ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“รัฐบาลกับราษฎรเป็นคู่มือร่วมกัน” เสียงปรีดีผ่านวิทยุกระจายเสียงต้นทศวรรษ 2480

18
กันยายน
2564

ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “รัฐบาลกับราษฎรเป็นคู่มือร่วมกัน” ทางวิทยุกระจายเสียง มีเนื้อความเป็นเช่นไรบ้างนั้น ผมกำลังจะชวนให้คุณผู้อ่านร่วมยลดังต่อไปนี้

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า

“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย

ข้าพเจ้าได้รับคำเชื้อเชิญของสำนักงานโฆษณาการให้มาปราศรัยกับท่านทั้งหลายโดยทางวิทยุกระจายเสียง ถึงนโยบายทั่วไปของรัฐบาล เพื่อซ้อมความร่วมมือร่วมใจจากท่านทั้งหลายในการที่จะช่วยกันจรรโลงประเทศชาติไปสู่ความเจริญ  ตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความไว้ใจแก่คณะรัฐมนตรีที่จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงแล้ว จึงเป็นอันว่านโยบายของรัฐบาลได้แปรสภาพเป็นนโยบายของชาติ ซึ่งย่อมมีความผูกพันไม่เฉพาะแต่คณะรัฐบาลเท่านั้น แต่ย่อมผูกพันราษฎรทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของของประเทศสยามและมีส่วนได้ส่วนเสียในโชคชะตาของชาติ ทั้งในส่วนแต่ละคนและในส่วนรวมด้วย

โดยเหตุที่นโยบายของรัฐเป็นนโยบายของชาติดังกล่าวแล้ว และโดยเหตุที่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันนี้โดยฉะเพาะตั้งเข็มไปในทางที่จะให้เกิดผลดีถึงราษฎรโดยเร็ว ความผูกพันทั้งรัฐบาลและทั้งราษฎรจึงย่อมแน่นกระชับขึ้น  ผลปฏิบัติของรัฐบาลในทุกๆ ทางย่อมจักกระเทือนถึงราษฎร  และในทำนองเดียวกันความทุกข์สุขของราษฎรก็จักกระเทือนถึงรัฐบาลด้วย  รัฐบาลกับราษฎรไม่ใช่คู่อริหรือคู่แข่งขันกัน แต่เป็นคู่ร่วมคิดร่วมมือกันปฏิบัติงานของชาติ ทั้งสองฝ่ายจักต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันขาด รัฐนาวาของเราจะแล่นไปโดยผาสุกสวัสดีได้ก็โดยที่ทุกๆหน่วยของเรือปฏิบัติการด้วยความร่วมมือและประสานงานกัน ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงใคร่ขอซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ไว้กับท่านทั้งหลายด้วย....”

“รัฐบาลปัจจุบัน” ตามที่เอ่ยถึงคือรัฐบาลชุดที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 และในฐานะรัฐมนตรีคนหนึ่ง นายปรีดีจึงแจกแจงรายละเอียด โดยยกเอานโยบายบางข้อของรัฐบาลชุดนี้มาประกอบ

“เพื่อสนับสนุนข้อความตามนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในส่วนที่เกี่ยวพันกันระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ข้าพเจ้าขออ้างนโยบายทั่วไปของรัฐบาลข้อ ๖ และข้อ ๘ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๖. ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน รัฐบาลนี้จะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเวลาเดียวกัน ประชาชนก็ต้องเคารพต่อกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญด้วย

ข้อ ๘. รัฐบาลนี้จะดำเนินการให้รัฐบาลและราษฎรมีความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะปลูกและส่งเสริมภราดรภาพในระหว่างข้าราชการกับราษฎรให้มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังยกเอาเรื่องการแก้ไขสนธิสัญญาจนสำเร็จมาพาดพิง เพื่อจะบอกถึงผลดีที่จะก่อเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองต่อไป

“รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้นจนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอำนาจศาลและการภาษีอากรโดยอาศัยไมตรีจิตต์ ความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ  อันมีคุณค่าสำคัญยิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติ  ผลอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในทันตาเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ กระทรวงการคลังได้สั่งให้เปิดด่านศุลกากรบางแห่งตามชายแดนแม่น้ำโขงแล้ว

