ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

3 เสาหลักของรัฐธรรมนูญที่ “ก้าวหน้า”

17
มีนาคม
2564

 

 

ผมเชื่อว่าทุกๆ ท่านที่มารวมตัวอยู่ตรงนี้ มีความเชื่อเหมือนกันกับผมที่ว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหา และเป็นอุปสรรคต่อการได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”

ถ้าเราเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 60 นั้นมีปัญหา แล้วคำตอบปลายทางของรัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า มีคำตอบอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นร่วมกันว่าปลายทางที่เรากำลังเดินไปสู่คืออะไร และเผื่อเป็นการใช้คำตอบตรงนี้เพื่อพูดโน้มน้าวคนที่กำลังลังเลอยู่ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

เราจะมาพูดถึงกระบวนการระหว่างทางที่เกิดขึ้นในรัฐสภาก็ดี หรือบนถนนก็ดี เหล่านั้นจะสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายปลายทางได้หรือไม่ หรือว่ายังมีกับดัก อุปสรรคอะไรที่ระบอบคสช. วางไว้ ทำให้เราไม่สามารถไปสู่ปลายทางนั้นได้

ขอเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า 3 เสาหลักของรัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า หรือรัฐธรรมนูญที่เพอร์เฟกต์ จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องมี 3 ก้าวด้วยกัน

 

 

ก้าวที่หนึ่ง ต้องพาสังคมให้ก้าวพ้นวิกฤต นั่นหมายความว่า ในประเทศที่มีคนหลายสิบล้านคนนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความคิดเห็นเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เรามีกติกาที่สูงสุดของประเทศที่เป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายในสังคมจริงๆ เพื่อที่ว่าถ้ามีการเลือกตั้ง หรือถ้ามีคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง อย่างน้อยเรายอมรับกติกา ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เราเห็นว่าการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม และยอมรับกติกาที่ถูกสร้างขึ้นมา และ ถ้าจะให้ประชาชนทุกฝ่ายในสังคม ยอมรับในกติกานั้นได้ ประชาชนทุกฝ่ายต้องมีส่วนในการสร้างกติกานั้นขึ้นมา

อย่างเช่น ถ้าเรามีทีมฟุตบอล แล้วมีกติกาหนึ่งที่ได้ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อจะให้ทีมๆ หนึ่งชนะตลอด คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้กติกานี้เป็นที่ยอมรับในสังคมและได้ฉันทามติร่วมกัน

เพราะฉะนั้น การที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับต่อทุกฝ่ายในสังคมร่วมกัน ไม่เพียงแต่จะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแต่ว่าจะไม่ทำให้เป็นเงื่อนไขของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตด้วย

ก้าวที่สอง ก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นขั้นที่อาจจะยากขึ้นมากว่าการที่มีรัฐธรรมนูญที่ทุกคนนั้นยอมรับ เพราะเชื่อว่าทุกคนไม่ได้ฝันหรือยอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นนอกจากกระบวนการที่มาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว เราจำเป็นต้องยืนหยัดว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นที่จะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล

ที่ต้องใช้คำว่า “มาตรฐานประชาธิปไตยสากล” ก็เพราะว่าเราเห็นหลายครั้งที่คำว่า “ประชาธิปไตย” มักถูกมาใช้ครอบงำเนื้อหาที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ถ้าเราไปดูการจัดลำดับ Democracy Index หรือ ดัชนีประชาธิปไตย โดยจะมีการเรียงลำดับประเทศจากความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดจนถึงต่ำสุดจาก 167 ประเทศทั่วโลก

2 ประเทศที่อยู่อันดับท้ายสุดคือประเทศเกาหลีเหนือ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) และ République Démocratique du Congo (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ในชื่อ การแค่เขียนลงไปว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่เพียงพอ เรายังต้องมาวิเคราะห์ด้วยว่าการออกแบบโครงสร้างรัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่

ก้าวสุดท้าย ก้าวที่สาม ก้าวทันโลกแห่งอนาคต เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญสามารถออกแบบโครงสร้างรัฐที่มีความคล่องตัวว่องไว ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และสามารถก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ไม่ใช่ว่าพอมีวิกฤตอะไรเข้า พอจะทำอะไรก็ไปติดอุปสรรคทางกฎหมาย หรือ ข้อบังคับต่างๆ

3 เสาหลักของรัฐธรรมนูญที่ “ก้าวหน้า”

ก้าวที่หนึ่ง “ก้าวพ้น” จากวิกฤต

 

และถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับของทุกฝ่าย จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เราจะเห็นเลยว่ารัฐธรรมนูญ 60 ตกม้าตายตั้งแต่ด่านแรก เพราะว่า ถ้าเราต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เราก็ควรจะให้ประชาชนที่ถูกบังคับใช้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นมาด้วย

เราย้อนไปกลับไปดูการร่างรัฐธรรมนูญ 60 ในช่วงปี 2557-2559 จะเห็นว่าประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญถูกร่างด้วยคนในระบอบคสช. ไม่ได้มีการเปิดกว้างให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็น ยิ่งไปกว่านั้นเจตนาของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ 60 นั้น ไม่ได้ต้องการให้มีกติกาที่เป็นกลาง ตอนแรกคสช. เข้ามาร่างและพยายามวางตัวเป็นกรรมการ หลังจากร่างเสร็จและรัฐธรรมนูญคลอดออกมาแล้ว ตัวเองก็กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่น จนหัวหน้าคสช. ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

เราเห็นสมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐคนหนึ่งที่ตอนนี้ได้กลายไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ออกมาพูดอย่างไม่เกรงกลัวว่า “รัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรา” เพราะฉะนั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของก้าวแรกคือกติกานี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นกลางหรือมีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายทางการเมือง ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากเจตนาที่ไม่เป็นกลางแล้ว เรายังเห็นถึงกระบวนการได้มาซึ่งไม่เป็นกลางด้วย

หลายคนยังคงอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 60 ผ่านประชามติมาแล้ว คุณอ้างไม่ได้หรอกว่าประชาชนไม่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมี 16 ล้านคนไปลงคะแนนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559

 

 

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูการจัดประชามติในปี 59 เราจะเห็นว่าไม่ได้มีการจัดทำประชามติอย่างเสรีหรือเป็นธรรม ไม่ได้เป็นประชามติที่มีการส่งข้อมูลอย่างกว้างขวาง หรือ เปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือว่าคัดค้าน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสนามที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย เพราะในขณะที่ฝ่ายที่รณรงค์เห็นชอบรัฐธรรมนูญ 60 เรียกว่ามีหนังสือสรุปข้อดีของรัฐธรรมนูญส่งตรงถึงบ้านทุกคน แต่ฝ่ายที่ออกมาคัดค้านหรือรณรงค์ไม่ให้รับร่าง รวมถึงคุณไผ่ ดาวดิน ก็ถูกจับกุมในวันนั้น

เพราะฉะนั้น สำหรับรัฐธรรมนูญ 60 เรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย คือประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้มีเจตนาที่ต้องการจะออกแบบกติกาที่เป็นกลาง แต่มีเจตนาจะออกแบบกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจคสช. และมีกระบวนการประชามติที่ไม่เป็นกลาง

ก้าวที่สอง “ก้าวสู่” ประชาธิปไตย โดยยึดหลักประชาธิปไตยสากล

นอกจากเราจะก้าวพ้นวิกฤตไปได้แล้ว เรากำลังก้าวสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ เราจะเห็นว่า ในเวลาที่เราพูดถึง “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ” จะมี 2 องค์ประกอบสำคัญ

1) จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

 

 

ถ้าเราไปดูถึงความสามารถของรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ในความสามารถที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราจะเห็นว่ามีหลายอย่างที่ยังขาดตกบกพร่อง ถ้าเราไปอ่านแต่ละมาตราในรัฐธรรมนูญ 60 เราจะเห็นว่า ยังมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่กำลังถดถอย

รัฐธรรมนูญ 50 เคยเขียนเอาไว้ว่า “บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม” ส่วนในรัฐธรรมนูญ 60 เขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข” โดยไม่มีคำว่า “เสมอกัน” “มาตรฐานและเหมาะสม” จะเห็นว่ามีความถดถอยในรายละเอียดต่างๆ ที่ทำให้การรับบริการและสิทธิเสรีภาพบางอย่างของประชาชนถดถอยลง

ยิ่งไปกว่านั้นมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่ถอดออกจากรัฐธรรมนูญเลย ในรัฐธรรมนูญ 40 เคยมีสิทธิเสรีภาพในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อไปกระตุ้นให้รัฐมีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ หรือพยายามออกมาตรการให้อากาศนั้นสะอาด เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่รัฐธรรมนูญ 60 ได้เอาข้อนี้ออกไป

