ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ผิน ชุณหะวัณ: ผู้ก่อการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

9
พฤศจิกายน
2564
ผิน ชุณหะวัณ

 

ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคงทราบกันดีว่า ผิน ชุณหะวัณ คือหัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งเริ่มปฏิบัติการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน กระนั้น กลับไม่ค่อยพบการเอ่ยถึงเท่าไหร่นัก เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเขาช่วงก่อนหน้าจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร กระทั่งต่อมาได้ครองบทบาทสำคัญทางการเมืองตลอดช่วงทศวรรษ 2490

ก่อนจะเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แม้จะแว่วยินข่าวลือไม่น้อยว่า จะมีกลุ่มนายทหารก่อเหตุยึดอำนาจ แต่ทางรัฐบาลเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากและพวกตนสามารถควบคุมทหารบกไว้ได้ เพราะ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รั้งตำแหน่งควบคุมกองทัพ

อย่างไรก็ดี ในที่สุด กลุ่มนายทหารนอกประจำการนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, น.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ. ถนอม กิตติขจร, พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ระบุยศของทุกคนตามห้วงเวลานั้น) ก็ทำรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นฉบับที่มีลักษณะความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกขานกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม”

 

ภาพ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม ที่มา: ห้องวิจัยประวัติศาสตร์
ภาพ: จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกองบัญชาการที่กระทรวงกลาโหม
ที่มา: ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 

คณะรัฐประหารได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงครามมาเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการ รวมทั้งเชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ทว่าช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 นายควงก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง หรือที่เรียกันว่า “จี้นายควง” และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

นับแต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 บุคคลที่โดดเด่นขึ้นมาทางการเมืองย่อมมิแคล้ว ผิน ชุณหะวัณ  พร้อมทั้งกลุ่มคนในเครือข่ายทางอำนาจของเขา ซึ่งอันที่จริงแล้ว การก้าวสู่อำนาจของผิน มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจของจอมพล ป. มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารคราวนี้

ผินเป็นชาวบางนกแขวก อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม กำเนิดในครอบครัวของชาวสวน ชีวิตวัยเยาว์ต้องดิ้นรนต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรค เคยต้องหัดทำน้ำตาลมะพร้าวหลายเดือน กว่าจะได้เรียนหนังสือเป็นชิ้นเป็นอัน จนสามารถเข้าเรียนโรงเรียนนายสิบทหารบกที่จังหวัดราชบุรี  และด้วยผลสอบคะแนนดีเยี่ยมตอนสำเร็จการศึกษา จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อปี พ.ศ. 2452

ถึงแม้ผินจะเกิดก่อนและมีอายุแก่กว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ผินเกิด พ.ศ. 2434 ส่วนจอมพล ป. เกิด พ.ศ. 2440) แต่เขากลับได้เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกันกับ “นักเรียนนายร้อยแปลก” หรือที่ต่อมาคือ จอมพล ป. รวมถึงยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส, พล.อ. จิร วิชิตสงคราม, พล.อ. มังกร พรหมโยธี และ พล.ท. พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต เป็นต้น

พอจบจากโรงเรียนนายร้อย เริ่มต้นรับราชการเป็นทหารราบ ก่อนจะมาสังกัดทหารฝ่ายเสนาธิการ

ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ขณะนั้น ผินมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงชำนาญยุทธศาสตร์” เขามิได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร มิหนำซ้ำยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสายให้กับทางฝ่ายเจ้านาย จึงถูกย้ายจากกองพลที่ 2 มาประจำกรมยุทธการทหารบก ในปี พ.ศ. 2475 และกรมยุทธศึกษาทหารบก ในปี พ.ศ. 2476

