คงแว่วยินมาเนืองๆ ว่าด้วยเรื่องบุคคลผู้วางแผนทั้งหมดในการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้แก่พระยาทรงสุรเดช แต่น้อยคนนักจะทราบเรื่องที่นายปรีดี พนมยงค์เองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งผู้วางแผนสำรองไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ “แผนตลิ่งชัน”
ย้อนกาลเวลาสู่ปลายทศวรรษ 2460 ขณะนายปรีดียังเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสและร่วมกับผองเพื่อนเริ่มริจะกลับไปเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เมืองไทย เขาเคยเสนอแผนการปฏิวัติยึดอำนาจต่อมิตรสหายคณะผู้ก่อการ โดยเฉพาะวิธีจับเจ้านายพระองค์สำคัญเป็นตัวประกัน ซึ่งนำเอาต้นแบบมาจากวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายที่ตนกำลังศึกษาอยู่ ดังในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 นายปรีดีบอกเล่าผ่านหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ตอนหนึ่ง ความว่า
“ในบรรดาแผนที่เราค้นคว้ากันที่ปารีสก่อนมีหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น มีอยู่แผนหนึ่งซึ่งประยูรอาจระลึกได้ คือในการสนทนากันในค่ำวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แจ้งให้รู้ถึงความคิดที่ข้าพเจ้าเกิดขึ้นขณะได้ฟังคำบรรยายประวัติศาสตร์กฎหมายพิสดารในชั้นปริญญาเอก
ศาสตราจารย์ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยโบราณที่เจ้าแคว้นแห่งหนึ่งใช้วิธียึดเจ้าแคว้นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตาม ข้าพเจ้าก็เกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่าวิธีการอภิวัฒน์ของเรานั้น น่าจะทำได้โดยมิให้เลือดตกยางออก คือใช้วิธียึดตัวผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารสมัยนั้นเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับคำขอของคณะราษฎร์ ให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญชนิดราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ซึ่งขณะนั้นเราเรียกว่ากษัตริย์ใต้กฎหมาย ข้าพเจ้าได้อธิบายตามหลักปรัชญาทางสังคมว่า ทุกสิ่งมีด้านบวกกับด้านลบ แม้ว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มีอำนาจมากซึ่งเป็นด้านบวก แต่ก็มีด้านลบคือการที่ระบบนั้นมีคนจำนวนน้อยกุมอำนาจไว้ในมือ ซึ่งถ้ายึดตัวคนจำนวนหยิบมือเดียวที่กุมอำนาจแล้ว การอภิวัฒน์ของเราก็จะสำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ....”
“หนังสือเล่มที่กล่าวนั้น” ในปากคำนายปรีดี หมายถึงหนังสือ เทคนิครัฐประหาร หรือ Technique du coup d'État ผลงานของคูร์สิโอ มาลาปาร์เต (Curzio Malaparte) ซึ่งคนเข้าใจผิดกันว่าหลวงพิบูลสงครามศึกษายุทธวิธีจากเล่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นนายร้อยโท แปลก ขีตตสังคะในฝรั่งเศส หากนายปรีดีแย้งว่า
เทคนิครัฐประหาร เพิ่งตีพิมพ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่กี่เดือน เขาเป็นผู้สั่งซื้อมาจากฝรั่งเศส ฉีกปกออกเผาไฟ เมื่ออ่านจบแล้วก็มอบให้หลวงพิบูลสงครามไปอ่านและยังมิได้รับคืน คุณผู้อ่านท่านใดสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของผมชื่อ “เท็คนิครัฐประหาร: หนังสือที่ ‘ปรีดี’ ซื้อให้ ‘แปลก’ อ่าน”
ส่วน “ประยูร” ผู้ได้รับการพาดพิงก็คือนายประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในคณะผู้ก่อการรุ่นแรกสุดที่ฝรั่งเศส
