ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ความทรงจำเรื่องคุณป้าพูนศุข

14
มกราคม
2564

 

 

ประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อได้พบ

ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ที่ดิฉันรักใคร่และเคารพนับถือมากคนหนึ่ง ท่านเองก็เอ็นดูและรักดิฉันเหมือนลูกเหมือนหลาน ให้ดิฉันเรียกท่านว่าป้า

ดิฉันพบกับท่านผู้หญิงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1972 ในรถไฟจากลอนดอนไปยังดอนแคสเตอร์ ซึ่งดิฉันเดินทางไปงานประชุมของสามัคคีสมาคม  เมื่อขึ้นไปบนนั้น ได้ทราบว่า ดิฉันนั่งรถไฟขบวนเดียวกันกับท่าน จึงเดินตามหาท่านจนพบ  เมื่อได้พบแล้วจึงเข้าไปกราบท่าน บอกท่านว่า เราเป็นลูกเต้าเหล่าใคร  พอท่านทราบ ท่านก็ก้มลงกอดดิฉันด้วยความดีใจ เพราะท่านรักพ่อดิฉันมาก 

พ่อกับอาจารย์ปรีดี

พ่อดิฉัน (ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) เคยเป็นผู้ร่วมงานเสรีไทยด้วยกันกับอาจารย์ปรีดี เรียกกันได้ว่าเป็นมิตรแท้  หลังจากเสรีไทยจบแล้ว ก็ยังคงช่วยกันที่จะนำการปกครองแบบประชาธิปไตยมาสู่เมืองไทยอย่างแท้จริง แต่ก็ประสบความล้มเหลว 

สำหรับพ่อ ท่านบอกว่า ท่านเข้าใจและมองเห็นว่า อาจารย์ปรีดีทำงานเพื่อชาติแท้จริง โดยไม่เห็นประโยชน์ส่วนตัว พ่อก็เลยยินดีที่จะร่วมมือ เลยได้ใกล้ชิดกัน  ท่านบอกว่าลืมความหลังเสียก่อน  เมื่อก่อน (คือในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เราอยู่ตรงข้ามกัน พ่ออยู่ฝ่ายเจ้านาย ปรีดีอยู่ฝ่ายคณะราษฎร แต่ตอนหลัง (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) เรามีอุดมการณ์เดียวกัน ที่จะกอบกู้อำนาจอธิปไตยคืนมา

พ่อดิฉันเป็นเจ้าคนเดียวที่ยึดมั่นและประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เพราะฉะนั้น ท่านสนับสนุนอาจารย์ปรีดีเสมอ ท่านผู้หญิงถึงได้เอ็นดูดิฉันมาก เพราะว่าเป็นลูกพ่อ

แต่เมื่อท่านเลือกอยู่ข้างอาจารย์ปรีดีแล้ว พ่อกลายเป็นหมาหัวเน่าในหมู่เจ้านายด้วยกัน เขาหาว่ารักอาจารย์ปรีดีมากกว่าพระราชวงศ์

พ่อศึกษาเรื่องกรณีสวรรคต เห็นว่ามีความเป็นไปได้ 4 ประการ คือ (1) ถูกปลงพระชนม์  (2) ฆ่าตัวตาย  (3) อุบัติเหตุจากการเล่นปืนกับผู้อื่น และ (4) อุบัติเหตุโดยพระองค์เอง  พ่อไตร่ตรอง สืบสวนทุกอย่างแล้วก็สรุปว่าเป็น accident ขณะที่ท่านนอนอยู่พระแท่นบรรทมพระองค์เดียว เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นการวางแผนปลงพระชนม์ พ่อจึงต้อง defend อย่างสุดความสามารถ และจะประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดีไปจนถึงวันตายของท่าน และท่านเป็นเจ้าองค์เดียวที่เห็นว่า อาจารย์ปรีดีบริสุทธิ์  แม้จะมีเจ้านายองค์อื่นสมน้ำหน้าว่า ก็อยากจะมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำร้ายเจ้าทำไม ก็สมน้ำหน้าแล้วว่า ก็ถูกแล้วที่ถูกหาว่าเป็นคนวางแผนเรื่องปลงพระชนม์

ไปมาหาสู่กันเสมอ

เมื่อดิฉันเป็นอุปนายกและสภานายกสามัคคีสมาคม ก็ได้เชิญท่านมาร่วมงานประชุมสามัคคีสมาคมถึง 2 ครั้ง ในปี 1974 และ 1976 โดยเฉพาะครั้งหลัง เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลประกาศไม่ให้มีการชุมนุมคุยเรื่องการเมือง

