ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 7 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : “รุก” ยุทธการชายแดน
13 มีนาคม ค.ศ. 1954 กระสุนปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. ของกองกำลังเวียดมินห์ ได้เปิดฉากยิงถล่มที่มั่นของฝรั่งเศส
ปืนใหญ่จำนวน 24 กระบอกถูกลากเข็นด้วยเรี่ยวแรงมนุษย์เข้าสู่ที่ตั้งบนเขา รายล้อมที่ราบเดียนเบียนฟูอย่างปิดลับมิดชิด บัดนี้แผลงฤทธิ์ โดยฝ่ายฝรั่งเศสมิได้รู้ระแคะระคายมาก่อนเลย
ทั่วโลกตะลึงงัน ฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็นจอมยุทธวิธีแห่ง “สงครามป้อมค่ายประชิด” เมื่อต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถูกล้อมไว้หมดทุกด้านจะสามารถรับมือกับเวียดมินห์ในศึกครั้งนี้ได้หรือไม่
ใครคือแม่ทัพฝ่ายเวียดนาม บุคคลผู้นี้เคยผ่านการศึกษาวิชาทหารจากโรงเรียนการทหารที่ใดมาหรือไม่ เช่นโรงเรียนนายร้อยหวังปูที่ ซุน ยัดเซ็น ก่อตั้งขึ้นที่ชานเมืองกวางเจาในประเทศจีน ด้วยการช่วยเหลือจากโซเวียตเพื่อตระเตรียมกำลังยกทัพไปปราบขุนศึกทางภาคเหนือ ซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งสิ้น หากเป็นชาวเวียดนามร่างเล็ก ด้วยวัยเพียง 43 ปี ผู้ผ่านชีวิตด้านการทหารมาได้เพียง 9 ปีกว่า เริ่มด้วยการจัดตั้งกองกำลังโฆษณาติดอาวุธ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1944 และกองกำลังนี้ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับจนเป็นกองทัพประชาชนเวียดนาม บุคคลผู้นี้คือ “หวอเหงียนย้าป”
สำหรับชื่อเมือง เดียนเบียนฟู นั้น เรียกตามภาษาเวียดนาม ความหมายคือ เมืองปลายนา นั่นเอง แต่เดิมเมืองนี้อยู่ในเขตสิบสองจุไท ขึ้นต่ออาณาจักรหลวงพระบาง และขึ้นตรงต่ออาณาจักรศักดินาไทยสยามตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ต่อด้วยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกตามชุมชนท้องถิ่นว่าเมือง “แถง” พี่น้องที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ ชาวไทดำ ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะมีแม่น้ำดำไหลผ่าน และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำเป็นพื้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกจีนฮ่ออันเป็นชาวจีนในมณฑลยูนนานที่เคยเป็นกองกำลังของขบวนการไท่ผิง นำโดย หงซิ่วฉวน เมื่อต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของราชวงศ์ชิง จึงรวบรวมกันเป็นกองโจรใช้ม้าเคลื่อนที่เร็วรุกเข้าลาวและสยามตอนเหนือ เช่น เมืองหลวงพระบาง, จังหวัดน่าน, จังหวัดเชียงราย และยังยึดเมืองแถงเป็นที่มั่น ทำการปล้นสะดมหัวเมืองใกล้เคียง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จมื่นไวยวรนารถ ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกไปปราบโจรฮ่อที่เมืองแถง หรือเดียนเบียนฟูนี้ สามารถขับไล่ทำลายพวกโจรฮ่อลงได้ เมื่อยกทัพกลับพระนครจึงโปรดเกล้าให้ทำเหรียญที่ระลึกมอบแก่ผู้มีส่วนร่วมราชการสงคราม โดยจัดทำขึ้นที่โรงกษาปณ์ประเทศเยอรมนี จนกระทั่งเวลาต่อมาได้เรียกกันในหมู่นักสะสมของเก่าว่า “เหรียญปราบฮ่อ” นิยมเสาะหาซื้อขายกันสนนราคาหลายล้านบาท เป็นเหตุให้ผู้มีสินทรัพย์ร่ำรวยผิดปกติคนหนึ่งให้การกับเจ้าหน้าที่สอบสวนว่า ร่ำรวยมาจากการขายเหรียญปราบฮ่อ
