ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกราชและความเป็นอิสระ

10
สิงหาคม
2564

เอกราชและความเป็นอิสระ

เฉพาะประเทศที่มีเอกราชอันแท้จริง และนโยบายต่างประเทศเป็นอิสระเท่านั้นจึงจะสามารถดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้ แต่ก่อนเราจะเห็นประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้และส่วนอื่นๆ ของโลกเป็นจำนวนมากได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศล่าเมืองขึ้นตะวันตก เช่น อินเดีย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ 

ประเทศในอินโดจีน คือ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเมืองขึ้น ประเทศผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศผู้ปกครองเป็นสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ยังมีบางประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศเอกราชในทางนิตินัย แต่ในทางเป็นจริงหรือพฤตินัยนั้น ประเทศเหล่านั้นตกอยู่ในฐานะประเทศกึ่งเมืองขึ้น ประเทศไทยแม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเอกราช แต่ในทางพฤตินัยประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพประเทศกึ่งเมืองขึ้นอยู่ไม่น้อย

ในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และภายหลังสงคราม ประชาชนในบรรดาประเทศเมืองขึ้นทั่วโลกได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซึ่งเป็นเหตุให้บรรดาประเทศล่าเมืองขึ้น ต้องปล่อยประเทศเมืองขึ้นของตนให้เป็นเอกราชในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยก็พยายามหน่วงเหนี่ยวการให้เอกราชที่สมบูรณ์ ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศที่ได้รับเอกราชเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลในทางการเมืองระหว่างประเทศทางทหาร และทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์และรับใช้ สนับสนุน ร่วมมือตามนโยบายของประเทศตนต่อไป และให้ประเทศเหล่านั้นทั้งที่ได้รับเอกราชใหม่และประเทศเอกราชอยู่เดิม ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและปฏิบัติตามคำบังคับ คำแนะนำ หรือคำจูงใจของประเทศมหาอำนาจนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเขามากกว่าผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนของตน โดยอาศัยรูปแบบและวิธีการต่างๆ รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ สงครามจิตวิทยา สนับสนุนและจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการขัดขวางการต่อสู้เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยของประเทศ

ในที่สุดประเทศเหล่านั้นก็กลายเป็นประเทศอาณานิคมแบบใหม่ ซึ่งประเทศอาณานิคมแบบใหม่บางประเทศได้ดำเนินนโยบายไปไกลถึงร่วมมือและยอมทำสงคราม หรือใช้กำลังรุกรานประเทศอื่นตามกุศโลบายของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น แทนที่จะนึกถึงชีวิต ความเดือดร้อน และผลประโยชน์ของประชาชนของตนเป็นสำคัญ

 

แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับเอกราชและความเป็นอิสระ

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าท่านปรีดี พนมยงค์ ได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวนโยบาย หรือ แนวทางในการพัฒนาและการปกครองบ้านเมืองภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 ซึ่งปรากฎในหลัก 6 ประการ ข้อแรกของหลัก 6 ประการ ได้กำหนดว่า “จะรักษาเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง” 

ถ้าเพียงอ่านข้อความดังกล่าวก็ยังไม่สามารถจะสะท้อนให้เห็นแนวความคิดในเรื่องนี้ของท่านปรีดี พนมยงค์ ชัดแจ้งนัก จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงสภาพที่แท้จริงของประเทศไทยในขณะนั้นหรือก่อนระยะนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร

ประเทศไทยในสมัยนั้นตกอยู่ในสภาพประเทศกึ่งเมืองขึ้น ประเทศล่าเมืองขึ้นทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศสได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ายึดเอาดินแดนประเทศต่างๆ เป็นเมืองขึ้น ประเทศไทยก็ถูกบีบบังคับให้ยกดินแดนบางส่วนให้แก่ประเทศทั้งสอง ทั้งตกอยู่ภายใต้ข้อผูกมัดอันไม่ยุติธรรมต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ค้าขาย ทางศาล 

ในทางพฤตินัยการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศล่าเมืองขึ้นทั้งสองนั้น จากนโยบายหลัก 6 ประการ ในข้อแรกนี้ได้สะท้อนให้เห็นเป้าหมายอันสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งแรกที่คณะราษฎรได้ดำเนินการคือ ต้องทำให้ประเทศมีเอกราชอันสมบูรณ์ ไม่ตกอยู่ภายใต้การบีบบังคับโดยข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรมและอิทธิพลของต่างประเทศ ทั้งด้านการเมืองและการเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้และตระหนักเป็นอย่างดีของท่านปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับสภาพการตกเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นของประเทศไทย และประเทศไทยจะต้องแก้ไขให้หลุดพ้นจากสภาพประเทศกึ่งเมืองขึ้นเช่นนั้น แม้ว่าท่านปรีดี พนมยงค์ จะไม่ได้แสดงออกโดยชัดแจ้งนัก

ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนักนิติศาสตร์ ซึ่งยึดถือความชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย (Rule of Law) เป็นหลัก จึงได้ยึดมั่นแนวทางเจรจาแก้ไขโดยสันติวิธีกับต่างประเทศเหล่านั้น แทนที่จะใช้กำลังเข้าแก้ไขดังเช่นประเทศอื่นๆ บางประเทศ และในที่สุดเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2480 - 2481 ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจากับประเทศมหาอำนาจตะวันตกเหล่านั้น เพื่อแก้ไขให้ประเทศหลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับ ข้อพันธะที่ไม่เป็นธรรมเพื่อความเสมอภาคแก่ประเทศไทย และอิทธิพลของประเทศเหล่านั้น 

