ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“An Imperial Sake Cup and I” : Lecture Performance ฉากผ่านชีวิต ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

12
กรกฎาคม
2566

Focus

  • “An Imperial Sake Cup and I” เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่โดยผ่านการแสดงแนว Lecture Performance ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพื่อถ่ายทอดประวัติชีวิต ประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ ไทย-ญี่ปุ่น และประวัติศาสตร์โลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และความประทับใจเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมสมเด็จพระราชินีจากประเทศไทย ในรัฐพิธีสละราชสมบัติของจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ ที่พระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว อย่างใกล้ชิด ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) พร้อมถ้วยสาเกที่เคยได้รับพระราชทานเป็นของที่ระลึกจากพระองค์ครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยในปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) ติดตัวไปด้วย จากความประทับใจครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของการสะสมถ้วยสาเกอีกหลายชุดตามมา
  • ศิลปะประดิษฐ์ที่ติดมากับถ้วยเหล้าสาเกแสดงถึงความมีเสน่ห์ ความมีคุณค่า และให้ความหมายเสมือนเป็นตัวแทนของประเทศ-วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สะท้อนถึงสถาบันจักรพรรดิ สถาบันทหาร และสถาบันครอบครัว
  • ความคิดแรกริเริ่มของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริที่ประสงค์เพียงการจัดงานนิทรรศการโชว์สิ่ง (ถ้วยสาเก) ได้กลายเป็นการแสดงที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น อันเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งสัญญาณให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญของการเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ที่ทุกคนสามารถทำได้ แม้ภายใต้เนื้อหาของสามัญชน และวิธีการที่ง่ายงามตามวิถี เพราะเราทุกคนล้วนคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะเมื่อกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ปกติในทุกๆ ด้าน ดังเช่นในขณะนี้
  • ในบทความนี้จึงเป็นการร่วมบันทึกประวัติและความเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญที่คนหลายรุ่นมุ่งมารวมกันในพื้นที่ของโรงละครขนาดเล็ก เพื่อร่วมยินดีกับ Entertainer คนใหม่ของวงการ ภายใต้การออกแบบและบรรยากาศการแสดงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกถวิลอดีต ซึ่งไม่ใช่เพียงคนเฒ่าเล่าความหลัง แต่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในสายสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เพียงระดับบุคคลเท่านั้น โดยข้อมูลสำคัญที่ถูกกลั่นออกมาเป็นบทและการแสดงร่วมกันระหว่าง หนังสารคดี หุ่นเงา ฯลฯ ได้สร้างความประทับใจ อันอบอวลไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นกรุ่นกลิ่นอายมิตรภาพ เหมือนทุกคนกำลังกราบเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ใจดี หลังการแสดงมีการสนทนาอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง เปล่งพลังที่ได้รับเสมือนจะสัมผัสได้ผ่านเสียงฮาเป็นระยะ ในขณะที่ต่างก็มีคำถามให้ร่วมกันขบคิด ผ่านชีวิตที่เป็นเสมือนเสาหลักทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

 

ภาพโดย B-floor

เราทุกคนต่างเป็น “ตัวเอก” ในเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ท่ามกลางผู้คนมากมายรายล้อม แต่จะมีคนบางคนเท่านั้นที่เกิดมาเพื่อเป็น “ตัวเอก” ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ท่ามกลางความหมายพิเศษแห่งยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ที่นานาชาติยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย ในนามนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ปราชญ์ นักคิด นักเขียน ที่ทั่วโลกต่างรู้จักกันดี มีผลงานการประพันธ์ร้อยรังสรรค์บันทึกประวัติศาสตร์การเมือง วัฒนธรรม วรรณกรรม ฯลฯ ให้ชาวโลกร่วมเรียนรู้มากมายหลายเล่ม ผลงานที่โดดเด่นของท่าน อาทิ “The Rise of Ayudhya and a History of Siam in the 14th and 15th Centuries” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Oxford ในเอเชีย ปี 1985 (พ.ศ 2519) ฯลฯ

ดร.ชาญวิทย์ เป็นหนึ่งในสองของคนไทยที่ได้รับรางวัล “Fukuoka Academic Prize” ปี 2012 (พ.ศ 2555) (และอีกท่านคือ ดร.เตช บุนนาค) รวมถึงรับรางวัลผู้ทำประโยชน์ดีเด่นด้านเอเชียศึกษา โดยสมาคมเอเชียศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2014 (พ.ศ 2557) อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งยืนยันว่าท่านให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติศาสตร์ คือการมอบสมบัติส่วนตัวที่มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ และบุคคลสำคัญทั้งของไทยและเพื่อนบ้านให้เป็นสาธารณสมบัติ ผ่านหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ชื่นชมและสนับสนุนการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติในทุกแนวทางที่ควรทำ และนำไปต่อยอดให้ยิ่งทวีค่าควรแก่การศึกษาค้นคว้ายิ่งขึ้น

นอกจากเอกสารสำคัญที่ขลังด้วยลายมือซึ่งเป็นสื่อจากจิตวิญญาณแล้ว ถ้วยสาเกกับมีดเชลยศึกของทหารญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ฯลฯ ซึ่งเก็บสะสมมากว่าครึ่งศตวรรษที่ผลัดผ่านประสบการณ์ชีวิต ถูกอุทิศให้เก็บไว้รวมกัน และเพื่อการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ท่านได้คิดโครงงานผ่านนิทรรศการถ้วยสาเก ซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทย-ญี่ปุ่น กรุ่นกลิ่นสงครามครั้งญี่ปุ่นสร้างทางผ่านจากประเทศไทยไปสู่สนามรบ เมืองธันบูซายัต ประเทศพม่า หลังกรีธาทัพเข้าไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ของที่ระลึกจากมหามิตรจึงถูกคิดให้เดินทางกลับบ้านเก่า ผ่านเรื่องเล่าบนเส้นทางชีวิตและมิตรภาพ ในวัย 82 ปี …

 

ภาพโดย B-floor

“โตเกียวเป็นบ้านที่ 2 ของผม”

ขณะรับราชการเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และด้านไทยศึกษาที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ชีวิตที่ต้องลี้ภัยการเมือง (หลายครั้ง) ของอาจารย์ชาญวิทย์มีประเทศญี่ปุ่นเป็นบ้านที่สอง /และด้วยความรู้สึกผูกพันกับญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม หลังเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลนายก ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร (รัฐประหาร พฤษภาคม พ.ศ. 2557) อาจารย์รับเชิญไปญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อได้รับทุนของ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center For Southeast Asian Studies, Kyoto University[1]) : ศูนย์อุษาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ 2557 (2014) … ด้วยความหลงรักญี่ปุ่นที่คุ้นเคย ก็ได้เข้าร่วมงาน วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2018[2] (พ.ศ. 2561) ก่อนมีพระราชพิธีสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ 1977 (พ.ศ. 2520) ณ พระราชวังอิมพีเรียล (Imperial Palace) จากจุดเริ่มต้นของเรื่องราวประทับใจในวันสำคัญของมหาชนชาวญี่ปุ่นครั้งนั้น นำสู่ความคิดสร้างสรรค์งานการบันทึกประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ในอีกกว่า 40 ปี ต่อมา…

หลังกลับจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2561 (2018) อาจารย์ชาญวิทย์ดำริจะจัดนิทรรศการ ถ้วยสาเกที่ระลึกจากสมเด็จพระจักรพรรดิ พลันก็ได้รับการพัฒนาเป็นการแสดงแบบ Lecture Performance โดยคุณเจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ The Jim Thompson Art Center) และทีมศิลปินผู้ร่วมงาน เปิดแสดงครั้งแรกในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ “The Breathing of Maps” ที่ Maiiam Contemporary Art Museum (หอศิลป์ใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่ จัดงานเมื่อ 25-30 มกราคม ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เพียง 1 รอบ ในวันที่ 25 มกราคม 2563 นอกจากเปิดการแสดงแบบ onsite ที่เชียงใหม่แล้ว ยังมีแบบ online อีกด้วย ในปีต่อมา 2-12 กันยายน 2564 ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ยาวนาน บริหารจัดการโดย Facebook Page : BIPAM เปิดให้ชมผ่าน www.bipam.org ก่อนรับเชิญเดินทางไปเปิดการแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น (นับเป็นแบบ onsite ครั้งที่ 2)

อ.ชาญวิทย์ รับเชิญอย่างเป็นทางการจากกรุงโตเกียวอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดประเทศภายใต้นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว (Boots Tourism) ในปี 2022[3] (พ.ศ. 2565) ครั้งนี้ ได้รับประทับตราบอกสถานะที่เปลี่ยนจาก Scholar เป็น Entertainer เพื่อเปิดการแสดง An Imperial Sake Cup and I” ณ Tokyo Metropolitan Theatre โรงละครใหญ่หรูคู่กรุงโตเกียว ครั้งนี้ได้แสดงถึง 3 รอบ ท่ามกลางชาวต่างชาติจากทั่วโลก ก่อนกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้งที่เมืองไทยรวม 3 รอบ เมื่อ 16-18 มิถุนายน ปี 2566 ณ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ภาพโดย B-floor

The Great Entertainer and Lecture Performance

An Imperial Sake Cup and I” คืองานการถ่ายทอดความรู้สึกถวิลอดีต (Nostalgia) จากความประทับใจที่ได้เข้าเฝ้าทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมสมเด็จพระราชินีจากประเทศไทย ในรัฐพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ อย่างใกล้ชิด ในปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) พร้อมถ้วยสาเกอันมีตราของราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ติดตัวไปด้วย เพราะเคยได้รับพระราชทานเป็นของที่ระลึกจากพระองค์ ครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยในปี 1964 (พ.ศ. 2507) จึงเป็นที่มาของการสะสมถ้วยสาเกอีกหลายชุดตามมา ศิลปะประดิษฐ์ที่ติดมากับถ้วยเหล้าล้วนมีความหมาย เสมือนเป็นตัวแทนของประเทศและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สะท้อนถึงสถาบันจักรพรรดิ สถาบันทหาร และสถาบันครอบครัว ที่ชวนให้คนไทยได้ตระหนักในสถานะที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน

An Imperial Sake Cup and I” อำนวยการสร้างโดย มูลนิธิโครงการตำราฯ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, B-Floor Theatre และ Mobile Lab

โครงสร้างทางเนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 องก์

  1. เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น
  2. สถานการณ์ในเมืองไทย และผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศ
  3. เรื่องส่วนตัว อ.ชาญวิทย์ และสมาชิกครอบครัว เกษตรศิริ

การแสดงถูกออกแบบให้ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็น “ตัวเอก” คือผู้เล่าเรื่อง (Narrator) ถ่ายทอดประวัติชีวิตช่วงสำคัญที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์บ้านเมือง ไทย-ญี่ปุ่น ผ่าน props สำคัญของเรื่องคือ Sake Cup (ถ้วยสาเกที่อาจารย์สะสม) หรือแม้กระทั่งบทที่ใช้อ่านประกอบการแสดง ก็ล้วนเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งร่วมจารึกประวัติชีวิตของผู้เล่าที่ล้วนมีความหมายเข้าข่ายเป็น “ตัวรอง” แสดงร่วมกับ Multi Media ที่ประกอบไปด้วย Life Documentary (ภาพยนตร์สารคดี), Shadow Puppet (หุ่นเงา), เคล้าเสียงดนตรี ฯลฯ กำกับการแสดงละครเวที โดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล, กำกับภาพยนตร์สารคดีโดย นนทวัฒน์ นําเบญจพล, เขียนบทโดย จารุนันท์ พันธชาติ ฯลฯ

