ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติภาพ คือ การเห็นศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่าเทียมกัน

22
มกราคม
2567

Focus

  • สังคมไทยเอาเรื่องเพศมาจำกัดกรอบศักยภาพของมนุษย์ ในรัฐธรรมนูญก็ยังจำกัดเพียงเพศชายกับเพศหญิง ในขณะที่มีเพศอื่นๆ (LGBT) ด้วย และการที่เพศชายเป็นใหญ่ทำให้การแสดงออกเพื่อสังคมของเพศหญิง  (เช่น การต่อต้านการรัฐประหาร และเรื่องลาคลอด) จะพบกับแรงเสียดทานและสบประมาท
  • การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในสังคมไทยที่ชายเป็นใหญ่  มักไม่ได้รับการให้ความสำคัญและเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งๆที่เป็นสิทธิตามธรรมชาติ (เช่น สิทธิการลาคลอด และเงินเลี้ยงดูเด็ก) ในทางการเมืองและตำแหน่งบริหาร ผู้หญิงก็ยังไม่สามารถขึ้นตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน การเรียกร้องสิทธิให้กับผู้หญิงจึงไม่พึงจำกัดกรอบ ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมกันในทางสิทธิมนุษยชน สันติภาพ และความเป็นธรรมชาติโดยทั่วไป
  • ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นแม่ของลูก 6 คน ที่สามีเป็นนักก่อการอภิวัฒน์สยาม เป็นผู้มีความกล้าหาญ ต่อสู้กับอำนาจภายในของตัวเองอย่างเข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดรักษาบ้าน และศักดิ์ศรีของครอบครัวไว้ได้ อันแสดงว่าการต่อสู้บางครั้งไม่ได้เลือกบุคคล เพศ และจังหวะเวลา
  • รัฐสวัสดิการควรจะต้องเกิดขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับคนทุกคน รวมถึง “แม่บ้านในแพลตฟอร์ม” ผู้เป็นแรงงานนอกระบบที่หลุดออกจากการดูแลของรัฐ รัฐธรรมนูญจึงควรกำหนดสิทธิโดยที่ไม่แบ่งแยกเพศ และเป็นหลักประกันว่าหน่วยงานราชการต่างๆ จะต้องให้สิทธิผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ เท่าเทียมกับมนุษย์ทุกคน เพื่อทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข ไม่ใช่เพียงสันติสุขเท่านั้น

 

มายด์เองก็คิดว่าการที่มีสัดส่วนที่ผู้หญิงมีบทบาทนำ มีความสำคัญมากที่มีสัดส่วนที่เท่าเทียมกันกับเพศอื่นๆ ด้วย ตอนนี้มายด์ไม่ได้มองแค่ชายกับหญิง มีเพศอื่นๆ ด้วย และไม่ควรใช้คำว่าเพศมาจำกัดกรอบศักยภาพของมนุษย์ แต่ว่าเราต้องยอมรับว่าในรัฐธรรมนูญยังจำกัดเพียงแค่เพศชายกับเพศหญิง

 

 

สิทธิของผู้หญิงบางส่วนไม่ได้รับการประกันจริงๆ เลยด้วยซ้ำ บางอย่างยังคงเรียกร้องอยู่ เช่น ผ้าอนามัยฟรี ซึ่งเข้าใจแรงเสียดทานของพี่แจม ขอบคุณที่เล่าให้ฟังและทำให้ทนายความผู้หญิงสามารถใส่กางเกงว่าความได้ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยต่อต้านท้าทายอำนาจที่ไม่มีเหตุผลเท่าไหร่นัก

มายด์อยากแชร์ ในมุมว่าบทบาทของผู้หญิงที่ขึ้นมาพูดถึงเรื่องยากๆ เรื่องที่คนปกติเขาไม่พูดกันต้องโดนแรงเสียดทานขนาดไหน ในยุคของพี่แจมอาจโดนหนักกว่ามายด์ ในยุคที่เป็น คสช. นึกภาพออกเลยว่าที่มีทหารใส่ชุดเต็มยศถือปืน ตอนนั้นเพียงแค่มายด์ติดป้ายที่มหาวิทยาลัย มายด์ยังถูกทหารบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยขนาดนั้น แต่เพียงแค่ไม่เป็นข่าว ณ ตอนนั้นเกิดสถานการณ์แบบนี้เยอะมาก มายด์โดนตั้งคำถามกับกิจกรรมครั้งนั้น เป็นการติดป้ายว่า “รัฐประหารครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์สูงสุด” วันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ป้ายนี้ติดไปได้เพียงสองวันก็ถูกปลดออก

