ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การวิเทโศบายของไทย ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย

2
พฤษภาคม
2568

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม คณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พ.ศ. 2485
 

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบสาส์นจากนายกรัฐมนตรีถึงรัฐบาลอังกฤษมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) ประเทศไทยจะคงรักษาความเป็นกลางไว้ และถือเอกราชของชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไทยมีนโยบายเป็นมิตรกับทั้งอังกฤษและญี่ปุ่น และถึงอย่างไรก็จะไม่เข้าข้างญี่ปุ่นเป็นอันขาด

(๒) ประเทศไทยมิได้ทำความตกลงทางทหารพิเศษกับญี่ปุ่น เพราะการกระทำเช่นนั้นจะขัดต่อความเป็นกลางของไทย

(๓) ในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางและเอกราช ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องได้เงินและอาวุธยุทธภัณฑ์

(๔) รัฐบาลอเมริกาเข้าใจความเป็นอยู่ของประเทศไทยผิด และญี่ปุ่นย่อมพึงพอใจในข้อนี้

(๕) ประเทศไทยต้องการกู้เงินจากอังกฤษหรือสหรัฐฯ ต้องการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์จากอังกฤษหรือสหรัฐฯ (ไม่มากนัก) และต้องการนํ้ามัน ถ้าความต้องการเหล่านี้เป็นอันสนองได้ อังกฤษและสหรัฐฯ จะกำจิตใจทหารไทยไว้ และเป็นเครื่องโต้ปรัชญานิยมญี่ปุ่นซึ่งแพร่กระจายอยู่ในกลุ่มทหาร สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นจัดอาวุธให้แก่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีจะขอบคุณมาก หากรัฐบาลอังกฤษสามารถทำให้รัฐบาลอเมริกาเข้าอกเข้าใจประเทศไทยดีขึ้น นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการทาบทามรัฐบาลอเมริกาโดยตรง และจะไม่ทาบทามทูตอเมริกาที่กรุงเทพฯ

(๖) นายกรัฐมนตรีถือว่า ฝ่ายอังกฤษดำเนินนโยบายคอยแต่รับต่อญี่ปุ่นมากเกินไป อยากทราบว่า เหตุใดอังกฤษจึงไม่คิดจะรุกบ้างด้วยการเพิ่มกำลังทัพเรือรักษาแนวชายฝั่งของกลันตัน นายกรัฐมนตรีแนะให้อังกฤษเพิ่มกำลังทหารบกและทหารอากาศในมลายูและพม่าบริเวณที่ติดต่อกับไทย แต่ก็ไม่ควรชิดดินแดนไทยนัก เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทบกันและการเข้าใจผิดกับกำลังทหารของรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีต้องการให้คงการแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับกำลังทหารในบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับอังกฤษต่อไป

(๗) ประเทศไทยจะไม่ขัดขวางคนฝรั่งเศสเสรีจากอินโดจีนที่ประสงค์จะเดินทางไปสิงคโปร์

(๘) ประชาชนชาวไทยเกิดความตื่นตัวในปัญหาดินแดนที่ต้องสูญเสียในอินโดจีนและต้องการจะเอาคืนให้ได้

(๙) ประเทศไทยจะต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกำลังหากมีการล่วงละเมิดความเป็นกลางของไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้ไปพบและสนทนากับนายกรัฐมนตรีไทยตามคำสั่งของรัฐบาล และรายงานกระทรวงการต่างประเทศเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียืนยันจะรักษาความเป็นกลางของประเทศไทยไว้ แต่ไม่อาจให้หลักประกันว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้าโจมตีมลายูหรือพม่าโดยผ่านประเทศไทยแล้ว ไทยจะสามารถขัดขวางญี่ปุ่นด้วยกำลังทหารได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยทั่วไป ถ้าประเทศไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือ การขัดขืนญี่ปุ่นจะเท่ากับทำลายตนเอง ท่าทีของสหรัฐฯ มีความสำคัญในการนี้ นายกรัฐมนตรีไม่เชื่อว่า สหรัฐฯ จะทำสงครามกับญี่ปุ่น แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่กล่าวอย่างชัดแจ้ง เซอร์โจซาย ครอสบี้ เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีรวมถึงการที่ฝ่ายอังกฤษไม่ให้คำมั่นสัญญาจะช่วยประเทศไทยด้วย เมื่อทูตอังกฤษแสดงความหวังว่า ไทยคงจะไม่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นเป็นปฏิปักษ์ต่ออังกฤษ นายกรัฐมนตรีตอบว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถกระทำเช่นนั้น แต่อาจจะต้องแสดงบทบาทอย่างเดนมาร์กในสงครามยุโรปก็ได้ เซอร์โจซายถามว่าในกรณีเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีมีดำริจะจัดการอย่างใดกับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยซื้อจากญี่ปุ่น และจะยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ฐานทัพในประเทศหรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า จะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายอาวุธยุทธภัณฑ์เหล่านั้น ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยึดเอาสำหรับฐานทัพ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีสนามบินสักแห่งเดียวที่จะให้เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักบินขึ้นลงได้ สนามบินไทยล้วนแต่เล็ก ๆ และมีทางวิ่งสั้นทั้งนั้น ญี่ปุ่นจะต้องเตรียมสร้างสนามบินของตนเองในประเทศไทยให้เพียงพอ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีเวลามาก ถ้าญี่ปุ่นจะเอาชนะสงคราม ญี่ปุ่นจะต้องชนะอังกฤษโดยเร็ว ฐานทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเสื่อมทรามอย่างเกือบสิ้นหวังอยู่แล้ว ยิ่งนานวันยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ถ้าสหรัฐฯ ตัดการให้วัสดุที่สำคัญ ๆ แก่ญี่ปุ่น ในทำนองเดียวกัน ฐานทัพเรือที่สัตหีบก็ไม่สู้จะมีความหมายเท่าใดนัก เปิดรับได้แต่เรือขนาดเล็ก เมื่อทูตอังกฤษออกความเห็นว่า ถ้าญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษโดยผ่านประเทศไทย อังกฤษอาจจำต้องต่อต้านญี่ปุ่นบนพื้นแผ่นดินไทย นายกรัฐมนตรีแสดงความเข้าใจในความจำเป็นดังกล่าว และจะไม่ตำหนิติเตียนอังกฤษในการนี้

