ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

นายปรีดี พนมยงค์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสยาม

28
มิถุนายน
2567

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2476 ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการวางรากฐานงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน
  • จากคำแถลงของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี สะท้อนว่า นายปรีดี พนมยงค์นั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในการดำเนินการตามระเบียบวาระ และการจดรายงานการประชุม เพื่อขับเคลื่อนสถาบันทางการเมืองแรกในระบอบการปกครองใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรทั้งหลาย

 


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

นอกเหนือไปจากการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี ผู้นำขบวนการเสรีไทย และผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ แล้ว น้อยคนนักที่จะทราบว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยนั้นมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และยังเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกอีกด้วย

 


บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยมาตรา 8 และมาตรา 9 กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่ออกพระราชบัญญัติทั้งหลาย และดูแลควบคุมกิจการของประเทศ

 


บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

บทบาทสำคัญของนายปรีดีในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

 


รายงานการประชุมสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
 

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งเเรกนั้น เริ่มต้นขึ้นในเวลา 14.00 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในฐานะผู้นำฝ่ายพลเรือนและ “มันสมอง” ของคณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ และการดำเนินการเรื่องกฎหมายต่างๆ ยิ่งกว่านั้น เขายังมีบทบาทสำคัญในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศไทยด้วย

เมื่อเริ่มต้นการประชุม นายปรีดี พนมยงค์ทำหน้าที่เป็นผู้อ่านรายนามบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร รวมทั้งสิ้น 70 คน จากนั้น เขาได้แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า

สมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อราษฎรในข้อสำคัญหลายประการ เพราะฉะนั้น ขอท่านสมาชิกได้พร้อมกันทำคำปฏิญาณกันเสียก่อน”

โดยเขาได้กล่าวนำให้ผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนพร้อมกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง

มีข้อสังเกตสำคัญว่า ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นยังไม่มีการกำหนดให้ผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่นที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่อมาจนถึงปัจจุบัน การกล่าวคำปฏิญาณตนดังกล่าวจึงเป็นต้นแบบของการปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญและแสดงถึงเจตจำนงอันมุ่งมั่นของคณะราษฎรในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ

เมื่อกล่าวปฏิญาณตนแล้ว เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนั้น คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มอบอำนาจการปกครองให้แก่สภาผู้แทนราษฎร และมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมได้มีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ในการนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมว่า

“...การประชุมของที่ประชุม (สภาผู้แทนราษฎร) จำเป็นต้องมีเลขาธิการสำหรับจดรายงานและอื่นๆ และข้าพเจ้าเห็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมทำหน้าที่นี้อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มประชุม ถ้าท่านทั้งหลายไม่ขัดข้อง ข้าพเจ้าขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเป็นเลขาธิการต่อไป

พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ได้คัดค้านความเห็นดังกล่าว โดยชี้แจงว่า

ถ้าจะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการประจำแล้วขัดข้อง เพราะเห็นว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังมีงานอื่นที่จะต้องทำสำคัญกว่านี้ ถ้าจะเป็นเลขาธิการชั่วคราวแล้วไม่ขัดข้อง

ดังนั้น จึงเป็นอันว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ผู้มีส่วนสำคัญในด้านกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เป็นผู้ทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก โดยจะเป็นการทำหน้าที่เพียงชั่วคราวไปพลางก่อน

จากคำแถลงของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จะเห็นได้ว่า นายปรีดี พนมยงค์นั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในการดำเนินการตามระเบียบวาระ และการจดรายงานการประชุม เพื่อขับเคลื่อนสถาบันทางการเมืองแรกในระบอบการปกครองใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรทั้งหลาย

นอกจากนั้นยังปรากฏบทบาทสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกอีกหลายประการ เช่น ก่อนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะตกลงรับเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) นั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาแถลงว่า

รู้สึกหนักใจเป็นอันมาก...ขอปรึกษาและสอบถามกับพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมดูสัก 5 นาทีก่อน จึงจะตอบให้ทราบได้...”