ครั้นเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 หลวงชำนาญยุทธศาสตร์หรือผิน ได้เข้าร่วมปราบปราม โดยสังกัดกองบังคับการผสมซึ่งผู้บังคับการคือ หลวงพิบูลสงคราม  หลังปราบกบฏเสร็จสิ้น หลวงชำนาญยุทธศาสตร์ได้เลื่อนเป็นเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 3 และต่อมาไม่นานก็เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 3 และเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 3 ตามลำดับ รับหน้าที่ควบคุมกองกำลังทหารบกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ภาพ: ผิน ชุณหะวัณ (นั่ง), ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยืน)
ภาพ: ผิน ชุณหะวัณ (นั่ง), ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยืน)

 

แม้ผินจะเป็นนายทหารอยู่หัวเมือง แต่ด้วยความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างเขากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงฝากบุตรชายคือ สมบุญ ชุณหะวัณ หรือ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ชาติชาย” ขณะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมให้มาพำนักอยู่ที่บ้านของจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนที่สมบุญจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อย

หนังสือพิมพ์ ยุทธโกษ เป็นแหล่งหนึ่งที่ได้เผยแพร่ความคิดของผินขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น “คุณหลวง” ดังปรากฏบทบรรยายเรื่อง “การทหารของประเทศ”  ลงพิมพ์ในปีที่ 46  เล่ม 10  ประจำวันที่ 10 กรกฎาคม  พ.ศ. 2481, “การสร้างชาติ” ลงพิมพ์ในปีที่ 48 เล่ม 11 ประจำเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2483 และ “หน้าที่พลเมืองของชาติ” ลงพิมพ์ในปีที่ 48 เล่ม 12  ประจำเดือนกันยายน  พ.ศ. 2483 เป็นต้น

 

ภาพ: ผิน ชุณหะวัณ (คนที่ 3 จากฝั่งซ้าย)
ภาพ: ผิน ชุณหะวัณ (คนที่ 3 จากฝั่งซ้าย)

 

ปลายปี พ.ศ. 2483 ช่วงที่ฝ่ายไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสมีเหตุปะทะกันรุนแรงตามชายแดน รัฐบาลไทยนำโดยหลวงพิบูลสงคราม จึงแต่งตั้งกองทัพสนามขึ้น 2 กองทัพ ได้แก่ กองทัพบูรพาและกองทัพอีสาน รวมทั้งกองพลสนามอิสระ ผินได้รับแต่งตั้งเป็นรองแม่ทัพกองทัพอีสาน มีหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ ตั้งกองบังคับการกองทัพที่จังหวัดสุรินทร์ กองทัพอีสานได้ออกรบตราบกระทั่งสงครามอินโดจีนสงบลง

ช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ผินได้รับการแต่งตั้งเป็นพลตรี และเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 3 แห่งนครราชสีมา ร่วมกับกองพลอื่นๆ ในกองทัพพายัพ เข้าตียึดนครเชียงตุง กระทั่งเขาได้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำนครเชียงตุงหรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสหรัฐไทยเดิม ก่อนจะกลับมาประจำกรมเสนาธิการทหารบก กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ผินได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการ ต้องอพยพครอบครัวไปทำสวนที่บางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ผินหวนย้อนคืนสู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ได้สนทนากับกลุ่มนายทหารทั้งประจำการและกองหนุนที่เคยไปทำสงครามร่วมกัน เกิดคิดเห็นที่จะก่อหวอดการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ผินได้ไปพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นต้องออกจากราชการเช่นกันหลังตกเป็นอาชญากรสงคราม ดังผินเล่าไว้ใน ชีวิตกับเหตุการณ์ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ตอนหนึ่งว่า