 

 

หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ มีตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย คณบดีให้อาจารย์โทรศัพท์เรียกเรามาถามว่า “พวกหนูเป็นคนที่ไปติดป้ายใช่ไหม” ตำรวจผู้ชายเห็นมายด์จึงบอกว่า “ตัวเล็กแค่นี้ ขับกระบะคันใหญ่จัง” เพราะตอนนั้นมายด์เป็นคนขับรถกระบะไปติดป้ายให้เพื่อน “ไม่กลัวเหรอ มาทำอะไรแบบนี้กับพวกเขาไม่กลัวเหรอ” มายด์บอกกลับไปว่า “พี่ไม่คิดว่าหนูเป็นคนชวนพวกเขามาบ้างเหรอ พี่ไม่คิดบ้างเหรอว่าหนูจะต้องทำตามพวกเขาอย่างเดียวเหรอ”

มายด์คิดว่าการสบประมาทแบบนี้จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ส่วนหนึ่งคงจะเป็นมาจากสภาพสังคมไทยที่ถูกกดทับด้วยระบบชายเป็นใหญ่มายาวนาน จะเห็นได้จากที่ขบวนการแรงงานของผู้หญิงในช่วงปี 2533 ได้มีการเดินขบวนเรื่องสิทธิการลาคลอด ทำไมเขาถึงต้องเรียกร้อง เพราะก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานเองที่ถูกควบคุมโดยผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่เข้าใจว่าสิทธิของผู้หญิงจะต้องมีอะไรบ้าง หรือจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอีกบ้าง

พอผู้หญิงพูดว่าการอยากไปลาคลอดหรือเรื่องเงินเลี้ยงดูเด็ก เขาจะมองว่าหน่อมแน้ม ช่วงที่ได้ศึกษาเจอว่า กว่าที่ขบวนการแรงงานผู้หญิงจะพูดออกมาได้ พวกเขาต้องถูกสบประมาท ด้อยค่า กับสิ่งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างเรื่องลาคลอดถูกมองว่าเป็นเรื่องแบบนั้น ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย

ในท้ายที่สุดในปี 2533 ทุกวันสตรีสากล ขบวนการแรงงานผู้หญิงก็เรียกร้องขอสิทธิลาคลอด 90 วัน มาตลอด 3 ปี แล้วได้สิทธิลาคลอด 90 วัน ซึ่งให้ย้อนกลับไปคำพูดของท่านผู้หญิงพูนศุข ว่านี่คือความกล้าหาญที่เป็นอำนาจภายใน มันไม่ได้เกิดกับคนที่โดนกับตัวเดียวๆ โดดๆ เท่านั้น มันอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมโดยรวมการที่เราอยู่เป็นขบวนการ การที่เราเสริมสร้างความมั่นใจให้กันและกันได้ เมื่อผู้หญิงรวมตัวกัน เราสามารถเรียกร้องสิทธิการลาคลอดได้

 

 

ในยุคนั้นเป็นยุคที่ชายเป็นใหญ่ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานพวกนี้ด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่สำคัญมาก แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนยังไม่สมเหตุสมผลก็ตาม การที่เรามองย้อนกลับไปในอดีตว่าการที่ผู้หญิงจะออกมาเรียกร้องให้สิทธิมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมันมีความยากลำบากขนาดไหน

เราจำเป็นต้องกลับไปศึกษา ในปัจจุบันยังมีการแบ่งแยกอยู่ว่าผู้หญิงทำได้แค่นี้ ผู้ชายทำได้มากกว่านี้ หรือเรื่องง่ายๆ อย่างทำไมผู้หญิงถึงไม่มีสิทธิเป็นนายพลหรือผู้บัญชาการบ้าง ผู้หญิงเป็นผู้กำกับเราไม่เคยเห็น มากสุดคือรองผู้การฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงมีแล้ว บทบาทเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยิ่งต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าถ้ามองบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง การใช้เพศมาจำกัดกรอบ มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่คุณจะมาบอกว่าเพศไหนทำได้แค่ไหนอย่างไร การมองคนหรือศักยภาพของคนอื่นๆ การใช้เพศมาเป็นตัวชี้วัดหรือตัวกำหนดกรอบ มันเป็นเหมือนการไปเหยียดกลุ่มคนอื่นที่นอกเหนือจากตนเอง ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมมากขึ้น