และนายปรีดี พนมยงค์ยังเป็นผู้แถลงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์ด้วย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้นสิ้นสุดลงในเวลา 16.00 นาฬิกา โดยปรากฏชื่อของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้จดรายงานการประชุม อันเป็นการทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

 

ผู้วางรากฐานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 

 


นายปรีดี พนมยงค์ในช่วงราว 6 ปีก่อนการอภิวัฒน์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

การทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ภารกิจหลักคือ การจดรายงานการประชุมและการอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการประชุม หรือกล่าวได้ว่าเป็นฝ่ายธุรการทำหน้าที่สนับสนุนการประชุมอันเป็นที่มาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้ทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 อันเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกยังไม่มีการตรากฎหมายรองรับการทำหน้าที่ของหน่วยงานธุรการดังกล่าว ตลอดจนไม่มีการจัดสรรงบประมาณ และไม่มีสำนักงานประจำ ทำให้ต้องอาศัยวังปารุสกวันเป็นสถานที่ทำการ โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งหมด 7 คน ได้แก่ หลวงคหกรรมบดี (นายชม จารุรัตน์) นายปพาฬ บุญหลง นายสนิท ผิวนวล นายฉ่ำ จำรัสเนตร นายสุริยา กุณฑลจินดา นายน้อย สอนกล้าหาญ และนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ซึ่งทำงานโดยไม่มีเงินเดือน มีแต่อาหารเลี้ยงทุกมื้อเท่านั้น

แม้ว่านายปรีดี พนมยงค์ จะได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยบทบาทที่เป็นเสมือนมันสมองของคณะราษฎรในการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีเวลาในการทำหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเต็มที่ และมีหลวงคหกรรมบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของสภาและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งช่วยทำหน้าที่เป็นเลขาธิการแทน

ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 กันยายน 2476 ได้มีการพิจารณาถึงผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ควรจะเป็นการเลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมติที่ประชุมสภา ดังเช่นในกรณีของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือควรจะเป็นการแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ

ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในเรื่องดังกล่าว โดยหลวงวิจิตรวาทการได้เสนอว่า ควรใช้คนนอกมาเป็นเลขาธิการสภา เพื่อที่จะได้มีคนที่รู้งานโดยตลอด และ “...การที่เอาสมาชิกสภาไปนั่งทำงานเป็นเลขาธิการนั้น ทำให้สมาชิกเสียหัวไปคนหนึ่งเปล่า ๆ...” จึงเป็นอันตกลงกันว่า ตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไปนั้นจะเป็นการแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ

เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง และกรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 แล้ว ก็มีผลเป็นการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ในกิจการฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีฐานะเป็นกรม และมีเจ้าหน้าที่ประจำ มีชื่อว่า “กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” และต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ในวันที่ 9 ธันวาคม 2476

ในวันที่ 9 ธันวาคม 2476 นั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยแต่งตั้งให้หลวงคหกรรมบดี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการแต่งตั้งในฐานะข้าราชการประจำ โดยทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มตัว หลังจากทำหน้าที่ช่วยเหลือนายปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่เริ่มต้นมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากหนังสืองานศพของหลวงคหกรรมบดีระบุว่า ภายหลังจากที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขออนุมัติต่อที่ประชุมให้นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นการชั่วคราวไปก่อน และในวันต่อมา คือ วันที่ 29 มิถุนายน 2475 จึงได้มีการแต่งตั้งให้หลวงคหกรรมบดี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไป อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะยึดถือตามประกาศตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 เป็นสำคัญ

แม้ว่านายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2476 และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มตัว แต่ด้วยบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนักกฎหมายและเป็นผู้วางรากฐานระบบรัฐธรรมนูญของประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นายปรีดี พนมยงค์ นั้นมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร วิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • จเร พันธุ์เปรื่อง, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อดีต-ปัจจุบัน, รัฐสภาสาร ปีที่ 52 ฉบับที่ 6 (มิ.ย. 2547), 68.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หนังสือที่ระลึกครบรอบ 72 ปี รัฐสภาไทย , (กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50. วันที่ 9 ธันวาคม 2476. เรื่อง ตั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หน้า 822.
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญ). วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475.
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญ). วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2476, ใน หลวงคหกรรมบดี, เข้าถึงได้ที่ : http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=หลวงคหกรรมบดี