  การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทำดั่งนี้
 ๑. ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล
 ๒. ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล
 ๓. ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร
การเลือกตั้งสมาชิกในสมัยที่ ๓ จะมีกฎหมายบัญญัติภายหลังโดยจะดำเนิรวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง

มาตรา ๑๓  ผู้แทนประเภทที่ ๑ จะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๔ ปีนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสมัยที่ ๓ แล้วแม้ผู้แทนในสมัยที่ ๒ จะได้อยู่ในตำแหน่งไม่ถึง ๔ ปีก็ดี ต้องออกจากตำแหน่งนับแต่วันที่ผู้แทนในสมัยที่ ๓ ได้เข้ารับตำแหน่ง

ถ้าตำแหน่งผู้แทนว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวร ให้สมาชิกเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างแต่ผู้แทนใหม่มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๔ ราษฎรไม่ว่าเพศใดเมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้  ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ คือ
 ๑. มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
 ๒. ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ
 ๓. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง
 ๔. ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย
 คุณสมบัติของผู้แทนหมู่บ้านและผู้แทนตำบลให้เป็นไปเหมือนดั่งมาตรา ๑๑

มาตรา ๑๕ การเลือกตั้งผู้แทนใดๆ ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการเลือกครั้งที่ ๒ ถ้าครั้งที่ ๒ มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตั้งคนกลางออกเสียงชี้ขาด และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางไว้

มาตรา ๑๖ ผู้แทนนอกจากถึงเวร จะต้องออกจากตำแหน่ง ให้นับว่าขาดจากตำแหน่ง เมื่อขาดคุณสมบัติดั่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๑ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อตาย หรือเมื่อสภาได้วินิจฉัยให้ออกในเมื่อสภาเห็นว่าเป็นผู้ทำความเสื่อมเสียให้แก่สภา

มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนศาลจึ่งจะรับฟ้องได้

 

 

กระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2475 ซึ่งนายปรีดี และอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างฯ ขึ้นแล้วนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยการประชุมครั้งนี้ทางประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้นายปรีดีชี้แจงแนวคิดและหลักการเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ดังกล่าวซึ่งมีส่วนที่มาจากปฐมรัฐธรรมนูญซึ่งหลังจากได้มีการประชุมอนุกรรมการฯ แล้วเมื่อนำเสนอสู่การประชุมสภาฯ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามเหตุการณ์ ข้อสังเกตสำคัญเรื่องสัมพันธภาพระหว่างนายปรีดีและพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ยังไม่ปรากฏความขัดแย้งขึ้นเพราะยังเปิดโอกาสให้นายปรีดีชี้แจ้งเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ อย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรวมทั้งสิ้น 47 มาตรา และมี 2 ภาค คือ ภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 คือ ประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง และภาค 2 ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือประเภทที่จะตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีปลดหรือตั้งเพิ่มเติมซึ่งเป็นคนละวิธีกับประเภทที่ 1

 

 

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายเลือกตั้งที่นายปรีดีกับอนุกรรมการฯ นำเสนอและมีข้อถกถามกันมากคือ มาตรา 1-4 ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้แทนตำบล ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไม่ค่อยมีการเผยแพร่เอกสารชั้นต้นมากนัก เนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยามยังมีงานศึกษาน้อยชิ้น[1] ผู้เขียนจึงขอนำเสนอฉากหลังทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดเพื่อให้เห็นปฐมบทประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาว่าด้วยการตรากฎหมายเลือกตั้ง ขั้นตอนการเสนอกฎหมาย การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรขวบปีแรกของการอภิวัฒน์สยามที่เป็นไปอย่างเข้มข้น รวมทั้งได้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของสยามมีความคิดทางการเมืองอย่างไร และยังพบกลวิธีการประนีประนอมของนายปรีดี และบทบาทของพระยามโนกรณ์นิติธาดาในช่วงเวลานั้นที่ยังไม่ขัดแย้งกันกับนายปรีดี โดยถอดความจากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (ตอนเช้า) ดังต่อไปนี้

 

ประธานคณะกรรมการราษฎร กล่าวว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระวางเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๔๗๕ ฉะบับนี้ อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดร่างขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และมีข้อความหลายข้อที่ตัดเอามาจากพระธรรมนูญชั่วคราวมาลงไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เพราะคิดว่าข้อความเหล่านั้นอาจจะต้องแก้ไขเสมอตามเหตุการณ์ จะพึงมีพึงเป็นมีในฉะเพาะกาล เพราะฉะนั้นจึ่งเอามาใส่ไว้เพื่อจะได้แก้ไขได้ง่ายตามเหตุการณ์ ฉะนั้นอนุกรรมการจึ่งได้ร่างขึ้นมาเสียด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ทําร่างนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึ่งขอให้เป็นผู้อธิบายชี้แจงต่อไป

