ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก

7
พฤศจิกายน
2563

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ล่วงเลยมาเกือบ 54 ปีแล้ว (เขียนเมื่อ พ.ศ. 2544 - บ.ก.) วันที่หักเหชีวิตทางการเมือง และเริ่มต้นชีวิตผันผวนของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องราวในวันนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าเสมอมา  ในวันนี้ ด้วยวัย 90 ปี ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบ มิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกัน รำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตราย ช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้นด้วยความขอบคุณ 

บันทึกฉบับนี้เป็นเพียงความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ปรารถนาให้สาธารณชนและผู้สนใจได้ติดตามเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาตามที่เป็นอยู่ มิได้บิดเบือน หรือปรุงแต่งแต่ประการใด เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความกระจ่างถึงความเป็นมาของเหตุการณ์ในตอนนั้น ข้าพเจ้าจำเป็นต้องลำดับเรื่องราวของนายปรีดีก่อนเกิดรัฐประหาร 2490 พอสังเขป

นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2489 การลาออกจากตำแหน่งนี้ เพราะเหตุได้ตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลานานพอสมควร รู้สึกว่า สุขภาพเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่ แต่กระนั้นด้วยการได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส จึงมีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 นายปรีดีได้รับเชิญจากประเทศสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ไปเยือนประเทศนั้น ๆ ในฐานะที่เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย และอาคันตุกะผู้มีเกียรติของประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้นำของประเทศเหล่านั้น

ครั้นเมื่อกลับมาประเทศไทย นายปรีดียังคงพำนักอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นบ้านพักของทางราชการตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาลาริมน้ำเป็นเสมือนห้องรับแขกต้อนรับญาติมิตรและบรรดาลูกศิษย์ลูกหา นายปรีดีมิค่อยได้ออกไปนอกบ้านเท่าใดนัก จะไปก็แต่งานเผาศพ

ตอนสาย ๆ ของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาหานายปรีดี อยู่สนทนากันที่ศาลาริมน้ำเป็นเวลานาน พอหลวงอดุลฯ กลับไป  ข้าพเจ้าถามนายปรีดีว่าหลวงอดุลฯ มาทำไม เพราะโดยปกติแล้ว หลวงอดุลฯ มักจะมาเวลากลางคืน  นายปรีดีเล่าให้ฟังว่า หลวงอดุลฯ มาแจ้งเรื่องข่าวจะมีรัฐประหาร นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ขณะนั้นหลวงอดุลฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ท่านบอกว่า ได้จัดการเรียบร้อยแล้ว

ในวันนั้นข้าพเจ้าไปถอนฟัน กลับมาบ้านไม่สบายเป็นไข้ เข้านอนแต่หัวค่ำ

คืนนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และหลวงอดุลฯ มารับประทานอาหารค่ำกับนายปรีดีเพื่อปรึกษาข้อราชการ ยังไม่ดึกนักก็ลากลับไป ต่อมาราวเที่ยงคืนมีแสงไฟส่องเข้ามายังห้องนอน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านด้านถนนพระอาทิตย์ แสงไฟสว่างจ้าประกอบกับเสียงดังกระหึ่มของเครื่องยนต์รถถังที่จอดอยู่บริเวณด้านนอกของประตูทางด้านเหนือของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำให้ข้าพเจ้าตกใจตื่นรีบลุกออกมาที่บริเวณห้องโถง เห็นวิทยุวางอยู่บนโต๊ะ หนังสือพิมพ์ถูกลมพัดปลิวตกอยู่ที่พื้น ไม่มีแม้แต่เงาของนายปรีดี ซึ่งธรรมดามักจะนั่งฟังวิทยุและอ่านหนังสือพิมพ์อยู่บริเวณนี้ ข้าพเจ้ารีบลงมาชั้น 2 ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุดและห้องรับแขก เห็นนายปลั่ง มีจุล นักศึกษา ม.ธ.ก. ที่ คุณปรง พหูชนม์ อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ฝากฝังไว้ให้อยู่ในความดูแลยืนอยู่ที่ถนนหน้าตึก 

ข้าพเจ้าถามไปว่า “ท่านอยู่ไหน?”