ในที่สุดเพียงระยะเวลาอันสั้นไม่ถึง 2 ปีที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ในนามตัวแทนของประเทศไทยสามารถยกเลิกข้อตกลงหรือสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมและขาดความเสมอภาคแก่ประเทศไทยเหล่านั้นได้หมดสิ้น โดยได้ทำข้อตกลงหรือสนธิสัญญาใหม่กับมหาประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น 

ต่อมาเมื่อผมได้ไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศจึงได้รับทราบจากข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงว่า ที่การเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นเป็นผลสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ก็ได้อาศัยความรู้ความสามารถและเอาจริงเอาจังเพื่อประโยชน์ต่อบ้านเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นสำคัญด้วย โดยท่านปรีดี พนมยงค์เองต้องมาร่วมลงมือกับข้าราชการผู้รับผิดชอบ แม้ในเวลาค่ำคืนเป็นเวลานานแรมปี

แม้ว่าท่านปรีดี พนมยงค์ จะมิได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องประเทศกึ่งเมืองขึ้น และประเทศเมืองขึ้นแบบใหม่ไว้โดยชัดแจ้งนัก ในระหว่างที่ท่านมีส่วนรับผิดชอบบริหารบ้านเมือง แต่ในเวลาต่อมาท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นในหลายโอกาส ปรากฏชัดแจ้งที่สุดก็เห็นจะเป็นบทความเรื่อง “สงครามประสาท” (War of Nerves) กับ “สงครามโดยตัวแทน” (War by Proxy) ที่ท่านได้เขียนขึ้นเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกของสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2522 และได้มอบให้ “มติชนรายวัน” นำไปตีพิมพ์

สาระสำคัญของบทความนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะได้ยุติลงแล้วก็ดีแต่โดยทางพฤตินัยนั้น มหาอำนาจของโลกได้แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งได้ทำการต่อสู้กันในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสงครามจิตวิทยาที่เรียกว่า “สงครามเย็น”

มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายนั้นต่างพยายามแสวงหา และสร้างอิทธิพลเหนือประเทศอื่นรวมทั้งประเทศเล็กๆ ให้เป็นพวกพ้อง สนับสนุนและปฏิบัติเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อผลประโยชน์และสนับสนุนแนวนโยบายของตน ด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ เช่น การดึงเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางทหาร การสนับสนุนรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตน รวมทั้งการโค่นล้มขจัดรัฐบาลของต่างประเทศที่ขัดขวาง จนถึงการสนับสนุน “กลุ่มบีบบังคับ” (Pressure Group) เพื่อดำเนินการบีบบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติการตามนโยบายและแนวทางของประเทศมหาประเทศ พยายามสร้างความเชื่อถือและศรัทธารวมทั้งความมั่นคง เพื่อให้ประเทศของตนไปร่วมและรับใช้นโยบายของประเทศมหาประเทศ โดยอาศัยการให้ความช่วยเหลือทางด้านทหาร อาวุธ งบประมาณ ความช่วยเหลือทางการศึกษา ให้ทุนไปศึกษาและด้านวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อจูงใจให้รัฐบาล ผู้นำและเจ้าหน้าที่ เกิดความเลื่อมใส ถูกครอบงำทางปัญญาและแนวความคิดจากประเทศมหาอำนาจ

การดำเนินการทางโฆษณาชวนเชื่อ สงครามจิตวิทยา เพื่อให้รัฐบาล บุคคลชั้นนำและประชาชนหลงเชื่อ และสนับสนุนปฏิบัติตามนโยบายของประเทศ มหาประเทศ จนในที่สุดประเทศเล็กๆ เหล่านั้นถูกชักจูงให้เข้าไปร่วมกับมหาประเทศในการใช้กำลังทางทหาร มีไม่น้อยที่ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาประเทศถูกยุยง ปั่นหัว ก่อเรื่องให้เกิดการขัดแย้งทางกำลังทหารขึ้น โคยมหาประเทศมิได้เข้าร่วมปฏิบัติการรบพุ่งด้วยโดยตรง เพียงสนับสนุนให้อาวุธยุทธภัณฑ์และเงินทองอยู่เบื้องหลัง คือประเทศมหาประเทศใช้ประเทศเล็กๆ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลทำสงครามแทนตน ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “สงครามโดยตัวแทน” (War by Proxy)

จากการที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อขับไล่ศัตรูผู้ยึดครองประเทศ และให้ประเทศไทยได้กลับคืนมีเอกราชและอิสรภาพดังเดิมนั้น ก็เป็นเครื่องแสดงถึงธาตุแท้และจิตใจของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่หวงแหนและพร้อมที่จะต่อสู้เสียสละเพื่อเอกราชและอิสรภาพของบ้านเมือง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้นำไปพูดไปเขียนกันทั้งในและนอกประเทศเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว

ที่มา: วงศ์ พลนิกร. "เอกราชและความเป็นอิสระ", ใน, "นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนาและแนวความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์", หนังสือชุดครบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กังหัน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2542), น. 2-6 

หมายเหตุ: แก้ไขเล็กน้อยและตัดตอนโดยบรรณาธิการ