ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

โควิดเป็นโอกาสให้ปรับสู่สวัสดิการถ้วนหน้า: ความเป็นไปได้ของการสร้างรัฐสวัสดิการผ่านการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และการสร้างระบบกองทุนบำนาญแห่งชาติ จากกรณีศึกษาประเทศต่างๆ

4
กรกฎาคม
2564

 

 

เหตุการณ์โรคระบาดโควิดในขณะนี้ แทนที่จะกำลังใจเสียหรือว่ารู้สึกว่าโลกตอนนี้มันไม่มีทางเลือกอะไร อยากให้เรามองอีกมุมว่า “โควิดเป็นที่มาของโอกาส”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1930 ที่โลกมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สิ่งที่เรารับรู้ เราไม่ได้เจอปัญหามากเหมือนกันกับที่สหรัฐฯ หรือที่ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่รัฐบาลเขาฉวยโอกาสของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนั้น ทำให้สหรัฐอเมริกามีระบบประกันสังคมเกิดขึ้น แล้วก็มีระบบภาษีก้าวหน้าในเรื่องของภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล และยังมีโครงการมากมายในการใช้เงินภาครัฐ ยอมเป็นหนี้ ใช้เงินเพื่อที่จะจ้างประชาชนที่ตกงาน เป็นจำนวนล้านๆ คนเลยเพื่อให้ได้มีงานทำ

แม้กระทั่งเข้าไปช่วยปรับปรุงระบบอุทยาน และในเวลานี้สหรัฐอเมริกาได้กลับมาฟื้นตัวและเป็นประเทศที่มหาอำนาจใหญ่ของโลก นี่เป็นตัวอย่าง ที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวน ในวันนี้จึงอยากจะมาให้กำลังใจกันว่า “ภาคประชาชนจะผลักดันให้รัฐบาลปัจจุบันที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไหร่ อย่างที่เราต้องการ ได้ทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หลังจากที่เรามีวิกฤตนี้”

แต่ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงท่านปรีดีนิดหนึ่งในเรื่องนี้ คือ อาจารย์ปรีดีเป็นกำลังใจ เป็นพลังใจให้แก่เราอย่างมาก ในฐานะที่ท่านเป็นนักการเมืองในระบบที่เราเรียกว่า State man ที่มีจิตวิญญาณ ความจริงใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อประชาชนคนตัวเล็กๆ โดยมิได้นึกถึงตัวเอง หรือ ไม่ได้ให้ความสนใจกับโครงสร้างของอำนาจ โครงสร้างของความมั่งคั่ง ซึ่งนักการเมืองจำนวนมากเมื่อเข้าไปอยู่ในวงจรแล้ว ก็จะเข้าไปติดในกับดักอันนั้น

แต่เราไม่เคยพบในกรณีของท่านปรีดี พนมยงค์ และดิฉันอยากจะนำสิ่งที่ท่านเขียนไว้กว่า 100 ปีที่แล้วมาอ่านให้ฟัง เพราะเราจะไม่ค่อยได้รับฟังสิ่งนี้ที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนไว้ เมื่อจิตวิญญาณของท่านอยู่ในสิ่งที่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการ ท่านเขียนไว้ว่า

“รัฐบาลต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชนในหลัก 3 ของหลัก 6 ประการ”

และในร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจยังเขียนอีกว่า

“ราษฎรทุกคนที่เกิดมาย่อมจะได้รับการประกันจากรัฐบาลว่าตั้งแต่เกิดมาจน...สิ้นชีพ... ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีพ...เช่นนี้แล้วราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ...ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเจ็บป่วยหรือพิการหรือชราแล้วจะต้องอดอยากหรือ...ห่วงใยบุตรเมื่อตนสิ้นไป...เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว...ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าสะสมเงินทอง เพราะเงินทอง...เป็นของไม่เที่ยงแท้.” 

