ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวคิดเรื่องการมีระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยามก่อน 2475

1
มิถุนายน
2564

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แนวคิดเรื่องการมีระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยามค่อยๆ เติบโตขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6-7 ทั้งจากเจ้านายและราษฎร ทั้งภายในประเทศและผู้ซึ่งได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคำกราบบังคมทูล ร.ศ.103, ปัญญาชนอย่างเทียนวรรณ, คณะ ร.ศ.130 จนมาเป็นผลสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยคณะราษฎร  ซึ่งแม้ชนชั้นปกครองจะมีการปรับตัวมาเป็นระยะ แต่ก็ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงรำพันว่า “ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่าตายายเข้าจริงๆ ท่านคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่”

 

พิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ภาพจาก https://library.parliament.go.th/en/thai-parliament-museum
พิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ภาพจาก https://library.parliament.go.th/en/thai-parliament-museum

 

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2435 หรือที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรียกว่า “การพลิกแผ่นดิน” (Revolution) [1] นั้น  อำนาจในการปกครองประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมที่อำนาจกระจัดกระจายอยู่ตามเจ้าประเทศราช และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มาเป็นการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งนับเป็นสมัยแรกที่สามารถเรียกว่าเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่  มีการจัดตั้งกรม 12 กรม (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวง) แทนระบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการจัดตั้งระบบมณฑลเทศาภิบาลแทนการปกครองแบบหัวเมือง  และจัดตั้งสุขาภิบาลในระดับท้องถิ่นขึ้น  นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายองค์กร เช่น ตั้งเคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) เพื่อปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดินและร่างกฎหมายตั้ง “ปรีวีเคาน์ซิล” (Privy Council) เพื่อเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ตามที่ทรงพระกรุณา  และยังปรับปรุงระบบตุลาการให้เป็นเอกภาพภายหลังจากการมีกระทรวงยุติธรรม  และด้านการสืบราชสันตติวงศ์ ก็มีการตั้งสยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งใช้มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

โดยในรัชสมัยนี้ได้เริ่มมีการเรียกร้องให้มีระบบการปกครองที่ทัดเทียมนานาอารยประเทศมากขึ้น เริ่มจากใน พ.ศ. 2427 (ร.ศ.103) มีคณะบุคคลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยเจ้านายและขุนนางที่รับราชการในสถานทูต ณ กรุงลอนดอนและกรุงปารีส เช่น กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์[2], พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต[3], พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ[4], พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, นายนกแก้ว คชเสนี, หลวงวิเสศสาลี (นาค)[5] เป็นต้น ทำหนังสือกราบบังคมทูลเสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็น “คอนสติติวชั่นแนลโมนากี” (Constitutional Monarchy) มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ เนื่องจากการปกครองแบบเดิมนั้นเปรียบเสมือน 

“อุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว พวกอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้นถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็ตกถึงพื้น ถึงแก่ช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤๅบางทีทำลายยับเยินสิ้นทีเดียว”[6]

ดังนั้น 

“จึ่งจะต้องจัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณีฤๅคอนสติติวชั่นใหม่ตามทางชาวยุโรป ฤๅให้ใกล้เคียงทางยุโรปที่สุดที่จะเป็นได้ … ทางที่ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เป็นคอนสติติวชั่นยุโรปนั้นหาได้ประสงค์ที่จะให้มีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่”[7]

โดยที่ยังไม่ได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาขึ้นในเวลานั้น  แต่เรียกร้องให้บุคคลเสมอกันในทางกฎหมาย มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และที่สำคัญคือ 

“เปลี่ยนแปลงยกถอนธรรมเนียมเก่าแลกฎหมายเก่า เพิ่มเติมธรรมเนียมแลกฎหมายบำรุงความเจริญขึ้นใหม่ แลจัดการเหล่านี้ให้มีประโยชน์ทั่วไปในอาณาเขต ให้ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัวว่า การกดขี่แลอยุติธรรมต่าง ๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึ่งจะมีความรักต่อบ้านเมือง จนเห็นชัดว่ากรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎร แลจะต้องบำรุงรักษา เพื่อให้ได้ความสุขความเจริญความยุติธรรมเป็นโสดเสมอทั่วหน้ากันหมด”[8]