 

ภาพโดย B-floor

องก์ 1-3 เล่าย้อนภูมิหลังชีวิตส่วนตัวและสงครามโลก สลับกับภาพยนตร์สารคดี
(คัดย่อจากบทการแสดง : เรียบเรียงประวัติ อ.ชาญวิทย์ โดย จารุนันท์ พันธชาติ)

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2507 (1964)ครั้งนั้น อาจารย์ชาญวิทย์เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับราชการเป็นพนักงานของกรุงเทพมหานคร ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ (หน่วยงานสายพัฒนาธุรกิจ แบ่งเป็น 2 แผนกคือ แผนกความร่วมมือต่างประเทศ และศูนย์บริการนักศึกษานานาชาติ แผนกความร่วมมือต่างประเทศ มีหน้าที่รับรองแขกจากต่างประเทศ จัดประชุมเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาและจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบันต่างประเทศ สนับสนุนการแสวงหาพันธมิตรและสร้างเครือข่าย ฯลฯ) ท่านจึงมีหน้าที่จัดการงานรับเสด็จ จักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิจิโกะ บริเวณสะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ที่จัดพิธีถวายกุญแจเมืองต่อพระราชอาคันตุกะ ต่อพระพักตร์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระราชินีนาถ ทั้ง 4 พระองค์ ยังอยู่ในช่วงวัย 30 ต้นๆ หลังเสร็จงาน ได้รับพระราชทานถ้วยสาเกสีแดงชาด ก้นถ้วยตรงกลางมีรูปดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นที่ระลึก ข้างกล่องมีลายมือเขียนว่า The Imperial visit of prime prince Akihito and prime princess Michiko

ย้อนภูมิหลังครอบครัว “เกษตรศิริ” นายชาญวิทย์ เป็นลูกหลานชาวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เป็นปีที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) พ่อเป็นพ่อค้าอาวุธและกระสุนปืน แม่เป็นพยาบาลผดุงครรภ์และจำหน่ายยารักษาโรค จึงมีบทบาทเสมือนเป็นหมอของชาวบ้านโป่ง และได้เก็บของที่ระลึกจากทหารญี่ปุ่นที่มอบให้พ่อ (เชิญ เกษตรศิริ) ตกทอดมากว่าศตวรรษคือมีดเชลย พร้อมกระทะเหล็กสุกียากี้และจักรยาน 1 คัน เอาไว้ ปัจจุบันเหลือเพียงมีดพับเป็นสิ่งกระชับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งจนถึงทุกวันนี้… ตัดสลับสารคดีสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยแถบภาคกลางแต่ไม่ได้รับการต่อต้าน ตรงข้ามกับทางภาคใต้ที่เกิดการต่อสู้อย่างหนักจากชาวไทยจนรัฐต้องสั่งหยุดยิงในวันรุ่งขึ้น เพราะญี่ปุ่นต้องการเพียงขอผ่านทาง บ้านโป่งจึงกลายเป็นฐานทัพของญี่ปุ่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ (The Death Railway) ไปพม่าและอินเดีย ด้วยความยาว 415 กิโลเมตร รวม 16 เดือน

แรงงานทาสชาวเอเชียถูกจับมาจากมลายูและอินโดนีเซีย มีแรงงานทาสที่นึกไม่ถึงคือคนอินเดียหลากหลายเผ่าพันธ์ุ เช่น ชาวทมิฬ ปัญจาบ ฯลฯ รวมคนจีนชาวแต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ฯลฯ ช่วงนั้นคนเหล่านี้ยังไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ … คนไทยที่เป็นแรงงานชายอยู่ในฐานะแรงงานรับจ้างเพราะไทยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น ช่วงนี้มีรายละเอียดในเนื้อหาน่าสนใจที่คนรุ่นหลังควรได้ศึกษา สามารถชมผ่านภาพยนตร์ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” (“The Bridge on the River Kwai” ออกฉายในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957)) ชนะเลิศ 7 รางวัลออสการ์ ทำเงินรายได้ในไทยสูงมาก “แต่ผู้คนที่ไปท่องเที่ยวไม่มีความทรงจำร่วมรับรู้ความเจ็บปวด ของสงครามครั้งนั้นที่สันติภาพได้มาด้วยความยากลำบากยิ่ง” … (คือบทพูดซึ่งมีนัยบอกถึงที่มาของเหตุผลและหน้าที่ในงานการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อรำลึกนึกถึงเท่านั้น…)

 

 

ลึกลงไปในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เป็นความสัมพันธ์แบบความรัก-ความชัง (Love and Hate Relationship) ดังปรากฏใน “วิกฤติการณ์บ้านโป่ง” หรือ “Ban Pong Incident” 18 ธ.ค. 2485 คือรอยร้าวในมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น ที่คนทั่วไปไม่ทราบ นายเชิญผู้เป็นพ่อของอาจารย์ทำหน้าที่ประสานรอยร้าวในกรณีพิพาท เพราะรู้จักกับนายทหารชั้นสูงของญี่ปุ่น จึงเป็นคนอ่านประกาศเคอร์ฟิวของนายอำเภอบ้านโป่ง (นายแม้น อรจันทร์) ออกกระจายเสียงให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ตัดสลับหนังสารคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่หาดูยาก ใส่เสียง Off–Scene ใหม่ แทนเสียงพ่อได้หล่อขลัง ใจความว่า

ให้ประชาชนชาวไทยช่วยเหลือและร่วมมือกับทหารญี่ปุ่น โดยไม่ต้องระแวงสงสัยในการกระทำใดๆ เพื่อหวังชัยชนะในอนาคต ประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2585 (1942)” พ่อจึงเสมือนเป็นสายลับส่งข้อมูลให้เพื่อนอดีตนักเรียนสวนกุหลาบ ส่งต่อไปยังท่านปรีดี พนมยงค์ (หัวหน้าขบวนการเสรีไทยผู้ทำการใต้ดิน ต่อต้านญี่ปุ่น) หลุดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ “ถูกเตะโด่ง” ขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 พ่อจึงได้รับสมญา “นกสองหัว” พ่อตอบว่า “อ้าวมีสองหัวไม่ดีกว่าหัวเดียวเรอะ”

“แม่เล่าว่าเมื่อฝรั่งแพ้กลายเป็นเชลยศึก เราชาวบ้านโป่งก็แอบโยนกล้วยให้ฝรั่งกิน ครั้นญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้ เราก็โยนกล้วยให้ญี่ปุ่นกิน” (ปกติคนไทยจะโยนกล้วยให้ก็แต่ลิงเท่านั้น) อาจารย์อ่านถ่ายทอดประวัติของพ่อผ่านเรื่องเล่าเคล้าสงคราม งาม เรียบง่าย ฟังสบายใจ เพราะให้อารมณ์ขันที่เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องหยอดมุก และมีมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่นเป็นภูมิหลัง “หมอญี่ปุ่นเคยฉีดยาเข้าที่คอผม ไม่ทราบป่วยเป็นอะไร แต่ก็รอดตายมาได้” แม้กระทั่งเมื่อต้องลี้ภัยการเมืองทางญี่ปุ่นก็ให้ทุนไปเป็นนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต (Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University) เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ตัดสลับประวัติการศึกษาระดับมัธยมถึงปริญญาเอกด้วยหนังสารคดี-เพลง ยุค 18-19 ได้สนุกกับความล้ำยุคไม่ใช่ย่อย พลอยรับรู้วิธีคลายเครียดของอาจารย์คือการเรียนกีตาร์ แต่ไม่สำเร็จ (ฮา) จึงหันไปเรียนปั้นหม้อปั้นไหแทน บอกที่มาของพื้นฐานการสะสมเครื่องปั้น เซรามิก

“ประสบการณ์ของการปั้นหม้อไหที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University USA) ทำให้ผมรู้ว่าสิ่งที่ยากที่สุดในตอนแรกเมื่อเริ่มเรียนปั้นหม้อนั้นคือ การขึ้นดินให้อยู่ในจุดศูนย์กลางของแป้น (Center the Clay) ดังนั้น เมื่อผมกลับมาเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ ตอนต้นปี 2516 ผมตั้งใจว่าจะปั้นนักศึกษา แต่ผมก็พบว่านักศึกษา คนรุ่นใหม่ ไม่เหมือนกับดินเหนียว ผมอาจจะขึ้นต้นให้เขาให้เธอได้ก็เพียงน้อยนิด เขาและเธอมีจิตมีวิญญาณต่างจากดินเหนียว ที่มันต้องยอมตามกลายเป็นรูปทรงที่เราปั้นมัน คนหนุ่มคนสาวเมื่อเรียนรู้ขึ้นต้นได้แล้ว เขาและเธอก็เติบใหญ่ และบินไปตามทิศทางของตนเอง มีคนเคยบอกผมว่า If you love something, let it go. if it comes back, it is yours. if it does not, it never was … จริงครับจริง”

 

ภาพโดย B-floor

แต่ที่อาจารย์ทำสำเร็จคือวิทยานิพนธ์เรื่องของอยุธยา (ฝ่ายเทคนิคทำเนียนแทรกภาพประกอบ เป็นยุทธหัตถี ขึ้นจอ ได้ฮากันสนุก) ก่อนเข้าเรื่องทุกข์ “The Rise of Ayudhya and a History of Siam in the 14th and 15th Centuries” เสร็จในปี พ.ศ. 2515 (1972) หลังเรียนจบจึงกลับมาทำงานสอนด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อต้นปี 2516 (1973) ทันได้ร่วมบันทึกเหตุการณ์ “ตุลามหาวิปโยค” ประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญของไทยเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (1973) กับ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (1976) ทันเห็นลูกศิษย์ติดคุก “บางคนเกือบเอาตัวไม่รอดจากอาชญากรรมรัฐ หลายคนต้องหนีเข้าป่า เพื่อรักษาชีวิต และแสวงหาความยุติธรรม” เราโศกลึกกับภาพและเสียงปืนที่ยิงกระหน่ำหนักในหนังสารคดี ภาพการกวาดล้างนักศึกษา ประชาชน ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังบาดเป็นแผลใจในความทรงจำซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้ชมหลายคนในวันนั้น

บางคนขนลุกน้ำตารื้นเมื่อเสียงร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ขึ้นมาประโยคแรก