ทีนี้ขอพูดย้อนมาถึงกระบวนการต่อสู้ของผู้หญิงในขบวนการต่อสู้ ในปี 2559 จะมีกรณีของ ‘กรกนก คำตา’ พี่ปั๊ป ที่ถูกจับเข้าไปในเรือนจำ ในช่วงของการตรวจภายใน พอพี่ปั๊ปได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก หลายๆ คนไม่ได้รู้ว่าขั้นตอนการตรวจมันอนาจารขนาดไหน ลดทอนศักดิ์ศรีขนาดไหน ละเมิดความเป็นมนุษย์ขนาดไหน ไม่ใช่แค่ว่าขึ้นขาหยั่ง แต่มีคนยืนดูเต็มไปหมด

การที่พี่ปั๊ปเขียนลงบนเฟซบุ๊ก  ทำให้หลายๆ คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเรือนจำหญิง ก่อนที่ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว จนสุดท้ายราชทัณฑ์ได้ออกมาให้เหตุผลชี้แจง โดยอ้างว่าเป็นการตรวจโรค แล้วโรคกับคดีไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นการตรวจเพื่อดูสิ่งแปลกปลอมว่ามีการยัดอะไรเพื่อเอาไปข้างในหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ได้ยกเลิกการขึ้นขาหยั่งไปแล้ว แต่ในกรณีของรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) มีการเปลื้องผ้าและหมุนรอบตัวให้แก่ผู้คุม ลุกนั่งให้ดูว่ามีอะไรหลุดออกมาไหม แล้วก็เดินเข้าเครื่องสแกน

 

 

จนถึงปัจจุบันนี้แม้ว่าคุณมีเครื่องสแกนแล้ว คุณยังต้องทำแบบนี้อยู่เลย คุณจะต้องเปลือยกายตัวเองต่อหน้าใครก็ไม่รู้ คุณจะต้องอับอายต่อหน้าใครก็ไม่รู้ที่ได้เห็นเนื้อตัวร่างกายของเรา มายด์รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มันยังไม่จบ คือเราต้องยิ่งพูดคุยถกเถียงกันเข้าไปอีกเรื่อยๆ ว่าแบบนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ สิ่งที่ผู้หญิงโดนกระทำในลักษณะนี้มันจำเป็นหรือเปล่า หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว การให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันก็ควรเกิดขึ้นกับทุกเพศไหม มันไม่ควรเกิดขึ้นแค่กับเพศที่เป็นบุรุษหรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มายด์อยากจะเล่าให้ทุกคนฟัง

อีกส่วนหนึ่งก็คือ อยากขอวนกลับมาพูดเรื่องของขบวนการการต่อสู้ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ทุกท่านจะเห็นว่ามีแกนนำที่เป็นผู้หญิงขึ้นเยอะมาก หรือแม้แต่เป็น LGBT เกิดขึ้นมาเยอะมาก มายด์คิดว่าในช่วงหลังๆ นี้ทำให้เราเห็นแล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถที่จะปลดปล่อยออกมาได้โดยที่ไม่ต้องมาติดแล้วว่าตัวเองเป็นเพศอะไร

เราไม่จำเป็นจะต้องมากลัวว่าเราเป็นผู้หญิง เราพูดได้หรือเปล่า เราไม่จำเป็นจะต้องกลัวว่าเราเป็นผู้หญิงแล้วเราพูดเรื่องสิทธิ เรื่องของยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ไหม หรือว่าทรงผมพี่ตำรวจได้ไหม จริงๆ แล้วมันไม่มีกรอบจำกัดในการเรียกร้องความเท่าเทียมด้วยซ้ำ มันไม่มีกรอบจำกัดของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน สันติภาพและความเป็นธรรม ไม่มีกรอบจำกัด