นอกจากจะมีความตกหล่น บกพร่องในรายละเอียดบางอย่างแล้ว เรายังเห็นสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่ยังถูกเขียน ไม่ได้ถูกคุ้มครองในเชิงปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญ 60 เขียนอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นแต่ทำไมการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความสุจริต กลับมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งที่จริงควรจะครอบคลุมแค่เรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายไปจับผิดเขา

และท้ายสุดนอกจากจะถดถอยในรายละเอียดแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองได้จริงในเชิงปฏิบัติ รัฐธรรมนูญ 60 ยังคงไปเพิ่มข้ออ้างให้กับรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน สมัยก่อนถ้ารัฐต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐจะต้องชี้ให้เห็นว่า การกระทำของเราไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แต่มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ 60 มีส่วนที่เพิ่มเข้าไปว่า ถ้าการกระทำของเราไปกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยนั้น รัฐมีเหตุผลหรือข้ออ้างเพิ่มเติมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเรา แค่พูดว่าความมั่นคงหรือความสงบ “ผมว่าเราทุกคนจะนึกถึงแค่บุคคลคนเดียวที่ผูกขาดการตีความมาตลอดในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา”

2) ความบกพร่องที่ 2 ในเรื่องของการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ คือการวางความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ 

 

 

หลักประชาธิปไตยพื้นฐาน ในเมื่ออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน นั่นหมายความว่าเมื่อมีสถาบันหรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่ถูกต้องขึ้นมาที่จะมาใช้อำนาจแทนประชาชน จะต้องมีความสอดคล้องระหว่างอำนาจและที่มา หมายความว่า ถ้าสถาบันทางการเมืองจะมีอำนาจสูงก็ต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนสูงด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสภาผู้แทนราษฎร ในเมื่อมีที่มาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนควรมีอำนาจหน้าที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น

แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 60 ทำ คือ การไปเพิ่มอำนาจของ 4 กลไก หรือ 4 องค์กร ที่ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน

องค์กรที่ 1 คือ วุฒิสภา เราเห็นการขยายอำนาจของวุฒิสภาอย่างมหาศาล และความถดถอยของที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน เราเห็นสว. ไม่เพียงแต่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ถ้าคิดเป็นคณิตศาสตร์แล้ว ค่าเสียงของคณะกรรมการสรรหาสว. 1 คน มีค่าเสียงเท่ากับประชาชน 1.9 ล้านคนรวมกัน นอกจากอำนาจเลือกนายกฯ แล้ว สว.ยังมีอำนาจในการร่วมพิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ อำนาจในการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน

แต่ในขณะที่อำนาจเยอะขนาดนี้ เรากลับเห็นว่าสว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากสว.มาจากการเลือกตั้ง เรายังอาจพอรับได้ เพราะอำนาจที่มานั้นมาจากประชาชน แต่สว. เหล่านี้ที่ถูกแต่งตั้งทั้งหมด 250 คนและถูกจิ้มโดยคนของคสช. มีการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 10 คน โดยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาทเพื่อได้คำตอบว่า 3 ใน 10 คนนั้นเลือกพี่น้องขึ้นมานั่งเป็นสว. อีก 6 ใน 10 เลือกตัวเองขึ้นมานั่งเป็นสว. นี่เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนมากที่จะสอนนักเรียนนักศึกษาได้ถึงความหมายของคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

องค์กรที่ 2 ที่ไม่ได้มาจากการยึดโยงของประชาชน แต่ได้มีการขยายอำนาจ คือ เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระ ซึ่งที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ถดถอยในรัฐธรรมนูญ 60 ก็คือคนที่มีอำนาจในการรับรองรายชื่อกรรมการองค์กรอิสระทุกคนก็คือสว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยคสช. ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในมาตรา 219 ที่สามารถกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมให้กับทุกคนได้ ซึ่งผิวเผินแล้วอาจจะฟังดูไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่เราสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าถ้ามีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับคสช. เข้ามาสู่อำนาจ อาวุธนี้จะถูกหยิบยกมาใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

สถาบันหรือองค์กรที่ 3 ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมา หรือว่ามีการเพิ่มอำนาจเข้าไปคือ ยุทธศาสตร์ชาติ  คุณบรรยง พงษ์พานิช ได้เคยกล่าวสั้นๆ ไว้ว่า “ทำตามก็พัง ไม่ทำตามก็ผิด” นั่นหมายความว่าไอเดียของการพยายามจะวางแผนอนาคต 20 ปี มันอาจจะเป็นกระบวนการที่เสียเวลา เพราะว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น มันกลายเป็นว่าถ้านักการเมืองกลุ่มไหนขึ้นมาบริหารประเทศ แล้วดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถโดนเล่นงานได้

สุดท้าย เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงบนท้องถนนและกลุ่มผู้ชุมนุมนั่นคือการขยายพระราชอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 1 หมวด 2 ที่ถูกแก้ไขหลังจากการที่รัฐธรรมนูญนั้นผ่านประชามติไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาในเรื่องของการที่จะพยายามนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล

ก้าวสุดท้าย “ก้าวทัน” โลกอนาคต ออกแบบรัฐให้คล่องตัวและว่องไว

 

ข้อที่ 1 รัฐธรรมนูญที่กระชับ 

เราจะเห็นว่ามีหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 นั้นอาจจะไม่สามารถรองรับได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่รวดเร็วขึ้น แต่สิ่งที่เหมือนจะสวนทางกับความเป็นจริงคือ เรามีรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุด ฉบับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญทั่วโลก 

 

 

เมื่อรัฐธรรมนูญมีความยาว เพราะบรรจุรายละเอียดเรื่องนโยบายลงไป รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกครอบงำในสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เมื่อรัฐบาลอาจจะคิดนโยบายที่สร้างสรรค์ เป็นนโยบายแบบใหม่ แต่กลับไม่ตรงกับสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจดำเนินการตามนโยบายนั้นได้ ถึงแม้จะมีประโยชน์กับประชาชน

ข้อที่ 2 หลักประกันสวัสดิการ 

เราเห็นถึงสภาพของความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนมีความเปราะบางขึ้น อย่างที่เห็นได้ชัด คือ การเข้ามาของวิกฤต COVID-19 ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำลงไปเรียกว่าช่วงข้ามคืนเลยก็ว่าได้

เพราะฉะนั้น แทนที่รัฐธรรมนูญจะมีความถดถอยในการวางสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญควรจะมีความก้าวหน้าขึ้นในการวางสวัสดิการใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ถ้าเรายังมองเห็นการเข้าสู่โลกออนไลน์ การเข้าสู่การเรียนรู้ออนไลน์ การเข้าสู่ข้อมูลต่างๆ ทางออนไลน์ มีความสำคัญมากขึ้นต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ทำไมไม่มีการรับประกันหลักหรือสิทธิในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐมีความพยายามและมีหน้าที่ในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เนตได้ เหมือนที่ประเทศเม็กซิโกนั้นทำ โดยการบรรจุสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เนตเข้าไปในรัฐธรรมนูญ

ข้อที่ 3 หลักประกันการกระจายอำนาจ 

 

 

ที่เราเห็นทิศทางของความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทย ก็คือความสำเร็จของการกระจายอำนาจ เราต้องยอมรับว่าความสำเร็จของการควบคุมโรคระบาดในระลอกแรก ส่วนหนึ่งมาจากเครือข่ายของอสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นสัญญาณที่เห็นชัดว่า ถ้าคุณกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่สามารถดำเนินการด้วยตัวเขาเองได้ เพราะเขาเข้าใจในบริบทตรงนั้น จะสามารถทำให้มีความสำเร็จยิ่งขึ้นไปได้

แต่แทนที่รัฐธรรมนูญ 60 จะมองเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจตรงนี้ รัฐธรรมนูญ 60 กลับไปลดความสำคัญของการกระจายอำนาจลง ไม่ได้มีการวางหลักประกันว่าองค์กรการปกครองแบบพิเศษจะต้องมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 40 ถึงการกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว

นี่คือ 3 ก้าวที่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่สามารถพาเราก้าวพ้นจากวิกฤตได้ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่สามารถพาเราก้าวไปสู่ประชาธิปไตยตามหลักสากลได้ และไม่สามารถก้าวทันโลกแห่งอนาคต

วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน 

 

 

กับดักที่เราเจอในปัจจุบัน เรากำลังถูกบีบให้เลือกระหว่างการร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือ การแก้ไขรายมาตรา เราจะเห็นว่าวาทกรรมนี้ถูกใช้มาตลอดในการพยายามบอกว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างใด

