ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นิทรรศการขบวนการเสรีไทย

เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ประเทศไทยก็ได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งยุครัตนโกสินทร์ ญี่ปุ่นได้ยื่นความจำนงของเดินทัพผ่านไทยไปโจมตีมลายูและพม่า ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดย จอมพล เคาน์ท เทราอุจิ แม่ทัพใหญ่ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพที่ 25 ภายใต้นายพลยามาชิติ ยกพลขึ้นบกตามชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย และเคลื่อนกำลังผ่านไทยเข้าสู่มลายูและสิงคโปร์ ขณะที่กองทัพที่ 15 ภายใต้นายพลอิดะ เข้ายึดครองประเทศ ไทยและพม่า การบุกของกองทัพญี่ปุ่นได้รับการต่อต้านจากฝ่ายไทย อันประกอบด้วยทหาร ตำรวจและพลเรือน ตลอดจนยุวชนทหารอย่างเหนียวแน่นและดุเดือด ทุก ๆ จุดที่มีการปะทะกัน ก่อให้เกิดความสูญเสียด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในเย็นวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันกำเนิดของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยหรือขบวนการเสรีไทย ไว้ว่า

“เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็เพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดม ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ เพื่อนที่มาพบก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเองและของราษฎรส่วนมาก ที่ได้ประสบเห็นกองทัพญี่ปุ่นที่เป็นทหารต่างด้าวเข้ามารุกรานประเทศไทย เมื่อได้ปรึกษาหารือพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมในวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชประชาธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้นวรรณะทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนปฏิบัติต่อไป ขบวนการเสรีไทยมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ 2 ด้านคือ หนึ่ง ต่อสู้ผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติและร่วมมือกับพันธมิตรในสมัยนั้น สอง ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร”

ในขณะที่การจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศกำลังดำเนินไปได้ดีนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจว่าจะต้องหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อทำความเข้าใจว่าการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ผูกพันประชาชนชาวไทย ซึ่งมิได้เข้ากับญี่ปุ่นโดยสมัครใจ และเพื่อที่จะให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไทยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร เดิมทีเดียวนายปรีดีมีความประสงค์ที่จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเส้นทางผ่านพม่าถูกญี่ปุ่นควบคุมไว้ทั้งหมดแผนการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นจึงระงับไป แผนการต่อมาจึงต้องอาศัยการออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รู้ว่ามีฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในประเทศที่พร้อมร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกเดินทางไปเมืองจีนไปทางเหนือก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเส้นทางเป็นป่ารกชัฏเดินทางยากลำบากและมีไข้ป่าชุม ขณะเดียวกันญี่ปุ่นได้ควบคุมตรวจตราการเข้าออกประเทศไทยไว้ทุกจุด

ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกนายจำกัด พลางกูร บัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หนึ่งในจำนวนสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านภายในประเทศ จนนำมาซึ่งการพบกันระหว่างจำกัด พลางกูรกับจอมพลเจียง ไคเช็ค เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2486 ที่เมืองจุงกิง จนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นภายในประเทศ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าและพร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น แต่นายจำกัดได้ล้มป่วย และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา นายปรีดี พนมยงค์จึงส่งคณะเสรีไทยในประเทศชุดใหม่นำโดย นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบพร้อมทั้งครอบครัวและนายแดง คุณะดิลก เดินทางไปสานต่อภารกิจการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพราะมีคนรับรองสถานะชัดเจน ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่ามีขบวนการต่อต้านภายในประเทศมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และการติดต่อของคณะที่สองนี่เองที่ทำให้ทางเสรีไทยนอกประเทศได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านภายในประเทศอย่างชัดเจนมากขึ้น และเกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกันขึ้นระหว่างเสรีไทยกับสัมพันธมิตร ต่อจากนั้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2487 ยังได้ส่งตัวแทนคณะที่สามออกมานำโดยนายถวิล อุดลเป็นคณะสุดท้ายเพื่อนำสาส์นจากจากนายปรีดีไปถึงจอมพลเจียงไคเช็กผู้นำของจีนเพื่อตอกย้ำถึงความพร้อมและความตั้งใจจริงของเสรีไทยในประเทศเพื่อให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรมั่นใจถึงความเพียบพร้อมของกำลังพลเสรีไทย