ซึ่งพอจะสรุปข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ดังนี้ (1) เปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองจาก Absolute Monarchy เป็น Constitutional Monarchy  (2) ตั้ง cabinet และกรมที่เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานได้อิสระภายในกรมและมีพระราชประเพณีแน่นอนในการสืบราชสันตติวงศ์  (3) ปิดช่องทางที่เอื้อให้มีสินบน กำหนดเงินเดือนให้เหมาะกับฐานะตำแหน่ง  (4) กำหนดภาษีให้เป็นที่ยอมรับทั้งไทยและฝรั่ง  (5) ปรับปรุงขนบธรรมเนียมกฎหมายแผ่นดินที่เห็นว่าขัดต่อความเจริญของบ้านเมือง  (6) ให้ราษฎรมีช่องทางในการเสนอความคิดเห็น  (7) จัดให้ข้าราชการมีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติครบถ้วน[9]

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นพ้องด้วย เนื่องจากยังไม่เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสม ราษฎรยังไม่พร้อมต่อรูปแบบการปกครองใหม่ ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย[10] พระองค์เห็นว่า สยามต้องการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน (government reform) ให้ข้าราชการทำงานกันอย่างเต็มหน้าที่ และต้องการผู้ทำกฎหมายที่จะมาร่างกฎหมายออกใช้บังคับ  ทรงเห็นว่า 2 สิ่งนี้เป็นความต้องการสำคัญยิ่งยวดในเวลานั้น ถ้าไม่ทำ 2 เรื่องนี้ก่อน ก็ป่วยการที่จะไปทำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ[11]

ทั้งยังทรงเห็นว่า 

“เขามีปาลิแมนต์ที่ประชุมใหญ่ มีโปลิติกัลปาตี คือพวกคิดราชการมีความเห็นต่างกัน สำหรับที่จะโต้ทานกันและกัน เมื่อคนเป็นอันมากได้พูดจาโต้ทานกันด้วยฝีปากจนสุดปัญญา การที่จะสำเร็จในปลายมือนั้นคงจะเป็นการที่ได้คิดเหมือนหนึ่งกับกรองจนใสละเอียดแล้ว ด้วยผู้คิดดีกว่ากันคงต้องชะนะกัน การอันนี้ก็เปนการมีคุณดีจริง แต่เปนการมีคุณดีมากแต่ในประเทศยุโรปซึ่งเกิดขึ้นโดยความจำเปนต้องมีขึ้น และได้ฝึกหัดต่อๆ มาหลายร้อยปี เปนรากเง่าพื้นเพแน่นหนาไม่ต้องรื้อถอนขุดคุ้ยมาก เปนแต่คิดกันตกแต่งดัดแปลงประดับประดาให้เปนทางดีสม่ำเสมอและจะดีขึ้นได้อีกเพียงเท่าใดให้ดีขึ้น และผู้ซึ่งคิดราชการนั้นเปนผู้มีวิชาความรู้ เปนผู้ได้เคยได้ยินได้ฟังแบบอย่างที่จะจัดการบ้านเมืองซึ่งได้ทำได้ทดลองมาเป็นพื้นเพชัดเจนตลอดทั้งสิ้นด้วย

แต่ถึงดังนั้นก็ไม่ได้ตั้งพร้อมกันทุกประเทศ และไม่เหมือนกันเสมอกันทุกประเทศได้ จะเพลินถือเอาความคิดของพวกที่เป็นผู้คิดราชการในประเทศยุโรปนั้น ๆ มาถือเปนความคิดของตัวมาจัดการในเมืองไทยก็จะเปนการไม่ถูกกันเลย ด้วยพื้นเพการงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรปมาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทยก็จะไม่ได้ผลอันใด”[12]

ขณะที่ในหมู่สามัญชน นักหนังสือพิมพ์อย่างเทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ ได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาขึ้นแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2448 ดังกลอนบทหนึ่งที่ว่า

“ไพร่เป็นพื้นยืนเห็นประเด็นชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังมิยังทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย”
[13]

