ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ฐานคิดว่าด้วย “สันติภาพ” ของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

9
สิงหาคม
2565

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การศึกษานโยบายการต่างประเทศและประวัติศาสตร์การเมืองไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ศึกษาการต่างประเทศในช่วงเวลานี้ อาจจะเริ่มทำความเข้าใจจากแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยยึดแนวทางการรักษาเอกราช (independent) ของ ปรีดี พนมยงค์ เพื่อใช้ตั้งต้นในการทำความเข้าใจงานเขียนที่ลึกซึ้งมากขึ้น

กล่าวได้ว่าความคิดมูลฐานอย่างหนึ่งซึ่งหล่อหลอมปรีดีไม่มากก็น้อยมาจากแนวนโยบายของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2476-2481

งานเขียนที่ช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจในนโยบายการต่างประเทศช่วงเวลานี้ คือ “เอกราชและความเป็นอิสระ” ใน “นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนาและแนวความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์”[1] โดย วงศ์ พลนิกร รวมไปถึง บันทึกของปรีดีเองในหนังสือชื่อ “โมฆสงคราม”[2] อธิบายหลักคิดของปรีดีต่อสถานการณ์ความผันผวนของโลกในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาถึง

สำหรับผู้ที่เอาใจใส่ในการศึกษานโยบายทางการเมืองของคณะราษฎรย่อมทราบดีว่า ภายใต้หลัก 6 ประการ ที่เสมือนสัญญาประชาคมอันประกาศไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น “หลักเอกราช” เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลในระบอบให้ความสำคัญ

เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรสามารถปราบปรามกบฏบวรเดช อันเป็นขบวนการปฏิปักษ์การปฏิวัติ (Counter Revolution) ลงได้ในปี 2476 การดำเนินนโยบายตามปณิธานของพวกเขาก็เริ่มขึ้น

รัฐบาลที่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเปลี่ยนระบอบใหม่ ปัญหาหลายอย่างที่คั่งค้างล้วนเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีคนที่มีทักษะทางการเมืองขั้นสูงเข้าทำงานด้านการต่างประเทศ

เมื่อปรีดีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 (ปฏิทินแบบเก่า) เขาเริ่มดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ และสะสางบรรดาพันธกรณีที่สยามผูกพันกับประเทศมหาอำนาจ

วิธีการหนึ่ง คือ เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิถอนคดีของกงสุลต่างประเทศจนกว่าออกประมวลกฎหมายแล้ว 5 ปี ซึ่งถือเป็นการเสียเอกราชทางการศาล แก้ไขการให้สัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศสแก่คนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เกิดในประเทศ และห้ามเก็บภาษีอากรศุลกากรในแม่น้ำโขง เป็นต้น

ความโดดเด่นในด้านการต่างประเทศของปรีดียังแสดงให้เห็นในการเจรจาสนธิสัญญาพาณิชย์และการเดินเรือใหม่กับนานาประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและเยอรมนี

แนวทางเช่นนี้เป็นไปตามเจตจำนงของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น โดยแสดงผลที่เป็นรูปธรรมว่าการยึดแนวทางที่เป็นกลางในทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลเป็นคุณกับการเจรจาของรัฐบาลใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้อธิปไตยเหนือดินแดนกลับคืนมาให้กับสยาม ตามนโยบายการคงอยู่ด้วยกันอย่างสันติกับ 6 ประเทศที่มีระบบสังคมต่างกับสยาม

 

พจน์ พหลโยธิน เมื่อครั้งศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมัน ในปี 2448
พจน์ พหลโยธิน เมื่อครั้งศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมัน ในปี 2448

 

อะไรทำให้นักเรียนการทหารที่ชื่อ พจน์ พหลโยธิน มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างออกไปจากเพื่อนร่วมห้องของเขาที่เยอรมันอย่าง แฮรี่ เกอร์ริ่ง และ ฮิเดกิ โตโจ ซึ่งสองรายหลังกลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการสงครามของรัฐบาลนาซีในเยอรมัน และรัฐบาลทหารของญี่ปุ่น

บริบทของการเมืองโลก อาจจะช่วยทำให้เห็นเงื่อนไขที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้นำคณะราษฎรในช่วงเวลาดังกล่าว กล่าวคือ ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ่งที่โลกได้เห็นคือการล่มสลายของอาณาจักรใหญ่ เช่น ออสเตรีย-ฮังการี รวมไปถึงอาณาจักรออตโตมัน

การสู้รบอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดศตวรรษ 19 ทำให้ยุโรปเริ่มมองหาสันติภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อตั้ง องค์การสันนิบาตชาติ (league of nations) โดยหวังว่าองค์กรเหนือรัฐนี้จะช่วยสอดส่องดูแลรัฐสมาชิกไม่ให้ล่วงเกินกันไปจนถึงเลือดตกยางออก

แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกเราแล้วว่า ความพยายามใช้อำนาจเหนือรัฐบังคับให้เกิดสันติภาพนั้น เป็นความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ถึงตรงนี้ แนวคิดหนึ่งก็ได้ปรากฏตัวขึ้นมา คือ การรักษาดุลแห่งอำนาจ (ฺBalance of Power) ซึ่งเหล่าประเทศขนาดเล็ก เช่น สยามเลือกเดินตามแนวทางที่ว่า “อย่าทำแก่ผู้อื่นในสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้ผู้อื่นทำแก่ตน”

การขยายดินแดนของบรรดาจักรวรรดิต่างๆ เทอะทะ จนส่วนเกินทางการเมืองที่ได้รับมีต้นทุนที่สูงกว่าทุนในการรักษาไว้ ทำให้เจ้าอาณานิคมต่างทยอยได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในสมรภูมิของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบอกลาอย่างเป็นทางการให้แก่ขบวนการชาตินิยมตั้งแต่ย่างกุ้ง จาการ์ตาไปจนถึงฮานอย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง  

ในช่วงเวลาที่แหลมคมเช่นนี้ นโยบายของรัฐบาลพระยาพหลฯ จึงเลือกที่จะประคับประคองสันติภาพมากกว่าจะเปิดศึกความขัดแย้งใด ทั้งด้วยการประเมินกำลังตนของสยามเอง และการมุ่งเจรจาทางการทูต ทำให้ส่งผลด้านที่เป็นคุณ เมื่อสยามอยู่บนโต๊ะเจรจา ประกอบกับเงื่อนไขที่ประเทศมหาอำนาจเหนื่อยล้าเกินไปจากไฟสงครามที่รบพุ่งกันเองตลอดหลายสิบปี ผลของการดำเนินนโยบายสันติภาพจึงก่อดอกออกผลอย่างรวดเร็ว

ในตอนหน้า เราจะมาพิจารณา แนวคิดของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดนโยบายสันติภาพของสยามก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาถึงในไม่ช้า

 

[1] วงศ์ พลนิกร. "เอกราชและความเป็นอิสระ", ใน, "นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนาและแนวความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์", หนังสือชุดครบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กังหัน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2542)

[2] ปรีดี พนมยงค์. “โมฆสงคราม : บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์”. 2558)