“...พบครั้งแรกไม่ได้ผล รู้สึกว่าท่านหัวเสียขึ้นทันที พูดเสียงดังคล้ายไม่พอใจข้าพเจ้า และกล่าวว่าป๋าจะมาชักชวนให้ผมติดตะรางอีกหรือ ผมติดตะรางมาครั้งหนึ่งแล้วเพราะการเมือง ครั้งต่อไปอาจจะถูกลงโทษยิ่งกว่าคราวที่แล้ว ขอให้หยุดพูด ข้าพเจ้าก็ลากลับบ้านและพิจารณาดูว่า ขณะนี้ท่านกำลังชอบเล่นต้นไม้ จึงนำต้นวันด้า ๑ มัดไปให้ท่านและช่วยท่านปลูกด้วย กำลังช่วยท่านปลูกต้นไม้อยู่นั้นก็พูดถึงความปั่นป่วนของบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ ท่านก็นิ่งเฉยและพูดอ่อนลงบ้างว่า ชาติไม่ใช่ของเราคนเดียว คนอื่นเขาช่วยได้ถมไป ครั้งที่ ๒ นี้ ข้าพเจ้าเห็นจะกรำแดดมากเกินไป พอกลับถึงบ้านก็เป็นไข้ไป ๓ - ๔ วัน เมื่อไปพบท่านครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าพูดเป็นครั้งสุดท้ายว่าได้ตกลงกับผู้ควบคุมทหารในพระนครหมดแล้ว เสียแรงท่านสร้างบ้านเมืองเจริญมาถึงเพียงนี้ จะไม่สร้างต่อไปอีกหรือ ท่านก็นิ่งตามเคยและเดินขึ้นบ้านทันที 

ข้าพเจ้าเกือบเสียมารยาท ไม่ได้ลาใครรีบเดินออกจากบ้าน ทันใดนั้นท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม รีบเดินมายึดแขนข้าพเจ้าไว้และกล่าวว่า ป๋าทำไปเถิด ท่านไม่ทิ้งดอก เล่นตัวไปอย่างนั้นเอง แล้วข้าพเจ้าก็ลาท่านกลับบ้าน ข้าพเจ้าทบทวนคำพูดของท่านผู้หญิงฯ อยู่หลายวัน และปรึกษากับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเคยได้รับใช้ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มานาน คงได้ความว่าถ้าสิ่งใดท่านต้องการมักจะพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาคล้ายไม่เอาใจใส่เป็นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตกลงใจจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้...”

ในที่สุดการรัฐประหารก็เกิดขึ้น

พิจารณาตามถ้อยคำของผิน แสดงว่าจอมพล ป. ทราบดีถึงแผนการจะก่อรัฐประหาร พ.ศ. 2490  แม้หลังรัฐประหารเสร็จสิ้นจะมีรายงานเรื่องที่จอมพล ป. ร้องไห้ และเปรยๆ ทำนอง “2475 ฉันหมดแล้ว” ก็ตามที

ช่วงสายของวันที่ 8 พฤศจิกายน ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บุตรชายของผิน ยังได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกเข้ามาจะขอตรวจค้นทำเนียบท่าช้าง อันเป็นแหล่งพำนักของนายปรีดี พนมยงค์ และมีการยิงกระสุนเข้าไปในบ้านด้วย ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยานายปรีดีเล่าว่า

“ยิงเข้ามาในบ้าน เจาะเข้ามาในห้องพระ รูขนาดนกกระจอกทำรังได้ แต่ไม่ทะลุ  เราก็รวบรวมลูกมาอยู่ห้องเดียวกัน แล้วก็บอกลูกให้นอนหมอบราบไปบนเตียงนะ  ฉันก็ตะโกนออกไปว่า อย่ายิง อย่ายิง มีแต่เด็กกับผู้หญิง เขายิงรัว แหม รู้สึกว่าหลายสิบนัดนะ เสียงมันอาจจะสะท้อนด้วย  ฉันยังมีใจเป็นธรรมนะ คิดว่าไม่ได้ยิงกราด ผลสุดท้ายเขาก็พังประตูเข้ามา  ฉันก็ลงไปพบ 

มีคณะนายทหารที่เราไม่รู้จัก เขาบอกว่าจะมาเปลี่ยนรัฐบาล  ฉันก็ว่าทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภาล่ะ  คณะทหารค้นทั่วบ้าน ไม่มีตัวปรีดีแล้วนะ ท่านลงเรือรับจ้างที่อยู่ข้างๆ ท่าช้างวังหน้าหลบหนีไปแล้ว”

