ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

แด่...ผู้หญิงแห่งสันติ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

14
มกราคม
2565

“ที่สำคัญ วันนี้เป็นวันของเด็กรุ่นใหม่ ควรเอาใจใส่เรื่องการเมือง สื่อมวลชนควรมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ เราต้องอย่าลืมอดีต ไม่มีอดีตจะมีปัจจุบันได้อย่างไร”

 

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยา รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กล่าวกับ ‘เนชั่นสุดสัปดาห์’ เมื่อหลายปีก่อน ในสวนบริเวณบ้านพูนศุข ซอยสวนพลู ที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ ส่วนหนึ่งของที่ดินในบ้านแห่งนี้ ถูกสร้างเป็นหอพักให้นักเรียนหญิงเช่าในราคาถูก

“ยายอยู่อย่างเรียบง่ายที่สุด ไม่เหงาหรอก เพราะลูกสอนดนตรีที่นี่ ได้ยินเสียงดนตรีทุกวัน ยายได้ยิน แต่สิ่งที่ดีงามทั้งนั้น ชีวิตจึงไม่ซึมเศร้า มีความบริสุทธิ์ใจทุกอย่าง ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ ต่อบุพการีที่มีพระคุณทั้งหลาย”

เมื่อกล่าวถึงผู้มีพระคุณในช่วงชีวิตตกยากหลายครั้งหลายคน ท่านผู้หญิงรำลึกความหลังว่า ตั้งแต่นายปรีดีหนีภัยรัฐประหารครั้งแรก ก็ได้อาศัยเรือน้ำมันของบริษัทหนึ่ง ตอนนั้นไม่มีเงินติดตัวสักบาท ก็ขอยืมกัปตันเรือเขาไปถึงสิงคโปร์ ตั้งแต่นั้นมาเรานึกถึงเขาตลอด

“อีกรายเป็นนักธุรกิจใหญ่ เขาเห็นคุณงามความดี ก็บริจาคให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ล้านบาท และศิษย์เก่าเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ก็เป็นกำลังในการสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ก่อนนอนยายสวดมนต์นึกถึงผู้มีพระคุณเหล่านี้  บางคนเขาช่วยเราไม่ได้ ตอนนั้นเขาก็สวดมนต์ให้เราเหมือนกัน แล้วยายรักษาศีลห้ามาตลอด ชีวิตยายไม่เหมือนนักการเมืองที่เป็นๆ อยู่หรอก เก้าอี้นี่ลูกให้ ตู้โต๊ะในบ้านของเก่าทั้งนั้น อยู่อย่างสมถะที่สุด ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น เชื่อกฏแห่งกรรมอย่างเดียว”

เวลาว่าง ท่านผู้หญิงไปทำบุญกันในหมู่ญาติพี่น้อง ไปเลี้ยงเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ฯ ท่านบอกว่า ทำในสิ่งที่เราศรัทธา

“รวยก็ไม่อยากรวย รวยแล้วลำบาก ไม่ต้องการส่วนที่เกิน มีเท่าไรใช้เท่านั้น ของในตู้นี่ ยายก็หยิบให้คนไปเรื่อยๆ”

ชีวิตประจำวันที่ผ่านมาของท่านผู้หญิงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขียนคำไว้อาลัยให้กับคนรู้จัก

 

 

“ยายมีอาชีพเขียนคำไว้อาลัย เดี๋ยวคนนั้นขอ เดี๋ยวคนนี้ขอ คือเขียนคำไว้อาลัยนี่ต้องใกล้ชิดสนิทสนมถึงจะเขียนได้”

ไม่เพียงแต่คำไว้อาลัยเท่านั้น ท่านยังเขียน ‘คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน’ ด้วยลายมือ ไว้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อวันที่ท่านมีอายุครบ ๘๖ ปี ๙ เดือน ว่า

เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑) นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันทีเมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
๒) ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น
๓) ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
๔) ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
๕) มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก
๖) ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ
๗) เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมา ก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
๘) ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
๙) หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำสาธารณกุศล
๑๐) ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่ จงมีความสุข ความเจริญ

 

 

* วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยารัฐบุรษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาในค่ำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็น วันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน (*บันทึกทายาทท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์)

วันนี้ที่บ้านพูนศุข แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ครึ้ม คงเหลือไว้แต่ลายมือและคำไว้อาลัยถึงท่าน ...หลังบ้านรัฐบรุษอาวุโสคนสำคัญของเมืองไทย ที่ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ...สุดท้ายที่ท่านเอ่ยกับเราในวันนั้น ยังจำได้...

