ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เลขาธิการผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย

25
เมษายน
2564

ภาพจาก FB: วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

 

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ ซึ่งเป็นคนไทย ภูมิหลังของครอบครัวท่านมีญาติเป็นชาวจีนคนเดียว คือ ทวดเป็นชายชื่อ ก๊อก แซ่เฉิน เข้ามาในกรุงสยามเมื่อปี พ.ศ. 2357 ในรัชกาลที่ 2

เนื่องจากบ้านตั้งอยู่ใกล้กับวัดจึงส่งผลต่อชีวิตวัยแรกเริ่มของท่าน ไม่เพียงแต่จะสำนึกถึงหน้าที่ทางสังคมของวัดเท่านั้น หากยังสำนึกถึงแก่นสารทางศาสนธรรมของวัดมากยิ่งกว่าด้วย รวมทั้งบิดาของท่านได้เปลี่ยนอาชีพแต่เดิมจากการทำนา เข้ามาเกี่ยวพันกับกิจการสาธารณสุข และ ได้ออกเยี่ยมเยียนหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษให้แก่ชาวบ้าน

ฉะนั้นในวัยเด็กจึง ได้รับอิทธิพลจากมโนภาพพุทธศาสนาในเรื่องอนิจจัง และ อิทธิพลจากความคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเอาการเอางานของบิดาเอาไว้ด้วย และ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลในทางการเมืองของท่านในเวลาต่อมานั่นเอง

แรกสุด ฯพณฯ ปรีดีเริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีฯ (เปี่ยม) อำเภอท่าเรือ จากนั้นท่านเข้าโรงเรียนหลวงหลายแห่งในอยุธยา และ ในระหว่างศึกษาชั้นมัธยมนี้เองที่ท่านได้รับความคิดการเมืองที่ก้าวหน้าเป็นหนแรกที่สำคัญเป็นพิเศษ คือ ความเห็นของครูได้แสดงไว้ว่า “มีแต่สยาม จีน และ รัสเซียเท่านั้น ที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเทศที่เจริญกว่านั้น ระบบการปกครองเป็นแบบจำกัดอำนาจกษัตริย์ หรือ สาธารณรัฐ”

เมื่อจบจากมัธยมแล้วใน พ.ศ. 2460 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ให้ทุนไปศึกษาวิซากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Caen) และ ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็นดุษฎีบันฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ รวมทั้งประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ ณ ประเทศฝรั่งเศส

ขณะอยู่ในฝรั่งเศสท่านได้เป็นประธานสมาคมนักเรียนสยามสมาคมนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ปารีส ทว่า มีสมาชิกเป็นเยาวชนไทยขยายไปถึงอังกฤษ เยอรมัน และ ประเทศยุโรป อื่นๆ สมาคมนักเรียนสยามเป็นองค์การทางการเมือง กลายเป็นเวทีประชุมวางแผนล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม ซึ่งท่านมีความเชื่อว่าสถาบันสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย และ สมาชิกของสมาคมก็สนองแกนบุคคลของคณะราษฎร ให้แกนคณะราษฎรเปิดประชุมเป็นทางการครั้งแรกในปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470

ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรกมี นายปรีดี พนมยงค์, ร้อยโท แปลก ขีตะสังคะ, ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, นายประยูร ภมรมนตรี, หลวงสิริราชไมตรี และ นายแนบ พหลโยธิน ผู้ร่วมประชุมได้กำหนดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นอุดมคติประเภทค่อนข้างเป็นความเสมอภาคซึ่งเป็นพื้นฐานเป้าหมายทางการเมืองในอนาคตของคณะราษฎร

ต่อมาหลัก 6 ประการนี้ ได้ปรากฏอยู่ในใบปลิวซึ่งแจกจ่ายในกรุงเทพฯ เมื่อวันล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปี พ.ศ. 2475 หลัก 6 ประการที่ปรากฏในใบปลิวฉบับดังกล่าวมีดังนี้ คือ

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรที่มีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพมีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

และเพื่อสนองตอบต่อหลักข้อ 3 ผู้เข้าร่วมประชุมได้มอบหมาย ฯพณฯ ปรีดี ยกร่างวางแผนเศรษฐกิจส่วนทั้งหมด (ต่อมากลายเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2476)

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2470 กลุ่มคนซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาในนาม คณะผู้ก่อการ มีอุดมคติ และยุทธศาสตร์พื้นฐานที่เป็นเอกภาพนั้น พวกเขาตกลงกันเป็นเอกฉันท์มอบหมายภาระหน้าที่อันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวพันกับการวางแผนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้แก่ ฯพณๆปรีดี และ ในช่วงที่อยู่ในฝรั่งเศสนี้เองที่ได้รับการยกย่องจากมิตรและนักเรียนสยามรุ่นน้องของท่าน