เราทุกคนที่เป็นมนุษย์สามารถพูดได้เมื่อเราเห็นปัญหา เราทุกคนสามารถที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่จะดีกับมนุษย์ที่เขาเป็นเพศนี้ หรือเข้าเป็นลักษณะนี้จะดีต่อเขาอย่างไร ถ้าหากเราเห็นหนทางในการเสนอแนะเราสามารถทำได้ ซึ่งคิดว่าส่วนนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ

 

 

สุดท้ายอยากย้อนกลับมาที่ท่านผู้หญิงพูนศุข อย่างที่ทุกท่านทราบว่าผู้หญิงพูนศุข เป็นแม่ของลูก 6 คน ที่สามีเป็นนักก่อการอภิวัฒน์สยาม มายด์คิดว่าหลายๆ คนคงนับถือในความกล้าหาญของท่านผู้หญิงอยู่แล้ว ซึ่งมายด์เองก็เหมือนกัน แต่มายด์แอบรู้สึกว่าในจุดเบื้องลึกของหัวใจของหญิงสาวคนหนึ่ง เขาคงจะต้องแบกรับแล้วก็ต่อสู้กับอำนาจภายในของตัวเองเยอะมาก กว่าจะเข้มแข็งได้ขนาดนั้น

เมื่อถึงจุดที่ท่านผู้หญิงได้เห็นจดหมายของอาจารย์ปรีดี มายด์ได้อ่านจดหมายแล้วมายด์รู้สึกว่า มายด์เดาไม่ออกเลยว่า ณ จังหวะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขจะรู้สึกอย่างไร ความในใจที่อาจารย์ปรีดีอยากจะบอกผู้หญิงหลังจากที่โกหกไปก่อนหน้านั้น มีการสารภาพก่อนในช่วงต้นของจดหมายว่า “ขอโทษที่พูดปดในวันนั้น เกรงว่าจะไม่ได้ไป ถ้าหากว่าบอกความจริง ฝากลูกๆ ด้วย”

ข้อความเหล่านั้นมันกระทบกระเทือนจิตใจมาก มันบีบคั้นหัวใจภรรยา บีบคั้นหัวใจคนเป็นแม่มากๆ แน่นอน แต่ว่าท่านผู้หญิงสามารถที่จะต่อสู้กับความรู้สึกภายในตรงนั้นได้ เข้มแข็งกลับมาได้ ยืนหยัดรักษาทั้งบ้าน ทั้งครอบครัวและศักดิ์ศรีของครอบครัวไว้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มายด์รู้สึกว่า การต่อสู้บางทีไม่ได้เลือกบุคคล ไม่ได้เลือกเพศ มันไม่ได้เลือกจังหวะเวลาด้วย จะมาเมื่อไหร่ให้เราสู้ตอนไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรากล้าหาญมากพอ ที่มันเป็นอำนาจภายในอย่างที่ท่านผู้หญิง จะทำให้เราสามารถที่จะเอาชนะต่อปัญหาที่มันเกิดขึ้นได้ ทำให้เข้มแข็งไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องของการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้หญิงจริงๆ มีเรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเยอะมาก หลายๆ เรื่องมันกระทบกระเทือนต่อ Emotional เยอะมาก บางครั้งเราพูดกันไปเราอาจจะไม่สามารถที่จะพูดได้จนจบด้วยซ้ำ แต่ว่ามายด์คิดว่าในเวทีนี้เราจะได้เห็นความหลากหลายของประเด็น แล้วก็รวมถึงหลายๆ แง่มุมด้วย ในมุมมองที่แต่ละท่านได้พบเจอมา ว่าผู้หญิงที่โดนกดขี่ ณ ตอนนี้ อดีตเคยถูกกดขี่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แล้วมีหลายแง่มุมมากที่พวกเราจะต้องยิ่งพูดคุยถกเถียงเข้าไปอีก ถึงแม้ว่าจะยากลำบากต่อใจ แต่เราก็ต้องคุยกันเพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับอีกเพศนึงบ้าง แล้วมันสมเหตุสมผลหรือไม่ก็สังคมก็ต้องช่วยกันเรียนรู้กันต่อไป

 

 