ทางด้าน ประวัติศาสตร์กฎหมายพิสดาร หรือ พงศาวดารกฎหมายอย่างพิสดาร (Histoire du Droit) เป็นวิชาของหลักสูตรการศึกษากฎหมายระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยปารีส อันเป็นไปตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี (ประกอบด้วยกฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1895, กฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1921, กฎเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ค.ศ. 1912 และ กฎเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ค.ศ. 1922) นักศึกษาชั้น “ด๊อกเตอร์ฝ่ายนิติศาสตร์” หรือ Docteur en Droit (mention sciences juridiques) จะต้องเรียนวิชานี้ในภาคการศึกษาที่ 1 พร้อมๆ กับวิชาแปลและวินิจฉัยกฎหมายโรมัน รวมถึงวิชากฎหมายโรมันอย่างพิสดารและลึกซึ้ง ก่อนจะไปเรียนวิชากฎหมายขั้นสูงสาขาต่างๆ ในภาคการศึกษาที่ 2 และเขียนวิทยานิพนธ์ในภาคการศึกษาที่ 3
ครั้นนายปรีดีและผองเพื่อนคณะผู้ก่อการหวนกลับคืนเมืองไทย พวกเขาพยายามเผยแพร่แนวความคิดและรวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นสมาชิก “คณะราษฎร” อีกทั้งเมื่อเชิญนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่อย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) มาร่วมเป็นผู้นำด้วยได้ช่วงประมาณ 4 - 5 เดือน ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน จึงมีการนัดประชุมคณะกรรมการคณะราษฎรทั้งสายทหารบก สายทหารเรือ และสายพลเรือน ในที่ประชุมตกลงให้พระยาทรงสุรเดชรับบทบาท “เสนาธิการ” ผู้วางแผนปฏิวัติ
นายปรีดีลองเสนอแผนจับเจ้านายพระองค์สำคัญเป็นตัวประกัน ที่ประชุมคณะราษฎรหลายฝ่ายรับไว้พิจารณา แต่ส่วนใหญ่ยังเห็นควรให้ใช้แผนการอาศัยกำลังทหารจำนวนมากยึดอำนาจตามแนวทางของพระยาทรงสุรเดช
พอประชุมถกเถียงกันหลายหนเข้า พลันปรากฏความไม่ลงรอยในฝ่ายทหารบกระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับพระยาฤทธิอัคเนย์เรื่องช่วงเวลาที่จะลงมือทำการ ซึ่งนายปรีดีเห็นพ้องกับความคิดของพระยาฤทธิฯ เขาเปิดเผยว่า
“...การปรึกษากันเกิดขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้าคุณทรงที่ต้องการลงมือทำการขณะพระปกเกล้าประทับอยู่ในกรุงเทพฯ กับฝ่ายเจ้าคุณฤทธิ์ฯ ที่ข้าพเจ้าเห็นด้วย ว่าควรลงมือทำการขณะพระปกเกล้าไม่ประทับอยู่ในพระนคร ถึงกับเจ้าคุณฤทธิ์ฯ ขอถอนตัวจากคณะราษฎร์…”
เล็งเห็นสถานการณ์ไม่ค่อยราบรื่นเสียแล้ว นายปรีดีจึงตริตรองคิดวางแผนสำรองพร้อมนำไปหารือกับเพื่อนๆ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหารเรือที่นำโดยหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
“...เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกเกิดขัดแย้งกันเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปรึกษาเพื่อนฝ่ายพลเรือนบางคนรวมทั้งประยูรฯ และหัวหน้าฝ่ายทหารเรือให้พิจารณาแผนการจับเสนาบดีทั้งคณะที่โดยสารรถไฟไปประชุมที่วังไกลกังวลหัวหินทุกๆ ปลายสัปดาห์ ระหว่างพระปกเกล้าประทับที่นั่น”
เหตุที่แผนจับเสนาบดีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นตัวประกัน เรียกขานว่า “แผนตลิ่งชัน” เพราะสมัยนั้นรถไฟสายใต้แล่นไปหัวหินจะต้องหยุดจอดที่ชุมทางตลิ่งชันซึ่งติดกับคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางกอกน้อย ตอนคณะเสนาบดีเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน ช่วงปลายสุดสัปดาห์ ก็จะให้พวกทหารเรือเพียงหมวดเดียวคอยดักรถไฟให้หยุดแล้วเชิญคณะเสนาบดีมากักตัวไว้บนเรือกลไฟชั้นสี่ของทหารเรือ กำหนดผู้รับหน้าที่ในภารกิจนี้คือเรือเอก หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ผู้บังคับการเรือรบหลวงพาลีรั้งทวีป โดยให้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าขอนำทหารประจำเรือพาลีรั้งทวีปซึ่งจอดคุมเชิงหน้าวังบางขุนพรหมไปฝึกซ้อมยุทธวิธีแบบทหารราบรวมถึงยุทธวิธีการยกพลขึ้นบกบริเวณตลิ่งชัน และขอเรือกลไฟบรรทุกทหารแล่นไปส่งที่นั่นด้วย ซึ่งหลวงสังวรฯ บอกเป็นแผนการที่ “สนุกดี”
