คงเพราะความปรารถนาและเจตนาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวสยามให้อยู่ดีกินดีอย่างเสมอภาค ภายหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ล่วงเข้าเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476) นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม มันสมองของคณะราษฎร จึงตัดสินใจเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในชื่อ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" หรือเรียกขานกันว่า "สมุดปกเหลือง" ต่อรัฐบาลอันมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ
กระนั้น การณ์กลับไม่เป็นดังคาด เค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายลักษณะแบบคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เริ่มต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทั้งยังเร่งออก พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ส่งผลให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หม่นหมองด้วยข้อครหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ และต้องเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 12 เมษายน ลี้ภัยไปพำนักอยู่ในฝรั่งเศสนานหลายเดือน
จวบกระทั่งวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลพระยามโนฯ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถูกเรียกตัวกลับมาถึงเมืองไทยปลายเดือนกันยายนปีเดียวกัน อีกไม่กี่วันถัดมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รัฐมนตรีลอย”
การหวนคืนบ้านเกิดเมืองนอนของนายปรีดีสร้างความไม่พอใจยิ่งนักในกลุ่มอำนาจเก่า จนหยิบยกมาเป็นข้ออ้างก่อเหตุ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 หากรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายกบฏเสร็จสิ้น พระยาพหลฯ ต้องการจะให้นายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ติดอยู่ตรงที่ยังมีข้อครหาเรื่องเป็นคอมมิวนิสต์ พอวันที่ 25 ธันวาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเปิดญัตติเพื่อสอบสวนว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่
คณะกรรมาธิการเลือกให้ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นประธานการสอบสวน พระยาศรีสังกร เป็นกรรมาธิการ และ พระยานลราชสุวัจน์ เป็นเลขาธิการ พร้อมขอให้ผู้เชี่ยวชาญอีกสองราย ได้แก่ เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ (Sir Robert Holland) ชาวอังกฤษ และ ร. กียอง (Monsieur R. Guyon) ชาวฝรั่งเศส วางบทวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของคอมมิวนิสต์ เพื่อนำมาพิจารณาการตอบข้อคิดเห็นของนายปรีดี
ในที่สุด คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงมติเอกฉันท์ว่า นายปรีดี ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 และเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477)
รัฐบาลพระยาพหลฯ พยายามประกาศโฆษณาเรื่องที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ้นจากมลทินและข้อครหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึง โดยมอบหมายทางกระทรวงการต่างประเทศรายงานข่าวไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอันถูกต้องชัดเจน
กระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นนำโดย พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ได้ส่งโทรเลขบัญชาให้สถานราชทูตสยามในแต่ละดินแดนแจ้งข่าวดังกล่าวต่อบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งต่อมาจึงปรากฏข่าวคราวเรื่องนายปรีดีพ้นมลทินตามหน้าหนังสือพิมพ์ของหลายประเทศ
ฝรั่งเศส ย่อมเป็นอีกแห่งหนหนึ่งที่ทางรัฐบาลสยามปรารถนาให้รับทราบเรื่องการพ้นมลทินของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สถานราชทูตสยามหรือ “Légation Royale de Siam” ที่ตั้งอยู่ ณ 8 Rue Greuze กรุงปารีส จึงได้รับโทรเลขจากพระยาอภิบาลฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1934
