ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

‘ปรีดี พนมยงค์’ บนเวทีขบวนการเพื่อประชาธิปไตย

19
พฤษภาคม
2564

บุคคลสำคัญหนึ่งๆ มักถูกอ้างอิงในที่สาธารณะอยู่เสมอ ความหมายต่อบุคคลก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่มากกว่านั้นคือการให้ความหมายก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ยกเว้นแม้กระทั่ง ‘ปรีดี พนมยงค์’ ผู้อภิวัฒน์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้รับการยอมรับ และเชิดชูอย่างสูง ในหมู่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคการเมืองไทยร่วมสมัย

ขบวนการคนเสื้อแดง คือ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่คึกคัก และมีชีวิตชีวา ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พวกเขาเริ่มก่อตัวในการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อปี 2550 ก่อนจะมีการชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ระหว่างปี 2552-2553 จนนำมาสู่โศกนาฏกรรม ‘ที่ลืมไม่ได้ และ ก็จำไม่ลง’

การปราบปรามที่รุนแรงที่สุด เกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ก่อนที่แกนนำคนเสื้อแดงจะยุติการชุมนุมลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53: ศปช. (2555) เป็นการศึกษาข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ระบุว่ามีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐบางนาย รวมทั้งสิ้น 94 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน

ขณะที่รายงานของบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ กลุ่มมรสุมชายขอบ (2554) ที่ชื่อ “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง 13-20 พ.ค. 53” เสนอข้อค้นพบที่น่าสนใจในการใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพจากเอกสารเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ และเอกสารทางการทั่วไป โดยชี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันระหว่างบทบาทของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กับการยกระดับความรุนแรง

งานชิ้นนี้มีข้อสรุปว่า ปฏิบัติการของ ศอฉ. ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ปฏิบัติการความรุนแรงจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ งานชิ้นดังกล่าวให้ความสนใจไปที่กระบวนการและขั้นตอนที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลในการจัดการกับประชาชน

ในวาระ 11 ปี เพื่อเป็นการรำลึกความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เราจึงย้อนกลับไปทบทวน การให้ความหมายทางการเมืองในการต่อสู้ของขบวนการเพื่อประชาธิปไตยนี้

ขบวนการคนเสื้อแดง นับเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่อ้างอิงการต่อสู้ในทางประวัติศาสตร์หลายบทตอน หนึ่งในนั้นคือการกลับไปหาจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แบบที่ ‘ปรีดี พนมยงค์’ เสนอไว้

บทความชิ้นนี้นำเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจ ในการให้ความหมายต่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ของขบวนการคนเสื้อแดง โดยเน้นไปที่แกนนำหลักของขบวนการ ฉะนั้นพึงตระหนักว่าบทความชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งไปที่ความเห็นของคนเสื้อแดงจากปีกอื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาที่แต่ละขบวนการจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ทั้งหมดเพื่อพิจารณาว่าคนเสื้อแดงนำแนวคิดของ ปรีดี พนมยงค์ มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงอย่างไร

กล่าวได้ว่า “ขบวนการคนเสื้อแดง” เป็นขบวนการประชาธิปไตยแรกๆ ที่กลับไปรื้อฟื้นมรดกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างเอาจริงเอาจังและเอาใจใส่ โดยมีการอ้างอิงบทบาทและความคิดของปรีดีอย่างตั้งใจ 

เมื่อขบวนการคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เราจะพบหลักฐานทางความคิด มรดกหลายอย่างของปรีดี พนมยงค์ ไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทั้งใน แถลงการณ์ ใบปลิว เอกสารสิ่งพิมพ์ คำปราศรัย ฯลฯ แม้กระทั่งการร้อยเรียงเส้นทางประชาธิปไตย ที่มีการยกย่องสามัญชนขึ้นมา ก็มีการนำความคิดของปรีดีไปเชื่อมต่อกับขบวนการคนเสื้อแดง เช่น การยกย่อง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ สามัญชนคนขับแท็กซี่ต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถูกนำไปเปรียบเทียบกับความกล้าหาญของพระยาพหลพลพยุหเสนา และ ปรีดี พนมยงค์ 

รวมไปถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด ในแง่การนำแนวคิดของปรีดีมาใช้นั้น โดยนิยามการต่อสู้ของคนเสื้อแดงว่า เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ไพร่-อำมาตย์” โดยศัตรูของประชาธิปไตยคือ “อำมาตยาธิปไตย”

ในสำนวนและท่วงทำนองของแกนนำคนเสื้อแดงเอง ได้แสดงให้เห็นว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ “อำมาตยาธิปไตย”

ในการนิยามของปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรที่เคยอธิบายว่าหมายถึง “การปกครองโดยข้าราชการ ข้าเฝ้า ที่ปรึกษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยพระองค์เอง หรือ โดยคำเสนอของรัฐบาล หรือองคมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์” 

 

 

อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และ ปรีดี พนมยงค์ ยังแสดงให้เห็นผ่านสิ่งพิมพ์หลักของขบวนการอย่าง “มหาประชาชน ฉบับความจริงวันนี้” ซึ่งบางครั้งได้มีการนำรูปหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารอย่าง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และ หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนอย่างปรีดี พนมยงค์ ขึ้นหน้าปก

นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาหลัก คือ การสดุดีวีรกรรมคณะราษฎรว่าเป็นผู้นำการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงมีการนำข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ ออกมาตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องทุกฉบับ