ความได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย และสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉะบับใหม่นี้ รัฐบาลปัจจุบันจะสงวนและธำรงรักษาไว้อย่างแข็งขัน และจนสุดความสามารถภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติในหลักแห่งการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกันโดยแบบเดียวและสม่ำเสมอกันต่อทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใดๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมฤดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่วนหนึ่งซึ่งรัฐบาลได้วางไว้สำหรับกระทรวงกลาโหม  กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ  และกระทรวงยุติธรรมนั้นแล้ว

เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาค ด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมาซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น เป็นอันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับนี้ และในเวลาเดียวกันควรระลึกว่าเราได้มาซึ่งสนธิสัญญาใหม่นี้ก็โดยความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาชาติในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ สมรรถภาพเช่นว่านี้เราจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีผลจริงจังโดยรวดเร็ว”

ทางด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร  หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพยายามแถลงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะดูแลประชาชนอย่างไร

“นโยบายทั่วไปของรัฐบาลปัจจุบันนอกจากจะดำเนินตามหลัก ๖ ประการ อันเป็นรากฐานของระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว  ยังมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสมรรถภาพในด้านต่างๆ อีกด้วย เช่น สมรรถภาพของราษฎรในการครองชีพทางเกษตร เหมืองแร่ พาณิชยการและอุตสาหกรรม ส่งเสริมสมรรถภาพของข้าราชการในทางวิชาการและธุรการ ทางวินัย ทางประสานงานและปฏิบัติงานให้เป็นผลสู่ราษฎร ความมุ่งหมายทั้งนี้ก็เพื่อให้สยามเป็นประเทศเข้มแข็งสมกับที่เป็นเอกราช สมบูรณ์ไปด้วยราษฎรที่มีกำลังร่างกายแข็งแรงและสามารถในการครองชีพ สามารถใช้และปฏิบัติสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่ และสามารถรักษาไว้ซึ่งแนววัฒนธรรมและอุดมคติของชาติอย่างมั่นคง

ข้าพเจ้าขอชักชวนพี่น้องเพื่อนร่วมชาติช่วยกันสร้างชาติของเราให้มีรากฐานมั่นคง โดยถือเอาการครองชีพของบุคคลแต่ละหน่วยของชาติเป็นสมุฏฐาน

ในการส่งเสริมการครองชีพของราษฎรนั้น รัฐบาลนี้ได้วางนโยบายไว้ในทุกๆ ทางเท่าที่จะกระทำได้ภายในระยะเวลาบริหารงานและภายในวงเงินที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้อนุมัติ  มีอาทิเช่น จะขยายการชลประทาน บำรุงและเพาะพันธุ์ปลาส่งเสริมการประมง บำรุงและรักษาป่าไม้ ขยายการสหกรณ์  ส่งเสริมอาชีวศึกษา บำรุงและขยายการก่อสร้างทาง บำรุงการอาชีพโดยหาตลาดทั้งในและนอกประเทศ ปรับปรุงสินค้าสำคัญบางอย่างและหาวิธีจัดการค้าให้ได้ผลยิ่งขึ้น เพิ่มสายรถไฟใหม่บางตอน ปรับปรุงค่าระวางรถไฟ เปิดท่าเรือที่สำคัญ ขยายสายการบิน บำรุงอุตสาหกรรมพื้นเมือง และควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนความปลอดภัย ขยายการสื่อสารและการโทรศัพท์ และปลูกนิสสัยออมทรัพย์แก่ประชาชนโดยส่งเสริมการคลังออมสินและอื่นๆ

เท่าที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้ ได้เก็บเอาแต่ใจความสำคัญของนโยบายมาเล่าให้ท่านฟังแต่โดยสังเขป เพื่อชี้ให้เห็นว่านโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลนี้มุ่งที่จะส่งเสริมการครองชีพของราษฎร ซึ่งถือเป็นสมุฏฐานในการสร้างประเทศชาติให้เจริญวัฒนาถาวรต่อไป ส่วนรายการปลีกย่อยที่จะปฏิบัติให้เป็นผลตามแนวนโยบายนี้นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สำนักงานโฆษณาการจะได้เชื้อเชิญบุคคลผู้รับผิดชอบในส่วนงานและบุคคลที่ทรงวิทยาคุณมาบรรยายให้ท่านฟังโดยทางวิทยุกระจายเสียงเป็นลำดับต่อเนื่องกันไป”

อีกทั้งข้าราชการก็เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญ

“ในส่วนการส่งเสริมสมรรถภาพของข้าราชการ การรักษาวินัย การปฏิบัติและประสานงานเพื่อให้เป็นผลสู่ราษฎรโดยเร็ว ตลอดจนการปลูกภราดรภาพระหว่างข้าราชการกับราษฎรนั้น นายกรัฐมนตรีได้วางแนวดำเนินการไปยังกระทรวงต่างๆแล้ว ซึ่งกระทรวงทะบวงกรมต่างๆ เหล่านั้น กำลังปฏิบัติตามอย่างรีบเร่งในเวลานี้”

ก่อนจะมาสู่การฝากฝังในบทปิดท้ายว่า

“ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สยามจะเป็นประเทศที่สมบูรณ์ด้วยความเอกราชได้ก็โดยที่ราษฎรและรัฐบาลเป็นคู่ร่วมมือกันดำเนินกิจการก้าวหน้าของชาติให้ลุล่วงไปด้วยดี ขอให้ท่านระลึกอยู่เสมอว่า  แม้ชีวิตของคนเรามีความตายเป็นเบื้องหน้าก็จริง  แต่ชีวิตของผู้สืบสกุลของเราและชีวิตของประเทศชาติย่อมยั่งยืนอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นกิจการอันใดที่เราได้ปฏิบัติไปเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ  ถึงแม้ผลดีจะยังอยู่ห่างไกลและเราเองจะไม่ทันมีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นผลดีนั้นๆ ก็ตาม แต่ผลดีนั้นย่อมจะสนองแก่ผู้สืบสกุลของไทยและสนองแก่ชาติไทยเป็นส่วนรวมในอนาคต

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยพิทักษ์คุ้มครองท่านทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและเจริญในการครองชีพเพื่อนำโภคทรัพย์และความเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาสู่สยามประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเรา.

สวัสดี.”

สุนทรพจน์ข้างต้นของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ต่อมาได้นำลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ยุทธโกษ ปีที่ 47 เล่มที่ 6 ประจำวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2481 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 10 มีนาคม พ.ศ. 2482) ถือเป็นเล่มของเดือนสุดท้ายของปีตามปฏิทินเดิม 

สิ่งพิมพ์นี้จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งปกติจะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ของทหารบก  หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายทหารคนสำคัญที่ลงตีพิมพ์เผยแพร่ข้อคิดเห็นเนืองๆ ครั้นเมื่อเขามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยุทธโกษ จึงมีโอกาสเผยแพร่ข้อคิดเห็นของรัฐมนตรีปรีดีด้วย ถึงจะเป็นพลเรือนก็ตาม

 

 

น่ายินดียิ่ง แม้เสียงกล่าวสุนทรพจน์ในอดีตก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะไม่หลงเหลือหลักฐานมาจวบทุกวันนี้  แต่ยังมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้อนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้า เฉกเช่นผลงานสุนทรพจน์เรื่องนี้ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งยังไม่เคยเห็นใครหรือแหล่งใดที่ศึกษาเรื่องนายปรีดีหยิบยกมาอ้างอิงเลย จัดเป็นหลักฐานหายากมิใช่น้อย

แนวคิดและปณิธาน “รัฐบาลกับราษฎรเป็นคู่มือร่วมกัน” ช่างน่าครุ่นคิด โดยเฉพาะความตอนหนึ่งคือ “...รัฐบาลกับราษฎรไม่ใช่คู่อริหรือคู่แข่งขันกัน  แต่เป็นคู่ร่วมคิดร่วมมือกันปฏิบัติงานของชาติ...”

อีกทั้งยังควรโยงใยมาเตือนสติรัฐบาลหรือผู้คนแห่งยุคสมัยปัจจุบันให้ตระหนักว่า ไม่ควรทำตนเป็นศัตรูกับประชาชน!

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • “รัฐบาลกับราษฎรเป็นคู่มือร่วมกัน.“  ยุทธโกษ ปีที่ 47 เล่มที่ 6  (10 มีนาคม 2481). หน้า จ-ฌ