ทูตอังกฤษถามต่อไปว่า เหตุใดไทยจึงสั่งซื้ออาวุธจากญี่ปุ่น ญี่ปุ่นคงไม่ยินยอมขายให้ ถ้าคิดว่าวันหนึ่งข้างหน้าอาวุธเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ต่อต้านญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีตอบว่า ญี่ปุ่นมิได้ขายวัสดุสงครามให้แก่ไทยมากมายอย่างที่อังกฤษคิด ไทยสั่งซื้อรถถังขนาด ๗ ตัน ไว้ ๕๐ คัน เพิ่งได้รับเพียง ๙ คัน เครื่องบินหรือญี่ปุ่นก็ส่งให้ล่าช้าไม่ทันความต้องการ ญี่ปุ่นกลัวว่า ไทยจะนำอาวุธที่ซื้อไปใช้แก่อินโดจีน ไทยต้องการอาวุธเพื่อปกป้องความเป็นกลางของประเทศ สาเหตุที่มีการสั่งซื้ออาวุธมากขึ้นในขณะที่ชาติกำลังตื่นตัวอย่างมาก ก็เพราะทางกระทรวงการคลังอนุมัติเงินสะดวกขึ้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ยังต้องการสั่งซื้ออาวุธจากอังกฤษและสหรัฐฯ อยู่ ทั้งนี้เพื่อแสดงว่า ไทยไม่เลือกซื้อเฉพาะจากญี่ปุ่นเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อทูตอังกฤษว่า ขณะนั้นมีความหวั่นเกรงของปวงชนคนไทย ทางภาคใต้ที่ทราบว่า อังกฤษกำลังส่งทหารเข้ามาเพิ่มเติมในมลายู และหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นพยายามปลุกปั่นกระพือให้เป็นเรื่องใหญ่ นายกรัฐมนตรีเองไม่มีความวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะตระหนักในเหตุผลดี ไม่เคยคิดว่า อังกฤษประสงค์จะคุกคามไทย ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรียืนยันหนักแน่นต่อทูตอังกฤษว่า ท่านมิได้นิยมญี่ปุ่นอย่างที่มีคนพยายามจะให้เข้าใจ ท่านไม่เห็นด้วยกับการที่ญี่ปุ่นจะเรียกร้องสิทธิเป็นผู้นำในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นชาติเจ้าเล่ห์พยายามเบ่งตน และไม่มีมิตรแท้สักประเทศหนึ่งในโลกนี้

ในโทรเลขอีกฉบับหนึ่งที่ส่งก่อนรายงานฉบับที่กล่าวมานี้ ๑ สัปดาห์ เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้วาดภาพนายกรัฐมนตรีไทยว่า เป็นบุคคลที่เข้าใกล้ชิดมังกรญี่ปุ่นเต็มที่จนรู้สึกลมปราณของมังกรบนใบหน้าแล้ว จึงเกิดความหวาดกลัว นอกจากอุปนิสัยที่เอาแน่ไม่ได้แล้ว ยังมีลักษณะประจำของรัฐบาลไทยอีก ๒ ประการ คือ ประการหนึ่ง ไม่อยากจะวินิจฉัยเรื่องใดในให้เด็ดขาดลงไป และประการที่สอง ลังเลไม่ยอมตัดสินใจเข้าข้างใดจนกว่าตระหนักแน่ว่าฝ่ายใดจะชนะ นายกรัฐมนตรียังเหยียบเรือสองแคมอยู่ระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น เท้าข้างหนึ่งอยู่ในค่ายอังกฤษ อีกข้างหนึ่งในค่ายญี่ปุ่น ทูตอังกฤษยังไม่เชื่อว่า เท้าทั้งสองข้างนั้นจะเข้าไปรวมอยู่ในค่ายญี่ปุ่นแต่เพียงค่ายเดียว

ภายในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเอง เจ้าหน้าที่เห็นด้วยกับเซอร์โจซาย ครอสบี้ ว่านายกรัฐมนตรีไทยจมอยู่ในห้วงความไม่แน่นอน กลัวอำนาจโจมตีของญี่ปุ่นก็กลัว แต่ก็ไม่เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะสามารถเอาชัยชนะอังกฤษและสหรัฐฯ ได้ในที่สุดทำให้ต้องแกว่งไปแกว่งมาอยู่เนืองนิจ รอวันที่จะต้องตัดสินใจอยู่ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ญี่ปุ่นระแวงนายกรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าอังกฤษระแวง เท่าที่สดับฟังทั้งหมดแล้ว พอสรุปได้ว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า เอกราชของประเทศไทยจะเป็นอันรักษาไว้ได้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกชัดแจ้งว่า สหรัฐฯ และอังกฤษจะดำเนินมาตรการจริงจังเพื่อคุ้มครองเอกราชของประเทศไทยด้วยการขัดขวางการก้าวหน้าของญี่ปุ่น ในความ รู้สึกของฝ่ายอังกฤษยังไม่มีสัญญาณใดที่จะส่อให้เห็นว่า สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการนั้น เท่าที่อังกฤษจะกระทำได้ก็คือ รวบรวมข่าวสารต่าง ๆ พร้อมด้วยข้อคิดของอังกฤษเสนอให้สหรัฐฯ ทราบ และขอร้องให้สหรัฐฯ ประกาศเปิดเผยว่าจะดำเนินการบีบบังคับญี่ปุ่นทางเศรษฐกิจ เป็นการโต้ตอบการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย และขอให้ร่วมมือโดยใกล้ชิดกับอังกฤษในการช่วยประเทศไทยด้านการเงินและการอาวุธยุทธภัณฑ์