ในเวลานี้ ถ้าผ่านจังหวัดหนองคาย หรือนครเวียงจันทน์ของลาวจะพบเหรียญปราบฮ่อของปลอมขายกันทั่วไป
ผู้ที่ร่วมไปกับกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ท่านหนึ่งคือ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (หมอเทียนฮี้) ต้นตระกูลสารสิน บิดานายพจน์ สารสิน
ในการยกกองทัพไปปราบโจรฮ่อครั้งนั้น หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ได้แต่ง นิราศหนองคาย เปิดโปงความเหลวแหลก ความขัดแย้งระหว่างบรรดาแม่ทัพนายกอง การเอารัดเอาเปรียบกดขี่ผู้ใต้บังคับบัญชา เนื้อหาดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายปกครอง ผู้แต่งจึงถูกลงอาญาโบย 50 ทีและส่งเข้าคุก แต่ปัจจุบันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยกย่องให้เป็นหนังสือดีหนึ่งในร้อยเล่มในรอบ 100 ปีที่สมควรแก่การค้นคว้าหาอ่าน
หลังจากนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนามโดยเด็ดขาดในปี ค.ศ. 1884 มีนักการเมืองฝรั่งเศสที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสสมัยที่ 3 ชื่อนายแพทตริซ เดอ แม็คมาฮอน (Patricede MAC Mahon ค.ศ. 1808-1893) บุคคลผู้นี้นอกจากเข่นฆ่าประชาชนฝรั่งเศสที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกลุ่มปฏิกิริยาชนชั้นปกครอง อันเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นของชาวคอมมูนปารีสแล้ว นายแม็คมาฮอนยังสนับสนุนการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปเอเชียด้วย ในเมื่ออังกฤษก็เป็นประเทศล่าอาณานิคมเช่นกัน แม็คมาฮอนจึงทำตัวเป็นผู้ประสานผลประโยชน์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยขีดแบ่งเส้นอิทธิพลจากอัฟกานิสถาน ผ่านอินเดีย พม่า มาจรดอินโดจีนที่ฝรั่งเศสครอบครองอยู่ แนวเส้นแบ่งนี้เรียกกันว่า “แนวแม็คมาฮอน” ซึ่งเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ของพวกล่าอาณานิคม
ผลประโยชน์นี้เห็นได้จากกรณีพิพาทจีน-อินเดีย เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว จีนไม่ยอมรับการแบ่งตามแนวแม็คมาฮอน เพราะอินเดียรับเอามรดกมาจากอังกฤษอีกทอดหนึ่ง รวมไปถึงดินแดนสิบสองปันนาของชนชาติไทต้องอยู่ในเขตจีน ทั้งๆ ที่น่าจะติดกับไทยแต่ก็มีเขตแดนของพม่าและลาวคั่น
ฝรั่งเศสยึดถือการแบ่งเขตตามแนวแม็คมาฮอน ให้เมืองเดียนเบียนฟูอยู่ในเขตแดนของเวียดนาม โดยถือว่าผู้ครองเมืองเคยส่งบรรณาการให้แก่ราชสำนักเวียดนาม แม้ขณะเดียวกันนั้นก็ส่งบรรณาการให้ศักดินาไทยสยาม ดังนั้น เมื่อฝรั่งเศสครอบครองเวียดนาม เดียนเบียนฟูจึงเป็นของฝรั่งเศสไปด้วย เช่นเดียวกับการกล่าวอ้างยึดครองลาวและเขมร เพราะถือว่าเมืองเหล่านี้เคยเป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม แล้วรวบรวมให้เป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส แบ่งการปกครองเป็น 5 ภาคส่วน อันได้แก่ เวียดนามภาคเหนือ, เวียดนามภาคกลาง, เวียดนามภาคใต้, เขมร และลาว
เดียนเบียนฟูเป็นที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ เนื้อที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ทิศตะวันตกติดแขวงพงสาลี ประเทศลาว และทิศเหนือติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ฝรั่งเศสถือว่าเป็นยุทธภูมิที่สำคัญในการสกัดกั้นกองกำลังเวียดมินห์ซึ่งเติบโตเข้มแข็งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949-1950 เป็นต้นมา
นายพลอองรี นาวารร์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝรั่งเศสในอินโดจีน สืบต่อจากนายพลซาลัง และนายพลเดอลัตต์เดอตัสซิณญี ที่ปฏิบัติการล้มเหลวมาแล้ว
นายพลอองรี นาวารร์ เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองกำลังแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เป็นทหารที่มีฝีไม้ลายมือคนหนึ่ง เขาได้กำหนดแผนยุทธการเรียกว่า “แผนการนาวารร์” ส่วนสำคัญที่สุดของแผนการนี้คือส่งกำลังเข้าไปตั้งมั่นที่เดียนเบียนฟู เพื่อเป็นข่ายใยกับดักเมื่อกองกำลังเวียดมินห์เข้าโจมตีก็จะถูกแนวป้อมค่ายที่มีกำลังยิงเหนือกว่าทำลายลงได้ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นมิให้เวียดมินห์ขยายกำลังเข้าไปเคลื่อนไหวในลาวตอนเหนือ โดยผ่านพงสาลี ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นยุทธภูมิสำคัญทางยุทธศาสตร์ในช่วงนั้น และยังสามารถจัดหน่วยขนาดเล็กเคลื่อนที่เร็วจากกองพันพลร่ม ให้โดดร่มเข้ากวาดล้างหน่วยย่อยของเวียดมินห์ที่อยู่กระจัดกระจายในอาณาบริเวณนั้น
พันเอกเดอกัสตรีย์ นายทหารฝรั่งเศสวัย 52 ปี ผู้ผ่านการรบอย่างโชกโชนจากสมรภูมิยุโรปในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มาปฏิบัติการสู้รบในอินโดจีนเมื่อฝรั่งเศสยกกำลังทหารเข้ายึดครองอีก เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการสนามรบจากนายพลอองรี นาวารร์ เป็นที่สังเกตว่าชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อสกุลนำหน้าด้วย “เดอ” นั้น มาจากตระกูลขุนนางเก่าและอยู่ในวงการบริหาร ทั้งด้านการเมืองและการทหารอยู่ไม่น้อย เช่น เดอแม็คมาฮอน, นายพล เดอโกล, นายพล เคอลัตต์ เดอตัสซิณญี และ
รวมไปถึง เดอกัสตรีย์ ด้วย เช่นเดียวกับในเยอรมนีที่ใช้คำว่า “ฟอน” (VON) นำหน้าชื่อตระกูลก็เป็นพวกตระกูลขุนนาง และหลายคนเป็นนักการทหารที่รู้จักกันดีในสงครามโลกครั้งที่ 2
พันเอกเดอกัสตรีย์ คุมกำลังทหารถึง 16,000-18,000 นาย ประกอบด้วยกองพันพลร่ม, กองพันทหารต่างด้าว, กองพันทหารแอฟริกัน, กองพันทหารแอฟริกาเหนือ อันได้แก่ทหารแอลจีเรีย, มอร็อคโค รวมทั้งกองพันพลร่มที่เป็นทหารฝรั่งเศสเอง
เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสสร้างลานบินที่เดียนเบียนฟู สำหรับเครื่องบินดาโกต้า C47 บินขึ้นลงเพื่อขนถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ สับเปลี่ยนส่งกำลังบำรุง ทำให้ดูประหนึ่งว่าทุกตารางนิ้วของเดียนเบียนฟูแน่นหนาไปด้วยกำลังทหารฝรั่งเศส อันยากที่กองทัพใดจะสามารถพิชิต แต่ความจริงการคมนาคมทางบกไม่อาจทำได้มาก เนื่องจากกองกำลังจรยุทธ์เวียดมินห์ควบคุมพื้นที่ในวงกว้างไว้หมดแล้ว
การวางกำลังของฝรั่งเศส ได้สร้างป้อมค่ายแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1953 จากทางเหนือ คือป้อมกาเบรียลล์ (GABRLBLLE) และแอนน์-มารี (ANNE-MARIE) เรื่อยลงมาทางตอนกลาง ด้านตะวันออกได้แก่ เบียทริซ (BEATRICE), โดมินิค (DOMINIQUE) และเอเลน (ELLANE) ด้านตะวันตก ได้แก่ อูเกตร์ (HUGUETTE) และโคลดีน (CLAUDINE) ส่วนด้านใต้ ได้แก่ อิซาเบลล์ (ISABELLE) เรียกว่าจัดสร้างได้รอบคอบอย่างยิ่ง อนึ่ง การตั้งชื่อป้อมค่ายคล้ายชื่อนักบุญเพศหญิงนั้นกล่าวกันว่าเป็นชื่อของภรรยา หรือแฟน หรือกิ๊ก ของผู้บัญชาป้อมค่ายนั่นเอง ทั้งนี้อาจเป็นขวัญกำลังใจอย่างหนึ่งคราวนึกถึงยามห่างไกล
การส่งกำลังบำรุงทางอากาศก่อนฝ่ายเวียดมินห์บุกโจมตี หรือก่อนที่มฤตยูจะคืบคลานเข้ามา เป็นไปอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านอาวุธและกระสุนที่ได้รับการช่วยเหลือจากอเมริกา อาหารการกิน เครื่องกระป๋องเพียบ ซึ่งรวมทั้งเหล้า ไวน์บอร์โดซ์ชั้นดี
ฝ่ายเวียดมินห์มีกำลังพลทั้งสิ้นร่วม 50,000 คน ประกอบด้วยกำลังทหารประจำการครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งทำหน้าที่ด้านการขนส่งทั้งอาวุธกระสุนและเสบียงอาหาร
ในส่วนผู้ทำหน้าที่สนับสนุนกองทัพด้านการขนส่ง ส่วนมากเป็นพี่น้องชนชาติไทดำ, ไทขาว, นุง ฯลฯ ทางขบวนการเวียดมินห์ใช้นโยบายดูแลประสานกับคนชนชาติหมู่น้อยได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้ชนชาติหมู่น้อยที่ถูกกดขี่อย่างหนักไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาวเวียดนามเข้าร่วมงานอย่างเต็มที่ อาวุธฝ่ายเวียดมินห์ส่วนใหญ่มีลักษณะลูกผสมจากสินศึกที่รบชนะฝรั่งเศสบ้าง อาวุธเสรีไทยสำหรับสองกองพันที่นายปรีดี พนมยงค์ จัดส่งให้ตอนหลังสงครามโลกบ้าง อาวุธอเมริกันที่จีนยึดได้จากพวกเจียง ไคเช็คบ้าง และอาวุธจากสหภาพโซเวียต
ในฐานะสหายพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีภาระหน้าที่ระหว่างประเทศ (สากล) ทางจีนได้จัดส่งที่ปรึกษาทางทหารเข้ามาให้คำปรึกษา โดยเฉพาะวิธีการใช้ปืนใหญ่และอาวุธทันสมัย ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยเหมา เจ๋อตง และคณะกรรมาธิการทหารของพรรค ได้จัดส่งนายพลเว่ย์กั๊วชิ่งแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ชาวชนชาติจ้วงจากมณฑลกวางสี มาเป็นที่ปรึกษาทางทหารแก่นายพลหวอเหงียนย้าปโดยตรง สหภาพโซเวียตในขณะนั้นก็ได้จัดส่งปืนต่อสู้อากาศยานที่ทันสมัย ขนาด 37.5 ม.ม. บรรจุกระสุน 5 นัด ยิงแบบกึ่งอัตโนมัติมาให้ พร้อมรถลำเลียงจำนวนหนึ่ง และเครื่องยิงจรวดคัทซูซา (Katyusha) ที่เคยถล่มกองทัพนาซีอย่างราบคาบมาแล้ว