“มาตรา ๑-๔ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า สําหรับความทั่วไปประธานคณะกรรมการราษฎรได้ชี้แจงมาแล้ว ต่อไปนี้สำหรับข้าพเจ้าที่ได้รับมอบฉันทะให้ชี้แจง ขอกล่าวว่า ความสําคัญในพระราชบัญญัตินี้เราได้แบ่งออกเป็นความใหญ่ ๒ ภาค คือในภาค ๑ ว่าด้วย สมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ คือประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง ส่วนภาค ๒ ซึ่งมีความอยู่มาตราเดียวนั้น ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ คือจะตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยวิธีปลดหรือตั้งเพิ่มเติมอย่างใด เป็นคนละวิธีการกับสมาชิก ประเภทที่ ๑ ใจความสําคัญในพระราชบัญญัตินี้ฉะเพาะที่เกี่ยวกับประเภทที่ ๑ มีอยู่ว่า แต่เดิมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรากําหนดให้มีเลือกตั้ง ๓ ชั้น หรือ ๓ ดีกรี คือให้ราษฎรเลือกผู้แทนหมู่บ้าน ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนตําบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ได้พิจารณาเห็นว่าสมควรจะตัดชั้นแรก หรือดีกรีแรกออกเสีย จะทําให้ประหยัดทั้งเวลาและเป็นการที่จะอบรมให้ราษฎรได้มีการเลือกตั้งน้อยดีกรีขึ้น และต่อไปผลที่สุดเมื่อบ้านเมืองและเหตุการณ์ของเราเรียบร้อยเจริญดีแล้วราษฎรก็เลือกผู้แทนของตนโดยตรงทีเดียว แต่ว่าเวลานี้เรายังทําไม่ได้ เพราะเกี่ยวแก่การศึกษาและเหตุอื่น เพราะฉะนั้น จึ่งมีไว้เป็น ๒ ดีกรี คือชั้นแรก ราษฎรในตําบลเลือกตั้งผู้แทนตำบลละคน ผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกตั้งก็ไปออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ใครจะเป็นผู้แทนตําบลนั้น ก่อนที่จะเป็นต้องไปสมัครไว้ก่อน ส่วนการสมัครจะมีคุณสมบัติอย่างไรนั้นก็มีว่าต้องมีภูมิลําเนา หรือถิ่นที่อยู่หรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นบุคคลที่เกิดในที่นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่จะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกัน คืออาจจะเป็นโดยว่ามีภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น และไม่จําเป็นว่าผู้แทนตําบลนั้นจะต้องเลือกคนที่มีบ้านประจําในตําบลนั้น วิธีเช่นนี้ในนานาประเทศเขาก็ทํากัน เช่นเราจะเห็นได้เช่นผู้อยู่ปารีส อาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกทางหัวเมือง ทางปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ก็ได้ในเมื่อตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับท้องที่นั้น ตามที่กฎหมายจะกําหนด ต่อไปนี้ขอชี้แจงว่า เราจะกําหนดให้มีผู้แทนราษฎรเป็นจํานวนเท่าใด ข้อนี้มีความปรากฏในมาตรา ๓ (๑) ว่า

“ราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงในตําบลเลือกตั้งผู้แทนตําบลละหนึ่งคน”