ความห่วงใยของอังกฤษอีกประการหนึ่งได้แสดงออกในโทรเลขที่กระทรวงการต่างประเทศมีถึงลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๘๔ สรุปผลของอนุสัญญากรุงโตเกียวระหว่างไทยกับฝรั่งเศสว่า เป็นผลเสียแก่ฝ่ายฝรั่งเศสยิ่งกว่า ถ้าหากฝรั่งเศสจะยอมเจรจาโดยตรงกับประเทศไทยในระยะแรกของกรณีพิพาท และในเวลาเดียวกัน เป็นผลดีทำความพอใจให้แก่ฝ่ายไทย แม้จะยังไม่เป็นไปตามความปรารถนาอย่างเต็มที่ของไทย ญี่ปุ่นยังมิได้ตั้งข้อเรียกร้องสมนาคุณต่อประเทศไทยแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าไทยต้องตกอยู่ในอิทธิพลของญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะที่จะเรียกร้องอย่างใดจากไทยก็ได้ในภายหลัง การที่ญี่ปุ่นทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จ และในฐานะเป็นผู้ประกันข้อตกลงนั้น ญี่ปุ่นอาจส่งกองกำลังทหารเรือไปประจำในน่านน้ำอินโดจีนและไทยได้ อาจมีกำลังทหารบกตั้งอยู่ในตอนใต้ของอินโดจีน เพื่อเป็นการตอบแทนการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น ทั้งไทยและอินโดจีนรับที่จะไม่ทำความตกลงหรือความเข้าใจใด ๆ ที่จะมีการร่วมมือทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร เป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แถลงการณ์ร่วมที่ได้ออกเมื่อทำอนุสัญญากรุงโตเกียว กล่าวถึงข้อตกลงที่จะกระทำกันภายหลังเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพในมหาเอเชียบูรพา และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเป็นพิเศษระหว่างญี่ปุ่นกับไทยและระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่งเศส ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเป็นสักขีพยานแห่งการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นและเปิดทางให้มีการค่อย ๆ กลืนอินโดจีนและไทยเป็นที่แน่นอนว่า ญี่ปุ่นจะบีบคั้นให้ฝรั่งเศสยอมทำสัญญาซึ่งได้เริ่มเจรจากันมาหลายเดือนแล้ว ไปในทางที่จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศญี่ปุ่นในอินโดจีน อันจะเป็นผลได้ทางอ้อมแก่ประเทศเยอรมันด้วย สำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นคงจะคาดคั้นเอาดีบุกและยาง ซึ่งส่วนหนึ่งจะส่งไปให้เยอรมันยิ่งกว่านั้นญี่ปุ่นอาจจะยุยงให้ประเทศไทยเรียกร้องดินแดนจากอังกฤษต่อไป ฝรั่งเศสไม่พอใจในอนุสัญญาที่กรุงโตเกียวอยู่แล้ว ความไม่สงบอาจจะเกิดขึ้นได้ เปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถทำการแทรกแซงในภายหลัง โดยเสนอให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย แลกเปลี่ยนกับความสะดวกทางทหารที่ต้องการจากประเทศไทย ทางด้านอินโดจีนนั้น ไม่มีทางที่อังกฤษจะดำเนินมาตรการที่มีผลได้ เหลือแต่ด้านประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาทางนโยบายที่จะต้องวินิจฉัย ประเทศไทยยังไม่ตระหนักถึงขอบเขตของภัยในอนาคตอย่างเต็มที่ และยังไม่เห็นว่าต้องตกอยู่ข้างญี่ปุ่นเต็มตัว จึงยังมีทางที่พอจะดำเนินการได้ และการดำเนินการนี้เกิดจากเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ ในทางเศรษฐกิจจะป้องกันมิให้สูญเสียบ่อเกิดยางและดีบุกให้แก่ฝ่ายอักษะ และในทางยุทธศาสตร์จะป้องกันการที่ญี่ปุ่นจะโอบล้อมมลายูไว้ ถ้าญี่ปุ่นมีกำลังอยู่ในอ่าวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณคอคอดกระ การป้องกันสิงคโปร์ย่อมจะยากลำบากขึ้นเป็นอย่างมาก

ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลอังกฤษได้มีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งสั่งให้ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ เสนอบันทึกช่วยจำต่อฝ่ายอเมริกัน แสดงความคิดเห็นและความห่วงใยของอังกฤษในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยว่า วิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อมิให้ประเทศไทยต้องตกเข้าไปในค่ายญี่ปุ่นก็คือ จะต้องแสดงแสนยานุภาพทางทหารให้ประเทศไทยมองเห็นประจักษ์ชัด แต่ถ้าไม่สามารถจะดำเนินการเช่นนั้นได้ วิธีเลือกอื่นอยู่ที่ (๑) การใช้วิธีบีบบังคับประเทศไทยทางเศรษฐกิจและการเงินเท่าที่จะทำ ได้และ (๒) การเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินให้แก่ประเทศไทย โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและรัดกุม

รัฐบาลอังกฤษได้ศึกษาถึงวิธีเลือกที่ ๑ แล้ว การค้าของประเทศไทยต้องอาศัยตลาดในดินแดนของอังกฤษที่ใกล้เคียงประเทศไทยเป็นสำคัญ ถ้าอังกฤษควบคุมการส่งกระสอบ การค้าข้าว ยาง และดีบุกของไทยย่อมจะต้องกระทบกระเทือน แต่การบีบบังคับทางเศรษฐกิจเป็นดาบสองคม อาจจะเป็นผลร้ายต่อทางมลายูด้วย ทั้งยังจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยต้องหันเข้าพึ่งญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นอาจจะซื้อยางและดีบุกไทยส่งไปให้เยอรมันก็ได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงเชื่อว่า น่าจะเลือกใช้วิธีที่ ๒ ก่อน

ตามปกติ ไทยมักจะมองไปทางกรุงลอนดอนในปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน นายกรัฐมนตรีไทยกำลังต้องการกู้เงินและความช่วยเหลือในด้านนํ้ามันและอาวุธยุทธภัณฑ์ สำหรับอาวุธยุทธภัณฑ์นั้น รัฐบาลอังกฤษไม่อยู่ในฐานะที่จะให้แก่ไทยได้ และเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกาเองก็คงจะไม่สามารถเจียดให้ได้เท่าใดนัก รัฐบาลไทยกำลังต้องการเงินกู้จำนวน ๓ ล้านปอนด์จากต่างประเทศ เพื่อใช้หนุนหลังการออกบัตรเพื่อโครงการสร้างรถไฟเป็นเงิน ๔.๕ ล้านบาท การชลประทาน ๓.๒ ล้านบาท อุตสาหกรรมฝ้ายและไหม ๓.๔ ล้านบาท โรงงานฆ่าสัตว์ ๑.๔ ล้านบาท ในการดำ เนินตามโครงการพัฒนาเหล่านี้ หรือในการซื้อนํ้ามันจากต่างประเทศ รัฐบาลไทยอาจจะหาเงินได้เองประมาณ ๑.๒๕ ล้านปอนด์ ด้วยการลดอัตราหนุนหลังธนบัตรจาก ๑๑๑% เหลือ ๑๐๕%

รัฐบาลอังกฤษรับจะสรรหาเงินสเตอร์ลิงให้แก่รัฐบาลไทย สำหรับค่าใช้จ่ายในเขตสเตอร์ลิงและใคร่จะขอให้สหรัฐฯ รับสรรหาเงินดอลลาร์ให้แก่ประเทศไทย สำหรับค่าใช้จ่ายในการที่ไทยจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ

ในด้านนํ้ามัน ตามทางปฏิบัติเท่าที่เป็นมา อังกฤษยินยอมให้ไทยแลกเงินปอนด์สเตอร์ลิงของไทยเพื่อซื้อนํ้ามันที่ต้องใช้เงินเหรียญอเมริกาได้ปีละ ๕ ล้านเหรียญ แต่ต่อมารัฐบาลไทยมีข้อพิพาทกับบริษัทนํ้ามันอังกฤษและอเมริกาในประเทศไทยมีผลให้บริษัททั้งสองถอนตัวจากประเทศไทยไปแล้ว อังกฤษพร้อมที่จะขอให้บริษัทเชลล์ส่งนํ้ามันให้แก่ไทยตามความต้องการ แต่ก็เกรงว่า บริษัทเชลล์จะไม่ยอมกลับไปค้าในประเทศไทย นอกจากจะตกลงกันได้กับบริษัทสแตนดาร์ดแวควัม ซึ่งต้องคำนึงถึงท่าทีของรัฐบาลอเมริกา อย่างไรก็ตาม จำ นวนนํ้ามันที่จะต้องส่งให้แก่ไทยควรจำกัดเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับความต้องการภายในประเทศ ไม่ควรให้มีเหลือเพื่อกลับส่งออกไปยังประเทศอื่น อันอาจจะก่อให้เกิดอันตรายในภายหลัง หรือจะเก็บสำรองไว้เพื่อใช้ในการปฏิบัติการทางทหารในดินแดนไทยหรือบริเวณใกล้เคียงในการที่จะเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางนํ้ามันแก่ประเทศไทย

ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าควรจะวางเงื่อนไขให้ไทยยอมรับว่า จะไม่มีการเปลี่ยนการขายยาง ดีบุก และข้าว จากตลาดลูกค้าเดิม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายญี่ปุ่น และขอทราบความผูกพันที่ทำไว้กับญี่ปุ่นในเรื่องสินค้าทั้งสามประเภทนี้ อนึ่ง ในการกู้เงินเพื่อโครงการพัฒนา จะต้องเป็นไปในลักษณะที่จะไม่เพิ่มผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในประเทศไทย

ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ได้รวบรวมข้อคำนึงเหล่านี้เสนอกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ในบันทึกช่วยจำลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๔