นี่คือจิตวิญญาณและความตั้งใจของอาจารย์ปรีดี ซึ่งในระบบรัฐบาลสมัยใหม่ ปัจจุบันก็คือระบบสวัสดิการที่รัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดหาประชาชนได้นั่นเอง

ซึ่ง ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ต้องได้รับทัดเทียมกันทุกคน เพราะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นพลเมือง ไม่ต้องทำให้คนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าด้อยค่าที่จะต้องร้องขอ หรือรอรับการบริจาคจากภาครัฐบาล หรือ ที่รัฐบาลบอกว่าอันนี้เราให้ของขวัญกับคุณ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะรัฐบาล มีอำนาจในการจัดการระบบเศรษฐกิจ และเก็บภาษี โดยขอคืนกลับมาจำนวนหนึ่ง เพื่อที่จะนำมาจัดสรรเป็นเรื่องของสาธารณูปโภค เป็นเรื่องของการป้องกันประเทศต่างๆ และฟื้นฟูประเทศ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้

เราจะพบว่ารัฐบาลที่ฉลาดจะต้องมีความสามารถในการที่จะบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ และสามารถที่จะดึงส่วนหนึ่งของรายได้ที่ได้เอามาใช้จ่าย ย้อนกลับไปสู่ประชาชน ทำให้เขาเจริญรุ่งเรือง มีฐานะดี เพื่อที่จะมาจ่ายเงินภาษี เพื่อให้คนรุ่นต่อไปเจริญต่อไป นี่คือหลักการ ดังนั้น ประเทศที่มีสวัสดิการที่ดี จึงล้วนแต่ใช้เงินจากภาษีทั้งสิ้น 

 

 

 

ดังนั้น อย่าไปปฏิเสธเลยว่าในภาวะวิกฤตควรจะพูดเรื่องการเพิ่มภาษี เดี๋ยวจะชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกเขาทำอะไรกันขณะนี้

วันนี้เราเผชิญวิกฤตโควิด เลวร้ายมาก แต่เรารู้หรือไหม ว่าวิกฤตนั้นมันมีอิทธิฤทธิ์ บังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นโอกาสที่จะทำสิ่งใหม่ๆ และ เราก็คงจำได้ว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมีความเลวร้ายอย่างไร แต่จากวิกฤตต้มยำกุ้งเราได้ระบบสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในสถานการณ์ปกติไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เลย

วิกฤตขนาดนั้นทำให้รัฐบาลได้รับแรงจากประชาชน และเผอิญเราโชคดีที่มีรัฐบาลฉลาด ยอมตัดสินใจที่จะเอาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าขึ้นมา และประชาชนเองก็สร้างกระบวนการผลักดันจนได้ผล คือไม่ใช่ว่าประชาชนก็งอมืองอเท้า แล้วเวลานี้เราเห็นอะไรระบบสวัสดิการเรื่องของสุขภาพของประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก วิกฤตโควิดก็เช่นกัน

ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ใกล้เคียงกับระบบสุขภาพถ้วนหน้า ผาสุกคิดว่าควรจะเป็น “ระบบบำนาญแห่งชาติ” ซึ่งควรจะเริ่มจากประมาณเดือนละ 3,000 บาท ตามระดับรายได้เส้นความยากจนเป็นพื้นฐาน

นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนหนึ่งได้สร้างกระบวนการขึ้นมาเพื่อเรียกร้อง ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง ทำไมต้องเป็นบำนาญแห่งชาติ? เพราะว่าเราแก่ก่อนรวย และผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำให้ครอบครัวเครียด เป็นกังวล มันจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวทุกคน เพราะมันสร้างความไม่มั่นคง แล้วบำนาญต้องเป็นสิ่งที่มาจากภาษี เพราะมันเป็นเรื่องที่จำเป็น

ทีนี้ขอไปดูเรื่องภาษีที่อื่นในโลก วิกฤตโควิดทำให้หลายประเทศคิดว่า จะต้องปรับระบบภาษีและระบบการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด เพราะว่าไม่มีทางอื่น ที่จะหาเงินพอที่จะแก้ไขปัญหา ชลอ หรือ ทุเลาความทุกข์ยากของประชาชน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งกู้มาได้ แต่ประเทศเล็กๆ อย่างเรา Capacity หรือ ความสามารถที่จะกู้มีน้อยกว่าประเทศที่มีเครดิตดีกว่าเรา ดังนั้น เรื่องที่เราจะไปกู้เงินมาเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง ถึงกระนั้นก็ตาม เพดานการกู้เงินของเรายังไม่สูงมากนัก ถ้ามีการนำเงินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เราจะมาดูกันว่าเราจะใช้ให้มีประสิทธิภาพยังไง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คืออะไร?