อนึ่ง ในช่วงปลายรัชสมัย มีผู้อ้างว่า พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่าจะสละราชสมบัติให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สืบราชสมบัติ เมื่อพระองค์พระชนมายุครบ 60 พรรษา “ซึ่งเป็นเวลาที่จะถึงอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญแก่พลเมืองในทันทีที่ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น อีก 3 ปีเท่านั้นคงไม่ช้านักมิใช่หรือ”[14]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์แล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงปรับปรุงระบบการปกครองของพระบรมราชชนก  เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงในคณะเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ของพระองค์ จากที่ส่วนมากเป็นเจ้านายมาเป็นขุนนาง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระองค์  และยังไม่โปรดให้มีการประชุมเสนาบดีดังที่เคยปฏิบัติมาในรัชกาลก่อน ทรงใช้วิธีการปรึกษาและมีรับสั่งกับเสนาบดีบางคนเพียงลำพัง[15]  และนอกจากการสร้างเมืองดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองเพื่อฝึกหัดระบอบประชาธิปไตยในหมู่ขุนนางแล้ว ก็ไม่ปรากฏความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะมีระบอบการปกครองแบบที่ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ว่า สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี “คอนสติตูชั่น” ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะถือและใช้อำนาจได้ทุกคน ถ้ามีการเลือกผู้แทน จะมีการล่อใจประชาชนด้วยการติดสินบนต่างๆ ได้ง่าย  ทรงเห็นว่าการมีนักการเมืองจะทำให้เกิดความแตกแยก เช่น การมี “ปาร์ตีสิสเต็ม” ทำให้การปกครองไม่มั่นคง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง “เคาเวอร์เมนต์” เสมอ ทำให้บ้านเมืองยิ่งชอกช้ำมากขึ้น[16]

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2454 เพียงปีแรกหลังครองราชย์ ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่ง ประสงค์จะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง แต่ประสบความล้มเหลว จนรู้จักกันในภายหลังว่า “กบฏ ร.ศ. 130”  พระองค์ได้แสดงให้เห็นความพยายามจะเป็นประชาธิปไตยด้วยการฝึกปรือข้าราชการผ่านเมืองจำลองดุสิตธานี ซึ่งมีการปกครองคล้ายกับประเทศจริง ๆ  ในทางสังคมก็ให้มีการออกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ได้  แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังทรงไม่เห็นว่า ประเทศพร้อมที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  ถึงกับเคยมีรับสั่งว่า การปกครองของไทยนั้นจะปกครองด้วยรูปแบบอื่นใดไม่ได้นอกจากด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์[17]  และทรงเห็นว่าระบอบเดิมดีอยู่แล้ว ด้วยมี “พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น” ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ไม่เหมาะสมแก่ประเทศ เพราะคนยังไม่มีความรู้[18]

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับราชสมบัติมาจากพระบรมเชษฐาธิราช พระองค์ได้พยายามเจริญรอยตามพระบรมราชชนกด้วยการนำเจ้านายชั้นสูงกลับมารับราชการอีกครั้งหนึ่ง เพียง 2 วันหลังครองราชย์ พระองค์ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเพื่อปรึกษาหารือเรื่องบริหารราชการแผ่นดินต่างๆ และภายหลังยังได้ปรับปรุงเสนาบดีสภาซึ่งมีมาแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการเรียกประชุมอย่างสม่ำเสมอ  และได้มีการตั้งองคมนตรีสภาขึ้นใน พ.ศ. 2470  เพื่อ 

“ทดลองและปลูกฝังการศึกษาในวิธีการปรึกษา โต้เถียง ให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงได้ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ใช้การได้เหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองที่มีอยู่ในเวลานี้ ถ้าถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองของประเทศต่อไปก็จะทำได้โดยสะดวก”[19]

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราษฎรในยุคนั้นกำลังเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การมีรัฐธรรมนูญ การมีสภา ดังจะเห็นได้จากการถวายฎีกาจำนวนไม่น้อย เช่น นายภักดีกับนายไทย  นายนรินทร์ ภาษิต  นายถวัติ ฤทธิเดช เป็นต้น นอกจากนี้ ข้าราชการรุ่นเก่าอย่าง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  พลตรี พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม ก็ได้ทำฎีกาถวายความเห็นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นเดียวกัน[20] และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรับรู้ว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไขระเบียบทางการเมืองไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่อาจพ้นจากความรู้สึกแห่งสมบูรณาญาสิทธิ์ไปได้

พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ประชาชนชาวสยามนั้นยังไม่มีจิตวิญญาณแบบอารยชน (civil spirit)[21] และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีอำนาจเพิ่มขึ้นในอภิรัฐมนตรีได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับการที่จะสนับสนุนคนชั้นต่ำให้เป็นปรปักษ์ต่ออำนาจในแผ่นดิน[22] และเจ้านายรุ่นหนุ่มหลายองค์ซึ่งขยันขันแข็งและเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษก็คัดค้านด้วยเช่นกัน[23] เนื่องจากไม่เชื่อว่า “หลักอุดมคติประชาธิปไตยเป็นความจริงของโลก หากเป็นหลักการที่ได้รับการเชิดชูว่าสูงเด่นในหมู่พวกแองโกลแซกซอนเท่านั้น ชาติอื่น ๆ ยังทำไม่สำเร็จเลย”[24]

ดังนั้น การแก้ไขระเบียบทางการเมืองของพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นไปอย่างจำกัดเป็นอย่างยิ่งเมื่อเปรียบกับความต้องการของราษฎร[25]  และถึงแม้ว่าจะให้พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ร่างรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวาย แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเพื่อประกาศใช้แต่อย่างใด

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้ง ราวปลายปี 2474 ทรงมีรับสั่งให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมร่างรัฐธรรมนูญ โดยท่านเสนาบดีได้โอนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญไปให้กับนายเรย์มอนด์  บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)[26]  โดยที่ทั้งร่างนั้นยังคงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ 

ดังมีข้อความประกาศไว้ชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์”[27]  ถึงกระนั้น พระยาศรีวิสารวาจาและนายเรย์มอนด์  บี. สตีเวนส์ ก็เห็นว่า ยังไม่ควรให้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากปัญหาของประเทศอยู่ที่ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่รูปแบบการปกครอง  และราษฎรยังไม่มีความพร้อมต่อระบบรัฐสภา  โดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และสิ่งพิมพ์ พ.ศ. 2470 เพื่อตอบโต้การวิจารณ์ของสื่อมวลชนด้วย[28]

ในสายตาของอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามขณะนั้น เขาได้ประเมินสภาพการปกครองในสยามว่า ราษฎรสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และรอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น “รอไปอีกร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ”[29]

ขณะที่ฝ่ายของราษฎรเองนั้น การที่สยามเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2435 ทำให้สำนึกของปัจเจกบุคคลเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ จากความจงรักภักดีต่อระบอบการปกครองของพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีการสืบราชสันตติวงศ์ในสายโลหิตเดียว ไปสู่ระบอบการปกครองที่มีหลักการจำกัดอำนาจ หลักการประกันสิทธิเสรีภาพ และเปิดโอกาสทางการเมืองสำหรับราษฎร

สำนึกใหม่นี้เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบเงินตรา การขยายตัวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์  ที่สำคัญคือการขยายตัวของระบบราชการที่เกิดการให้เงินเดือนตามความรู้ความสามารถของตนเอง ทำให้เกิดความสำนึกเรื่องศักยภาพของตนเองในฐานะปัจเจกชนว่ามีพลังมากขึ้น มีการเผยแพร่สื่อสารความรู้และประสบการณ์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีสำนึกเรื่องการทำให้ “ชาติ” และ “บ้านเมือง” เจริญก้าวหน้า

นอกจากนี้ความคิดทางเวลาที่ถูกถ่ายทอดแก่ราษฎรพร้อมๆ ไปกับแนวคิดเรื่องชาติ คือความคิดที่ว่า เวลาของชีวิตมนุษย์นั้นไม่ยืดยาวนัก เป็นเวลาช่วงชีวิตในชาตินี้เท่านั้น ส่วนเวลาของสังคมหรือเวลาของชาติยาวนานกว่ามาก และได้ดำเนินมาในแนวทางที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการกระทำของมนุษย์  ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่อุทิศตนให้แก่การกระทำความก้าวหน้าแก่สังคมหรือชาตินั่นเอง[30]