“รัฐสวัสดิการ” เป็นสิ่งที่ควรจะต้องเกิดได้แล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งศึกษาอะไรกันอีก ไม่จำเป็นต้องศึกษาแล้ว มันควรจะต้องเกิดสักทีได้แล้ว สวัสดิการเป็นเหมือน “ตาข่ายกันตาย” ที่อยู่ภายใต้พวกเราทุกคน มันจะรองรับพวกเราทุกคนไว้โดยที่ไม่แบ่งแยกว่าใครจะตายหรือไม่ตาย แต่มันจะรองรับพวกเราทุกคนไว้จริงๆ เพราะฉะนั้นสำคัญมากที่รัฐสวัสดิการควรจะต้องเกิดขึ้นได้แล้วเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตกับคนทุกคนในประเทศ

อย่างกรณีของ “แม่บ้านในแพลตฟอร์ม” ปัจจุบันมีอาชีพที่เรียกว่าแม่บ้านแพลตฟอร์ม แม่บ้านที่เรียกตามแอปพลิเคชัน แม้ว่าแม้ว่าแม่บ้านส่วนใหญ่หรือคนทำงานแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านเป็น House Keeper จะเป็นผู้หญิง อาจจะมีผู้ชายบ้างบางส่วน แต่ถามว่าแรงงานเหล่านี้เขาเป็นแรงงานที่ได้รับหลักประกันอะไรบางอย่างจากรัฐ เขาคือแรงงานนอกระบบ แล้วพอไม่มีรัฐสวัสดิการคนเหล่านี้คือหลุดออกจากการดูแลของรัฐไปเลย เขาต้องแบกรับความรับผิดชอบในการรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ในการต่อรองกับนายจ้าง ในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตของตัวเองจากนายจ้าง ซึ่งมายด์คิดว่าเรื่องพวกนี้มันสามารถแก้ไขได้โดยรัฐสวัสดิการ อันดับแรก

อย่างที่สอง ก็คือเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่จริงๆ คำว่าชายและหญิงควรเอาออกได้แล้ว เพราะว่า ณ ปัจจุบันนี้มีมากกว่าชายและหญิงเยอะมากล้วเราไม่ควรที่จะแบ่งสิทธิด้วยคำว่า ชายหรือหญิง แต่เราควรกำหนดสิทธิให้มันเป็นสิทธิของทุกคนจริงๆ โดยที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกอะไรอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น “รัฐธรรมนูญ” เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเป็นต้นแบบ ในการทำให้สังคมเข้าใจว่า สังคมปัจจุบันนี้เราไม่ใช้เพศในการจำกัดกรอบศักยภาพกันอีกแล้ว เราไม่ใช่เพศในการกำหนดอีกแล้วว่า ใครจะได้สิทธิแค่ไหนอย่างไร เราทุกคนคือมนุษย์เท่ากัน เราจะมองย้อนกลับมาบนธรรมชาติที่สุด คือ “ความเป็นมนุษย์” แล้วมันต้องถูกบัญญัติไว้บนรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อเป็นหลักประกันจากกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นหลักประกันว่าหน่วยงานราชการต่างๆ จะต้องให้สิทธิผู้หญิ ง หรือเพศอื่นๆ เท่าเทียมกับมนุษย์ทุกคนด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

ส่วนนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มันจะส่งผลถึงมาตรฐานสังคมใหม่ ที่มันจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย และสุดท้าย มายด์รู้สึกว่าสิ่งที่มายด์อยากจะฝากไว้มากๆ “สันติภาพ” เกิดขึ้นได้ง่ายมากเลยจริงๆ แล้ว มันเกิดขึ้นได้ถ้าเกิดว่าพวกเราเคารพและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน แค่นั้นเองเคารพและให้เกียรติกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน จะทำให้เราเข้าใจว่า คนอื่นๆ เขาก็อาจจะมีอะไรที่มันแตกต่างจากเราไป ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปตัดสินที่แทนอะไรได้ เพียงขอแค่เราเข้าใจวิถีในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ก็จะทำให้เราเกิดสันติภาพกันได้เอง

สิ่งสำคัญที่เราต้องทำงานทางความคิดต่อไปร่วมกัน เพื่อให้หนึ่งคือไม่มีเพศมาจำกัดกรอบ และสองคือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้พวกเราอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข ไม่ใช่แค่สันติสุข แบบมีความสุขกันทุกคนจริงๆ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=UuTa8SIzB7Q&t=2599s

 

ที่มา : PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” เนื่องในวาระ 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี.