ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : นิ้วมือทั้งห้า

10
กันยายน
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 8
ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : เดียนเบียนฟู

นายพลอองรี นาวารร์ เสริมกำลังเข้าตั้งมั่นยังพื้นที่เดียนเบียนฟูเต็มที่ อาศัยความรวดเร็วในการขนส่งทางอากาศ ใช้กองพันพลร่มโดดร่มลงยังจุดหมาย สร้างสนามบินสำหรับส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมอย่างไม่ขาดสาย นับว่าเป็นไปตามแผนกับดักที่หวอเหงียนย้าป และคณะกรรมาธิการทหารแห่งกรมการเมือง โดยมีโฮจิมินห์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เปิดยุทธการปิดล้อมเดียนเบียนฟู เพราะด้านหนึ่งก็เกรงไปว่าอองรี นาวารร์ จะถอดใจรีบเคลื่อนกำลังถอยหนีไป อย่างที่เคยลวงเวียดมินห์มาแล้วครั้งหนึ่งบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำแดงตอนบน ทำให้ยากแก่การติดตามและเสียโอกาสในการทำลายขุมกำลังข้าศึก แต่นายพลอองรี นาวารร์ มีความเชื่อมั่นกำลังของตนอย่างสูงและประมาทฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น แทนการถอนกำลังออกไปกลับส่งกำลังเพิ่มเติมเข้ามาอีก

 

หวอเหงียนย้าปบัญชาการรบ
หวอเหงียนย้าปบัญชาการรบ

 

บริเวณกองบัญชาการที่เมืองพาง
บริเวณกองบัญชาการที่เมืองพาง

 

แผนยุทธศาสตร์ของกองกำลังเวียดมินห์ที่หวอเหงียนย้าป ได้รับความเห็นชอบจากโฮจิมินห์และคณะกรรมาธิการทหาร กำหนดเป็นข้อสรุปอุปมาของนิ้วมือทั้ง 5 อันได้แก่ การเคลื่อนเข้าลาวเหนือ โดยร่วมมือกับกองกำลังปเทดลาว ปลดปล่อยพงสาลี และซำเหนือ เข้าคุกคามจ่อคอหอยเมืองหลวงพระบาง เป็นนิ้วแรก

นิ้วที่สอง ได้แก่การรุกเข้าลาวภาคกลาง นับตั้งแต่แขวงคำม่วน, แขวงสะหวันนะเขต เข้าประชิดยุทธภูมิสำคัญใจกลางลาวที่เซโน (SENO)

นิ้วที่สาม คือการลงไปทางใต้ของลาวจนสามารถยึดพื้นที่ปลดปล่อยส่วนหนึ่งของแขวงจำปาศักดิ์ แขวงอัตตะปือ และแขวงสาละวัน ผู้นำกองกำลังปเทดลาว ได้แก่ เสด็จเจ้าสุพานุวง และท่านไกสอน พมวิหาน ให้ความร่วมมือกับกองกำลังเวียดมินห์อย่างดี เนื่องจากเป็นภารกิจร่วมต่อสู้กับพวกเจ้าอาณานิคม

นิ้วที่สี่ คือการเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้ ทั้งในรูปแบบสงครามจรยุทธ์และสงครามประจำการตามเหมาะสม

นิ้วที่ห้า เป็นนิ้วที่สำคัญที่สุด คือการเข้าโจมตีทำลายกองทหารฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู เพราะนิ้วทั้งสี่ได้หลอกล่อฝรั่งเศสให้พะวักพะวนเคลื่อนกำลังไปมาจนไม่สามารถค้นหาและทำลายกองกำลังเวียดมินห์ได้เลย

 

นิ้วมือทั้งห้า
นิ้วมือทั้งห้า

 

เมื่อหวอเหงียนย้าปได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพแห่งศึกเดียนเบียนฟูก่อนออกเดินทางสู่สมรภูมิ ท่านมีโอกาสคารวะโฮจิมินห์ และได้รับการชี้แนะสำคัญที่ว่า อำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดเป็นของแม่ทัพแล้ว จงเข้าทำการรบเมื่อแน่ใจว่าต้องได้รับชัยชนะแน่นอนและเด็ดขาด

การเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธของฝ่ายเวียดมินห์เต็มไปด้วยความยากลำบากนานัปการ ทั้งไม่มีเครื่องมือพาหนะช่วยขนส่งเคลื่อนย้าย อาศัยแรงคนเป็นหลัก และรถจักรยานที่ดัดแปลงเพิ่มเติมให้บรรทุกสิ่งของได้มากขึ้น ต้องลัดเลาะขึ้นลงไปตามไหล่เขา ซึ่งในตอนกลางวันเครื่องบินฝรั่งเศสบินตรวจตราอยู่ตลอดเวลา บางครั้งจึงต้องอาศัยการเคลื่อนพลในยามกลางคืน ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1953

 

ทหารช่วยกันเคลื่อนย้ายปืนใหญ่
ทหารช่วยกันเคลื่อนย้ายปืนใหญ่

 

จักรยานดัดแปลงพิเศษเพื่อบรรทุกสิ่งของให้ได้มากที่สุด
จักรยานดัดแปลงพิเศษเพื่อบรรทุกสิ่งของให้ได้มากที่สุด

 

ฝ่ายเวียดมินห์ตัดทางลากปืนใหญ่ 105 ม.ม. ขึ้นสู่ที่ตั้งมั่นบนยอดเขา และยิงปืนจากบนเขาโดยที่ฝ่ายฝรั่งเศสมิได้ล่วงรู้หรือสนใจ ด้วยนึกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ศิลปินนักแต่งเพลงชาวเวียดนามประพันธ์เพลงชื่อว่า ลากปืนใหญ่ ให้ผู้ขนลากปืนใหญ่ร้องพร้อมเพรียงกัน สร้างความคึกคักเพิ่มพละกำลังยิ่งนัก

ครั้งหนึ่ง ขณะขนย้ายอาวุธขึ้นซุกซ่อนเตรียมเปิดยุทธการ ปืนใหญ่ลื่นไถลจวนเจียนตกเขา นักรบเวียดมินห์ผู้หนึ่งทุ่มตัวเข้าขัดล้อไว้ ถือเป็นวีรกรรมการเสียสละสูงสุด

ด้วยภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหุงหาอาหารให้กองทัพ ได้คิดค้นวิธีก่อไฟโดยมิให้เกิดควันลอยขึ้นไปเป็นที่สังเกตของเครื่องบินข้าศึก วิธีทำก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ทำร่องน้ำเล็กๆ เป็นระยะ กั้นควันที่พุ่งขึ้นมาบนผิวดิน และต้องติดไฟตอนเวลาเช้าตรู่ ควันจากการประกอบอาหารจะถูกน้ำดูดซับเอาไว้ ทำให้ฝ่ายเวียดมินห์ได้รับความสำเร็จในการปิดลับกองกำลังของตน

 

สร้างทางลำเลียงพลเพื่อเปิดยุทธการ
สร้างทางลำเลียงพลเพื่อเปิดยุทธการ

 

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : นิ้วมือทั้งห้า

 

หวอเหงียนย้าปตั้งกองบัญชาการที่เมืองพาง ห่างจากสมรภูมิเดียนเบียนฟูประมาณ 15 กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นป่าดิบดงใหญ่ มีการขุดเจาะภูเขาตั้งกองบัญชาการสู้รบ ทั้งเป็นที่พักของหวอเหงียนย้าป, ของฮว่างวันถาย รองผู้บัญชาการ, ของเว่ย์กั๊วชิ่ง หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ตลอดจนผู้สื่อข่าวจากกลุ่มประเทศสังคมนิยม อันได้แก่ สหภาพโซเวียต, โปแลนด์ เป็นต้น ต่างก็พำนักอยู่บริเวณกองบัญชาการ เพื่อติดตามส่งข่าวออกสู่โลกภายนอก

ในกองบัญชาการนี้ บรรดาแม่ทัพนายกองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าร่วมประชุม วางแผน รายงานความคืบหน้าการเตรียมเข้าทำศึกต่อแม่ทัพและคณะผู้รับผิดชอบสูงสุด

การที่เวียดมินห์ได้ชัยชนะติดต่อกันนับตั้งแต่เปิดยุทธการชายแดนปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา จนสามารถบดขยี้กองทัพฝรั่งเศสระดับกองพันมาแล้ว ทำให้กำลังพลฮึกเหิม ผู้รับผิดชอบระดับสูงจึงเสนอความเห็นที่ประชุมว่าสมควรเข้าโจมตีแตกหักรวดเร็ว การทำลายป้อมค่ายข้าศึกไม่ใช่เรื่องยาก

ข้อเสนอนี้มาจากเสียงส่วนใหญ่ในกองบัญชาการ แต่หวอเหงียนย้าปยังไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เพราะความพร้อมของฝ่ายตนนั้นยังไม่เต็มร้อย แน่นอนการเข้าโจมตีก่อนอาจได้รับชัยชนะในขั้นต้น แต่ไม่ควรประมาทฝ่ายตรงข้ามที่ยังมีกำลังเข้มแข็ง แม้ป้อมค่ายอาจถูกตีแตกไปบ้าง แต่ข้าศึกอาจโต้กลับด้วยกำลังส่วนใหญ่ที่ยังไม่บุบสลาย จะทำให้ฝ่ายเรายึดครองชัยชนะเด็ดขาดไม่ได้

หวอเหงียนย้าปใช้เวลาโน้มน้าวที่ประชุมให้เห็นข้อดีข้อเสียของการเผด็จศึกตามฝ่ายรับผิดชอบส่วนใหญ่เสนอ โดยการตั้งคำถามหลายข้อให้ช่วยกันคิด อาทิเช่น เมื่อเข้าโจมตีแล้วข้าศึกตีโต้ขณะที่เรายังมีจุดอ่อนหลายจุด การปิดล้อมรอบด้านยังไม่พร้อม ปัญหาการเคลื่อนพลที่ยังล่าช้าอยู่ในบางพื้นที่อันเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ปัญหาการส่งกำลังบำรุงการลากปืนใหญ่เข้าที่ตั้งบนภูเขายังไม่เสร็จสมบูรณ์เสียทีเดียว

ความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจทุกขั้นตอน เกิดจากหวอเหงียนย้าปนึกถึงคำแนะนำของโฮจิมินห์ก่อนเข้ามาบัญชาการรบที่ว่า...เมื่อเข้าทำการรบต้องมั่นใจในชัยชนะอย่างแน่นอนและเด็ดขาด

ในที่สุดสามารถชี้แจงเหตุผลจนทุกฝ่ายเข้าใจดีว่าไม่ควรโจมตีทันที ควรรอไปอีกระยะหนึ่งเพื่อทุกอย่างพร้อมเต็มที่ แต่ต้องรักษาการปิดลับให้ดีที่สุด การเลื่อนระยะเวลาก็ใช่ว่าจะเนิ่นนานออกไปมาก ผู้รับผิดชอบทางการเมืองมีภาระหนักในการชี้แจงให้เหล่าทหารหาญผู้มีจิตใจฮึกเหิมพร้อมต่อกรกับศัตรู ได้เข้าใจการตัดสินใจของกองบัญชาการสูงสุด

การอภิปรายแผนการรบอย่างกว้างขวางลงสู่ระดับนักรบแนวหน้า ถือว่าเป็นลักษณะแห่งกองทัพฝ่ายประชาชนที่สร้างสรรค์ความสามัคคีได้อย่างยอดเยี่ยม

สำหรับ “แผนการนาวารร์” นั้น หวอเหงียนย้าปได้รับสำเนาชุดหนึ่งจากหน่วยข่าวกรองของจีน ทำให้ทราบว่า นอกจากยึดครองเดียนเบียนฟูแล้ว ฝรั่งเศสยังต้องการครอบคลุมทั้งอินโดจีน ฝ่ายเวียดมินห์จึงสามารถกำหนดยุทธวิธีได้อย่างเหมาะสม โดยเข้าปิดล้อมโจมตีป้อมค่ายแนวป้องกันที่เดียนเบียนฟู ทั้งนี้เพื่อบดขยี้กำลังหลักของข้าศึกอันจะเปลี่ยนรูปโฉมสงครามถึงขั้นทำให้ฝรั่งเศสประสบความปราชัยทั่วอินโดจีน

พันเอกเดอกัสตรีย์ มีชื่อเต็มตามชาติตระกูลว่า คริสเตียน มารี เฟอดินันด์ เดอลาครัวส์ เดอกัสตรีย์ ถือกำเนิดมาจากชาติตระกูลอันสูงศักดิ์เละมีความกล้าหาญ เคยผ่านศึกใหญ่มาแล้วทั้งในฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี

บุรุษผู้นี้มีวีรกรรมให้กล่าวขวัญถึง ครั้งหนึ่งเดอกัสตรีย์พร้อมทหารสองหมวด เข้าต้านยันทหารเยอรมันจำนวนหนึ่งกองพันไว้ได้เกือบสามวัน ก่อนถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลยศึก เรียกได้ว่าสู้จนเกือบหมดกระสุน สุดท้ายหลบหนีออกจากค่ายกักกันเชลยศึกในเยอรมนี ข้ามมาร่วมกับกองกำลังฝรั่งเศสของนายพลเดอโกล เข้าร่วมรบในทวีปแอฟริกาเหนือ หลังจากนั้นในปลายปี ค.ศ. 1946 ถูกส่งมาปฏิบัติการในอินโดจีน ผลงานเข้าตานายพลเดอลัตต์ เดอตัสซิณญี, นายพลซาลัง และมาจนถึงนายพลอองรี นาวารร์ ผู้เคยเป็นผู้บังคับบัญชากันมาก่อนและรู้ฝีไม้ลายมือกันอย่างดี

 

นายพลอองรี นาวารร์ มาเวียดนามเพื่อหาหนทางถอยอย่างสมเกียรติให้กับฝรั่งเศสผู้รุกราน
นายพลอองรี นาวารร์ มาเวียดนามเพื่อหาหนทางถอยอย่างสมเกียรติให้กับฝรั่งเศสผู้รุกราน

 


ประธานนาธิบดีนิกสัน มาที่จังหวัดดินบิ่งเพื่อสอดส่องและตรวจกำลังความสามารถของทหารรับใช้
ประธานนาธิบดีนิกสัน มาที่จังหวัดดินบิ่งเพื่อสอดส่องและตรวจกำลังความสามารถของทหารรับใช้

 

อองรี นาวารร์ ให้เหตุผลในการแต่งตั้งเดอกัสตรีย์เป็นผู้บัญชาการศึกเดียนเบียนฟู ทั้งๆ ที่การบังคับบัญชาของสมรภูมินี้ควรเป็นภาระของนายทหารระดับนายพล แต่อองรี นาวารร์ มีความเชื่อมั่นในตัวเดอกัสตรีย์สูง เห็นว่ารับผิดชอบหน้าที่นี้ได้ดี อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนายพลฝรั่งเศสคนใด การปราชัยที่เดียนเบียนฟูเป็นเรื่องไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ภายหลังการปรึกษาระหว่างหวอเหงียนย้าปกับแม่ทัพนายกอง ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ยุทธวิธีจู่โจมเร็วนั้นไม่อาจรักษาชัยชนะไว้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงกำหนดยุทธวิธีใหม่ที่ว่า “โจมตีอย่างแน่วแน่ บุกไปข้างหน้าสู่ชัยชนะอย่างมั่นคง”

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), เดียนเบียนฟู, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 82 - 89.

บทความที่เกี่ยวข้อง :