ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

จาก 'เถ้าแก่' สู่ 'กบฏ': เมื่อถูกกล่าวหาเป็น 'กบฏสันติภาพ'

15
พฤศจิกายน
2563

ในปี พ.ศ. 2495 ได้เกิดสงครามที่คาบสมุทรเกาหลี  เกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร รวมทั้งประเทศไทย ได้อาศัยนามของสหประชาชาติฝ่ายหนึ่ง กับเกาหลีเหนือ ซึ่งมีทหารอาสาสมัครราษฎรจีนร่วมรบและสหภาพโซเวียตหนุนช่วยด้านยุทธปัจจัยอีกฝ่ายหนึ่ง (หลังจากนั้นสิบกว่าปี เกิดความขัดแย้งด้านอุดมการณ์และผลประโยชน์ของชาติระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เป็นเหตุให้สหภาพโซเวียตเรียกร้องให้จีนชําระเงินค่ายุทธปัจจัยในสงครามเกาหลี) ไฟสงครามเหมือนดังไฟลามทุ่ง มีทีท่าจะขยายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

ปาล (บุตรชาย...บ.ก.) ได้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมเซ็นชื่อคัดค้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพสากล ข้าพเจ้าเซ็นชื่อในกระดาษที่มีผู้ลงนามก่อนหน้านี้อย่างไม่รีรอ ไม่ต้องปลุกระดม ไม่ต้องอธิบายเหตุผล ข้าพเจ้ายังจําเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้  ภาพทหารญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาในแผ่นดินไทย ภาพเปลวไฟสีแดงฉานจากระเบิดที่ทิ้งลงตรงสถานีรถไฟบางกอกน้อย  ภาพตัวเองที่ต้องอุ้มลูกสาวคนเล็กลงหลุมภัยอย่างชุลมุน ภาพของคนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักในยามสงคราม...

การคัดค้านสงครามของผู้รักสันติภาพเป็นความผิด เป็นการก่อกบฏในสายตาของรัฐบาล  คร้ันแล้ว ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ตํารวจได้ทําการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ทนายความ นักศึกษา โดยต้ังข้อหาว่ารวมกันยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง อันเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งชื่อที่เรียกกันทั่วไปคือ “กบฏสันติภาพ”

ในจํานวนนี้มีนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อย่างคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์  แพทย์ผู้บําเพ็ญตนรักษาคนไข้ อย่างนายแพทย์เจริญ สืบแสง ฯลฯ

หลังจากนั้น 3 วัน ระหว่างที่ปาลซึ่งถูกเกณฑ์ทหารไปเมื่อเดือนเมษายนลาป่วยมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ตํารวจได้มาตรวจค้นและจับกุมปาล  ได้ตัวปาลแล้ว ยังได้หนังสือและนิตยสารที่ตีพิมพ์ในสหภาพโซเวียตติดไม้ติดมือไปฝากเจ้านาย  ปาลถูกนําตัวไปขังที่กองปราบฯ สถานีตํารวจสามยอด ก่อนที่จะควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนพลตํารวจในบริเวณกรมตํารวจปทุมวัน  ข้าพเจ้าพยายามทําจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกําลังใจให้ลูก  ครั้นตํารวจถอยกลับไป ข้าพเจ้าวิ่งขึ้นไปชั้นบน น้ําตาแห่งความเจ็บปวดไหลพรั่งพรูออกมา สุดที่จะต้านทานได้

ภัยการเมืองเข้าใกล้ตัวข้าพเจ้าทุกขณะ แต่ข้าพเจ้ามิเคยคิดว่า สักวันหนึ่งจะมาถึงตัวเอง

วันที่ 15 พฤศจิกายน ข้าพเจ้ามีกําหนดการไปเป็นเถ้าแก่ให้คุณศักดิชัย บํารุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) หมั้นหมายเครือพันธ์ ปทุมรส บุตรสาวคุณเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  งานจัดขึ้นที่บ้านพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี วณิกพันธ์) ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง

เมื่อทําพิธีหมั้นเสร็จแล้ว ขณะสนทนาทุกข์สุขกันอยู่ มีรถตํารวจแล่นเข้ามาในบ้าน นําหมายจับมาควบคุมตัวคุณเฉลียว  นายตํารวจคนหนึ่งหันมาทางข้าพเจ้า และถามว่าเป็นใคร ท้ัง ๆ ที่เขารู้จักข้าพเจ้าเป็นอย่างดี

เมื่อได้รับคํายืนยันจากเจ้าคุณนลฯ ว่า ข้าพเจ้าเป็นใครแล้ว เขาจะควบคุมตัวข้าพเจ้าไปกรมตํารวจ  เจ้าคุณนลฯ เป็นอดีตรัฐมนตรียุติธรรม มีความรู้เรื่องกฎหมายดี

“ไม่มีหมายสั่งจับ จะจับไปได้อย่างไร” เจ้าคุณนลฯ ถาม

พ.ต.อ. อัศนี ยิ่งกมล ยืนยันว่าได้เห็นหมายจับข้าพเจ้า และกําลังมีเจ้าหน้าที่ตํารวจอีกชุดหนึ่งไปจับข้าพเจ้าที่บ้านถนนสาทร

ข้าพเจ้าสูญสิ้นอิสรภาพ ณ บัดนั้น พ.ต.อ. อัศนี อนุญาตให้ข้าพเจ้านั่งรถส่วนตัวโดยมีตํารวจนั่งหน้ารถไปด้วย ก่อนที่ข้าพเจ้าจะขึ้นรถ ได้วานคุณศักดิชัยโทรศัพท์บอกคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรแท้ของข้าพเจ้า วานเธอช่วยดูแลการตรวจค้นที่บ้านถนนสาทร แต่เผอิญว่า วันน้ันคุณฉลบฯ ทําบุญเลี้ยงพระ ไม่สามารถมาที่บ้านถนนสาทรได้ทันที

ตํารวจพาข้าพเจ้าไปยังกองสันติบาล และให้ข้าพเจ้ายืนรออยู่หน้าห้องทํางานห้องหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังลั่นลอดบานประตูบังตาออกมา

“จับเอามาทําไม?”

แม้จะไม่เห็นตัวผู้พูด แต่ก็รู้ว่าต้องเป็นผู้เป็นใหญ่ในกรมตํารวจ คือ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตํารวจ เจ้าของคําขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตํารวจไทยทําไม่ได้”

ถ้าจะว่า “จับมาทําไม” ก็น่าที่จะให้ลูกน้องปล่อยตัวข้าพเจ้าทันที แต่การณ์หาเป็นเช่นน้ันไม่ ข้าพเจ้าถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หนักอึ้งและยิ่งรัดยิ่งแน่น เป็นเวลา 84 วันเต็ม

 

ถ่ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง ข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร
ถ่ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง ข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

 

ตํารวจนําข้าพเจ้ากลับมาที่บ้านถนนสาทร ก่อนถึงบ้านแวะรับลูกสองคนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

2 วันก่อนเมื่อตอนปาลถูกจับ บ้านถนนสาทรถูกรื้อถูกค้นไปทีหนึ่งแล้ว มาวันนี้ตํารวจรื้อค้นอีก ขณะเดียวกัน ตํารวจอีกชุดหนึ่งยังไปค้นบ้านป้อมเพชร์ด้วย ราวกับว่าจะหาเอกสารสําคัญ หรือจะหาใครที่หลบซ่อนให้ได้

ข้าพเจ้ายืนยันว่าจะนําลูกคนเล็กสองคนไปนอนที่สันติบาลด้วย เพราะที่บ้านไม่มีญาติผู้ใหญ่ดูแล

กลับมาที่กองสันติบาลอีกคร้ัง และอีก 2 วันต่อมา ข้าพเจ้าถูกนําตัวไปทําประวัติผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตํารวจจับหัวแม่มือข้าพเจ้าเรียงเรื่อยไปจนครบสิบนิ้วกดลงบนจานหมึกสีดํา ก่อนที่จะประทับลงในแผ่นกระดาษ

สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ตามที่ข้าพเจ้าทราบ “พวกนักโทษในข้อหาอุกฉกรรจ์ ต้องทําประวัติและพิมพ์ลายนิ้วมือ”

ข้าพเจ้าพยายามระงับเสียงสะอื้นให้ดังอยู่เพียงในอก นัยน์ตาเหม่อลอยไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมาย

“จะบ้าหรือ” เจ้าหน้าที่ตํารวจถามข้าพเจ้า

ไม่มีคําตอบจากข้าพเจ้า สงบนิ่งและเฉยเมย เพียงพอแล้วสําหรับคําถามที่หมิ่นหยาม ข้าพเจ้าค่อย ๆ ทบทวนตนเองว่าทําผิดอะไรหรือ ถึงถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

ข้าพเจ้าถูกนํามาคุมขังในห้องเดียวกับคุณนิ่มนวล ชลภูมิ ซึ่งถูกจับก่อนหน้าข้าพเจ้า 2 วัน ในข้อหา “กบฏสันติภาพ”

คุณทองเปลว ชลภูมิ สามีคุณนิ่มนวล เป็นดอกเตอร์ทางกฎหมายจากฝรั่งเศส ภายหลังได้ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคสหชีพ และเคยดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี  เมื่อขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ประสบความล้มเหลว รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ทําการกวาดล้างจับกุมผู้ก่อการฯ  คุณทองเปลวมิได้ร่วมการก่อการฯ หากอยู่ที่ปีนังเป็นเวลาหลายเดือน ตํารวจได้ส่งโทรเลขถึงคุณทองเปลวโดยใช้ชื่อคุณนิ่มนวลเป็นผู้ส่ง คุณทองเปลวจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันนึกว่าเป็นกลลวงของตํารวจ ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯ ก็ถูกจับกุม และต่อมา ถูกตํารวจสังหารโหดที่บริเวณบางเขนพร้อมอดีตรัฐมนตรีอีก 3 คน คุณถวิล อุดล  คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์  และคุณจําลอง ดาวเรือง

วันแรกในห้องคุมขัง ข้าพเจ้ามีเพียงเสื่อผืนใหญ่กับมุ้ง 1 หลัง นอนเบียดกันสามแม่ลูก หลังจากที่น้องสาวข้าพเจ้าจัดการให้ดุษฎีกับวาณีเข้าโรงเรียนประจําแล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทางบ้านเอาเตียงผ้าใบมาไว้นอน

การจับกุมยังดําเนินต่อไป และแยกการสอบสวนออกเป็นกลุ่ม ๆ มีกลุ่มสันติภาพ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มกู้ชาติ  พลทหาร ปาล พนมยงค์ อยู่ในกลุ่มกู้ชาติ  ส่วนข้าพเจ้าไม่ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มใด  การสอบสวนแม่ลูกไม่มีการเกี่ยวพันกัน จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดว่า แม่ลูกถูกจับในข้อหาเดียวกัน แต่ในสํานวนการสอบสวนไม่เกี่ยวกันเลย ไม่ทราบว่าคิดกบฏกันอย่างไร

อาจเป็น “เกียรติ” เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ข้าพเจ้าได้รับ นายตํารวจที่ทําหน้าที่สอบสวนข้าพเจ้า คือ พระพินิจชนคดี (เซ่ง อินทรทูต) นายตํารวจนอกราชการที่เชี่ยวชาญในการสร้างพยานเท็จกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 ผู้ซึ่งเป็นพี่เขยของ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

คงทราบประวัติของข้าพเจ้าแล้ว จึงไม่ได้สอบถามเพิ่มเติม

พระพินิจฯ ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้ข้าพเจ้าดู  “ยินดีช่วยเหลือ กําลังหาทางอยู่”

ข้าพเจ้ายอมรับว่าเป็นลายมือของข้าพเจ้าเองที่เขียนถึง พล.ร.ต. ทหาร ขําหิรัญ ก่อนหน้าท่านผู้นี้ถูกจับกุมในครั้งนี้ ท่านเป็นผู้มีพระคุณ เป็นเรื่องปกติวิสัยที่ข้าพเจ้าจะหาทางช่วยเหลือ ผิดตรงไหนหรือ

พระพินิจฯ ทําการสอบสวนข้าพเจ้าอีก 2-3 คร้ัง คําถามวกไปวนมาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า “นายปรีดีอยู่ที่ไหน”