“ยายชอบซุ้มการเวก แต่ก่อนมีคนต่อต้าน แท้จริงดีออก ทำให้ร่มเย็น แหมแต่เสียดาย ไม่เห็นออกดอกสักที”

แต่จริงๆ แล้ว ดอกการเวกเบ่งบานในใจคนไทยทั่วทั้งประเทศมานานแล้ว

ย้อนรอยไปเมื่อ ๖๒ ปีก่อน วันที่ไทยประกาศสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ หากไม่มีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้รับภาระเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทย และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ช่วยท่านทุกอย่าง ประกาศสันติภาพฉบับนั้นคงไม่เกิดขึ้น

ในหนังสือ ‘ปฏิบัติงานใต้ดินของอดีตเสรีไทย’ อ.ปรีดี บันทึกไว้ว่า ตอนนั้นราษฎรไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาลได้อีกต่อไป เพราะรัฐบาลยอมทำตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ประเทศชาติเข้าผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว ขบวนการเสรีไทยจึงเกิดขึ้นเพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๔

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ ท่านผู้หญิงบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในหนังสือ ‘วันสันติภาพไทย ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๓’ ว่า นายปรีดีและดิฉันก็เหมือนชาวไทยทั้งปวงที่รู้สึกดีใจและโล่งใจ สัมพันธมิตรได้ส่งสาส์นด่วนถึงนายปรีดีให้รีบประกาศว่า การที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ ฉะนั้น ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ประกาศสันติภาพขึ้น

และนั่นทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาพเดิมก่อนสงคราม คือมีเอกราชและอธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้

ในคราวนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข นอกจากปกติจะเป็นเลขาฯ ส่วนตัวของอาจารย์ปรีดี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลากลางวันแล้ว ในตอนกลางคืนยังเป็นเลขาฯ ส่วนตัวของหัวหน้าขบวนการกู้ชาติ ต้องทำหน้าที่รับฟังวิทยุสัมพันธมิตร และคัดลายมือรหัสวิทยุติดต่อสัมพันธมิตรด้วย ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นเลขาฯ ของอาจารย์ปรีดีสบาย

 

 

“เธอทำอะไรเองหมด หนังสือก็ร่างเอง เพราะเธอเคยเป็นเสมียนทนายความมาก่อน พอมารับราชการกรมราชทัณฑ์ ก็มาเป็นเสมียนอีก รู้งานเยอะ บางคนที่ไม่เคยเป็นอะไรแล้วมาเป็นใหญ่โตไม่ดีหรอก สู้เป็นเสมียนมาก่อนไม่ได้ นอกจากนโยบายแล้ว งานรูทีนก็ทำได้ ในชีวิตยายก็ยังไม่พบใครที่มีความสามารถขนาดนี้

“การทำงานของเสรีไทย ต้องเป็นความลับอย่างมาก เสรีไทยทุกคนจึงต้องเก็บความลับยิ่งชีวิต ไม่งั้นทำงานไม่สำเร็จ เพราะงั้นนักเขียนบางคนเคยเขียนว่า เสรีไทยไม่รักษาความลับ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ตายกันหมด ยายช่วยงานเสรีไทยตามแต่หัวหน้าจะสั่ง เช่น ให้ฟังวิทยุของฝ่ายตรงข้าม (ญี่ปุ่น) เพราะเวลานั้นเขาห้ามประชาชนไทยฟังวิทยุฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ใครๆ เขาก็แอบฟังกันทั้งนั้นแหละ แต่ยายไม่ต้องแอบฟังเพราะกรมประชาสัมพันธ์เขาให้ใบอนุญาตเราเพราะนายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการเราก็ตั้งใบประกาศไว้บนหลังวิทยุ

