ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : คำสาบาลซ้ำ (ตอนที่ 21)

28
กันยายน
2567

กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

การแถลงนโยบายและการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้เริ่มแต่วันที่ ๖ เวลา ๑๐ น. จนถึงเวลาที่เขียนบทความนี้ การอภิปรายยังคงดำเนินต่อไป การที่สภาผู้แทนและรัฐบาลได้ร่วมมือกันจัดให้มีกระจายเสี่ยงการอภิปรายนโยบายในสภาผู้แทนนั้น เปนข้อน่ายินดี เราหวังว่าการปฏิบัติในครั้งนี้จะได้รับนับถือ เปนแนวการปฏิบัติต่อไป ในเมื่อจะมีการอภิปรายในเรื่องสำคัญ ๆ ครั้งต่อไป

นโยบายที่จะบริหารประเทศเปนเรื่องหัวใจของการปกครอง เปนเรื่องที่ประชาชนจะต้องรับรู้และให้ความเห็นชอบ ถ้าจะเรียกการปกครองนั้นว่าเปนการปกครองประชาธิปไตย ในกรณีของประเทศเราซึ่งยังไม่มีการแถลงนโยบายอย่างเปนกิจลักษณะในเวลาที่กลุ่มการเมืองดำเนินการรณรงค์เลือกตั้ง การแถลง และการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ในโอกาสที่รัฐบาลขอความไว้วางใจจากสภาก็ยังเปนเรื่องสำคัญพิเศษ อีกประการหนึ่ง การแถลงนโยบายของรัฐบาลยังจะเปนเครื่องส่องให้เห็นว่า รัฐบาลมีปัญญาเพียงใดหรือไม่มีปัญญาเพียงใดในการเข้ามารับบริหารบ้านเมือง การอภิปรายของมวลสมาชิกนั้นเล่า ก็จะเปนเครื่องชี้ให้เห็นความโน้มน้าวแห่งความคิดเห็นของประชาชนว่ามีต่อรัฐบาลอย่างไร คือประชาชนเชื่อถือในปัญญาและความสุจริตหรือไม่เชื่อถือในปัญญาและความสุจริตของรัฐบาลอย่างไร

จริงอยู่ การวิพากษ์คัดค้านของสมาชิกต่อนโยบายหรือการกระทำของรัฐบาลนั้น เราจะถือเอาเปนการจริงจังเสียทุกเรื่องและทุกคนไม่ได้ เพราะได้ปรากฏอยู่เสมอว่า ได้มีความเขลาและอคติ ความเจ็บแค้นเปนส่วนตัวบุคคลเจือปนอยู่ในข้อวิพากษ์ในบางเรื่องและในบางคน การที่จะถือว่าสภาผู้แทนซึ่งเปนสถานที่ส่องประชามติได้ใกล้ชิดกว่าสถานที่อื่นใด มีความคิดเห็นในรัฐบาลอย่างไรนั้น เราก็จะต้องรวบรวมข้อวิพากษ์ของบรรดาสมาชิกที่ได้แสดงข้อวิพากษ์ โดยมีน้ำหนักหลักฐานและเหตุมาใคร่ครวญ และดูว่ารัฐบาลได้แก้ข้อวิพากษ์นั้นตกไปได้หรือไม่ ประกอบกับปฏิกิริยาของประชาชนที่แสดงออกทางหนังสือพิมพ์และอื่น ๆ ว่าได้ต้อนรับข้อวิพากษ์ของมวลสมาชิกอย่างไร

ลักษณะคำแถลงนโยบายและคําชี้แจงโต้ตอบของรัฐบาลตลอดทั้งข้อวิพากษ์ของสมาชิกในบางข้อนั้น เราจะเล่าไว้วิจารณ์ในคราวต่อไปในโอกาสนี้จะกล่าวถึงท่าที่การวิพากษ์ของสมาชิก ในส่วนที่เกี่ยวกับการเชิดชูหลักการประชาธิปไตย

ข้อปรารภในคำแถลงนโยบายที่ว่า

“รัฐบาลนี้มีเจตน์จำนงอันแน่วแน่ที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เปนประมุข ทั้งจะรักษาและปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

อันที่จริงคำปรารภดังกล่าวนี้ เปนสิ่งที่ไม่จำเปนเลย และตามธรรมดาก็ไม่น่าจะมีการอภิปรายอะไรกับคำปรารภที่เปนไปตามตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คำปรารภสั้น ๆ ตามตัวบทกฎหมายนี้ก็ได้รับการอภิปรายอย่างหนัก และสภาผู้แทนได้ใช้เวลาตลอดวันอภิปรายข้อปรารภนี้ ทั้งผู้อภิปรายก็เปนนักการเมืองชั้นหัวหน้าและเคยดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลมาแล้ว เปนว่านายใหญ่ ศวิตชาติ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายควง อภัยวงศ์ และนายเตียง ศิริขันธ์.

