ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : แผนสังหารสุพานุวง

19
มีนาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สามเจ้าลาว

สถานการณ์ในลาวขณะที่รัฐบาลผสมของเจ้าสุวันนะพูมาบริหารประเทศ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทั้งความขัดแย้งของประชาชนกับศัตรู และความขัดแย้งภายในพวกศัตรูด้วยกันเอง

เมื่อฝ่ายขวาเสียเปรียบ อเมริกาจึงมอบหมายให้ “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือ “ซีไอเอ” วางแผนสังหารบุคคลสำคัญที่ขัดขวางการครองโลกของตนซึ่งเป็นงานที่พวกเขาถนัดและปฏิบัติมาแล้วในหลายประเทศ สำหรับลาวนั้น อเมริกาเห็นว่าบุคคลสำคัญที่สุดของแนวลาวรักชาติผู้ที่นับวันยิ่งได้รับความนับถือนิยมชมชอบจากชาวลาวมากขึ้นทุกที คือ ท่านสุพานุวง ฉะนั้นต้องใช้วิธีสังหารชีวิตเสีย เรื่องก็จะเป็นประโยชน์แก่ตน

“ซีไอเอ” คัดสรรผู้มีฝีมือในเรื่องนี้ขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ทำการฝึกหนักนอกประเทศลาว จะเป็นที่ใดก็คงเดาออกเพราะมีไม่กี่ประเทศ มือสังหารกลุ่มนี้ไม่ใช้คนลาวเพราะไม่แน่ใจและเชื่อใจคนลาวว่าจะกล้าลงมือ กระนั้นก็ยังต้องอาศัยคนลาวเข้าเกี่ยวข้องในด้านการอำนวยความสะดวก ทำให้ข่าวเตรียมการรั่วไหลออกไปถึงผู้รักชาติและนำความไปบอกเเก่ท่านสุพานุวง

เนื่องจากในเวียงจันทน์มีความสับสน ไม่มีหลักประกันการป้องกันความปลอดภัยขั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับท่านสุพานุวง รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสม ทางองค์กรจัดตั้งของแนวลาวรักชาติจึงจัดให้ท่านขึ้นเครื่องบินออกจากเวียงจันทน์อย่างปิดลับ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1963 ไปยังเขตปลดปล่อยแขวงหัวพัน เพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ขั้นสุดท้ายกับพวกปะติกานต่อไป และในการณ์นี้ ท่านพูมี วงวิจิด แกนนำอีกท่านหนึ่งก็เล็ดลอดออกจากเวียงจันทน์ไปสู่เขตปลดปล่อยเช่นกัน

ท่ามกลางการสู้รบที่รุนแรงและเข้มข้นทุกที ภายใต้การนำของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีแนวลาวรักชาติเป็นแนวร่วมสู้รบ และกองทัพประชาชนลาวที่เติบใหญ่ขึ้นมาจากกองกำลังปเทดลาว กำลังก้าวเข้าสู่การต่อสู้ที่ยากลำบากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายแนวลาวรักชาติโดยท่านสุพานุวงและรัฐมนตรีในส่วนของแนวลาวรักชาติ จึงไม่กลับไปปฏิบัติงานที่เวียงจันทน์อีก เนื่องจากสถานการณ์ล่อแหลมไม่ปลอดภัย การเจรจาต่างๆ จึงจัดขึ้นที่ทุ่งไหหินแทนแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเพราะฝ่ายขวายังไม่มีความจริงใจ

สำหรับความขัดแย้งในหมู่ศัตรูก็เป็นไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ภายใต้การบงการของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่จะชี้ให้ใครขึ้นครองอำนาจ ทั้งนี้อเมริกาถือว่าล้วนแต่เป็นลูกสมุนของตน

การตายของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ น้าของ พูมี หน่อสะหวัน เมื่อปลายปี ค.ศ.1963 ทำให้อิทธิพลของเขาลดถอยลง ขณะที่กลุ่ม หยุย อะไพ, กุปะสิด อะไพ หันมาร่วมมือกับ ผุย ชนะนิกอน ที่กำลังปีกกล้าขาแข็งขึ้น พูมี หน่อสะหวัน ได้รวบรวมพรรคพวกก่อรัฐประหาร เเต่ไม่สำเร็จจนต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองไทย พร้อมทั้งผู้บัญชาการกองทัพอากาศลาวที่ชื่อ ท้าวมา

ในเมืองไทย ท้าวมา ได้เข้าทำงานที่บริษัทการบินแอร์ฟรานซ์ (Air France) ที่สนามบินดอนเมือง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ควบคุมน้ำหนัก (Load Controller) การที่สามารถเข้าทำงานกับสายการบินแอร์ฟรานซ์ สถานเอกอัครรัฐทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย หรือ เจ้าหน้าที่สถานทูตฝรั่งเศสน่าจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ

ท้าวมา ทำงานที่สายการบินระยะหนึ่งก็หายตัวไป เขาปรากฏตัวด้วยการขับเครื่องบิน T28 หวังเข้าโจมตีเวียงจันทน์เพื่อก่อรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เเต่ไม่สำเร็จเพราะขาดการสนับสนุนจากอเมริกา ซึ่งทีเเรกตั้งใจจะสนับสนุนเพื่อล้มรัฐบาลผสม ตั้งรัฐบาลคณะรัฐประหารขึ้น เเล้วยกกำลังเข้าทำลายฝ่ายแนวลาวรักชาติ