ปลายเดือน มกราคม 2520 ประมาณ 3 เดือนหลังวันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์ได้รับอนุมัติให้ออกไปประจำสถาบันวิจัยเกียวโต วันที่ขึ้นเครื่องบินออกจากดอนเมือง เพลงสุดท้ายที่เปิดกระหึ่มเมืองคือ “หนักแผ่นดิน” ความจริงที่อิงเทคนิคการเล่าเรื่องซึ่งเสริมด้วยภาพและเพลงจากสารคดี ทำให้หลายคนสุดจะกลั้นความรู้สึกอีกต่อไป น้ำตาไหลขณะฟังความในใจของอาจารย์ … “ผมดีใจที่จะได้ออกไปให้พ้นๆ และเคยบอกกับตัวเองว่า จะเลิกพูดภาษาไทย และคงไม่กลับไปเมืองไทยที่ผมเคยรักอีกต่อไป … รัฐประหารและอาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 2519 ทำให้ผมอยู่เมืองไทยไม่ได้ และต้องไปอยู่ญี่ปุ่นถึง 1 ปีเต็ม ทำให้ผมรู้จักและรักญี่ปุ่น ทั้งในด้านของวิชาการ วัฒนธรรม อารยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมหลงรักเกียวโต” ภาพและเพลงของประเทศญี่ปุ่นขึ้นจอมาพร้อมกับความสดใส ให้ความหวัง พร้อมความหลังที่หลั่งไหลอย่างมีความสุขจากใจผู้เล่า… ก่อนย้อนเข้าที่มาของถ้วยสาเกพระราชทาน การสะสม คุณสมบัติของสาเกคุณภาพสูง และวัฒนธรรมญี่ปุ่น

“ผมพบว่าถ้วยสาเกมีความหมายมากกว่าเป็นวัตถุ เป็นเครื่องถ้วยดื่มสุราธรรมดาๆ แต่คือสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น หรือในภาษาอังกฤษว่า Japaneseness ที่เชื่อมโยงกับศาสนา ความเชื่อ ชินโต เป็นทั้งสัญลักษณ์ระบอบจักรพรรดิ ระบอบทหาร เกี่ยวพันกับวงจรชีวิต จากจุดกำเนิด การแต่งงาน ไปจนกระทั่งถึงความตาย และที่ทำให้ผมตื่นเต้นและเปิดหูเปิดตาเป็นพิเศษคือ ถ้วยสาเกยังเป็นเรื่องของความรัก ความใคร่ อันเป็นธรรมดา และธรรมชาติของมนุษย์เป็นที่สุด นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ชูกะ (SHUKA) ผมไม่เคยนึกเคยฝันว่า ถ้วยสาเกใบเล็กๆ เช่นนี้ จะมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นญี่ปุ่นในระดับที่แสนจะสูงส่ง จนถึงสามัญธรรมดาของมนุษย์ ผมพาถ้วยสาเกกลับไปบ้านเดิมที่กรุงโตเกียว ไปร่วมรำลึกถึงรัชสมัยอันยาวนาน 30 ปี ที่จักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งรัชสมัยเฮเซทรงครองราชย์ยาวนาน สามารถกอบกู้สถาบันจักรพรรดิที่ตกต่ำ เพราะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบจะสูญเสียความเป็นชาติและราชบัลลังก์ นามแห่งรัชสมัยของพระองค์คือ เคเซ แปลว่า PEACE EVERYWHERE หรือสันติภาพทุกหนแห่ง สมนามสถานภาพของพระองค์และสถาบันกษัตริย์สากล…” ลึกซึ้งในความหมายที่ส่งให้ประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน ก่อนสิ้นสุดการแสดง

 

 

สนทนากับอาจารย์หลังการแสดง

อ.ชาญวิทย์ : จากบริบทการแสดงในแง่นี้คือ เรื่องราวที่โยงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ไทยเราประกาศความเป็นกลางก็จริงแต่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในที่สุดเราก็ถูกรุกรานโดยญี่ปุ่น แล้วเราก็ต้องยอมต่อข้อเสนอของญี่ปุ่นที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ เพื่อไปตีพม่า มลายู สิงคโปร์ อินเดีย แต่ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องยอมญี่ปุ่นถ้าไม่ยอมก็ถูกยึดครองไม่สามารถจะรักษาเอกราชได้ เมื่อยอมแล้วก็ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ญี่ปุ่นก็ถือว่าเราเป็นพันธมิตร ในขณะเดียวกันท่านปรีดี ที่ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัฐบาล จอมพล ป. ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่ไทยต้องเข้ากับญี่ปุ่นไปถึงระดับนั้น ท่านก็เลยถูกกันออกไป ที่ผมใช้คำว่า “เตะโด่ง” น่ะ ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 8 ยังอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยภาพลักษณ์ของเมืองไทยคือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่ในเบื้องหลังก็มีขบวนการเสรีไทยซึ่งมีท่านปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) นำอยู่ใต้ดินในเมืองไทย ขณะที่ในอังกฤษก็มีกลุ่มเชื้อพระวงศ์และกลุ่มนักเรียนไทย อย่างอาจารย์ป๋วย (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ก็เป็นเสรีไทยอยู่ในอังกฤษ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นทูตอยู่ที่วอชิงตันก็เป็นผู้นำที่ไม่สนับสนุนญี่ปุ่น สรุปมีเสรีไทยสามสาย ในไทย ในอังกฤษ กับ อเมริกา คนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของเสรีไทยก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วประเทศไทยไม่ถูกปรับให้แพ้สงคราม ถ้าถูกปรับประเทศไทยก็จะถูกอังกฤษยึดครอง เพราะในการรบมี หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน[4] (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรแห่งกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เป็นลุงของควีนเอลิซาเบธ และเป็นผู้บัญชาการรบอยู่ในศรีลังกา คุมทั้งหมดรวมทั้งประเทศไทย พอสิ้นสงครามท่านจึงมาสิงคโปร์ มาเมืองไทย อัญเชิญรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับประเทศ

ท่านปรีดีเป็นคนสำคัญที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ความจริงไทยน่าจะต้องแพ้สงคราม แต่ว่าทั้งอังกฤษและอเมริกาไม่ได้ต้องการยึดครองเมืองไทย เราก็ดำเนินนโยบายถูก อีกข้างเข้าญี่ปุ่นอีกข้างเข้าฝรั่ง นกสองหัวนี่มีประโยชน์ แต่เขามาแตกกันทีหลัง เพราะกรณีสวรรคต ร. 8 ต่างคนต่างช่วงชิงอำนาจกัน ฝ่าย ป. พิบูลสงคราม ร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ คือคณะราษฎรน่ะแตกละเอียดเลย ถ้าไม่มีกรณีสวรรคตเมืองไทยจะหน้าตาไปอีกแบบ ต้องอ่าน “คำประกาศปิดสภา” ของท่านปรีดี ในนามของ ป. พิบูลสงคราม เพราะเวลานั้นท่านเป็นรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงคราม

เราสนใจประวัติศาสตร์ก็ต้องศึกษาเรื่องของคณะราษฎร เมื่อท่านปรีดีออกจากเมืองจีนในปี 1970 (พ.ศ. 2513) ไปอยู่ปารีส ผมเลยได้สัมภาษณ์ท่านเป็นคนแรกๆ แล้วก็ได้ดูหนังพระเจ้าช้างเผือกที่ฝรั่งเศส ประทับใจตรงเป็นหนังที่พูดถึงสันติภาพ เรื่องของประวัติศาสตร์ซึ่งความขัดแย้งในอดีตเป็นเรื่องของกษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เพราะฉะนั้นในหนังเรื่องนี้ จึงบอกว่าออกมาชนช้างกัน (หัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี) ไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน ท่านปรีดีเอาเรื่องในประวัติศาสตร์มาแปลง ถูกตีความให้เป็นสมัยใหม่ แล้วยังใหม่มาจนถึงปัจจุบันนี้

 

ภาพโดย B-floor

ปกติไปญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ หลงรักเกียวโตเพราะอารยธรรมของญี่ปุ่นมันลึกซึ้งมากๆ เมื่อเราเริ่มรู้จักก็จะเริ่มเข้าใจแล้วก็ชอบ เป็นวัฒนธรรมที่มีทั้งแบบเก่า-ใหม่อยู่ในเวลาเดียวกัน จนถึงปัจจุบันนี้ในความเก่าก็มีความใหม่ คนญี่ปุ่นเป็นคนไม่ง่ายที่จะเข้าใจ ไม่ง่ายที่จะรู้จัก แต่ว่าเมื่อรู้จักแล้วเราก็ชอบ เขาเป็นชาติที่เจริญมากๆ คนไทยก็ชอบญี่ปุ่นมากๆ ไปที่ไหนในเมืองไทยก็มีแต่อาหารญี่ปุ่น เขามีของดีให้เราเลือกเรียนรู้เยอะ อยู่ที่เราจะเลือกเอาอะไร ระบบการศึกษาก็ดี ระเบียบวินัยของเขาก็ดี คนไทยได้รับอิทธิพลญี่ปุ่นเยอะมาก เพียงแต่ว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่น่าพอใจนักในปัจจุบัน เพราะมันน่าจะต้องดีกว่านี้ครับ รู้สึกเราย่ำอยู่กับที่เยอะไป ปฏิวัติรัฐประหาร ปฏิรูปหลอกๆ ไม่จริงจัง ไม่เคารพกฎเกณฑ์ คือ… พูดขาวให้เป็นดำ พูดดำให้เป็นขาว อย่างที่เราเห็น ณ ตอนนี้หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มันก็น่าเป็นห่วงอยู่ พิธาก็เหมือนท่านปรีดีที่โดนกระทำนั่นแหละ (หัวเราะร่วน) เขาทำกันมานานแล้ว ปรีดีก็โดน ป. พิบูลสงครามก็โดน คุณทักษิณก็โดน ยิ่งลักษณ์ก็โดน ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ผมมองว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เราไม่เคยเรียนรู้ แล้วเราก็ยังเป็นไทยเฉย อย่างอาจารย์ป๋วยพูดน่ะ ไทยเฉยเยอะ ยอมรับกับอำนาจ ในขณะที่เด็กๆ มันลุกขึ้นมาบอกไม่ยอมรับ ก็นั่งด่าเด็กกัน (หัวเราะขำ)

ส่วนการแสดง performance เป็นสิ่งใหม่สำหรับผม ยังไม่รู้จะพัฒนางานไปแบบไหนได้อีก ของแบบนี้พูดยาก เพราะมันต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ใช้เวลามาก ต้องใช้คนทำงานเยอะมาก ลำพังการขายตั๋วใช้ไม่ได้ค่าบัตรไม่พอกับค่าใช้จ่าย การแสดงแบบนี้เลี้ยงตัวเองไม่ได้หรอก ถึงต้องมีสปอนเซอร์ซึ่งต้องรู้จักกันด้วยนะถึงจะได้ ถ้าไม่รู้จักกันก็ยาก สปอนเซอร์เรื่องนี้เขาเป็นลูกศิษย์ผมทั้งนั้น (หัวเราะอารมณ์ดี)

รายละเอียดทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังงานสร้าง ถูกฉายชัดมันรวมอยู่ในบทสนทนาอย่างเป็นกันเองกับผู้ชมหลังการแสดงและบทสัมภาษณ์สองผู้กำกับเรียบร้อยแล้ว

 

 

บางส่วนของความคิดเห็นจากผู้ชม

(ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม) “หลังจากได้ดูโชว์ “An Imperial Sake Cup and I” ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รู้สึกว่าเหมือนเราได้เห็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่มันถูกเล่าผ่านวิธีใหม่ๆ ครับ หลายเรื่องเราพอจะเห็นอยู่แล้ว การที่อาจารย์กับทีมงานมาเชื่อมร้อยการเล่าเรื่องในแบบนี้ รวมถึงแทรกมิติเรื่องราวส่วนตัวของอาจารย์เอง มันทำให้เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด นั่งฟังไปก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ตัวเราเอง ครอบครัวเราเอง รากเหง้าของเราเอง มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงไหนบ้าง ในขณะเดียวกัน ผมว่าการที่อาจารย์หยิบประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต ความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในสังคม มาพูดคุยในรูปแบบที่หักมุมทางเทคนิคการนำเสนออย่างการใช้เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” กับ “หนักแผ่นดิน” ยังเป็นสิ่งที่ถูกใช้แล้วเข้ากับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เราได้เห็นประวัติศาสตร์เชื่อมโยง ส่งผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยถ้วยสาเกเล็กๆ ถ้วยหนึ่ง ก็ยังมีอยู่จริงในปัจจุบันทุกวันนี้ ดีใจที่ได้มาดูโชว์นี้แบบสดๆ มากเลยครับ”

 

 

Question for the Audience

สนทนากับผู้ชมหลังการแสดงใน วันที่ 17 มิถุนายน 2566

จารุนันท์ พันธชาติ ศิลปินศิลปาธร ปี 2557 : เขียนบท-ดำเนินรายการ

ในศาสตร์การแสดง งานการสอนหนังสือในแต่ละวันไม่ต่างกันกับการแสดงในแต่ละรอบ ทั้งรายละเอียดของโครงสร้างการทำงาน วิธีการสื่อสาร และผลที่จะตามมาจากการถ่ายทอด ที่ต้องใช้พลังทั้งจากภายนอกและภายในไปเป็นส่วนประกอบสำคัญ Teacher กับ Entertainer ต่างต้องมีคุณสมบัติเป็น Performer ต่างกันเพียงองค์ประกอบภายนอกที่สร้างเสริม เพื่อเพิ่มสารที่ต้องการสื่อให้ชัดขึ้นในส่วนของการแสดง ธรรมชาติในตัวตนของ อ.ชาญวิทย์ คือความเป็น Entertainer ที่เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติโดดเด่นเป็นธรรมชาติ เพราะความเป็นคนฉลาด ตลก สดใสจิตใจดีมีเมตตา ผู้ชมล้วนลูกศิษย์ ญาติ และมิตรร่วมอุดมการณ์ รู้สึกได้ว่าทุกคนมาเพื่อสังสรรค์ร่วมกันกับผลงานใหม่ในชีวิตของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หลังการแสดงมีพูดคุยกัน บรรยากาศเหมือนเข้าเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ไม่เป็นทางการ ก่อนที่ความจำเป็นเลิศจะลางเลือนไปหลังวัย 82 ปี มีเสียงฮาติดยิ้มมาเป็นระยะถี่เหมือนชมการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนตลอดเวลา 40 นาทีที่สนทนา แม้อาจารย์จะยืนยันว่าเครียดหนักในบทบาทหน้าที่ของการเป็นนักแสดง เพราะแตกต่างจากการสอนมาตลอดชีวิตก็ตาม

จารุนันท์ : อาจารย์เหนื่อยไหมคะวันนี้

อ.ชาญวิทย์ : ก็เหนื่อย มันแปลก …

จารุนันท์ : เหนื่อยยังไงคะ ไม่เหมือน lecture ที่อาจารย์สอนมาตลอดชีวิตเหรอคะ

อ.ชาญวิทย์ : ไม่เหมือนเพราะว่า… ถ้าเราสอนหนังสือ นักศึกษาถูกบังคับให้มาฟังเรา (ฮา) ถ้ามี 100 คน 10 คนนั่งฟังเราก็บุญแล้ว อีก 90 คนก็ไม่สนใจเท่าไหร่ (ฮา) แต่นี่พวกคุณต้องเสียเงินมาใช่ไหม มันทำให้ผมปอดๆ เมื่อเราเป็นนักวิชาการก็คิดอีกอย่างนะ แต่ตอนนี้ผมถูกปั้มในวีซาตอนไปแสดงที่โตเกียวเมื่อปีที่แล้วว่าเป็น Entertainer (ฮา ตามด้วยปรบมือยินดีกับสถานะเอนเตอร์เทนเนอร์) ผมไม่เคยคิดว่าชาตินี้เราต้องเปลี่ยนอาชีพเหรอ…

 

 

ตอนที่อาจารย์ไปวังจักรพรรดิเอาถ้วยสาเกไป มีกล้องตัวใหญ่ตามไปด้วย อาจารย์วางแผนไว้อยู่แล้วรึเปล่าคะว่าจะไปเก็บ document เอามาทำ lecture performance แบบนี้

อ.ชาญวิทย์ : ผมคิดว่าหลายอย่างมันเป็นเหตุบังเอิญนะ อาจจะเป็น Destiny ก็ได้นะ ผมไปๆ มาๆ ญี่ปุ่นบ่อยจนรู้สึกว่าเราจะไปเมื่อไหร่ก็ได้ทำนองนี้ ผมบอกในที่ประชุมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยโตเกียวว่าผมเป็น Visitorfor Life เขาก็งงตอบว่า Yes ผมอยากไปเมื่อไหร่ก็ขอจดหมายแล้วก็ไปๆ มาๆ เพิ่งไปลี้ภัยเมื่อปี 2520 จนผมมีความรู้สึกว่าเราเดินไปไหนมาไหนในเกียวโตมันคุ้นเคยนะ พอมีข่าวว่าพระจักรพรรดิองค์ที่แล้ว (จักรพรรดิอากิฮิโตะ) จะเสด็จออกครั้งสุดท้ายแล้วจะสละราชสมบัติ (พิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิในสมัยเฮเซ (Heisei 1989-2019 เมื่อ 30 เมษายน 2562)[5] ผมก็เลยชวนเด็กๆ 4 คนไป มีคุณเบิ้ลด้วย (นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสารคดีมือรางวัล และกำกับส่วนสารคดีของ “An Imperial Sake Cup and I” ด้วย) เป็น Indy เนอะ (ฮา) ผมรู้จักกับเขาโดยบังเอิญเมื่อครั้งทำหนังเรื่อง “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” เกี่ยวกับ กรณีไทยกับกัมพูชาเรื่องเขาพระวิหารนะครับ เป็นกรณีที่สำคัญมาก ผมก็ตื่นเต้นกับหนังของเขา ก็เลยรู้จักกันมาตั้ง 10 ปีได้แล้วมั้ง ชวนผู้ช่วยเด็กๆ ที่ธรรมศาสตร์อีก 3 คน ไปเที่ยววังที่จะเสด็จออก (พระที่นั่งต้นสน ณ สำนักพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว) เกิดบังเอิญว่าเราหลุดเข้าไปได้ ความแก่บางทีก็มีประโยชน์ ผมก็แต่งตัวเว่อร์ๆ อย่างที่คุณเห็นในหนังน่ะนะ อนันต์ออกมาบอกว่าถ้าเรายืนอยู่ตรงนี้จะเข้าไปไม่ได้ ผมเลยตัดสินใจเดินเข้าไปหาพนักงานผู้หญิง เป็นเรื่องจริงโดยบังเอิญ ผมรู้ภาษาอังกฤษบ้างเพราะได้เรียนที่เกียวโต สำเนียงของผมคงประหลาดๆ คล้ายๆ ชาววัง บอกว่ามาจากราชอาณาจักรไทยเขาก็ตกใจเลย พนักงานโค้งผมใหญ่แล้วพาพวกเราเข้าไปไม่ถามด้วยนะครับ ชักกล้องถ่ายกันใหญ่เลย เรากลายเป็นอภิสิทธิ์ชนไปแล้ว

 

ภาพโดย B-floor

จารุนันท์ : อาจารย์เห็นความ Love-Hate Relationship ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนเขียน “Life of Ayutthaya” ฉบับที่เป็นของจริงรึเปล่าคะ

อ.ชาญวิทย์ : มันสลับซับซ้อน เราก็เก็บไปเก็บมานะ ในส่วนหนึ่งผมได้เลือกที่เอามาเล่าในวันนี้จำนวนมาก เพราะทำหนังสืองานศพให้แม่ แรกก็จะเป็นธรรมะอะไรแบบนั้นน่ะ มันน่าเบื่อนะ เราก็เลยทำเป็นประวัติของแม่ ก็เลยต้องโยงไปถึงตา กลายเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะ ในนั้นเป็นเรื่องที่ผมสัมภาษณ์มุขปาฐะ ด้วยการถามเพื่อน ถามญาติพี่น้องของแม่ก็ได้เลือกมา เหมือนอย่างตอนที่คุณป้าคนหนึ่งเป็นคนบ้านโป่งใกล้สถานีที่เกิดเหตุ แกบอกว่าพ่อผมเป็นนกสองหัว แล้วพ่อเธอก็เถียงฉันว่า สองหัวดีกว่าหัวเดียว เออมันก็แปลกผมเลยเอามาใส่ไว้ เลยหลุดเข้ามาในบทเรื่องนี้โดยบังเอิญนะ รวมความแล้วผมคิดว่าเป็นเหตุบังเอิญมากๆ

ถ้าพูดถึงความหลัง ผมกะว่าจะเอาถ้วยสาเกมาจัดนิทรรศการ เพราะเก็บไว้เยอะแยะเลย (แต่ตอนนี้ผมก็ยกให้ธรรมศาสตร์ไปหมดแล้วนะ ของเหล่านี้เป็นสมบัติของธรรมศาสตร์ผมต้องยืมมาแสดง) เริ่มตั้งแต่จะจัดนิทรรศการแล้วคุณเจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์อิสระ และผู้อำนวยการ The Jim Thompson Art Center) บอกว่า เชย!! ทำ Lecture Performance สิ ผมเกิดมาไม่เคยได้ยิน เคยแต่ Lecture

จารุนันท์ : ทีแรกอาจารย์คิดว่าจะเป็นยังไง

อ.ชาญวิทย์ : คิดไม่ออก เนื่องจากคุณเจี๊ยบ กับเจ้าบับเบิ้ลผู้กำกับที่รู้จักกัน ก็พาผมมารู้จักกับจากับคาเงะ (ผู้กำกับละครเวทีและ “An Imperial Sake Cup and I”) ไปไหนแล้ว… แกใส่เฝือกเพราะว่าซ่าเกินไป เวลากำกับแกบอกให้ผมพูด บ้านโป่ง Incident แกก็พูดของแกเองนะว่า Accident dent dent (ทำเสียงก้องเป็นแบบอย่าง) ผมก็…เอาอย่างนั้นเหรอวะ (ฮา) ผมก็ไม่กล้านะ เราก็เป็นอาจารย์นะ (ฮา) ผมไม่แน่ใจว่าพูดได้หรือเปล่าก็เกรงใจ … วันนี้มีแขกมาจากฮาวายด้วยใช่ไหม (เพื่อนที่บินมาเพื่อชมการแสดงนี้โดยเฉพาะ) สงสัยต้องพาทีมนี้ไปฮาวายแล้วล่ะอาจารย์ คนญี่ปุ่นก็อยู่ที่นั่นเยอะ

 

 

คำถามจากผู้ชม

ตอนจัดงาน ดร.ป๋วย ได้คุยอะไรเชื่อมโยงเรื่องถ้วยสาเกแบบมูเตลูกับ ดร.ป๋วยที่อยากเล่าบ้างรึเปล่าคะ

อ.ชาญวิทย์ : มีมูเตลู? มั๊ยน่ะ… (เสียงฮาสนั่น กับอาการงง แล้วหันหน้าปรึกษาคนนั่งข้าง จารุนันท์ ให้คำจำกัดความว่าเชิง จิตวิญญาณ ไสยศาสตร์) … ผมว่ามาจากเพื่อนๆ มากกว่านะ ผมไม่ได้คิดว่าจะมาเป็น Entertainer ไม่คิดว่าจะทำ Lecture Performance ผมว่ามันยุ่งยากมากเลยนะ เห็นเขาทำงานกันแล้วผมปวดหัว นั่งๆ อยู่กับพวกเขาเห็นเขาทำงานเราก็โอ๊ยตาย ไม่น่าทำเลย อยากกลับบ้านนอน เรามีอายุมากก็เป็นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคกระเพาะ โรคเยอะเลยนะ … แต่มันก็มีแรงบันดาลใจอะไรบอกไม่ถูก… จะว่ามูเตลูก็อาจจะได้ อย่างเวลาจับถ้วยใบนั้น หรือจับมีดเชลย (หนึ่งในของสะสมสูงคุณค่าที่เก็บมากว่า 80 ปี) ที่ทหารญี่ปุ่นเอามาทิ้งไว้ ผมสัมภาษณ์คนที่บ้านโป่ง ที่เมืองกาญจน์ แถวเมืองปายแม่ฮ่องสอน เป็นงานที่ไม่คิดว่าจะมาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นความมันส่วนตัว

เราเกิดมาในสมัยสงครามโลก ปี 2484 (1941) ญี่ปุ่นมันบุกนี่หว่า จะบอกนักศึกษาตลอดเวลาว่า ต้องจำทั้งพุทธศักราชและคริสต์ศักราช แล้วเราจะเห็นอะไรเยอะเลย ปีนั้นธรรมศาสตร์แพ้บอลประเพณี นางเอกหนัง “พระเจ้าช้างเผือก” คุณไอรีน นิลรังษี (ไพริน นิลเสน) ผมก็สัมภาษณ์เธอนะ ผมชอบคุยกับคนที่มี Story น่ะ เธอเป็นนางงามเป็นดาวธรรมศาสตร์สวยมาก ตอนที่ผมพบเธอ เธอเป็นเถ้าแก่เนี้ยโรงงานน้ำตาลที่กำแพงเพชร รวยมาก ลงจากกำแพงเพชรเพื่อจะมาดูหนังพระเจ้าช้างเผือกที่เธอแสดงเมื่อตอนเป็นสาว ตอนฉายครั้งแรกไปเอาฟิล์มมาจากปารีส มาฉายที่สยามสมาคม อะไรแบบนี้ มันมาจากประสบการณ์ส่วนตัว เพราะว่ายังมีอายุอยู่นะครับ (“พระเจ้าช้างเผือก” มหากาพย์ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องเดียวของไทยที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ จากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขียนบทและอำนวยการสร้างโดยรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ฉายครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2484)[6]

 

 

ตั้งแต่วันที่ได้ย้อนกลับไปตามหาประวัติครอบครัวจนออกมาเป็น Lecture Performance ในแต่ละรอบการแสดง น่าจะเกิดการทำงานทุกครั้งที่เราเล่าใหม่ ได้ค้นพบแง่มุมใหม่จากเรื่องราวเดิมหรือเปล่าคะ

อ.ชาญวิทย์ : โดยทั่วไปมันก็คิดอะไรไปได้เรื่อยๆ อันนี้แปลว่าผู้กำกับเขาจะยอมหรือไม่ยอมเราก็ไม่รู้ แต่ไม่ใช่เป็นนักวิชาการอิสระนะ เป็น Entertainer แล้วน่ะ เราต้องฟังเขา จาว่าไง คาเงะว่าไง เบิ้ลว่ายังไง รวมทั้งไอเดียจากคนที่มารู้จักหลังจากทำงานด้วยกัน ทำครั้งแรกที่ ใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ วันนั้นเราดื่มสาเกกัน วันนี้เราไม่ได้ดื่มสาเกนะเป็นเหล้าขาว (ฮาลั่นกันอีกรอบ เหมือนเมาสาเกที่เสิร์ฟทุกคนก่อนคุย) รสมันพอใช้ได้ใช่ไหมเขาให้มาหลายลังเลย เอ๊ะ…คำถามมันอยู่ที่ไหนนะ (ผู้ชมฮา จารุนันท์ทวนคำถามให้) … นึกครับนึกใหม่ แต่ผมจะเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ นิดเดียวครับไม่ให้มันเปลี่ยนไปมากกว่านี้

พรุ่งนี้เป็นรอบสุดท้ายใช่ไหม สำหรับงานนี้ครั้งแรกในกรุงเทพฯ เพราะคิดว่าถ้าจะทำอีกคงต้องคุยกับทีมงาน เราได้คุยกันไว้ว่าจะทำเป็น VDO เพราะว่าปรมาจารย์การละคร ครูแพ็ท ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ บอกว่าเราควรบันทึกเอาไว้ให้เด็กรุ่นหลัง แล้วก็มีคนบางคนเสนอว่า น่าจะไปเกลี้ยกล่อมพวกเพนกวิน รุ้ง หรือหยก ฯลฯ ให้เขาคิด version ของเขา ก็คงมีอะไรเยอะนะ คนเหล่านี้เป็นคนที่จะถูกจดจำในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยแน่ๆ นะครับ

 

ภาพโดย B-floor

เรื่องนามสกุลเก่าเดิม “แก่นแก้ว” มีที่มายังไง ทำไมเปลี่ยนเป็น “เกษตรศิริ” คะ

อ.ชาญวิทย์ : เราก็เป็นสิ่งที่ธงชัย (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) บอกว่า Sino-Thai (คนไทยเชื้อสายจีน) ก็เป็นเจ๊กน่ะ เป็นเจ๊กที่ลืมแซ่ไปแล้วใช่ไหมครับ มันมายังไงพูดจริงๆ ไม่ทราบนะ ผมไปที่… พวกคุณรู้จักบางเหี้ยไหม (เสียงฮืออื้ออึง) จอมพล ป. พิบูลสงคราม บอกไม่ให้เรียกบางเหี้ย เปลี่ยนหมดเลยเป็น คลองด่าน รู้จักใช่มั้ยอยู่สมุทรปราการน่ะ เส้นทางสายถนนสุขุมวิทเก่าที่จะไปชลบุรีบางแสน คนปัจจุบันไม่ไปแล้วต้องไปทางบางปู เลยไปก็จะเป็นคลองด่านซึ่งเดิมชื่อบางเหี้ย ก็ไปสืบที่นั่นเพราะญาติพี่น้องหลงเหลืออยู่ได้คุยกันเมื่อหลายปีมาแล้วตอนทำหนังสืองานศพให้แม่ ผมทำการมุขปาฐะ ใครที่ยังไม่ได้ทำการสัมภาษณ์พ่อแม่ปู่ย่าตายายรีบสัมภาษณ์เอาไว้นะครับมีค่ามากๆ

ผมไปพบว่าทำไมตาผมถึงบันทึกไว้ว่าไปได้เมียที่บางเหี้ย เมียนั้นเป็นเชื้อสายรามัญ พอเราไปดูบางเหี้ยคลองด่านมันเป็นคลองออกปากอ่าว ด้านอ่าวไทย ด้านหนึ่งมีวัดมอญ ไปถึงเรารู้เลยวัดมอญเพราะมีหงส์เยอะแยะเลย ฝั่งตรงข้ามชุมชนมอญเป็นชุมชนแต้จิ๋วมีศาลเจ้า ต้องข้ามคลองตรงนี้ไปแต่งงานกัน ตกลงยายมาจากเจ๊กปนมอญ ผมเป็น จปม. ไม่ใช่ จปร.แบบ สุจิตต์ วงษ์เทศ เราก็สืบว่านามสกุลมายังไง ก็มีคนเล่าๆ ในที่สุดก็มีคนหนึ่งชื่อ แก้ว ไม่แน่ใจว่าสายไหน หญิง ชาย คิดว่าคงมายังงี้มั้ง ก็เลยมาเป็น "แก่นแก้ว" แปลว่าเพชรพลอยมีค่า เป็นแก่นของแก้ว แต่ตอนหลังแก่นแก้วมันกลายเป็นแก่แดดใช่มั้ย พ่อผมจั๊กจี้ใจเลยเปลี่ยน ก็ไปถามเจ้านายคนหนึ่งพวก วงศาโรจน์ คุณไปเปิดดูนามสกุลเจ้าเมืองราชบุรี วงศาโรจน์ พวกนี้เขาเป็นใหญ่เป็นโต มีคนหนึ่งบอกอยากเปลี่ยนเหรอแก่นแก้วไม่เอาแล้ว เป็น “เกษตรศิริ” ไปสิ แปลว่าอะไร เกษตรศิริ นาก็ไม่มี (ฮาดัง) พ่อผมไม่มีนาไม่สนใจเล่นที่ดินเลยนะ อยู่บ้านโป่งตั้งหลายสิบปีที่ดินไม่เคยซื้อแม้แต่แปลงเดียว ไม่ชอบ แปลกๆ เป็นคนประหลาด เกษตรศิริ ก็แปลว่า เกษตรศิริ น่ะ แล้วก็มีคนนามสกุลนี้ซ้ำกัน มีซ้ำเป็นชื่อวัดอีกที่หนองคายเคยคีย์เข้าไปเจอชื่อ เกษตรศิริ มีคนถามเกษตรศิริเหมือนกันเป็นญาติกันบ่? ไม่มีน่ะ มันแค่พ้องกัน มีคนนามสกุลซ้ำๆ กันเยอะแยะไป

ผมเพิ่งมาเข้าใจนะ แต่ก่อนนี้ผมไม่เข้าใจ ถ้าคุณเป็นลูกผู้ดีมีสกุลคุณอาจเข้าใจก็ได้ อย่าง B.R.O’G. Anderson (Benedict Richard O’ Gorman Anderson เชื้อสาย Anglo-Irish เจ้าของหนังสือดัง Imagine Community)[7] แกสืบโคตรได้หมดเลยนะ ในหนังสือที่ผมพิมพ์ แกเปลี่ยนใจไม่อยากเป็นผู้ดี อยากเป็นไพร่ บอกเรียกแกว่า Ben เฉยๆ ก็แล้วกัน ไม่ต้องอาจารย์ หรือ Professor แล้วแกก็ไม่ให้เขียน B.R.O’G. Anderson (คือชื่อและสกุลผู้ดี สืบสาแหรกมาหลายสาย) สืบกันเข้าไปสิสาแหรกของแกนี่ 200 กว่าปีน่ะ เคยไปคีย์ Archive ที่ลอนดอน มันจะขึ้นมาหมดเลยใครเป็นลูกเต้าเหล่าใครหลานใคร พอคีย์ของอาจารย์ Ben Anderson คนหนึ่งอยู่ปีนังสร้าง Reservoir ที่ปีนัง (เป็นอ่างเก็บน้ำอยู่บน Penang Hill) รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จไปทอดพระเนตร อีกคนเป็นวิศวกรแล้วเป็นคนสร้างสิ่งนี้ ชื่อเขาอยู่ใน Archive ผมค้นแบบนี้ด้วยความมันส่วนตัว อย่างเช่นผมไป Archive ของ ยูทาห์ (UTAH เป็นรัฐหนึ่งทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ต้นกำเนิดของศาสนาคริสต์ นิกาย Mormon) เขาจะเก็บโคตรเหง้าตระกูลของคนเอาไว้ทั่วโลกเลย แต่พอคีย์ของผมเข้าไปมันไม่มี (ฮา) เขาก็ดีใจที่เราพยายามจะคีย์นะ พวก Mormon จะเก็บบันทึกตระกูลของเขาเอาไว้ (Mormon เป็นคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งในขบวนการวิสุทธิชนยุคสุดท้าย โจเซฟ สมิธ เป็นผู้ริเริ่มขบวนการนี้ขึ้นใน คริสต์ทศวรรษ 1820)[8]

