ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เท็คนิครัฐประหาร: หนังสือที่ ‘ปรีดี’ ซื้อให้ ‘แปลก’ อ่าน

14
พฤศจิกายน
2563

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมักได้รับการกล่าวอ้างเชื่อมโยงถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หนังสือเล่มนั้น คือ Technique du coup d'État ผลงานของคูร์สิโอ มาลาปาร์เต (Curzio Malaparte) หรือที่เคยปรากฏผู้แปลพากย์ไทยในชื่อ เท็คนิครัฐประหาร

เป็นที่ร่ำลือกันว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนทหารปืนใหญ่ในฝรั่งเศสได้อาศัยหนังสือ Technique du coup d'État เพื่อศึกษายุทธวิธียึดอำนาจอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  แน่ละ คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อข้อมูลนี้ แต่นายปรีดี พนมยงค์โต้แย้งและพยายามอธิบายข้อเท็จจริง ดังบอกเล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) ตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวว่า ภายหลังที่ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี กับข้าพเจ้าได้ตกลงรวบรวมมิตรบางท่านที่ปารีสจัดตั้งคณะราษฎรนั้น เราได้ปรึกษาหารือถึงวิธีการอภิวัฒน์ระหว่างกันเท่าที่เราจะค้นคว้าและนึกคิด  มีผู้เข้าใจผิดว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อาศัยหนังสือชื่อ “เทคนิครัฐประหาร” แต่งโดย “มาลาปาร์เตอะ” C. malaparte: technique du coup d'etat (เมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้ คุณจินดา จินตนเสรี ได้แปลเป็นภาษาไทย) อันที่จริงหนังสือเล่มนั้น เพิ่งพิมพ์ออกในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๑ คือ ก่อนอภิวัฒน์ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่กี่เดือน อันเป็นสมัยที่ประยูร แปลก ทัศนัย ตั้ว แนบ ข้าพเจ้ากลับสยามแล้ว  การที่เราได้หนังสือเล่มนี้เข้ามาในสยาม คือ ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้ารับประจำนั้น เห็นแจ้งความขายหนังสือเล่มนี้  ข้าพเจ้าจึงซื้อดราฟธนาคารอินโดจีนส่งเงินไปยังสำนักพิมพ์ตัวแทนข้าพเจ้าให้จัดซื้อหนังสือเล่มที่กล่าวปนมาด้วย  เมื่อหนังสือนั้นมาถึง ข้าพเจ้าได้ฉีกปกออกเผาไฟ คงเหลือแต่เรื่องข้างใน ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็มอบให้ ร.ท. แปลก ซึ่งมียศและบรรดาศักดิ์เป็นพันตรี หลวงพิบูลสงครามรับไปอ่านต่อ ๆ กันไป (ถ้าหนังสือเล่มนั้นยังอยู่ที่ทายาทท่านผู้นี้ ก็คงจะพบว่า หนังสือนั้นไม่มีปกหน้า เพราะข้าพเจ้าฉีกเผาไฟแล้วเพื่อความปลอดภัย)”

ถ้อยคำของนายปรีดีย่อมแสดงว่า หนังสือ Technique du coup d'État เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1931 (ตรงกับ พ.ศ. 2474) ภายหลังผู้ก่อการคณะราษฎรที่เรียนหนังสือในฝรั่งเศสได้ย้อนกลับคืนสู่เมืองไทยและรับตำแหน่งหน้าที่การงานหลายปีแล้ว

มิหนำซ้ำ นายปรีดีก็คือผู้สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้เข้ามาเองก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่กี่เดือน ทั้งยังมอบให้พันตรี หลวงพิบูลสงคราม อ่าน โดยฉีกหน้าปกออก จึงเป็นไปมิได้เลยที่จอมพล ป. จะเคยศึกษายุทธวิธีการยึดอำนาจจากงานเขียนของมาลาปาร์เตห้วงยามที่กำลังเรียนวิชาทหาร ณ โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่แห่งฟงแตนโบล (École d'application d'artillerie de Fontainebleau)

 

หนังสือ Technique du coup d'État ฉบับตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931 ภาพจาก www.abebooks.fr
หนังสือ Technique du coup d'État
ฉบับตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931
ภาพจาก www.abebooks.fr

 

คูร์สิโอ มาลาปาร์เต เป็นนามแฝงของควร์ต เอริค ซุกเคอร์ (Kurt Erich Sucker) นักคิดนักเขียนชาวอิตาเลียน เขาเขียนหนังสือ Technique du coup d'État เพื่อศึกษาวิเคราะห์และเปิดเผยยุทธวิธีการทำรัฐประหารในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญของโลก เช่น การปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซีย แนวทางการทำรัฐประหารของเลออน ทร็อตสกี้ (Leon Trotsky) และการพยายามทำรัฐประหารในเยอรมนีช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 ที่นำโดยนายพลวอลเทอร์ ฟอน ลุตวิตซ์ (Walther von Lüttwitz) แต่ประสบความล้มเหลวจนถูกเรียนขานว่ากบฏกาปป์-ลุตวิตซ์ (Kapp-Lüttwitz Putsch) เป็นต้น