“ลำบากมากตอนนั้น เพราะไหนจะดูแลลูก ๖ คน แล้วฝ่ายสัมพันธมิตรยังทิ้งระเบิดทั้งกลางวันกลางคืนอีก ทำเนียบท่าช้างอยู่ตรงข้ามสถานีบางกอกน้อย ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ ลูกระเบิดเคยลงในบ้านด้วย ระเบิดลงใกล้ๆ บ้าน ลงน้ำบ้าง ทีแรกเรือบินมาแต่เดือนหงาย คนก็อพยพกันไปเฉพาะเดือนหงาย ต่อมาเดือนมืดก็มา ตอนหลังกลางวันก็มา เราไม่มีหลุมหลบภัย บ้านเป็นสามชั้น ชั้นล่างอยู่กับพื้นดิน ใช้กระสอบทรายวางล้อมรอบ มีเก้าอี้นั่งอยู่ด้วยกัน ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแล้ว ตอนนั้นโรงเรียนหยุด ยายก็จ้างครูมาสอน หนังสือลูกๆ ขาดเครื่องอุปโภคบริโภคจนต้องเลี้ยงลูกคนสุดท้องที่อายุ ๕ เดือน ด้วยมะละกอและกล้วยน้ำว้า”

พอภายหลังเครื่องบินมาทิ้งระเบิดหนักๆ ท่านผู้หญิงกับอาจารย์ปรีดีและครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่คุ้มขุนแผน จ. พระนครศรีอยุธยา

“ตอนหลังไปอยู่ที่บางปะอิน เพราะนายปรีดีได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เพื่อถวายความปลอดภัยและความสะดวก และได้แจ้งให้สัมพันธมิตรทราบ เพื่อที่จะได้ไม่มาทิ้งระเบิดที่นี่”

และแล้วเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ ประเทศไทยจึงได้ประกาศการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะและประกาศสันติภาพในวันต่อมา ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ท่านผู้หญิงเล่าว่า ผ่านมาตั้ง ๕๐ ปี เพิ่งมาประกาศกันในรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ว่า วันที่ ๑๖ สิงหาคมเป็นวันสันติภาพไทย ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้ ทั้งๆ ที่สำคัญมาก ที่เรามีเอกราชอธิปไตยเพราะคำประกาศสันติภาพนี้”

เพียงข้ามปีที่ไทยประกาศสันติภาพหลังจากที่นายปรีดีได้กราบทูลเชิญในหลวงอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อพระองค์ต้องพระแสงปืนจนเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นอีกครึ่งปีก็เกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐

ในคืนวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลาหลังสองยาม คณะรัฐประหารได้ใช้ปืนกลยิงกราดไปที่ห้องนอน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ แต่กระสุนไม่ทะลุ เพียงแต่กำแพงเป็นช่องโหว่ …รุ่งเช้า ๘ พฤศจิกายน ก็มีขบวนรถถังบุกพังประตูทำเนียบฯ เข้าไป แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ (เพราะมีวีรสตรีผู้หนึ่ง ยืนขวางกั้นรถถังไว้ ไม่ยอมให้เข้าไป วีรสตรีผู้นั้นคือ อาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ซึ่งภายหลังอาจารย์ท่านนี้อยู่กับท่านผู้หญิงพูนศุขในฝรั่งเศส ในยามที่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี จากโลกนี้ไปด้วย)

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้อาจารย์ปรีดี ต้องลี้ภัยไปจีนแต่เพียงลำพัง เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว ท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ได้มีโอกาสร่ำลาสามีเลย และต้องห่างกันเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี

ในช่วงเวลานั้นท่านผู้หญิงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูกๆ และยังเจอมรสุมอันหนักหน่วงอีกครั้ง ดังบันทึกของลูกๆ ในหนังสือ ๗ รอบ พุนศุข พนมยงค์ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ตอนหนึ่ง

“...ถึงแม้คุณพ่อไม่ได้อยู่เมืองไทย เป็นเสี้ยนหนามขวางทางรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้วก็ตาม แต่ครอบครัวเราก็ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจในแผ่นดินมาโดยตลอด เมื่อจับคุณพ่อไม่ได้ ก็จับคุณแม่แทน วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ตำรวจในยุคของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ จับกุมคุณแม่ในข้อหา ‘กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร’ ขณะนั้นคุณแม่อายุ ๔๐ ปี

๘๔ วันในที่คุมขังกองสันติบาล แม้คุณแม่จะปวดร้าวเพียงใดที่ถูกทำร้ายทางใจ และถูกลิดรอนเสรีภาพช้ำ ‘ปาล’ ลูกชายคนโตก็โดนจับกุมข้อหาเดียวกัน แต่คุณแม่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ได้แสดงความอ่อนแอแม้แต่น้อย”