การที่ท่านนักการเมืองชั้นหัวหน้า จากกลุ่มประชาธิปัตย์และสหชีพได้ลุกขึ้นอภิปรายเปนเวลานานในเรื่องที่ไม่ควรจะมีปัณหาอะไรกันอีก ในทางนิตินัยนั้นก็คงจะมิใช่เพราะว่าท่านสมาชิกผู้มีเกียรติเหล่านี้ต้องการจะพูดเพ้อเจ้ออะไรออกมาสนุก ๆ ตรงกันข้าม ผู้ที่ได้ฟังการอภิปรายปัณหาเรื่องนี้จะตระหนักได้ดีว่า สมาชิกได้วิพากษ์การวางตนของรัฐบาลต่อปัณหาที่ว่ารัฐบาลเปนหรือไม่เปนประชาธิปไตยอย่างเปนการจริงจังยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด

กล่าวสั้น ๆ ก็คือ การที่รัฐบาลได้แสดงคำปฏิญาณซ้ำไว้ในคำแถลงนโยบายว่า จะรักษาระบอบประชาธิปไตย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการนั้น ก็น่าเปนด้วยรัฐบาลสงสัยในความเชื่อถือของประชาชนต่อความเคารพหลักการประชาธิปไตยของรัฐบาล และคำอภิปรายของบรรดาสมาชิกก็ได้พิศูจน์ว่าความสงสัยของรัฐบาลเปนความสงสัยที่ถูกต้อง

ในการอภิปรายปัณหาเรื่องนี้และรวมทั้งการอภิปรายปัณหาเรื่องอื่น เช่นในเรื่องนโยบายการทหาร ความข้องใจในอุบัติการณ์หลายเรื่องจากวงการของผู้ทรงอำนาจได้นำออกเปิดเผยด้วยความรู้สึกขมขื่น เช่นเรื่องการจี้รัฐบาลนายควงให้ลาออก, เรื่องอดีต ๔ รัฐมนตรีผู้แทนราษฎรถูกยิงตายที่บางเขน, เรื่องทหารและตำรวจเข้าสนับสนุนนักการเมืองและเข้าพัวพันกับการเมืองอย่างออกหน้าออกตา, เรื่องการใช้อำนาจของตำรวจบางคนบางกลุ่มให้เปนที่หวาดหวั่นแก่ประชาชนผู้สุจริต, เรื่องจุดต่างจุดดำในการเลือกตั้ง, เรื่องความมืดมนต์ของการใช้จ่ายเงินแผ่นดินก้อนใหญ่ ๆ บางก้อนและเรื่องสำคัญอื่น ๆ อีก

การอภิปรายนโยบายของรัฐบาลนั้นกล่าวได้ว่า เปนการที่บรรดาสมาชิกได้เปิดเผยความข้องใจของเขาที่ได้อดลั้นสะสมไว้ทุกเรื่องและเปนเวลานาน ทั้งอาจกล่าวได้ว่าเมื่อผู้แทนราษฎรได้คงความข้องใจของเขานั้น ผู้แทนราษฎรได้แสดงความข้องใจเหล่านั้นในนามของประชาชนทั่วไปด้วย ในที่ประชุมสภาผู้แทนได้มีการพูดกันมากและบ่อยครั้งถึงความข่มขี่ในทางการเมือง เรื่องการจัดตั้งกำลังใหม่ ๆ ของราชการตำรวจนั้นก็ได้รับการแลดูจากผู้แทนราษฎรด้วยความไม่ไว้ใจเพราะเหตุมีอุบัติการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตำรวจบางกลุ่มได้เข้ามาพัวพันเปนฝักเปนฝ่ายกับกลุ่มการเมืองอย่างออกหน้าออกตา ในการอภิปรายเรื่องนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถึงแก่กล่าวว่า “ขอพูดตรง ๆ ว่าในเวลานี้ประชาชนกลัวตำรวจ กลัวถูกยิงทิ้ง”

การที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญอันบัญญัติตรึงตราไว้แล้วว่า จักปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย และสมาชิกของรัฐสภาก็ได้ปฏิญาณตนแล้วว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ ครั้งเมื่อรัฐบาลจะเข้ามาแถลงนโยบายก็ยังต้องสาบาลอีกว่าจะเปนประชาธิปไตยจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ เราจึงอดคิดไม่ได้ว่า ในวงการการเมืองของเราจะต้องใช้คำสาบาลกันสักกี่ครั้งจึงจะเปนที่เชื่อถือได้ว่า คำสาบาลอันนั้นชักเปนคำสาบาลสุดท้ายและจักมีการปฏิบัติตามโดยเคารพและเคร่งครัด

เมื่อเยาว์วัยอยู่ เราต้องเรียนหนังสือของเช็คสเปียร์เล่มหนึ่ง เรายังจำคำนักรบโรมันในหนังสือ ยูเลียส ซีซาร์ ได้ว่า เมื่อเขาจะให้คำสัญญานั้นเขาได้พูดว่า “เราเปนโรมัน เราได้ให้ถ้อยคำของเราแล้ว เราจักไม่เปลี่ยนแปลงคำของเรา”

หนังสือพิมพ์ นครสาร ฉบับประจำวันที่ ๙ บรรทึกการประชุมสภาผู้แทนในวันที่ ๗ ไว้ว่า นายกรัฐมนตรีได้ยืนขึ้นรับรองต่อมวลสมาชิกด้วยเสียงดัง ได้ยินไปทั่วราชอาณาจักรไทยว่า

“ถ้ารัฐบาลใหม่นี้ได้บริหารราชการต่อไปข้างหน้า ขอยืนยันว่าทหารและตำรวจจะไม่ยุ่งกับการเมืองเด็ดขาด ตามที่มีเสียงพูดว่าข้าพเจ้าได้เปนรัฐบาลเพราะทหาร เพราะตีนตะขาบนั้น ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะไม่ใช้ตีนตะขาบ นอกจากไมตรีจิตต์และความสนับสนุนของท่านผู้แทนเท่านั้น” เราปรารถนาว่า คำรับรองของนายกรัฐมตรีครั้งหลังที่สุดนี้จะมีค่าแห่งวาจาเช่นคำแห่งวาจาของโรมัน

[๙ กรกฎ. ๙๒]

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2492

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, คำสาบาลซ้ำ ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 245-253.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :