ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

จุดเริ่มต้นชีวิตคู่ของ “ปรีดี-พูนศุข”

6
มกราคม
2564

“นายปรีดีไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสตอนฉันอายุเก้าขวบ” ท่านผู้หญิงพูนศุขให้สัมภาษณ์ด้วยรอยยิ้มเมื่อหวนรำลึกถึงความหลัง[1]

“นายปรีดีเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง สำเร็จวิชากฎหมายในหนึ่งปี แทนที่จะเป็นสองปีตามหลักสูตรการเรียนในสมัยนั้น พอสอบเสร็จ คุณพ่อพาไปพบเสนาบดียุติธรรมเวลานั้น คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) บอกว่าพาหลานชายซึ่งสอบได้เป็นเนติบัณฑิตเรียบร้อยแล้ว มาแสดงความเคารพ และนายปรีดีได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นวลา 7 ปี จนสำเร็จระดับ Docteur en Droit กลับมา แล้วมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ และเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมด้วย" [2]

 

พระยาชัยวิชิตฯ (ขำ) คุณหญิงเพ็งฯ กับลูกหลาน บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม พ.ศ. 2474
พระยาชัยวิชิตฯ (ขำ) คุณหญิงเพ็งฯ กับลูกหลาน
บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม พ.ศ. 2474

 

ท่านผู้หญิงพูนศุขเรียนถึงชั้น Standard 7 จึงลาออกจากโรงเรียนมาสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ คือ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 7 นายปรีดีเพิ่งรับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น รองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

เช้าตรู่วันที่ 16 พฤศจิกายน อันเป็นวันมงคลสมรส นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ สวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นป้ายสีเดียวกันตามสมัยนิยม เจ้าบ่าวสวมชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วง ถุงเท้าขาวรองเท้าดำ

พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาวที่เรือนหอ ซึ่งปลูกในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ทั้งถือโอกาสนั้นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ซึ่งเป็นเรือนหอด้วย

ในตอนเย็นมีฤกษ์รดน้ำ เจ้าสาวเปลี่ยนมาสวมเสื้อตัดด้วยผ้าลาเม่ ไม่มีแขน ติดช่อดอกไม้แห้ง นุ่งซิ่นสีน้ำเงิน ซึ่งคุณหญิงเพ็งเป็นผู้จัดหา แล้วให้พี่ ๆ น้อง ๆ ช่วยกันตัดเย็บ

ของชำร่วยในงานสมรสเป็นบุหงาในถุงแพรต่วนเย็บเป็นรูปต่าง ๆ คลุมด้วยลูกไม้ทองอย่างวิจิตร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร นับว่าเป็นสิริมงคลยิ่ง

สำหรับแขกราว 100 ท่านที่มาในงาน พระยาชัยวิชิตฯ เลือกแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีประวัติดี มีครอบครัวดี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว เท่าที่ท่านผู้หญิงจดจำรำลึกได้ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่มารดน้ำอวยพร มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับท่านผู้หญิงตลับ ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ เจ้าพระยายมราชเป็นผู้สวมมงคลและเจิมหน้าผาก แล้วยังมีพระองค์เจ้าธานีนิวัต ซึ่งต่อมาได้เลื่อนพระยศเป็นกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร กับหม่อมประยูร ธิดาเจ้าพระยายมราชที่เกิดจากคุณโต บุตรีอีกคนหนึ่งของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์)

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้รับแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรี บริหารราชการในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ที่คณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้สถาปนาขึ้น และได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 - เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 และเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตลอดเวลาที่ไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร

 

บุตรธิดาทั้ง 6 คนของครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข”
บุตรธิดาทั้ง 6 คนของครอบครัว “ปรีดี-พูนศุข”

 

ในงานมงคลสมรส หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ได้มอบสมุดลงนามให้เป็นของขวัญในยุคสมัยที่การเซ็นชื่ออวยพรในสมุดยังไม่แพร่หลายนัก พร้อมแต่งโคลงบทหนึ่งมอบให้ มีข้อความดังนี้

พูน เพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำ       ลือนาม
ศุข สบายภัยขาม                 คลาดพ้น
ปรี ดาอย่ารู้ทราม                จิตต์เสน่ห์
ดี จักมียิ่งล้น                        หากรู้จักกัน