ท่านผู้หญิงเล่าถึงตอนที่อยู่ในที่คุมขังว่า เช้าขึ้นที่บ้านเอากาแฟไปส่งกระติกหนึ่ง แต่เขาปิดตึก เลยเข้าไม่ได้ ก็ไม่ได้กิน ส่วนกาแฟที่อื่นไม่กินอยู่แล้ว อยู่ไปวันๆ อ่านหนังสือบ้าง พอสิบสองวันเขาก็พาไปศาลที มีหนังสือพิมพ์มาถ่ายรูปเขาก็ไม่พอใจ

“ยายเขียนไว้หลังภาพนี้ว่า ‘ภาพประวัติศาสตร์’ เขาให้ยายอยู่ในห้องทำงานของตำรวจ ในห้องนั้นมีห้องส้วมอยู่ แต่ห้องอาบน้ำต้องออกไปข้างนอก เฉลียงก็มีลูกกรงเป็นเหล็กดัด คนมาเยี่ยมได้เฉพาะวันเสาร์ เวลาพูดกันก็จะมีตำรวจเฝ้า ตอนนั้นยายจิตใจไม่ปกติ เลยทำให้เป็นโรคแทรกหลายอย่าง ทั้งโลหิตจาง ความดัน แต่ก็ไม่ถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ สมเด็จพระสังฆราช วัดมกุฏฯ ท่านบอกว่า เขาทำร้ายร่างกายไม่ได้ ก็เลยทำร้ายจิตใจเรา ...นอกจากจะขังยายกับลูกแล้ว ยังพากันไปค้นบ้านคุณแม่และบ้านยายอีก แหมทารุณที่สุด แต่ยายก็คิดซะว่า ส่วนที่ล่วงมาแล้วเป็นกรรมของเรา ยายไม่อาฆาตแล้ว”

พอออกจากที่คุมขัง ท่านผู้หญิงจึงเดินทางไปหาอาจารย์ปรีดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๑๓ ปี

 

 

“อยู่เมืองจีนที่กวางตุ้งปีหนึ่ง เขาฉลองวันชาติที่ปักกิ่ง ยายกับนายปรีดีก็ไปฉลองกับเขา ไปถึงเขาก็ให้พบกับนายกฯ โจวเอินไหล ก่อนจะกลับกวางตุ้งเขาก็เลี้ยง แล้วถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง มาอยู่เมืองจีนนานแล้ว ไม่คิดถึงบ้านหรือ ไม่อยากไปเที่ยวไหนบ้างหรือ นายปรีดี บอกว่า อยากไปน่ะอยากไป แต่ไม่มีพาสปอร์ต พอดีเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศ สามารถออกหนังสือพิเศษให้ เป็นพาสปอร์ตแสดงสัญชาติได้ ทางนายกฯ โจว เขาก็สั่งเจ้าหน้าที่ให้ทำ ก็เลยได้ออกมา ตอนนั้นนายปรีดีอายุ ๗๐ ปี อยากมาพบลูกหลานที่อยู่ในฝรั่งเศส เพราะเมืองจีนใครก็ไปไม่ได้ เป็นเมืองต้องห้าม ก็เลยออกจากเมืองจีนด้วยดี”

ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทางออกจากประเทศจีนมาเตรียมที่อยู่ในฝรั่งเศสล่วงหน้าก่อนแล้ว ๓ ปี ตอนนั้นท่านต้องวิ่งเต้นขายบ้านในเมืองไทยเพื่อนำเงินไปซื้อบ้านที่ฝรั่งเศส และเมื่อไปอยู่ที่นั่นแล้ว ท่านเล่าว่า “ยายกรอกอาชีพใบแสดงสัญชาติของนายปรีดี ว่าเป็นอาจารย์ เวลาไปซื้อหนังสือในฝรั่งเศสได้ลดราคาเพราะเป็นครู”

“ตอนนั้นยายอายุ ๖๐ กว่าแล้ว ไปตลาดก็ต้องลากรถไปตั้งเกือบสองกิโลเมตร แต่ฟุตบาทเขาเรียบไม่ขรุขระอย่างนี้ ขากลับถ้าไม่เหนื่อย ก็ลากกลับอีก ตอนหลังมีผู้ช่วย ก็เบาแรงหน่อย มีเวลาอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ”