ข้าพเจ้าก็อยากทราบเช่นกันว่า “นายปรีดีอยู่ที่ไหน” 3 ปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าวางแผนให้นายปรีดีหลบหนีจากเมืองไทยไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2492 ข้าพเจ้าขาดการติดต่อกับนายปรีดีโดยสิ้นเชิง

ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เดินเล่นตรงทางเดินหน้าห้องขัง หลังอาหารค่ำข้าพเจ้าออกมาเดินเล่นรับลมหนาวเสมอ และสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในกรมตํารวจ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มักต้อนรับแขกยามวิกาล  ในจํานวนน้ัน มีชาวผิวขาวสองคน คนหนึ่งข้าพเจ้ารู้จักดี เป็นชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยเมื่อครั้งเป็น O.S.S. และต่อมา องค์กรนี้ได้กลายเป็น C.I.A.  ส่วนอีกคนข้าพเจ้าไม่รู้จัก ต่อมาทราบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองสถานทูตอเมริกัน และเป็นคนคนเดียวกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลอเมริกันประจําเซี่ยงไฮ้ที่ขีดฆ่าวีซ่าผ่านแดนสหรัฐอเมริกาบนพาสปอร์ตของนายปรีดีเมื่อ พ.ศ. 2491

ชีวิตในที่คุมขังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเคยชินของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีนิสัยส่วนตัวตรงที่เป็นคนตื่นเช้า และต้องดื่มกาแฟทันที จึงให้นายเวียง คนขับรถ นํามาจากบ้าน แต่กว่าจะได้ดื่มกาแฟถ้วยแรกก็สายมาก ๆ ข้าพเจ้าชะเง้อมองลงไปดูข้างล่าง นายเวียงมาพร้อมกับกระติกกาแฟร้อน แต่ประตูเหล็กข้างล่างยังปิดสนิทอยู่ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่า นี่ถ้าเกิดไฟไหม้แล้วจะทําอย่างไร

ใกล้เที่ยง พี่ ๆ น้อง ๆ และญาติสนิทนําอาหารใส่ภาชนะน่ารับประทานมาเยี่ยม ตํารวจคุ้ยดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมซ่อนอยู่ในอาหารหรือไม่ อาหารที่น่ารับประทานกลายเป็นขยะในทันที

จมูกของข้าพเจ้าไม่สามารถสัมผัสกลิ่นของข้าวสวยที่หอมกรุ่น ลิ้นไม่สามารถพิสูจน์ความอร่อยของน้ําพริกปลาทู อาหารจานโปรด กอปรกับจิตใจที่พะวงถึงอนาคตของตนเองว่าจะถูกคุมขังอีกนานเท่าใด น้ําหนักตัวลดจาก 48 กิโลกรัม เหลือเพียง 42 กิโลกรัม  ความเครียดทําให้ความดันต่ำ มึนศีรษะบ่อย ๆ นพ.โกวิท อัศวนนท์ และ นพ.ทวี ตันติวงษ์ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจรักษาตามคําร้องของข้าพเจ้า

ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในที่จองจํา มี “ผู้หวังดี” ไปหามารดาข้าพเจ้า บอกว่า เขาสามารถนํากาแฟเข้าไปขายในห้องขัง และเต็มใจที่จะนําข่าวสารจากข้างนอกส่งถึงตัวข้าพเจ้า โดยไม่ต้องผ่านการตรวจตราของตํารวจ โชคดีว่า มารดาข้าพเจ้ามิได้หลงเชื่อใครง่าย ๆ

วันที่ 27 พฤศจิกายน ตํารวจได้นําข้าพเจ้ามาขออํานาจฝากขังต่อที่ศาลอาญา และทุก ๆ 12 วัน ข้าพเจ้าถูกนําตัวมาศาล ด้วยข้ออ้างของตํารวจว่า พยานที่รู้เห็นการกระทําของข้าพเจ้าอยู่ต่างประเทศมาให้การไม่ได้

 

พูนศุขถูกตำรวจคุมตัวกลับจากศาล
พูนศุขถูกตำรวจคุมตัวกลับจากศาล

 

อากาศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2495 หนาวจัดกว่าทุกปี งานรัฐธรรมนูญในปีนั้นจัดที่สวนลุมพินี

วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2496 เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 41 ปี ของข้าพเจ้า คุณแม่พร้อมญาติพี่น้องหลายสิบคน  คุณฉลบชลัยย์ กับบรรดาครู ร.ร.ดรุโณทยาน มาอวยพรข้าพเจ้าที่กองสันติบาล  นอกจากนี้ พระยาสุนทรพิพิธ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มาร่วมอวยพรด้วย  มีอีกท่านหนึ่ง แม้ว่าไม่ได้มาอวยพรวันเกิดข้าพเจ้า แต่ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้าที่กองสันติบาล มิได้หวั่นเกรงว่าจะกระทบกระเทือนตําแหน่งหน้าที่ทางราชการ ท่านผู้นี้คือ อาจารย์สนั่น สุมิตร ข้าราชการช้ันผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

ขนมเค้กวันเกิดตัดแบ่งกันรับประทานในหมู่ผู้ต้องหาหญิง และยังเผื่อแผ่ให้ตํารวจสันติบาลที่ควบคุมข้าพเจ้าด้วย  ข้าพเจ้าไม่ลืมตํารวจที่รักความเป็นธรรมและรู้สึกเห็นอกเห็นใจข้าพเจ้า ทั้งนี้พวกเขาจําต้องปฏิบัติไปตามหน้าที่

วันเวลาคืบคลานอย่างเชื่องช้า จนกระทั่งครบกําหนด 84 วันของ การขอฝากขังต่อศาล ตํารวจเสนอสํานวนการสอบสวนไปยังกรมอัยการ เพื่อให้ฟ้องข้าพเจ้าฐานกบฏ กรมอัยการพิจารณาแล้วว่าไม่มีหลักฐานที่จะฟ้องข้าพเจ้าฐานกบฏ  ในที่สุด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2496 ข้าพเจ้าได้รับอิสรภาพ ส่วนปาลกับผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพถูกอัยการฟ้องว่า เป็น “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

เจ้าหน้าที่ตํารวจเตรียมนําปาลขึ้นรถสองแถวไปคุมขังที่เรือนจําลหุโทษ ถนนมหาไชย ข้าพเจ้าตามขึ้นไปบนรถด้วย ตํารวจนายหนึ่ง หันมาบอกข้าพเจ้าว่า “ไปคุกนะ”

ข้าพเจ้าสวนตอบทันทีว่า “ไม่ต้องเอาคุกมาขู่ ปู่ฉันเป็นคนสร้างคุกนี้เอง”

ปู่ข้าพเจ้า พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) เป็นแม่กองก่อสร้าง และเป็นผู้บัญชาการคนแรกของทัณฑสถานแห่งนี้

ข้าพเจ้านั่งมาในรถกับปาลและผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพแล้ว ข้าพเจ้ามาส่งปาลได้แค่หน้าประตูเรือนจําลหุโทษ และเรือนจําแห่งนี้กับเรือนจําบางขวางได้คุมขังปาลกับผู้ร่วมชะตากรรมเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

เหตุการณ์ทั้งหลายที่ถาโถมเกิดขึ้นกับนายปรีดี กับข้าพเจ้า และกับลูกนั้น สุดที่ข้าพเจ้าจะอดทนอีกต่อไปได้  ข้าพเจ้ารู้สึกบอบช้ำทางจิตใจและร่างกายเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2496 ก่อนออกเดินทาง ข้าพเจ้าได้ไปลาปาล ที่ศาลอาญา

วันหนึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2498 ขณะนั้นข้าพเจ้าได้เดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกันกับนายปรีดีที่กรุงปักกิ่งแล้ว จําได้ว่าขณะเปิดวิทยุ All India Radio เสียงโฆษกวิทยุภาคภาษาฮินดี เอ่ยชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปาล พนมยงค์... ด้วยสําเนียงแปร่ง ๆ แบบชาวภารตะ ข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็รู้สึกตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก จนกระทั่งรายการภาคภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า ปาลถูกศาลอาญาตัดสินจําคุกเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งต่อมาได้รับการลดโทษลงเหลือ 13 ปี 4 เดือน

อีก 2 ปีต่อมา เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500 ปาลกับผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพก็ได้รับการพระราชทานนิรโทษกรรม

 

ที่มา: ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘กบฏ’,” พิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 กรกฎาคม, 30 กรกฎาคม, 6 สิงหาคม 2544.