เมื่อกลับสู่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2470  ฯพณฯ ปรีดี ได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ชั้น 6 กระทรวงยุติธรรม ได้ทำการฝึกหัดเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และ ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2470 ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2471

ในช่วงนั้นเป็นระยะที่ยากเข็ญสำหรับสยาม ด้วยว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเริ่มส่งผลให้เป็นที่รู้สึกได้ในประเทศ ในหลวงรัชกาลที่ 7 และคณะบริหารราชการแผ่นดินพยายามจัดการกับสภาพการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง โดยลดข้าราชการและตัดงบประมาณแผ่นดิน และ ประกาศเก็บภาษีใหม่ สิ่งเหล่านี้ได้ปูเวทีสำหรับการปฏิบัติการโดยตรงของ ฯพณฯ ปรีดี และ คณะราษฎร ซึ่งขณะนั้นประกอบไปด้วย สมาชิกจำนวน 111 คน เป็นทหารบก 81 คน ทหารเรือ 17 คน พลเรือน 63 คน คณะราษฎร ได้ผูกพันธมิตรกับข้าราชการทหาร ซึ่งนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ ข้าราชการพลเรือนที่เดินสายกลาง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แผนแห่งการก่อการซึ่งเคยขบคิดกันครั้งแรกในปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2470 ก็บังเกิดขึ้นมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา นับจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองการปกครองประเทศ ได้มีผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน 70 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก “คณะราษฎร” ทำการประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยใช้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุม

ในการประชุมครั้งนี้มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ในที่ประชุมได้อนุมัติให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นจึงถือได้ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเลขาธิการผู้แทนราษฎรคนแรก จึงถือได้ว่าท่านมีส่วนผลักดันทำให้เกิดสถาบันนิติบัญญัตินี้ขึ้นมา

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระยะเริ่มแรกนั้นยังไม่มีกฎหมายจัดตั้งมารองรับไม่มีงบประมาณและสถานที่ทำการเป็นของตนเอง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานในขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด 7 คน คือ หลวงคหกรรมบดี, นายปฬาฬ บุญหลง, นายสนิท ผิวนวล นายฉ่ำ จำรัสเนตร, นายสุริยา กุณฑลจินดา, นายน้อย สอนกล้าหาญ และ นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คนนี้ได้อาศัยวังปารุสกวันใช้เป็นสถานที่ทำงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือนเลย เพราะสำนักงานฯ ไม่มีงบประมาณ

นอกจากทางการได้จัดเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ทุกมื้อเท่านั้น ต่อมาสำนักงานได้เปลี่ยนเป็นกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ตามลำดับ

ส่วนสถานที่ประชุมนั้นนอกจากจะใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว ยังได้ใช้พระที่นั่งอภิเศกดุสิตเป็นที่ประชุมชั่วคราวอีกด้วย และ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเพื่อใช้เป็นที่ประชุมแห่งใหม่ ได้ย้ายมาปฏิบัติราชการ เมื่อพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา

ในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ท่านเป็นเลขาธิการรัฐสภาแรก และ มีผู้ดำรงตำแหน่งต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - ปัจจุบัน[1] มีทั้งสิ้น 14 คน คือ