“ยายรับหนังสือพิมพ์แทบทุกแขนงของเมืองนอก ทั้งซ้าย ขวา กลาง ของไทยมีคนส่งหนังสือพิมพ์รายวันไปให้บ้าง แต่ไม่คุ้มค่าไปรษณีย์ ยายเลยได้อ่านสตรีสารเป็นส่วนใหญ่ ว่างๆ ก็นั่งรถเมล์ไปเที่ยวดูบ้านเมืองเขาจนสุดสาย แล้วก็ไปพักผ่อนในสวนสาธารณะ หอบเสื่อไปปูนั่ง บางทีพวกนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ตึกข้างๆ ก็มานั่งคุยด้วย”

“อยู่ที่นั่นก็เริ่มฟ้องบำนาญที่ไม่ได้มากว่า ๒๐ ปีด้วย เพราะตั้งแต่เขาฟ้องคดีสวรรคต เราไม่ได้เป็นจำเลย แต่รัฐบาลเขาตัดบำนาญเราไปด้วย เราก็เลยฟ้องได้มาสูงสุดเดือนละ ๖๐๐ บาท ตอนหลังเขาจ่ายคืนมาให้อีกเดือนละ ๔,๐๐๐ กว่าบาท มีตำรวจบางคนที่เคยเป็นบอดี้การ์ด ตอนหลังเป็นนายพันมาเยี่ยม บอกว่าเห็นท่านทำงานรับผิดชอบมากมาย บำนาญน้อยกว่าเขาอีก บำนาญเขาตั้ง ๗,๐๐๐ บาท แต่ยายก็คิดเสียว่า เราไม่ได้อยู่ในประเทศนี่ เขาก็จ่ายตามกฎหมายนั้นแหละ แต่มันก็ไม่สมกับการงานที่ทำหรอก”

และแล้วในวันที่ท่านผู้หญิงจะต้องห่างจากอาจารย์ปรีดีเป็นครั้งสุดท้ายก็มาถึง เป็นการจากกันตามธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

“ยายจำได้ตลอดเวลา เธอกำลังเขียนหนังสืออยู่ ยายยืนเกาะโต๊ะอยู่ข้างๆ เธอถอดแว่นแล้วพูดอะไรไม่รู้ ฟังไม่ออก แล้วเธอหมดสติ ยายก็เรียกคุณฉลบชลัยย์ให้เรียกรถพยาบาล เราช่วยกันประคองนายปรีดีจากที่นั่งอยู่ให้ไปนอนที่เตียงช่วยกันพยาบาล แล้วโทรศัพท์เรียกรถหมอด่วนมา มีรถมาจอดอยู่หน้าบ้านหลายคันรวดเร็วดี ถ้าเป็นเมืองไทยไม่รู้ว่าเรียกแล้วจะมาเมื่อไหร่ พอหมอมาถึงเขาก็บอกว่าเสียชีวิตแล้ว

“นอนอยู่บนเตียงตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ถึงได้ลงหีบ วันจันทร์เผา นอนตายเหมือนคนนอนหลับ ดูไม่ออกว่าเป็นคนตายแล้ว ตอนนั้นลูกๆ อยู่เมืองไทย ๓ คน ลูกชายคนที่สองอยู่ฮ่องกง และอยู่ที่ฝรั่งเศส ๒ คน ท่านปัญญานันทภิกขุอยู่อังกฤษ พอทราบข่าวท่านก็โทรศัพท์มา ยายก็นิมนต์ท่านให้มาเป็นประธานงานเผาศพ พระที่อยู่อังกฤษก็มากันหลายรูป

“เราอยู่กันมา ๕๔ ปีครึ่ง ก็อยากให้อยู่ต่อเป็นธรรมดา ยายก็นึกถึงอยู่เรื่อย มีรูปของเธอ ยายนึกถึงเธอมากที่สุดก็ตอนที่เสียชีวิตนั้นแหละ”

 

 

หลังจากนั้นท่านผู้หญิงพูนศุข ได้นำเถ้าถ่านของรัฐบุรุษอาวุโสกลับบ้าน เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

ผ่านไป ๒๑ ปี วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันเกิดของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข ถึงแก่อนิจกรรม คืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ คงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์และรอยอาลัยถึงวีรบุรุษและวีรสตรี ที่เกิดมาเพื่อทำหน้าที่แก่ประเทศชาติอย่างสมบูรณ์

 

 

หมายเหตุ:

  • บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์รายงานพิเศษ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 781 วันที่ 18 พฤษภาคม 2550 

ที่มา: ดุษฎี พนมยงค์.  แด่…ผู้หญิงแห่งสันติ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, ใน, หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์. (กองทุนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ : กรุงเทพฯ) หน้า 430-439