เมื่อฝ่ายสหรัฐฯ มิได้แสดงปฏิกิริยาเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลอังกฤษแน่นอนประการใด ในชั้นแรกฝ่ายอังกฤษจึงคิดไปว่า สหรัฐฯ คงจะไม่เห็นทางที่จะหยุดยั้งการก้าวหน้าของญี่ปุ่นเข้าไปในประเทศไทยมากกว่าที่ญี่ปุ่นได้ล่วงล้ำเข้าไปในอินโดจีน และถือว่าทั้งสองประเทศเป็นอันเสียให้แก่ญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่ออยู่กับประเทศพม่าและมลายู อังกฤษจึงยอมตามทัศนคติของสหรัฐฯ ไม่ได้ และได้สั่งการเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ให้เซอร์โจซาย ครอสบี้ แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีไทยว่า รัฐบาลอังกฤษพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในรูปการให้กู้ยืมเงินและการจัดหาผลิตภัณฑ์นํ้ามันให้แก่ประเทศไทย ถ้าฝ่ายไทยยอมให้คำมั่นสัญญาว่า (๑) รัฐบาลไทยจะไม่ทำความตกลงใด ๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่ออังกฤษ โดยตรงหรือโดยอ้อม (๒) รัฐบาลไทยแจ้งให้อังกฤษทราบถึงความผูกพันที่มีกับญี่ปุ่นในเรื่องการส่งยาง ดีบุก และข้าว และ (๓) ประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลงการส่งสินค้าทั้งสามนี้ไปจากตลาดปกติเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่นและเยอรมัน อังกฤษทราบมาว่า ญี่ปุ่นต้องการจะให้ไทยส่งยางถึง ๘๐% ของการผลิตทั้งหมด และดีบุก ๔๐% ไปให้ญี่ปุ่น แลกกับนํ้ามัน เครื่องจักรสำหรับโรงงาน และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นจะจัดหาให้ประเทศไทย และประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงแห่งความกลัวที่จะถูกญี่ปุ่นบังคับเอาให้ได้

นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันต่อเซอร์โจซาย ครอสบี้ ว่า ประเทศไทยต้องการวางตนเป็นกลาง และจะไม่เข้าข้างญี่ปุ่นเป็นอันขาด เพื่อรักษาความเป็นกลางและเอกราชของประเทศ รัฐบาลไทยจำต้องได้รับความช่วยเหลือในทางการเงิน อาวุธยุทธภัณฑ์ และนํ้ามัน การที่รัฐบาลต้องส่งกำลังทหารไปประจำทางปักษ์ใต้ มิใช่จะมุ่งร้ายต่ออังกฤษ หากเป็นเพราะกลัวว่า ญี่ปุ่นจะล่วงละเมิดดินแดนไทยเพื่อเข้าโจมตีมลายู ส่วนการที่ไทยมีดำริจะส่งนายทหารไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นและเยอรมันนั้น ก็สืบเนื่องจากความไม่สามารถส่งไปประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมอย่างที่เคย เพราะเหตุสงครามในยุโรป

ในรายงานการเจรจากับนายกรัฐมนตรีไทยที่เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๔ เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้ไขความคิดเห็นส่วนตัวไปว่า ที่ไทยต้องส่งกำลังทหารไปเพิ่มเติมในปักษ์ใต้ตอนนั้น อาจเป็นเพื่อยังความอุ่นใจให้เกิดแก่ประชาชนในปักษ์ใต้ต่อการเตรียมการป้องกันมลายูของกำลังทหารอังกฤษ และอาจเป็นเพราะเกรงว่า กำลังทหารอังกฤษอาจจะเข้ายึดดินแดนไทยก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีก็ได้ เซอร์โจซาย ครอสบี้ ไม่เชื่อว่า ไทยจะคิดเข้ารุกรานมลายู

ระหว่างการสนทนากับเซอร์โจซาย ครอสบี้ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๔ นายกรัฐมนตรีไทยแสดงความห่วงใยว่า ญี่ปุ่นคงจะพยายามบีบคั้นให้ไทยต้องยินยอมผ่อนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่น อย่างเดียวกันกับที่ได้ทำสำเร็จมาแล้วในอินโดจีน ญี่ปุ่นจะไม่ยุติการเรียกร้องตราบใดที่อังกฤษและสหรัฐฯ ยังไม่ยอมเปิดเผยขีดเส้นห้ามญี่ปุ่น มิให้ล่วงลํ้าโดยไม่เกิดสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ

ในระหว่างที่ไทยและฝรั่งเศสกำลังร่วมมือกันทำการปักปันเขตแดนกันใหม่ และทำ การรับและส่งมอบดินแดนแก่กันตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสันติภาพกรุงโตเกียว ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มในเขตแดนอินโดจีน เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๔ นายแกร็นท์รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า นายแกร็นท์เชื่อว่ามีความเข้าใจระหว่างญี่ปุ่นกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่า ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงในดินแดนเหล่านั้น นายแกร็นท์คาดว่า เมื่อญี่ปุ่นขยายตัวทางการทหารและการเมืองไปในอินโดจีน ไทยจะได้รับโอกาสให้ขยายเข้าไปในราชอาณาจักรลาวและกัมพูชา จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่น ทำนองเดียวกันกับที่ได้ยอมรับข้อเสนอไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นเมื่อทำศึกอินโดจีนกับฝรั่งเศส เพราะต้องการจะวางตัวเป็นผู้ให้กำเนิดประเทศไทยใหม่ที่ใหญ่ยิ่งขึ้น ฉะนั้น นายแกร็นท์จึงแสดงความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลอเมริกาตกลงให้ไทยกู้เงินตามที่ขอร้องไว้ ก็เท่ากับเป็นการช่วยผู้รุกรานอันขัดต่อนโยบายแน่ชัดของสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอังกฤษได้รับข่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังบีบบังคับรัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชี ให้โอนฐานทัพในอินโดจีนให้แก่ญี่ปุ่น และถ้าไม่ได้รับตอบอนุมัติจากรัฐบาลฝรั่งเศสภายในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นจะใช้กำลังทหารเข้ายึดฐานทัพเอาเอง โดยที่มีข่าวลือว่า ญี่ปุ่นพยายามจะบีบให้รัฐบาลไทยยอมรับให้ญี่ปุ่นใช้ฐานทัพเรือและอากาศในประเทศไทย เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลอังกฤษให้แจ้งต่อรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔ ว่า การให้ประเทศที่สามใช้ฐานทัพของไทยเท่ากับการละเมิดสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างไทยกับอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษขอเตือนว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของอังกฤษตามความเหมาะสม

ในปลายเดือนกรกฎาคม เซอร์โจซาย ครอสบี้ ทราบข่าวว่า ญี่ปุ่นได้ยื่นคำเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยบางอย่าง จึงได้เข้าพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งปฏิเสธว่า ไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ จากฝ่ายญี่ปุ่น ปลัดกระทรวงแจ้งต่อทูตอังกฤษว่ารัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชีอาจจะถูกบังคับให้มอบอธิปไตยเหนืออินโดจีนให้แก่ญี่ปุ่น และในกรณีนั้นเชื่อว่า ญี่ปุ่นอาจจะเสนอยกดินแดนลาวและนครวัดให้แก่ไทย เป็นการแลกเปลี่ยนกับการยินยอมบางอย่างจากประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและพวกอยากได้ดินแดนคืน อาจจะยอมรับโดยไม่คำนึงถึงข้อผูกมัดที่อาจจะสืบเนื่องต่อไปในภายหน้า

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ทูตอังกฤษได้นัดพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีก แสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นอาจจะพยายามให้สินบนแก่ประเทศไทยด้วยการเสนอคืนดินแดนอินโดจีนให้เพิ่มเติม นายดิเรก ชัยนาม ปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินข้อเสนอของญี่ปุ่นดังกล่าว ทั้งนี้ ทำให้ทูตอังกฤษเชื่อในวิธีการทำงานที่นายกรัฐมนตรีจะปรึกษาหารือคำเรียกร้องของญี่ปุ่นกับรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลเท่านั้น เซอร์โจซายขอให้นายดิเรก ชัยนาม เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ทูตขอวิงวอนมิให้ไทยยอมรับดินแดนที่ฝ่ายญี่ปุ่นอาจจะเสนอให้อีก เพราะไทยจะต้องตอบแทนญี่ปุ่นด้วยการมอบเอกราชของไทยให้แก่ญี่ปุ่น ไทยมีภาระมากเต็มมืออยู่แล้วในดินแดนที่เพิ่งได้รับคืนจากฝรั่งเศส

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ กรมโฆษณาการไทยออกคำ แถลงการณ์มีใจความว่า ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลไทยขอแถลงนโยบายต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

๑. รัฐบาลจะคงยึดถือนโยบายผูกมิตรเท่าเทียมกันกับทุกประเทศเพื่อสันติภาพของมนุษยชาติ

๒. ไม่มีต่างประเทศใดเลยที่บีบคั้นประเทศไทยทางเศรษฐกิจหรือทางทหาร

๓. ประเทศไทยไม่มีความห่วงใยว่าจะต้องเผชิญกับการรุกรานจากต่างประเทศ

๔. ประเทศไทยจะปฏิบัติการทุกอย่างที่จะรักษาสันติภาพในดินแดนของไทยและจะไม่เข้าแทรกแซงในการขัดกันใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นนอกอาณาเขตไทย

๕. ในที่สุด ประเทศไทยพร้อมอยู่เสมอที่จะทำการค้ากับชาติอื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อกันและโดยสันถวไมตรี เพื่อที่ความสัมพันธ์ฐานมิตรกับประเทศอื่นจะไม่ต้องกระทบกระเทือน

วันที่ ๓๐ เดือนเดียวกัน เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้ปรึกษาหารือกับนายคีลเลอรีย์
ผู้แทนของกระทรวงการสงครามเศรษฐกิจประจำสิงคโปร์ นายคีลเลอรีย์ตั้งปัญหาขึ้นว่า สมควรที่ฝ่ายอังกฤษจะช่วยให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในประเทศไทย เพื่อให้ได้รัฐบาลที่พร้อมจะขัดขืนการบีบบังคับของญี่ปุ่นเพียงใดหรือไม่ ในชั้นแรก เซอร์โจซายแสดงความเห็นว่า อังกฤษจะกระทำการเช่นนั้นไม่ได้และไม่ควรจะกระทำแต่ภายหลังได้ผ่อนลงไปว่า อาจจะลองพยายามกระทำดูก็ได้ แต่รัฐบาลอังกฤษจะต้องพร้อมจะให้ความสนับสนุนทางทหารแก่รัฐบาลใหม่เมื่อมีความจำ เป็นต้องต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งในข้อนี้ผู้บัญชาการทหารอังกฤษภาคตะวันออกไกลยืนยันว่า ฝ่ายทหารยังให้คำมั่นดังกล่าวไม่ได้ แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในสองสามเดือนข้างหน้า นายคีลเลอรีย์จึงเสนอขอให้กระทรวงการสงครามเศรษฐกิจปรึกษาหารือกับกระทรวงการต่างประเทศดูว่าจะพึงปฏิบัติการอย่างใด โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐฯ จะมีทางให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยอย่างใดบ้างเพื่อป้องกันมิให้ไทยต้องตกอยู่ในอำนาจของญี่ปุ่น

 