กองกำลังเวียดมินห์สามารถจัดตั้งกองพลทหารได้ 6 กองพล แต่ก็เป็นลักษณะกองพลน้อย แตกต่างจากกองพลประจำการของฝ่ายฝรั่งเศสโดยทั่วไป กองพลของเวียดมินห์ดังกล่าวได้แก่ กองพล 304, กองพล 308, กองพล 312, กองพล 314, กองพล 320 และกองพล 325
สำหรับกองพล 320 ผู้บัญชาการกองพลคือ นายพลวันเตี่ยนหยง ถึงแม้ไม่มีบทบาทสำคัญในศึกเดียนเบียนฟู ทำหน้าที่ควบคุมบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ต้านยันมิให้ฝรั่งเศสยกกำลังเข้ามาช่วยพรรคพวกที่ถูกปิดล้อมในเดียนเบียนฟู แต่ในสงครามปลดปล่อยเวียดนามภาคใต้ท่านผู้นี้ได้รับมอบหมายจากนายพลหวอเหงียนย้าป และคณะกรรมาธิการทหารของพรรคให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพฯ เข้าทำการรบจนได้ชัยชนะในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1975
กองกำลังเวียดมินห์ ประยุกต์การจัดระบบสายการบังคับบัญชาจากการจัดตั้งกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต และกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน นั่นก็คือ กองทหารระดับกองพันขึ้นไปจนถึงระดับกองพลนอกจากผู้บัญชาการฝ่ายทหารแล้วยังมีผู้บัญชาการฝ่ายการเมือง (Political Commissar) ด้วย
สมัยอภิวัฒน์ใหญ่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 เมื่อพรรคบอลเชวิค นำโดยเลนิน ยึดอำนาจได้สำเร็จ จำต้องมีการจัดตั้งกองทัพแดงอย่างเร่งด่วนเพื่อสู้รบและปราบปรามพวกโต้อภิวัฒน์ของอำนาจเก่า กองทัพแดงที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ได้รวบรวมบรรดาผู้ถูกกดขี่ ผู้ได้รับความทุกข์ยากเข้ามาอยู่ในกองทัพ แต่ด้วยระดับจิตสำนึกทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไปจึงต้องมีผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมืองดังกล่าว
เมื่อประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 ทหารเวียดมินห์ก็ยังได้รับการฝึกอบรมในเขตมณฑลกวางสีเตรียมพร้อมยกระดับเป็นกองทหารประจำการเข้าสู้รบกับฝรั่งเศสอย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น การมีนายทหารฝ่ายการเมืองในกองทัพจึงมีผลดีแก่กองกำลังเวียดมินห์ และมิใช่ว่าฝ่ายการเมืองจะสนใจแต่เรื่องการเมือง ในด้านการสู้รบยังสามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารในหน่วย และเช่นเดียวกันฝ่ายทหารก็สามารถให้การอบรมทางการเมืองได้
เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในสมัยสงครามปลดแอกก็เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทางการเมืองของกองทัพ ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านเคยได้รับยศเป็นพลเอกพิเศษแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ต่อมาจึงรับผิดชอบงานด้านพรรค แต่ยังได้รับความรักและนับถือจากทหาร เห็นได้จากเมื่อพวกแก๊งสี่คนมุ่งกำจัดท่านทหารก็โอบอุ้มอารักขาไว้อย่างปลอดภัย
การจัดรูปกำลังของเวียดมินห์ในระดับกองพันมีทหารจำนวนเพียง 635 นาย ในขณะที่กองพันของฝรั่งเศสมีจำนวน 800-1,000 นาย นับว่าต่างกันมาก กำลังทหารในช่วงปี ค.ศ. 1953-1954 ฝ่ายฝรั่งเศสมีเหนือกว่ามาก เปรียบเทียบในระดับกองพัน เวียดนามมี 127 กองพัน ในขณะที่ฝรั่งเศสมี 267 กองพัน ด้วยกำลังพลที่มีจำนวนทหารมากกว่า แต่กระนั้นก็ตาม เวียดนามมีกองกำลังจรยุทธ์และทหารบ้านท้องถิ่นอีกประมาณสองล้านคนกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ
ในฐานะที่เป็นเจ้าอาณานิคมมาตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการล่าเมืองขึ้น ฝรั่งเศสจึงจัดตั้ง “กองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามเหล่าประชาชนในดินแดนที่ปล้นสะดมมาเป็นอาณานิคมของตน ทั้งในทวีปแอฟริกาและอินโดจีน ผู้บังคับบัญชาในระดับสำคัญจะเป็นนายทหารชาวฝรั่งเศส ระดับพลทหารหรือทหารชั้นประทวนรับสมัครจากชาวต่างชาติเมื่อเข้ามาเป็นทหารและหลังจากปลดประจำการแล้วสามารถถือสัญชาติฝรั่งเศสได้
กล่าวกันว่า คนร้ายและพวกอาชญากรสำคัญได้หลบหนีการจับกุมเข้ามาสมัครเป็นทหารต่างด้าว ทางการในต่างประเทศไม่สามารถดำเนินคดีในทางกฎหมายได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสิ้นสุดลง อาชญากรทหาร เอส เอส แห่งนาซีเยอรมันได้หลบหนีเข้ามาเป็นทหารต่างด้าวไม่น้อย ฝ่ายฝรั่งเศสก็โอบอุ้มไว้ และส่งมาเป็นกำลังหลักสู้รบกับเวียดมินห์ในอินโดจีน คนเหล่านี้มีประสบการณ์การสู้รบมาแล้วจึงถูกส่งเข้าประจำการในสมรภูมิเดียนเบียนฟูหลายกองพัน
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), เดียนเบียนฟู, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 71 - 81.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ถิ่นกำเนิดปฐมวัย
- ตอนที่ 2 - นักอภิวัฒน์หนุ่ม
- ตอนที่ 3 - แรกพบโฮจิมินห์
- ตอนที่ 4 - จัดตั้งกองทัพประชาชน
- ตอนที่ 5 - ควบรวมกระทรวงกลาโหม - มหาดไทย
- ตอนที่ 6 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ถอยเพื่อรุก
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- หวอเหงียนย้าป
- โฮจิมินห์
- เดียนเบียนฟู
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ปรีดา ข้าวบ่อ
- ซุน ยัดเซ็น
- หงซิ่วฉวน
- เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
- เจิม แสงชูโต
- เหรียญปราบฮ่อ
- จัตวาจัง จิลส์
- พระยาสารสินสวามิภักดิ์
- หมอเทียนฮี้
- พจน์ สารสิน
- หลวงพัฒนพงศ์ภักดี
- นิราศหนองคาย
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- แพทตริซ เดอ แม็คมาฮอน
- Patrice De MAC Mahon
- อองรี นาวารร์
- นายพลซาลัง
- นายพลเดอลัตต์เดอตัสซิณญี
- พันเอกเดอกัสตรีย์
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- นายพลเว่ย์กั๊วชิ่ง
- นายพลวันเตี่ยนหยง
- พรรคบอลเชวิค
- วลาดีมีร์ เลนิน
- เติ้ง เสี่ยวผิง
- นาซี