“ความจริงนั้นตำบลอาจจะมีเล็กมีใหญ่ และที่กําหนดให้มีแต่ตําบลละคนนั้นก็เพราะเพื่อความสะดวกในปัจจุบัน แต่ที่จะให้ได้รับความยุตติธรรมเท่ากันจริง ๆ นั้นเรายังทําไม่ได้ ในเบื้องต้นจึงกําหนดให้เลือกฉะเพาะตําบลละหนึ่งคน อีกอย่างหนึ่งถ้าจะพูดถึงข้ออ้างแล้ว ในกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่เราก็มีเหตุอ้างว่าได้ คือในกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่นั้นมีใจความว่า ราษฎรประมาณ ๑๐ ครัวเรือนจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้าน ๑๐ หมู่บ้านจัดให้เป็นตําบลหนึ่ง คือสําหรับตําบลนั้นพอที่จะเฉลี่ยกันได้ ซึ่งต่างกับจังหวัด เพราะจังหวัดหนึ่งอาจมีตำบลน้อย อีกจังหวัดหนึ่งมีตําบลมาก สําหรับจังหวัดนั้นบางจังหวัดอาจมีคนเพียง ๓๐,๐๐๐ คน แต่บางจังหวัดมี ๖-๗ แสนก็ได้ ฉะนั้น สําหรับตำบลจึ่งให้เป็นไปเช่นนี้ก่อน ต่อเมื่อบ้านเมืองเราเจริญดีขึ้นแล้วก็จะได้คิดกันอีกชั้นหนึ่ง ทีนี้กล่าวถึงการเลือกผู้แทนราษฎรในจังหวัดในมาตรา ๓ (๒) มีว่า “ผู้แทนตำบลในจังหวัดเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดละหนึ่ง ถ้าจังหวัดใด มีพลเมืองเกินกว่าหนึ่งแสน ให้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุก ๆ แสน เศษของหนึ่งแสนถ้าถึงครึ่ง ให้นับเป็นหนึ่งแสน ถ้าต่ำกว่าครึ่งให้ปัดเศษ” ความหมายก็มีว่าการเลือกผู้แทนราษฎรนั้นให้เลือกได้จังหวัดละ ๑ คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองมากกว่าแสน เป็นต้นว่ามีแสนหกหมื่น เศษหกหมื่นมากกว่าครึ่งแสนก็ให้นับเป็นแสน กล่าวคือจังหวัดนั้นเลือกผู้แทนได้ ๒ คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองแสนสามหมื่น เศษสามหมื่นไม่ถึงครึ่งแสนก็คิดปัดเศษออก คงเลือกผู้แทนได้คนเดียว คือให้ถือเหมือนกับแสนเดียว หลักการมีเช่นนี้ที่ประชุมจะเห็นจะอย่างไร ?”

พระยาปรีชานุสาสน์ ถามว่า ถ้าแม้ผู้แทนถือตามเกณฑ์หนึ่ง ได้คําณวนหรือเปล่าว่าจะมีผู้แทนมาสักเท่าใดทั้งหมด

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า ประมาณอย่างหยาบ ๆ ราว ๑๒๐ คน ซึ่งไม่เกินกว่าในเมืองต่างประเทศ และในการที่เลือกเช่นนี้เราก็ต้องคิดถึงเงินรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าหากว่ามีมากก็ต้องใช้จ่ายมากขึ้น

พระยาปรีชานุสาสน์ ถามว่า รวมผู้แทนที่จะมีทั้งหมดราว ๒๔๐ เช่นนี้จะไม่ทํางานการดำเนิรช้าไปสักหน่อยหรือ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า เวลานี้มีผู้ประสงค์ที่จะให้การงานได้ดําเนิรไปโดยถี่ถ้วน ซึ่งทางอนุกรรมการก็ได้คิดดูแล้วถึงเรื่องที่ว่าถ้ารวมสมาชิกทั้งสองประเภทเข้าแล้วจะมีจํานวนมาก ซึ่งงานที่อาจจะช้าบ้าง แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าแม้งานจะช้าก็คงช้าโดยความหวังดีด้วยกันทุกท่าน ฉะนั้นเห็นว่าไม่ต้องวิตกถึงข้อนี้

ครั้นแล้วได้อ่านมาตรา ๔ เสนอและกล่าวว่า สําหรับถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัตินี้ขอว่าถ้าชัดแล้วก็ขอให้ใช้ได้ เป็นเกณฑ์ไม่จําเป็นต้องเพราะเสนาะหู ไม่จําเป็นต้องให้ละเอียดถี่ถ้วนอย่างรัฐธรรมนูญถาวรนัก สําหรับมาตรา ๔ นี้เราได้บัญญัติถึงเรื่องที่ว่าผู้ใดบ้างจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง คือ

(๑) มีสัญชาติ เป็นไทยตามกฎหมาย ในข้อนี้เราได้มีกฎหมายว่าด้วยสัญชาติอยู่แล้วว่าบุคคลชะนิดไหนบ้างที่ถือว่าเป็นสัญชาติไทย แต่เราได้ มีข้อยกเว้นไว้ ๒ ประการ คือว่าบุคคลคนหนึ่งในเวลาเดียวอาจจะมีสองสัญชาติก็ได้ คือบิดาเป็นคนต่างชาติมารดาเป็นไทยเกิดในสยาม กฎหมายไทยเราถือว่าเป็นคนในสัญชาติไทย แต่กฎหมายต่างประเทศถือว่าถ้าบิดาเป็นคนต่างชาติแล้วเขาก็ถือว่าเป็นคนในสัญชาติของบิดา กลายเป็นคนมีสองสัญชาติ แต่เรื่องนี้นานาประเทศก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าจะให้ถือสัญชาติอะไรแน่ เช่นนี้เราจึงทําข้อยกเว้นไว้