เราเห็นประธานาธิบดีไบเดนที่สหรัฐ เสนอให้เพิ่มอัตราภาษีในขั้นรายได้สูง ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อที่จะเอามาใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศ และสร้างระบบสวัสดิการขึ้นมาใหม่ในสหรัฐ

สิ่งที่ข้อเสนอชุดนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยในบริบทของอเมริกาถ้าไม่มีวิกฤตโควิด เพราะอย่างที่รู้ๆ กัน ผู้มั่งมีในสหรัฐล้วนตั้งบริษัทล็อบบี้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลเพิ่มภาษี และก็มีวิธีพลิกแพลงต่างๆ ทำให้เขาไม่ต้องเสียภาษี แล้วเราก็เห็น G7 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) เราเห็น OEDC (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เร่งเครื่องโครงการในระดับนานาชาติที่จะเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่

คุณรู้ไหมว่าเวลานี้ สิ่งที่เราผลิตไม่ได้ เราซื้อมาจากต่างประเทศ พวกเครื่องจักร ดิจิทัลทั้งหลาย และบริษัทเหล่านี้ไปตั้งบริษัทรับเงินจากเราที่ไหน เขาไปตั้งที่หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แล้วเราก็เก็บภาษีเขาไม่ได้ เราต้องไปร่วมมือกับ OEDC  กับ G7 ด้วยนะคะ ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้

 

 

หลังจากที่เขาย้ายไปได้กำไรอยู่ในประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษี ประเทศเหล่านี้ก็ไม่สามารถหารายได้มาทำนุบำรุง และที่ฮือฮากันมากก็คือ นักข่าว Propublica ได้แสดงข้อมูลว่าอภิมหาเศรษฐีอเมริกา 25 คน เสียภาษีแท้จริง ที่คิดจากร้อยละความมั่งคั่งของเขาโดยเฉลี่ยคือ 3.4 % เท่านั้นเอง

คุณคิดไหมว่าเมืองไทยเหมือนหรือไม่ คนรวย Top 1 percent 10 percent ของเราไม่ได้เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะว่าเรารู้ว่าเขามีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงภาษีมากมาย แล้วก็วิกฤตโควิดทำให้ทุกประเทศในโลกตระหนักว่าในช่วงประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ปัจเจกบุคคลและบริษัทที่มั่งคั่ง บริษัทใหญ่ได้ประโยชน์จากการสะสมทรัพย์สินความมั่งคั่งจากนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่รัฐบาลทุกๆ แห่ง ต้องแข่งขันกันลดระบบภาษีด้วย การแผ่ขยาย Ideology หรือ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ของสหรัฐ

คุณเคยศึกษาตัวเลขกันหรือไม่ ว่าในยุคโควิดทำให้พวกเราทุกข์ยากกันอย่างไร คนธรรมดา แต่เศรษฐีเหล่านี้ Speculate หรือ เก็งกำไรในเรื่องของหลักทรัพย์ ในเรื่องของที่ดิน ในเรื่องของ Exchange Rate อย่างมากมาย และเอาเงินไปกองที่หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) หรือไปกองไว้ที่ไหนๆ ทุกวันนับสูงจำนวนมาก

แม้จะไม่มีที่ใช้เงินจ่ายสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น มันถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลทุกประเทศจะใช้วิกฤตโควิดนี้เป็นโอกาส ที่จะปรับระบบภาษี ทำให้ก้าวหน้ามากขึ้น และถือโอกาสที่จะเพิ่มภาษีซึ่งได้ลดลงไปในช่วง 10-15 ปี โดยเฉพาะใน 6-7 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ได้ลดภาษีลงไปอย่างมากมาย เป็นโอกาสปรับภาษีขึ้นมา และเอาเงินเหล่านั้นมาใช้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

ดังนั้น ในกรณีของบ้านเรา ดิฉันจึงมีข้อเสนอให้พวกเราผลักดันให้รัฐบาลปรับระบบภาษีและการจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นระบบที่แฟร์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความฉลาดพอ พูดกันถึงเรื่อง Smart Goverment แต่ไม่ได้แสดงความฉลาดแต่อย่างใด

