ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายปรีดี พนมยงค์ กับท่านพุทธทาส และพระศาสนา

6
กรกฎาคม
2563

ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา หากจะถามหาสามัญชนที่เป็นอัจฉริยะและรัตนบุรุษ ผู้สร้างคุณูปการต่อชาติและศาสนา ทั้งในฝ่ายฆราวาสและบรรพชิตแล้ว นายปรีดี พนมยงค์และท่านพุทธทาสภิกขุ ย่อมอยู่ในฐานะอันโดดเด่น ควรแก่การยกย่อมอย่างแท้จริง ทั้งความรู้ ความสามารถ ความเสียสละ ความสะอาดบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์สุจริตและความเห็นการณ์ไกล ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยจักต้องจารึกความสำคัญของท่านทั้งสองไว้นานเท่านาน 

ท่านทั้งสองเป็นบุคคลร่วมยุคสมัย และมีข้อที่น่าสนใจหลายอย่างที่ละม้ายคล้ายกันโดยบังเอิญ นับแต่พื้นเพเดิมซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญชน (นายปรีดีเป็นบุตรนายเสียง พนมยงค์ ชาวนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุตรนายเซี้ยง พานิช พ่อค้าชาวไชยา)  เกิดในเดือนเดียวกัน (นายปรีดี เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443  ท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449)  นายปรีดีได้ทำการเปลี่ยนแปลงอันมีความสำคัญชนิดพลิกแผ่นดิน คือ การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475 ร่วมกับคณะราษฎร) ในขณะที่ราว 1 เดือนก่อนหน้านั้น ท่านพุทธทาสก็ได้เริ่มงานปฏิรูปศาสนาด้วยการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมขึ้นที่สวนโมกขพลาราม พุมเรียง ร่วมกับคณะธรรมทาน (12 พฤษภาคม 2445) ซึ่งต่อมาได้ส่งผลอย่างมหาศาลต่อการพระศาสนาในประเทศไทยและขจรขจายไปทั่วโลกในทุกวันนี้ 

นายปรีดีนั้น นับว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานอย่างสูงสุดเท่าที่สามัญชนไทยจะพึงกระทำได้ ไม่ว่างานใดที่ท่านลงไปจับทำหรือริเริ่มไว้ ล้วนมีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น นับแต่การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนไทยมีสิทธิ์เสียงในการปกครองตนเอง การริเริ่มระบอบเทศบาลเมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การแก้ไขสนธิสัญญากับต่างชาติเมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การยกเลิกระบบรัชชูปการวางระเบียบจัดเก็บภาษีอากรใหม่ และวางรากฐานธนาคารชาติเมื่อ ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านเป็นผู้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) และดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การคนแรก  

แม้จนกระทั่งเมื่อเกิดมหาสงคราม ท่านก็เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย 17 ล้านคน กู้เอกราชมิให้ชาติไทยตกเป็นผู้แพ้สงคราม ทั้งท่านยังพยายามสร้างสรรค์สันติภาพและสมัครสมานไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และที่สำคัญ คือ เป็นรัฐบุรุษอาวุโสเพียงคนเดียวของประเทศดังที่ทราบกันดีอยู่ 

นอกจากนั้นท่านยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนพรัตน์อันสูงสุดอีกด้วย แต่ท่านก็หาได้ฟูไปตามโลกธรรมไม่ แม้ในบั้นปลายที่มีผู้ก่อกรรมทำเข็ญกับท่านจนต้องนิราศรางจากแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ท่านก็ยังสามารถดำรงจิตเป็นอิสระจากโลกธรรมที่มากล้ำกรายได้อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง 

นายปรีดีมิได้มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองเท่านั้น แม้ในทางพระศาสนาท่านก็มีส่วนเกื้อหนุนความเปลี่ยนแปลงหลายประการ นับแต่สนับสนุนให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ดังปรากฏรูปธรรมเป็นพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นต้น ในฝ่ายฆราวาส ท่านก็สนับสนุนให้ก่อตั้งพุทธธรรมสมาคมขึ้น (ซึ่งต่อมาเป็นพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) และขอร้องให้ท่านพุทธทาสภิกขุแสดงปาฐกถาธรรม เรื่องพุทธธรรมกับเจตนารมย์ประชาธิปไตย (ซึ่งบัดนี้พิมพ์อยู่ในหนังสือธรรมโฆษณ์ชุด ชุมนุมปาฐกถา เรื่อง พุทธรรม

แม้ตัวท่านเองก็ได้เคยแสดงปาฐกถาในสมาคมแห่งนั้นด้วย (เรื่อง พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ซึ่งนายสุพจน์ ด่านตระกูล ได้นำมาตีพิมพ์แล้ว) 

นอกจากนั้น ท่านยังสนใจจะจัดให้มีสถานปฏิบัติธรรมแบบสวนโมกข์ขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านเกิดของท่าน หากสถานที่ของวัดพนมยงค์และภูมิประเทศแถบนั้นไม่เอื้ออำนวยให้ (มีรายละเอียดในหนังสือ พนมยงค์ประดิษฐ์ธรรม

ทั้งท่านยังปรารภถึงเค้าโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ซึ่งก็น่าจะมีความสำคัญดุจเค้าโครงเศรษฐกิจนั่นเอง) และสนับสนุนให้หาวิธีการเผยแผ่ที่ทันสมัยและได้ผลดียิ่งขึ้นดังรายละเอียดในธรรมกถาของท่านพุทธทาสภิกขุ ในโอกาสบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอัฐิธาตุนายปรีดี ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง หน้า 375-375) โดยที่บทบาทซึ่งท่านทำอยู่ข้างหลังเหล่านี้ ไม่เป็นที่รู้กันมากนัก 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากที่นายปรีดี พนมยงค์ กระทำขึ้นและต้องได้รับเคราะห์กรรมจากผู้ไม่เข้าใจ คือ การนำเสนอความคิดสังคมนิยมเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้บังเกิดความเป็นธรรมและความสงบสุขโดยทั่วถึงกัน โปรดอ่านรายละเอียด เรื่อง “สังคมนิยมประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์” นี้ในงานวิจัยเรื่อง ความคิดทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ของเฉลิมเกียรติ ผิวนวล) ฝ่ายท่านพุทธทาสภิกขุก็เสนอ “ธัมมิกสังคมนิยม” ในฐานะหัวใจของจากศาสนาเพราะสังคมนิยมเป็นหลักการของธรรมชาติไว้ด้วย (ดังรายละเอียดในหนังสือ ธัมมิกสังคมนิยม ซึ่ง ดร.โดนัลด์, เค. สแวเรอร์ เป็นบรรณาธิการ ทั้งสองเล่มนี้มูลนิธิโกมลคีมทองจัดพิมพ์) ที่น่าขำก็ตรงที่ท่านทั้ง 2 ต่างก็เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ทั้งคู่จากขุนนางหัวเก่าต่างกรรมต่างวาระกัน และท่านก็ได้ปลอดพ้นมาด้วยดี โดยที่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั่วไปแล้ว 

ทั้งนายปรีดี พนมยงค์และท่านพุทธทาสภิกขุ ล้วนเป็นผู้อุทิศตนต่อธรรม สร้างความเป็นธรรม ตามครรลองของธรรม โดยสันติวิธีและเป็นปากเสียงเรียกร้องและเชิดชูสันติภาพ มิใช่ด้วยปาก หากโดยความพยายามนานัปการ  นายปรีดีสร้างความเป็นธรรมอย่างชาวโลก ในขณะที่ท่านพุทธทาสพยายามอย่างชาววัดด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อคุ้มครองและปกป้องธรรมะ 

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การและตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาอันเสมอภาคแก่มวลราษฎร และเพื่อประสิทธิ์ประสาทความรู้ ความเข้าใจวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อจรรโลงการปกครองของราษฎร 

ท่านพุทธทาสภิกขุก็เป็นผู้ให้ความสำคัญกับ “ธรรมศาสตร์” ในฐานะที่เป็น “ศาสตร์” คือของมีคมที่จะตัดปัญหาทั้งมวลได้โดยเด็ดขาด และโดยสันติวิธีดังที่ท่านได้เทศนา “ธรรมศาสตรา แก้ปัญหาทั้งปวง” ไว้ในทํานองเดียวกับที่กล่าวถึง “ธัมมิกสังคมนิยม” หรือ “สังคมตามหลักแห่งพระศาสนา” ว่าเป็น “สังคมนิยมชนิดที่ช่วยโลกได้” 

แม้ทั้งสองท่านนี้จะเป็นผู้สถาปนาคุ้มครองป้องกัน และชี้นําธรรม โดยธรรม เพื่อธรรม มาโดยตลอด แต่แล้วด้วยภยาคติที่ครอบงำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการสถาปนาและเป็นเจ้าของนามอันควรรับผิดชอบและกระตือรือร้นเรื่องนี้อย่างยิ่งก็กลับเมินเฉย และปฏิเสธการพิจารณามอบและถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่านทั้งสอง ทั้ง ๆ ที่การกระทำดังกล่าวนี้ จักเป็นเกียรติเป็นศรีที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวธรรมศาสตร์เอง ในอันที่รู้จักยกย่องคนดีศรีสยามที่เป็นปูชนียบุคคลอย่างแท้จริง 

มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า บุคคลที่หาได้ยากในโลกนี้มีอยู่เพียงสองคน คนแรกได้แก่ บุพการี คือ ผู้มีพระคุณที่ให้ความอุปถัมภ์ ช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว เป็นผู้เอาชนะ ตัณหาคือ ความเห็นแก่ตัวได้ คนที่หาได้ยากอีกคนหนึ่ง ได้แก่ กตัญญูกตเวทีบุคคล คือผู้รู้คุณและพยายามตอบแทนคุณของท่านตามสมควร ก็นับว่าหาได้ยากเพราะเป็นผู้สบายแล้วไม่ลืมตัว ไม่ตกภายใต้อำนาจของอวิชชา พยายามทำให้ความดีของท่านผู้ทำไว้ก่อนแก่ตนนั้น ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ หากพิจารณาจากเกณฑ์นี้แล้ว ทั้งนายปรีดี พนมยงค์และท่านพุทธทาสภิกขุ นับเป็นคนดีที่หาได้ยากอย่างยิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ปัญหาก็อยู่เพียงที่ว่า คนรุ่นหลังจะใส่ใจและกระทำตนให้เป็นบุคคลที่มีคุณค่าหาได้ยากเพื่อตอบแทนและสืบทอดคุณความดีของท่านให้สมควรหรือไม่เท่านั้น 

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2531, น. 58-62.