(ก) ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ จะได้แต่งกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนหนังสือไทยจนได้ประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปีที่ ๓ หรือได้รับราชการประจําการตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว หรือได้รับราชการประจําแผนกอื่น ๆ ในตําแหน่งตั้งแต่เสมียนขึ้นไปโดยมีเงินเดือนแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี นี่ก็เพื่อที่จะส่อให้เห็นหรือต้องการที่จะให้บุคคลนั้นมีความผูกพันต่อประเทศมากกว่าปกติ ความผูกพันในการที่ได้เรียนจบชั้นมัธยม ๓ ก็ส่อว่าได้เรียนรู้อบรมเป็นไทยบ้างแล้ว หรือได้รับราชการทหารหรือตํารวจ ก็ย่อมได้อบรมนิสสัยมาในทางนั้นแล้ว หรือที่ว่าได้รับราชการประจําแผนกอื่น ๆ ในตําแหน่งตั้งแต่เสมียนขึ้นไปโดยมีเงินเดือนประจําไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ก็นับว่าเป็นผู้อบรมเป็นไทยมาเพียงพอแล้ว ส่วนข้อยกเว้นอีกข้อ คือ (ข) ถ้าเป็นคนที่แปลงชาติมาเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กําหนดไว้ใน (ก) หรือได้อยู่ในราชอาณาจักรสยามเป็นเวลาติดต่อกัน แต่เมื่อได้แปลงชาติมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี เรื่องนี้ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน คนที่แปลงชาติมาไม่ยอมให้มีสิทธิออกเสียงเลย จึ่งจําเป็นที่จะต้องกําหนดคุณสมบัติไว้ตามที่กําหนดไว้ในข้อ (ก) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า แปลงชาติแล้วก็จริงแต่ไม่มีคุณสมบัติใน (ก) คือไม่ได้เข้าโรงเรียน ไม่ได้เป็นตํารวจหรือทหาร หรือไม่ได้เป็นเสมียนแต่เป็นพ่อค้า ดั่งนี้ เราก็ยังได้เปิดสิทธิให้ออกเสียงได้เหมือนกัน คือต้องอยู่ในราชอาณาจักรสยามแล้ว ๑๐ ปีหลังจากที่ได้แปลงชาติแล้ว และก่อนที่ได้แปลงชาติ กฎหมายแปลงชาติก็บัญญัติแล้วว่า จะต้องอยู่ในสยามไม่น้อยกว่า ๕ ปี รวมเป็นอันว่าต้องอยู่ในสยาม ๑๕ ปีที่มีสิทธิออกเสียงได้ ซึ่งแปลว่าได้มีความผูกพันเป็นไทยพอเพียงแล้ว ส่วนข้อ ๒ มีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์นั้น ในที่นี้เราถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ ไม่ถือการที่บรรลุนีติภาวะ เพราะการบรรลุนีติภาวะนั้นคนอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี ก็มีภรรยาได้ ฉะนั้นเราจึ่งถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ ๓. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ในข้อนี้มีต่างกับธรรมนูญชั่วคราวบ้าง คือในธรรมนูญชั่วคราวเราใช้ว่า ไม่เป็นผู้ไร้หรือเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งศาลจะต้องเป็นผู้แสดง แต่ที่เราบัญญัติไว้ใหม่นี้ไม่จําเป็นที่จะต้องให้ศาลแสดง กล่าวคือ มอบอํานาจให้กรมการอําเภอจัดการได้ทีเดียว หากว่าเป็นผู้ที่ไม่สมประกอบ อําเภอก็มีอํานาจที่จะงดเสียซึ่งการสมัครออกเสียงนั้นก็ได้ เมื่อเขาไม่พอใจก็ให้ไปยื่นอุทธรณ์ทางศาลต่อไป ซึ่งวิธีนี้เห็นว่าได้ความสะดวกสําหรับสยามเหมือนกัน เพราะถ้าไปตามหัวเมืองจะเห็นว่ามีคนบ้าตามศาลาวัดมาก ซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ส่วนข้อ ๔ ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง เรื่องนี้เราก็ได้คิดแล้วเหมือนกัน ถ้าหากไม่บัญญัติไว้เช่นนี้ เมื่อถึงเวลาโว๊ตเราก็ต้องปล่อยพวกนี้ออกไป ซึ่งเราไม่มีเจ้าพนักงานเพียงพอ ฉะนั้นจึ่งห้ามเสียทีเดียว ส่วนข้อ ๕ ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือ นักบวช ในขณะมีการเลือกตั้ง ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิในการเมือง ขอแก้คําว่า “ในการเมือง” เป็น “ออกเสียง” นี่ก็คือว่าสิทธิในการออกเสียงในพระราชบัญญัตินี้เราบัญญัติไว้ว่าในกรณีย์อย่างไรเราจึ่งเพิกถอน นอกจากนั้นเราจะต้องทําต่อไปอีก ก็คือเราต้องตรวจกฎหมายอีก เช่นกฎหมายอาชญาว่าความผิดอย่างไร จึ่งจะถอนสิทธิซึ่งเป็นกิจการที่จะทําในภายหน้า