"ขบวนการเสรีไทย" ได้ใช้ความพยายามทําให้อังกฤษและ สหรัฐอเมริกา รับรองว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยทําต่อสองประเทศนั้นเป็นโมฆะ ส่วนจีน ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตที่เป็นสัมพันธมิตร ก็ไม่ยอมเลิกสถานะสงครามหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยง่าย  ขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลฃภายหลังสงครามได้ใช้ความพยายามให้ประเทศเหล่านั้นยอมเลิกสถานะสงครามผ่านวิถีทางการเจรจา และการเดินทางเยือนประเทศเหล่านั้นเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี นำมาซึ่งการที่ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในเวลาต่อมา

ขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนไทยทุกชนชั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีความมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อเอกราช อธิปไตยและสันติภาพของประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการทุกท่านต้องถือว่า มีความเสียสละและความกล้าหาญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยภายใต้การยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น และทำให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม 

ในการนี้ เนื่องในวาระ 76 ปี วันสันติภาพไทย สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงทำการรวบรวมคลังข้อมูลทางวิชาการ บทสัมภาษณ์ infographic Timeline เหตุการณ์สำคัญของการถือกำเนิดขึ้นของขบวนการเสรีไทย รูปภาพ คลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Books)  ไว้ในนิทรรศการออนไลน์ ดังนี้

Infographic Timeline เสรีไทย

Infographic: "เสรีไทย" ในสงครามโลกครั้งที่ 2

คุณูปการสำคัญของขบวนการเสรีไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ การทำงานลับที่อาศัยความร่วมมือ ความสามัคคีจากหลายภาคส่วนในสังคม จนในที่สุดทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และรักษาเอกราชไว้ได้สืบมา

เรื่องราวของขบวนการเสรีไทย ทั้งภายในประเทศ ในอังกฤษ และในสหรัฐอเมริกา ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาเอกราชอธิปไตย และการเจรจาสถานะหลังสงครามของประเทศไทย อยู่ที่ใดในห้วงเวลาของประวัติศาสตร์?

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อใด? ประเทศไทยเกี่ยวข้องอย่างไร? และมีสถานะใดในสงคราม? หาคำตอบได้จากแผนภาพอินโฟกราฟิกนี้

เพื่อร่วมรำลึกวันครบรอบ 75 ปี ของการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี จึงถูกเรียกว่า "วันสันติภาพไทย" นั่นเอง

ไฟล์ Infographic ลำดับเหตุการณ์ขบวนการเสรีไทย ความละเอียดสูงสำหรับงานพิมพ์

"ลำดับเหตุการณ์ขบวนการเสรีไทย" ความละเอียด 300 DPI (CMYK และ RGB)

 

ลำดับเหตุการณ์ ขบวนการเสรีไทย

สถาบันปรีดี พนมยงค์ X หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    บทความเสรีไทย

    บทความที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย

    เกร็ดประวัติศาสตร์
    11
    สิงหาคม
    2563
    เกร็ดประวัติศาสตร์
    10
    สิงหาคม
    2563

    บทสัมภาษณ์

    เสรีไทยเสรีชน Ep.2:

    ความสำคัญของขบวนการเสรีไทยในมุมมองของศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

     

    เสรีไทยเสรีชน Ep.1:

    จุดเริ่มต้นของขบวนการเสรีไทยในทัศนะของส.ศิวรักษ์

     

    คลังรูปภาพเสรีไทย

    หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
    (E-Book) เสรีไทย

    หนังสือเสรีไทย