การมีสำนึกเชิงปัจเจกขยายตัวอย่างกว้างขวางในหมู่ข้าราชการและชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่ง นับเป็นภูมิปัญญาที่ขัดแย้งกับความคิดรากฐานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ใช่พระองค์เดียวเท่านั้นที่ควรเป็นผู้กำหนดชีวิตของประเทศว่าจะก้าวไปทางใด เกิดมีสำนึกว่าราษฎรสามัญก็มีศักยภาพพอที่จะมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ให้ชาติมีเอกราช (หลังจากเสียเอกราชทางการศาลไปในการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากสนธิสัญญาประเทศต่างๆ) และเจริญก้าวหน้าเสมอกับชาติอื่น  สำนึกทางสังคมเช่นนี้เองที่ผลักดันให้ข้าราชการหนุ่มกลุ่มหนึ่งในนามคณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อความเจริญของประเทศ[31]

ดังที่ก่อนหน้าคณะราษฎร มีคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งใน ร.ศ.130 ก่อการลงมือจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ พวกเขาในกลุ่มแรกเห็นกันว่า 

“เรื่องความเจริญของชาตินี้ หากเราไม่ช่วยกันทำขึ้น ก็ใครเล่าเขาจะช่วยเรา ยิ่งจะต้องเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองด้วยแล้ว คนมือเปล่าจะทำได้อย่างไร จำต้องเป็นผู้ถืออาวุธของชาติ คือทหาร ประกอบด้วยฝ่ายพลเรือนที่มีสมองปฏิวัติเข้ามาเป็นกำลังร่วมด้วย เพื่อจัดระบบการปกครองตามอารยสมัย”[32]

นอกจากการแสดงตนด้วยสำนึกทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของราษฎรสามัญชนแล้ว ยังปรากฏด้วยว่า ราษฎรบางคนเห็นว่า กลุ่มบุคคลผู้ครองอำนาจในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผู้กีดขวางวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์ ดังปรากฏในบทความเรื่อง “เห็นว่าจ้าวเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ” ในหนังสือพิมพ์ ราษฎร ความว่า 

“ถ้าปล่อยให้เจ้ามีอำนาจถือบังเหียนการปกครองอยู่ต่อไป พลเมืองก็คงจะยากจนอยู่อย่างเดิม จ้าวเป็นลูกตุ้มก้อนมหึมาที่ถ่วงความเจริญของประเทศ ไม่ให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้ พวกเจ้านายมีแต่จะคอยสูบเลือดประชาชน … บ้านเมืองที่เจริญได้ก็ต้องอาศัยกำลังจากราษฎร แต่บ้านเมืองจะเจริญไปไม่ได้ในเมื่อราษฎรมีโรคผอมแห้งหรือถูกสูบเลือด”[33]

โดยนัยนี้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนชนชั้นนำจากเจ้านายมาเป็นทหารและข้าราชการเท่านั้น หากยังหมายถึงการให้การรับรองหรือเริ่มต้นการรับรองสิทธิประโยชน์ของคนชั้นกลาง พ่อค้าระดับกลางและระดับย่อย รวมถึงการตอบสนองกับข้อเรียกร้องของราษฎร เปิดโอกาสให้ผู้นำท้องถิ่นในนามของการเป็นตัวแทนราษฎรมีปากมีเสียงในสภา[34]

กล่าวได้ว่า การปรับตัวต่อการมีระบอบรัฐธรรมนูญของฝ่ายชนชั้นปกครองตลอด 40 ปีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นไปอย่างเชื่องช้า  จนในที่สุด เมื่อสถานการณ์สุกงอม ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งในนาม “คณะราษฎร” ก็ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อนำประเทศสยามเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นช่วงชีวิตใหม่ของประเทศ  

ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ปรารภกับภรรยาก่อนวันก่อการว่า 

“การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้มิได้หมายจะช่วงชิงราชบัลลังก์หรือล้มราชบัลลังก์ แต่มุ่งหมายจำกัดอยู่เพียงว่าให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้ แทนที่พวกผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะผูกขาดการแสดงความคิดเห็นไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังเสียงผู้น้อยเลย เช่นที่เป็นมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีแต่จะนำบ้านเมืองไปสู่ความหายนะ” [35]

นอกจากมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าคณะราษฎรแล้ว ยังมีแกนนำฝ่ายต่างๆ ได้แก่ นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ในฝ่ายทหารหนุ่ม  นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ในฝ่ายทหารเรือ  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฝ่ายพลเรือน

คณะราษฎรที่นำการเปลี่ยนแปลง ได้ประกาศหลัก 6 ประการขึ้นเป็นอุดมการณ์ในการปกครองประเทศ ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ดังนี้[36]

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรดังที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ มาอธิบายในภายหลังว่า คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ (2) พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ[37]

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในชื่อ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475” ขึ้น ซึ่งมีมาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”  แล้วจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงความสงบของบ้านเมืองและเจตนาที่ดีของคณะราษฎรจึงได้รับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ต่อไป  ดังมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ตอนหนึ่งว่า 

“ความจริง ข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่เปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิดเพื่อคุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก”

ทั้งยังมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ผู้สำเร็จราชการพระราชวังฯ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ตอนหนึ่งว่า 

“พระราชวงศ์ควรช่วยกันรักษาความสงบโดยละม่อมละไม เพราะความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความดำริของฉัน ให้เจ้าคุณทูลพระบรมวงศานุวงศ์และชี้แจงผู้จงรักภักดีอย่ากระทำการใด ๆ ซึ่งไม่สงบราบคาบ แม้เพียงใช้กิริยาวาจาเสียดสีก็มิบังควร”[38]

ในพิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นั้น มีเกร็ดที่น่าสนใจ คือ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ว่า 

“ให้ยกพระแท่นมนังคศิลาซึ่งเป็นของพระร่วงเจ้าไปเสียในวังหลวง, อย่าให้ท่านประทับ และพระสังวาลของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ก็อย่าหยิบมาให้ท่านทรงในวันนั้น, เพราะพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นี้ท่านได้กู้ชาติบ้านเมืองมา. ฉันจะเป็นผู้ที่จะพาไป…, จึงไม่สมควรจะนั่งและใส่ของๆ ท่าน”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรำพันอยู่เสมอด้วยว่า

“ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่าตายายเข้าจริง ๆ ท่านคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่”[39]

 

เชิงอรรถ

[1] ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “คำนำ,” ใน พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), น. 6.

[2] ที่สุดเป็นกรมพระนเรศวรฤทธิ์  ต้นราชสกุล กฤดากร.

[3] ที่สุดเป็นกรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดา  ต้นราชสกุล โสณกุล.

[4] ที่สุดเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และต้นราชสกุล สวัสดิวัตน.

[5] บรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาสตรา ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า  พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เป็นญาติห่าง ๆ กับนายปรีดี พนมยงค์  และเป็นบิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ผู้เป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.

[6] กรมศิลปากร, กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 5, บ. 2/16. อ้างถึงใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมือง–การปกครอง ไทย พ.ศ. 2417–2477, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2517), น. 58.

[7] เพิ่งอ้าง, น. 59-60.

[8] เพิ่งอ้าง, น. 61.

[9] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2538), น. 95-97.

[10] เชาวนะ ไตรมาศ, การเมืองในรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, 2551), น. 38.

[11] กรมศิลปากร, กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 5, บ. 1/16. อ้างถึงใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมือง–การปกครอง ไทย พ.ศ. 2417–2477, น. 79, 81.

[12] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระบรมราชาธิบายเรื่องสามัคคี, พระโอรสพระธิดาและพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร พระบิดา โปรดให้จัดพิมพ์ในงานพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ครบ 84 พรรษา, (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2489), น. 4-5.

[13] “คำนำสำนักพิมพ์,” ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. (9).

[14] วิชัย ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้า, (พระนคร: อักษรสาสน์, 2505), น. 47.