 

ภาพโดย B-floor

จารุนันท์ : ก่อนที่จะเป็นอีกหนึ่ง Lecture Performance เราไปต่อได้อีก 1 คำถามค่ะ

ผู้ชม : เรียนถามตอนที่อาจารย์ไปเกียวโต ปี พ.ศ. 2520 อาจารย์ตั้งใจจะไม่กลับมาเมืองไทยอีก แต่ต่อมาถึงวันนี้ ผ่านโศกนาฏกรรมตั้งหลายครั้ง อะไรทำให้อาจารย์เปลี่ยนใจครับ

ผมเปลี่ยนใจเพราะ คุณเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ … นึกออกไหมครับว่า คุณธานินทร์ ไกรวิเชียร อยู่ในตำแหน่งแปปเดียว ผมก็เลยเปลี่ยนใจกลับมา เพราะเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นคุณเกรียงศักดิ์ก่อนที่จะมาเป็น คุณเปรม ติณสูลานนท์ ถ้าคุณธานินทร์อยู่ยาวตามโครงการที่วางไว้ 12 ปี … (ละไว้ฐานเข้าใจว่า อาจจะไม่ได้กลับมา) … แกน่าสนใจนะ แกเป็นลูกเจ้าของโรงจำนำที่สมุทรปราการ …. แล้วยายผมเป็นเจ้าของโรงเรียนเฉลิมวิทยา สมุทรปราการ ตอน 16 ตุลาคม 2519 ผมหนีกลับไปบ้านยายอยู่กับยาย เพราะยายรู้จักกับบ้านธานินทร์ ไกรวิเชียร แล้วรู้จักบ้าน คุณสงัด ชลออยู่ ภรรยาอยู่ปากน้ำ เพราะฉะนั้นเราก็ไปหาที่ที่ปลอดภัยที่สุด ไปซ่อนที่นั่น ใครไปซ่อนที่ไหนผมรู้หมดเลย เห็นบันทึกบอก ต้องดูประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมันมีความเปลี่ยนแปลงแล้วเราก็มีความหวังว่า เราจะไปสู่ประชาธิปไตยนะ แต่มันไม่ใช่ คุณเปรมบอกถ้าคุณชาติชายมาเราจะรัฐประหาร (พฤษภาคม 2535)

หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 เราก็มาเจอรัฐประหารของ คุณประยุทธ จันทร์โอชา อีก ผมถูกปล่อยข่าวลือว่าถูกเรียกตัว ทุกคนวุ่นวายกันมาก แต่เขาไม่ได้เรียกผมเพราะว่าถ้าผมไปคงยุ่งน่ะ หลังจากนั้นผมก็ออกไปอยู่เกียวโตอีก ไปทำงานกับอาจารย์เพียรรัตน์ใช่ไหมนะ?… (หันไปถามจารุนันท์ผู้เสมือนเกิดไม่ทันเหตุการณ์ รีบปฏิเสธเพราะไม่สามารถให้ตัวช่วย ผู้ชมได้แต่ฮาหาผู้ช่วยไม่ทัน) เพียรรัตน์บอกว่ารัฐบาลประยุทธจะอยู่ยาว เราพนันกันหมื่นเยน ปรากฏว่าผมแพ้จ่ายแกไปแล้ว ผมคาดผิดมากนะ เราคิดไม่ออกว่า Saturday Night Fever จะเกิดขึ้นมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มา สารภาพตรงๆ เลยผมคิดว่า เพื่อไทย แน่ๆ มาอันดับหนึ่ง ก้าวไกลจะได้หรือเปล่าไม่รู้ คนที่เป็น ส.ส ตอนนี้เป็นศิษย์เก่าตั้งหลายคน เด๊ก เด็กๆ ในแง่ของเรานะ พรุ่งนี้สงสัยจะมาดูการแสดงกันอีกหลายคน ผู้ชมวันนี้ดูแล้วอายุเฉลี่ยเยาว์วัยเหมือนเมื่อวานนี้นะ (ฮา ผู้ชมทั้งหลายได้ชื่นมื่นกับความเยาว์ก่อนแยกย้าย)

 

ภาพโดย B-floor

ผู้กำกับสารคดี นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหนังสารคดีมือรางวัล

นนทวัฒน์ : รู้จักอาจารย์ชาญวิทย์เป็นการส่วนตัวตั้งแต่ตอนทำหนังเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (“Boundary” ประมาณปี พ.ศ. 2555) ท่านอยากดูเรื่องนี้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เลยได้ทักเป็นเพื่อนกันส่งหนังให้ดู มาเรื่องนี้ “An Imperial Sake Cup and I” เริ่มจากอาจารย์จะส่งของไปมอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เก็บไว้ มีถ้วยสาเกที่คิดว่ามีประเด็นน่าสนใจ ประกอบกับช่วงนั้นที่ญี่ปุ่นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยพอดี อาจารย์ชอบดูงานหนังสารคดีของผมอยู่แล้วก็เลยชวนไปญี่ปุ่นกับทีมงานอาจารย์ที่ดูแลทริป พาไปที่โตเกียวดูพิธีการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย[9] ทีมจะดูแลข้อมูลวันเวลาว่าจักรพรรดิจะขึ้นมาเมื่อไหร่ เราต้องไปกันช่วงไหน เราจะไปที่ไหนกันบ้าง ผมติดตามถ่ายสารคดีเก็บไว้ได้เป็น footage[10] ทริปญี่ปุ่นทริปนั้นมา จะมีไปที่อื่นๆ ด้วย เช่นที่ฟูกูโอกะแต่ไม่ได้ใช้ในเรื่องนี้ อาจารย์พาไปเกียวโตพบกับเพื่อนๆ ของอาจารย์ พาไปดูพื้นที่ที่เคยอยู่ ไปดูเมืองต่างๆ ในเขตเกียวโต พอกลับมาจะจัดนิทรรศการได้คุยกับพี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์อิสระ และผู้อำนวยการ The Jim Thompson Art Center) ก็ได้ไอเดียปรับงานให้เป็น Lecture Performance กันดีกว่า แต่ผมไม่มีประสบการณ์ในงาน perform เลยชวนแก๊ง B-Floor พี่คาเงะ (ธีรวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธร) พี่จา (จารุนันท์ พันธชาติ) มาร่วมงานกันครับ

ทำงานประสานกับส่วนละครอย่างไรบ้าง

นนทวัฒน์ : มันคือสามศาสตร์ในเชิงวิชาการ จากงานเลคเชอร์เชิงวิชาการที่อาจารย์ทำมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ส่วนพี่คาเงะ พี่จา ก็โปรทาง perform ทาง live ส่วนผมก็ทำหนังอยู่แล้ว ก็มาพูดคุยกันว่าอาจารย์ต้องการนำเสนอเรื่องอะไรออกมา เราจะสามารถสนับสนุนงานออกมาได้ยังไงบ้างในทักษะที่ผมมีต่างจากพี่คาเงะ พอได้ประเด็นเรื่องถ้วยสาเก ก็เริ่มจากให้อาจารย์ขึ้นบท จากที่อาจารย์เริ่มเขียนมีลักษณะของ lecture พอสมควร พี่จาจะเป็นคนช่วยพัฒนาบทให้จังหวะจะโคนต่อยอดกับการทำโชว์ได้ง่ายขึ้น พอได้บททั้งหมดมา ผมก็ให้อาจารย์อ่านบททั้งหมดแล้วบันทึกเสียงไว้ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดจากญี่ปุ่นมาตัดต่อเข้ากับเสียงของอาจารย์ จะมีส่วนที่มันว่างๆ อยู่ในช่วงเสียงเล่าของอาจารย์ ทีม reserch ก็จะช่วยหาภาพทางประวัติศาสตร์มาช่วยเสริมให้ ปรึกษากับพี่คาเงะมีช่วงไหนที่ภาพเยอะเกินไปเอาออกไหม หรือในส่วนพี่คาเงะมีหุ่นเงามาเพิ่ม เป็นต้น พอได้ภาพไหนจะ insert ช่วงไหนแล้วก็มาดูว่าจะ present กันยังไง ขึ้นภาพจอเดียวหรือสองจอ หรือจะเป็นภาพ live ของอาจารย์ในขณะนั้นด้วย หรือการที่อาจารย์จะ movement เป็นส่วนของพี่คาเงะ รวมทั้งทีมแสง สี เสียง ด้วย เราแบ่งงานโดยไม่ก้าวก่ายกัน ให้เกียรติกัน ประชุมแล้วก็ลงตัวไม่ยากครับ

 

ภาพโดย B-floor

เรื่องนี้ต่างจากหนังประเด็นทางการเมือง และการต่อสู้ของคนตัวเล็กในสังคม

นนทวัฒน์ : มีความเหมือนในเรื่องโครงสร้างที่พูดถึงเรื่องส่วนตัวของคนตัวเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ใหญ่ของประเทศไทย และส่งผลกระทบสองต่อถึงเพื่อนบ้าน ต่อทวีป และต่อโลก ทุกเรื่องจะเป็นโครงสร้างเดียวกัน เช่นเรื่อง “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ประเด็นเขาพระวิหาร เริ่มจากทหารปลดประจำการมา ถูกส่งไปสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง กำลังกลับบ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่ชายแดนมีเขาพระวิหารอยู่ แล้วเขาก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแยังของรัฐบาลไทยกับกัมพูชาในช่วงนั้น ผมก็ตามชีวิตส่วนตัวของคนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างของรัฐ เป็นต้น อีกตัวอย่างเช่น “By The River สายน้ำติดเชื้อ” (ได้รับรางวัล Special Mention สาย Concorso Cineasti del presente หรือผู้กำกับหน้าใหม่ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน “Locarno international film festival Switzerland” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เป็นเรื่องของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคลิตี้ เขตอุทยานแห่งชาติ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอุดมสมบูรณ์มากจนมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์สูงทางเศรษฐกิจ เหมืองแร่สัมปทานปล่อยของเสีย (สารตะกั่ว) ลงไปสู่แหล่งน้ำในป่าลึก ทำให้ชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำได้รับผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ สุขภาวะ จากจุดเล็กๆ ก็กระจายไปในวงกว้างตามกระแสการไหลของสายน้ำจนมาถึงกรุงเทพฯ เรื่องจะมีโครงสร้างการทำงานคล้ายกันครับ