 

คูร์สิโอ มาลาปาร์เต (Curzio Malaparte) ภาพจาก zonadidisagio.wordpress.com
คูร์สิโอ มาลาปาร์เต (Curzio Malaparte)
ภาพจาก zonadidisagio.wordpress.com

 

ใน ‘คำปรารภของผู้ประพันธ์’ ซึ่งเขียนไว้คราวที่หนังสือ Technique du coup d'État ตีพิมพ์อีกหนพร้อมแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1948 ณ กรุงปารีส มาลาปาร์เตกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าชังหนังสือเรื่องนี้  ข้าพเจ้าชังมันก็เพราะว่า พร้อม ๆ กับที่มันทำชื่อเสียงให้ข้าพเจ้า มันก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความทุกข์ยากทั้งมวลของข้าพเจ้าด้วย หนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องเสวยตะรางเป็นเวลานานเดือน ต้องถูกเนรเทศไปอยู่เกาะลีปารีเป็นเวลานานปี ทั้งยังถูกตํารวจตามรังควานอย่างทารุณโหดร้าย  หนังสือเล่มนี้ทําให้ข้าพเจ้ารู้จักกับความทรยศของมิตร เจตนาร้ายของศัตรู ความเห็นแก่ตัวและความชั่วช้าของคน  หนังสือเล่มนี้อีกน่ะแหละที่ทำให้เลื่องลือกันไปอย่างไร้สติว่า ข้าพเจ้าเป็นคนอวดดีและร้ายกาจ ทั้ง ๆ ที่ความจริงข้าพเจ้าเป็นเพียงนักประพันธ์ เป็นศิลปิน เป็นเสรีชนที่รับเคราะห์จากการกระทําของคนอื่นมากกว่าการกระทําของตนเอง”

ตอนที่ Technique du coup d'État ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอิตาเลียนครั้งแรก เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ผู้นำเผด็จการของอิตาลี ได้สั่งห้ามโฆษณาหนังสือเล่มนี้โดยเด็ดขาดทั่วประเทศ เพราะในงานของมาลาปาร์เตมีน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์มุสโสลินีและลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) รวมถึงวิจารณ์การบุกเข้าโจมตีบดขยี้เอธิโอเปียของกองทัพอิตาลี  ส่วนหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาเยอรมันครั้งแรกก็นับว่าได้ช่วยโหมกระพือการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มีการคัดเนื้อความจากงานของมาลาปาร์เต้ไปลงไว้บนป้ายโฆษณาของกลุ่มแอนตี้นาซี  ครั้นฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในปี ค.ศ. 1933 จึงสั่งยึดหนังสือเล่มนี้ตามร้านขายหนังสือต่าง ๆ เอาไปเผาไฟต่อหน้าสาธารณชน

มาลาปาร์เตยังถูกจับกุมตัวไปคุมขัง เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติต่อเขาอย่างเลวร้าย บางครั้งถึงกับซ้อมทุบตี ศาลพิพากษาลงโทษให้ส่งเขาไปกักตัวบนเกาะลีปารีด้วยความผิดฐานกระทําการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบฟาสซิสต์ หลักฐานการกระทำผิดที่ศาลหยิบยกขึ้นอ้าง ก็คือ หนังสือ Technique du coup d'État ซึ่งมุสโซลินีได้ใช้ดินสอแดงขีดเส้นใต้ข้อความบางตอนไว้

มาลาปาร์เตทนทุกข์ทรมานบนเกาะลีปารีจวบจนปี ค.ศ. 1938 จึงได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่มิแคล้วถูกตำรวจฟาสซิสต์คอยตามรังควานอยู่เนือง ๆ ขณะที่ในฝรั่งเศสนั้น พอหนังสือ Technique du coup d'État ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาครั้งแรกก็มีกระแสตอบรับอย่างดียิ่ง ดังมาลาปาร์เตเล่าว่า

“ในประเทศฝรั่งเศส นักการเมืองและนักเขียน นับแต่ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยไปจนถึงฝ่ายคอมมิวนิสต์  ต่างนิยมบทประพันธ์เรื่อง “เท็คนิครัฐประหาร” ด้วยกันแทบทั้งสิ้น  เฉพาะพวกนิยมราชาธิปไตย ได้หยิบยกบทประพันธ์ของข้าพเจ้าขึ้นอ้างในการเตือนให้ระวังอันตรายแห่งสถานการณ์ในเยอรมนีและในสเปญ  ตลอดจนชี้ให้นักพิทักษ์เสรีภาพแลเห็นความอ่อนแอของประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวกซ้ายสุดคือคอมมิวนิสต์ ก็ใช้หนังสือเรื่องนี้เป็นเครื่องมือโจมตีตร๊อทสกี้ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในสมัยปฏิวัติใหญ่รัสเซียใน ค.ศ. 1917 ซึ่งเรียกกันว่าการปฏิวัติในเดือนตุลาคม”