พระยาประเสริฐสงคราม ถามว่า ในมาตรา ๔ ๑. (ก) ที่ว่า “ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ จะได้แต่งงานกับมารดา โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม” สงสัยว่า มารดานั้นจะเป็นคนชาวไหน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องดูกฎหมายสัญชาติ เพราะในนั้นกล่าวอยู่แล้วว่าเป็นมารดาชาวไหนบ้าง

พระประพิณพนยุทธ กล่าวว่า ในมาตรา ๔ ๑. (ก) ในบรรทัดสุดท้าย ๓ บรรทัดที่ว่า “หรือได้รับราชการประจําแผนกอื่น ๆ ในตำแหน่งตั้งแต่เสมียนขึ้นไปโดยมีเงินเดือนแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี” สงสัยว่า “เสมียน” ที่กล่าวไว้ในนี้เทียบชั้นไหนเป็นต้นว่า รถไฟ การ์ดรถ หรือ บุรุษไปรษณีย์ ฯลฯ เหล่านี้จะเข้าอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าแล้วพวกที่กล่าวแล้วจะไม่มีสิทธิออกเสียงเลย เห็นว่าควรจะบ่งไว้ให้ชัด เพราะในมาตรา ๘ มีคําว่า “ได้รับพระราชทานเงินเดือนของรัฐบาลประจํา” ซึ่งน่าจะเอามาใส่ไว้ในนี้ด้วย เพื่อจะให้ชัดเจนขึ้นว่า ผู้ที่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลแล้วก็มีสิทธิออกเสียงได้

พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ กล่าวว่า ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนมาตรา ๒๙ กล่าวไว้ว่า เสมียนพนักงานคือ ข้าราชการชั้นต่ำซึ่งมีสิทธิจะได้รับเงินเดือนตามอัตรา ฯลฯ ซึ่งเป็นวิเคราะห์ศัพท์ที่อธิบายอยู่แล้ว ฉะนั้นเพื่อให้เข้ารูปกันเห็นว่าจะเพิ่มคําว่า “พนักงาน” ต่อท้ายว่า “เสมียน” ลงไปในพระราชบัญญัตินี้ด้วยก็เห็นจะได้

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า คําว่าพนักงานในร่างเดิมก็มีไว้เหมือนกัน แต่ภายหลังมีอนุกรรมการนาย ๑ ได้แปลว่า “พนักงาน” นั้นว่าเทียบชั้นกุลีได้ แต่ในที่นี้หมายว่าประจําซึ่งหากจะใส่ไว้ก็ไม่ขัดข้อง และขอแก้ความในตอนนั้นว่า “หรือได้รับราชการแผนกอื่น ๆ ในตําแหน่งตั้งแต่เสมียนพนักงานขึ้นไป โดยมีเงินเดือนประจําแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี”

...

นายมังกร สามเสน กล่าวว่า ในพระราชบัญญัติเลือกตั้งนี้ สงสัยว่าผู้หญิงจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ระบุเพศแต่ทางราชการไม่เคยนิยมให้เพศหญิงเกี่ยวข้องแก่การเมือง จึ่งควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน

พระยาราชวังสัน กล่าวว่า ในพระราชบัญญัติมิได้บ่งไว้ว่าเพศใดและผู้หญิงก็คือราษฎรเช่นเดียวกับชาย ฉะนั้นไม่มีข้อห้ามว่าผู้หญิงจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