วันนี้จะมาเสนอถึง 6 เรื่อง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากเรื่องที่ได้เสนอไปแล้ว

ประการที่ 1 ในการจัดสรรงบประมาณประจำปี รัฐจะต้องจัดระบบความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่ต้องใช้จ่ายเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงเวลาแล้วที่จะลดงบความมั่นคงทางด้านการทหาร และทางด้านที่เอามาใช้การจัดประชาชนเข้าคุก หรือเอาไปใช้ในเรื่องการโฆษณา หรือเอางบไปเรื่อง IO ซึ่งไม่มีความจำเป็น

ประการที่ 2 เสนอให้ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสมัยก่อนนั้นเราชาร์จกันในอัตรา 30% แต่ว่าได้มีการลดลงมาจนเหลือแค่ 20% จนเวลานี้ภาษีนี้ต่ำกว่าที่มาเลเซีย และประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีมากกว่ามาเลเซียมากที่จะดึงดูดนักลงทุนและดึงดูดการลงทุนต่างๆ แต่เรากลับไปปรับลดภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะทำ และ เขาทำทำไม? เขาทำเพราะว่าต้องการที่จะเอาใจกลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานของการเมือง อันนี้เราต้องผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าเราปรับภาษีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 เราจะสามารถเพิ่มรายได้รัฐได้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท

ประการที่ 3 ปรับภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย ซึ่งขณะนี้ต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขึ้นมาอีก 2 % ตามแนวทางของประเทศเพื่อนบ้านคือ สิงคโปร์ ประเทศอื่นๆ เขาคิดภาษี Valued Add หรือ Tax (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) 24-25 % ที่ประเทศเราแค่ 7 %เท่านั้นเอง ควรปรับขึ้นมาเป็น 9 % ก็จะไม่มีปัญหามากนัก เพราะขึ้นมาน้อย แล้วเราก็ต้องประหยัดในเรื่องการใช้จ่ายด้วย ซึ่งรัฐจะมีรายได้เพิ่มอีกสองแสนล้านบาท

ประการที่ 4 เก็บภาษีเงินได้จากทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทุกประเทศมี แต่ประเทศเราไม่มี คุณลองไปคิดดูว่าทำไมเราทำไมเราไม่มี ก็เพราะว่าเรามัวเอาใจแต่พวกนักลงทุน แต่ว่ากำหนดระดับเงินได้ขั้นต้น เพื่อจะได้ช่วยคนที่เป็นนักลงทุนรายเล็ก

ประการที่ 5 ยกเลิกสิทธิพิเศษค่าลดหย่อนภาษีที่เคยให้แก่ผู้มั่งมีและบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำมานานแล้ว แต่ว่ายังไม่มีการผลักดันอย่างเพียงพอ

ประการที่ 6 ปรับลดมูลค่ามรดกสุทธิซึ่งขณะนี้ต้องเกิน 1 ล้าน 100 ล้านบาท ถึงจะเสียภาษีมรดก มันเป็นมูลค่าที่สูงเกิน แล้วก็ต้องปรับลดมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี ในระดับ 50 ล้านก็สูงเกินไปเหมือนกัน น่าจะลดลงมาเหลือประมาณสัก 5 ล้าน ภาษีมรดกก็น่าจะลดลงมาอย่างมากประมาณ 20 ล้าน อันนี้คือจะทำให้เราได้รับความสมเหตุสมผลมากขึ้น และได้รับมากกว่าปัจจุบัน

ด้วยเหตุของการปรับปรุงต่างๆ เหล่านี้ การทีเราจะมีบำนาญแห่งชาติเพียงเดือนละ 3,000 บาท สำหรับประชากรสูงอายุ มีความเป็นไปได้ ถ้าเราทำทุกอย่าง เราจะมีเงินเหลือ เพื่อที่จะเอาไปใช้ในการทำนุบำรุงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจได้

ขอให้เราช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้นค่ะ ตามจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์ 2475 

 

ที่มา: ผาสุก พงษ์ไพจิตร. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข

หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