ปลั่ง มีจุล ตอบว่า “ท่านไปแล้วครับ”

พลันได้ยินเสียงปืนกลจากรถถังยิงรัวใส่ตัวตึก ข้าพเจ้าไม่มีเวลาถามต่อไปว่า “ท่านไปไหน? ไปกับใคร?” รีบกลับไปห้องนอนของลูก ๆ ที่ชั้น 3 เรียกลูก ๆ มารวมกันในห้องนอนทิศเหนือด้านริมน้ำ เผอิญวันนั้น พรพงา (ซูซาน) สิงหเสนี มาค้างที่บ้านด้วย เธอเป็นบุตรสาวของหลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) เพื่อนร่วมก่อการ 2475 ของนายปรีดี

“อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก” ข้าพเจ้าตะโกนร้องสวนเสียงปืนกล

สักครู่เสียงปืนสงบลง ทหารยศนายร้อยนำทหารเข้ามาในทำเนียบ

“พวกเราจะเปลี่ยนรัฐบาล” นายทหารผู้นั้นบอกข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าท้วงทันทีว่า “ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาเล่า?”

ทหาร 4-5 นาย ตรวจค้นบ้าน หมายจะตรวจหานายปรีดี

ประมาณ 4 นาฬิกา หลวงอดุลฯ มาที่ทำเนียบท่าช้าง

“ผมจัดการเรียบร้อยแล้ว ผมให้พวกเขาไปอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ” 

 

ท่านผู้หญิงพูนศุขที่ทำเนียบท่าช้าง
ท่านผู้หญิงพูนศุขที่ทำเนียบท่าช้าง

 

บันไดที่พูนศุขโต้ตอบทหารของคณะรัฐประหาร 2490
บันไดที่พูนศุขโต้ตอบทหารของคณะรัฐประหาร 2490

 

หลวงอดุลฯ บอกให้ข้าพเจ้าอุ่นใจว่า ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง ต่อมาไม่นาน หลวงวีรวัฒน์ฯ[1] แม่ทัพท่านหนึ่ง ก็มาถามทุกข์สุข รุ่งเช้า หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ มาทำข่าว มิสเตอร์ Mc.Donald จาก Bangkok Post ยังได้นำคำให้สัมภาษณ์ของข้าพเจ้าตีพิมพ์ในฉบับวันรุ่งขึ้น

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร คุณประยงค์ พึ่งสุนทร (วีระไวทยะ) และญาติมิตรพากันมาเยี่ยมถามข่าว

ช่วงสาย ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นำทหารมาตรวจค้นบ้านอีกรอบหนึ่ง ทั้งค้น ทั้งรื้อเอกสารที่มีอยู่ เป้าหมายยังคงเป็นการค้นหานายปรีดี

คุณฉลบชลัยย์ กัลยาณมิตรของครอบครัว ได้แสดงความกล้าหาญ โดยยืนขวางกั้นไม่ให้ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กับพวก เข้าไปรื้อค้นบริเวณโรงรถที่เป็นมุมอับโดยพลการ แต่ให้ตรวจค้นโดยมีคนในบ้านท่าช้างเฝ้ามองไม่ให้คลาดสายตา เพื่อป้องกันการ “เล่นไม่ซื่อ” ของพวกนั้น

ในที่สุด คณะรัฐประหารก็คว้าน้ำเหลว ไม่สามารถจับตัวนายปรีดี กลับไปด้วย จึงถอยกลับไป

 

ฉลบชลัยย์ พลางกูร (ขวา) มาเยี่ยมปรีดี-พูนศูข ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส
ฉลบชลัยย์ พลางกูร (ขวา) มาเยี่ยมปรีดี-พูนศูข ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส

 

เมื่อเห็นว่าอยู่ทำเนียบท่าช้างไม่ปลอดภัย ขนาดตัวตึกด้านห้องพระยังโดนกระสุนปืนกลเจาะเท่ารังนกกระจอก ข้าพเจ้าจึงพาลูก ๆ หนีร้อนไปพึ่งเย็นที่บ้านท่าเกษม ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าพระยารามราฆพ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ  

บ้านท่าเกษมอยู่ไม่ไกลจากทำเนียบท่าช้างนัก ปัจจุบันเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย  ท่านเจ้าของบ้านอนุญาตให้ข้าพเจ้ากับลูก ๆ พักที่เรือนญาณวารีรัตน์ ซึ่งเป็นที่พำนักของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์กับภรรยา  กลางวันกลับมาที่ทำเนียบท่าช้าง กลางคืนไปค้างที่บ้านท่าเกษม 