ประธานสภาฯ กล่าวว่า ในมาตรา ๑-๒-๓ และ ๔ ที่ได้อภิปรายกันมาแล้วนั้นหากไม่มีผู้ใดสงสัยอย่างใดอีกก็จะได้ให้ลงมติต่อไป ไม่มีผู้ใดทักท้วงและสมาชิกทั้งหมดลงมติเห็นชอบตามร่างที่ได้แก้ไขเป็นอันว่าที่ประชุมลงมติรับรองความในมาตรา ๑ ถึง ๔ ดั่งที่ได้ปรึกษาพิจารณามานั้น”

 

เกมการเมืองเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยาม

เมื่อเกิดความผกผันทางการเมืองขึ้นจากการปิดสภาฯ โดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองครั้งแรกจากการกล่าวหาว่า ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจมีรูปแบบเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่ปกครองแบบระบอบคอมมิวนิสต์ นับจากนี้เกมการเมืองเรื่องการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งก็เปิดฉากขึ้นทันทีด้วยการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับที่นายปรีดี และอนุกรรมการฯ เสนอแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบจนประกาศใช้บังคับ ซึ่งฉบับที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแก้ไข ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายปรีดีลี้ภัยยังต่างประเทศแต่ได้ส่งข้อวิจารณ์มาถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยให้นายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นผู้อ่านให้ที่ประชุมสภาฯ ฟังเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ข้อวิจารณ์สำคัญของนายปรีดี มีสองประการหลักคือ ที่มาของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ดังกล่าวขาดความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มีหนทางที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะสามารถใช้วิธีหาเสียงข้างมากจากเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยได้หลายประการ และระบบการเลือกตั้งไม่เอื้อประโยชน์ต่อสิทธิ และหน้าที่ของพลเมืองสยามเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องขยายอายุของผู้แทนราษฎรที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแก้ไขอายุจาก 23 ปีไปเป็น 30 ปี

ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้มีเสนอญัตติเรื่องของให้พิจารณาการกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอันละเมิดต่อรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ท่านได้แก่ พระยาประมวญวิชาพูล และนายจรูญ ณ บางช้าง เพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญในกาลข้างขึ้นอีกดังญัตติต่อไปนี้

 

ญัตติของพระยาประมวญวิชาพูล

“วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖

กราบเรียน เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบ

เนื่องด้วยได้มีราษฎรยื่นคําร้องต่อเกล้าฯ ขอให้เกล้าฯ นําเสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อดํารงตําแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แนะนํา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงตรา พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้มาตราบางมาตราใน รัฐธรรมนูญสยามเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น เกล้าฯ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การกระทําของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นเป็นการกระทําผิด เพราะฉะนั้นขอเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า

การกระทําของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่กล่าวมาแล้วเป็นการกระทําผิดอาชญาของให้สภาฯ ลงมติตั้งกรรมาธิการขึ้นไต่สวนพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนก่อน แม้ว่ากรรมาธิการไต่สวนเห็นว่ามีความผิดแล้ว ก็ขอให้ร่างพระราชบัญญัติกําหนดโทษตามควรแก่ความผิดให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้บริหารการแผ่นดินต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) พระยาประมวญวิชาพูล
ข้าพเจ้าขอรับรองญัตติ
(ลงนาม) นายวิลาศ โอสถานนท์
(ลงนาม) หลวงอรรถสารประสิทธิ์”

 

และ

“ขอให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาว่า

๑. พระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแนะนําให้ประกาศใช้นั้นเป็นอันผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรและ

๒. ในการที่จะป้องกันมิให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญได้นั้น จะควรออกพระราชบัญญัติหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือพระราชกําหนดกฎหมายอย่างไรหรือไม่

ส่วนการที่จะดําเนินตามรายงานของกรรมาธิการในข้อ ๑ อย่างไรนั้น สภาฯ นี้ขอมอบไว้เป็นกิจของสภาฯ สมัยที่ ๒ ที่จะพิจารณาต่อไป”

 

ส่วนญัตติของนายจรูญ ณ บางช้าง มีดังนี้

“วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

เรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าขอเสนอแปรญัตติเพิ่มเติมญัตติของพระยาประมวญ ฯ ดั่งนี้

