“เรามีความเชื่อเรื่องแนวคิดของรัฐสวัสดิการ
ก็ตรงไปตรงมาว่ารัฐจะต้องเป็นผู้ให้สวัสดิการกับประชาชน”
แนวคิดเบื้องต้นของ “รัฐสวัสดิการ” ในมุมมองของศิริกัญญา
สำหรับเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” จะต้องเรียกว่าเป็น แนวคิด เพราะมันยังไม่ใช่ตัวที่เป็นนโยบาย ทางพรรคก้าวไกลซึ่งเราก็สืบทอดเอาตัวนโยบายที่เราได้หาเสียงไว้ ตั้งแต่สมัยเป็นอนาคตใหม่นำมาขับเคลื่อนต่อ และเรามีความเชื่อเรื่องแนวคิดของรัฐสวัสดิการ ก็ตรงไปตรงมาว่า “รัฐ” จะต้องเป็นผู้ให้สวัสดิการกับประชาชนนะคะ ซึ่งมันก็มีได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการให้เงินโอนเป็นเงินสด หรือว่าจะให้เป็นบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาเรื่องสาธารณสุข รวมไปถึงสวัสดิการสำหรับเด็ก หรือว่าสำหรับผู้สูงอายุ
ตรงนี้จะเป็นแนวคิดที่เรียกได้ว่ายอมยกบทบาทนี้ให้กับรัฐเป็นผู้ให้บริการ โดยที่หน้าที่ตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ตัวกลางที่จะคอยจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายทั้งรายได้และความมั่งคั่ง เพื่อสุดท้ายจะนำไปสู่การที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี แล้วก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันนี้ก็จะเป็นแนวคิดเบื้องต้นของรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการแนวนโยบายทางการเมืองที่กำลังผลักดัน
ชุดนโยบายที่เราเคยใช้เมื่อตอนหาเสียง ก็จะเป็นในเรื่องของรัฐสวัสดิการ คือนำเสนอการให้เงินอย่างถ้วนหน้า ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ 0 ถึง 6 ปี แล้วยงมีเงินช่วยเหลือสำหรับเยาวชนตั้งแต่ 7 ถึง 18 ปี ในส่วนของเงินบำนาญที่เป็นบำนาญพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 1,800 บาทต่อคน ตรงนี้เรียกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่ประชาชนสมควรจะได้รับนะคะ
นอกจากนั้นเรายังผลักดัน และขับเคลื่อนบริการอื่น ๆ ที่สมควรจะได้รับไปพร้อมกับการได้รับเงินช่วยเหลือตรงนี้ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการที่รัฐควรจะต้องเป็นผู้ให้บริการ Day Care สถานเลี้ยงดูเด็กแบเบาะที่ไม่ใช่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ให้บริการกับเด็กที่มีอายุในวัยก่อนเข้าเรียน
เรายังมีการพูดถึงการปรับปรุงบริการด้านสาธารณสุข ถึงแม้ว่าเราจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในเรื่องของคุณภาพ เราก็ยังมี room ที่จะสามารถปรับปรุงไปได้อีกนะคะ ในเรื่องของสวัสดิการผู้สูงอายุ เรามีเรื่องของบํานาญพื้นฐานแล้ว แต่ว่าเราก็ยังไม่หยุดคิดในเรื่องของการบริการผู้สูงอายุเป็นศูนย์สำหรับในชุมชน หรือว่าเป็นบริการช่วยเหลือต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่ติดเตียง ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุเช่นเดียวกันค่ะ ก็จะเห็นว่านโยบายที่หาเสียงก็จะเป็นในรูปแบบหนึ่งแต่ว่านโยบายที่จะขับเคลื่อน จะมีความครอบคลุมและมีความหลากหลายมากกว่านั้นอีกค่ะ
จาก “เค้าโครงการเศรษฐกิจ 2476”
สู่การผลักดันนโยบาย “รัฐสวัสดิการ 2564”
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” มี keyword ที่สำคัญก็คือ หลักประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ถูกต้องไหมคะ ซึ่งอันนี้ก็จะสอดคล้องโดยตรงกับกับแนวคิดของรัฐสวัสดิการที่สำคัญ และหัวใจสำคัญที่คิดว่าน่าจะนำมาปรับใช้อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะถือว่าเป็นเป้าหมายหลักในทางเศรษญกิจ
ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ได้เน้นย้ำถึงเรื่องของความสุขสมบูรณ์ ซึ่งมันก็คือเรื่องของคุณภาพชีวิต เรื่องของสวัสดิภาพของประชาชน ตรงนี้ถ้ารัฐบาลเอานโยบายนี้มาชูเป็นประเด็นสำคัญ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พูดถึงเรื่องพายที่มันใหญ่ขึ้นแต่อย่างเดียว แต่ว่าเรื่องของการแบ่งพายในแต่ละก้อนให้กับประชาชนในแต่ละกลุ่มอย่างเป็นธรรม แล้วก็กระจายความเท่าเทียมให้ทั่วถึง
ประเด็นต่อมานะคะก็คือเรื่องของ “การการันตีการจ้างงาน” อันนี้เป็นเรื่องที่ในเค้าโครงเศรษฐกิจพูดไว้ค่อนข้างมาก หลักก็คือ “จะไม่มีประชาชนที่ไม่มีงานทำ หรือว่าจะต้องอดอยากจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นเพราะว่ารัฐบาลจะเข้าไปเป็นผู้จ้างงาน” นี่ก็เป็นนโยบายที่เราสามารถปรับใช้ได้ในปัจจุบันได้ เพราะว่าถ้าเรามองย้อนมองบริบทในช่วงที่อาจารย์ปรีดีฯ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ จะพบว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกต่ำ กำลังเผชิญกับ great depression ประเทศไทยเองก็เจอกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเวลานี้ที่เราก็เจอกับวิกฤติโควิด แล้วก็เศรษฐกิจตกต่ำ แล้วก็ทำให้การจ้างงานมีปัญหา มีประชาชนที่จะต้องว่างงาน หรือว่าทำงานต่ำกว่าชั่วโมงทำงานปกติค่อนข้างมาก
ดังนั้นบทบาทของรัฐอีกบทบาทหนึ่งที่จะต้องเข้ามา ก็คือต้องเป็นผู้จ้างงานเสียเอง เพื่อทำให้คนยังมีงานทำและยังมีรายได้ ในนั้นก็จะมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้สวัสดิการกับคนที่เจ็บป่วย คนที่สูงอายุ หรือแม้แต่ว่าเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เราสามารถนำแนวคิดมาปรับใช้ ในเรื่องของบำนาญได้ก็เช่นเดียวกัน เราสามารถที่จะให้สวัสดิการกับคนที่อาจจะเปราะบางทางสังคม อย่างเช่นคนเจ็บป่วย หรือว่าคนพิการ รวมถึงผู้สูงอายุที่ยังไม่มีระบบบำนาญใด ๆ มารองรับก็ควรจะต้องได้รับบำนาญขั้นพื้นฐานไปด้วย ซึ่งนโยบายตรงนี้ที่เราถอดและหยิบยกมาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี
ก็ประมาณนี้ที่เป็นนโยบายที่เราสามารถที่จะหยิบยกถอดมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีมาใช้มาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ค่ะ
การขับเคลื่อน “รัฐสวัสดิการ” ในบทบาทของนักการเมือง
ต้องยอมรับว่าแนวคิดนี้อาจจะยังไม่ได้เป็นที่เคยชินในสังคมไทย ในสังคมที่ประชาชนต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก แล้วก็ไม่เคยได้รับบริการสาธารณะอะไรจากรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรียกได้ว่าที่ผ่านมา สวัสดิการจะเป็นใน รูปแบบของการสงเคราะห์ เป็นสวัสดิการอนาถา สำหรับคนจนเป็นหลัก
จากการที่เรานำเสนอนโยบาย หรือว่าหาเสียงในเรื่องนี้ เราพบกับปัญหาแบบนี้เข้ามาเรื่อย ๆ เพราะว่าชนชั้นกลางส่วนหนึ่งจะเข้าใจว่าการที่จะใช้แนวคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ หรือว่ามีนโยบายที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า จะต้องเป็นภาระทางภาษีโดยเฉพาะกับชนชั้นกลางที่ถูกรีดภาษีเงินได้มาโดยตลอด แล้วก็รู้สึกว่าจะเป็นภาระ ทำให้เกิดแรงต่อต้านส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่เป็นชนชั้นกลาง
ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถที่จะทำให้ประชาชนรู้สึก และเข้าใจว่า ทำไมประเทศถึงต้องเป็นรัฐสวัสดิการ? ก็อาจจะต้องทำให้ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งสามารถที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น ทุกวันนี้บัตรทองต้องยอมรับว่าไม่ใช่ชนชั้นกลางที่จะเข้าถึงบริการนี้ อันเนื่องมาจากว่าด้วยความที่ระบบสุขภาพที่ยังมีความไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การรอคิวต่าง ๆ ก็ดี หรือว่าการที่โรงพยาบาลไม่ได้อยู่ใกล้บ้านเองก็ดี ทำให้ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เข้าไปใช้บริการเหล่านั้น