นาย เอช. เอ็ม. แกล็ดวิน แจ๊บบ์
ที่มา: (Hubert Miles) Gladwyn Jebb, 1st Baron Gladwyn

 

นาย เอช. เอ็ม. แกล็ดวิน แจ๊บบ์ ปลัดกระทรวงการสงครามเศรษฐกิจ มีหนังสือทาบทามถามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๘๔ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้องค์ประกอบของรัฐบาลไทยอาจจะผสมให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าดำรงตำแหน่งแทน แต่อันที่จริงแล้วรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามก็มิใช่จะเลวนัก ญี่ปุ่นเองก็ไม่สู้จะชอบ และถึงอย่างไร ภายในรัฐบาลมีผู้ที่สนับสนุนอังกฤษอยู่ การจะจัดให้มีการเปลี่ยนแปลงตามที่เสนอคงไม่คุ้มค่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นด้วยกับเซอร์โจซายว่า การจะให้รัฐบาลไทยบำเพ็ญตนจนเป็นที่พอใจของอังกฤษ จะต้องอาศัยการให้คำมั่นสัญญาว่า อังกฤษจะให้ความสนับสนุนทางทหารอย่างแน่นอน ซึ่งอังกฤษยังไม่อยู่ในฐานะจะกระทำเช่นนั้นไดเท่าที่อังกฤษจะกระทำได้ก็คือ หาทางสนับสนุนไทยทางเศรษฐกิจพร้อมด้วยการร่วมมือของสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควรอยู่แล้ว

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๘๔ นายแกร็นท์ อัครราชทูตอเมริกา รายงานรัฐบาลอเมริกาว่า หลวงพิบูลสงครามจะอาศัยญี่ปุ่นเพื่อให้สามารถคงเป็นนายกรัฐมนตรีไทยอยู่ต่อไป และจะยอมรับปฏิบัติตามการบงการของญี่ปุ่นหลังฉาก ในขณะเดียวกันอังกฤษแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบว่า ทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยยื่นคำขอต่อรัฐบาลไทยรวม ๕ ข้อ คือ (๑) ขอให้ไทยงดเว้นไม่ทำสัญญากับประเทศที่สามใด ๆ อันจะเป็นภัยต่อวงไพบูลย์ร่วมกันที่ญี่ปุ่นคิดจัดตั้งขึ้น (๒) ขอให้รัฐบาลไทยรับรองรัฐบาลแมนจูกัว (๓) ขอให้ไทยระงับความดำริที่จะเปิดความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต (๔) ขอให้ไทยพิจารณาให้ความร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทางทหาร และการจัดตั้งองค์การที่ปรึกษาร่วมทางการทหารระหว่างสองประเทศ และ
(๕) ขอให้ไทยรับรองอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยในวงไพบูลย์ร่วมกัน ภายใต้การคุ้มครองของกำลังทหารไทยและทหารญี่ปุ่น โดยแบ่งให้ญวนและเขมรอยู่ในเขตการป้องกันของญี่ปุ่น และลาวอยู่ในเขตการป้องกันของไทย

วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ส่งนายวิลลิส อาร์. เป็ก ข้าราชการในกรมกิจการตะวันออกกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นทูตอเมริกาแทนนายแกร็นท์ ซึ่งเป็นนักการเมืองพรรคเดโมแกร็ตที่มีความคิดเห็นแหวกแนวออกไปเสมอ ไม่สู้จะให้ความร่วมมือกับเซอร์โจซาย ครอสบี้ เท่าใดนักนายแกร็นท์เป็นผู้มีส่วนโดยตรงที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยเสื่อมทรามลง โดยได้เสนอให้รัฐบาลอเมริกาวางท่าทีอันแข็งกร้าวต่อรัฐบาลไทยเรื่อยมา ส่วนญี่ปุ่นนั้นได้เสนอขอยกสถานะของอัครราชทูตญี่ปุ่นขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ฝ่ายไทยอยากจะให้อังกฤษและอเมริกาเลื่อนฐานะทูตขึ้นด้วยพร้อมกันเพื่อมิให้ญี่ปุ่นลํ้าหน้าอังกฤษและอเมริกาไป แต่ทั้งสองประเทศอ้างว่า ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการได้

เป็นอันว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้ตกลงยกสถานะผู้แทนทางการทูตขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๔ โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งนายทสุโบกามิ มาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นคนแรกประจำประเทศไทยส่วนฝ่ายไทยได้เลื่อนพระยาศรีเสนาขึ้นเป็นเอกอัครราชทูต โดยอาวุโสทางการทูตนายทสุโบกามิ เข้ารับหน้าที่เป็นคณบดีคณะทูตต่างประเทศที่กรุงเทพฯ สืบแทนเซอร์โจซาย ครอสบี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันชี้แจงต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเรื่องนี้ว่า ในส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่ควรแบ่งชั้นระหว่างทูต และในทางปฏิบัติ ฝ่ายอเมริกันให้ผลปฏิบัติต่อทูตต่างประเทศเท่าเทียมกัน มิได้มีการแยกเอกอัครราชทูตหรืออัครราชทูต เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาทางรัฐบาล แต่ภายหลังต่อมา นายแฮมิลตัน อธิบดีกรมการตะวันออกไกล แจ้งต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ว่า รัฐบาลอเมริกาเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะสนองความประสงค์ของฝ่ายไทยได้ ส่วนอังกฤษนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงต่อพระมนูเวทย์วิมลนาทว่า เสียใจที่ยังไม่สามารถรับข้อเสนอของไทย เพราะถือหลักจะไม่เปลี่ยนสถานะของสถานทูตอังกฤษในต่างประเทศตลอดเวลาสงคราม