  • คนที่ 1 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (เลขาธิการรัฐสภา)   28 มิถุนายน 2475 -11 เมษายน 2476
  • คนที่ 2 หลวงคหกรรมบดี (เลขาธิการรัฐสภา)   10 ธันวาคม 2476 - 10 สิงหาคม 2484
  • คนที่ 3 นายทองเปลว ชลภูมิ (เลขาธิการรัฐสภา)   8 พฤศจิกายน 2484 - 30 มิถุนายน 2486
  • คนที่ 4 นายจิตตะเสน ปัญจะ (เลขาธิการรัฐสภา)   30 มิถุนายน 2486 - 16 สิงหาคม 2486
  • คนที่ 5 นายเจริญ ปัณฑโร (เลขาธิการรัฐสภา)   16 สิงหาคม 2486 - 17 ตุลาคม 2503
  • คนที่ 6 นายไพโรจน์ ชัยนาม (เลขาธิการพฤฒสภา)   14 พฤษภาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2489
  • คนที่ 7 นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์
    • เลขาธิการรัฐสภา   18 กันยายน 2511 - 30 กันยายน 2514
    • เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร   20 ธันวาคม 2503 - 17 กันยายน 2511
  • คนที่ 8 นายประสิทธิ์ ศรีสุชาต (เลขาธิการรัฐสภา)   1 ตุลาคม 2514 - 30 กันยายน 2518
  • คนที่ 9 พันเอกสงวน คำวงษา (เลขาธิการรัฐสภา)   1 ตุลาคม 2518 - 30 กันยายน 2524
  • คนที่ 10 พลตรีกระวี สุทัศน์ ณ อยุธยา (เลขาธิการรัฐสภา)   1 ตุลาคม 2524 - 31 ธันวาคม 2526
  • คนที่ 11 ร้อยตรี ปณิธาน เลิศฤทธิ์ (เลขาธิการรัฐสภา)   25 มกราคม 2527 - 30 กันยายน 2527
  • คนที่ 12 นางสาวบังอร อิ่มโอชา (เลขาธิการรัฐสภา)   1 ตุลาคม 2527 - 30 กันยายน 2529
  • คนที่ 13 นายประเสริฐ ดวงวิชัย (เลขาธิการรัฐสภา)   1 ตุลาคม 2529 - 30 กันยายน 2533
  • คนที่ 14 นายไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล (เลขาธิการรัฐสภา)   12 กันยายน 2535 - ปัจจุบัน[2]

ในช่วงนี้เองที่ ฯพณฯ ปรีดี ได้ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองระบอบใหม่ของสยามอย่างเต็มตัว ภายหลังจากคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนมูลฐานระบอบการปกครอง ท่านได้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นหนึ่งในเจ็ดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475

การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญชุดแรก ประกอบด้วยคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) 15 คน ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในจำนวนนี้ด้วย ท่านได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้เป็นผู้ร่างหลักการเศรษฐกิจประจำชาติ ที่เรียกว่า “เค้าโครงเศรษฐกิจ” และได้เสนอต่อคณะกรรมการราษฎรในเดือนมิถุนายน 2476 เป็นเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ประกอบด้วย

๑. การก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเป็นหลัก หากเพื่อมิใช่เพื่อสนองเงินกู้

๒. การก่อตั้งสหกรณ์อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมของรัฐ

๓. การก่อตั้งสภานโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อประสานและวางแผนกิจการต่างๆ ของบรรดาสหกรณ์กึ่งอิสระ

๔. การก่อตั้งธนาคารกลาง ไม่มีการยึดที่ดินเอกชน หากจะเสนอซื้อที่ดินของชาวนาด้วยพันธบัตรมีดอกเบี้ยในราคาที่เป็นธรรม

และเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วย และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวินิจฉัยว่าเป็นแนวความคิดที่ลอกเลียนแบบ “บอลเชวิก” ของโซเวียต เป็นผลให้มีการปิดสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลได้ขอร้องให้ ฯพณฯ ปรีดีเดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476 โดยพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

หลังจากนั้นได้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พอ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ฯพณฯ ปรีดี ได้เดินทางกลับมาประเทศสยาม และ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิสูจน์แนวความคิดและการกระทำของท่าน จึงพ้นมลทินจากการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

หลังจากนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทย ( พ.ศ. 2477 - 2480) เป็นเวลาติดต่อกันถึง 2 สมัย จนกระทั่งมีการปรับปรุงคณะรัฐบาล ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองของโลกกำลังเข้าสู่ภาวะตึงเครียดที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนี้เองที่ท่านได้พยายามเจรจากับชาติมหาอำนาจตะวันตกเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ประเทศสยามเสียเปรียบ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนเป็นผลสำเร็จ และ ในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเวลาต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2481 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ภายหลังจากนั้นท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รัชกาลที่ 8) เมื่อเดือนมีนาคม 2485 และได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นภายในประเทศ โดยได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติงานกับขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหน้า เพื่อช่วยให้สยามรอดพันจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอีกด้วย เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีของท่าน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488 ท่านจึงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และ ได้รับพระราชทานตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดที่บุคคลธรรมดาจะได้รับ

ภายใต้ภาวะคับขัน ฯพณฯ ปรีดีถูกขอร้องให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2489 ได้ลาออกเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

ครั้งที่ 2 ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2489 แต่ยังไม่ทันจะประกอบคณะรัฐมนตรี ในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็เสด็จสวรรคต ในวันที่ 9  มิถุนายน ท่านจึงขอลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

และครั้งที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งอีกในวันถัดมา และดำรงตำแหน่งอยู่เพียง 2 เดือน จึงลาออกอีก เนื่องจากท่านมีความเห็นว่า ได้ตรากตรำทำงานมามากและสุขภาพก็ทรุดโทรมตามวัยชรา

ในปีถัดมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกโดยกลุ่มทหารบก และ บุกเข้าไปเพื่อจับตัวท่าน แต่ท่านได้หนีไปสิงคโปร์ หลังจากนั้นได้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2491 แต่คณะรัฐมนตรีได้ถูกคณะรัฐประหารบีบบังคับให้ลาออก ฉะนั้น ท่านจึงได้ลักลอบเข้ามาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ท่ามกลางสถานการณ์การยึดอำนาจคืนจากคณะรัฐประหาร ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลว ฯพณฯ ปรีดีได้เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนชั่วคราว

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 จึงได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และ พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ตามเวลาในท้องถิ่น ฯพณฯ ปรีดี ได้ถึงแก่อสัญกรรม ณ ที่บ้านพักของท่านอย่างสงบ

ตลอดเวลาในชีวิตการทำงาน ฯพณฯ ปรีดี ได้สร้างแนวทางและผลงานทางการเมืองไว้มากมาย นับตั้งแต่การมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวปี 2475 และ รัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2475  รัฐธรรมนูญนิติบัญญัติปี พ.ศ. 2489 รวมทั้งการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในยามสงคราม  ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อฝึกฝนอบรมข้าราชการ  การจัดโครงสร้างภาษีใหม่ และ การก่อตั้งโครงสร้างพรรคการเมือง ฯลฯ จึงนับได้ว่าท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสของสยามประเทศอย่างแท้จริง

 

ความจากผู้เขียน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ชื่อนี้ติดอยู่ในความทรงจำของดิฉันมาแต่ปี 2484 เนื่องด้วยดิฉันได้สอบเข้าเรียนในแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นปีที่ 1 และก่อนที่จะได้เข้าศึกษา ท่านผู้ประศาสน์การได้กรุณามาให้โอวาทแก่นักศึกษาใหม่ ซึ่งพวกเรานักศึกษาใหม่ได้ตั้งสติฟังโอวาของท่านด้วยความศรัทธาและเคารพและซาบซึ้ง

ในการที่ท่านตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้นมา ทำให้พวกเราได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้ เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพในการดำเนินชีวิต ซึ่งลูกศิษย์ของท่านผู้ประศาสน์การ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ได้รับใช้ประเทศชาติทั้งในการเข้ารับราชการ และ ในภาคเอกชน ซึ่งนำประโยขน์มาสู่ประเทศชาติอย่างมหาศาล

สำหรับดิฉัน เมื่อจบการศึกษได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตแล้วได้สอบเข้ารับราชการในสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่ นายเจริญ ปัณฑโร เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ดิฉันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเผนกกองกรรมาธิการ ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมาธิการ คือ ทำหน้าที่ธุรการและจดบันทึกประชุม และ ค้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่างกฎหมาย

เมื่อเข้ารับราชการในสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงทราบว่าท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และต่อๆ มาก็มีอาจารย์ทองเปลว ชลภูมิ เป็นเลขาธิการฯ อีกด้วย และ ในระยะหลังที่ท่านอาจารย์ปรีดีฯ พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อนหญิงที่สนิทของดิฉันหลายคน ได้ไปทัศนศึกษาที่ทวีปยุโรป และมีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านด้วยความเคารพถึงที่พัก เมื่อกลับมาได้นำมาเล่าสู่ให้ฟัง พร้อมทั้งได้สรรสริญและนิยมในอัธยาศัยของท่านผู้หญิงพูนสุขซึ่งทำให้เรื่องนี้ติดอยู่ในความทรงจำของดิฉัน

ในวันที่ท่านผู้หญิงพูนศุขนำอัฐิท่านอาจารย์ปรีดี กลับสู่ประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ดิฉันดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา ดิฉันจึงได้มีโอกาสร่วมไปกับท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปรับอัฐิของท่านอาจารย์ปรีดี ที่สนามบินดอนเมืองด้วย

บังอร อิ่มโอชา

 

ที่มา: หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เลขาธิการรัฐสภาคนแรกของประเทศไทย, ใน, หนังสือที่ระลึกวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534, หน้า 56-64

หมายเหตุ:

  • ปรับปรุงโดยบรรณาธิการ
  • คุณบังอร อิ่มโอชา ถึงแก่กรรม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555

[1] บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ณ ขณะนั้น นายไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา

[2] นายไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภาตั้งแต่ 12 กันยายน 2535 - 30 กันยายน 2541 ซึ่งบทความนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2534