ผมอยากจะรณรงค์ให้ทุกคนเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกสองสิ่งนี้ และสองสิ่งนี้ต้องทำควบคู่กันไป และคู่ขนานกัน นั่นเป็นเพราะว่า ถ้าเราบอกว่าร่างใหม่ทั้งฉบับเพียงพอโดยที่ไม่ต้องแก้ไขรายมาตรา เราจะเห็นว่ากระบวนการร่างใหม่นั้นใช้เวลานาน กว่าจะมีประชามติ 2 ครั้ง อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี นั่นหมายความว่าถ้าเราได้ร่างฉบับใหม่ขึ้นมา ระหว่างทางมีการยุบสภา หรือมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เรายังจะอยู่ภายใต้กติกาเดิมคือมีสว. 250 คนนั้นมาเลือกนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้น ในมุมนี้จะแก้ไขทั้งฉบับโดยไม่แก้ไขรายมาตราไปด้วยย่อมไม่ได้ แต่ทางเดียวกัน ถ้าเราจะแก้ไขรายมาตราโดยที่ไม่สนใจว่าจะร่างใหม่ทั้งฉบับ สิ่งที่เห็นเกิดขึ้นก็คือว่าในหลายๆ มาตรากำลังมีปัญหามาก และ มีความสัมพันธ์กัน มีความพัวพัน และมีความซับซ้อน และยิ่งไปกว่านั้นในเมื่อรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มีที่มาหรือว่ากระบวนการที่เปิดให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ประชาชนจึงรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาไม่ได้ต้องการให้มีคนเข้ามาแล้วซ่อมแซมบ้านให้กับเขา แต่เขาต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นทั้ง 2 สิ่ง ต้องทำควบคู่ไปด้วยกันและทันที

กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ: 5 ด่านที่ต้องฝ่าฟัน

ด่านแรกคือ ศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งความจริงจะต้องมีการจัดประชามติหลังวาระที่ 3 อยู่แล้ว นั่นก็คือการถามประชาชนอยู่แล้วว่าต้องการจะรับรองร่างแก้ไขที่จะมีการตั้งส.ส.ร. ขึ้นมาหรือไม่ และทั้งนี้มีการคิดเผื่อเพื่อตั้งรับกับการต่อสู้ของคสช. ซึ่งอาจจะมีข้ออ้างขึ้นมา ซึ่งทางคสช. อาจจะมีข้ออ้างว่า การโหวตรับหลังวาระที่ 3 ในประชามติว่าจะรับร่างแก้ไขหรือไม่ คนละอย่างกับการรับหลักการว่าควรจะมีร่างฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเป็นการรับร่างแก้ไขที่ระบุไปแล้ว ว่าจะต้องมีส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ห้ามแตะมาตรานี้หรือหมวดนั้น

 

 

เพราะฉะนั้น ถึงคุณจะไม่ยอมรับว่ามันเป็นคำถามเดียวกัน เพราะคุณบอกว่ามันคือ 2 คำถาม คือคำถามว่า จะรับร่างแก้ไขที่ระบุรายละเอียดที่ผ่านรัฐสภา บวกกับการรับหลักการว่าจะร่างฉบับใหม่ คุณสามารถเติมคำถามพ่วงเข้าไปได้ คำถามแรกคือ “รับร่างแก้ไขหรือไม่ที่ผ่านสภามา” คำถามที่สองคือ “เห็นด้วยหรือไม่กับหลักการว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” และจัดประชามติวันเดียว ไม่ต้องเพิ่มเวลา และไม่มีเหตุผลใดที่จะยื้อกระบวนการ

ด่านที่สองที่จะต้องเจอ คือ สว. ในวาระที่ 3 

 

 

ข้ออ้างของสว. ที่เริ่มจะมีการพูดถึงแล้วที่จะมาคว่ำร่าง คือ

ข้ออ้างที่ 1 อาจจะมีการหยิบยกอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่เราสามารถแก้ไขได้โดยการทำประชามติครั้งเดียวสองคำถาม อีกข้ออ้างที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาคือการร่างฉบับใหม่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม นี่เป็นข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่สมัยร่าง iLaw เข้าสู่สภาในเดือนพฤศจิกายนแล้ว และมีนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดว่า ถ้าคุณอยากจะปิดปม คุณสามารถไปแปรญัตติในวาระที่ 2 ได้ แต่สว. เลือกที่จะเงียบ และไม่พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเลย และมารอพูดหลังจากผ่านวาระที่ 3 นี่เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของสว. ในการแก้รัฐธรรมนูญ