หลังจากแต่งงาน นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขใช้ชีวิตที่เรือนหอที่ท่านเจ้าคุณชัยวิชิตฯ ปลูกให้ ส่วนอาหารการกิน ท่านทั้งสองขึ้นไปร่วมรับประทานกับบิดามารดาที่ตึกใหญ่ ในช่วงแรกที่ยังไม่มีบุตร ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ได้ชักชวนเพื่อนผู้หนึ่งที่เคยเรียนจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ไปสมัครเรียนภาษาฝรั่งเศส ที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทรใต้ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน

เพื่อนร่วมชั้นมีประมาณ 10 คน ที่นี่ท่านได้รู้จักเพื่อนใหม่จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรักอีกหลายคน เช่น คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล  คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์  และคุณจำกัด พลางกูร จากโรงเรียนเทพศิรินทร์  ส่วนครูผู้สอนชาวฝรั่งเศสรับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงยุติธรรม  ท่านผู้หญิงพูนศุขเรียนอยู่เกือบปีจึงหยุดเรียน เพราะมีบุตร แต่ว่างเว้นจากการเรียน 2-3 ปี เมื่อบุตรธิดาโตขึ้นก็กลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง บุตรธิดา 3 คนแรกของท่าน คือ ลลิตา ปาล และสุดา ถือกำเนิดที่เรือนหอหลังนี้

นายปรีดี พนมยงค์ อายุ 28 ปี รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (เทียบเท่ากรรมการกฤษฎีกาปัจจุบัน) และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 320 บาท และค่าสอนอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 10 บาท เมื่อนายปรีดีได้รับเงินเดือน ทุกเดือนจะมอบให้ท่านผู้หญิงพูนศุขทั้งหมด โดยไม่หักไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เนื่องจากนายปรีดีมีรายได้พิเศษจากการสอน และดำเนินกิจการโรงพิมพ์ “นิติสาส์น” มาตั้งแต่ก่อนแต่งงาน

โรงพิมพ์ออกวารสาร นิติสาส์น รายเดือน สำหรับผู้สนใจกฎหมายบ้านเมือง และพิมพ์หนังสือ ประชุมกฎหมายไทย เล่มที่ 1-12 อัตราค่าสั่งจองชุดละ 60 บาท ท่านผู้หญิงทำหน้าที่พิสูจน์อักษรและทำบัญชีการสั่งจอง รวมทั้งบรรจุหีบห่อส่งทางไปรษณีย์โดยวิธีส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง หนังสือชุดนี้เป็นที่ต้องการมาก ทำให้ท่านทั้งสองเก็บหอมรอมริบจนสามารถปลูกบ้านหลังใหม่ คือ “บ้านพูนศุข” ได้ในเวลาต่อมา

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหนึ่งนายปรีดีดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินเดือน เดือนละ 500 บาท ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับเงินเดือน เดือนละ 1,500 บาท ท่านได้มอบให้ท่านผู้หญิงพูนศุขทั้งหมดเช่นกัน เพื่อให้ท่านนำมาใช้จ่ายในฐานะแม่บ้าน เช่น ค่านมบุตร ค่าคนรับใช้และรายจ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เมื่อต้องการสิ่งใดจึงจะให้ท่านผู้หญิงจัดหาให้ บางเดือนท่านลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน ต่อมาท่านจึงให้เลขานุการนำมามอบให้ท่านผู้หญิงโดยตรง และปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมา

นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมในตำแหน่งกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนายปรีดีมอบให้ คุณปพาฬ บุญ-หลง ซึ่งทำงานที่สภาเป็นผู้รักษาไว้เพื่อใช้ในกรณีจำเป็น ส่วนเมื่อรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งนายปรีดีไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

ท่านผู้หญิงพูนศุขกับคู่ชีวิตของท่านดำรงตนอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อมาตั้งแต่แรกเริ่มชีวิตสมรส ดังนั้น ในกาลต่อมา เมื่อต้องประสบกับความผันผวนขึ้นลงของชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงยืนยันว่า วิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัว “พนมยงค์” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

ที่มา: ปรับแก้จากหนังสือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2550), น. 31-37.


[1] ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, ให้สัมภาษณ์ผู้เขียน เมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่บ้านซอยสวนพลู.

[2] อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์, ที่ระลึกเนื่องในมงคลวาร อายุ 80 ปี พลตรี พิบูลย์ จันทโรจวงค์, 10 กันยายน 2549, น. 18-19.