นนทวัฒน์ : “An Imperial Sake Cup and I” ส่วนของผมรับผิดชอบเรื่อง Visual กับ VDO สิ่งที่ทำให้อาจารย์ผ่อนคลายขึ้นน่าจะเป็นการช่วยเสริมเรื่องเล่าของอาจารย์ด้วย Visual ในงานนี้ไม่มีการตัดสลับกับสัมภาษณ์ เพราะอาจารย์บรรยายเองตลอดเรื่องอยู่แล้ว เป็นความสนุกมากกว่าเดิม แต่ในกระบวนการก็ไม่ได้ต่างจากเดิมนัก คือการนำเอาข้อมูลที่เป็นเรื่องจริงมาตัดต่อ นำภาพนิ่งมาช่วยเสริม visual ช่วยเล่าเรื่อง ทำให้อาจารย์ผ่อนคลายมากขึ้น มีงาน perform กับ live เข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นมันคือการย่อยข้อมูลแบบเดิมที่เคยมี มาสู่มีเดียในแบบที่ไม่เคยทำ จากโปรเจกต์นี้ได้เรียนรู้งานการแสดง เพราะปกติผมถ่ายงานจะไม่ได้ไปยุ่งกับหน้ากล้องมากนัก ปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแล้วเราก็ Capture สิ่งเหล่านั้นมา แต่ว่างานนี้จะมีการควบคุมจัดคิว หรืออะไรบางอย่างที่มันอยู่หน้ากล้องด้วย ต่างจากงานเดิมที่เคยทำ นำไปประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ ได้ โดยส่วนตัวก็อยากทำหนังหรืออะไรกับประเทศญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นประเทศที่น่าสนใจไปเที่ยวก็สนุกครับ

 

ภาพโดย B-floor

ความคิดเห็นด้านประวัติศาสตร์การเมือง ไทย-ญี่ปุ่น และสถานการณ์ปัจจุบัน

นนทวัฒน์ : ผมไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาก ได้รับรู้จากการ์ตูน ดูหนังญี่ปุ่น เช่น คู่กรรม พอรู้จากมุมมองหลายอย่างที่เป็นด้าน positive ซะส่วนใหญ่ พอมาทำเรื่องนี้ได้เห็นทั้ง Hate-Love ทั้งด้านบวกและด้านลบ ได้เห็นด้านที่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของอาจารย์ ซึ่งก็สามารถจะรู้สึกได้ เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสังคม เข้าใจถึงอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงเข้ามาในสังคมไทยขนาดนี้ แล้วก็เห็นถึงอนาคตซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ทำไมคนไทยเข้าถึงความเป็นญี่ปุ่นได้มากในอดีต รวมถึงตัวเองด้วยเข้าใจที่มาที่ไป พออาจารย์เล่าในเชิงเปรียบเทียบ (Comparative) ก็ได้เห็นสิ่งที่เหมือนและต่างกันของการเมือง วัฒนธรรมทางสังคมไทยกับญี่ปุ่น พอมาวางไว้ข้างๆ กันมันก็ได้เห็นเลยว่า ในสถานการณ์เดียวกัน เรา Treat ต่อประเด็นปัญหาเหล่านั้นต่างกัน จะให้ผลลัพธ์เหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง สิ่งที่เห็นชัดเจนคือประเทศเขาเจริญกว่าประเทศเรา

การกำกับ สไตล์การถ่ายทำงานสารคดีที่เลี่ยง Original Documentary

นนทวัฒน์ : ผมพยายามทดลองทำสารคดีร่วมสิบปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่จะคิดว่าสารคดีคือการนำเสนอ ถ่ายทอดความเป็นจริง แล้วความเป็นจริงนี่ขึ้นอยู่กับว่า ความเป็นจริงของใคร มุมมองของใคร มีคนสามคนไปถ่ายที่เดียวกันด้วยสายตาที่ต่างกัน ก็ได้ภาพที่มีความหมายต่างกัน รวมไปถึงการตัดต่อด้วยเช่นกัน ผมจะทำยังไงให้มัน Pure สุด จริงสุด เท่าที่จะทำได้ในลักษณะของการเป็นสารคดี ในการทำงานที่ผ่านมา ก็เลยเลือกที่จะใช้แบบ Observational Documentary (การเฝ้ามอง สังเกตการณ์) โดยการเลือกใช้ขาตั้งกล้อง ถ้าเราถือกล้องแล้วหันซ้ายขวาก็เป็นมุมมองของคนถ่ายเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว ตรงที่สุดคือการตั้งกล้องแล้วเราปล่อยให้กล้อง run ไป หลายครั้งผมเดินออกมาจากกล้องแล้วปล่อยให้กล้องรันไปซะด้วยซ้ำ เพราะจะได้ภาพที่จริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่จริงทั้งหมดก็ตาม

ก่อนถ่ายจะมีการสัมภาษณ์คนต้นเรื่องทุกคนก่อนถ่าย เพราะผมต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกนึกคิด มีทัศนคติอย่างไรกับเรื่องเหล่านั้น ผมคิดว่าในการสัมภาษณ์พอมีตัวเราเข้าไปมันมีการ Force ความจริงในนั้นด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเราพยายามจะ Blank หรือ ใสที่สุด ในการพูดคุยแล้วก็ตาม ก็ยังมีเราอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็เลยใช้สัมภาษณ์ให้น้อยที่สุดในการทำงาน มีการทดลองมากมายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของโครงสร้างต่างๆ หรือในเรื่องของการตัดต่อเองก็ตาม การนำภาพหนึ่งมาต่อกับอีกภาพก่อให้เกิดความหมายต่างกันไป มีอยู่งานหนึ่งที่ผมเอาภาพทั้งหมดมาฉายพร้อมกันสี่จอในแกลเลอรี ให้คนดูเลือกกันตัดต่อเองได้ก็เคยทำ เป็นเรื่องของการทดลองโครงสร้าง วิธีการถ่ายทำสารคดี (หนังสารคดี 4 จอ เรื่องของต๊ะ เด็กรัฐฉานแรงงานชาวไทยใหญ่ที่มาทำงานในเชียงใหม่ คัดสรรฟุตเทจจากหลายมุมกล้อง แหวกกรอบการฉายสารคดีแบบเดิม สู่นิทรรศการศิลปะ “THE LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME”)[11]

การมาทำ “An Imperial Sake Cup and I” เป็นการทดลองโครงสร้างแบบที่ไม่เคยลองทำอีกเช่นกัน การที่ตัวละครมาอยู่ตรงนั้นเลย (บนเวที) เราจะทำยังไงเพื่อที่จะเสริมภาพเหล่านั้น Insert ไปกับตัวละครด้วย มีการ Live ขึ้นภาพให้เข้าจังหวะกับที่อาจารย์พูด เพราะว่าความเร็ว หรือการหยุด ฯลฯ ในแต่ละรอบไม่เหมือนกัน แนวของเรื่องนี้น่าจะเรียกว่า Direct Documentary คือไม่ได้พยายามลบตัวเองออกไป ไม่ได้เสนอตัวเองด้วย แต่ว่าหลายครั้งที่เราถ่ายอาจารย์แล้วมีการ Participate กับสิ่งที่อยู่หน้ากล้องด้วย มีการเดินตามให้อาจารย์พูดคุยกับกล้องบ้าง เช่นตอนที่เดินอยู่หน้าพระราชวัง อาจารย์ก็หันมาพูดกับกล้องบรรยายให้ฟัง ถ้าเป็นแบบ Observational Documentary คนที่อยู่หน้ากล้องก็จะเล่นเหมือนไม่มีกล้องอยู่ตรงนั้นครับ

 

ภาพโดย B-floor

ฝากถึงรัฐบาลกับงานดูแล Soft Power

นนทวัฒน์ : เท่าที่ทราบ มาทุนของสายศิลปวัฒนธรรมสำหรับ Soft Power มีให้แค่ 80 ล้าน จากงบทั้งหมดกี่หมื่นล้านก็ไม่แน่ใจ เห็นทางพรรคก้าวไกลอยากจะลงไปสัก 3,000 ล้าน มีเรื่องของการให้ทุนที่ไม่กำหนดกรอบ แนวคิดในการทำงาน การ Workshop ต่างๆ ดูอย่างเกาหลีที่ปูซานก็มีการให้ทุนที่ไม่ใช่แค่คนในประเทศด้วย ให้ทั่วเอเชีย จัด Event ทีก็จะบินกันมาจากทั่วโลก การ Participate ร่วมกันมันทำให้เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในกะลาแลนด์เล็กๆ ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ได้รับมุมมองของนานาชาติเพิ่มขึ้น สามารถเข้าใจรสนิยม เข้าใจมุมมองและแนวคิดในระดับสากลเพิ่มมากขึ้น การจัด Event ต่างๆ ผลลัพธ์ก่อให้เกิด Connection ด้วย

เรื่องของการเซนเซอร์ ควรวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เป็นปัญหาได้มากกว่านี้ หลายครั้งการพูดถึงปัญหาในประเทศนี้มันก่อให้เกิดปัญหากับผู้สร้างได้ อยากให้เปิดกว้างมากกว่านี้ เพราะว่าการวิพากษ์วิจารณ์มักจะตามมาด้วยการพัฒนาและการแก้ไขอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้จะเสื่อมถอยแล้วก็ล้าหลังไป ในการระดมทุนทำหนังของผมตอนนี้ ถ้าเทียบกับตอนจบใหม่ๆ ก็ไม่ยากเท่าตอนนั้น ตอนเด็กๆ คุยกับใครก็ยากหน่อยเพราะไม่มีผลงานให้ดู ปัจจุบันนี้ในหลายๆ แหล่งทุนเขาก็รู้จักเรา เห็นงานของเราแล้ว เชื่อใจเรามากขึ้น ทำให้ไม่หาเงินยากเหมือนในสมัยก่อน แต่ใช่ว่าจะหาง่าย ทุนในประเทศหาได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องพึ่งทุนต่างประเทศซะเป็นส่วนใหญ่ครับ

งานนี้ “An Imperial Sake Cup and I” สนุก ได้ความรู้ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้วิธีการกำกับการแสดง ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ได้ร่วมงานกับ B-floor นอกจากได้ทำงานที่ไม่เคยทำ แล้วยังได้หาอะไรใหม่ๆ ทำให้ชีวิตสนุกคือการได้ศึกษาวิธีกำกับการแสดง การทำงานกับนักแสดง หนังของผมที่กำลังจะออกปลายปีนี้ชื่อ “DOI BOY” ไม่ใช่หนังสารคดี ได้เรียนรู้จากบีฟอร์ ทำงานต่ออีกโปรเจกต์ ชื่อ I DON’T CARE ช่วยกันทำ Visual ได้รับพลังของการแสดง พลังของผู้คนที่ส่งมาถึงเรา เพราะว่าจะต่างกันกับเวลาทำหนังบางทีเราไม่ได้ไปพบเจอผู้คนขนาดนี้ มันมีมวลบางอย่างที่เราสัมผัสได้ นำวิชาไปต่อยอดในงานตัวเองได้ เป็นประสบการณ์ที่ดีประทับใจมากครับ

 

 

ผู้กำกับละคร ธีรวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธร (ศิลปะการแสดง) ปี 2561