เนื้อหารายละเอียดของสิ่งพิมพ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นการนำชีวประวัติ ความคิด บทบาททางการเมืองในด้านต่างๆ ของพระยาพหลฯ นายปรีดี พนมยงค์ และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ มาเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย เพื่อให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของบุคคลในประวัติศาสตร์ในฐานะแรงบันดาลใจของการเรียกร้องประชาธิปไตย

เราอาจจะเข้าใจความเป็นมาของการนำประวัติศาสตร์ 2475 และปรีดี พนมยงค์มากยิ่งขึ้น ว่าเหตุใดพวกเขาจึงกลับมารื้อฟื้นประวัติศาสตร์หน้านี้

จากคำอธิบายของ ‘วีระ มุสิกพงษ์’ แกนนำของขบวนการคนเสื้อแดง เขาเห็นว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้มีการใช้ประเด็นการใส่ร้ายทางการเมืองด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” ซึ่งเกิดขึ้นตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวมถึงเกิดขึ้นกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงด้วย ฉะนั้นเหล่าแกนนำจึงนำเสนอให้เห็นว่ากรณีแรกๆ ที่มีการใช้วิธีทำลายล้างทางการเมืองลักษณะนี้คือ การใส่ร้ายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการ และรัฐบุรุษของประเทศว่าเป็นผู้ฆ่าในหลวงรัชกาลที่ 8

ในการปราศรัยครั้งหนึ่ง วีระได้อ้างอิงจากประสบการณ์ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขาเล่าว่าอาจารย์คึกฤทธิ์และนายเลียง ไชยกาล (ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์) รู้ดีว่าใครเป็นคนตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุงหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ก่อนจะอธิบายว่าหลังจากนั้นไม่นาน พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจึงหันไปร่วมกับทหารจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ อันหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งนับเป็นการยึดอำนาจที่ปิดฉากบทบาททางการเมืองของปรีดี พนมยงค์

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงปรีดีในลักษณะนี้ยังไปปรากฏแม้กระทั่งหลังการสลายการชุมนุม เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทยสามารถผงาดขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ในปี 2554 ในการประชุมรัฐสภาครั้งหนึ่ง ระหว่างการตอบโต้อย่างดุเดือดในสภาผู้แทนราษฎร ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ตอบโต้กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553

การอภิปรายโต้เถียงครั้งนั้นกินเวลาไปกว่า 1 ชั่วโมง บรรยากาศเต็มไปด้วยการประท้วงกันไปมาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้สั่งพักการประชุมชั่วคราว เมื่อกลับมาอภิปรายกันต่อ มีการหยิบยกประเด็นจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างหนึ่งในการสลายการชุมนุม

จนกระทั่ง ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ผู้อภิปรายได้ชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นการใส่ร้ายกันทางการเมือง ไม่แตกต่างจากการเมืองไทยในอดีตที่ปรีดี พนมยงค์ และวีรชนประชาธิปไตยหลายคนต้องเผชิญกับข้อกล่าวหานี้ จนนำมาสู่การประท้วงจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านหลายคน ทำให้กระบวนการอภิปรายไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ณัฐวุฒิจึงตัดสินถอยด้วยการถอนคำพูดที่ว่า “อดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาศัยประเด็นล้มเจ้าในการสั่งฆ่าคนเสื้อแดง”

ถัดจากนั้น กรณีนี้ไม่เคยถูกนำมาอภิปรายในรัฐสภาอีก จนกระทั่งประเทศหวนกลับมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

กล่าวได้ว่าชะตากรรมของคนเสื้อแดงจากเหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 53’ ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย เหตุการณ์ผู้เสียชีวิตนับร้อย และบาดเจ็บนับพัน ยังคงเป็นบาดแผลที่ไม่ได้รับการสะสาง ไม่ต่างไปจากชีวิตของบุคคลสำคัญที่พวกเขาอ้างอิงถึงอย่าง ‘ปรีดี พนมยงค์’ รวมถึงบุคคลใกล้ชิดปรีดี เช่น 4 รัฐมนตรีอีสาน เป็นต้น

จนถึงปัจจุบัน แม้จะยังมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ยังคงไม่มีใครสักคนที่ได้รับการลงโทษใดๆ แม้แต่น้อย เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เคยเกิดขึ้น ณ วันนี้ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จนถึงวินาทีนี้ ทั้งผู้ถูกกระทำ และ ผู้ที่สูญเสีย ต่างยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่อย่างนั้น โดยยังไม่มีใครได้รับซึ่งความยุติธรรม อย่างเป็นธรรม แม้แต่คนเดียว

 

เอกสารอ้างอิง:

  • อิทธิพล โคตะมี. (2560). ปฏิบัติการภาษาและการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2557. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 143-177 
  • คำอภิปรายของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วันที่ 24 สิงหาคม 2554, https://www.youtube.com/watch?v=0LsMqwslF0M, สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559
  • ปรีดี พนมยงค์, ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ, pridiinstitute.com, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 ส่วนคำว่า อำมาตยาธิปไตย โดยการแปลของ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย มาจากคำว่า “Bureaucratic poilty” ว่าหมายถึง สภาวะของสังคมการเมืองที่ผู้นำในระบบราชการนั้นสามารถครอบงำระบบการเมืองได้ ข้าราชการทั้งทหาร และพลเรือนนั้นเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้เขียนเห็นว่าอำมาตยาธิปไตยตามความหมายนี้ ไม่ช่วยให้เราเข้าใจ “อำมาตยาธิปไตย” ในความหมายของคนเสื้อแดง ดูเพิ่มเติมที่มาของคำนี้เต็มๆ ได้ใน Fred W. Riggs, Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu, (Hawaii: East-West Center Press, 1966)

หมายเหตุ: ปรังปรุงโดยบรรณาธิการ