เอกอัครราชทูตโซเวียตประจำประเทศฝรั่งเศสยังมอบสาส์นของรัฐบาลโซเวียตที่จะเชื้อเชิญให้มาลาปาร์เตเดินทางไปสังเกตการณ์และพำนักในสหภาพโซเวียตเป็นเวลา 6 เดือน แต่เขาได้ตอบปฏิเสธไปอย่างสุภาพ

ความที่ Technique du coup d'État ได้รับความนิยมในฝรั่งเศส จึงทำให้นายปรีดี พนมยงค์ผู้คอยติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากประเทศฝรั่งเศสเสมอ ๆ ตัดสินใจสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้เข้ามาในเมืองไทย และถัดต่อมาราว ๆ 40 กว่าปี นายปรีดียังเอ่ยพาดพิงถึงจินดา จินตนเสรี ในฐานะผู้แปลและเรียบเรียงของมาลาปาร์เตจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาไทย

จินดา จินตนเสรี เจ้าของนามแฝง ‘จ. พันธุมจินดา’ แปล Technique du coup d'État ออกมาในชื่อ เท็คนิครัฐประหาร จัดพิมพ์ครั้งแรกสุดโดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง เมื่อปี พ.ศ. 2500 (ต่อมาจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง) โดยเปิดเผยเจตนาของการนำเสนอหนังสือสู่สายตาผู้อ่านไว้ใน ‘คำนำของผู้แปลและเรียบเรียง’ ซึ่งลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2500 ความว่า

“ในการถอดความเรื่อง “Technique du coup d'État”  ของนายมาลาปาร์เต นักประพันธ์อิตาเลียน มาเป็นภาษาไทยนี้  จุดประสงค์ของข้าพเจ้ามิได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำรัฐประหาร  หากเพื่อให้เป็นเครื่องประดับภูมิรู้และเป็นเครื่องป้องกันขัดขวางมิให้เกิดรัฐประหารขึ้นในบ้านเมือง เพราะรัฐประหารเป็นวิธีการใช้กำลัง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ไม่สมควรจะให้มีขึ้นในเมื่อการปกครองเป็นประชาธิปไตยหรือกำลังวิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตย  รัฐประหารจะเป็นสิ่งที่ให้อภัยกันได้  ก็ต่อเมื่อกระทำขึ้นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบเผด็จการ  ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่เปิดช่องให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยวิถีทางกฎหมายตามความต้องการของประชาชน  แต่ทว่าตราบใดที่การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือกำลังวิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญยังมีอยู่  ตราบนั้นรัฐประหารก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา  เพราะรัฐประหารเป็นแบบแผนที่เลว ไม่เพียงแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักประชาธิปไตยเท่านั้น  ยังจะเป็นแบบอย่างจูงใจให้คนทะเยอทะยานคิดกระทำรัฐประหารกันไม่มีที่สิ้นสุด ความปลอดภัยและความสงบสุขของประชาชนก็จะไม่มี และประชาธิปไตยก็ยากที่จะบรรลุความสมบูรณ์ได้”

แน่นอนทีเดียว จินดาไม่สนับสนุนให้มีการรัฐประหาร เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ตระหนักดีเกี่ยวกับชื่อหนังสืออันชวนให้เข้าใจไปอีกแบบ