แต่ถ้าเราสามารถที่จะปรับปรุงบริการสาธารณะพวกนี้ให้มีคุณภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสที่ชนชั้นกลางจะเข้าไปใช้มีมากขึ้น และเมื่อไหร่ที่มีคนส่วนมากที่เข้าไปใช้บริการสาธารณะพวกนี้ เขาก็จะเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญ ถึงความจำเป็นที่ประเทศจำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐสวัสดิการ
นี่เป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญทีเดียวสำหรับทางฝั่งการเมืองเองก็ดี หรือว่าผู้กำหนดนโยบายเองก็ดี ที่จะสามารถที่จะทำให้ประชาชน buy in กับนโยบายพวกนี้แล้วก็เป็นที่มาด้วยว่าหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ นโยบายที่เราจะต้องยืนยันถึงความเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ก็เป็นปัจจัยนี้ว่าการที่เราไม่จำกัดสิทธิเฉพาะกับใครคนใดคนหนึ่ง หรือว่าตามกลุ่มเป้าหมายและทำให้มีประชาชนที่ได้รับสวัสดิการส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เขาได้รับ และเขารู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์ เขาก็จะสนับสนุนนโยบายพวกนี้ และเต็มใจที่จะมาร่วมเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกับคนทั้งประเทศ โดยการจ่ายภาษีที่มากขึ้นหรือว่าการที่สนับสนุนนโยบายพวกนี้กับทางฝั่งการเมืองค่ะ
พูดถึงสถานการณ์ผู้ใช้แรงงานในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ และ COVID-19 ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้แรงงาน ควรจะได้รับจากประกันสังคม
สำหรับแรงงานสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากรัฐสวัสดิการเช่นเดียวกัน จริง ๆ ในประเทศไทยเราก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเกี่ยวกับการต่อสู้เรื่องของประกันสังคมถูกไหมคะ ทำให้สุดท้ายแล้วประเทศนี้ก็มีระบบประกันสังคม ที่จะสามารถคุ้มครองแรงงาน มีสวัสดิการที่ช่วยเหลือคนที่ว่างงาน หรือว่าเจ็บป่วยทุพพลภาพมีเงินทดแทน รวมไปถึงการมีบำนาญสำหรับผู้ประกันตนด้วย
แต่ก็อย่างที่บอกว่า แรงงานไทยก็ยังรู้สึกเปราะบางอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อยู่ดี อันเนื่องมาจากว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วยซ้ำไป แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศนี้ราว 20 ล้านคนเป็นแรงงานที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ไม่ได้อยู่ในระบบใด ๆ และไม่ได้มีสวัสดิการใด ๆ ที่จะคุ้มครองแรงงานเหล่านี้
ดังนั้น การที่มีวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ายังมีรายงานอีกกลุ่มใหญ่ กลุ่มที่เป็นส่วนใหญ่ของแรงงานด้วยซ้ำไป ที่ไม่มีตาข่ายใด ๆ มารองรับ เมื่อประเทศเกิดวิกฤต จะเห็นว่าตอนที่มีการระบาดระลอกแรก ก็จะมีการเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งรัฐที่ไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการแห่งรัฐบาลปัจจุบันนี้ เราก็จะเห็นว่าก็จะเกี่ยงงอนกับการที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะปรับปรุงหรือว่าปฏิรูปประชาสังคมให้ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบที่เป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป ตรงนี้ก็ตามแนวคิดของรัฐสวัสดิการ แรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทไหน ก็ควรจะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นจากการว่างงาน หรือว่าจากเมื่อเกษียณอายุ และต้องมีบำนาญคุ้มครอง
เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เราผลักดันเช่นเดียวกัน ที่จะต้องปฏิรูปประกันสังคมในเรื่องของมาตรา 40 หรือว่ามาตรา 39 สำหรับมาตรา 40 ให้มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้ประชาชนอยากที่จะเข้ามาร่วมเป็นผู้ประกันตนมากขึ้น และมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมไปถึงบำนาญที่ประชาชนที่เป็นแรงงานสามารถที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เรื่องงบประมาณของรัฐ ถูกใช้ไปกับเรื่องความมั่นคงค่อนข้างสูง ถ้าให้เทียบกับสัดส่วนงบประมาณที่ใช้ไปในเรื่องของสาธารณสุขค่อนข้างต่ำ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด รัฐก็ยังคงใช้งบประมาณไปกับความมั่นคงมากกว่า ในฐานะนักการเมืองมีการตั้งข้อสังเกตอะไรบ้าง
ถ้าโยงมากับแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แน่นอนว่าเราจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมากในการที่จะให้สวัสดิการอย่างถ้วนหน้ากับประชาชน ซึ่งมันก็หนีไม่พ้นว่า เราจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ และการจัดเก็บภาษีแน่นอน
ทุกวันนี้จากประสบการณ์ที่เป็นนักการเมือง และไปนั่งในกรรมาธิการงบประมาณมา 2 ปี เราก็เห็นว่าการจัดสรรงบมาณสามารถที่จะปรับปรุงให้มันให้มันตรงจุดตรงเป้าได้มากกว่านี้ แต่นี่มันเป็นเรื่องของวิธีคิดเป็นเรื่องของแนวคิดมากกว่าว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มีความคิดว่าสวัสดิการของประชาชนที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนก็ตามที่เคยหาเสียงด้วยนโยบายที่จะให้สวัสดิการถ้วนหน้า แล้วก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันในการจัดสรรงบให้ไปสู่สวัสดิการอย่างถ้วนหน้าอย่างแท้จริง
เราก็ยังเห็นการเน้นความมั่นคงในด้านในทางทหารมากกว่าความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข หรือ ความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชน ตรงนี้ก็เลยนำไปสู่การที่เราจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ในสภา มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็มีการฉายภาพที่เห็นว่าสวัสดิการประชาชนมัน fragment มาก ๆ มันกระจัดกระจาย มันไปอยู่ตามกระทรวงกรมต่าง ๆ เป็น 10 กว่ากระทรวง สำหรับการให้สวัสดิการของประชาชนทั้งประเทศ แต่เมื่อรวมงบประมาณกันแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับงบประมาณที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งข้าราชการที่มีจำนวนคนที่รับผลประโยชน์ในประมาณ 5 ล้านคน กลับได้งบประมาณที่ใกล้เคียงกับประชาชนทั้งประเทศได้รับสวัสดิการ
ตรงนี้แสดงถึงความคิดวิธีคิด และ ความเชื่อต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบันนี้แล้วว่าเขาไม่ได้เชื่อ และไม่ได้คิดว่าสวัสดิการมันควรจะต้องเป็นสิทธิของประชาชน แต่ว่าจะเน้นไปที่สวัสดิการ อย่างเช่น บัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งที่จะเป็นการให้ในเชิงสงเคราะห์ที่ไม่ได้ทำให้ประชาชนสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้
ผลกระทบของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด จนสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อย ๆ การเป็นหนี้สินภาคครัวเรือน คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
เรื่องของหนี้ครัวเรือนแน่นอนว่า การที่คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุมาจากการที่รายได้ต่ำลง ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดในอย่างทุกวันนี้ ซึ่งรายได้ที่ลดลงของประชาชนไม่ได้เกิดจากการความผิดของประชาชนเอง