ถ้าสภา ฯ ได้ลงมติให้ตั้งกรรมการพิจารณาความผิดของพระยามโน ฯ ตามญัตติของพระยาประมวญ ฯ ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะกรรมาธิการ ไม่ควรแต่จะพิจารณาฉะเพาะ แต่ประกาศให้ปิดสภา ฯ เท่านั้น ควรให้พิจารณาการกระทําทุกอย่าง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยตลอดด้วย ว่าในระหว่างนั้น การกระทําของพระยามโน ฯ อย่างใดบ้างที่เป็นการมิชอบ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(ลงนาม) จรูญ ณ บางช้าง ผู้เสนอ
(ลงนาม) นายมังกร สามเสน ผู้รับรอง
(ลงนาม) นายมานิต วสุวัต””

 

และนายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า “เพื่อประโยชน์ของประชาชาติ หรือหวังจะปิดสภาฯ เพื่อปราบดาภิเศก” และขอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อให้ความยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่เสนอญัตติข้างต้นและฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

 

 

ภายหลังการอภิปรายกรณีการปิดสภาฯ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงเกิดเป็นพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำในลักษณะเดียวกันกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอีก โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาจำนวน 6 มาตรา และมีสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 3 ซึ่งกำหนดความผิดและโทษไว้ดังนี้

“ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหรือหวาดหวั่นต่อ การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดั่งกล่าวมาแล้วจะเป็นเพียงการคบคิด หรือทำความตกลง หรือจะเตรียมการก็ตาม ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 500 บาทจนถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากความผิดที่กระทำลงนั้นต้องด้วยบทกฎหมายอื่น ท่านว่า บุคคลผู้กระทำผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมายอื่นนั้นด้วย”[2]

ตัดสลับกลับมาที่การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา 1 เดือนถัดมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 รวมทั้งแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบอีกสองฉบับเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อราษฎรและสอดรับกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาแถลงเป้าหมายและสรุปไว้ดังนี้

“สภาผู้แทนราษฎรขอให้รัฐบาลจัดการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขข้อความดั่งว่ามานี้โดยพลัน สภาผู้แทนราษฎรรับรู้ไว้ว่ารัฐบาลจะพยายามจัดการให้การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จภายในกลางเดือนธันวาคม ศกนี้ และถ้าทำได้ จะให้สภาฯ ใหม่ได้เปิดประชุมในวันที่ ๑๐ ธันวาคม และสภาฯ รับรู้ไว้ด้วยว่า บทบัญญัติการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการทดลองชั่วคราว ถ้าปรากฏว่ายังมีข้อบกพร้องอยู่ประการใดจะได้คิดแก้ไขต่อไป…”

และรัฐบาลนี้ก็จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกขึ้นด้วยวิธีการเลือกตั้งทางอ้อมที่ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อนแล้วจึงให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่ง โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2476 ราษฎรได้เลือกตั้งผู้แทนตำบลเพื่อเป็นตัวแทนไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมหากแต่ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามออกแบบสถาบันการเมืองตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของคณะราษฎร

แต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชที่ประกอบด้วยทหาร ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยมในระบอบเก่าบางส่วนก่อการในนามคณะกู้บ้านกู้เมืองโดยใจความหลักของแถลงการณ์ระบุว่า ต้องการให้มีระบอบการปกครองเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดกว่าที่เป็นอยู่จนเกิดการปะทะและความรุนแรงทางการเมืองจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตครั้งใหญ่ครั้งแรกหลังระบอบใหม่ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกมีการเลื่อนเวลาไม่ตรงกันในแต่ละจังหวัดโดยเริ่มมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เป็นวันที่สุดท้าย นี่คือข้อมูลใหม่จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติที่เกาะติดและนำเสนอให้เห็นบรรยากาศของการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างละเอียด

 

ข้อมูลใหม่เรื่องการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในสยามระหว่างวันที่ 15-28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

 

 

1 วันหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่ผู้แทนตำบลมาลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎรเข้าสู่สภาฯ ทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 รายงานทั้งให้เห็นบรรยากาศการประชุมผู้แทนตำบลและการเลือกตั้ง เช่น ในการประชุมผู้แทนตำบลในธนบุรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ณ หอประชุมโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยพระศรีวรโวหาร ผู้แทนตำบลบางขุนนนท์เป็นประธานในที่ประชุมนั้นมีผู้แทนตำบลเข้าประชุม 50 คน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อหารือวางหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งผู้แทนจังหวัด เพื่อทราบประวัติของผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัด และเพื่อความสามัคคีทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

ปัญหาของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเริ่มปรากฏให้เห็น เช่น ในการเลือกตั้งผู้แทนจังหวัดนนทบุรีที่กรรมการปล่อยให้มีการเลือกตั้งไปจนเกินเวลาที่กำหนดตามกฎหมายจึงมีผู้คัดค้านและร้องเรียนให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หรือกรณีที่นายไสว ดวงมณี ยื่นคำร้องขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