“ชื่อของบทประพันธ์เรื่องนี้อาจชวนให้เข้าใจว่า จะเป็นหนังสือคู่มือในการทำรัฐประหารโดยตรง ความเข้าใจเช่นนั้นว่าที่จริงก็ไม่ผิดทีเดียว แต่ก็ไม่ถูกต้องถ่องแท้ เพราะในหนังสือเรื่องนี้มีทั้งวิธีผูกและวิธีแก้  นายมาลาปาร์เต ผู้ประพันธ์ เป็นนักประชาธิปไตยที่จริงใจคนหนึ่ง  ซึ่งไม่นิยมการใช้กำลังโค่นรัฐบาลตามวิธีการรัฐประหาร  เขาเพียงแต่นำข้อวิเคราะห์ของเขาในเรื่องเกี่ยวกับการเกี่ยวกับรัฐประหารในบางประเทศมาตีแผ่ไว้  ในจุดประสงค์ที่จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นประจักษ์ว่า การรวบอำนาจในแผ่นดินนั้นพวกนักการเมืองหรือนักการทหารเขาใช้วิธีการกันอย่างไร  และจะพึงทำประการใดจึงจะป้องกันขัดขวางการรวบอำนาจนั้นได้  หากจะถือกันว่าหนังสือเกี่ยวกับรัฐประหารเป็นหนังสือชั่วร้าย  ก็จะต้องถือกันต่อไปว่าวิชาฟิสิคส์นิวเคลียร์ก็เป็นวิชาชั่วร้ายเหมือนกัน  เพราะเป็นวิชาที่ช่วยให้มนุษย์ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาได้  ซึ่งพลังงานนั้นมนุษย์จะเอาไปใช้สร้างอาวุธนิวเคลียร์สำหรับประหัตประหารกันก็ได้ หรือจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางสันติ เช่นในการผลิตกำลังไฟฟ้าก็ได้  ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่วิธีใช้เป็นสำคัญ การที่วิชาฟิสิคส์นิวเคลียร์ช่วยให้มนุษย์ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาได้ จึงไม่แปลว่าวิชานั้นเลวทราม ไม่ควรเรียนควรรู้  ถึงวิชากฎหมายก็เช่นกัน ใช่ว่าจะนำไปใช้ได้แต่ทางดีเท่านั้นก็หาไม่ คนโกงย่อมจะนำวิชานั้นไปก่อความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์ได้นานัปการ ดังที่ปรากฏพฤติการณ์ให้เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว”

จินดายังอดคำนึงมิได้ว่าหนังสือเล่มนี้อาจ “...มีลักษณะเป็นดาบสองคมซึ่งหากบังเอิญตกอยู่ในมือของคนบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม  มันก็อาจจะนำภัยพิบัติมาสู่ประชาชนและประเทศชาติได้โดยง่าย” กระนั้น “...เมื่อคำนึงต่อไปว่ามันเป็น “ดาบ” ซึ่งใคร ๆ ที่รู้ภาษาอิตาเลียนหรือภาษาฝรั่งเศสก็อาจจะเสาะหาไว้เป็นคู่มือได้ด้วยวิธีสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศ  ก็ดูเป็นการสมควรที่จะให้บทประพันธ์เรื่องนี้ได้ปรากฏเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย  เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทราบแยบยลกลเม็ดแห่งรัฐประหาร ว่ามีเป็นประการใด  จะได้ช่วยกันสอดส่องป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารขึ้นในบ้านเมืองของเราโดยเฉพาะก็ในสมัยที่การปกครองเป็นประชาธิปไตยหรือกำลังวิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตยโดยปราศจากการหน่วงเหนี่ยวจากผู้ทรงอำนาจ”

นั่นละ จินดาจึงตัดสินใจถอดความหนังสือของคูร์สิโอ มาลาปาร์เตจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาไทยให้ประชาชนได้ลองอ่านลองพิจารณากัน

 

เท็คนิครัฐประหาร แปลโดย จินดา จินตนเสรี ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง เมื่อ พ.ศ. 2500
เท็คนิครัฐประหาร
แปลโดย จินดา จินตนเสรี
ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง เมื่อ พ.ศ. 2500

 

รัฐประหารถือเป็นอุปสรรคขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมาทุกยุคสมัย ทว่าการศึกษาเรื่องราวจากหนังสือ Technique du coup d'État เพื่อเรียนรู้เท่าทันยุทธวิธีอย่างแยบยลก็ไม่ควรจะละเลยเช่นกัน แม้จะเป็นกรณีตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ ๆ หนึ่งร้อยปีมาแล้วก็ตาม นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นับได้ว่าเป็นคนแรก ๆ ที่นำเข้าหนังสือเล่มนี้มาสู่สังคมไทย ท่านก็คงหมายมั่นจะอ่านเพื่อทำความเข้าใจและพิจารณาบทเรียนจากเหตุการณ์รัฐประหารครั้งสำคัญ ๆ ในโลกช่วงเวลานั้นไว้เป็นองค์ความรู้กระมัง

การอ่าน เท็คนิครัฐประหาร จึงมิได้บ่งบอกว่า พวกเราต้องเห็นดีเห็นงามกับการทำรัฐประหาร แต่เป็นการอ่านด้วยเจตนาที่พวกเราจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารและช่วยกันพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยต่างหาก

 

เอกสารอ้างอิง

พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516.

มาลาปาร์เต, คูร์สิโอ. เท็คนิครัฐประหาร (Technique du Coup d' Etat). แปลโดย จินดา จินตนเสรี. พระนคร: เกวียนทอง, 2500.

มาลาปาร์เต, คูร์สิโอ. เท็คนิครัฐประหาร (Technique du Coup d' Etat). แปลโดย จินดา จินตนเสรี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2515.