การสละราชสมบัตินั้นเป็นแนวพระราชดำริเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก ที่ทรงปรารภเป็นการภายในว่า เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงผนวชแล้ว จะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์นั้นจะเสด็จออกเป็น “พระเจ้าหลวง” ไปประทับ ณ พระราชวังสราณรมย์ คอยช่วยแนะนำกำกับราชการต่อไป  ดู ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), น. 46. อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ มิได้ทรงเป็น “พระเจ้าหลวง” เช่นที่มีพระราชประสงค์ เพราะสวรรคตก่อนที่จะถึงเวลานั้น.

[15] มัทนา เกษกมล, “การเมืองและการปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 14, 3-4 (2518), น. 94.

[16]  มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม,” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 1 สิงหาคม 2517, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2517), น. 49-59 อ้างถึงใน ณัฐพล ใจจริง, “บทนำเสนอ,” ใน เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130,  (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556), น. 42.

[17] หจช., ร.7 รล.7/3 เรื่องพระราชบัญญัติองคมนตรี พระราชดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในวันเปิดประชุมกรรมการจัดระเบียบองคมนตรีสภา 11 เมษายน 2470.

[18] ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, การเมือง–การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2523), น. 52.

[19] หจช., ร.7 รล.6/6 เรื่องเปิดประชุมองคมนตรีสภา พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 ธันวาคม 2470.

[20] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 116.

[21] หจช., ร.7 ต.21/11, “พระราชกระแส,” 1 มกราคม 2471.

[22] หจช., ร.7 รล.6/4 การประชุมพิจารณาบันทึกของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, 20 มิถุนายน 2470.

[23] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 116.

[24] หจช., ร.7 รล.6/3 สำเนาการประชุมกรรมการองคมนตรี, 11 เมษายน 2470.

[25] อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), น. 291.

[26] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น. 212.

[27] หจช., ร.7 ม.1.3/142 An outline of changes in the form of government 2474.

[28] เชาวนะ ไตรมาศ, การเมืองในรัฐธรรมนูญ, น. 40.

[29] ยาสุกิจิ ยาตาเบ, บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 : การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), น. 16.

[30] อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 249.

สำนึกดังกล่าวนี้แม้ในหมู่พระอนุวงศ์อย่าง ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ก็รู้สึกเช่นกันดังบันทึกที่ทรงนิพนธ์ไว้ใน พ.ศ. 2486 ว่า “ข้าพเจ้าเองโชคเคาะให้ไปยุโรปมาเพียง 4 เดือน ได้เห็นได้ฟังมาครู่เดียวยังรุ่มร้อนอยากได้อยากมีในเมืองของตนบ้าง, และกลับมาคิดแล้วคิดเล่าว่ายอมทุกอย่างที่จะฟันฝ่าความลำบากเพื่อทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้หญิงไทย”[30] จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าสามัญชนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ไปเล่าเรียนในต่างประเทศ จะมีสำนึกที่อยากจะกลับมาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศของพวกเขา เพราะไม่ได้ไปอยู่กันเพียงคนละไม่กี่เดือน แต่คนละหลายปีเลยทีเดียว  ดู พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ., พระราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 25.

[31] อภิญญา รัตนมงคลมาศ และวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, คนไทยกับการเมือง ปีติฤๅวิปโยค,(กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, 2547), น. 22-23. และ อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 210-244.

[32] เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556), น. 42.

[33] ลุงสิ่ว, “เห็นว่าจ้าวเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ,” ราษฎร, 9 มกราคม 2471 อ้างถึงใน อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 297.

[34] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 124.

[35] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2557), น. 95.

[36] “ประกาศคณะราษฎร,” ใน หนังสือสนุก, ส. ศิวรักษ์ (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2561), น. 229-230.

[37] ปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,” ใน แนวคิดประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 77.

[38] บุญเลอ เจริญพิภพ (รวบรวม), ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร, (พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2475), น. 20-21 และ 55.

[39] พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ., สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), น.137-139.

 

ที่มา: แก้ไขเล็กน้อยจาก กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475–2490,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 41-51.

หมายเหตุ: 

  • เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.the101.world/constitutional-monarchy-before-2475/ วันที่ 1 ธันวาคม 2020
  • บทความนี้ได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่ได้