นอกจากนั้น ฉันก็เคยไปเยี่ยมท่านและครอบครัวที่ปารีสหลายครั้ง โดยมากจะเป็นในวันเกิดอาจารย์ปรีดี คือ วันที่ 11 พฤษภาคม และครั้งสุดท้ายที่ได้ไปกราบท่านผู้หญิงที่ปารีส ก็คือเมื่อท่านอาจารย์ปรีดีถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหัน  ดิฉันเป็นผู้ที่ขอวีซ่าและช่วยจัดการ ให้ท่านปัญญานันทะเดินทางจากอังกฤษไปปารีส เพื่อจะไปเป็นประธานในงานฌาปนกิจของอาจารย์ปรีดี

เมื่อท่านผู้หญิงย้ายกลับมาเมืองไทยแล้ว ดิฉันจะได้พบท่านผู้หญิงในวันสันติภาพ 16 สิงหาคมของทุกปี  ทีแรกจะจัดงานที่โรงพยาบาลสงฆ์ และต่อมาก็จัดที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  วันสันติภาพนี้เป็นวันที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับท่านผู้หญิง และสำหรับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเป็นวันที่รำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยได้กลับคืนมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด

 

 

คนเก่ง คนกล้า

คุณป้าเคยเล่ามาว่า ทีแรก คุณป้าไม่ได้อยู่ขบวนการเสรีไทย เพราะอาจารย์ปรีดี เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ จนกระทั่งคืนหนึ่งท่านละเมอมากลางดึก ท่านผู้หญิงได้ถามว่า เธอละเมอเรื่องอะไร อาจารย์ปรีดีจึงต้องเล่าให้ฟัง และรับท่านผู้หญิงเข้าขบวนการเสรีไทย  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านผู้หญิงจึงเป็นคนช่วยเขียนรหัสและฟังข่าววิทยุสัมพันธมิตรเพื่อมารายงานอาจารย์ปรีดี  เพราะฉะนั้น ท่านเคียงบ่าเคียงไหล่ ทำงานสำคัญนี้ด้วยกัน ในยามที่บ้านเมืองคับขัน

ต่อมาในช่วงที่อาจารย์ปรีดีประสบความล้มเหลวในขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ท่านต้องเดินผ่านป่าช้าคนเดียว เพื่อไปหาอาจารย์ปรีดีในขณะที่อาจารย์ปรีดีหลบซ่อนอยู่ที่ฝั่งธนบุรี  และท่านยังเป็นผู้วางแผนพาอาจารย์ปรีดีหลบหนีด้วยเรือลำเล็ก ๆ สู่น่านน้ำสากล จนได้ลี้ภัยการเมืองไปประเทศจีน

ครั้นถูกกล่าวหาในคดีกบฏสันติภาพ ท่านก็เดินขึ้นศาลด้วยท่าทางสง่างาม เดินไปเพื่อจะฟังศาลสั่งขังท่าน และท่านก็พูดว่า “ฉันไม่กลัวคุก ปู่ฉันเป็นคนสร้างคุกเอง” หลังจากที่ท่านถูกขังได้ 84 วัน ท่านก็ได้รับอิสรภาพ  84 วันในห้องขัง แม้ท่านจะสูญเสียอิสรภาพ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ท่านไม่เคยหลั่งน้ำตา แสดงความอ่อนแอให้ฝ่ายอธรรมเห็น ท่านเชื่อมั่นในพุทธพจน์ว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

เมื่อได้รับอิสรภาพ ท่านผู้หญิงต้องจากปาล ลูกชายคนโต ซึ่งถูกจับเรื่องกบฏสันติภาพเหมือนกัน ตอนนั้นเขายังอายุไม่ถึง 20 ปี ภาพที่ท่านลาปาล เป็นภาพที่ปาลกราบท่านแทบเท้า และท่านก็สวมกอดปาลอย่างสุดรัก สุดอาลัย เป็นภาพที่สุดแสนจะเศร้า นึกถึงทีไรก็น้ำตาซึม แต่ท่านก็จำเป็นต้องจากไป เพื่อจะพาดุษฎีและวาณีไปหาท่านปรีดี หลังจากที่ได้พลัดพรากจากกันเป็นเวลาถึง 5 ปี

ท่านร่วมทุกข์ร่วมสุขกับอาจารย์ปรีดีในต่างแดน คือ ประเทศจีนเป็นเวลา 15 ปี และต่อไปในฝรั่งเศสที่ชานเมืองปารีส 13 ปี ชีวิตแต่งงานยาวนานถึง 54 ปี เมื่ออาจารย์ปรีดีถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ท่านไม่ได้ร้องไห้ตีโพยตีพาย เพียงแต่รำพึงว่า “เธออย่าเพิ่งทิ้งฉันไป” ศพของอาจารย์ปรีดี จัดวางไว้บนเตียงในห้องนอน ท่านผู้หญิงลงมานอนบนพื้นในห้องเดียวกันอยู่หลายวันจนถึงวันบรรจุศพ เพื่อนำไปทำพิธีฌาปนกิจ