เมื่อถูกอเมริกาลอยแพ ท้าวมาต้องนำเครื่องบินลงจอดสนามบินวัดไตเพื่อเติมน้ำมัน ทันทีที่เขาดับเครื่อง ทหารของกุปะสิดก็กรูเข้าประชิดตัวพร้อมทั้งใช้ดาบปลายปืนสังหารอย่างเหี้ยมโหด ขณะนั้นมีพวกทหารรับจ้างจำนวนไม่ถึง 200 คน ไปรออยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ฝั่งตรงกันข้ามเวียงจันทน์ แผนการข้ามเเม่น้ำโขงจึงต้องหยุดชะงักลง

ในการณ์นี้หนังสือพิมพ์ของไทยฉบับหนึ่งลงข่าวว่าเห็นอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด อัมพร สุวรรณบล ผู้เคยเข้าร่วมกู้ชาติลาวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวหนองคายเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยผู้รู้เรื่องดีเห็นจะเป็น พอ.ต.ต. อารีย์ กะรีบุตร ตำรวจสาย “พิราบ”- อดีตผู้บังคับการสันติบาล

หลังจากท่านสุพานุวงสามารถออกจากเวียงจันทน์มายังศูนย์กลางพรรคฯ ณ เขตปลดปล่อยเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน เพื่อป้องกันภัยจากเครื่องบินของอเมริกาที่โจมตีทิ้งระเบิดหนักขึ้นในช่วงเวลากลางวัน ทหารและประชาชนในเขตปลดปล่อยจึงร่วมมือกันขุดเจาะถ้ำบริเวณขุนเขาข้างเคียง ทำเป็นคูหาที่พักอาศัยสำหรับบรรดาสหายนำ ซึ่งท่านสุพานุวงก็มีถ้ำเป็นที่พักพร้อมกับครอบครัว มีห้องทำงานเป็นสัดส่วน

ในการต่อสู้กับอากาศยานนั้น นักรบกองกำลังปเทดลาวส่วนหนึ่งสามารถใช้ขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศ ยิงเครื่องบินอเมริกาตกหลายลำ จนทำให้นักบินขยาดไม่กล้าเสี่ยงเข้าโจมตี เผลอๆ อาจนำระเบิดไปทิ้งในป่าเขาที่ไม่มีผู้คน ทำให้ประเทศลาวได้รับลูกระเบิดจากเครื่องบินอเมริกามากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็เป็นลูกระเบิดที่ทิ้งลงสู่ความว่างเปล่า

นับจากสิ้นสุดสงครามจนแม้กระทั่งทุกวันนี้ การเก็บกู้ระเบิดยังต้องดำเนินต่อไปด้วยความระมัดระวัง อเมริกาเองก็ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ

การใช้ชีวิตในถ้ำเขตเมืองเวียงไซของท่านสุพานุวง ทำให้ท่านมีโอกาสร่วมบริหารงานกับศูนย์กลางพรรคฯ อย่างใกล้ชิด ด้วยการร่วมวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ ผ่านมติร่วมและให้การชี้แนะแก่ผู้รับผิดชอบในเเนวหน้า ท่านไปร่วมประชุมกับรัฐบาลผสมที่ทุ่งไหหินเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ยังใช้เวลาปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเช่นเดียวกับสหายคนอื่นๆ ฉะนั้น ทุกเช้าตรู่ก่อนตะวันจะโผล่พ้นขอบฟ้า ท่านลงมือรดน้ำพรวนดินสวนครัวที่ทำไว้  พืชผักของท่านมีหลายชนิด ทั้งผักกาดขาว, กะหล่ำปลี, ผักบุ้ง ฯลฯ  ที่ขาดไม่ได้คือมะเขือเทศ มะละกอ และพริก เพื่อนำมาทำส้มตำหรือ “ตำหมากฮุง” อาหารที่แซ่บหลายของประชาชนชาวลาว

กองกำลังหนึ่งกองร้อยของฝ่ายปเทดลาวยังคงปฏิบัติหน้าที่ในเวียงจันทน์ตามปกติเพื่ออารักขาสหายแนวลาวรักชาติที่ยังทำงานบริหารร่วมในรัฐบาลผสม กำลังทหารฝ่ายขวาในเวียงจันทน์ไม่กล้าตอแยหรือข่มขู่ ขณะเดียวกันทหารปเทดลาวที่รับผิดชอบจัดซื้ออาหารที่ลานตลาดเช้าก็ได้รับการต้อนรับเห็นอกเห็นใจจากพ่อค้าแม่ค้า ทั้งมีการลดแลกแจกเเถมมากมาย

ผ่านเหตุการณ์สำคัญส่งผลให้ เจ้าสุพานุวง หรือ สหายสุพานุวง ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวลาวและชาวโลก คำว่า “เจ้าชายแดง” (The Red Prince) สมญานามที่ทางตะวันตกตั้งขึ้นได้มีการเรียกขานกันทั่วไป

ท่านผ่านสมรภูมิท่าแขกจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกจับกุมคุมขังรอประหารชีวิตจากพวกฝ่ายขวาในการเข้าร่วมรัฐบาลผสมเพื่อปรองดองเเห่งชาติครั้งที่หนึ่ง และถูกลอบสังหารขณะร่วมรัฐบาลผสมครั้งที่สองเเต่ก็หลุดรอดมาได้

ด้วยการนำพาของพรรคฯ และของผู้นำที่วีระอาจหาญ ขบวนปฏิวัติลาวกำลังจะเข้าบดขยี้ฝ่ายปะติกาน ก้าวสู่ชัยชนะแห่งการปลดปล่อยชาติประชาชน

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. แผนสังหารสุพานุวง, ใน, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง, (กรุงเทพฯ: แม่คำผางการพิมพ์, 2553)

บทความที่เกี่ยวข้อง :