เพื่อความแน่ใจว่ารถไฟจะไม่รีบถอยหลบหนีจากสถานีชุมทางตลิ่งชัน นายปรีดีได้ปรึกษากับเพื่อนร่วมก่อการฝ่ายรถไฟ เช่น หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์) และหม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ซึ่งในฐานะที่หม่อมหลวงอุดมเป็นนายช่างกล ทั้งยังขึ้นรถจักรดีเซลของขบวนรถไฟเสนาบดีไปหัวหินด้วย กำหนดให้พอหยุดจอดสถานีชุมทางตลิ่งชันแล้ว หม่อมหลวงอุดมจะต้องไม่เคลื่อนขบวนรถต่อไป เปิดโอกาสให้พวกทหารเรือบุกเข้าจับกุมตัวเสนาบดี
ต่อมาฝ่ายหัวหน้าสายทหารบกทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาและพระยาทรงสุรเดชตกลงจะทำการยึดอำนาจช่วงระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่วังไกลกังวล หัวหิน พระยาฤทธิอัคเนย์ยินดีกลับมาร่วมมือกับคณะราษฎร ที่ประชุมหลายฝ่ายเห็นควรจะใช้แผนการจับเจ้านายและเสนาบดีเป็นตัวประกันมากกว่าอาศัยกองกำลังรบพุ่งรุนแรง
ท้ายสุด แผนการสำรองของนายปรีดีที่จะจับเสนาบดีตอนโดยสารรถไฟสายใต้ไปหัวหิน นำไปควบคุมตัวบนเรือกลไฟ จึงมิได้ถูกนำมาใช้
“แผนตลิ่งชัน” นับเป็นสิ่งสะท้อนได้ดียิ่งถึงปณิธานของนายปรีดี พนมยงค์ที่จะทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยไม่ยอมให้ชาวไทยด้วยกันต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ทั้งๆ ที่ตามยุทธวิธีการปฏิวัติยึดอำนาจห้วงยามนั้น ส่วนใหญ่มิแคล้วอาศัยวิธีใช้กองกำลังต่อสู้ปะทะกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย แต่นายปรีดีไม่ปรารถนาให้ความโหดร้ายเกิดขึ้นกับประเทศของตน จึงจำเป็นต้องคิดค้นกุศโลบายเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงให้ได้มากที่สุด โชคดีเหลือเกินที่ผู้นำฝ่ายทหารบกหันกลับมาคล้อยตามแนวคิดของนายปรีดีและนำเอาบางส่วนไปปรับใช้ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เอกสารอ้างอิง
- ปรีดี พนมยงค์. “การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ.” บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 (มิถุนายน 2469). หน้า 660-665
- ป. แก้วมาตย์ (ปั่น แก้วมาตย์). บันทึกพระยาทรงสุรเดช. กรุงเทพฯ: การพิมพ์กรุงเทพฯ, 2490
- พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516
- หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์กับทางรถไฟสายมรณะ. หลานๆ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เมษายน 2490. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2490
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2519. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, 2520
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์. ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2510. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2510
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร.” The 101. World 24 June 2020
หมายเหตุ:
- คำสะกดในบทความอิงตามเอกสารชั้นต้น
- จัดรูปแบบตัวอักษรโดยบรรณาธิการ
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ปรีดี พนมยงค์
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- การอภิวัฒน์สยาม
- แผนตลิ่งชัน
- พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ
- สังวร สุวรรณชีพ
- Curzio Malaparte
- คูร์สิโอ มาลาปาร์เต
- แปลก ขีตตสังคะ
- เทคนิครัฐประหาร
- ประยูร ภมรมนตรี
- คณะราษฎร
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พจน์ พหลโยธิน
- พระยาทรงสุรเดช
- เทพ พันธุมเสน
- พระยาฤทธิอัคเนย์
- สละ เอมะศิริ
- หลวงสินธุสงครามชัย
- สินธุ์ กมลนาวิน
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- วังไกลกังวล
- หลวงสังวรยุทธกิจ
- หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์
- หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์
- หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์
- ปั่น แก้วมาตย์