ข้ออ้างที่ 3  คือ การร่างฉบับใหม่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เพราะว่า ถึงแม้เราจะมีการล็อคหมวด 1 หมวด 2 แล้ว มันมี 38 มาตราในหมวดอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ก็ต้องยืนยันกลับไปว่า ถึงแม้จะมีการแก้ไขหมวด 1 หรือ หมวด 2 ได้ ก็ไม่สามารถล้มล้างการปกครองได้ และตั้งแต่รัฐธรรมฉบับ 40 50 จนถึง 60 ในความเป็นจริง หมวด 1 และ หมวด 2 ถูกแก้ไขมาตลอด 

 

 

ถึงแม้จะผ่านสว. ในวาระ 3 ไปแล้ว ก็ต้องเจออีก 3 ด่าน ไม่ว่าจะเป็น ‘ด่านประชามติ’ ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า ประชามติจะเหมือนกับปี 59 หรือไม่ จะเสรีหรือเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายหาเสียงหรือไม่ ผ่านประชามติไปแล้ว ต้องลุ้นต่ออีกว่า ‘ระบบเลือกตั้งสสร. 200 เขต’ จะทำให้เรามีผู้แทนที่หลากหลายเข้าไปนั่งอยู่ในส.ส.ร. หรือไม่ และด่านที่ 5 ที่ยังคงต้องลุ้นอีกว่า ถ้าเรามีส.ส.ร. 200 คนเข้าไปแล้ว ในเมื่อมีการล็อคไม่ให้พิจารณาหมวด 1 หมวด 2 ได้ ซึ่งส.ส.ร. นั้นควรจะเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความฝันของทุกคนเข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาฉันทามติ ถ้าคุณไปปิดกั้นให้ความฝันของคนบนท้องถนนไม่สามารถเข้ามาถูกพิจารณาได้ มันจะถูกแก้วิกฤตทางการเมืองได้หรือไม่

 

 

ไม่ว่ากระบวนการร่างฉบับใหม่กับ 5 ด่านนี้ เราจะสามารถฝ่าฟันไปได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เราต้องอย่าลืม คือ ระหว่างทางเราต้องแก้รายมาตราด้วย เพราะถ้าเราไม่แก้รายมาตราทางคสช. จะมี 3 อาวุธ ที่เขาสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ในการขัดขวาง กระบวนการนี้ อาวุธที่ 1 คือ วุฒิสภา, อาวุธที่ 2 คือ ศาล องค์กรอิสระ, อาวุธที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ชาติ

อาวุธบางอย่างอาจะถูกหยิบยกมาใช้แล้วนั่นก็คือสว. อาวุธบางอย่างอย่างยุทธศาสตร์ชาติอาจจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ เนื่องจากว่านักการเมืองที่เข้ามาสู่อำนาจยังคงเป็นนักการเมืองในระบบคสช. ผมจึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ นอกเหนือจากการจับตามอง 5 ด่าน ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ขอเสนอว่าให้เรารณรงค์ร่วมกันในการแก้ไขรายมาตราด้วยการปลด 3 อาวุธของคสช.

1. ปลดอาวุธวุฒิสภาโดยการยกเลิกระบบรัฐสภาที่เป็นสภาคู่ แล้วกลับไปใช้ระบบสภาเดี่ยวดังที่อ.ปรีดี พนมยงค์เคยเสนอที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎร

2. เมื่อเหลือสภาเดี่ยวแล้ว ศาล หรือ องค์กรอิสระนั้น จะต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะไม่มีสว.มาแต่งตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นต้อง “รีเซ็ตที่มา” ขององค์กรอิสระ และ ให้มีกระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ที่ยึดโยงเสียงของประชาชนผ่านการลงคะแนนของส.ส. หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และถ้าเราอยากได้คนที่เป็น กลาง อาจจะเพิ่มเงื่อนไขลงไปว่าจะต้องได้เสียงข้างมากจากส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

3. ปลดอาวุธยุทธศาสตร์ชาติ อย่าให้ยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นเครื่องมือที่ให้คสช. ใช้เล่นงานนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ หากมีการพลิกขั้วทางการเมืองเกิดขึ้น และเมื่อส.ว. ถูกยุบไปแล้ว เหลือสภาเดี่ยว อำนาจในการดำเนินการติดตาม และอำนาจบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติไปเล่นงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ รัฐบาลก็จะหายไปด้วย

 

 

เพราะฉะนั้น นอกจากการจะจับตาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว มันถึงเวลาที่เราจะต้องแก้ไขรายมาตราด้วย โดยการยกเลิกวุฒิสภาและกลับไปใช้สภาเดี่ยว

 

 

 

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง 3 เสาหลักของรัฐธรรมนูญที่ “ก้าวหน้า”

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