ครั้นต่อมาวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2477 (ตรงกับ ค.ศ. 1934) พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) อุปทูตผู้รักษาราชการสถานทูต ณ กรุงปารีส เนื่องจากตำแหน่งอัครราชทูตว่างลง ได้ส่งหนังสือตอบกลับมามีเนื้อความดังนี้
วันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗
อุปทูตผู้รักษาราชการสถานทูต ณ กรุงปารีส กราบเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ด้วยสถานทูตได้รับโทรเลขของกระทรวง ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ศกก่อน บัญชาสั่งให้แจ้งข้อความแห่งโทรเลขนั้นต่อไปยังบรรดาหนังสือพิมพ์ เรื่องคณกรรมาธิการซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม มีมลทินเป็นคอมมูนิสตฺจริงดังถูกกล่าวหาหรือไม่ ได้ทำการพิจารณาแล้วลงความเห็นพร้อมกันเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม พ้นจากครหานั้น
สถานทูตได้จัดการแปลข้อความแห่งโทรเลขนั้นขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส และรีบทำความตกลงกับบริษัท Havas เพื่อให้นำลงในหนังสือพิมพ์ในประเทศนี้ ทั้งได้ส่งไปให้ผู้ส่งข่าวของหนังสือพิมพ์บางฉบับ ดังได้รายงานมากับหนังสืออิกฉะบับหนึ่งแล้ว
สถานทูตขอส่งสำเนาคำแปลโทรเลขนั้นไปเพื่อสอบความถูกต้องกับสำเนาคำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสของข้อความที่ได้ส่งไปยังบริษัทฮาวัส ไป ณ ที่นี้ รวม ๒ ฉบับ
อนึ่ง ตามหนังสือของสถานทูตที่ ๑๙๓๐/๗๖ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ศกก่อน นำส่งร่างบันทึกเกี่ยวกับเรื่องเมืองไทย ซึ่งได้ขอให้นายเลเวก เรียบเรียงขึ้นเพื่อจัดส่งไปลงพิมพ์นั้น สถานทูตขอทราบดำริว่ากระทรวงการต่างประเทศเห็นชอบด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป.
ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
พระพหิทธานุกร
พระพหิทธานุกร ยังส่งหนังสืออีกฉบับมารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องที่เขาสนทนากับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส
วันที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗
กราบเรียน ใต้เท้ากรุณา
เนื่องแต่หนังสือของสถานทูต ที่ ๘๕/๗๗ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ตอบรับโทรเลขของกระทรวง ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ศกก่อน เรื่องคณกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาลงความเห็นว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม พ้นครหาเป็นคอมมูนิสต์ ว่ากระผมได้ส่งข่าวไปยังบรรดาหนังสือพิมพ์แล้วตามบัญชา ความทราบอยู่แล้วนั้น
ในโอกาสที่จะขอให้บรรดาหนังสือพิมพ์ลงข่าวนี้นั้น กระผมได้ขวนขวายด้วยในทางส่วนตัวเป็นพิเศษ เนื่องด้วยในขณะนี้ ข่าวคราวประจำวันมีลงในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสอย่างอื้อฉาวเซ็งแซ่เป็นอันมาก จึงเกรงว่าเขาจะลงข่าวของเรานี้ช้าไป อนึ่งในการติดต่อกับผู้เขียนข่าวหนังสือพิมพ์คราวนี้ กระผมได้โอกาสฟังความเห็นส่วนตัวซึ่งกระผมเห็นว่าควรรายงานมาให้รัฐบาลทราบไว้ด้วย อาทิ คือ ท่านบารอน เดอะ ลาปอมาเรด แห่งหนังสือพิมพ์ Echo de Paris เป็นต้น ได้ปรารพกับกระผมว่า เขาเป็นผู้ที่คอยสดับตรับฟังข่าวของเมืองไทยอยู่เนืองๆ เฉพาะอย่างยิ่งข่าวอันเกี่ยวกับหลวงประดิษฐมนูธรรม ที่ถูกเล่าลือกันว่าเป็นผู้ที่มีความเลื่อมสัยในลัทธิคอมมูนิสต์
ทั้งนี้เพราะว่าหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นนักเรียนที่รับประกาศนียบัตร์ชั้นสูงของมหาวิทยาลัยกรุงปารีส การที่คณกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและลงมติให้หลวงประดิษฐมนูธรรม พ้นครหาเป็นคอมมูนิสต์เช่นนี้ เขามีความปิติยินดีเป็นพิเศษ สำหรับตัวเขาเองและสำหรับมหาวิทยาลัยกรุงปารีสด้วย ด้วยว่าการที่มีข่าวโฆษณาว่าหลวงประดิษฐมนูธรรม เป็นคอมมูนิสต์นั้นเท่ากับเป็นการให้เสียชื่อเสียงแก่การศึกษาของประเทศฝรั่งเศส.
ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
พระพหิทธานุกร
Havas ซึ่ง พระพหิทธานุกร แจ้งว่าได้ติดต่อให้นำข่าวเรื่อง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ออกเผยแพร่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในฝรั่งเศสนั้น เป็นบริษัทตัวแทนที่จะคอยรับข่าวสารจากหลายแหล่งเพื่อส่งต่อไปให้สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ นำเสนอ
ส่วน “บารอน เดอะ ลาปอมาเรด” หรือ Baron de Lapomaréde ถือเป็นนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปในประเทศสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวสถานการณ์และบุคคลผู้โลดแล่นทางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงไม่แปลกที่เขาจะสนใจบทบาทโดดเด่นของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี
อันที่จริง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ลาปอมาเรด เคยเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสยามทำนองว่า แม้ชาวสยามจะดูเป็นมิตร แต่ก็ยังมองชาวฝรั่งเศสยึดโยงกับเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ในอดีต
เดือนกันยายน ค.ศ. 1934 (ตรงกับ พ.ศ. 2477) ลาปอมาเรด ยังมีบทความชิ้นสำคัญเรื่อง “The Setting of the Siamese Revolution” ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสาร Pacific Affairs ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) ซึ่งอธิบายการก่อตัวของเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในเมืองไทย ตอนหนึ่งนักเขียนผู้นี้มองว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อิทธิพลของฝรั่งเศสถ่ายทอดสู่นักเรียนชาวสยามที่ได้ไปเรียนวิชากฎหมายระดับสูงในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงปารีส (น่าจะหมายถึงนายปรีดี) รวมถึงอิทธิพลที่นักเรียนชาวสยามได้รับจากชาติตะวันตกอื่นๆ และเมื่อนักเรียนเหล่านี้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จก็เข้ามามีบทบาทในคณะราษฎร (People's Party) ขณะที่อีกหลายตอนเอ่ยถึงความเคลื่อนไหวของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทั้งการเสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจที่ทำให้ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ และการได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ด้านหนังสือพิมพ์ Echo de Paris (หรือ L'Écho de Paris) คือหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเลื่องลือแห่งกรุงปารีสยุคนั้น เป็นแหล่งรวมนักข่าวและนักคิดนักเขียนฝีมือฉกาจและแนวคิดเฉียบคม ทั้งแนวอนุรักษนิยม ชาตินิยม และสังคมนิยม
กรณีที่ นายปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ้นมลทินและข้อครหาเรื่องตกเป็นพวกคอมมิวนิสต์เพราะเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น นอกจากจะได้รับความสนใจในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายชาติ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ของฝรั่งเศส ยังเป็นที่จับตามองอีกว่า การฝ่าฟันอุปสรรคมาโดยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาช่วยเหลือเต็มที่ ย่อมสะท้อนเด่นชัดถึงความเป็นบุคคลผู้ครองบทบาทหลักในคณะราษฎร ซึ่งจะปล่อยให้ขาดหายไปมิได้เลย
เอกสารอ้างอิง
- หจช.กต.94.1/7 โฆษณาเรื่องหลวงประดิษฐ์มนูธรรมพ้นจากมลทินที่ถูกกล่าวหาเป็นคอมมูนิสต์ (พ.ศ. 2476-2477)
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, และ ราโชทัย (กระต่าย), หม่อม. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 29 อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป กับ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย) เรื่อง ราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ 4 เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2507. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2507.
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2544
- ปรีดี พนมยงค์. เค้าโครงการเศรษฐกิจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552
- ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526.
- de Lapomarede, Baron. “The Setting of the Siamese Revolution.” Pacific Affairs. Vol. 7, No. 3 (September 1934), pp. 251-259.
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- สมุดปกเหลือง
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- กบฏบวรเดช
- หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
- พระยาศรีสังกร
- พระยานลราชสุวัจน์
- Robert Holland
- Monsieur R. Guyon
- พระยาอภิบาลราชไมตรี
- ต่อม บุนนาค
- พระพหิทธานุกร
- ส่วน นวราช
- Baron de Lapomaréde
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล
- ไสว สุทธิพิทักษ์