มิใช่แค่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้หวนกลับมาครองอำนาจอีกหน ผลของการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ยังทำให้นายทหารที่เคยอยู่หัวเมืองเรื่อยมาเยี่ยง ผิน ชุณหะวัน ผู้ไม่ค่อยได้รับบทบาทโดดเด่น จะรั้งตำแหน่งอะไรก็เป็นรองเสมอ พลันกลับกลายเป็นบุคคลสลักสำคัญตลอดทศวรรษ 2490 ต่อมา ผินได้เป็น “จอมพล” ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร

ไม่เพียงแต่ตัวผิน หากเครือข่ายของบุคคลในครอบครัวของเขายังเข้ามาครองบทบาททางการเมืองมาหลายยุคสมัย เรียกขานกันว่า "กลุ่มซอยราชครู" ตามแหล่งที่พำนักของผู้นำกลุ่มคือจอมพลผิน อีกทั้งยังมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินและเกียรติยศในแวดวงสังคม ประกอบธุรกิจการค้าในกลุ่มก้อนของตน

จอมพลผินสมรสครั้งแรกกับคุณหญิงวิบุลลักสม์ มีบุตรและธิดา 5 คน ได้แก่

  • อุดมลักษณ์ เป็นภริยาของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนนท์
  • พร้อม เป็นภริยาของนายอรุณ ทัพพะรังสี
  • เจริญ เป็นภริยาของพลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร
  • ชาติชาย ชุณหะวัณ สมรสกับบุญเรือน
  • พรสม เป็นภรรยาของนายเฉลิม เชี่ยวสกุล

และสมรสครั้งที่สองกับนางสุภาพ  มีบุตรชาย 1 คน คือ ปรากรมศักดิ์

จะเห็นว่า ในทศวรรษ 2490 ลูกเขยของจอมพลผิน คือ พลตำรวจเอกเผ่าก็มีอำนาจสูงตลอดช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จวบจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ทั้งจอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่าจึงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทางทหาร แล้วเดินทางไปเป็นนักการทูตไกลถึงประเทศอาร์เจนตินา

อย่างไรก็ดี เครือข่ายครอบครัว ทั้งลูกและลูกเขยรวมถึงรุ่นหลานก็มีบทบาททางการเมือง เฉกเช่น พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร บุตรเขยก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 หรือต่อมาพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วง พ.ศ. 2531-2534

ต่อมา "กลุ่มซอยราชครู"  พยายามปรับเปลี่ยนให้กลุ่มตนเองมาเป็นพรรคการเมืองคือ พรรคชาติไทย เพื่อเข้าสู่สนามการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

ที่สาธยายมาทั้งสิ้นนั้น ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้นายทหารหัวเมืองอย่างผิน ชุณหะวัณ เดิมทีอาจจะไม่มีบทบาทโดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่เขาและเครือข่ายของครอบครัวกลับเติบโตและมีอำนาจขึ้นมาจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2490  ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง

 

เอกสารอ้างอิง

  • นรนิติ เศรษฐบุตร. กลุ่มราชครูในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553
  • ผิน ชุณหะวัณ. ชีวิตกับเหตุการณ์ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ. พระนคร : โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2513.
  • สุชิน ตันติกุล. รัฐประหาร พ.ศ. 2490. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557
  • เสถียร จันทิมาธร. เส้นทางสู่อำนาจ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2516. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2516
  • ชำนาญยุทธศาสตร์, หลวง. “การทหารของประเทศ.” ยุทธโกษ ปีที่ 46  เล่ม 10 (10 กรกฎาคม 2481).   หน้า 219-229
  • ชำนาญยุทธศาสตร์, หลวง. “การสร้างชาติ.” ยุทธโกษ ปีที่ 48 เล่ม 11 (สิงหาคม 2483). หน้า 5-9
  • ชำนาญยุทธศาสตร์, หลวง. “หน้าที่พลเมืองของชาติ.” ยุทธโกษ ปีที่ 48 เล่ม 12 (กันยายน 2483). หน้า 5-18