ต่อมาข้าพเจ้าย้ายมาบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ซึ่งเป็นบ้านของคุณแม่ข้าพเจ้า

หลังจากเหตุการณ์ในคืนนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ได้ข่าวนายปรีดีเลย รุ่งขึ้น วันที่ 9 พฤศจิกายน  มิสเตอร์ Doll ที่ปรึกษาการคลังของรัฐบาลสยามที่คุ้นเคยกับนายปรีดีและข้าพเจ้าเป็นอย่างดีมาพบ และแจ้งให้ทราบว่า นายปรีดีอยู่อย่างปลอดภัยที่กรมสรรพาวุธ บางนา ต่อจากนั้นไม่นาน ด้วยความช่วยเหลือของ พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ อดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นายปรีดีได้ไปหลบภัยที่กรมนาวิกโยธินสัตหีบ

ข้าพเจ้าเดินทางไปพบนายปรีดีที่สัตหีบ และได้ถามการผจญภัยในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า

นายปรีดีเชื่อตามที่หลวงอดุลฯ บอกไว้เมื่อค่ำของวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่า “ผมจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว” จึงไม่ได้เฉลียวใจและเตรียมใจว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงประชิดตัว

ปกตินายปรีดีนอนดึกอยู่แล้ว ขณะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ท่ามกลางความเงียบดึกสงัด แสงไฟจากรถถัง และเสียงสายพานรถถังกระทบพื้นถนน ทำให้นายปรีดีคิดว่า คณะรัฐประหารเอาจริงแน่ ไม่มีเวลาปลุกข้าพเจ้ามาบอกกล่าวใด ๆ จากห้องสมุดชั้น 2 ลงบันไดเล็กไปด้านหลังตึกที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา  โชคช่วยนายปรีดี เรือจ้างลำหนึ่งจอดอยู่ไม่ไกลจากศาลาริมน้ำ  นายปรีดีพร้อมด้วย ส.ต.อ. บัว กลางการ  ส.ต.ท. สิงโต ไทรย้อย และพลตำรวจ จุล แสงจักร ได้ลงเรือจ้างลำนั้น

เรือจ้างลอยลำกลางลำน้ำเพื่อดูเหตุการณ์พักหนึ่ง แล้วจึงไปบ้านขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ) อดีตข้าราชการสำนักพระราชวังและอดีตเสรีไทย ที่อยู่หัวมุมปากคลองบางกอกน้อย ตรงกันข้ามกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย

นายปรีดีไม่ได้มีเงินติดตัวมาด้วย จึงต้องขอยืมเงินขุนลิขิตฯ นอกจากนั้นขุนลิขิตฯ ยังได้ให้หมวกสักหลาดมาใบหนึ่งเพื่อใส่อำพราง ซึ่งก็ได้ผล หลังจากเปลี่ยนมานั่งเรืออีกลำหนึ่ง ผ่านหน้าบ้านหลวงอนุการสารบรรณ (ละมุน สังขพิชัย) ผู้เป็นญาติข้าพเจ้ากำลังอาบน้ำที่ท่าน้ำ ยังจำนายปรีดีไม่ได้เลย  ขุนลิขิตฯ กับบุตรชายช่วยกันแจวเรือพานายปรีดีผ่านลำคลองต่าง ๆ จนในที่สุดพามาส่งที่พระราชวังเดิม อันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ

 

นายปรีดี ขณะลี้ภัยไปสิงคโปร์ (พ.ศ. 2490)
นายปรีดี ขณะลี้ภัยไปสิงคโปร์ (พ.ศ. 2490)

 

จากนั้น นายปรีดีได้ไปพักพิงที่กรมสรรพาวุธ บางนาระยะสั้น ๆ ก่อนที่จะขึ้นเรือยามฝั่งขนาดเล็กไปยังกรมนาวิกโยธิน สัตหีบ

ข้าพเจ้าขอคัดข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ที่นายปรีดีเขียนไว้ เป็นการจบบันทึกนี้

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย ลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อน ได้ไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนิส ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ด เมานท์แบทเตน และขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ แจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง นาวาเอก เดนิส และนาวาเอก การ์เดส ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออเมริกัน ได้ช่วยกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำโดยการ์เดสเองพร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

 

ที่มา: พิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2544.


[1] พล.ต. หลวงวีรวัฒน์โยธิน ผู้บัญชาการกองพล 1