และยังพบว่ามีการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจากประชาชนทั่วไป อาทิ ในวันทำการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร จังหวัดธนบุรี ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน ทางคณะกรรมการเรือแท็กซี่คลองบางหลวงไม่เก็บค่าโดยสารผู้แทนตำบลที่เดินทางไปเลือกตั้งในท้องที่อำเภอภาษีเจริญ บางขุนเทียน บางยี่เรือ บุคคโล บางกอกใหญ่ และคลองสานตลอดทั้งวัน

 

 

ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 รายงานว่า ณ วันนี้การเลือกตั้งทั่วสยามเกือบจะเสร็จเรียบร้อยแล้วยังเหลือแค่จังหวัดพระนครที่จะเลือกตั้งในวันที่ 26 ส่วนจังหวัดนครศรีราชสีมาและจังหวัดเพชรบุรีจะเลือกตั้งในวันที่ 28 โดยเสนอผลการเลือกตั้ง การตื่นตัวของประชาชน และผู้แทนราษฎรมีคุณภาพที่น่าพอใจแม้จะมีการคัดค้านอยู่บ้างในบางจังหวัด และมีการติดสินบนอยู่บางท้องที่ในรูปแบบของการเลี่ยงอาหารแก่ผู้แทนตำบลซึ่งในประเทศอังกฤษถือว่าการเลี้ยงอาหารคือการให้สินบนรูปแบบหนึ่ง

ข้อสังเกตประการหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงมาก่อนนั้นคือมีกรรมกรสนับสนุนหลายคณะ เช่น ในการเลือกตั้งของจังหวัดพระนครได้มีสมาคมกรรมกรโรงพิมพ์แห่งสยาม และกรรมกรว่างงานคณะนายพันน้อยประไพได้ไปตั้งเต็นท์ยังบริเวณท้องสนามหลวงเพื่อให้กรรมกรอื่นๆ มาเข้าพักที่เต็นท์ได้ และในหลายจังหวัดที่มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วมักจะมีธรรมเนียมให้ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนอย่างครึกครื้น

ที่สำคัญคือ การเลือกตั้งได้ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและการรวมกลุ่มการเมืองขึ้น อาทิ กรณีที่ผู้แทนตำบลในจังหวัดพระนครได้เห็นพ้องกันว่าจะออกร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ในนามว่า ร้านผู้แทนตำบลในจังหวัดพระนคร ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์เพื่อยกทุนและกำไรให้แก่ราชการเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ และร้านนี้ยังจำหน่ายหนังสือส่งเสริมรัฐธรรมนูญ การปกครอง กฎหมาย และวิชาการ รวมทั้งเป็นที่อ่านหนังสือ และพบปะของผู้แทนตำบล ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดต่างๆ

 

 

และในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ได้รายงานผลของการเลือกตั้งผู้แทนสองจังหวัดสุดท้ายให้ประชาชนทราบ นั่นคือ ผู้แทนจังหวัดเพชรบุรี และผู้แทนจังหวัดอุดรธานี จึงถือเป็นการสิ้นสุดการเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่ 1 ในสมัยของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาอย่างสมบูรณ์

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการเมืองของการตราพระราชบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามข้างต้นแสดงให้เห็นการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน การออกแบบสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภา และความขัดแย้งทางการเมืองในระบอบใหม่ที่คุกรุ่นอยู่ช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังการอภิวัฒน์ และแสดงให้เห็นความพยายามของรัฐบาลคณะราษฎรที่ใช้กลไกรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เกิดขึ้นโดยยุคแรกนี้อุดมคติทางการเมืองของคณะราษฎรอยู่ภายใต้หลัก 6 ประการ การสร้างความมั่นคงให้ระบอบรัฐธรรมนูญ และเพื่อประโยชน์ของราษฎรในอนาคต

ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ ราชกิจจานุเบกษา และคลังสารสนเทศบัญญัติ

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

เอกสารชั้นต้น :

หนังสือพิมพ์ :

  • ประชาชาติ 16-29 พฤศจิกายน 2476

หนังสือภาษาไทย :

  • กองการโฆษณา, แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2476).
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544).
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543).
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552).
  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).

นิตยสารและวารสาร :

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85., ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76. และ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, (2564), “การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม.” สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566.

[2] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, (20 ธันวาคม 2564), “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 การพิทักษ์รัฐธรรมนูญในยุคแรก,”  สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566.