ดังนั้นรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปประคับประคองหรือว่าเยียวยา เพื่อทำให้รายได้ของประชาชนไม่ได้ตกลงไปมากกว่านี้ แต่ยังไงก็ตามถึงแม้ว่ารัฐจะมีมาตรการเยียวยาอะไรออกมา ก็อาจจะไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ว่าก็ต้องคิดอย่างนี้ค่ะ ว่าทุกบาทที่รัฐต้องเป็นคนแบกรับหนี้ให้เป็นหนี้สาธารณะของประเทศ อาจจะทดแทนหนี้ที่เป็นหนี้ของครัวเรือนได้ หมายความว่ามันก็เหมือนกับเป็นกระเป๋าเดียวกัน ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย หนี้ของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น แต่การที่รัฐจะทำอะไร ก็เหมือนกับว่าแบ่งเบาหนี้ที่ควรต้องเป็นหนี้ของประชาชนมาเป็นหนี้ของรัฐเอง
เรื่องหนี้ครัวเรือน ทางพรรคเองก็มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนี้เริ่มกลายเป็นหนี้ที่ไม่สามารถที่จะผ่อนจ่ายต่อได้แล้ว ประสบการณ์จากหลายประเทศที่ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของการที่จะไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ต่าง ๆ เพื่อที่ทำให้ประชาชนไม่ต้องประสบกับปัญหา ต้องกลายมาเป็นบุคคลล้มละลาย ถูกฟ้องต่าง ๆ โดยที่เกิดจากความผิดที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดแบบนี้ หนี้ต่าง ๆ ถ้าเราสามารถที่จะไกล่เกลี่ยเจรจาแทนประชาชนได้ เป็นตัวกลางที่จะเจรจาระหว่างธนาคารต่าง ๆ หรือว่าบริษัทบัตรเครดิตต่าง ๆ แทนประชาชน ก็ทำให้ประชาชนสามารถที่จะได้รับข้อเสนอที่เป็นธรรมมากขึ้นกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย อันนี้ก็จะเป็นแนวคิดที่เราจะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาของหนี้ครัวเรือน
ตอนนี้ในสถานการณ์ที่จำเป็นอยู่อาจเป็นเรื่องของวัคซีน ในแง่หนึ่งคือการฉีดวัคซีนให้กับคนทั้งประเทศ 66 ล้านคน แต่ปัจจุบันฉีดได้ 1 แสนคน ในภาพแบบนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง
วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ แน่นอนว่าเราอาจจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละรอบได้ด้วยการเยียวยา เงินที่มีอยู่ในหน้าตัก ถ้ามันไม่พอสำหรับการเยียวยาช่วยเหลือเราก็สามารถที่จะกู้เพิ่มได้ แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะวนลูปนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ได้ตลอดไป
ดังนั้นหนทางเดียวที่เป็นกุญแจออกจากการวนลูปนี้ก็คือ การที่ประชาชนได้รับวัคซีน แล้วก็สามารถที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อหรือว่าจะแพร่เชื้อไปให้กับบุคคลอื่นได้ แต่ว่าปัญหาเรื่องวัคซีนมันก็กลายเป็นคอขวดที่น่าจะเป็นปัญหาที่ปวดหัวของรัฐบาล
เนื่องจากว่าไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหาอย่างล่าช้า การที่เราไม่ได้กระจายความเสี่ยงของประเภทของวัคซีนอย่างมากพอ แล้วก็ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการกระจายว่าจะมีกลวิธี ยุทธวิธีอย่างไรที่จะสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างตรงจุดตรงเป้า ทุกวันนี้เราก็ไม่รู้แน่ชัดว่าใครกันแน่ที่จะเป็นเป้าหมายในการฉีดวัคซีนของรัฐบาล จะเป็นคนผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน หรือว่าคนที่มีโรคประจำตัว
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ”
ความเชื่อมโยงบนความที่น่าจะเป็นไปได้กับสังคมไทยยุคปัจจุบัน