หลังจากนั้นจะมีการวางพุ่มในงานวันปรีดี 11 พฤษภาคม ที่หน้ารูปปั้นของท่านประศาสน์การ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  งานนี้ท่านไม่เคยขาดจนปีสุดท้ายที่ท่านไม่สบาย วันที่ 10 พฤษภาคม เข้าโรงพยาบาลแต่แล้วท่านก็ถึงแก่กรรมในดึกคืนวันที่ 11 ซึ่งเป็นวันเกิดของอาจารย์ปรีดีนั่นเอง

แบบอย่างแห่งความดีงาม

นอกจากความกล้าหาญ ความอดทน  คุณป้ายังมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง  ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นท่านผู้หญิง แต่นามบัตรท่าน ท่านจะเขียนว่า “พูนศุข พนมยงค์” เฉย ๆ ท่านไม่เคยถ่ายรูปเต็มยศ ใส่สายสะพาย ไว้ให้ใครชม

คุณป้ายังยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรม ท่านมีความเชื่อมั่นที่จะปกป้องในความบริสุทธิ์ของ 3 คนที่ถูกประหารชีวิตในคดีสวรรคต เป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจท่านตลอดเวลา

ท่านจะคุยกับฉันเรื่องนี้มาก เพราะฉันเป็นญาติกับนายชิต สิงหเสนี หนึ่งในผู้ที่ถูกประหาร และท่านเองก็สนิทสนมกับครอบครัวคุณเฉลียว ปทุมรส เป็นอย่างมาก  เพราะฉะนั้นท่านก็มักจะมาคุยว่าจะให้ทำอย่างไร จะให้ความบริสุทธิ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นได้  ท่านพิมพ์หนังสือให้เมื่อครั้งตอนเผาศพชิต สิงหเสนี (อ่านตัวเล่มได้ที่นี่) นอกจากนั้น ท่านก็จะพูดคุยอยู่กับลูกสาวคุณเฉลียว และคุณศักดิ์ชัยอยู่เป็นนิจ

สิ่งที่ประทับใจดิฉันมากอีกสิ่ง คือ ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ประพฤติตัวอยู่ในธรรมะ อยู่ในเจตนารมณ์บริสุทธิ์ อโหสิกรรมกับทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านไม่ถือโกรธแค้นใคร  ดิฉันไม่เคยได้ยินท่านพูดปรารภว่าโกรธแค้นใครเลยที่ทำร้ายต่อท่าน ทำร้าย หรือต่ออาจารย์ปรีดี ท่านอโหสิกรรมต่อทุก ๆ คนและทุก ๆ สิ่ง

ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ

ถ้าเกิดคุณป้าพูนศุขยังอยู่ ก็คงจะสนับสนุนฝั่งนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย ในการให้เผด็จการจบสิ้น ให้มีการยุติธรรม ความสัจจริงเกิดขึ้นในสังคม

ท่านและครอบครัวของท่านทุกคนยึดหลักการประชาธิปไตยที่สุด และต่อต้านเผด็จการอย่างถึงที่สุดเช่นกัน  และอยากจะเสริมว่า ตอนที่อาจารย์ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นอยู่เพียง 6 เดือนเท่านั้น สำหรับฉันคิดว่า นั่นคือยุคทองของประเทศไทย

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ท่านและพ่อตื่นเต้นมากที่จะจัดให้มีการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จัดให้มีการเลือกตั้ง  จนเมื่อคุณควง อภัยวงศ์ แพ้เสียงในสภา อาจารย์ปรีดีจึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และงานสำคัญของท่าน คือ การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489

หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ออก อาจารย์ปรีดีเป็นนายกฯ นั่นคือยุคทอง และวันทองสำหรับดิฉัน  แต่น่าเสียดาย เมื่อเกิดเสียงปืนดังลั่นในพระที่นั่งบรมพิมาน วันที่ 9 มิถุนายน 2489 นั่นล่ะค่ะ สำหรับฉันเป็น The end of democracy in Thailand 

 

 

สุดท้ายนี้ ฉันขอจบด้วย จดหมายที่อาจารย์ปรีดีเขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2512 สองอาทิตย์ก่อนวันแต่งงานครบ 41 ปี  ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายนี้ความว่า… “น้องต้องพลอยรับลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องไม่ได้เสื่อมคลายในความรัก และเห็นใจพี่ตลอดมา น้องมิเพียงเป็นแต่ภรรยาที่ดีเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด น้องอุทิศตนและเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และราษฎรไทย ขอให้เราได้อยู่ร่วมกันโดยปลอดภัยในไม่ช้า” จดหมายนี้ที่แสดงถึงความรักผูกพันอันลึกซึ้งที่สองท่านมีต่อกัน

 

ที่มา: เรียบเรียงจากงาน PRIDI Talks ครั้งที่ 8 “บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ” เนื่องในวาระครบรอบ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 ซึ่งมีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ) ประกอบไปด้วย

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ)

1. เสื้อยืด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” มูลค่า 350 บาท

2. หนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 300 บาท

3. หนังสือ “หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 500 บาท

สั่งซื้อได้ทาง https://shop.pridi.or.th/th