ธีรวัฒน์ : การแสดงครั้งแรกของ “An Imperial Sake Cup and I” คือเราไปร่วมงานที่หอศิลป์ใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ (MAIIAM Contemporary Art Museum) ในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ “THE BREATHING OF MAPS” (25-30 January 2020) มีศิลปินจากฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฯลฯ หลายประเทศมารวมกัน “An Imperial Sake Cup and I” ของเราเป็นงานเปิดเทศกาล ครั้งนั้นเป็น Festival แรก ที่รวมโชว์ Lecture Performance เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นงานแนวนี้ของคนอื่น จากที่เคยดูแต่ใน VDO พี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์อิสระ และผู้อำนวยการ The Jim Thompson Art Center) ได้เสนอไอเดียปรับงานให้เป็น Lecture Performance กันดีกว่า เราได้เรียนรู้ดูเทคนิคไอเดียของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็เก็บของมาเล่าแบบนี้ก็มีเหมือนกัน บางคนเอาหนังมาเลย แต่ก็ไม่มีใครยืนอ่านแบบอาจารย์นะ เวลาแสดงเขาเล่าเรื่องตั้งหนึ่งชั่วโมงสคริปต์นี่เป๊ะๆ ได้ยังไง ก็เซอร์ไพรส์อยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินที่เขาแสดงกันอยู่แล้ว งานเราจัดเป็น Original เรื่องแรกของไทย

แรกเราก็พยายามจะให้อาจารย์ไม่ถือสคริปต์ แต่ก็คิดว่าท่านจะห่วงเรื่อง Text กับ Subtitle ถ้าไม่ตรงกันคนดูก็จะรับสารได้ไม่ครบ ก็เลยเลือกเอาแบบนี้ดีกว่า

Production Design ตั้งใจออกแบบให้อาจารย์สบายตัว ผ่อนคลายที่สุด ไม่ต้องไป Push เยอะ ก็เลยออกมาเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติจะดึงดูดได้ดีกว่าไม่ใช่เป็นการแสร้งทำให้มันเยอะเกินไปกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องมี Acting เลือกเอาความธรรมดาเป็นเสน่ห์อยู่แล้ว เพราะความเป็นคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ แล้วตัวตนก็เป็นประวัติศาสตร์เดินได้ ผ่านเวลา ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา เป็น Archive ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่แข็งแรงน่าสนใจที่สุดในการแสดง

 

ภาพโดย B-floor

แรกเราคิดกันว่าน่าจะมี Performance ของนักแสดงเข้ามาร่วม Movement เป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาช่วย เช่น ซีนทำรางรถไฟ เพราะมีการ Require ว่า เราน่าจะผสม Multimedia แต่ด้วยงบ ด้วยทีมงาน ที่เยอะอยู่แล้วก็เลยตัดทิ้งไป สรุปลงตรงหุ่นเงาที่ดูแลจัดการได้โดยใช้คนไม่มากแค่ 2 คน มีการทำให้เกิด Visual ซึ่งจะล้อไปกับ Media ที่มันมีทั้ง ภาพนิ่ง VDO ทำภาพเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคหุ่นเงาเข้ามาเพิ่มเติม ใส่องค์ประกอบของละครเข้าไปใน Setting แสง สี เสียง ก็ไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

ทีมเราผ่านงานแสดงหุ่นกันมา ก็คัดเลือกกันว่าซีนที่จะใช้ต้องเป็นตัวไหนบ้าง โดยเฉพาะการเล่าเรื่อง อาจารย์เล่าออกมาเป็นมุขปาฐะที่มีตัวละครเข้ามา เราเลยตัดสินใจว่าจะให้เป็นหนังตะลุงที่ตัวภาพเป็นสองมิติ หรือตัวลวดที่เราทำหุ่นให้มันกลายเป็นสามมิติ หรือให้ความรู้สึกเป็นป่าในสภาวะที่เป็น Abstract เข้ามาร่วมด้วย เกิดจากการค้นหา ทดลอง แล้วทำงานออกมา มีจา (จารุนันท์ พันธชาติ) ดูแลเรื่องบท แรกเราตกผลึกแล้วว่าจะเป็นเรื่องของสะสมของอาจารย์ เอามาเล่าเป็นเรื่อง อาจารย์ก็เปิดหนังสือที่ท่านเขียนชื่อ “ของสะสมของข้าพเจ้า” จะมีของเยอะแยะหลากหลายกระทั่ง โอ่งคณะราษฎร์ เราก็เอ่อ…อาจารย์ครับผมว่าอันนี้ไม่ต้องก็ได้ มันใหญ่ดีไม่ต้องเอามาหรอก มีตุ๊กตาที่ท่านได้รับรางวัลฟูกูโอกะมาจากญี่ปุ่น อันนี้ถูกคัดออกเพราะเส้นทางที่มาอาจเกี่ยวในแง่ของยุคสมัย แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเส้นเรื่อง เพราะช่วงหลังตกผลึกแล้วว่า

เส้นเรื่องได้แบ่งออกเป็น 3 Layers ในแง่การทำโครงสร้างของเรื่อง

  1. เลเยอร์แรกจะมีเรื่องเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสังคมโลก คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 พูดถึงภาวะของสงครามเย็น ที่การเมืองไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง
  2. เลเยอร์ที่สองเป็นเรื่องสถานการณ์ในเมืองไทย
  3. เลเยอร์ที่สามเป็นเรื่องส่วนตัวของอาจารย์ ทั้งครอบครัว คนใกล้ตัวที่เกี่ยวข้อง เป็นสามเลเยอร์ที่มา merge กัน

การทำงานร่วมกันได้ใกล้ชิดพูดคุยกับอาจารย์ทั้งช่วงซ้อม นอกรอบ ลงลึกรายละเอียดมากขึ้น เราพูดอะไรผิดไม่ได้เลยนะ อาจารย์จะคอยแก้ไขให้ถูกต้อง correct เป๊ะๆ Who When What Where Why ปั๊กกะตือมากๆ (ขำ สุดจะหาคำบรรยายในคุณสมบัติพิเศษนี้ ไม่มีคำแปลแต่เข้าใจตรงกัน) อย่างที่อาจารย์ว่า เรื่องเล่าส่วนตัวของแต่ละคน เราว่ามันมีพลังงานที่น่าสนใจ เพราะว่ามันเป็นการเล่าเรื่องที่เรารู้ดีที่สุด แล้วคิดว่างานนี้คนอื่นก็อยากเห็นว่าจะเป็นยังไง ถ้าไม่ใช่แค่อาจารย์ชาญวิทย์ มีคนอื่นๆ ที่อยากจะเล่าเรื่องต่างๆ สังคม เรื่องส่วนตัว ผสานกันให้เกิดเป็นการแสดงจริงๆ ขึ้นมา ก็น่าจะเป็น Trend ใหม่ๆ ขึ้นมาได้รึเปล่า อยากจะเห็นงานแบบนี้ออกมามากขึ้นครับ

 

 

ญี่ปุ่นมี Local Museum มากมายกระจายทุกหมู่บ้านที่ดูแลจัดการโดยรัฐร่วมกับคนพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อจัดฉากต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ถือความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ก่อนหลอมรวมเป็นพลังที่เราต่างรับรู้และสัมผัสได้ โดยเฉพาะเมื่อความเข้มแข็งของวัฒนธรรมแผ่มาถึงแผ่นดินไทยในทุกรูปแบบ ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดคือ “อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น” ณ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน[12] คุณค่าของการเก็บรักษาสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้จารึกเพียงรัฐบุรุษ แต่ได้ให้ความสำคัญถึงนายทหาร ชาวบ้าน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในขณะนั้นทั้งหมด จดจารหัวใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่ไม่สามารถแยกเชื้อชาติศาสนา แม้ว่าต่างสัญชาติ แต่ทุกชีวิตคือส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไม่ต่างกัน

“An Imperial Sake Cup and I” เป็นศิลปะแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์แบบใหม่ ไว้ในประสบการณ์ผ่านถ้วยสาเกและการแสดง แฝงสัญลักษณ์ไว้ในการส่งต่อความจริง ทัศนคติ เจตนารมณ์ ที่ทุกคนสามารถร่วมจารึกผ่านวิธีนึกคิดในวิถีชีวิตของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างประชาชาติโดยปราศจาก กรอบ กฎ และเกณฑ์การพิพากษา เพราะว่าเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก แม้จะเพียงเศษเสี้ยวธุลีหนึ่งในจักรวาล แต่ล้วนมีผลบันดาลความเป็นไปในการขับเคลื่อนเลื่อนพลวัต บอกสัจธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น การบันทึกทุกวิธีคือศิลปะแห่งชีวิต จากอดีต ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์ความเท่าเทียมทางประวัติศาสตร์สู่อนาคตร่วมกัน

 

ภาพโดย B-floor

บรรณานุกรม

สื่อออนไลน์

หมายเหตุสำคัญ :

  • ขอบคุณภาพถ่ายจาก FACEBOOK page : B-floor
  • ถ่ายภาพโดย ดาราพัสส์ ภิรนานนธ์ และ กรกฤช เจียรพินิจนันท์

 


[1] สาโรช พระวงค์, Center For Southeast Asian Studies : อุษาคเนย์ศึกษาภายใต้สถาปัตยกรรมสวยสะดุดตา. [ออนไลน์]

 

[2] PAVIN. Ep.25 อ.ชาญวิทย์ กับ ถ้วยสาเกพระจักรพรรดิ.[ออนไลน์]

 

[3] อ้างแล้ว, อ.ชาญวิทย์ กับ ถ้วยสาเกพระจักรพรรดิ

[4] Wikipedia, หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนที่ 1 แห่งพม่า. [ออนไลน์]

[5] BBC NEWS, จักรพรรดิญี่ปุ่น : ความเป็นมา ความหมาย และหมายกำหนดการ พระราชพิธีขึ้นครองราชย์. [ออนไลน์]

[6] ทุกวัน บันเทิง, เผยหน้าล่าสุด ของคุณยาย "ไพริน นิลเสน" ในวัย 97 ปี นางเอกพระเจ้าช้างเผือก ปี 2484 !!!. [ออนไลน์]

[7] Wikipedia, Benedict Anderson. [ออนไลน์]

[8] Wikipedia, มอรมอน. [ออนไลน์]

[9] BBC NEWS, จักรพรรดิญี่ปุ่น : ความเป็นมา ความหมาย และหมายกำหนดการ พระราชพิธีขึ้นครองราชย์. [ออนไลน์]

[10] ไฟล์วิดีโอต้นฉบับสำหรับใช้ในงานตัดต่อภาพยนตร์

[11] Thaibunterng ThaiPBS, แลโลกศิลปะ : นิทรรศการจากบันทึกภาคสนามของ “นนทวัฒน์ นำเบญจพล”. [ออนไลน์] และ KANDECH DEELEE, THE LONGEST WAY ROUND IS THE SHORTEST WAY HOME. [ออนไลน์]

[12] ประวัติศาสตร์ นอกตํารา, “ขุนยวม มิตรภาพกลางไฟสงคราม” ความทรงจำของชาวขุนยวม ต่อทหารญี่ปุ่น I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.39. [ออนไลน์]