ถ้าเรามองบริบทตอนที่อาจารย์ปรีดีนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่ามันก็จะเป็นตอนที่ช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ คล้าย ๆ ตอนนี้มันก็เป็นเรื่องของ great depression นะคะแล้วก็เศรษฐกิจโลกตกต่ำทั่วโลก การส่งออกก็ย่ำแย่ ตอนนั้นประเทศก็เพิ่งที่จะเข้าสู่การมีรัฐสมัยใหม่ และที่สำคัญก็คือว่าประชาชนมีความทุกข์ยาก อดอยาก ที่สำคัญที่สุดก็คือ 90% ก็ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินนะคะ
ดังนั้นเราอาจจะหยิบยกเอาบางส่วนของเค้าโครงเศรษฐกิจมาปรับใช้กับในปัจจุบันได้ แต่ว่าบริบทจะเปลี่ยนไป เพราะตอนนั้นมีประชากร 11 ล้านคน ปัจจุบันเรามีประชากร 67 ล้านคน แต่ว่าก็ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินอยู่ดี
ตอนนั้นเรามีวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลก ตอนนี้เราก็มีวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกที่เกิดจากโรคระบาดเช่นเดียวกัน ตอนนั้นเราเพิ่งเริ่มเข้าสู่การมีรัฐสมัยใหม่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตรงนี้ที่เป็นจุดแตกต่างที่ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากว่า 90 ปี เกือบ ๆ 90 ปีผ่านไป หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราก็พบว่ารัฐสมัยใหม่ที่เราได้มาก็อาจจะไม่ใช่รัฐที่มีประสิทธิภาพ หรือว่ามีความสามารถที่จะจัดการกับเศรษฐกิจอย่างที่อาจารย์ปรีดีฯ เคยได้วางแผนไว้ ตอนที่เขียนเค้าโครงทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้เราไปสู่รัฐสวัสดิการ นำไปสู่หลักการเรื่องของการประกันความสุขสมบูรณ์ของของราษฎร เราก็อาจจะให้รัฐไม่จำเป็นจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลายมาเป็นตัวกลางที่จะช่วยจัดสรรทรัพยากร ให้มันเกิดความเท่าเทียม เกิดการกระจาย ทั้งรายได้ และความมั่นคงมั่งคั่งมากขึ้น โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธระบบตลาด ทุกคนยังมีตัวเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสามารถที่จะทำธุรกิจอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นของประชาชนเอง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องให้รัฐเป็นเป็นผู้ตัดสินใจอยู่เพียงฝ่ายเดียว
เพราะว่าด้วยความที่กาลเวลาก็ผ่านมา ก็มีการพิสูจน์แล้วว่า รัฐสวัสดิการไปได้ดีกับระบบที่ใช้ระบบตลาด ที่เป็นระบบนำเช่นเดียวกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการในหลาย ๆ ประเทศประสบความสำเร็จ
เนื่องในโอกาสที่จะถึงวันปรีดีวันที่ 11 พฤษภาคมนะคะ ดิฉันเองด้วยความที่เป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ก็จะได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นชีวประวัติหรือว่าผลงานของอาจารย์ปรีดีฯ มาโดยตลอด ส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่เราในฐานะนักศึกษาได้ก็มีการพูดคุยถกเถียงกันในชั้นเรียนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
ดังนั้นก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้นำเอาหลักการแนวคิดของเค้าโครงการเศรษฐกิจมาคุยกันอีกรอบหนึ่ง ในวาระที่สถานการณ์มันเริ่มที่จะกลับมาย้อนรอยกับสถานการณ์ในช่วงที่อาจารย์ปรีดีฯ นำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งค่ะ
กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์
- บรรณาธิการ ........... ณภัทร ปัญกาญจน์
- สัมภาษณ์ .............. เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
- ถ่ายทำ .................. DHANUDIT
- ตัดต่อ ................... กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- ถอดบทสัมภาษณ์ .. ปวิตรา ผลสุวรรณชัย
- พิสูจน์อักษร .......... ศิริพร รอดเลิศ
- ประสานงาน .......... ชญานิษฐ์ แสงสอาด