พึงสังเกตว่า ในระหว่างนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้สะสมกำลังทหารเพิ่มขึ้นในอินโดจีน เฉพาะอย่างยิ่งได้ตระเตรียมและขยายฐานทัพในดินแดนอินโดจีน เพิ่มความห่วงใยให้แก่ฝ่ายไทยเป็นอย่างมาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขอให้เซอร์โจซาย ครอสบี้ แสวงหาคำตอบจากฝ่ายทหารอังกฤษว่า ถ้าญี่ปุ่นรุกรานบุกเข้ามาในประเทศไทย ฝ่ายอังกฤษจะดำเนินการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของอังกฤษในประเทศไทยเพียงใด และอังกฤษจะแนะนำไทยอย่างใดในการป้องกันประเทศไทยเซอร์โจซายส่งโทรเลขสอบถามไปยังกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๔ และขอร้องให้ได้รับคำตอบภายใน ๑ สัปดาห์ เซอร์โจซายเสนอเป็นความเห็นส่วนตัวว่า อย่างน้อยอังกฤษควรจะให้คำมั่นว่าจะเข้ามาช่วยประเทศไทยในการป้องกันภาคใต้ของประเทศไทย

ความจริงฝ่ายทหารอังกฤษทางสิงคโปร์มีแผนการที่จะต่อต้านญี่ปุ่นในด้านนี้อยู่แล้ว ที่เรียกว่า “แผนการมากาดอร์” ถือเป็นแผนลับสุดยอด แม้แต่ทูตอังกฤษในประเทศไทยก็มิได้แจ้งให้ทราบ มีหลักการสำคัญว่า ถ้ามีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นจะบุกกลํ้ากรายเข้าประเทศไทย อังกฤษจะส่งกำลังทหารเข้ายึดดินแดนไทยในบริเวณจังหวัดสงขลา เตรียมสกัดกั้นไม่ให้ญี่ปุ่นคืบหน้าลงไปทางใต้ของประเทศไทย เซอร์โรเบิร์ต บุกพอนแฮม ผู้บัญชาการทหารอังกฤษที่สิงคโปร์ มีโทรเลขลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๘๔ ถึงกระทรวงสงครามที่กรุงลอนดอน มีใจความตอนหนึ่งว่า ฝ่ายทหารมีความเห็นว่า เซอร์โจซายไม่ควรจะล่วงรู้ถึงแผนการนี้จนวาระสุดท้าย เพราะจะยังความสะดวกให้แก่ทูตในการติดต่อกับรัฐบาลไทย

รัฐบาลไทยรอคำตอบจากฝ่ายอังกฤษ ซึ่งไม่มาถึงสักที ทั้งนี้เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษและฝ่ายทหาร ทางกระทรวงการต่างประเทศนั้นอยากจะให้ยืนยันว่า อังกฤษพร้อมจะร่วมมือกับไทยในกรณีที่ญี่ปุ่นรุกเข้ามา แต่ฝ่ายทหารไม่อยากจะให้ผูกมัดถึงเพียงนั้น เพราะไม่มีกำลังเพียงพอและถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยฝ่ายอเมริกันร่วมด้วย ไทยอยากจะได้เครื่องบินรบมาเพื่อป้องกันตัว อังกฤษก็ไม่พร้อมที่จะให้ เพราะถือว่าถ้าจะให้ก็ต้องถอนเอาไปจากกำลังป้องกันทางสิงคโปร์ ซึ่งก็มีน้อยอยู่แล้ว การถอนเครื่องบินจากสมรภูมิแห่งหนึ่งเพื่อไปเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง จะไม่ทำให้การป้องกันเข้มแข็งขึ้นอย่างใดเลย และเครื่องบินรบเหล่านี้ในการครอบครองของทหารอังกฤษจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าโยกย้ายโอนมาให้แก่ทหารไทย ทั้งนี้ทำให้เซอร์โจซายเสียกำลังใจไม่น้อย เพราะท่านไม่เข้าใจว่า ถ้าอังกฤษต้องการส่งเสริมให้ไทยสู้ญี่ปุ่น เหตุใดอังกฤษจึงไม่ยอมให้เครื่องบินรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยขอ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่า ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยตามความต้องการ อย่างน้อยก็ควรจะประกาศเปิดเผยเตือนญี่ปุ่นมิให้รุกรานเข้ามาในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด

ขนานกันไปกับด้านการเจรจากับอังกฤษ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงรักษาการติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นด้วย โดยได้พบพูดจากับพันโท ทามูระ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกของญี่ปุ่นประจำ ประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเกือบทุกวัน ตามรายงานของพันโททามูระที่ส่งถึงกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นทางใต้ ณ เมืองไซ่ง่อน ต้นเดือนธันวาคม ท่านจอมพลแสดงความห่วงใยอย่างมาก ไม่อยากให้กำลังทหารญี่ปุ่นส่งเข้ามาทางภาคกลางของประเทศไทย ถ้าญี่ปุ่นต้องการจะลงใต้เพื่อเข้ายึดดินแดนมลายูและสิงคโปร์ ก็ขอให้ส่งทหารผ่านประเทศไทยให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ไทยจะไม่ขัดขืน ญี่ปุ่นต้องหลีกเลี่ยงไม่ส่งกำลังทหารผ่านภาคกลางของประเทศไทยเป็นอันขาด เพราะจะถือเป็นการกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของประเทศไทย และของตัวจอมพลเองโดยเฉพาะ

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 61-75.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 61-75.

บทความที่เกี่ยวข้อง :